Advance search

ชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนในอำเภอพนัสนิคมที่สืบทอดอัตลักษณ์ของตนเองโดยการละเล่นเอ็งกอ

พนัสนิคม
พนัสนิคม
ชลบุรี
ศิริลักษณ์ นาโม
19 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
บ้านเอ็งกอ

การแสดงเอ็งกอครั้งแรกในพนัสนิคม เกิดขึ้นจากพิธีล้างป่าช้าของศาลเจ้าเซียนซือ พนัสนิคม (ศาลเจ้าฉิ่วเอี้ย/ ศาลเจ้าแปะกง) เมื่อปี พ.ศ. 2482 ซึ่งการล้างป่าช้าครั้งนี้ได้นำเอาเอ็งกอมาแสดงจึงทำให้เอ็งกอเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ผู้คนในชุมชนจึงเรียกชุมชนนี้ว่า "บ้านเอ็งกอ"


ชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนในอำเภอพนัสนิคมที่สืบทอดอัตลักษณ์ของตนเองโดยการละเล่นเอ็งกอ

พนัสนิคม
พนัสนิคม
ชลบุรี
20140
13.45428632
101.1798
เทศบาลเมืองพนัสนิคม

 “เอ็งกอ” เป็นศิลปะการแสดงศิลปะแขนงหนึ่งของชาวจีน ซึ่งมีรากฐานความเชื่อจากประวัติศาสตร์กู้ชาติ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเหล่าวีรบุรุษนักรบผู้กล้า 108 คนแห่งเขาเหลียงซาน ที่ถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายจึง หลบหนีขึ้นเขาเหลียงซาน จากนั้นขุนนางกังฉินคิดก่อการกบฏยึดครองบัลลังก์ และบ้านเมืองจึงคิดกำจัดฮ่องเต้ เมื่อเหล่าวีรบุรุษนักรบผู้กล้าทราบเรื่องราวจึงลงจากเขาเหลียงซาน มาปราบขุนนางกังฉินเพื่อช่วยฮ่องเต้และบ้านเมือง เรื่องราวนี้เป็นมุขปาฐะที่ซือไน่อันนำมารวบรวมเป็นวรรณกรรมเรื่อง “ซ้องกั๋ง” หรือ “สุยหู่จ้วน” และพัฒนาการเป็นศิลปะการแสดง “เอ็งกอ” เพื่อเทิดทูนวีรบุรุษนักรบผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน 

คณะเอ็งกอในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายกลุ่มที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะคณะเอ็งกอจากชุมชนสื่อพื้นบ้านพนัสนิคมที่มีความโดดเด่นจากประเพณีงานบุญกลางบ้านพนัสนิคม ซึ่งเป็นการแสดงอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

อำเภอพนัสนิคมเป็นพื้นที่ที่มีทั้งคนท้องถิ่นและชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มชาวจีนพนัสนิคมสันนิษฐานว่า “มาจากการขยายตัวจากการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนจีนแถวบางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี และกลุ่มคนจีนแถบแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา” เนื่องจากชาวจีนมักอพยพมาทางเรือและตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ทะเลหรือแม่น้ำที่เรือสินค้าผ่าน แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวเริ่มแออัด จึงมีการขยายเข้าสู่แผ่นดินที่อยู่ลึกเข้ามาทางด้านเมืองพนัสนิคม

ในยุคแรกที่ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน รัฐไทยไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับชาวลาว ทั้งในด้านการปกครอง การบริหาร และการบรูณาการทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการผลักดันชาวลาวให้เป็นเจ้าเมือง จนมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในปี พ.ศ. 2391 คือการเกิดกบฏตั้วเหี่ยที่เมืองแปดริ้ว เนื่องจากพวกอั้งยี่ที่เมืองแปดริ้วกำเริบเสิบสานฆ่าเจ้าเมืองและยึดเมืองแปดริ้วไว้ ความโกรธแค้นที่พวกอั้งยี่ฆ่าเจ้าเมือง ประกอบกับความโกรธแค้นในเรื่องชาติพันธุ์กับชาวจีน ชาวไทยและชาวลาวจึงร่วมมือกับทางกลางในการปราบปรามชาวจีนอย่างรุนแรงทั้งที่เป็นอั้งยี่และไม่ใช่อั้งยี่ ทำให้มีชาวจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งการปราบปรามชาวจีนนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เมืองแปดริ้ว หากแต่ขยายมาถึงจังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะชุมชนบางปลาสร้อยที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีชาวจีนบางกลุ่มได้อพยพมายังเมืองพนัสนิคมมากขึ้น

