ภายในวัดบ้านนกออก มีพระอุโบสถหรือสิม อายุกว่า 200 ปี และหอไตรกลางน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์
สันนิษฐานว่ามาจากชื่อนกชนิดหนึ่งที่เคยมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ คือ “นกออก”
ภายในวัดบ้านนกออก มีพระอุโบสถหรือสิม อายุกว่า 200 ปี และหอไตรกลางน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์
การอพยพของชาวมอญเข้ามาในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานว่ามีชาวมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยอย่างน้อย 2 ครั้ง ในบริเวณลำพระเพลิงอำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย ซึ่งบ้านนกออกก็เป็นชุมชนหนึ่งในอาณาบริเวณที่ลำพระเพลิงไหลผ่าน ทำให้บ้านนกออกเป็นอีกหนึ่งชุมชนริมลำพระเพลิงที่มีชาติพันธุ์มอญอพยพมาอาศัยอยู่
นอกจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวมอญแล้ว ยังปรากฏหลักฐานว่าชาวไทยเบิ้ง ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ประเทศลาว ก็ได้อพยพเข้ามาในตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครราชสีมาของไทย โดยอาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงบริเวณบ้านนกออก ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย ยกเว้นอำเภอสูงเนิน และอำเภอบัวใหญ่ ปัจจุบันชาวไทยเบิ้งเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า “ชาวไทยโคราช”
สภาพแวดล้อม
บ้านนกออก ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำลำพระเพลิง พื้นที่โดยรอบถูกล้อมรอบไปด้วยป่าไม้และที่ราบลุ่มสำหรับทำการเกษตร ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนบ้านนกออกประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก
สถานที่สำคัญ
วักนกออก หรือวัดปทุมคงคา เป็นศาสนสถานสำคัญของชาวบ้านนกออกสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ภายในวัดนกออกหรือวัดปทุมคงคามีศาสนอาคารที่เก่าแก่อยู่ 2 หลัง ได้แก่ พระอุโบสถหรือสิม อายุกว่า 200 ปี ปรากฏศิลปกรรมตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์อยู่รอบอุโบสถ มีใบเสมาที่ทำจากศิลาแดง และภาพจิตรกรรมเขียนสีบนผนังไม้ พรรณนาเรื่องราวของสัตว์ป่าหิมพานต์และพรรณพฤกษา สลักโดยช่างฝีมือพื้นบ้าน ทว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพเขียนสีบนผนังอุโบสถนั้น มีลวดลายเสมือนว่าได้รับอิทธิพลมาจากจีน ศาสนอาคารเก่าแก่อีกหลังหนึ่งภายในวัดนกออก คือ หอไตรกลางน้ำ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปทรงของหอไตรจึงมีลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นเมืองอีสานผสมผสานร่วมกับทรงหลังคารัตนโกสินทร์
บ้านนกออกมีโครงสร้างอำนาจปกครองโดยผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน ประชาชนชุมชนบ้านนกออกประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ฉะนั้นแล้วสมาชิกในชุมชนหลายครอบครัวจึงนิยมมีลูกหลายคน เพื่อต้องการเพิ่มแรงงานและสานต่องานด้านเกษตรกรรม โดยมีสมาชิกในครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คอยให้การดูแลอบรมสั่งสอนบุตรหลานตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต
อาชีพ
