บ้านทุ่งนางแก้วมีทรัพยากรธรรมชาติซึ่งชาวบ้านเปรียบว่าเสมือนได้พบแก้วอันมีค่า ก่อเกิดเป็นที่มาของชื่อ “ทุ่งนางแก้ว”
แรกเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ชาวบ้านให้ความเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่ออพยพเข้ามาเหมือนได้พบเห็นแก้วอันมีค่า จึงเรียกว่า “ทุ่งนางแก้ว”
บ้านทุ่งนางแก้วมีทรัพยากรธรรมชาติซึ่งชาวบ้านเปรียบว่าเสมือนได้พบแก้วอันมีค่า ก่อเกิดเป็นที่มาของชื่อ “ทุ่งนางแก้ว”
บ้านทุ่งนางแก้ว ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมามีชาวบ้านจากตําบลเขาขาวเข้ามาบุกเบิกเป็นที่ทํามาหากิน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ในการปลูกข้าวเป็นหลัก เมื่อมีการเข้ามาทํามาหากินในพื้นที่แห่งนี้ ก็เริ่มมีการเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งในระยะแรกมีเพียงไม่กี่หลังคาเรือน และเป็นชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาไม่นานก็มีการอพยพเข้ามาของชาวบ้านจากจังหวัดพัทลุง โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ขอซื้อที่ดินต่อจากคนเก่าแก่ที่เข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ก่อน จากนั้นก็ประชาชนจากที่ต่าง ๆ อพยพเข้ามาอยู่อย่างต่อเนื่อง คาดว่าน่าจะเป็นชาวบ้านจากตรังและนครศรีธรรมราช เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ก็มีการสร้างวัด โรงเรียน และตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านลําพร้าไม่จม” ที่มีชื่อเรียกแบบนี้เนื่องจากว่าในลําห้วยของหมู่บ้านมีปลาอาศัยอยู่มาก จนกระทั่งว่าโยนด้ามพร้าลงไปก็ไม่จม ต่อมาผู้ว่าราชการเข้ามาเยี่ยมเยียนหมู่บ้าน และให้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ให้มีความสละสลวย ชาวบ้านจึงช่วยกันคิดชื่อ และได้ชื่อใหม่ว่า “ทุ่งนางแก้ว” โดยชาวบ้านได้ให้ความเห็นว่า ครั้งแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ ได้พบว่าบริเวณนี้เป็นทุ่งกว้างขวางและอุดมสมบูรณ์เหมือนกับได้มาพบแก้วอันมีค่า ทําให้เข้ามาปักหลักทํามาหากิน ซึ่งในระยะแรกหมู่บ้านทุ่งนาง แก้ว แยกตัวมาจากหมู่ที่ 7 ตําบลเขาขาว มาตั้งเป็นหมู่ที่ 9 ตําบลเขาขาว และเมื่อตําบลน้ำผุดได้แยกตัวออกจาก ตําบลเขาขาวทั้งตําบล ก็ได้เปลี่ยนบ้านทุ่งนางแก้วเป็นหมู่ที่ 5 ตําบลน้ำผุด อําเภอละงู จังหวัดสตูล จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านทุ่งนางแก้วเป็นที่ราบเชิงเขา มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ถนนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางและถนนลูกรังเป็นบางส่วน ลักษณะดินเป็นดินร่วน ประชากรส่วนใหญ่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ มีบางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเอง เนื่องด้วยพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสําหรับทําการเกษตรกรรมและเพาะปลูก เช่น สวนผลไม้ สวนยางพารา ไร่นาสวนผสม เป็นต้น พื้นที่ภาคการเกษตรส่วนใหญ่ นอกจากทําสวนยางพาราแล้วยังมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นรายได้หลักของชุมชนบ้านทุ่งนางแก้ว
สภาพภูมิอากาศ
บ้านทุ่งนางแก้ว แบ่งออกเป็น 2 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน ช่วงนี้จะมีอากาศร้อนมาก เป็นช่วงของการพักต้นยางหรือหยุดกรีดยาง เนื่องจากต้นยางพาราจะผลัดใบ ทําให้น้ำยางมีปริมาณน้อยไม่เหมือนกับฤดูฝน ชาวสวนยางจึงจะเปลี่ยนมาปลูกพืชผักสวนครัวขาย เช่น แตงกวา ข้าวโพด ฯลฯ
- ฤดูฝน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง กล่าวคือ
ช่วงแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ช่วงนี้ฝนจะเริ่มตก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และชาวบ้านจะเริ่มเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร
ช่วงที่สองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนมกราคม ช่วงนี้จะมีฝนตกชุก และมีนำท่วมขังในบางพื้นที่ เรียกว่า “ฤดูน้ำหลาก” ช่วงนี้ชาวบ้านจะมีเวลาอยู่กับบ้านมากที่สุด เพราะออกไปกรีดยางไม่ได้ แต่จะหันมาปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่ว่างบริเวณรอบบ้าน พืชที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู และข้าวโพด ซึ่งจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อในหมู่บ้าน
เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในหมู่บ้านทุ่งนางแก้ว มีเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นที่จดจําของชาวบ้าน เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเหตุการณ์ “หลุมยุบ” โดยมีลักษณะ คือ ดินในหมู่บ้านเกิดการทรุดตัวลงทำให้เกิดเป็นหลุมขนาดกว้างประมาณ 3-5 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร โดยเกิดขึ้น 2 แห่ง คือ บริเวณประตูทางเข้าโรงเรียนบ้านนางแก้วและบริเวณกลางซอยนางหงส์
