ชุมชนโบราณที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี ซึ่งมีการสืบทอดผ้าทอมือมาบหม้อและแป้งท้าวยายม่อมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้
บ้านมาบหม้อ มีข้อสันนิษฐานของชื่อว่ามาจากลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นแอ่งน้ำ แต่เดิมในหมู่บ้านจะมีพ่อค้าพายเรือนำหม้อมาขายบริเวณชุมชน จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน "บ้านมาบหม้อ"
ชุมชนโบราณที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี ซึ่งมีการสืบทอดผ้าทอมือมาบหม้อและแป้งท้าวยายม่อมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้
ชุมชนบ้านมาบหม้อเป็นชื่อของหมู่ 7 ตำบลบ้านปีก อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีอายุดั้งเดิมเกินกว่า 100 ปี สาเหตุของการตั้งชื่อเล่าสืบต่อกันว่า คำว่า “มาบ” หมายถึง ลุ่มน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีลักษณะคล้ายกับคลองเล็ก ๆ เป็นเขตติดต่อกับคลองบางโปรง สมัยก่อนมีพ่อค้าพายเรือนำหม้อมาขาย (ในอดีตจะเป็นหม้อดิน) ใครจะซื้อหม้อก็ต้องมารอซื้อตรงจุดบริเวณบ้านมาบหม้อที่มีพ่อค้าพายเรือมาขาย จึงทำให้เป็นที่มาของหมู่บ้านมาบหม้อ จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเล่าว่า “สมัยก่อนพื้นที่ของชุมชนบ้านมาบหม้อ ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมและมีการทำนาข้าว เมื่อมีการนำควายไปช่วยทำนาช่วงฤดูฝนจึงเหยียบย่ำพื้นดินเป็นปลักเป็นโคลน”
ด้วยสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ชุมชนบ้านมาบหม้อ ผู้คนในชุมชนจึงนิยมประกอบอาชีพทำนา ทำน้ำตาลโตนด ทำสวนมะพร้าว ทอผ้า หรือมอหูก ผู้หญิงแทบทุกครัวเรือนทอผ้าได้และเก่งและรับจ้างทอผ้าอ่างศิลา ส่วนผู้ชายจะทาน้ำตาลโตนด คือ น้ำตาลที่ทำจากต้นตาลเรียกอีกอย่างว่า “น้ำตาลปึก” ในฤดูฝนจะช่วยกันทำนา
การคมนาคมในอดีตจะไม่สะดวกมากนั้นจะเดินทางไปไหนจะต้องเดินเท้าหรือนั่งเกวียนไปขึ้นรถที่ตำบลเสม็ดหรือตำบลอ่างศิลา ผู้คนในหมู่บ้านจึงไม่ได้เดินทางไกลนัก ส่วนการค้าขายมะพร้าวต้องใช้เกวียนบรรทุกจากสวนไปท่าเรือ และบรรทุกเรือใบลาใหญ่ไปอีกต่อหนึ่ง
ชุมชนบ้านมาบหม้อมีพื้นที่ 0.97240 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 105 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ ซึ่งชุมชนบ้านมาบหม้อมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแสนสุข และตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันตก จรดตำบลแสนสุข และตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านมาบหม้อ จำนวน 524 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 651 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 305 คน หญิง 346 คน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนแห่งนี้จะประกอบอาชีพรับจ้าง ทำการเกษตร ประมง นอกจากนี้ประกอบอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว และอาชีพอื่น ๆ
วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือคุณยายหง่วน (บ้านมาบหม้อ) ศูนย์การเรียนรู้เผยแพร่ภูมิปัญญาให้กับคนรุ่นหลัง โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างอาชีพให้คนในชุมชน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานการศึกษาพัฒนาคอลเลคชั่นเสื้อผ้าให้มีความร่วมสมัย