ต่อมาใน พ.ศ. 2440 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบการปกครองใหม่เป็นมณฑลจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงโปรดเกล้าให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2447 ตลอดระยะเวลาการปกครองที่รัฐไทยดำเนินนโยบายชาตินิยม รัฐไทยไม่มีความไว้วางใจกลุ่มชาวจีนเนื่องจากหวาดระแวงระบบคอมมิวนิสต์จีนที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มชาวจีนโดยการใช้กฎหมายในการควบคุมกลุ่มชาวจีน ได้แก่ พระราชบัญญัติแปลงชาติ พระราชบัญญัติสัญญาชาติ พระราชบัญญัติลักษณะคนต่างประเทศเข้าเมือง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2461 ซึ่งรัฐไทยใช้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมให้ชาวจีนในประเทศไทยค่อย ๆ เปลี่ยนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนภาษาจีนเป็นสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาวจีนได้ชัดเจนมากที่สุด ๆ แต่รัฐไทยได้ขัดขวางด้วยการบังคับให้สอนภาษาไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง พร้อมกันนั้นการการคัดเลือกในการเป็นคุณครูสอนภาษาจีนก็เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น เพราะจะต้องผ่านการสอบภาษาไทยภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี นั่นหมายถึงคุณครูเองก็ถูกกลืนหรือถูกหล่อหลอมอัตลักษณ์ก่อนนักเรียนเสียอีก

เมื่ออัตลักษณ์ของชาวจีนถูกรัฐไทยกลืนไป แต่ด้วยความเป็นชาตินิยมของคนไทยเชื้อสายจีนที่ต้องการสืบสานอัตลักษณ์ของตนเองยังคงอยู่ จึงคิดค้นวิธีการแสดงอัตลักษณ์ในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการพูดภาษาจีน หากจะสืบทอดงิ้วให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้เรียนรู้อาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากงิ้วเป็นเสมือนละครหรืออุปรากรของชาวจีนที่มีบทพูดและบทร้องเป็นภาษาจีน มีกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาจีนได้ จึงเกิดการสนับสนุนแสดงเอ็งกอนับแต่นั้นเป็นต้นมา

แม้การสนับสนุนการละเล่นเอ็งกอจะไม่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่การแสดงเอ็งกอก็ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในพนัสนิคม จากพิธีล้างป่าช้าของศาลเจ้าเซียนซือ (ศาลเจ้าฉิ่วเอี้ย/ ศาลเจ้าแปะกง) เมื่อปี พ.ศ. 2482 ซึ่งการล้างป่าช้าครั้งนี้ได้นำเอาเอ็งกอมาแสดงจึงทำให้เอ็งกอเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น นับจากนั้นเอ็งกอจึงเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของพิธีล้างป่าช้า ศาลเจ้าเซียนซือจึงเป็นที่ฝึกฝนของผู้คนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงเอ็งกอ

การล้างป่าช้า 10 ปีมีครั้ง จึงทำให้กลุ่มสืบทอดต้องประสบปัญหาที่การฝึกซ้อมขาดความต่อเนื่อง จะฝึกซ้อมแค่เพียงช่วงที่มีการล่าป่าช้าเท่านั้น ต่อมานายบุญชัย ทิพยางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาส เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแสดงเอ็งกอที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนเมืองพนัสนิคม ท่านได้นำเอ็งกอมาบูรณาการกับวิชาการเรียนต่าง ๆ เช่น นำการวาดหน้าแบบงิ้วในวิชาศิลปะ หรือการฝึกกำลังอยู่ในวิชาพละศึกษา โดยการนำรุ่นพี่ในโรงเรียนที่อยู่ในคณะเอ็งกอศาลเจ้าเซียนซือมาสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียน ซึ่งสาเหตุที่ท่านอนุรักษ์เอ็งกอด้วยวิธีการเหล่านี้ เพราะท่านมีแนวคิดว่า "โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีความยั่งยืนในชุมชน สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยรัฐจัดสรรงบประมาณผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นไม่ว่าครูจะย้ายไปอยู่ที่ใด แต่โรงเรียนยังคงอยู่ เช่นเดียวกับการนำเอ็งกอเข้ามาฝึกสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะที่เป็นหลักสูตรบูรณาการ ไม่ว่าเด็กนักเรียนจะเปลี่ยนไป ครูจะผ่านไป แต่หลักสูตรเอ็งกอยังคงอยู่ เอ็งกอก็จะไม่สูญหายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา" จึงมีการจัดตั้งคณะเอ็งกอที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาสขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากนายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน โดยท่านเป็นประธานมูลนิธิสว่างกุศลธรรมที่ดูแลคณะเอ็งกอของศาลเจ้าเซียนซือ จากความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชนชุมชนพนัสนิคมจึงมีคณะเอ็งกอถึง 2 คณะ 1. คณะเอ็งกอศาลเจ้าเซียนซือ 2. คณะเอ็งกอโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาส ซึ่งการดำรงอยู่ของการสืบทอดเอ็งกอทั้ง 2 คณะนี้นำไปสู่การเผยแพร่อัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีนที่กลุ่มเป้าหมายกว้างขวางขึ้นทั้งผู้คนในชุมชนและผู้คนนอกชุมชน จึงทำให้การแสดงเอ็งกอเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนพนัสนิคม

