Advance search

ริมน้ำจันทบูร

ชุมชนริมน้ำ

ชุมบ้านเรือนริมน้ำเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันมีการส่งเสริมและพัฒนาริมน้ำจันทบูรให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ยังคงอนุรักษ์และสืบสานเอกลักษณ์ต่าง ๆ ไว้ได้เป็นอย่างดี

ถนนสุขาภิบาล
วัดใหม่
เมืองจันทบุรี
จันทบุรี
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
15 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
15 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
ริมน้ำจันทบูร
ชุมชนริมน้ำ

ชื่อชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นชื่อถูกเรียกขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 จากการประกวดตั้งชื่อสำหรับเรียกชุมชนย่านริมน้ำแห่งนี้ โดยคำว่า “จันทบูร” เป็นคำดั้งเดิมที่พบในเอกสารเก่าและปรากฎในบันทึกของนักเดินทางชาวตะวันตกที่ใช้การเดินเรือเลียบชายฝั่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ผู้คนในท้องถิ่นดั้งเดิมเองก็เรียกพื้นที่เมืองบริเวณนี้ว่าจันทบูรด้วยเช่นกัน 

“จันทบูร” นั้น น่าจะมีที่มาจากการเป็นพื้นที่ป่าเขาที่มีต้นไม้หอมอันเป็นต้นไม้เฉพาะถิ่นคือ “ต้นจันทน์” หรือ Sandal Wood ไม้จันทน์นี้นำไปใช้เป็นไม้หอมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในงานพระราชพิธีหลวงหรืองานมงคลต่างๆ และนำมาสกัดเป็น “น้ำมันจันทน์” น้ำมันหอมระเหยมูลค่าสูงและมีความต้องการมากมาโดยตลอด  

ส่วนคำว่า “บูร” นั้นหมายถึงความเป็น “เมือง” หรือ “ปุระ” (City or City State) ซึ่งอาจจะมีกำแพงค่ายคูประตูหอรบด้วยก็ได้ ในแถบภาคตะวันออก บ้านเมืองที่เหลือร่องรอยคูคันดินของการเป็นเมืองแบบปุระนั้นมีน้อยแห่ง และที่เป็นเมืองในสมัยอยุธยานั้นน่าจะพบที่เมืองจันทบูรนี้เพียงที่เดียว


ชุมบ้านเรือนริมน้ำเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันมีการส่งเสริมและพัฒนาริมน้ำจันทบูรให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ยังคงอนุรักษ์และสืบสานเอกลักษณ์ต่าง ๆ ไว้ได้เป็นอย่างดี

ถนนสุขาภิบาล
วัดใหม่
เมืองจันทบุรี
จันทบุรี
22000
วิสากิจชุมชน โทร. 09-2354-6978, เทศบาลจันทบุรี โทร. 0-3931-3699
12.613783
102.113677
เทศบาลเมืองจันทบุรี

ชุมชนริมน้ำหรือชุมชนริมน้ำจันทบูร หรือที่เรียกกันว่า “ย่านท่าหลวง” แต่เดิมมีชื่อเรียกกันติดปากว่า “บ้านลุ่ม” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล ถนนสายแรกของจังหวัดจันทบุรี มีเส้นทางยาวประมาณ 900 เมตร ชุมชนริมน้ำเป็นการเรียกรวม 3 ชุมชน คือ ชุมชนท่าหลวง ชุมชนตลาดกลาง และชุมชนตลาดล่าง

จันทบุรี ปรากฏชื่อเมืองครั้งแรกเมื่อคราวสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1893 ชื่อว่า “จันตะบูร” หรือ “จันทบูร” (ที่กลายมาเป็น จันทบุรี บูร มาจาก ปุระ มีความหมายอย่างเดียวกับ บุรี ที่แปลว่า เมือง)