ผู้คนในชุมชนบ้านมาบหม้อมีวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีในชุมชนบ้านมาบหม้อนั้นมีความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์และปฏิบัติสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การไว้จุก โกนจุก (ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม) ในพิธีการแต่งงานชาวบ้านนิยมใช้ขนมกงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนขันหมากซึ่งขนมกงนั้นประกอบไปด้วยเป็ด 1 คู่ ไก่ 1 คู่ ที่จำลองมาจากเป็ดและไก่จริง ๆ โดยภายในตัวเป็ดและไก่จำลองนั้นจะเป็นแป้งทอดส่วนภายนอกจะมีการตกแต่งด้วยกระดาษที่มีสีสันสวยงาม ในส่วนของการละเล่น ในอดีตชาวบ้านชุมชนบ้านมาบหม้อมีคณะกลองยาวชื่อคณะยอดสามัคคีและวงปี่พาทย์ละครชาตรีนิยมเล่นเรื่อง สังข์ทอง ยอพระกลิ่น และปลาบู่ทอง แต่ทุกวันนี้การละเล่นที่กล่าวไปทั้งหมดได้ยกเลิกไปแล้วเนื่องจากขาดผู้สืบทอด
- ประเพณีฉลากภัตร เป็นการถวายฉัตรใบตองดอกไม้แก่พระสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา
- ประเพณี 12 เดือน จะมีการปฏิบัติกันคล้ายในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ต้นมกราคมงานทำบุญกลางบ้าน การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ เมษายน ในวันสงกรานต์นอกจากจะรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอพรแล้วชาวบ้านบ้านมาบหม้อยังนิยมทำสังคายนาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ส่วนการทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา คือ การตักบาตรเทโว โดยเอกลักษณ์คือการทำข้าวต้มหางที่ใช้ในพิธีตักบาตรเทโว หรือการทำบุญหลังวันออกพรรษาในเดือนตุลาคม โดยชาวบ้านร่วมกันทำข้าวต้มหางที่มีลักษณะเป็นข้าวต้มมัดเล็ก ๆ และมีการทำหางให้ยาวขึ้นเพื่อความสะดวกในการใส่บาตรที่วัดแทนข้าวสารอาหารแห้ง
- เดือนสิงหาคม ผู้คนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรจะเริ่มเก็บผลผลิตทางการเกษตร อาทิ น้อยหน่า และลำไยพื้นบ้าน
- เดือนพฤศจิกายน เกษตรกรในพื้นที่เก็บพืชท้องถิ่น คือหัวต้นเท้ายายม่อม พันธุ์หัวพอง โดยเลือกเก็บเฉพาะหัวใหญ่ ส่วนหัวเล็กตั้งแต่ขนาดหัวแม่มือจนถึงไข่จิ้งจกจะเก็บไว้ลงปลูกต่อไป
- เดือนธันวาคม กิจกรรมการผลิตแป้งเท้ายายม่อมเพื่อเตรียมจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
1. นางสาย เสริมศรี (ยายไอ้) ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้การทอผ้าแบบโบราณให้ทายาทและนักเรียนในพื้นที่บ้านปึก จนมีทักษะฝีมือและพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือบ้านมาบหม้อ
2. นางหง่วน เสริมศรี (ยายหง่วน) ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้การทอผ้าแบบโบราณให้ทายาทและนักเรียนในพื้นที่บ้านปึก จนมีทักษะฝีมือและพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือบ้านมาบหม้อ
3. นายอุทัย เสริมศรี ผู้เป็นลูกชายของป้าไอ้ได้เล็งเห็นความสำคัญของผ้าทอมือบ้านมาบหม้อ จึงร่วมมือกับสมาชิกในชุมชนและมหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อจัดตั้งเรือนพิพิธภัณฑ์ผ้าทอมือยายหง่วน ยายไอ้บ้านมาบหม้อขึ้นมา
ทุนวัฒนธรรม
ผ้าทอมือบ้านมาบหม้อ หรือมีชื่อเรียกว่า “ผ้าทออ่างศิลา” และผ้าทออ่างหิน เป็นงานหัตถศิลป์ที่มีชื่อเสียงของอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ครั้งสมัยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าท่านเสด็จมาประทับที่ตำหนักตึกแดงตึกขาว เดิมผ้าทอมืออ่างศิลาเป็นผ้าพื้น ๆ ไม่มีลวดลาย ท่านได้นำคนในอ่างศิลาไปเรียนรู้การทอผ้าในวังเพื่อที่จะมาสอนให้ผ้าทอมีลวดลายสวยงามจนเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง ชนชั้นราชสำนัก และข้าราชการ
