ชุมชนชายทะเล ถือได้ว่าเป็นอำเภอที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีพิธีกรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน รวมทั้งมีพระจุฑาธุชราชฐานเป็นพระราชวังบนเกาะแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญ
นักวิชาการทางภาษาได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความหมายและที่มาของคำว่า "สีชัง" ไว้ดังนี้
1. สีชัง เป็นภาษาของชนชาติหนึ่งที่เป็นชนเผ่าของมอญ เรียกว่า สำแล (ซัมฮะแล)
2. สีชัง มาจากภาษาจีนคำว่า "ซีซัน" ซึ่งหมายถึง "สี่คนทำไร่" โดยมีเรื่องราวเล่าว่ามีพ่อค้าเรือสำเภาจีน 4 นาย ล่องเรือค้าขายมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในธุรกิจการค้ามาตั้งรกราก และหันมาประกอบอาชีพทำไร่อยู่บนเกาะ ซึ่งต่อมาคำว่า "ซีซัน" จึงแผลงมาเป็น "สีชัง"
3. สีชัง มาจากคำว่า "สีห์ชงฆ์" ซึ่งหมายถึง แข้งสิงห์ ซึ่งเป็นรูปร่างของเกาะ
ขณะเดียวกันปรากฏตำนานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่า ฤๅษีองค์หนึ่งเกิดเบื่อหน่ายโลกีย์วิสัย มาพำนักบำเพ็ญพรตจนมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือชาวบ้าน ต่อมาจึงเรียกเกาะนี้ว่า "เกาะฤษีชัง" ซึ่งต่อมากร่อนเหลือเพียง "ษีชัง" และ "สีชัง" ในปัจจุบัน
จากหนังสือ "กำสรวลศรีปราชญ์" ซึ่งแต่งไว้เมื่อราวปีพุทธศักราช 2235 ปรากฏเรียกเกาะสีชังว่า สระชัง เช่นในโคลงบทที่ 78 ได้พรรณนาถึงเกาะสีชังไว้ดังนี้
มุ่งเหนลล่ายน้ำ ตาตก แม่ฮา
เกาะสรชงงชลธี โอบอ้อม
บลกกเหนไผ่รยงรก เกาะไผ่ พูนแม่
ขยวสระดื้อล้ำย้อม ญอดคราม
จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่านาม “สระชัง” คงจะเรียกขานกันมาก่อนปี พ.ศ. 2235 เข้าใจว่า ต่อมาการออกเสียง “สระชัง” อาจเพี้ยนไปเป็น “สีชัง" ส่วนที่มาของคำว่า "สระชัง" นี้นก็เป็นไปได้อีกหลายข้อสันนิษฐาน คือ
- "สระชัง" หมายถึง การ "ชะล้างเอาความเกลียดชังออกไป" ไม่ใช่สระน้ำแห่งความชิงชัง
- "สระชัง" เพี้ยนมาจากคำว่า "สทึง" หรือ "จทึง" ที่แปลว่า แม่น้ำ หรือ ห้วงน้ำ ในภาษาเขมร
อย่างไรก็ตามมุขปาฐะบางอันกล่าวว่า "สี" กับ "ชัง" เป็นชื่อบุคคลผู้มาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่บนเกาะนี้เป็นคู่แรก
ชุมชนชายทะเล ถือได้ว่าเป็นอำเภอที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีพิธีกรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน รวมทั้งมีพระจุฑาธุชราชฐานเป็นพระราชวังบนเกาะแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญ
เกาะสีชังเป็นเกาะใหญ่ตั้งอยู่กลางทะเล ตรงข้ามกับอำเภอศรีราชา ห่างจากชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล (ประมาณ 12 กิโลเมตร) เป็นอำเภอที่ 10 ของจังหวัดชลบุรี ในอดีตเกาะสีชังเคยอยู่ขึ้นอยู่กับจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่กับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จนกระทั่งได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอในปัจจุบัน มี 1 ตำบล คือ ตำบลท่าเทววงษ์ และ 7 หมู่บ้าน มีเกาะล้อมรอบเป็นบริวารอยู่ถึง 8 เกาะ คือ เกาะสัมปันยื้อ เกาะโปลง เกาะร้านดอกไม้ เกาะยายเท้า เกาะขามน้อย เกาะขามใหญ่ เกาะท้ายค้างคาว และเกาะตาหมื่น พื้นที่มีลักษณะเป็นโขดเขา
เกาะสีชังเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกาะหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเคยเป็นสถานที่เสด็จประพาสและเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินของกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เคยเป็นสถานที่ที่ทรงใช้เป็นที่บริหารพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ๆ ในการปกครองประเทศบ้านเมืองมาระยะหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งได้เคยเป็นที่พักอาศัยประชุมกัน และดำเนินกิจการของหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร ระดับผู้ใหญ่ชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประสูติพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 และสร้างพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะแห่งนี้อีกด้วยซึ่งทำให้เกาะสีชังเป็นเพียงเกาะเดียวในประเทศไทยที่มีพระราชวังหรือเขตพระราชฐานตั้งอยู่ที่เกาะสีชังนี้