จากหลักฐานในหนังสือที่เขียนโดยชาวฝรั่งเศส ในสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงบาทหลวงองค์หนึ่งพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่ ต.เขาสระบาป ข้อความว่า “เมื่อ 1,000 กว่าปีมาแล้ว มีเมืองหนึ่งชื่อ ”ควนคราบุรี” มีอาณาเขตกว้างขวางตั้งอยู่เชิงเขาสระบาป มีพลเมืองเป็นชาวชอง ชาวตะวันตกเรียกเมืองนี้ว่า “CHANTEBON” ซึ่งภายหลังมีการสันนิษฐานว่า ชองเตอบอง ถูกออกเสียงเพี้ยนไปเป็นคำว่า จันตะบูน หรือ จันทบูร 

อย่างไรก็ดีแต่จากการค้นคว้าของ “จรรยา มาณะวิท” ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง “ข้อสังเกตเรื่องชื่อเมือง “ควนคราบุรี” นั้นระบุว่าได้ตรวจสอบข้อความในหนังสือฝรั่งเศสแคมโบสแต่ไม่พบข้อความที่กล่าวถึงชื่อเมือง “ควนคราบุรี” แต่อย่างใด พบแต่ชื่อเมืองที่มีชื่อว่า “จันทบูน” อีกทั้งยังระบุคำภาษาสันสกฤตของชื่อเมืองด้วยว่า “จันทนบุรี” แปลว่า เมืองไม้จันทน์ และอีกชื่อคือ “จันทรบุรี” ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งพระจันทร์

ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จันทบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการส่งข่าวเหตุการณ์ในเขมรและญวนให้ทางราชสำนักทราบ และเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกที่คอยป้องกันการรุกรานของเขมรและญวน

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์พื้นที่บริเวณนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะชุมชนท่าหลวงเคยเป็นพื้นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งประพาสเมืองจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2419 และ พ.ศ. 2450

ย่านชุมชนริมน้ำจันทบูร ตั้งอยู่ทำเลที่เหมาะสม มีการคมนาคมสะดวก จึงทำให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานชาวญวน ชาวไทย และชาวจีน ซึ่งจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในจังหวัดจันทบุรีพบว่ากลุ่มคนรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่จันทบุรี คือ ชาวญวน ชุนชมริมน้ำจันทบูรยังเคยเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายทางเรือที่สำคัญ เป็นชุมชนรับแขกบ้านแขกเมือง รับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้า เมื่อมีการเข้ามาของชาวตะวันตก จึงทำให้มีการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในเมืองจันทบูร การเข้ามาของกลุ่มคนเหล่านี้ทำให้ย่านชุมชนริมน้ำจันทบูรมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมผสมผสานในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ โดยจะเห็นได้จากอาหารการกิน สถาปัตยกรรม และสถานที่สำคัญในชุมชน

ปัจจุบันมีการแบ่งเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นของชุมชนเป็น 2 ชุมชนย่อย คือ ชุมชนย่อยที่ 3 และชุมชนย่อยที่ 4 มีสามแยกตัดเข้าสู่ถนนประชานิยมเป็นจุดแบ่งเขต โดยขอบเขตชุมชนย่อยที่ 3 จะเริ่มตั้งแต่หัวสะพานวัดจันทนารามเป็นต้นมา ไปจนถึงสามแยกท่าเรือแม่ผ่องศรีที่ตัดกับถนนประชานิยม ส่วนขอบเขตชุมชนย่อยที่ 4 เริ่มตั้งแต่สามแยกตัดเข้าสู่ถนนประชานิยมบริเวณท่าเรือแม่ผ่องศรีไปจนสุดถนนบริเวณท่าเรือจ้าง คนจันทบุรีได้มีการเรียกชุมชนนี้ว่า “ชุมชนริมน้ำ” และ “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” โดยชื่อชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นชื่อใหม่ถูกเรียกขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 จากการประกวดตั้งชื่อสำหรับเรียกชุมชนย่านริมน้ำ หลังจากที่ชุมชนย่อยที่ 3 และชุมชนย่อยที่ 4 ได้ร่วมกันวางทิศทางการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการกำหนดพื้นที่สำหรับการทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกัน และใช้ชื่อชุมชนริมน้ำจันทบูรที่ได้รับการคัดเลือกนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนริมน้ำจันทบูร ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า “วัฒนธรรมนำการค้า” ที่เน้นการอนุรักษ์ด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในแบบเห็นวิถีชีวิตชุมชนคนพื้นถิ่นในรูปแบบเดิม ได้ชมเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมแบบเก่าแก่ของแท้ ตัวบ้านหรืออาคารเก่าเพียงซ่อมแซม ปรับปรุง ทาสีให้ดูใหม่ในกลิ่นอายของต้นฉบับเดิม ไม่ได้มีการดัดแปลง หรือแปรสภาพ คนในชุมชนยังคงเป็นคนในพื้นที่ เป็นเจ้าของบ้านเดิมที่ยังทำการค้ากันมา ตั้งแต่ครั้งอดีตจากรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่จนถึงรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน ที่เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าชมความสวยงามในอดีต ยินดีให้ถ่ายรูป และเปิดใจให้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบย้อนยุคของแท้