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปความนิยมผ้าทอมือบ้านมาบหม้อซบเซาลง ในชุมชนบ้านมาบหม้อมีเพียง 2 ท่าน ที่ยังสามารถทอผ้าแบบโบราณได้ คือ คุณยายไอ้ (นางสาย เสริมศรี) และคุณยายหง่วน (นางหง่วน เสริมศรี) ท่านทั้งสองได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การทอผ้าแบบโบราณให้ทายาทและนักเรียนในพื้นที่บ้านปึก จนมีทักษะฝีมือและพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือบ้านมาบหม้อ ซึ่งลวดลายที่บ่งบอกความเป็นชุมชนบ้านปึกพัฒนา คือ ลายไส้ปลาไหล ลายสมุก ลายพิกุล ลายราชวัตร เป็นต้น
เรือนพิพิธภัณฑ์ผ้าทอมือยายหง่วน ยายไอ้ บ้านมาบหม้อ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนบ้านมาบหม้อในอดีต เช่น อุปกรณ์การทอผ้า อุปกรณ์การทำแป้ง ท้าวยายม่อม เช่น หนังปลากระเบนที่ใช้สำหรับการขูดหัวท้าวยายม่อมเพื่อนำไปทำเป็นแป้ง และเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่คนทั่วไป สถาบันต่าง ๆ และนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับ วิถีชีวิตของชุมชนบ้านมาบหม้อ ตำบลบ้านปึกในอดีต ซึ่งปัจจุบันคุณอุทัย และคุณรินจง เสริมศรี ผู้เป็นทายาทดูแลอยู่
แป้งท้าวยายม่อม ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์อากาศ ของพื้นที่บ้านปึก - อ่างศิลาที่อยู่ใกล้ชายหาดทะเล ทำให้มีการพบทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือต้นท้าวยายม่อมพืชท้องถิ่นของชาวชุมชนบ้านมาบหม้อโดยปัจจุบันมีการนำต้นท้าวยายม่อมมาแปรรูปเป็นมรดกทางภูมิปัญญา ชุมชนมาบหม้อจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์แป้งท้าวยายม่อมขึ้นเพื่อรักษามรดกทางภูมิปัญญาของชุมชนแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้แป้งท้าวยายม่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนเนื่องจากเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ขึ้นได้ง่าย และสามารถสร้างรายได้เสริมได้ดีให้แก่ครัวเรือน ซึ่งแป้งท้าวยายม่อมมีกิโลกรัมละ 400 บาท
วัดใหม่เกตุงาม ตั้งอยู่ในตำบลบ้านปึกอำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี วัดนี้ได้ถูกสร้างเมื่อใดไม่ปรากฎชัด เป็นวัดที่มีต้นกำเนิดมาจากสภาพแวดล้อมและคน ในท้องถิ่น พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน อาคารแบบมีพาไลโดยรอบ หลังคามุงด้วย กระเบื้องดินเผา และหน้าบันประดับปูนปั้น และตกแต่งด้วยศิลปกรรมแบบจีนตามศิลปะพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลาย ปูนปั้นช่อดอกพุดตาน กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรีได้เข้ามาสำรวจ และรวบรวมข้อมูลของพระอุโบสถเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถานเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถานเพื่อคุ้มครองควบคุมดูแลรักษาโบราณสถาน
อาหาร
อาหารพื้นบ้านของชุมชนบ้านมาบหม้อจะมีวิธีการปรุงอาหารที่เรียบง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเน้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นใบชะครามที่เป็นพืชที่ทนต่อน้ำเค็ม ใบชะมวงหรือส้มโมงที่มักขึ้นบริเวณดินกร่อย หรือดินชายฝั่ง กะแท่งหรือต้นบุกพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ขึ้นได้ดีในทุกสภาพดิน อีกทั้งเนื้อสัตว์ของแต่ละเมนูก็ไม่พ้นเหล่าสัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปูปลา อาหารการกินของชาวบ้านในชุมชนสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของชุมชนที่มีวิถีชีวิตอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอ่างศิลาได้อย่างชัดเจน โดยมีอาหารพื้นบ้านดังต่อไปนี้