จากประวัติศาสตร์เกาะสีชังได้ถูกกล่าวไว้ว่า “เป็นท้องที่อำนวยสุขภาพและบำรุงอนามัยได้เป็นอย่างดี ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกาะสีชังเป็นถิ่นที่พักตากอากาศ เป็นดินแดนคนชาวกรุงพากันมาพักรักษาตัวเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถก็เคยเสด็จประทับที่เกาะสีชังนี้เพื่อทรงตากอากาศและเยียวยาพระโรคาพยาธิ ก็ปรากฏว่าทรงหายเป็นปกติ”
เกาะสีชังเป็นเกาะขนาดใหญ่ในบริเวณอ่าวไทย มีพื้นที่ทั้งสิ้น 18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,250 ไร่ มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโขดหิน มีที่ราบเพียงเล็กน้อย อยู่ห่างจากอำเภอศรีราชาประมาณ 12 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดชลบุรี 36 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 117 กิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ จรดทะเลด้านเขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
- ทิศใต้ จรดทะเลด้านเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลุรี
- ทิศตะวันออก จรดทะเลด้านเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันตก จรดทะเลด้านเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
สภาพทางกายภาพ
เกาะสีชังมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะกลางทะเลประกอบด้วย 9 เกาะพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขา โขดหิน ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีพื้นที่ราบทำการเพาะปลูกได้ประมาณ 500 ไร่ ไม่มีแม่น้ำลำธารและหนองบึง บริเวณจุดสูงสุดคือบริเวณยอดเขาพระจุลจอมเกล้าซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสีชังมีความสูงประมาณ 192 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเกาะสีชัง เนื้อที่ประมาณร้อยละ 67 อยู่ในระดับความสูงระหว่าง 0 - 50 เมตรจากระดับน้ำทะเล เนื้อที่ร้อยละ 26 อยู่ในระดับความสูง 50 - 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล ร้อยละ 6 ที่เหลืออยู่ในระดับความสูงเกิน 100 - 150 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่เหลือร้อยละ 1 อยู่ในระดับความสูงเกิน 150 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เกาะสีชัง เป็นเกาะใหญ่ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากฝั่งศรีราชา ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นที่จอดพักเรือสินค้านานาชาติ และเป็นเกาะที่น่าท่องเที่ยว ในบรรยากาศแบบท้องถิ่น ซึ่งสามารถแวะท่องเที่ยวในวันเดียวหรือพักค้างคืนก็ได้ แหล่งชุมชนเกาะสีชังอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ เป็นที่ตั้งของท่าเรือเทววงศ์ (ท่าล่าง)
จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปีพ.ศ. 2566 เดือนมีนาคม ระบุจำนวนประชากรและครัวเรือนของเกาะสีชัง จำนวน 2,270 หลังคาเรือน มีประชากรรวมทั้งหมด 4,522 คน โดยมีประชากรเพศชาย จำนวน 2,232 คน และมีประชากรเพศหญิง จำนวน 2,290 คน
