Advance search

เกาะยาวน้อย

เกาะยาวนุ้ย หรือ เกาะนุ้ย

ชุมชนเกาะยาวน้อยมีวิถีชีวิตชุมชนมุสลิม 

เกาะยาวน้อย
เกาะยาว
พังงา
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
15 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
เกาะยาวน้อย
เกาะยาวนุ้ย หรือ เกาะนุ้ย

เกาะยาวน้อย มาจากการเรียกของคนท้องถิ่นว่า เกาะยาวนุ้ย หรือเกาะนุ้ย ซึ่งคำว่า "นุ้ย" ในภาษาใต้ หมายถึง เล็ก


ชุมชนเกาะยาวน้อยมีวิถีชีวิตชุมชนมุสลิม 

เกาะยาวน้อย
เกาะยาว
พังงา
82160
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-7280-0622, อบต.เกาะยาวน้อย โทร. 0-7659-7122
8.119674
98.605194
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย

เกาะยาวน้อยเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่มานานกว่า 200-300 ปี ตั้งอยู่ในอำเภอเกาะยาว ก่อนปี พ.ศ. 2446 ตำบลเกาะยาวน้อยขึ้นตรงต่อ อำเภอพังงา ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ทางราชการได้ยกฐานะบริเวณเกาะต่าง ๆ ขึ้นตรงกับ กิ่งอำเภอเกาะยาว และเป็นอำเภอเกาะยาวในปี พ.ศ. 2531 เกาะยาวน้อยมีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับเมืองถลาง ในพงศาวดารถลาง พ.ศ. 2384 ได้ระบุถึงเกาะยาวว่าเป็นเกาะหนึ่งที่อยู่ในเขตปกครองของเมืองถลาง เมื่อครั้งที่เมืองถลางถูกยกเป็นหัวเมืองชั้นตรีในรัชสมัยของพระเจ้าเอกาทศรถ นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นพื้นที่ที่กองทัพหรือพลทหารทั้งสยาม พม่า และญี่ปุ่นใช้เป็นที่ตั้งทัพ 

การตั้งถิ่นฐานของผู้คนบนเกาะยาวน้อยนั้นไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด ข้อสันนิษฐานทางวิชาการระบุว่า การก่อตั้งชุมชนแรกเริ่มนั้นมาจากกลุ่มชาวไทยมุสลิมจากชายฝั่งเมืองตรัง เมืองสตูล และเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใด้ในแถบทะเลอันดามันที่อพยพหนีภัยสงครามมาทางเรือใบเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงเวลาที่พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองต่างทางภาคใต้ใน พ.ศ. 2328 โดยมีการอพยพเลียบชายฝั่งทะเลจนได้พบเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ จึงมีการยึดเอาเกาะเป็นที่หลบภัยและตั้งหลักแหล่งทำมาหากินประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่พื้นที่ดังกล่าวมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และสามารถใช้กำบังภัยธรรมชาติจากฤดูลมมรสุม โดยเรียกชื่อเกาะตามลักษณะรูปร่างที่เห็น 

ในส่วนข้อสันนิษฐานของชาวบ้านนั้นต่างจากนักวิชาการ โดยเชื่อว่าการตั้งถิ่นฐานบนเกาะยาวน้อยมีมาก่อนปี พ.ศ. 2328 เนื่องจากมีตำนานเล่าสีบทอดต่อกันมาว่า มีชาวมุสลิม 2 ครอบครัว จากจังหวัดตรังอพยพหนีการบังคับจัดเก็บเบี้ยภาษีรายหัวของรัฐ อพยพมาพบกาะยาวน้อยจึงเลือกเอาเป็นที่ตั้งถิ่นฐาน ครอบครัวแรกประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกชาย เลือกตั้งบ้านอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะ อีกครอบครัวหนึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกสาว ตั้งบ้านอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะ ต่อมาลูกชายและลูกสาวของทั้งสองครอบครัวได้แต่งงานและสร้างครอบครัวด้วยกัน จากนั้นกลุ่มผู้อพยพหนีภัยสงครามพม่าบุกตีเมืองถลางและหัวเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้ จึงอพยพเข้ามาภายหลังจนทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่