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
การตั้งบ้านเรือนของบ้านทุ่งนางแก้วมีทั้งที่สร้างกระจายอยู่ริมสองฝั่งถนน และสร้างบ้านในพื้นที่เกษตรกรรม บ้านที่อยู่ติดริมสองฝั่งถนนนั้นส่วนใหญ่จะความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติกัน บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งถนนนี้มีความได้เปรียบในเรื่องของการค้าขายหรือการประกอบธุรกิจต่าง ๆ เพราะมีทําเลที่ตั้งเหมาะสําหรับการเปิดร้านและค้าขายกับผู้คนที่สัญจรไปมา เช่น ร้านขายของชํา ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ร้านเสริมสวย เป็นต้น ส่วนบ้านที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมนั้นมีความสะดวกตรงที่ไม่ต้องเดินทางไปทําสวนเพราะบ้านอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมอยู่แล้วและไม่มีเสียงรบกวนจากยานพาหนะเหมือนกับบ้านที่อยู่ริมถนน
รายงานสถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลละงู รายงานว่าหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งนางแก้ว ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 265 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 1,015 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 476 คน และประชากรหญิง 539 คน
ในอดีตอาชีพหลักของชาวบ้านทุ่งนางแก้วคือการปลูกยางพารา ทํานาปลูกข้าว ปลูกผักและเลี้ยงวัว โดยพืชเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานั้น คือ ข้าว เนื่องจากยางพาราราคาตกต่ำ สมัยก่อนพื้นที่รอบหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นนาข้าว พอถึงฤดูกาลทํานาชาวบ้านก็จะออกไปดํานา โดยต่อมาราคายางพาราดีขึ้น ชาวบ้านจึงเริ่มปลูกยางพารากันมากขึ้น และยังคงยึดอาชีพปลูกสวนยางพารามาจนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันชาวบ้านทุ่งนางส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ สวนยางพารา เป็นหลัก สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์และทํานาเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ส่วนอาชีพอื่น ได้แก่ ข้าราชการ ค้าขาย และรับจ้าง
วัฒนธรรมชุมชน
บ้านทุ่งนางแก้วมีประเพณีที่เกี่ยวกับวิถีการดํารงชีวิตซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา อันเป็นรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อการสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชุมชน ดังนี้
- เดือนมกราคม : วันขึ้นปีใหม่ จะมีการรวมตัวเพื่อพบปะสังสรรค์กัน ไต่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ เป็นประเพณีไทยที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน
- เดือนเมษายน : วันสงกรานต์ คือ วันที่ 13-14-15 ของเดือน วันสงกรานต์เป็นวันที่จะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สรงน้ำพระพุทธรูปที่เคารพนับถือ คนในชุมชนจะมีการไปทําบุญที่วัดและในวันนี้ก็จะเป็นวันที่มีการรวมตัวของญาติพี่น้อง ทั้งที่อยู่ในชุมชนและนอกชุมชน
- เดือนกรกฎาคม : ในเดือนนี้จะมีวันสําคัญอยู่ 2 วัน คือ วันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 เดือน 8) และวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ํา เดือน 8) ในวันอาสาฬหบูชาทุกคนก็จะนําอาหารไปทําบุญตักบาตรที่วัดและฟังเทศน์ เหมือนกับวันมาฆบูชา ส่วนวันเข้าพรรษาก็จะมีการไปทําบุญถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
ชาวบ้านทุ่งนางแก้วมีกระบวนการคัดเลือกผู้นำด้วยวิธีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบระบบอุปถัมภ์ ผลจากการเลือกตั้งเสียงส่วนมากมาจากญาติพี่น้องของผู้นําชุมชนเนื่องจากผู้ที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้านเป็นเครือญาติของผู้นําโดยส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันผู้นำชุมชนนั้นจะได้รับเลือกจากผลงานและความสามารถในการทํางานเป็นทีมรวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนอย่างทั่วถึงและยุติธรรม
ชำนาญ สุดสอาด สำราญ แก้วขุนทอง โกเมศร์ คงชู และคณะ. (2559). รูปแบบการจัดการขยะเพื่อสร้างชุมชนน่าอยู่แบบมีส่วนร่วมของบ้านทุ่งนางแก้ว หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ไทยรัฐออนไลน์. (2563). ไทยรัฐกรุ๊ปเตรียมส่งมอบ อาคาร “๑๐๐ ปีกำพล วัชรพล” โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๑๑. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thairath.co.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].