ชุมชนริมน้ำจันทบูร ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำจันทบุรีในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี ชุมชนริมน้ำจันทบูรมีความยาวประมาณ 900 เมตร ลักษณะยาวไปตามริมแม่น้ำและถนนสุขาภิบาล จากสะพานวัดจันทนารามไปจนถึงตรอกกระจ่าง คาบเกี่ยวบริเวณพื้นที่ในส่วนชองชุมชนย่อยที่ 3 และชุมชนย่อยที่ 4

อาณาเขตติดต่อ 

  • ทิศเหนือ เริ่มจากสะพานวัดจันทนารามติดกับชุมชนย่อยที่ 1 
  • ทิศใต้ ติดแม่น้ำจันทบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดแม่น้ำจันทบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดกับพื้นที่ชุมชนย่อยที่ 3 และชุมชนย่อยที่ 4 ย่านพาณิชยกรรมของเมือง

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

ชุมชนริมน้ำจันทบูรตั้งอยู่บนพื้นที่ในเขตเทศบาล มีลักษณะเป็นเนินเขาร้อยละ 20 และที่ราบลุ่มร้อยละ 80 มีแม่น้ำจันทบุรีไหลผ่านตัวเมือง โดยแม่น้ำมีความยาว 120 กิโลเมตร ส่วนที่ไหลผ่านเทศบาลเมืองจันทบุรีมีความยาว 8 กิโลเมตร และลำคลองมีน้ำไหลตลอดปี สภาพอากาศประกอบไปด้วย 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม

ชุมชนริมน้ำก็จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างชาวคริสต์กับชาวพุทธ เป็นชุมชนดั้งเดิมของคนหลายเชื้อชาติ เช่น ไทยญวณ ไทยพุทธ และเป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งสมัยก่อนเป็นท่าเรือ เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ มี 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม ๆ คือ วัฒนธรรมไทย, วัฒนธรรมจีน, และวัฒนธรรมญวน อาชีพหลัก คือ “ค้าขาย” วิถีชีวิตดั้งเดิม สมัยก่อนก็เป็นการทอเสื่อ เกิดจากที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรี เป็นชุมชนที่คนจีน คนญวน คนไทย มาอยู่ด้วยกัน มาทำการค้าขายกันในชุมชน มาแลกเปลี่ยนสินค้า เอามาแลกเปลี่ยน และเป็น “ถนนสายแรก” เป็นถนนสายที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุด อัตลักษณ์ คือ “ลายฉลุบ้าน” ที่ยังหลงเหลืออยู่

