Advance search

บ้านดงบัง

ชุมชนหมู่บ้านสมุนไพรไร้สารเคมีที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตราฐานเกษตรอินทรีย์ และยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้สาธิตกระบวนการการผลิตสินค้าแปรรูปจากสมุนไพร

หมู่ที่ 6
ดงขี้เหล็ก
เมืองปราจีนบุรี
ปราจีนบุรี
ศิริลักษณ์ นาโม
27 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
บ้านดงบัง

ที่มาของชื่อหมู่บ้านเกิดจากในอดีตชุมชนถูกปกคลุมด้วยป่าบดบังบ้านเรือน พอมีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยจึงเรียกกันว่า “หมู่บ้านดงบัง”

ชุมชนหมู่บ้านสมุนไพรไร้สารเคมีที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตราฐานเกษตรอินทรีย์ และยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้สาธิตกระบวนการการผลิตสินค้าแปรรูปจากสมุนไพร

หมู่ที่ 6
ดงขี้เหล็ก
เมืองปราจีนบุรี
ปราจีนบุรี
25000
วิสาหกิจชุมชน โทร. 0-3740-3723, อบต.ดงขี้เหล็ก โทร. 0-3721-8780
14.109632
101.436618
เทศบาลตำบลดงขี้เหล็ก

ชุมชนบ้านดงบัง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ก่อตั้งมาประมาณ 80 ปี โดยการนำของพ่อใหญ่แก้ว มุกดา ซึ่งย้ายมาจากบ้านหนองทะเล (ชุมชนไทยลาว ย้ายมาจากนครเวียงจันทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3) มาตั้งรกรากที่บ้านดงบังในปัจจุบัน แต่เดิมบริเวณนี้เป็นป่าใหญ่และหนาทึบ ในระยะแรกชาวบ้านเข้ามาบุกเบิกประกอบอาชีพทำนาอยู่ประมาณ 50 ปี รวมทั้งยังมีการเก็บของป่าจำหน่าย ต่อมาอาชีพนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามทรัพยากรธรรมชาติและสภาพสังคม เริ่มจากการทำนา ปลูกหน่อไม้ไผ่ตง ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อในจังหวัดปราจีนบุรี ปลูกมะนาวและไม้ผลร่วม เปลี่ยนจากการทำนามาเป็นทำสวน แต่ยังไม่ทิ้งการทำนายังคงทำควบคู่กัน อาจกล่าวได้ว่า “ชาวบ้านดงบันมีพรสวรรค์ในการทำเกษตรกรรม เนื่องจากปลูกพืชอะไรมักจะเจริญงอกงามดี ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าพื้นที่ดั้งเดิมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และการประกอบอาชีพของชาวบ้านไม่ได้ทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติให้เสียหายมากนัก”

ชุมชนบ้านดงบังเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่น คือ ทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเหมาะสมกับการปลูกพืชสมุนไพร และพืชผลทางการเกษตร เช่น การทำนา สวนผลไม้ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ในพื้นที่ชุมชนยังมีต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชุมชนบ้านดงบังมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขอนขว้าง ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโคกมะกอก ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองคุ้ม และบ้านหัวสุ่ม ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านดงขี้เหล็ก บ้านหนองทะเล บ้านหนองขนาด บ้านหนองจวง และบ้านเนินไฮ ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านดงบัง จำนวน 403 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 1097 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 525 คน หญิง 244 คน

กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง ในปี พ.ศ. 2543 สมาชิกในบ้านดงบังได้ก่อตั้งเป็น “กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง” เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเกษตรแบบยั่งยืนและต้องการมีรายได้เพิ่ม ในระยะเริ่มแรกมีสมาชิกจำนวน 22 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังได้รับคัดเลือกเป็น “หมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ” เพื่อพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านดงบังให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพรเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ส่งเสริมและสนับสนุนภูมิปัญญาด้านสมุนไพร และการแพทย์ไทยให้มีมาตรฐานสู่ระดับสากล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. พ่อใหญ่แก้ว มุกดา  ผู้นำในการตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านดงบังและเป็นหมอยาพื้นบ้านในกลุ่มเกษตรกรดงขี้เหล็ก

2. นายแดง มุกดา  ลูกชายพ่อใหญ่แก้ว มุกดา ที่ได้องค์ความรู้การใช้สมุนไพร ภายหลังได้เผยแพร่ต่อให้กับนายสมัย คูณสุข