เนื่องจากลักษณะพื้นที่ชุมชนบ้านนกออกซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำพระเพลิง และรายล้อมไปด้วยที่ราบลุ่มเอื้อต่อการทำเกษตรกรรม ชาวบ้านหมู่บ้านนกออกจึงยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ในตำบลนกออก ทั้งการทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร โดยเฉพาะหมู ทั้งเพื่อการยังชีพและอุตสาหกรรมสร้างรายได้ แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ปัจจุบันชาวบ้านบ้านนกออกมีทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น โดยคนรุ่นใหม่ในชุมชนบางส่วนจะเลือกประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากเกษตรกร อาทิ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานโรงงาน หรือบางส่วนก็ประกอบธุรกิจส่วนตัวอยู่ในชุมชนเมือง ทำให้ปัจจุบันอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นวิถีเก่าแก่ของชาวชุมชนบ้านนกออกลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ
วิถีชีวิต
บ้านนกออกนับได้ว่าเป็นชุมชนที่มีสภาพเป็นสังคมเกษตรกรรมอย่างแท้จริง สืบเนื่องมาจากลักษณะที่ตั้งรายล้อมไปด้วยป่าไม้และที่ราบลุ่ม อีกทั้งยังมีอาณาบริเวณติดกับลำน้ำพระเพลิง ซึ่งเอื้อต่อการทำเกษตรกรรมของคนในชุมชน ฉะนั้นวิถีชีวิตของคนในชุมชนนกออกจะหมุนเวียนไปกับการทำนา ปลูกพืชไร่ พืชสวน ตามแต่ฤดูกาล เมื่อยามว่างจากการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะมีเวลาพักผ่อน ซึ่งในช่วงเวลานี้ชาวบ้านจะใช้ไปกับการทำหัตถกรรมงานฝีมือจำพวกของใช้ในครัวเรือน เช่น กระติบข้าวเหนียว ตะกร้า กระบุง ฯลฯ หรือบ้างก็ออกไปจับปลา หาของป่า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจัดซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค
ชาวบ้านนกออกนิยมรับประทานอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น และมักจะรับประทานผักพื้นเมืองและปลาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากหาได้ง่าย อีกทั้งชาวบ้านนกออกยังมีวิธีการถนอมอาหารแบบธรรมชาติ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการเก็บรักษาอาหารไว้รับประทานให้นานยิ่งขึ้น เช่น การตากแห้ง การหมัก การดอง เป็นต้น โดยอาหารที่นิยมนำมาเข้าสู่กรรมวิธีถนอมอาหาร ได้แก่ ปลา และผัก
ด้านการแต่งกายของชาวมอญชุมชนบ้านนกออกนั้นมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามสมัยนิยม แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์การแต่งกายของชาวมอญ สุภาพสตรีจะสวมเสื้อแขนกระบอก หรือเสื้อแขนสามส่วนตามแต่โอกาส นุ่งผ้าถุง คล้องสไบ และเกล้ามวยผม สุภาพบุรุษสวมเสื้อคอกรม นุ่งโสร่ง และพาดผ้าขาวม้า ส่วนการแต่งกายของชาวไทยเบิ้งมีลักษณะคล้ายกับการแต่งกายของชาวไทยภาคกลาง ผู้หญิงในอดีตใส่กระโจมอก เสื้ออีแปะ ต่อมาพัฒนามาใส่เสื้อคอปก เสื้อคอบัว ตามสมัยนิยม นุ่งโจงกระเบน และผ้าถุง (การแต่งกายของผู้หญิงชาวไทยเบิ้งลักษณะนี้ ปัจจุบันปรากฏมีเพียงผู้สูงอายุ ส่วนหนุ่มสาวยุคใหม่จะแต่งกายตามความนิยมของยุคสมัย) ผู้ชาย สวมเสื้อคอกลม เสื้อกุยเฮง คอกระบอก ปกเชิ้ต นุ่งโจงกระเบน กางเกงขาก๊วย กางเกงแพร
ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
แม้ว่าชุมชนบ้านนกออก จะเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยร่วมกันของผู้คนถึง 2 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไทยเบิ้ง และชาวมอญ ถึงกระนั้นทั้ง 2 กลุ่มชาติพันธุ์ ยังคงมีความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกัน ด้วยมีศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาวไทยเบิ้งและชาวมอญเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ส่งผลให้จารีตประเพณีของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์มีความใกล้เคียงกัน และยังมีการผสมผสานระหว่างพุทธและผีเช่นเดียวกัน