- แกงกะแท่ง หรือมีชื่อเรียกว่า “แกงส้มบุก” หรือ “แกงเลียงบุก” วัตถุดิบหลักที่สำคัญคือต้นบุกจะถูกนำมาต้มรวมกับเครื่องแกงต่าง ๆ และอาหารทะเล กะแท่งหรือต้นบุกพืชพื้นบ้านมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด ขับเสมหะ แก้ไอ
- แกงลูกสามสิบ น้ำแกงมีความข้นจากพริกแกงคั่วเนื้อละเอียด สีส้ม กะทิไม่แตกมัน เนื้อปลาทูเป็นชิ้น ลูกสามสิบใสแต่ไม่เละ รสชาติเผ็ด เค็ม หวาน ต้นสามสิบเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็กพาดพันต้นไม้อื่น ๆ หรือเถาสามารถเลื้อยได้ไกล 3 - 5 เมตร มีประโยชน์ในการช่วยบำรุงหัวใจ ตับ ปอด ลดไขมันในระดับเส้นเลือด และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ
- ต้มส้มโมง เป็นต้มที่มีลักษณะคล้ายต้มยำ โดยมีการใช้ข่าตะไคร้เพิ่มความเปรี้ยวจากใบส้มโมงหรือที่เรารู้จักกันอีกชื่อคือใบชะมวง ช่วยในการย่อยอาหารและระบายท้อง ฟอกโลหิต และแก้ร้อนในกระหายน้ำ ฯลฯ
- แกงชะคราม น้ำแกงมีความข้นจากพริกแกงคั่วเนื้อละเอียด สีส้ม มีสีเขียวเข้มจากใบชะคราม และมีเนื้อกุ้งหรือปูรสชาติเผ็ด เค็ม หวาน วัตถุดิบ หลักที่สำคัญคงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากใบชะคราม ชะครามเป็นพืชที่มีรสเค็มเนื่องจากชะครามขึ้นที่บริเวณชายฝั่งที่น้ำทะเลเข้าถึง จึงต้องนำใบสดมาต้มลวกน้ำทิ้งก่อนประกอบอาหารรับประทาน มีสรรพคุณช่วยในการขับปัสสาวะ บำรุงอาหาร และแก้ท้องผูก ฯลฯ
ในช่วงที่วิถีชีวิตของชุมชนบ้านมาบหม้อเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คุณค่าภูมิปัญญาของผ้าทออ่างศิลา - บ้านปึกที่มีข้อจำกัดทั้งสภาพปัญหาการขาดแคลนในด้านเครื่องมือวัตถุดิบ ช่างฝีมือในการทอผ้า การสืบทอด และปัญหาด้านเศรษฐกิจล้วนส่งผลต่อการผลิตและคิดค้นพัฒนารูปแบบลวดลายของผ้าทอ แม้จะมีการจำหน่ายผ้าทอมืออยู่บ้างแต่่เป็นส่วนน้อยมากเพราะนิยมใช้เครื่องจักรทอผ้าแทนซึ่งส่งผลต่อการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าทอมาบหม้อเป็นอย่างมาก จนกระทั่งผ้าทอมาบหม้อได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับสั่งกับกลุ่มผู้ทอผ้าอ่างศิลา - บ้านปึกให้ทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูการทอผ้าแบบดั้งเดิมเพื่อเป็นการสืบทอดให้ลูกหลานได้เห็นถึงคุณค่าและการสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ เนื่องจากเหลือผู้สืบทอดสำคัญในการทอผ้าแบบโบราณเพียง 2 ท่าน คือ คุณยายหง่วนและคุณป้าไอ้
ในวันที่ 4 ธันวาคม ปีพ.ศ. 2546 คุณป้าไอ้ (นางสาย เสริมศรี) เป็นตัวแทนของชุมชนบ้านมาบหม้อ จังหวัดชลบุรี ในโครงการถักร้อยดวงใจมหกรรมทอผ้าไทยเทิดไท้องค์ราชินีทอลายพิกุลครึ่งซีก สีฟ้าสลับขาวเหลือง ซึ่งได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นสินค้า OTOP ระดับ 3 ดาว ของตำบล จนกระทั่งคุณป้าไอ้ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2553 จึงเหลือผู้สืบทอดคนสุดท้ายของบ้านมาบหม้อ คือ คุณยายหง่วน ซึ่งเป็นปราชญ์การทอผ้าของชุมชนคนสำคัญ จนเมื่อวันที่19 มีนาคม ปี พ.ศ. 