ชุมชนบ้านเอ็งกอพนัสนิคมห่างจากเทศบาลเมืองพนัสนิคม ประมาณ 500 เมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 100 กิโลเมตร การเดินทางมายังชุมชนสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้และรถไฟ ซึ่งชุมชนบ้านเอ็งกอมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอแปลงยาว และอำเภอบ้านโพธิ์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเกาะจันทร์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอบ่อทอง และอำเภอบ้านบึง
  • ทิศตะวันตก จรดอำเภอพานทอง

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนเอ็งกอสื่อพื้นบ้านพนัสนิคม จำนวน 5,044 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 9,798 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 4,484 คน หญิง 5,314 คน ผู้คนในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน

จีน

การสืบสานเอ็งกอในชุมชนพนัสนิคมแบ่งเป็น 2 คณะดังนี้

คณะศาลเจ้าเซียนซือ เป็นการแสดงที่ดำรงรักษาการเล่นแบบต้นฉบับ ผู้ที่มาเล่นเป็นผู้ใหญ่อายุ 20 - 40 ปี ทำให้เป็นการแสดงเต็มด้วยพลังความเข็มแข็ง และการฝึกซ้อมที่ศาลเจ้าซึ่งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมจีนยิ่งตอกย้ำอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีนให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยจะเน้นการแสดงในงานที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและวัฒนธรรมของจีน

คณะโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาส การสืบทอดที่โรงเรียนนั้นมีพัฒนาการมาจากเดิมเป็นเพียงแค่กิจกรรมเสริมสำหรับเด็ก ภายหลังมีการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการในรายวิชาต่าง ๆ เช่น วิชาภาษาจีน วิชาศิลปะ วิชาประวัติศาสตร์ จึงทำให้ท่วงท่าลีลาไม่เข็มแข็งเท่าคณะศาลเจ้าเซียนซือ เนื่องจากนักแสดงจะเป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 - 6 ปี และอายุมากที่สุดประมาณ 20 ปี แต่ถึงอย่างไรนั้นทำให้การสืบทอดเอ็งกอมีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

งานบุญกลางบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เอ็งกอขยายพื้นที่จากเคยละเล่นในพื้นที่วัฒนธรรมจีนมาละเล่นในพื้นที่ชุมชน จึงสามารถสร้างจิตสำนึกว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนพนัสนิคม งานบุญกลางบ้านเป็นงานบุญชาวไทยที่จัดขึ้นมากกว่า 100 ปีมาแล้ว เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ผี เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวอำเภอพนัสนิคม ซึ่งจะจัดในราวเดือน 3 - 6 โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับถือเป็นผู้กำหนดวันทำบุญและทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อความร่มเย็นของชาวบ้านในชุมชน

1. นายวิจัย อัมราลิขิต ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม ซึ่งเป็นผู้ผลักดันรวมทั้งสนับสนุนการสืบทอดเอ็งกอทั้งคณะศาลเจ้าเซียนซือ และคณะโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาส เช่น การผลักดันเข้าสู่สถานบันการศึกษา คือ การฝึกสอนในโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาส การนำเอ็งกอมาแสดงในงานบุญกลางบ้านรวมทั้งงานของหน่วยงานราชการและงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เป็นต้น

ที่อยู่ : 44 ถนนสุขประยูร อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 20140 

ประวัติการทำงาน : พ.ศ. 2523 – 2527 สมาชิกสภาเทศบาลเมืองพนัสนิคม, พ.ศ. 2527 – 2529 เทศมนตรีเมืองพนัสนิคม ฝ่ายโยธา, พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม

2. นายบุญชัย ทิพยางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาส ผู้ริเริ่มทำหลักสูตรเอ็งกอในวิชาเรียน โดยบูรณาการเข้ากับวิชาต่าง ๆ เช่น การวาดหน้าเอ็งกอจะอยู่ในวิชาศิลปะ การฝึกฝนเอ็งกอจัดอยู่ในวิชาพละศึกษา เป็นต้น

3. นายประวัติ เรืองโรจนพันธ์ ศิลปินผู้วาดหน้าเอ็งกอ ซึ่งการวาดหน้าในการแสดงเอ็งกอนั้นจะใช้สีน้ำมันที่แต่งหน้างิ้ว รวมถึงผู้วาดจะดูลักษณะของผู้แสดงเอง ตัวอย่าง ผู้แสดงที่มีใบหน้าอ่อนหวานจะถูกวาดเป็นรูปผลไม้อย่างลูกแพรเป็นต้น

ทุนวัฒนธรรม

ขบวนแห่เอ็งกอของชาวอําเภอพนัสนิคม ใช้แสดงประกอบพิธีกรรมการบูชาเทพเจ้าในศาลเจ้าประจําเมือง เอกลักษณ์สําคัญ ในการเต้นเอ็งกอของอําเภอพนัสนิคม คือ การเต้นจะใช้ตั้งแต่ศีรษะลงไปจนถึงเท้า แขนขายกสูง ต้องใช้ความว่องไวในการแสดงและมีการตั้งขบวนโดยไล่ตามระดับจากสูงไปต่ำสุด จะเริ่มเดินจากแถวตอนยาวลักษณะ เป็นรูปงู สามารถแปรขบวนจากหนึ่งแถวไปจนถึงสี่แถวตอนลึก ท่าที่ใช้เป็นหลัก ได้แก่ (1) ท่าสอดไม้ สอดกลอง (2) ท่าหมอบพื้น (3) ท่ายกแขน ยกขาสูงในการตีไม้ และ (4). ท่าจ้อเน้ย และจะจบด้วยยืนตรงทําท่าโค้งงอ แสดงถึงความเคารพ

ลักษณะกิจกรรมการแสดงเอ็งกอ

ในช่วงก่อนการแสดงเอ็งกอจะต้องทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้า โดยมีต้นข้าวเปรียบเสมือนตัวแทนของเทพเจ้า ซึ่งตามความเชื่อของชาวจีน ต้นข้าว แม้จะเป็นต้นกำพร้าแต่มียังสภาพสมบูรณ์ เนื่องจากต้นข้าวมาสามารถแตกหน่อออกกอเผยแพร่ได้ จึงมีความแข็งแกร่งเสมือนเทพเจ้า ในโต๊ะหมู่บูชาจะปักร่มไว้บนโต๊ะ รวมถึงขนมไหว้ของชาวจีนที่เรียกว่า "ง่วนก้วย" ซึ่งนักแสดงทุกคนจะต้องแสดงต่อหน้าโต๊ะหมู่บูชาและนำขนมไหว้มารับประทานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ในการแสดง ไม่ให้เกิดอุปสรรคใด ๆ รวมถึงเป็นการสร้างขวัญกำใจแก่ผู้แสดง เพราะทุกครั้งที่กระทำตามนี้ไม่เคยบังเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ไม่ดีเลย 

การแสดงเอ็งกอไม่ได้มีเพียงแค่การเคาะไม้ ยังมีการแสดงผู้ถือธง ซึ่งเปรียบเสมือนการให้สัญญาณในการรบ โดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำและธงที่มีพื้นสีแดงจะมีภาษาจีนอยู่กลางธงเป็นอักษรที่เขียนว่า "ชาวเม่งจื้อ" (เม่งจื้อ แปลว่า เทพเจ้า) และมียอดโคมไฟ หรือที่เรียกว่า เต็งรั้ง ห้อยแขวนอยู่ที่ปลายยอดไม้ไผ่ มีนักแสดงที่เป็นผู้ถืองู คอยให้จังหวะในการแสดง และนักแสดงอื่น ๆ ก็จะเต้นประกอบจังหวะกันไป เช่น

  • ท่าสอดไม้สอดกลอง
  • ท่าตีไม้ตีกลอง
  • ท่าหมอบพื้น
  • ท่ายกแขนสูงในการตีไม้
  • ท่าทางประกอบการใช้หน้า ฯลฯ

ศาลเจ้าเซียนซือ ตั้งขึ้นมาประมาณ 100 กว่าปี โดยการนำผงธูปมาประดิษฐานไว้ ซึ่งผงธูปนี้แต่เดิมอยู่ที่ศรีราชา และมาอยู่ที่หนองมน ก่อนจะมาอยู่ที่นี้ การตั้งศาลเจ้าเซียนซือเป็นไปเพื่อการกุศล เช่น การล้างป่าช้า การทำพิธีให้แก่ศพไร้ญาติ และงานสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คณะเอ็งกอโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาสเข้าร่วมโครงการกับสพส.