เนื่องด้วยพื้นที่ที่ผ่านการพัฒนาจนกลายมาเป็นรากฐานความสำคัญให้แก่เกาะสีชังในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาพื้นที่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน สร้างสถานที่สำคัญ ๆ เช่น พระจุฑาธุชราชฐานนั้น ล้วนมาจากพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้ในปัจจุบัน ชาวบ้านในพื้นที่ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีคุณูปการต่อชาวเกาะสีชัง ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวภาคเอกชนในพื้นที่ จะร่วมกันจัดงานรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีคุณูปการต่อปวงชนชาวเกาะสีชังทุกปี โดยจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ในชื่อ “งานรำลึกร้อยปี วันคล้ายวันพระราชสมภพพระปิยมหาราช” และได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี ณ พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี นับว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมสำคัญของชุมชน เพื่อน้อมรำลึกแก่ผู้มีคุณูปการกับชาวเกาะสีชัง
ต่อมากิจกรรมประเพณีของชุมชน โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านในพื้นที่ จะหยุดการทำกิจวัตรประจำวันด้านอาชีพ เนื่องจากจะมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตามความเชื่อ และมีกิจกรรมร่วมกันกับคนในชุมชน มีประเพณีพื้นบ้าน อย่างประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกัน ความสามัคคีร่วมกัน ของคนในครอบครัว กล่าวคือ ฝ่ายชายที่จะมีหน้าที่ในการออกประมงหาสัตว์ทะเล จะหยุดการทำงานในช่วงดังกล่าว และมาร่วมกิจกรรมกับคนในครอบครัว รวมไปถึงคนในชุมชน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ สร้างความสามัคคีในชุมชน เป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติร่วมกันจนกลายมาเป็นประเพณีในช่วงสงกรานต์ สำคัญของชุมชนเกาะสีชังในปัจจุบันนั่นเอง
เหล่านี้จึงล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมในชุมชน จนกลายมาเป็นประเพณีหลัก หรือกิจกรรมหลัก ที่คนในชุมชนจะต้องปฏิบัติกันในทุก ๆ ปีสืบไป
เกาะสีชังมีทุนทางวัฒนธรรมทางด้านประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตในด้านการประกอบอาชีพ เช่น การทำประมง เนื่องจากด้วยลักษณะทางด้านกายภาพที่เป็นลักษณะหมู่เกาะ มีทะเลล้อมรอบ ส่งผลให้ชุมชนในพื้นที่มีประเพณี ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตดังกล่าว ได้แก่ประเพณีกองข้าว ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ เป็นต้น
ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ
ด้วยลักษณะทางกายภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ดังกล่าวจึงส่งผลให้มีประเพณีกองข้าวบนเกาะสีชังมีความแตกต่างกับประเพณีกองข้าวบนฝั่งอย่างศรีราชาเล็กน้อย เห็นได้ชัดจากประเพณีการละเล่น ที่จัดร่วมกับพิธีดังกล่าว เช่น ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ เป็นการละเล่นของคนในชุมชนที่ใช้ความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านพื้นที่มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม ประเพณีดังกล่าวจะเป็นการที่ชายหนุ่ม และผู้สูงวัยจะขออนุญาตสาวที่ตนชื่นชอบอุ้มลงน้ำทะเล ในช่วงจังหวะอุ้มก็จะมีการอวยพร ซึ่งกันและกัน แต่นอกจากการอุ้มสาวแล้ว ลูกหลานก็จะอุ้มผู้สูงอายุลงเล่นน้ำ เพื่อขอพรด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาชีพหลักของชาวเกาะสีชังคืออาชีพประมง ซึ่งส่วนใหญ่จึงต้องออกทะเลกันเป็นประจำ ไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว แต่ในวันสงกรานต์จะเป็นช่วงที่ได้หยุดพักผ่อน จึงได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ชาวประมงจึงมารวมตัวกันเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมในช่วงวันสงกรานต์นั่นเอง
นอกจากนี้ เกาะสีชัง ยังมีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวทางด้านต่าง ๆ บนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงวัฒนธรรมบนเกาะอีกด้วย
พระจุฑาธุชราชฐาน
