Advance search

สะพานศาลเจ้า

ชุมชนชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งในอดีตเคยเป็นท่าเรือที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี และในปัจจุบันมีตลาดประมงท่าเรือพลีที่เป็นจุดสำคัญของชุมชน

บางปลาสร้อย
เมืองชลบุรี
ชลบุรี
ศิริลักษณ์ นาโม
19 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
ท่าเรือพลี
สะพานศาลเจ้า


ชุมชนชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งในอดีตเคยเป็นท่าเรือที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี และในปัจจุบันมีตลาดประมงท่าเรือพลีที่เป็นจุดสำคัญของชุมชน

บางปลาสร้อย
เมืองชลบุรี
ชลบุรี
20000
13.7270687508884
100.534087568521
เทศบาลเมืองชลบุรี

“ท่าเรือพลี” หรืออีกชื่อในอดีต คือ “สะพานศาลเจ้า” ซึ่งมีที่มาตามลักษณะชุมชนบ้านสะพานของชาวชลบุรี ในอดีตชาวจีนได้อพยพเข้ามาทางทะเลอ่าวไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี อาทิ ชุมชนศรีนิยม ชุมชนไกรเกรียงยุค และชุมชนเสริมสันติ เป็นต้น ชาวจีนจึงสร้างบ้านเรือนอยู่ในทะเลและสร้างสะพานไม้ลัดเลาะไปในทะเล ซึ่งเป็นทางเดินเชื่อมต่อจากแนวถนนวชิรปราการ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งสะพานลงสู่ทะเล ประกอบกับในซอยนี้มีศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนตั้งอยู่ทั้งบริเวณต้นซอยและปลายซอย คือ ศาลเจ้าฮกเกี้ยนปุ้นเถ้าตั้งอยู่บริเวณต้นซอยและศาลเจ้าทีตี้เปบ้อตั้งอยู่บริเวณปลายซอย จึงเป็นที่มาของคำว่า “สะพานศาลเจ้า”

พื้นที่แต่เดิมก่อนที่จะมาเป็นตลาดประมงท่าเรือพลีนั้น ในอดีตที่ยังไม่ได้มีการสร้างถนนสุขุมวิท “ท่าเรือพลี” เป็นท่าเทียบเรือที่สำคัญอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรี เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดชลบุรีที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นสถานที่ประกอบอาชีพของชาวประมง โดยมีเรือสำเภาขนส่งขนาดใหญ่มาจอดเทียบท่า เพื่อขนถ่ายสินค้า อีกทั้งยังเป็นท่าเรือสำหรับเรือฉลอม และเรือกลไฟรับใช้สำหรับส่งสินค้าและรับคนโดยสารระหว่างชลบุรี - กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ

ท่าเรือพลีเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีความเข้มแข็งบนวิถีชีวิตชุมชนชาวเลดั้งเดิมที่มีมาแต่อดีต อีกทั้งยังเป็นแหล่งประมงที่ให้ผลิตผลทางทะเลหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนชายทะเลชลบุรี จึงเห็นได้ว่าท่าเรือพลีแห่งนี้จึงมีความสำคัญต่อจังหวัดชลบุรีเป็นอย่างมาก

ชุมชนท่าเรือพลีห่างจากเทศบาลเมืองชลบุรี ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 88 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนท่าเรือพลี สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ ซึ่งชุมชนท่าเรือพลีมีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลตำบลบางทราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลเมืองบ้านสวน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลเมืองบ้านสวน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ่าวไทย

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนท่าเรือพลี จำนวน 2,536 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 5,120 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,446 คน หญิง 2,674 คน ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทะเล ซึ่งนิยมประกอบอาชีพประมง

ผู้คนในชุมชนท่าเรือพลี มีการรวมกลุ่มเพื่อดูปแลตลาดประมงท่าเรือพลีดังนี้

คณะกรรมการตลาด เป็นหน่วยงานที่เทศบาลจัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการตัดสินคัดเลือกร้านอาหารที่จะเข้ามาจำหน่ายสินค้า อาหารในตลาดประมงท่าเรือพลี ทั้งที่เป็นของชาวบ้าน ชาวประมงในพื้นที่หรือผู้คนในบริเวณใกล้เคียง และไม่เก็บค่าแผงกับชาวบ้านผู้ประกอบการ แต่จะเก็บค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ในตลาดแทน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าทำความสะอาด และค่าคนเก็บโต๊ะ ซึ่งเป็นการจัดเก็บรายวันที่มีการเปิดตลาด