จากสำเนียงการพูดทำให้คาดว่าบรรพบุรุษของชาวเกาะยาวน้อยมาจากจังหวัดตรัง ส่วนชาวเกาะยาวใหญ่มาจากจังหวัดสตูล ในช่วงเริ่มต้นคาดว่าจะอาศัยความรู้ความสามารถในด้านการประมง เพื่อใช้ในการยังชีพ สัตว์น้ำที่จับมาได้แค่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนและแลกเปลี่ยนสิ่งของอื่น ๆ กับเพื่อนบ้านแทน

ชุมชนเกาะยาวน้อยถือเป็นได้ว่าเป็นชุมชนที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน จากการอพยพเข้ามาของชาวมุสลิมมีส่วนช่วยให้เกาะยาวน้อยกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และได้มีการฟื้นฟูให้พื้นที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาในเกาะยาวน้อย ที่สามารถสร้างความเข้าใจกันภายในสังคมมุสลิมและระหว่างชุมชนได้ ชาวบ้านในชุมชนยังมีการพัฒนาชุมชนของตนเองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบโฮมสเตย์ บังกะโล และรีสอร์ท ซึ่งมีข้อปฏิบัติสำคัญ คือ ห้ามแต่งกายไม่เหมาะสมในชุมชน ห้ามดื่มสุรา ห้ามทิ้งขยะ และห้ามเก็บเปลือกห้อยและปะการัง

เกาะยาวน้อย เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ทิศใต้ของจังหวัดพังงา ห่าง จากตัวจังหวัดพังงา 43 กิโลเมตรและห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 882 กิโลเมตร เกาะยาวน้อยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 46.46 ตารางกิโลเมตร 28,021.03 ไร่

อาณาเขตที่ติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อ่าวพังงาและทะเลอันดามันฝั่งจังหวัดกระบี่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเกาะยาวใหญ่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอันดามันจังด้านหวัดกระบี่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามันด้านอำเภอตะกั่วทุ่ง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

เกาะยาวน้อยมีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางทะเล อยู่บริเวณอ่าวพังงา ตั้งอยู่ทิศใต้ของจังหวัดพังงา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาทอดยาวตามแนวเหนือใต้ ทางด้านตะวันออกมีที่ราบชายฝั่งทะเล ที่ราบตามหุบเขาประชาชนใช้ทำการเกษตร เช่น ทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว และสวนมะม่วงหิมพานต์ ชายฝั่งรอบเกาะเหมาะแก่การประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก ซึ่งทำรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และยังมีชายหาดที่สวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะยาวน้อย 

สภาพภูมิอากาศของเกาะยาวน้อยมีฝนตกในปริมาณปานกลางความชื้นเฉลี่ยต่ำสุด 72% และสูงสุด 85% อิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกฉียงเหนือ ส่งผลให้มี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน เริ่มต้นประมาณเดือนมกราคม-เดือนเมษายน เป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทยมาสู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกทำให้มีฝนตกน้อย และฤดูฝน เริ่มต้นประมาณเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม โดยช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านตลอดแนว ส่งผลให้อากาศมีความชื้นสูงเกิดฝนตกชุก

ในด้านประชากรตำบลเกาะยาวน้อย ข้อมูลจากรายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านประจำปี 2562 มีประชากรทั้งสิ้น 4,490 คน แยกเป็นชาย 2,303 คน หญิง 2,187 คน จำนวนครัวเรือน 2,028 โดยประชากรตำบลเกาะยาวน้อยส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาพุทธซึ่งมาจากกลุ่มข้าราชการ นักธุรกิจ และกลุ่มแรงงานที่เป็นประชากรแฝงในพื้นที่ตำบลเกาะยาวน้อย คือ ชาวพม่าเชื้อสายมอญที่เข้ามากรีดยางและชาวไทยภาคอีสานมารับจ้างเป็นกะลาสีในทะเล คนในเกาะยาวน้อยส่วนใหญ่อาศัยอยู่รวมกันเสมือนเป็นเครือญาติ

ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย เป็นองค์กรชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ ในการรวมในชุมชนที่สนใจการท่องเที่ยว และใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องหนึ่งในการพัฒนาชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้กับปัญหาวิกฤตประมงพื้นบ้านของชุมชน มีการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในเชิงนโยบาย และการปฏิบัติ การกระจายบทบาทหรือการแบ่งงานกันทำ มีผู้นำทางศาสนาเป็นที่ปรึกษาให้ความคิดเห็น และไกล่เกลี่ยเมื่อประสบปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร

โดยชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย ถือเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ที่มีชื่อเสียงและมีการจัดการที่ดี สมาชิกของชมรมจะมีการร่วมกันกำหนดกลไกการทำงานและกติกาการจัดการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่แบ่งโครงสร้างทำงานออกเป็น 7 ฝ่าย ตามความสนใจและความชำนาญ ซึ่งก่อให้เกิดมีการจัดกิจกรรมและบริการต่าง ๆ ในชุมชนขึ้นมา เช่น การเที่ยวรอบเกาะยาวน้อย ชมวิถีชีวิตของชาวบ้านบนเกาะ ดูการทำนา ทำเครื่องมือประมง การทำผ้าบาติก หรือการออกเรือกับครอบครัวที่พักเพื่อไปดูวิถีชีวิตในทะเล ดูการวางอวน กู้อวน การเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง

นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มทางสังคมในโครงการ Zero Waste Island ซึ่งเป็นการร่วมกันทำงานระหว่าง  Cape Kudu Hotel และชุมชนเกาะยาวน้อย โดยมีโรงเรียนเกาะยาววิทยาเป็นสถานที่เริ่มระบบการคัดแยกขยะ ซึ่งมีการจัดการขยะร่วมกับองค์การบริการส่วนตำบลเกาะยาวน้อยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีการแยกเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล ขยะพลาสติก และยังมีการใช้วิธีรณรงค์ให้นักเรียนทุกคนพกขวดน้ำรียูสและกระเป้าผ้าเป็นของตนเอง นำขยะจากบ้านมาทิ้งที่โรงเรียน และนำขยะเหลือใช้ไปดัดแปลงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือนำใช้ประโยชน์อื่น ๆ ในระยะเวลา 2 ปีพบว่าปริมาณพลาสติกลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ขยะส่วนหนึ่งก็นำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรอีกทอด

ชาวบ้านในชุมชนเกาะยาวน้อยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และประกอบอาชีพประมง จึงทำให้วิถีชีวิตของชาวเกาะยาวน้อยแสดงออกใน 3 ลักษณะใหญ่ คือ วิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิม วิถีชีวิตแบบประมงพื้นบ้าน และวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม

วิถีชีวิตแบบชาวไทยมุสลิม

  • วันอารีรยอ เป็นวันทำบุญในวาระการเลิกถือศีลอด ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเซาวัลตามปฏิทินศาสนาอิสลาม ขาวบ้านทั่วไปจะเรียกกันว่า "วันออกบวช" หมายถึงเป็นวันหลังจากที่ชาวมุสลิมได้ถือศีลอดหรือถือบวชมาครบแล้วในเดือนรอมฏอน ในวันนี้จะมีการบริจาคทานแก่บุคคลที่ด้อยโอกาสกว่า และจะมีการไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิดและเยี่ยมสุสาน ต่อจากนั้นจะรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างญาติพี่น้อง
  • วันเมาลิด เป็นวันที่รำลึกถึงวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด (ศอลซ์) ตรงกับวันที่ 12 เดือน รอบิอุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินของศาสนาอิสลาม คนในชุมชนจะร่วมแรงร่วมใจกันจัคงานพิธีขึ้นที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน ในขณะที่บางครอบครัวอาจจะจัดงานฉลองขึ้นที่บ้านเรียกว่า "มาโหลด" มีการเชิญเพื่อนบ้านไปร่วมฟังการอ่านดูอา เพื่อสรรเสริญและรำลึกคุณของท่านนบีมูฮัมหมัด (ศอลซ์) และสวดขอพร รับประทานอาหารร่วมกัน
  • วันอีดีลฮัฏฮา หรือ "รายอฮัจญ์" ถือเป็นวันออกบวชใหญ่ โดยจะนับต่อเนื่องจากวันอิดิลฟิตรีไป 70 วัน หรือประมาณช่วงเดือน 3 ถึงเดือน 4 ซึ่งจะเป็นเวลาเดียวกับที่ชาวมุสลิมทั่วโลกจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ กิจกรรมในวันนี้จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับวันอิดิลฟิตรีจะมีการกินเลี้ยงที่ใหญ่โตกว่า และมีการเชือดสัตว์พลีเป็นอาหารและแจกจ่ายให้คนยากจน
  • วันอะสูเราะห์ หรือ "วันอาซูรอ" ตรงกับวันที่ 10 เคือนมุฮัรรัม ซึ่งเป็นเดือนแรกทางศักราชอิสลาม เป็นวันที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานสิ่งต่าง ๆ ให้แก่ชาวโถกหลายประการ โดยเฉพาะในวันนี้ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเป็นวันที่เรือของศาสดานุห์ ซึ่งบรรทุกประชาชนของท่านจำนวนหนึ่งได้มาจอดที่แห่งหนึ่ง ขณะที่มหาอุทกภัยถึงวาระที่สุดและต่างก็พ้นภัย เสบียงอาหารที่เหลืออยู่นั้น พระศาสดานุห์ได้นำมาปรุงอาหารรับประทาน ดังนี้นจึงการรำลึกถึงเหตุการณ์นั้นและได้ปฏิบัติตาม โดยชาวบ้านนิยมกวนขนมที่มาจากการนำเอาอาหารหลาย ๆ อย่างมากวนให้เป็นเนื้อเดี่ยวกันคล้ายขนมเปียกปูน และนำไปแจกจ่ายรับประทานกันในหมู่เพื่อนบ้าน
  • การถือศีลอด ในเดือนรอมฏอน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน - เดือนมกราคม ชาวมุสลิมทุกคนจะต้องงดเว้นจากการบริโภคอาหาร การดื่ม การทำชั่ว เริ่มตั้งแต่เช้าพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเย็นพระอาทิตย์ตก เป็นเวลา 1 เดือน นับตามจันทรคติ 
  • งานเลี้ยงน้ำชา เป็นงานประจำปีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนเกาะยาวน้อยได้เข้าร่วมนอกเหนือจากกิจกรรมทางศาสนา วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานเพื่อหาเงินมาเป็นทุนสำรองใช้จ่ายในโครงการสารารณะประโยชน์ต่าง ๆ รูปแบบการจัดเลี้ยงเหมือนกับการเลี้ยงโต๊ะจีนทั่ว ๆ ไป แต่มีการเปลี่ยนแปลงรายการอาหารบางอย่างที่เป็นข้อห้ามของอิสลาม เช่น ใช้น้ำชาแทนเหล้าแกล้มกับขนมพื้นบ้าน เช่น ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวปิ้ง จาโก้ย (ปาท่องโก๋) เป็นต้น