กลุ่มชาติพันธุ์มอญ
กลุ่มชาติพันธุ์มอญชุมชนบ้านนกออก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความเชื่อและให้การนับถือศาสนาผีควบคู่ไปด้วย เกิดเป็นการหลอมรวมของคติความเชื่อระหว่างพุทธและผี ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในการประกอบประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวมอญบ้านนกออก ที่แม้ว่าจะมีการประกอบพิธีกรรมแบบพุทธ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของการนับถือผี เช่น ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตา (ผีมอญ) ซึ่งชาวมอญเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษ โดยพิธีกรรมการเลี้ยงผีมอญจะถูกจัดขึ้นในเดือนหก ซึ่งตรงกับประเพณีฮีตสิบสองของไทย เนื่องจากชาวมอญก็มีประเพณีฮีตสิบสองเช่นเดียวกับไทย แตกต่างกันเพียงว่าฮีตสิบสองของมอญจะเริ่มขึ้นในเดือนห้า เพราะฮีตสิบสองมอญที่ตรงกับฮีตสิบสองไทยมีเพียง 6 ประเพณีเท่านั้น ได้แก่ เดือนห้าบุญสงกรานต์ เดือนหกบุญเลี้ยงผีบ้านผีเรือนและผีบรรพบุรุษ เดือนแปดบุญเข้าพรรษา เดือนสิบบุญสารท เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษาและเทศน์มหาชาติ และเดือนสิบสองบุญกฐิน
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้ง
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้งหรือไทยโคราช ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อแบบผีแต่ทำแบบพุทธเช่นเดียวกับชาวมอญ อีกทั้งยังมีประเพณีพิธีกรรมที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทุกช่วงชีวิต เมื่อแรกเกิดก็จะมีประเพณีการเกิด ผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มก็จะมีประเพณีการบวช เมื่อถึงวัยสร้างครอบครัวมีประเพณีการแต่งงาน จนเมื่อตายก็มีประเพณีงานศพ สวดศพ และเผาศพ นอกจากนี้ชาวไทยเบิ้งยังถือคองประเพณีฮีตสิบสอง รวมถึงประเพณีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ อาทิ วันวิสาขบูชา มาฆบูชา และอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวไทยอีสานยึดถือมาตั้งแต่โบราณ อนึ่ง ยังมีประเพณีบุญกลางบ้าน ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นในหมู่ชาวไทยเบิ้ง โดยจะจัดขึ้นในปีที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวไทยเบิ้งเชื่อว่าประเพณีบุญกลางบ้านเป็นการการทำบุญบูชาผี ให้ผีปู่ผีป่าในหมู่บ้านปกป้องคุ้มภัยคนในหมู่บ้านให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งประเพณีบุญกลางบ้านของชาวไทยเบิ้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการนำเอาความเชื่อแบบผีมาผูกไว้กับคติแบบพุทธอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้
นอกจากนี้ ชาวไทยเบิ้งยังมีประเพณีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ ซึ่งอาชีพหลักของชาวไทยเบิ้งชุมชนบ้านนกออกคือการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ชาวไทยเบิ้งจึงมีประเพณีสำคัญ อันได้แก่ ประเพณีรับท้องข้าว และประเพณีรับขวัญข้าว ประเพณีรับท้องข้าว เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวไทยเบิ้งปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล โดยประเพณีนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงเข้าพรรษา หรือในช่วงเวลาที่ต้นข้าวกำลังเริ่มตั้งท้องหรือออกรวง เพื่ออ้อนวอนต่อพระแม่โพสพผู้เป็นเทพธิดาประจำต้นข้าวให้ช่วยดูแลปกปัก