Advance search

คลองสวน

ตลาดคลองสวน

ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นชุมชนที่มีประวัติยาวนานกว่าร้อยปี โดยชุมชนนี้ตั้งอยู่บริเวณริมคลองประเวศบุรีรมย์ มีลักษณะเป็นเรือนไม้โบราณแนวยาวขนานไปตามคลอง นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีศาลเจ้าพ่อคลองสวนที่มีอายุกว่าร้อยปีและมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของผู้คนในชุมชน

คลองสวน
บางบ่อ
สมุทรปราการ
ปพิชญา ทับสมุทร
2 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 เม.ย. 2023
คลองสวน
ตลาดคลองสวน


ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นชุมชนที่มีประวัติยาวนานกว่าร้อยปี โดยชุมชนนี้ตั้งอยู่บริเวณริมคลองประเวศบุรีรมย์ มีลักษณะเป็นเรือนไม้โบราณแนวยาวขนานไปตามคลอง นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีศาลเจ้าพ่อคลองสวนที่มีอายุกว่าร้อยปีและมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของผู้คนในชุมชน

คลองสวน
บางบ่อ
สมุทรปราการ
10560
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5397-1399, เทศบาลคลองสวน โทร. 0-2739-3253
13.66328
100.95680
เทศบาลตำบลคลองสวน

ตลาดคลองสวนตั้งอยู่ครอบพื้นที่สองจังหวัด คือ ตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามแนวคลองประเวศน์บุรีรมย์ เป็นชุมชนที่มีประวัติยาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับคลองประเวศน์บุรีรมย์ สืบเนื่องมาตั้งแต่ได้มีการขุดคลองประเวศน์บุรีรมย์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งในการขุดคลองครั้งนั้นเป็นการขุดแบบมีการรังวัดแนวคลองเป็นเส้นตรง ทำให้เรือวิ่งผ่านได้เร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในละแวกนี้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบเป็นงบสำหรับขุดคลอง หลังจากได้มีการขุดคลองเสร็จประชาชนทั้งชาวไทย จีน มุสลิม มอญ รวมถึงเขมรพากันไปจับจองที่ดินสองฝั่งคลองเป็นที่ทำกินจนถึงทุกวันนี้

เจ้าของตลาดคลองสวนร้อยปีฝั่งจังหวัดสมุทรปราการคนแรก ซึ่งเป็นต้นตระกูลอัศวาณิชย์ คือ นายบรรจง อัศวาณิชย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “อาเสี่ย” เป็นบิดาของนายสุธีร์ อัศวาณิชย์ เจ้าของตลาดคนปัจจุบัน ได้เดินทางมาจากเมืองจีนด้วยเรือสำเภาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2459 เพื่อหนีความยากลำบาก เมื่อมาถึงบริเวณนี้จึงได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานริมคลองประเวศน์บุรีรมย์บริเวณสี่แยกเทพราช โดยเริ่มสร้างตลาดด้วยการปลูกอาคารไม้หลังคามุงจาก ประมาณ 6 ห้อง ด้วยความที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและความขยันหมั่นเพียร จึงทำกิจการหลายอย่าง อาทิ ค้าขายน้ำมัน ขายยา ขายบุหรี่ เป็นพ่อค้าข้าว และทำโรงสี ต่อมากิจการรุ่งเรืองจึงได้พัฒนากลายมาเป็นตลาดคลองสวนที่เจริญก้าวหน้า โดยในปัจจุบันตลาดคลองสวนแห่งนี้มีอายุกว่าร้อยปี

ตลาดคลองสวนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ เป็นศูนย์รวมของชาวต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ที่ผสมผสานระหว่างชาวไทย ชาวจีน ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ที่อาศัยร่วมกันแล้วกลายเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานในการดำรงชีวิต ในอดีตนั้นคนในชุมชนจะใช้ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งนัดพบและแหล่งพูดคุยเปลี่ยนทัศนคติ ประสบการณ์ การดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นจุดแวะพักและเป็นศูนย์รวมของชุมชน จุดแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญและสะดวกที่สุดในแถบภาคตะวันออกสู่กรุงเทพมหานคร จุดเด่นของตลาดนี้คือสะพานสูงที่มีชื่อว่า “อัศวาณิชย์” เป็นสะพานไม้ที่มีความสูงและชันมาก เนื่องจากในอดีตมีการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ผ่านคลองนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างให้สูงเพื่อให้พ้นเรือขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันไม่มีเรือใหญ่ผ่านแล้ว แต่ชุมชนก็ยังคงอนุรักษ์สะพานไว้ให้เป็นอนุสรณ์บนพื้นน้ำและอยู่คู่กับชุมชนคลองสวนต่อไป

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการและตำบลเปร็ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 7 ตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลเทพราช และตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 2 ตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

ชุมชนคลองสวนมีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำนา เลี้ยงกุ้งและปลา แบ่งการปกครองออกเป็น 7 หมู่บ้าน ตำบลคลองสวน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานโดยทั่วไปนิยมสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวถนนและริมฝั่งคลองสองฝั่ง

สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ตำบลคลองสวนเป็นแบบร้อนชื้น มีอากาศร้อนและมีความร้อนชื้นในอากาศสูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมทะเลอ่าวไทยและลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังมีปริมาณฝนตกหนักในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคมด้วย ซึ่งเป็นผลจากร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดการก่อตัวของพายุใต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนในทะเลจีนใต้

ชุมชนคลองสวนแบ่งการปกครองเป็นเขต องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล โดยชุมชนตลาดคลองสวนตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตลาดคลองสวน จากการสำรวจข้อมูลประชากรของชุมชนหมู่ 1 ตลาดคลองสวนเมื่อปี พ.ศ. 2554 พบว่า มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ 517 คน แยกเป็นประชากรผู้ชาย 231 คนและประชากรผู้หญิง 286 คน

จีน, มอญ

กลุ่มอาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 11 คน แบ่งหน้าที่ออกเป็นโซนในการรับผิดชอบ สมาชิกหนึ่งคนดูแลคนในชุมชนตั้งแต่ 13-15 หลังคาเรือน โดยทุก ๆ บ้านในชุมชนตลาดคลองสวนจะมีกระดาษสีเหลืองระบุชื่อ อสม. ที่รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน หน้าที่หลักของ อสม. คือประสานงานกับแพทย์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองสวนในการแจกจ่ายยา ประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนต่าง ๆ เช่น ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดพ่นยากันยุงในชุมชน และหน้าที่อีกประการหนึ่งคือ การตรวจคุณภาพของร้านอาหาร

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวคลองสวนมีความผูกพันกับคลองประเวศบุรีรมย์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ กล่าวคือ ชุมชนตลาดคลองสวนเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการขุดลอกคลองนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานทำการค้าขายบริเวณริมฝั่งคลองจนขยายตัวเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดคลองสวนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ร่วมกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกัน

ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นทั้งที่พักอาศัยและเป็นที่ทำการค้าขายมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งกล่าวได้ว่าการค้าขายถือเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน พ่อค้าแม่ค้าในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมักจะเกิดและเติบโตภายในชุมชน มีความผูกพันกับถิ่นที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตดั้งเดิม ในปัจจุบันร้านค้าในตลาดคลองสวนเปิดขายตั้งแต่ช่วงเช้าประมาณ 05.00-16.00 น. โดยไม่มีวันหยุด สินค้าที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ขายให้กับผู้คนในท้องถิ่นเป็นหลัก