พระจุฑาธุชราชฐาน เป็นพระราชวังบนเกาะแห่งเดียวในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเริ่มสร้างอาคารที่พักต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 และใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ จนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส รศ. 112 ซึ่งมีกองทหารบุกขึ้นเกาะสีชังและปิดอ่าวไทย การก่อสร้างพระที่นั่งและตำหนักต่างๆ จึงยุติลงในปี พ.ศ. 2435 โปรดให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไปสร้างในที่อื่น แต่นั้นมาเป็นอันเลิกพระราชวังที่เกาะสีชัง
ในปี พ.ศ. 2521 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 5 ไร่) จัดตั้งสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล และศูนย์ฝึกนิสิตพร้อมทั้งดูแลโบราณสถานและโบราณวัตถุในเขตที่ดินดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ปัจจุบันพื้นที่ในส่วนสถานีวิจัยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และพื้นที่ในส่วนพระราชฐาน (ประมาณ 219 ไร่) อยู่ในความดูแลของสำนักบริหารงานศิลปวัฒนธรรม พื้นที่ในส่วนนี้ได้มีการดำเนินการปรับปรุงร่วมกับกรมศิลปากรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มีการซ่อมแซมอาคารต่างๆ ที่คงเหลืออยู่จำนวน 5 หลัง ประกอบด้วยเรือนไม้ริมทะเล ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ ตึกวัฒนา และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร มีสระ บ่อ ธาร พุ น้ำตก จำนวน 27 แห่ง บันได จำนวน 21 แห่ง สวน ถ้ำ และทางเดิน ซึ่งล้วนแต่มีชื่อพระราชทานทั้งสิ้น
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์รอบพระราชฐานแห่งนี้ให้สวยงามสมบูรณ์ด้วยงบประมาณของมหาวิทยาลัย และได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ โบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รวมทั้งจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและส่วนบริการต่างๆ เพิ่มเติมขึ้น รวมทั้งนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชฐานและเกาะสีชังในอาคารต่างๆ ด้วย พร้อมกันนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ร่วมกับนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี พ.ศ.2516 จัดสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรส เพื่อประดิษฐานในอาคารผ่องศรีซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและสิริมงคลอันสูงยิ่งแก่ชาวเกาะสีชังและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 ยังได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราฐาน ปัจจุบันมีบุคลากรซึ่งเป็นชาวเกาะสีชังทั้งหมดทำหน้าที่ต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์กว่า 30 คน เปิดทำการทุกวันเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น. โดยมีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมประมาณ 250,000 คนต่อปี
ปัจจุบัน เรือนต่าง ๆ ในเขตพระจุฑาธุชราชฐานก็ได้แปลงสภาพการใช้งานดังนี้
- เรือนไม้ริมทะเล ปัจจุบันเป็นสำนักงานส่วนบริการนักท่องเที่ยวและจัดแสดงนิทรรศการที่สนใจในเกาะสีชัง
- เรือนวัฒนา ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชังสมัยรัชกาลที่ 5
- เรืองผ่องศรี ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและประวัติบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับเกาะสีชังในอดีต
- เรืองอภิรมย์ ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่บนเขา คยาศิระ ห่างจากท่าเรือเทววงศ์ไปทางด้านเหนือของเกาะ ลักษณะเป็นถ้ำซึ่งดัดแปลงเป็นศาสนสถาน ที่ผสมผสานด้วยสถาปัตยกรรมจีนและไทย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาชาวจีนทั้งในและต่างประเทศให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องค้าขายและการงาน ศาลเจ้าเป็นอาคารใหญ่ลักษณะทรงวิหารจีน โดยจะมีองค์เจ้าพ่อเขาใหญ่อยู่ภายในถ้ำบนเขา นอกจากองค์เจ้าพ่อเขาใหญ่แล้วภายในยังเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อเห่งเจีย เจ้าแม่กวนอิม พระสังกัจจาย และองค์เทพต่างๆ อีกด้วย ในช่วงตรุษจีนจะมีผู้คนเดินทางมาบวงสรวงสักการะองค์เจ้าพ่อเขาใหญ่และเทพเจ้าต่างๆ ที่สถิตย์อยู่ ณ ที่แห่งนี้กันอย่างเนืองแน่น ด้วยความเชื่อความศรัทธาอันแรงกล้าว่าเมื่อได้มากราบไหว้สักการะองค์เจ้าเขาใหญ่แล้ว จะทำให้กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในการงาน
รอยพระพุทธบาทจำลอง เกาะสีชัง
มณฑปรอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่บน ยอดเขาพระจุลจอมเกล้า ทางทิศเหนือของ เกาะสีชัง มีจุดชมวิวที่สวยงามแห่งหนึ่งบนเกาะสีชัง เนื่องจากสามารถมองเห็นภูมิทัศน์ได้ทั้งเกาะ รวมถึงชุมชนบนเกาะได้รอบทิศทาง แล้วยังสามารถ มองเห็นทะเล ได้ 2 ฝั่งของเกาะ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2435 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอัญเชิญ ศิลารอยพระพุทธบาทโบราณ ที่มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 500 มาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ขึ้นไปประดิษฐานตรงไหล่เขายอดพระจุลจอมเกล้า เพื่อเป็นศูนย์กลางความศรัทธาทางพุทธศาสนาบนเกาะสีชัง นับแต่นั้นมา บริเวณไหล่เขานี้ก็มีชื่อว่า “ไหล่คยาศิระแห่งยอดเขาพระจุลจอมเกล้า”
เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านพื้นที่ของชุมชนเกาะสีชัง จะเห็นได้ชัดจากบริบทการประกอบอาชีพของคนในชุมชน เดิมทีอาชีพประมงจะเป็นอาชีพหลักของผู้คนในชุมชน เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมทางด้านพื้นที่ ร่วมกับระบบของทุนนิยมที่แพร่เข้ามาภายในชุมชน แต่แล้วต่อมา การขยายกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจก็ได้แพร่เข้ามาในชุมชนเกาะสีชัง ส่งผลให้เกาะสีชังที่มีทุนทางสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ วัฒนธรรม รวมไปถึงสถาปัตยกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์นั้นถูกผลักดันให้นำเสนอในรูปแบบการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตอย่างมากภายในชุมชน ผู้คนเริ่มหันมาประกอบธุรกิจที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น มีการเปลี่ยนปรับปรุงบ้านพักให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจด้านการประกอบอาหาร ของฝาก ก็ได้พัฒนาและเติบโตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตการประกอบอาชีพ ที่ธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นมาเป็นธุรกิจทางเลือกไปกับธุรกิจเดิมอย่างอาชีพประมงนั่นเอง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย. (2564). ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย. (2564). รอยพระพุทธบาทจำลอง เกาะสีชัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
กนกวรรณ เกียรติเสวี, ปรีชา ดิลกวุฒิสิทธิ์ และ สุวัฒนา ธาดานิติ. (2563). รูปแบบการพัฒนาทรัพยากรประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี. วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม, 16(1).หน้า 44-69
จิรภรณ์ อุดม. (กันยายน 26, 2556). เกาะสีชัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.lib.ru.ac.th/
สำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2566). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2566). พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566, จาก https://www.cuartculture.chula.ac.th/
สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอเกาะสีชัง. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา อ.เกาะสีชัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2566, จาก https://district.cdd.go.th/