วิถีชีวิตแบบประมงพื้นบ้าน

ชาวบ้านในชุมชนเกาะยาวน้อยจะมีการทำประมงเป็นหลัก เป็นอาชีพดั้งเดิมที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา โดยจะเป็นการทำประมงขนาดเล็ก ใช้เครื่องมือขนาดเล็กและมีการใช้เครื่องมือที่เป็นแบบเก่า จับสัตว์น้ำ ปลา กุ้ง หอย ปลาหมึก ชาวประมงเกาะยาวน้อยจะใช้ชีวิตพึ่งพาธรรมชาติ ทำประมงพื้นบ้านที่ทำแบบ “พออยู่ พอกิน” ไม่จับสัตว์น้ำในปริมาณมากเพื่อนําไปขาย เช่น หากปูที่จับขึ้นมาได้ มีไข่ติดอยู่ ชาวบ้านจะนําปูไปปล่อยคืนกับธนาคารปูเพื่อนําไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ นอกจากนี้บรรพบุรุษของชาวเกาะยาวน้อยที่ทำประมงก็ได้มีการคิดค้นเครื่องมือประมงพื้นบ้านขึ้นมาใช้กันเอง เช่น การทำโป๊ะน้ำตื้น การทำลอบดักปลา โดยใช้ตะกร้าไว้ใส่สัตว์น้ำ และมีการสืบทอดภูมิปัญญาต่าง ๆ ไว้ ตลอดจนเทคนิคการทำขนาดที่แตกต่างกันในการจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดและการวางไข่ในระดับน้ำที่แตกต่างกัน การดูคลื่นลม เช่น ดูทิศทางการหมุนของลมมรสุม ในปัจจุบันมีกรเลี้ยงเพาะเลี้ยงปลาสัตว์น้ำในกระชัง โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งมังกร

วิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม

การทำนาข้าว การทำนาบนเกาะยาวน้อยเป็นเพียงเกาะเดียวในพื้นที่อ่าวพังงาที่มียังการทำนาข้าวแบบดั้งเดิมทั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านจะมีการทำนาสองครั้งใน 1 ปี โดยบริเวณทำนาจะมีตาน้ำหลายจุด และอาศัยน้ำฝนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบกับสภาพดินเหนียวปนดินร่วน ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำทะเลซึมผ่านเข้ามาในนาข้าว และเป็นการทำนาเพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคกันเองในครอบครัวเป็นหลัก นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีกรทำสวนยางพาราและสวนมะพร้าว

1. อิสมาแอล โรมินทร์ หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “ปะหลางเอ“ ซึ่งท่านถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของชุมชนเกาะยาวน้อย โดยปะหลางเอมีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาศาสนาบัญญัติของสำนักคิดชาฟิอี หลักไวยกรณ์ภาษาหรับ และวิชารหัสยนัย เป็นอย่างมาก หลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษาจากประเทศมาเลเซีย ปะหลางเอมองเห็นถึงสภาพปัญหาการขาดการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาของชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักการศาสนาอิสลาม จึงได้มีการร่วมมือกับพี่เขยอย่าง “โต๊ะครูโกบ” เปิดสถานศึกษาศาสนาที่เรียกว่า “ปอเนาะสันติสุข” ขึ้นในชุมชนเกาะยาวน้อย อีกทั้งปะหลางเอยังมีการใช้วิธีการนับเดือนตามจันทรคติมากำหนดวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ เช่น การเข้าสู่ช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน การกำหนดวันตรุษอิดิลฟิตรี่ และกำหนดวันตรุษอิดิลฮัฎฮา