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • งานประจำปีของตลาดคลองสวน ประเพณีที่สำคัญของชุมชนคือการจัดงานประจำปีของตลาดคลองสวน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของงานคือ มีการแสดงงิ้วบริเวณด้านหน้าตลาด ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อคลองสวน ในการจัดงานจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน ประเพณีนี้มีการจัดอย่างต่อเนื่องสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ในอดีตจะมีการแสดงงิ้วเพียงอย่างเดียว แต่ในระยะหลังมีการแสดงลำตัดและฉายหนังเพิ่มเติม
  • งานนมัสการหลวงพ่อปาน จะจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 5-7 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเพณีที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรปราการ งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการยกย่องและรำลึกถึงพระคุณขององค์หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธา (วัดหลวงพ่อปาน) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านคลองด่าน หมู่ที่ 11 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศาลเจ้าพ่อคลองสวน

ศาลเจ้าพ่อตลาดคลองสวน เป็นศาลเทพารักษ์เก่าแก่อายุกว่าร้อยปีซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวคลองสวนมาช้านาน ตัวศาลเดิมสร้างด้วยไม้หันหน้าสู่คลองประเวศน์บุรีรมย์ที่ตลาดคลองสวนฝั่งสมุทรปราการ ต่อมาคณะกรรมการศาลเจ้าและผู้ศรัทธาในองค์เจ้าพ่อคลองสวนจึงได้ร่วมกันสร้างศาลหลังใหม่ขึ้นเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบศาลเจ้าจีน ศาลหลังใหม่นี้แล้วเสร็จแล้วประกอบพิธีเปิดศาลใหม่ในวันที่ 17 เดือน 8 จีนปีหมิงก๊กที่ 51 หรือตรงกับปีพุทธศักราช 2505 ปัจจุบันชาวตลาดคลองสวนจะร่วมกันประกอบพิธีสักการะเจ้าพ่อคลองสวนเป็นประจำทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในปี พ.ศ. 2545 นายสุธีร์ อัศวาณิชย์ เจ้าของตลาดคนปัจจุบันและดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเทศบาลตำบลคลองสวนในขณะนั้น เกิดความคิดที่จะพัฒนาตลาดคลองสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนบ้านเรือนตามแบบสมัยโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้รื้อฟื้นและพัฒนาตลาดแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2547 ตลาดคลองสวนได้รับพระราชทานรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทชุมชนพื้นถิ่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่คนในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ ยังได้ให้ความสนใจเข้ามาให้การสนับสนุนช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตลาดแห่งนี้ให้มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยังคงไว้ ซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิมและสถาปัตยกรรมที่สวยงามเฉกเช่นในอดีต ปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจและมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมตลาดแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง


เมื่อเวลาผ่านไปความเจริญได้แผ่กระจายเข้ามาสู่ชุมชน จุดเปลี่ยนที่สำคัญเริ่มจากการสร้างถนนที่ทันสมัยคือ ถนนอ่อนนุช - เทพราช ซึ่งเดิมเป็นถนนดินลูกรัง ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนตลาดคลองสวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่นิยมใช้การคมนาคมทางน้ำในการเดินทางและการติดต่อค้าขายได้มีการเปลี่ยนมาใช้การสัญจรทางบกมากขึ้น ส่งผลให้การค้าขายทางน้ำเกิดซบเซาลงอย่างมากผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงย้ายออกไปประกอบอาชีพที่อื่น แต่ตลาดคลองสวนแห่งนี้ยังมีการเปิดดำเนินการ และยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมภายในชุมชนไว้เป็นอย่างดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เบญญาภา เศรษฐทัตต์. (2544). ทุนทางสังคมกับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์: กรณีศึกษา ตลาดคลองสวนร้อยปี อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์.

ตริยะ ศักดิ์มังกร. (2553). การเปิดข่าวสารและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อแหล่งท่องเที่ยวตลาดคลองสวน 100 ปี จังหวัดสมุทรปราการ. สารนิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารการท่องเที่ยวและบันเทิง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก.

แสงระวี คมขำ. (2558). พัฒนาการชุมชนตลาดคลองสวน 100 ปี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.