กลุ่มชาติพันธ์ุในพื้นที่ประกอบไปด้วย

  • ชาวชอง เชื่อกันว่าเป็นชนพื้นเมืองเดิมในดินแดนแถบนี้ ส่วนใหญ่รวมกลุ่มกันอยู่บริเวณชิงเขาสอยดาว และเขาคิชฌกูฎ ในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม และกึ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ โดยเฉพาะในตำบลตะเคียนทอง คลองพลู และพลวง มีภาษาพูดและวัฒนธรรมประเพณีของคนเอง นับถือผีบรรพบุรุม มีการทำพิธีเซ่นไหว้ทุกปี เป็นการรวมญาติ เรียกว่า พิธีเลี้ยงผีทิ้ง ผีโรง แต่เดิมชาวของอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเชิงเขา ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างง่าย ๆ และมักโยกย้ายที่อยู่หากมีคนตายในบ้าน อาชีพนอกจากปลูกข้าวไร่แล้ว ยังเป็นนักเก็บของป่าและเป็นพรานที่ชำนาญ ปัจจุบันประกอบอาชีพทำสวนผลไม้และรับจ้าง
  • ชาวจีน จันทบุรีมีชุมชนชาวจีนดั้งเดิม อยู่ตามชายฝั่งทะเลหลายแห่ง ทั้งในเขตอำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอท่าใหม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง และค้าขาย ในเขตอำเภอเมืองมีชุมชนชาวจีนเก่าเป็นจีนฮกเกี้ยน อยู่บริเวณริมแม่น้ำจันทบุรี เรียกว่า ย่านท่าหลวง ไปถึงบริเวณชุมชนชาวญวน ที่รียกว่า ตลาดล่าง โคยมีศาลเจ้าเป็นที่หมายเขต ชาวจีนเป็นผู้บุกเบิกก่อการหลายอย่าง เช่น การต่อเรือสำเภา การค้า รวมทั้งเป็นนายอากรส่วยด้วย
  • ชาวญวน ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จากประวัติวัดคาทอลิกจันทบุรี มีว่าสังฆราชซัวปิออง เดอซิเซ ได้ให้บาทหลวงเฮิด เดินทางมาดูแลพวกคาทอลิกชาวญวนที่อพยพหนีภัยทางศาสนาในญวนเข้ามาอยู่ในจันทบุรี ก่อนหน้าที่บาทหลวงเฮิดเดินทางมาถึง เมื่อปี พ.ศ. 2254 (รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) พบว่าขณะนั้น จันทบุรีมีพวกคาทอลิกชาวญวนอยู่ประมาณ 130 คน บาทหลวงเชิดได้สร้างโบสถ์หลังเล็ก ๆ ขึ้น ต่อมาได้มีการย้ายอีกสามครั้ง จนมาตั้งอยู่บริเวณปัจจุบัน หลังจากนั้นชุมชนชาวญวนคริสต์ก็ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาเมื่อชุมชนชาวญวนริมแม่น้ำจันทบุรี ไม่สามารถขยายเขตไปได้อีก จึงแยกไปตั้งในถิ่นอื่นเช่นที่อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ และบ้านท่าแฉลบ
  • ชาวเขมร เนื่องจากจันทบุรีมีเขตแคนติดต่อกับประเทศกัมพูชา จึงมีหมู่บ้านชาวเขมรอยู่ตามแนวชายแดนหลายแห่ง เช่น บ้านแหลม บ้าน โอลำเจียก และบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน
  • ชาวกุหล่า เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า เข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดจันทบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ชาวกุหล่าเรียกตนเองว่า ไต แต่คนไทยจะเรียกว่า ไทยใหญ่ ชาวเขมรจะเรียกชาวต่างชาติว่า กาลา ชื่อกุหล่า ก็เรียกตามภาษาเขมร แต่เพี้ยนเสียงเป็น กุหล่า ผู้สูงอายุของชาวกุหล่าเล่าให้ฟังว่า พวกเขาอพยพมาตามพลอย โดยเริ่มเข้ามาทำพลอยที่ตำบลบางกะจะ ต่อมาได้อพยพไปทำพลอยที่บ่อไร่ แล้วข้ามไปถึงบ่อไพลิน บ่อเวฬุ และ ได้กลับมาตั้งถิ่นฐานในจันทบุรีในช่วงหลังปี พ.ศ.2498

ภาษาพูดของชาวจันทบุรีจัดอยู่ในกลุ่มภาษาไทยถิ่นตะวันออก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะคล้ายกับภาษาไทยกลาง จะต่างกันบ้างตรงวิธีการออกเสียง ซึ่งดูหนักแน่นจริงจัง และมีศัพท์บางคำที่ใช้กันเฉพาะท้องถิ่น การออกเสียงสูงต่ำหลายคำแตกต่างไปจากสำเนียงกรุงเทพ ฯ นอกจากนี้สำเนียงในท้องถิ่นต่าง ๆ ยังมีระดับเสียงต่างกันอีก เช่น สำเนียงทำใหม่ สำเนียงขลุง สำเนียงแหลมสิงห์ และกลุ่มหมู่บ้านตะกาดเจ้า บางกะ ไชย ชำห้าน จะออกสำเนียงคล้ายคลึงกับสำเนียงทางภาคใต้