3. นายสุรินทร์ คูณสุข  ลูกเขยของพ่อใหญ่แก้ว มุกดา ที่ได้องค์ความรู้การใช้สมุนไพร ภายหลังได้เผยแพร่ต่อให้กับนายสมัย คูณสุข

4. นายสมัย คูณสุข ประธานกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2543

ทุนวัฒนธรรม

น้ำตกวังบ่อ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติไหลลงมาจากเขามดแดง ต.เนินหอม ไหลผ่านเป็นธารน้ำตกผ่านหมู่ที่ 13 ตำบลดงขี้เหล็กไปสู่ อำเภอประจันตคาม จะมีน้ำในฤดูฝน

ศูนย์การท่องเที่ยงเชิงเกษตร เป็นศูนย์การเรียนรู้สวนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์มีเส้นทางเดินทางชมพร้อมหมอยา และป้ายแนะนำสรรพคุณของสมุนไพรอย่างละเอียด มีบริการด้านสปา การนวด อบ ประคบด้วยสมุนไพร ที่พักแบบ HomeStay สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านผู้ปลูกสมุนไพร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในช่วงปี พ.ศ. 2540 กระแสของสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเริ่มตื่นตัว จากผลกระทบที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ราคายาแผนปัจจุบันมีราคาที่สูงและมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี เห็นถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน ด้วยแนวคิดการปลูกสมุนไพรระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรของบ้านดงบังได้รับเลือกเป็นชุมชนต้นแบบในการปลูกสมุนไพรระบบเกษตรอินทรีย์

บ้านดงบัง เป็นชุมชนที่มีองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรและการใช้ยาพื้นบ้านได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก่อนช่วงที่ชาวบ้านจะมีการทำการปลูกสมุนไพรระบบเกษตรอินทรีย์ ชาวบ้านมีการทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนเป็นหลัก ประมาณปี พ.ศ. 2537 เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาทำไม้ดอกไม้ประดับ แต่ต่อมาราคาของไม้ดอกไม้ประดับตกต่ำอย่างมาก ชาวบ้านจึงมองหาทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนเรื่องสมุนไพรจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในปี พ.ศ. 2543 ชุมชนบ้านดงบังจึงได้มีการก่อตั้ง

“กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง” เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนโดยใช้เกษตรอินทรีย์ โดยชาวบ้านจะได้รับความรู้ในเรื่องขั้นตอนการผลิตพืชสมุนไพรจากเภสัชกรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่มีกระบวนการในการจัดการปลูก ผลผลิต การกระจายรายได้ การทำระบบบัญชีที่มีคุณภาพและได้ระดับมาตรฐานสากลโดยมีการปลูกสมุนไพรหลัก ๆ 13 ชนิด ให้แก่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คือ ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชันทองพันชั่ง หญ้าหนวดแมว เพชรสังฆาต หญ้าปักกิ่ง รางจืด เสลดพังพอนตัวผู้ มะระขี้นก ช้าพลู อัญชัน เห็ดเทศ และว่านกาบหอย มีพื้นที่ปลูกกว่า 70 ไร่ บ้านดงบังได้รับมาตรฐานรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในเรื่องของความหลากหลายทางระบบนิเวศ ไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ใช้สารเคมีบ้านดงบังเป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์ หลังจากได้รับรองมาตรฐานแล้ว เพื่อให้ความมั่นใจในเรื่องของความสะอาดปลอดภัยจะมีการตรวจแปลงปลูกถึงปีละ 3 ครั้ง

การที่กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เป็นเพราะคนในกลุ่มมีความสามารถพึ่งพาตนเองมาตลอดระยะเวลากว่าหลาย 10 ปี เนื่องจากชุมชนมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีการนำความรู้เดิมทางภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในท้องถิ่น ผ่านการใช้งานจริง จึงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ฐาปนี เลขาพันธ์ และจุฑารัตน์ ศราวณะวงศ์. (2558). การจัดการความรู้ด้านสมุนไพร กรณีศึกษากลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี. วารสารบรรณศาสตร์ มศว, 8(1), หน้า 12-25.

นายรอบรู้. (ม.ป.ป.). กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566, จาก: https://api.guideglai.com/

สุนทรี จีนธรรม, ปัณณ์รภัส ถกลภักดี และจีรภัทร์ อัฐฐิศิลป์เวท. (2558). การศึกษาความหลากหลายของพรณพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นโยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี. วารสารวิจัยสหวิทยาการไทย, 10(3), หน้า 1-8.