ชมรมผู้ประกอบการค้าตลาดประมงท่าเรือพลี เป็นชมรมของชาวบ้านในพื้นที่ท่าเรือพลีและผู้ประกอบการร้านค้าในตลาดประมงท่าเรือ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการร้านค้าที่ในตลาดประมงท่าเรือพลีสามารถการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดตามความต้องการของชาวบ้านและผู้ประกอบการร้านค้ากันเอง จากการที่เทศบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ตรงจุด และชาวบ้านและผู้ประกอบการยังมีหน้าที่ช่วยกันดูแลรับผิดชอบความสะอาดและทัศนียภาพของตลาดประมงท่าเรือพลีให้คงความสวยงามเหมือนเดิม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

ศาลเจ้าฮกเกี้ยนปุ้นเถ้า ตั้งอยู่เชิงสะพานท่าเรือพลีหรือสะพานศาลเจ้า เดิมทีหลังศาลเจ้าติดถนนด้านหน้าหันออกทางทะเล ชาวชลบุรีจึงเรียกศาลนี้ว่า “ศาลเจ้าตีนทะเล” ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะมีหลักฐานบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองชลบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2451 ได้ทรงบันทึกว่า “…เรือเมล์เขามาจอดที่สะพานศาลเจ้าอยู่ระหว่างสะพานหลวงเดิม” ต่อมาเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้บางปลาสร้อยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2457 ตัวอาคารศาลเดิมเปลี่ยนสภาพไป ปัจจุบันเป็นอาคารคอนกรีตขนาดสามคูหา มีประตูเล็ก 2 ด้าน เข้าด้านข้างประตูเล็กสำหรับผู้ติดตามประตูใหญ่สำหรับผู้อาวุโส ศาลเจ้าฮกเกี้ยนปุ้นเถ้าเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีเทพเจ้าหลายองค์ให้ผู้คนได้เคารพสักการะบูชาโดยเฉพาะเทพเจ้ากวนอูเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ถือเป็นเทพเจ้าสำคัญประจำศาลเจ้าแห่งนี้ ชุมชนชาวฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นกลุ่มที่ผูกพันกับการเดินเรือสำเภา ชาวจีนฮกเกี้ยนจึงสร้างศาลเจ้าเพื่อบูชาเทพกวนอูเพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญและความมีน้ำใจเดียวกันซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของลูกเรือสำเภาเมื่อออกเรือมาเสี่ยงโชคในทะเลจีนใต้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีเจ้าแม่เทียงโหวเซียบ้อหรือเจ้าแม่ทับทิมเทพธิดาแห่งท้องทะเลประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าอีกด้วย

ตลาดประมงท่าเรือพลี เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดชลบุรีที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวประมง ที่ใช้รูปแบบการทำประมงเชิงอนุรักษ์ โดยใช้เรือที่มีขนาดเล็กในการประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ใกล้จากชายฝั่งทะเลมากหนัก และใช้ท่าเทียบเรือปลายซอยท่าเรือพลีเป็นสถานที่ขนส่งสินค้าสำหรับชาวประมง หรืออาคารบ้านเรือโบราณแบบชาวจีนที่อพยพมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่  อีกทั้งภูมิทัศน์รอบข้างที่รายล้อมด้วยชายทะเลอ่าวไทย นับเป็นจุดชมวิวที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรีที่นักท่องเที่ยวเมื่อมาถึงจังหวัดชลบุรีต้องมาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้อยู่เสมอ ทั้งหมดนี้จึงทำให้เห็นว่าจังหวัดชลบุรีนั้นเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในอดีตผู้คนบริเวณชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่ทำอาชีพประมงเป็นหลัก อีกทั้งรอบข้างยังรายล้อมไปด้วยชายฝั่งทะเลอ่าวไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนท่าเรือพลีที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัดเจนในด้านเศรษฐกิจโดยมีรายละเอียด ดังนี้

ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทยปี พ.ศ. 2548 - 2553 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและชะลอตัว เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผนวกกับความเสื่อมโทรมของพื้นที่บริเวณตลาดประมงท่าเรือพลีที่มีความเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จึงทำให้ท่าเรือพลีที่เคยรุ่งเรืองในอดีต กลับกลายเป็นท่าเรือที่รกร้างไร้ผู้คนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้ออาหารทะเลสด อีกทั้งชาวประมงท่าเรือพลียังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางที่มาซื้ออาหารทะเลสด หากไม่ขายให้พ่อค้าคนกลาง ชาวประมงต้องนำอาหารทะเลสดเหล่านี้ไปขายส่งที่ตลาดแห่งอื่น  ซึ่งอยู่ไกลจากท่าเรือพลีมาก ไม่คุ้มทุน ประกอบกับพื้นที่ใกล้เคียงในเขตจังหวัดชลบุรียังมีตลาดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตลาดประมงท่าเรือพลีอื่น เช่น ตลาดอ่างศิลา ตลาดท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น จึงส่งผลให้ชาวประมงขาดทุนมีหนี้สินและเริ่มย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น และส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพอื่นที่สร้างรายได้มากกว่าการทำประมง

จากปัญหาที่เกิดขึ้น จังหวัดชลบุรีจึงได้เข้ามาทำการปรึกษาหารือกับทางเทศบาลเมืองชลบุรี เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับท่าเรือพลี อีกทั้งยังให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น โดยต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นกัน จังหวัดชลบุรีและเทศบาลชลบุรีจึงมีแนวทางที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้าขายอาหารทะเล การทำอาชีพประมงของคนในพื้นที่ และส่งเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางปลาสร้อย มะขามหย่ง บ้านโขด บางทราย และตำบลบ้านสวน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่กลับมาประกอบอาชีพประมงดังเดิม

ในปี พ.ศ. 2553 เทศบาลชลบุรีจึงได้จัดตั้งโครงการตลาดประมงท่าเรือพลีขึ้นมา และมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ให้กับกองสาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลชลบุรีเข้ามาดูแลแทน โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและจุดเด่นที่น่าสนใจของตลาดประมงท่าเรือพลี ที่ยังคงเป็นท่าเทียบเรือประมง มีวิถีชีวิตของชาวประมง และอาคารบ้านเรือนแบบโบราณที่มีความสมบูรณ์ยังคงหลงเหลืออยู่ ได้จัดทำโครงการตลาดประมงท่าเรือพลีขึ้นมาในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมง ที่มีการทำประมงเชิงอนุรักษ์ โดยใช้เรือที่มีขนาดเล็กในการประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ใกล้จากชายฝั่งทะเลมากหนัก ทำให้นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวตลาดประมงท่าเรือพลีได้เห็นวิถีชีวิตชาวเล ที่ใช้ชีวิตตามการขึ้นลงของน้ำทะเลที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวัน อีกทั้งให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาซื้ออาหารทะเลจากเรือประมงของชาวบ้านในชุมชนมารับประทาน ทำให้พื้นที่ตลาดประมงท่าเรือพลีเป็นจุดที่น่าสนใจที่หนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัดชลบุรี
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปทัญทิญา สิงห์คราม. (2560). การพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนตลาดประมง ท่าเรือพลี ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี. วารสารวิชาการ สถาบันการพลศึกษา, 9(2), 17-29.

ภัทรกานต์ วรยศ และวัลลภ ศัพท์พันธุ์. (2558). ความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับส่วนประสมทางการตลาดที่มีต่อโครงการตลาดประมงท่าเรือพลี เทศบาลเมืองชลบุรี. วารสารการเมืองการบริหาร และกฎหมาย, 7(2), หน้า 293-322.

ตลาดประมงท่าเรือพลี. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566, จาก: https://www.touronthai.com/

Thailand Tourism Directory. (ม.ป.ป.). ตลาดประมงท่าเรือพลี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566, จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/