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงโปรดฯ ให้คุณยายหง่วนเข้าเฝ้าฯ เพื่อให้ท่านประทานสัมภาษณ์และทอดพระเนตรผ้าทอแบบดั้งเดิมของอ่างศิลา -บ้านมาบหม้อ และวันที่ 22 เมษายน ปีพ.ศ. 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาวางศิลาฤกษ์อาคารไวทยนิเวศน์ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา คุณยายหง่วนและคณะได้เข้าเฝ้าอีกครั้งเพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผ้าทอไปแสดงในครั้งนี้คุณยายหง่วนได้ถวายผ้าทอมือตาสมุกสีม่วงแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย จากนั้นคุณยายหง่วนเสริมศรีได้เสียชีวิตลง เมื่อ 6 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2559 ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกัน มีงบประมาณของโครงการประชารัฐ เข้ามาสนับสนุนผ่านกองทุนหมู่บ้าน - บ้านมาบหม้อ ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน โครงการผ้าทอมือบ้านมาบหม้อ จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2560 โดยใช้แบรนด์ว่า “ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือคุณยายหง่วนบ้านมาบหม้อ”
ชุมชนบ้านมาบหม้อมีภูมิปัญญาถิ่นท้องที่สำคัญจึงมีการจัดตั้งเรือนพิพิธภัณฑ์ผ้าทอมือยายหง่วน ยายไอ้ บ้านมาบหม้อขึ้นมา โดยสะสมเครื่องมือใช้ในอดีตซึ่งเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม มีนายอุทัย เสริมศรี ผู้เป็นลูกชายของป้าไอ้เป็นผู้นำในการจัดตั้งร่วมมือกับสมาชิกในชุมชน และมหาวิทยาลัยบูรพา แม้ว่าเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าโบราณจะถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์จะมีการแยกหมวดหมู่ตามการใช้งานไว้บ้างส่วนหนึ่งแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบมหาวิทยาลัยบูรพาเล็งเห็นถึงปัญหานี้จึงจัดทำโครงการวิจัยโดยมีความร่วมมือทางวิชาการกับภาควิชาประวัติศาสตร์และภาควิชา สังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมเก็บรวบรวม ข้อมูลภาคสนามด้วย จากการเก็บรวบรวมข้อมูลวัตถุ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่อยู่ในเรือนป้าไอ้ ซึ่งจะนำไปใช้จัดแสดงในการเตรียมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนของชุมชนบ้านมาบหม้อ
เกรียงศักดิ์ พราพมณพันธุ์, ชูศักดิ์ สุวิมลเสถียร, ธรรมศักดิ์ สงกา, มนัส แก้วบูชา, ศรัญญา ประสพชิงชนะ, ปาจรีย์ สุขาภิรมย์, และณัฐวรา เทียนเหตุ. (2562). โครงการแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ : บ้านมาบหม้อ ตำบลบ้านปึก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี (รายงานผลการวิจัย). ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยบูรพา.
ชุมชนบ้านมาบหม้อ ชลบุรี. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: https://www.facebook.com/mabmorchonburi/photos/
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.). (2563). การถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาสู่มาตรฐานชุมชนอุดมสุขประจำปี 2563. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก: http://pandinthong.com/
ศรัญญา ประสพชิงชนะ, ปาจรีย์ สุขาภิรมย์ และอมรฉัฐ เสริมชีพ. (2565). การสำรวจองค์ความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม ชุมชนบ้านมาบหม้อ ตำบลบ้านปึก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 30(2), หน้า 155-178.