Advance search

ปากน้ำประแส

ชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง

ปากน้ำกระแส
แกลง
ระยอง
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
26 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
ปากน้ำประแส

คำว่า “ประแส” มาจากความหมายที่ว่า กระแสน้ำจืดที่ไหลมาจากต้นน้ำมาประกับน้ำทะเล ตรงปากน้ำ จึงเรียกว่า “ปากน้ำประแส”


ชุมชนชนบท

ชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง

ปากน้ำกระแส
แกลง
ระยอง
21170
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-0979-9562, เทศบาลปากน้ำประแส โทร. 0-3866-1720
12.707113
101.705589
เทศบาลตำบลเทศบาลตำบล ปากน้ำประแส

ชุมชนปากน้ำกระแส ตั้งอยู่ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นชุมชนที่มีที่ตั้งบริเวณที่แม่น้ำประแสไหลมาบรรจบกันลงสู่ทะเล ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพประมงน้ำเค็ม ประมงน้ำกร่อยและค้าขาย 

ที่มาของชื่อ ปากน้ำกระแส จากหลักฐานที่พบในบันทึกพระราชกรณียกิจการเสด็จพระราชดำเนินชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า “ปากน้ำกระแส” เพราะมีเหตุที่แม่น้ำไหลมาปะทะหรือพบกับกระแสน้ำที่ไหลออกมาจากคลองต่าง ๆ กระแสน้ำจะเปลี่ยนทิศทางอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นปากน้ำประแส

ชุมชนปากน้ำประแส ปรากฏในหลักฐานสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และมีความชัดเจนมากขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ จากข้อมูลบันทึกการเดินทางของชนชั้นปกครอง ที่ได้มีการอธิบายถึงสภาพทางสังคมของผู้คนในชุมชน การดำเนินชีวิตของชาวบ้านสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะของการตั้งถิ่นฐานและการใช้ทรัพยากร ในขณะนั้นมีการตั้งที่อยู่อาศัยอยู่บริเวนแม่น้ำอยู่ส่วนน้อย แต่จะเป็นการสร้างที่พักพิงชั่วคราวของชาวเรือ ที่หลบลมหรือเข้ามาซ่อมเรือ ชุนชมส่วนใหญ่จะอยู่ลึกเข้าไปด้านใน จากการที่ชุมชนปากน้ำประแสมีเขตพื้นที่ติดต่อกับเมืองแกลง จึงทำให้มีการติดต่อไปมาสะดวก ประกอบการคมนาคมในสมัยนั้นเป็นกรคมนาคมทางน้ำทางทะเล ซึ่งบริเวณปากน้ำกระแส มีแม่น้ำที่มีความลึกพอที่เรือขนาดกลางจะสามารถลำเลียงสินค้าเข้าออกได้โดยสะดวก ปากน้ำประแสจึงถูกเลือกเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางน้ำ ย่านธุรกิจ หรือเมืองท่าขนาดใหญ่เมืองแกลง และยังทำให้มีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น เช่น ชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่ ชุมชนจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ทางตอนบนของชุมชนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำนา ชาวบ้านตอนล่างจะประกอบอาชีพประมง ขณะที่ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการค้า ในส่วนการประกอบการโรงสี โรงเลื่อย จะเป็นของเจ้าขุนมูลนายและข้าราชการ

ปัจจุบันชุมชนปากน้ำประแสได้ถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวชุมชนเชิงวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ ที่มีการนำเสนอเรื่องราวและเสน่ห์วิถีชีวิตชาวเลบริเวณปากน้ำ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มองเห็นได้ในรูปแบบวิถีชีวิตมีทั้งคนไทยพื้นถิ่นและเชื้อสายจีนที่สืบรุ่นต่อกันมา

ชุมชนปากแม่น้ำประแส ตั้งอยู่ในเขตตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ 3,037.50 ไร่ คิดเป็นพื้นที่โดยประมาณ 4.9 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล มีแม่น้ำประแสกั้นในเขตตำบล

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลทุ่งควายกิน ตำบลคลองปูน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเนินฆ้อ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลังราด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตแม่น้ำประแสเชื่อมต่อกับอ่าวไทย 

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาจรดทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ทางด้านทิศเหนือมีแหล่งต้นน้ำ ลำธารแม่น้ำพังราด แม่น้ำประแส มีป่าไม้ที่อดุมสมบูรณ์ เพราะพื้นดินเป็นดินร่วนเหมาะแก่การเพาะปลูก ทั้งไม้ยืนต้นและไม้สวน ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด และยางพารา ส่วนทางตอนใต้ของปากน้ำประแสมีลักษณะเป็นโคลนตมเหมาะแก่การทำฟาร์มกุ้งกุลาดำ หอยนางรม ด้านตอนเหนือสภาพภูมิประเทศเหมาะแก่การทำสวนผลไม้ ตำบลปากน้ำประแสมีแม่น้ำสำคัญ 2 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำระยองกับแม่น้ำประแส