ทุนทางวัฒนธรรม

  • เพลงดีเกีย เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมุสลิมบนเกาะยาวน้อย โดยทั่วไปชาวบ้านในชุมชนเกาะยาวน้อยเรียกด้วยภาษาท้องถิ่นว่า “ว่าดีเกีย” เป็นเพลงพื้นบ้านที่มีสำนวนอันเป็นเอกลักษณ์ มีการใช้คำพูดเป็นภาษาท้องถิ่นและบางคำใช้ภาษาอาหรับ กล่าวถึง การสอนของนบีมูฮัมหมัด ตามหลักสอนที่ปฏิบัติต่อกันมา แต่ผู้ร้องเพลงดีเกียจะมีการแต่งเนื้อร้องที่โยงถึงการแต่งงาน คล้ายกับพื้นบ้านทั่วไปที่ใช้ร้องในงานแต่งงาน การร่วมร้องเพลงดีเกียแบบร้องหมู่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายจำนวน 7-9 คน จะร้องไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งตามธรรมเนียมการแต่งงานของชาวมุสลิมในประเทศไทยจะไม่มีการประโคมคนตรี หรือร้องเพลงประกอบในพิธี แต่สำหรับชาวมุสลิมบนเกาะยาวน้อย การร้องเพลงอวยพรขั้นตอนพิธีถือเป็นเกียรติที่น่ายินดีอย่างหนึ่ง ดังนั้นเพลงดีเกียจึงถือเป็นสื่อพื้นบ้านที่มีการบอกถึงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น
  • ผ้าบาติก ชาวบ้านเกาะยาวน้อยจะมีการทำผ้าบาติกที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้ามัสลิน ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย และมีการวาดลายของผ้าบาติกที่เน้นรูปธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ท้องทะเล และรูปสัตว์ต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเกาะยาวน้อย จากชาวบ้านที่มีทักษะฝีมือในการวาดลายผ้าบาติก นอกจากนี้ยังมีการสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งผ้าเช็คหน้า ผ้าตัดเสื้อ ผ้าพันคอ และปลอกหมอน เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว

ทุนทางธรรมชาติ

ชุมชนเกาะยาวน้อยถือว่าเป็นพื้นที่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีบรรยากาศ วิวทิวทัศน์ที่เงียบสงบ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งชายหาด ป่าไม้และสัตว์ป่า จนได้รับจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 14 เกาะที่สวยที่สุดในโลก ซึ่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นี้เมื่อประกอบรวมกันจึงทำให้ชุมชนเกาะยาวน้อยมีทุนทางธรรมชาติสูงในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่

  • ป่าชายเลน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ทำให้มีป่าชายเลนที่สามารถเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำนานาชนิด โดยป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าอนุรักษ์ของชาวบ้าน
  • หาดป่าทราย เป็นแนวชายหาดยาวอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่งดงามของป่าบนเกาะและชมพระอาทิตย์ขึ้น การเดินทางสะดวกมีถนนถึงชายหาด และยังเป็นหาดที่สามารถเล่นน้ำได้
  • อ่าวเคียน เป็นอ่าวที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะยาวน้อย ในเขตความดูแลของอุทยานแห่งชาติ โค้งอ่าวยาวประมาณ 50 เมตร มีน้ำทะเลใส หาดทรายขาวสะอาด ล้อมรอบไปด้วยแนวเขาและหน้าผา
  • เกาะไข่ใน เป็นเกาะขนาดเล็กมีหาดทรายขาวสะอาด มีน้ำทะเลใส รอบเกาะมีจุดดำน้ำตื้นและปลาสีสวยมากมาย ด้านตะวันออกของเกาะมีหินรูปหัวช้าง และรูปเต่า 3 ตัว
  • บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ่อน้ำจืดที่อยู่บนชายฝั่งทะเล มีลักษณะพิเศษกว่าบ่อน้ำจืดอื่น ๆ เนื่องจากตั้งอยู่ริมทะเล เมื่อน้ำทะเลขึ้นจะท่วมบ่อน้ำและเมื่อน้ำลง น้ำจืดที่อยู่ใต้ดินจะผุดขึ้นมาดันให้น้ำเค็มล้นอกจากแอ่งเหลือแต่น้ำจืด ชาวบ้านจึงเรียกบ่อแห่งนี้เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงของสังคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมาชุมชนเกาะยาวน้อยเริ่มมีระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของในชุมชนไปสู่ระบบการค้าขาย เมื่อผลิตผลจากชุมชนทั้งในด้านการประมงและการเกษตรกรรมเริ่มเป็นที่ต้องการของชุมชนอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ชุมชนมีการเปิดตัวสู่โลกภายนอกของชุมชน ต่อมาเริ่มมีการอพยพของผู้คนจากชุมชนอื่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานและการที่ชาวบ้านยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการคุมกำเนิดของประชากรในชุมชน ทำให้จำนวนประชากรบนเกาะยาวน้อยเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มมีความต้องการใช้ทรัพยากรและสินค้าจากต่างชุมชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้เริ่มมีการนำเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการทำประมงจับสัตว์น้ำ การพัฒนารูปแบบการติดต่อคมมาคมให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการนำเรือยนต์เข้ามามีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการออกทะเลไปจับสัตว์ การขนส่งสินค้าและติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลมากขึ้น

ภาวะวิกฤติความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ในอดีตชุมชนเกาะยาวน้อยจะมีการทำประมงพื้นบ้านแบบพอมี พอกิน แต่เมื่อมีการอพยพของประชากรต่างถิ่น และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีการจับสัตว์มากขึ้น ประกอบกับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2537 มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในการทำประมงเพื่อตอบสนองต่อนโยบาลของภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนที่ต้องการจับสัตว์น้ำในจำนวนมากในเชิงพาณิชย์ จึงมีการลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตชายฝั่งในอ่าวพังงา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการัง หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งหากินและเพาะพันธุ์สัตว์เล็ก การช่วงชิงและแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวพังงาที่มากจนเกินขนาดได้กลายมาเป็นวิกฤตของชุมชน เมื่อทรัพยากรที่ใช้ในการทำมาหากินเกิดการเสื่อมโทรมปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้านของเกาะยาวน้อย ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงมีการรวมตัวกันในนามชมรมชาวประมงพื้นบ้านเกะยาวน้อย โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรในอ่าวพังงาอย่างยั่งยืน มีการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของชุมชน จากพลังการรวมมือกันของชาวบ้านสามารถช่วยฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของทรัพยากรให้ดีขึ้น แม้จะยังไม่ถึงขั้นอุดมสมบูรณ์เหมือนอย่างในอดีต แต่ก็ทำให้ชาวบ้านสามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านได้อีกครั้ง

ในชุมชนเกาะยาวน้อยยังมีจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ถ้ำชายเลร้องไห้ ต้นสมพง เกาะกูดใหญ่-เล็ก เป็นต้น

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า. (2561). เกาะยาวน้อย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2566, จาก https://www.cleanenergyisland.com/

ชุมชนต้องเที่ยว. (มีนาคม 24, 2561). ชุมชนต้องเที่ยว EP.7 เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://chumchontongtiew.com/

พิเศษ เสนาวงษ์และอรนุช ศิลป์มณีพันธ์. (2546). ภูมินิเวศกับการจัดการทรัพยากรธรมชาติของชุมชนเกาะยาวน้อย. วารสารภูมิศาสตร์, 28(3). หน้า 57-74.

วิชชุตา ให้เจริญ. (2545). การจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรณีศึกษาชุมชนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา. สำนักงานคระกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

สยามรัฐออนไลน์. (มีนาคม 1, 2565). พบ "ต้นสมพง" ขนาดยักษ์บนเกาะยาวน้อย คาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566, จาก https://siamrath.co.th/

อรัณย์ หนองพล. (สิงหาคม 22, 2562). ที่เกาะยาวน้อยมีอะไร ไม่ใช่แค่ความสวยงามของทิวทัศน์แต่เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://thestandard.co/

TCDC MATERIAL DATABASE. (2565). ผ้าบาติกเกาะยาวน้อย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566, จาก https://www.tcdcmaterial.com/