ขแมร์ลือ, จีน, ชอง, ไทยวน

คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีน ทั้งที่มาทำการค้า และเป็นผู้มาบุกเบิกตั้งรกราก ซึ่งมีทั้งจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว จีนแคะ กวางตุ้ง และไหหลำ ในย่านนี้จึงประกอบด้วยคนไทย จีน และญวน มีการนับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ผู้คนในถนนเส้นเศรษฐกิจนี้ จึงมีความหลากหลาย มีหน่วยงานราชการ นักธุรกิจ พ่อค้า คหบดี และบ้านเรือนผู้คนที่มาตั้งรกราก ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแบบผสมผสานจากตะวันตก ไทย จีน และชาวญวน รวมถึงการสร้างบ้านเรือน และศิลปทางสถาปัตยกรรม ก็ได้รับการผสมผสานกันอย่างกลมกลืน และผู้คนในชุมชนยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมมาจนปัจจุบันนี้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

  • บ้านหลวงราชไมตรี เป็นบ้านพักของนายปูม ปุณศรี หรือ หลวงราชไมตรี บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก บ้านของท่านเป็นไม้สักทองทั้งหลังในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานอาคารปูน มีการแฝงความเชื่อแบบจีน โดยบริเวณจั่วหลังคาบ้านจะมีรูปปั้นเสือคาบดาบ ตามความเชื่อชาวจีนในเรื่องการปัดเป่าสิ่งไม่ดี เสริมความมงคล ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นบ้านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
  • วัดจันทนาราม ตั้งอยู่บนฝั่งช้ายของแม่น้ำจันทบุรี เป็นวัดฝ่ายธรรมยุต ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด กล่าวกันว่าสร้างก่อนสมัยอยุธยาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณปี พ.ศ. 2468 พระอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2384 พระพุทธรูปศิลาหินอ่อนแบบพม่าองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 66 เซนติเมตร สูง 78 เซนติเมตรมีโบราณวัตถุเป็นแผ่นศิลากว้าง 40 เซนติเมตร ยาว เมตร หนา 10 เซนติเมตร อยู่สี่แผ่น 
  • อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (โบสถ์วัดคาทอลิก) สร้างขึ้นสมัยที่ชาวญวนประมาณ 30 คน อพยพมาอยู่ที่เมืองจันทบุรีครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในช่วงปี พ.ศ. 2215 - 2275 ได้สร้างวัดคาทอลิกขึ้นที่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำจันทบุรี ยังเคยเป็นแหล่งอพยพที่สำคัญของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ในปี พ.ศ. 2398 ตัวโบสถ์เป็นรูปแบบศิลปะโกธิค กว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร มียอดแหลมที่หอสอง ภายในโบสถ์มีการประดับกระจกสีแบบเสตนกลาสเป็นภาพนักบุญที่สวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และเป็นโบสถ์คาทอลิกที่เก่าแก่และสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
  • ศาลเจ้าโจวซือกง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่เมืองจันทบุรีและชาวชุมชนริมน้ำจันทบูร มีประวัติยาวนานเกินร้อยปี ได้รับการบูรณะซ่อมแซมและขยายพื้นที่ใช้สอย จากชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาและกรรมการในรุ่นก่อน ๆ หลายรุ่น และเป็นศาลเจ้าที่ชาวบ้านให้ความเชื่อถือ ศรัทธา เป็นอย่างมากของกลุ่มของชาวจีนในพื้นที่
  • วัดโบสถ์เมือง วัดโบสถ์เมือง ตั้งอยู่ริมถนนเบญจมราชูทิศ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยสังเกตได้จากเสมาหินทรายขาว รวมทั้งอุโบสถและเจดีย์ทรงลังกา นอกจากนี้ยังมีทับหลังเป็นศิลปะบาปวนตอนปลาย พ.ศ. 1510-1630 รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว วัดโบสถ์เมือง ตั้งอยู่บนเนินสูงระดับเดียวกันกับที่ตั้งศาลากลางหลังเก่าบนถนนเบญจมราชูทิศ ติดกับแม่น้ำจันทบุรีฝั่งขวา สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2395 และน่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยสังเกตจากใบเสมาหินทรายขาว พระอุโบสถ และเจดีย์ทรงลังกา นอกจากนี้ยังมีการค้นพบทับหลังอันเป็นศิลปะบาปวนตอนปลาย พ.ศ. 1510-1630 รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว และภายในวัดยังมีสิ่งต่าง ๆ น่าชมมากมาย เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ เจดีย์ใหญ่บรรจุพระบรมธาตุ มีเจดีย์เล็กล้อมรอบสี่มุม หน้าอุโบสถมีทับหลังศิลปะบาปวน โรงเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนด้านหลังของวัดนั้น มีบันไดที่สามารถเดินลงไปถึงย่านท่าหลวง อันเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบูรที่มีอายุราว 300 ปี ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันมีการส่งเสริมและพัฒนาริมน้ำจันทบูรให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถนนริมน้ำในอดีตเคยเป็นย่านการค้าดั้งเดิม มีร้านค้าเก่าแก่ บ้านเรือนเก่าที่ยังมีความงดงาม
  • อาหาร อาหารพื้นบ้านของชาวจันทบุรีเป็นอาหารที่มีรสหวานจากการปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและน้ำตาลทรายแดง ซึ่งชาวจันทบุรีเรียกน้ำตาลทรายแดงว่าน้ำอ้อย อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่ แกงหมูชะมวง น้ำพริกปูไข่ ก๋วยเตี๋ยวผัดปู ขนมไข่ ขนมควยลิง เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สภาพด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประกอบอาชีพค้าขายเนื่องจากเป็นย่านการค้าตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น พื้นที่เดิมถูกพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องต่อการท่องเที่ยวในปัจจุบันมากขึ้น มีกลุ่มวิสาหกรรมชุมชน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น พัฒนานโยบายบายเพื่อการท่องเที่ยว โดยใช้พื้นที่ย่านชุมชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว อาทิเช่น ผลักดันร้านอาหารโบราณในพื้นที่ร้านของฝาก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น