ในปีพ.ศ. 2548 คณะเอ็งกอโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาสได้เข้าร่วมโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข (สพส.) ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือ การขับเคลื่อนปัญญาบนพื้นฐานความรู้ที่เน้นแนวคิด 4 รู้ (รู้จัก รู้ใจ รู้ใช้ รู้รักษา) 

การเข้าร่วมโครงการ สพส. เป็นการเติมเต็มในส่วนความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการสื่อพื้นบ้าน รวมทั้งมาช่วยสร้างเครือข่ายภายนอก ส่งผลให้การสืบทอดเอ็งกอจะเน้นมิติความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น มีการจดบันทึกประวัติ ความเป็นมา รูปแบบการแสดง เพราะในรูปแบบเดิมจะสอนด้วยการใช้วาจาตามวัฒนธรรมมุขปาฐะ ดังนั้นเมื่อโครงการนี้เจ้ามาการสืบทอดเอ็งกอจึงเปลี่ยนแปลงไป

นอกเหนือจากนี้การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เอ็งกอได้ไปแสดงนอกชุมชน การได้ตีพิมพ์ในจดหมายข่าวของ สพส. ซึ่งเผยแพร่แก่สมาชิกทั่วประเทศ การได้ลงในหนังสือพิมพ์ระดับประเทศ รวมถึงการได้ไปแสดงในงานกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ล้วนนับเป็นความภาคภูมิใจของคณะเอ็งกอโรงเรียนเทศบาล 2 วัดกลางทุมมาวาสโดยทั้งสิ้น


มหกรรม "ฟื้นใจเมือง" ด้วย "เศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อการแสดงเอ็งกอเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนพนัสนิคม ภาครัฐอย่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดมหกรรม "ฟื้นใจเมือง" ด้วย "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน" ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยวัตถุประสงค์ในการจัดมหกรรมนี้ เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ และร่วมกันฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและย่านชุมชนที่ซบเซาให้เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำหรับเป็นศูนย์รวมการค้าขายและพบปะของผู้คนในชุมชน อันนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมกันในพื้นที่ ซึ่ง บพท. ได้นำชุมชนพนัสนิคมเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดมหกรรมในครั้งนี้ เป็นการเสนอทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของพนัสนิคมผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวพนัสนิคม โดยเฉพาะขบวนพาเหรดคณะเอ็งกอจากกลุ่มโรงเรียนเทศบาล วัดกลางทุมมาวาสที่เป็นจุดเด่นของงาน จากความร่วมมือของภาครัฐและประชาชน จึงทำให้เอ็งกอในเมืองพนัสนิคมเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขว้าง ไม่ใช่แค่ในเมืองพนัสนิคมอีกต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิราพรรณ เอี่ยมแก้ว. (2563). พัฒนาการคณะเอ็งกอ ศาลเจ้าปู่ - ย่า จังหวัดอุดรธานี. วารสารศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์ถิ่นอีสาน, 6(2), 107-132.

ประเพณีเอ็งกอ. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: https://culture7blog.wordpress.com/ประเพณีเอ็งกอ/.

ภารดี มหาขันธ์ และนันท์ชญา มหาขันธ์. (2559). พัฒนาการทางประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น พนัสนิคม. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 24(45), 1-19.

สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์. (2554). การสืบทอดสื่อพื้นบ้านเอ็งกอเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

Thailandplus. (2565). บพท. จัดงานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ณ พนัสนิคม จ.ชลบุรี วันที่ 16 – 18 ธันวาคมนี้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2566, จาก: https://www.thailandplus.tv/archives/647554.

กรุงเทพธุรกิจ. (2565, 15 ธันวาคม). "เที่ยวย่านเก่า อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ร่วมกัน“ฟื้นใจเมือง". [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. กรุงเทพธุรกิจ. ค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/

มิ่งขวัญ รัตนคช. (2563). วิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีผู้ใช้เวลา 30 ปี เปลี่ยนพนัสนิคมเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่ระดับโลก. ค้นจาก https://readthecloud.co/phanat-nikhom/