ประชากรชุมชนปากน้ำประแส ร้อยละ 50% จะมีเชื้อสายจีน โดยแบ่งเป็น ในช่วงตอนล่างหรือบริเวณปากแม่น้ำจะมีเชื้อสายของชาวจีนไหหลำ ขยับขึ้นมาช่วงตอนกลางหรือบริเวณช่วงย่านการค้า จะเป็นชาวจีนกลุ่มแต้จิ๋ว จีนแคะ และฮกเกี้ยนปนเล็กน้อย เป็นต้น

จีน

ประชากรเกือบครึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำประกอบอาชีพประมง ขณะที่ประชากรที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ด้านในไม่ติดริมน้ำ ตั้งแต่หน้าวัดตะเคียนงามไปจรดทุ่งคลองปูนประกอบอาชีพทำนา ทำสวน เช่น สวนมะม่วง เป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำประมงได้มีการแปรรูป ทำให้เป็นสินค้าที่โดดเด่นของชุมชน 

ในปัจจุบันชุมชนปากน้ำประแสได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมชายฝั่งทะเล จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดการตื่นตัวที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตดั้งเดิม ส่งผลให้มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านขึ้น และมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อบังคับใช้ซึ่งกันและกัน

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวกลุ่มผลิตชาใบขลู่และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นกลุ่มที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวใบขลู่ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการนำต้นขลู่มาทำยารักษาโรค มีคุณลุงชโลม วงศ์ทิม เป็นประธานของกลุ่ม โดยต้นขลู่ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาโรคเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด ขับปัสสาวะ ชาวบ้านจึงมีการนำใบของต้นขลู่มาดัดแปลง แปรรูป ทำเป็นชาสมุนไพรใบขลู่ ให้กลับชาวบ้านในกลุ่มได้เกิดการสร้างรายได้

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวประแสโฮมสเตย์ เป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวกันของชาวบ้านที่มีการจัดการที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่มีบรรยากาศเป็นกันเองระหว่างเจ้าของบ้านและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพัก ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของชาวบ้านในชุมชน เช่น การนั่งสามล้อเที่ยวรอบชุมชน การทานอาหารท้องถิ่นอย่างแจงลอน ชมทุ่งโปรงทอง ชมการทำชาใบขลู่ นั่งเรือชมคลอง และป่าชายเลน เป็นต้น

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • การทอดผ้าป่ากลางน้ำ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี ตามวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ติดกับแม่น้ำประแส จัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ชาวบ้านจะมีการนำพุ่มผ้าป่าที่ทำจากกิ่งไม้ของต้นฝาดหรือต้นโปรง ประดับตกแต่งพุ่มผ้าป่าให้สวยงามไปปักไว้กลางแม่น้ำประแส จากนั้นนิมนต์พระสงฆ์มาชักผ้าป่าตามพิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์ลงเรือไปยังพุ่มผ้าป่ากลางลำน้ำประแส ชาวบ้านที่ร่วมประกอบพิธี จะพายเรือของตนเข้าร่วมพิธีกลางลำน้ำ หลังจากประกอบพิธีกรรมทอดผ้าป่ากลางน้ำแล้ว ชาวบ้านจะมีการจัดกิจกรรมสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน โดยมีการละเล่น ได้แก่ การแข่งเรือพาย แข่งพายกะโล่ แข่งพายเรือข้ามลำไม้ไผ่ แข่งชกมวยทะเล
  • งานตักบาตรเทโว งานประเพณีตักบาตรเทโว ชาวบ้านในชุมชน เทศบาลตำบลปากน้ำประแส โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม และวัดตะเคียนงาม ร่วมมือกันจัดกิจกรรมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง มีขบวนแห่เทวดา นางฟ้า นางสวรรค์ และภูตผีปีศาจ ประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี
  • ประเพณีหล่อเทียนและแห่เทียนจำพรรษา ชาวบ้านจะร่วมมือกันช่วยหล่อเทียนจำนำพรรษา พร้อมตกแต่งเทียนพรรษา และเดินขบวนแห่รวมกับหน่วยงวนในเขตพื้นที่ เพื่อนำไปถวายวัดในเขตเทศบาลคือ วัดตะเคียนงามและวัดสมมติเทพฐาปนาราม (วัดแหลมสน) เป็นประจำทุกปี
  • เทศกาลงานวันไหล จัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี โดยชาวบ้านและหน่วยงานในเขตพื้นที่มีการสืบทอดประเพณีงานบุญวันไหล เพื่อรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ มีการจัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีในชุมชน และมีการแสดงดนตรีในช่วงกลางคืน

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนปากน้ำประแส ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพประมง ทั้งเรือใหญ่และเรือเล็ก ปัจจุบันสัตว์น้ำในอ่าวไทยลดน้อยลงชาวประมงต้องหากินไกลขึ้น ต้นทุนการประกอบอาชีพก็สูงขึ้น จึงมีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามชายฝั่ง โดยมีการทำฟาร์มกุ้งกุลาดำ และฟาร์มหอยนางรม มีการทำสวน เป็นสวนมะม่วงและมะพร้าว ชาวบ้านยังมีการสร้างผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ชาใบขลู่ กะปิ น้ำปลา ยาหม่อง ปลาใส้ตัน นอกจากนี้ชาวบ้านยังประกอบอาชีพด้านธุรกิจการบริการนักท่องเที่ยว เช่น ทำรีสอร์ท โฮมสเตย์ และร้านอาหาร เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

  • ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  มีการประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอดุมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย ตั้งอยู่บริเวณริมปากแม่น้ำประแส เป็นสถานที่ชาวบ้านให้ความเคารพและนับถือ อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส เป็นเรือรบปลดระวาง ชาวบ้านได้มีการขอให้นำมาเป็นเกียรติประวัติและเป็นแหล่งศึกษาท่องเที่ยว ตั้งอยู่บริเวณหัวโขด ชายหาดประแส ปัจจุบันมีการปรับภูมิทัศน์รอบเรือให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง 
  • บ้านพิพิธภัณฑ์ปากน้ำประแส เป็นเรือนไม้ผสมผสานศิลปกรรมไทย - จีน ของชาวประมงปากน้ำประแสบนถนนสายเลียบแม่น้ำประแส เรือนไม้บ้านเก่าปลูกติดกันกว่า 100 หลังคาเรือน ติดริมแม่น้ำประแส เป็นย่านการค้าเก่าแก่ ภายในมีการอนุรักษ์สิ่งของเครื่องใช้ เรือประมงของชาวประมงท้องถิ่น ภาพประวัติศาสตร์ของชาวบ้านปากน้ำประแส ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมของชุมชนปากน้ำประแส

ทุนทางกายภาพ

  • ทุ่งโปรงทองหรือป่าชายเลนแสมภู่ ที่รายล้อมด้วยต้นโปรงทองสีเขียวขจีปนสีทอง เป็นสถานที่แหล่งท่องเที่ยวในด้านระบบนิเวศของป่าชายเลน ที่ได้เห็นถึงความสวยงามตามธรรมชาติของป่าโกงกาง ไม้โปรงและไม้ริมชายฝั่งตามสะพานไม้ทอดยาวตามแนวป่าระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร
  • หาดแหลมสน เป็นชายหาดเล็ก ๆ ที่ทอดยาวไปจนถึงหาดแหลมแม่พิมพ์ มีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างวัดแหลมสน ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมง ทั้งการทำประมงและตกปลา และยังมีจุดชมวิวแหลมสนที่สร้างตามโครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งตะวันออก (เฉลิมบูรพาชลทิศ)
  • เขตอนุรักษ์ป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำประแสและเกาะนก เป็นพื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำประแสและเกาะนก เทศบาลเมืองแกลง ได้เริ่มเสริมสร้างระบบนิเวศชายฝั่งด้วยการปลูกต้นโกงกางและประสัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 บริเวณนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นอย่างนกกระยางขายาว นกเป็ดน้ำ ในฤดูกาลย้ายถิ่นฐานช่วงฤดูหนาว เนื่องด้วยบริเวณพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา และเหมาะสำหรับเป็นสถานที่การส่องกล้องดูนก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ด้วยรูปแบบการดำเนินวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวชุมชนปากน้ำประแสมีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสูง อาทิเช่น อาชีพประมงหรืออาชีพท้องถิ่นของชุมชนที่มีไปถึงอาหารท้องถิ่นต่าง ๆ ย่านการค้าสำคัญของชุมชน การรวมกลุ่มของประชากรผู้อยู่อาศัย เหล่านี้ล้วนแสดงความเป็นวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาสู่พัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงนิเวศ ที่แพร่หลายในปัจจุบัน ดั่งการร่วมมือของวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รวมตัวและจัดตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวในชุมชน เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวแก่บุคคลภายนอก สร้างสรรค์กิจกรรมภายในชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ประยุกต์อาชีพท้องถิ่นสู่พัฒนาการด้านการท่องเที่ยวที่เข้ามา ทำให้เห็นถึงการร่วมมือของคนในชุมชนในทิศทางการท่องเที่ยว โดยมีวิสาหกิจชุมชนเป็นศูนย์กลางการรวบรวมสมาชิก หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กฤติยา รุจิโชค. (2560). รายงานวิจัยเรื่องแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบยั่งยืน กรณีศึกษากลุ่มน้ำสะแกกรังและปากน้ำประแส. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

กศน.ตำบลปากน้ำประแส. (ม.ป.ป.). ชาใบขลู่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก https://sites.google.com/dei.ac.th/paknamprasea/

เทศบาลตำบลปากน้ำประแส. (2565). ประวัติความเป็นมา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566, จาก เทศบาลตำบลปากน้ำประแส

สมเกียรติ พันธรรม และ ชิตพล ชัยมะดัน.(2563). รูปแบบการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรณีศึกษา ชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง. วารสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัยสวนดุสิต. 16(3), หน้า 89-106.

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระยอง. (2562). กิจกรรมประเพณี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก https://www.surprise-rayong.com/