ในด้านวัฒนธรรม จะเห็นได้ชัดจากการนับถือศาสนาในพื้นที่ชุมชน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพหุวัฒนธรรม ทำให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของหลากหลายศาสนา หลากหลายเชื้อชาติ แสดงผ่านวัฒนธรรมที่ติดตัวมากับชาติพันธ์ุของตน กล่าวคือ ศาสนสถานบนพื้นที่ อาทิเช่น วัดโบสถ์ ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย อาสนวิหารพระนางนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ที่ได้มีการพัฒนาและนำเสนอลัทธิความเชื่อที่แตกต่าง ดึงดูดเป็นไฮไลต์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมที่เด่นชัดในด้านการท่องเที่ยวนั่นเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนกอร อิ่มในบุญ. (กุมภาพันธ์ 21, 2561). ชุมชนริมน้ำจันทบูร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://www.lib.ru.ac.th/journal2/

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). ชุมชนริมน้ำจันทบูร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

เทศบาลเมืองจันทบุรี. (2565). ประวัติเทศบาลเมืองจันทบุรี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://chanmunic.go.th/

ปิยาณี สุขมณี. (2558). การพัฒนาชุมชนริมน้ำจันทบูรด้วยแนวคิดกิจการเพื่อสังคม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์.

พระครูสมุห์ชินวรวัตร ถิรภทฺโท (จุลเจือ) และศุภกิจ ภักดีแสน. (2565). การอยู่ร่วมกันในสังคมชีวิตวิถีใหม่ของชุมชนพหุวัฒนธรรม ริมฝั่งแม่น้ำจันทบูร อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี. วารสาร มจร อุบลปริทรรศน์, 7(1), 401-416.

ภาสกร คำภูแสน. (2552). แนวทางการจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรม กรณีศึกษาชุมชนริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี. ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม, ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง, มหาวิทยาลัยศิลปากร.