คุ้มครองต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ส่วนประเพณีรับขวัญข้าวของชาวไทยเบิ้งจะถูกจัดขึ้นหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว (ประมาณเดือนสิบสอง) ในวันที่นำข้าวเข้ายุ้ง แต่ละบ้านจะประกอบพิธีกรรมรับขวัญข้าว ให้ผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วคอนกระบุงข้าวจากนามาที่ลาน จุดธูปกล่าวเชิญพระแม่โพสพ แล้วนำเอาฟางมาผูกเป็นหุ่นลักษณะคล้ายคน ซึ่งเชื่อว่าหุ่นนี้คือตัวแทนของพระแม่โพสพ จากนั้นให้ผู้หญิงคนเดิมคอนกระบุงข้าวจากนาเดินไปที่ยุ้งข้าวโดยระหว่างทางห้ามพูดคุยกับใคร เมื่อคอนกระบุงข้าวเข้ายุ้งแล้ว ให้นำหุ่นฟางไปตั้งไว้ในยุ้ง เสมือนว่าให้พระแม่โพสพเดินทางจากนามาดูแลคุ้มครองข้าวในยุ้งดังที่ดูแลคุ้มครองข้าวในนา
1. เพลงโคราช
ศิลปะการแสดงขับร้องเพลงไทยโคราช หรือเพลงโคราช ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดนครราชสีมา ลักษณะสำคัญของเพลงโคราช คือ การนำเอาภาษาไทยโคราชที่ชาวท้องถิ่นโคราชหรือชาวไทยเบิ้งทุกพื้นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มาใส่สำเนียง ทำนอง และสำนวน สรรสร้างเป็นเอกลักษณ์เพลงโคราชของชาวโคราช มีผู้ขับร้องเรียกว่า “หมอเพลง” เนื้อหาของเพลงขึ้นอยู่กับบริบทหรือโอกาสที่จะเล่น โดยหมอเพลงจะใช้ปฏิภาณไหวพริบในการขับร้อง บอกเล่าเรื่องราว สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่หมอเพลงโคราชในปัจจุบัน นิยมขับบทเพลงเพื่อความสนุกสนาเพลิดเพลินตามใจผู้ฟัง มากกว่าที่จะถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ หรือข่าวสาร ดังหมอเพลงในอดีต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เพลงโคราชค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง
2. ซงเหวียน
ซงเหวียน หรือ ซังเหวียน ทองเหวียน และเสวียน ตามการออกเสียงของชาวไทยเบิ้ง เป็นยุ้งเก็บข้าวขนาดเล็ก สร้างขึ้นเพื่อเก็บข้าวชั่วคราว เนื่องจากมีขนาดเล็ก สานด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยมูลสัตว์ จำพวก ขี้วัว ขี้ควาย จึงไม่คงทนและเก็บข้าวได้ในปริมาณมากเท่ายุ้งข้าวที่สร้างด้วยไม้มีหลังคามุง แม้ว่าทรงเหวียนจะเป็นเพียงยุ้งเก็บข้าวสานด้วยไม้ไผ่ราคาไม่แพง แต่แฝงไปด้วยเรื่องราวทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวไทยเบิ้ง ซึ่งสืบทอดต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้งบ้านนกออกมาจนปัจจุบัน
ชาวไทยเบิ้ง (ไทยโคราช)
ภาษาพูด: ภาษาไทยสำเนียงโคราช และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง
ชาวไทยเชื้อสายมอญ
ภาษาพูด: ภาษามอญ ภาษาไทยสำเนียงโคราช และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง
จารุวัฒน์ นนทชัย. (2556). ยุ้งข้าว: รูปแบบและสื่อสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
บัญชา นาคทอง. (2555). การศึกษาอัตลักษณ์เรือนพื้นถิ่นชุมชนบ้านนกออก ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน.
วัดปทุมคงคา (นกออก). (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thai.tourismthailand.org [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา. (2558). เพลงโคราช. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.m-culture.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565].
หุ่นหมี. (2562). วัดปทุมคงคา (วัดนกออก). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.wongnai.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].