ชุมชนการค้าขายเก่าของชาวจีน เป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่สำคัญ และที่ทำการธุรกิจขนส่งสินค้าและโดยสารทางแม่น้ำ ภายในชุมชนมีตลาดโบราณเก่าแก่อายุประมาณกว่า 100 ปี
ชื่อที่มาของชุมชนงิ้วราย มีกล่าวไว้ในนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ พ.ศ. 2375 โคลงนิราศพระประธม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์นิราศนี้ในรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2377 นิราศพระปฐมของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) พ.ศ. 2417 และนิราศพระแท่นดงรัง ของหมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี) หรือเสมียนมี เป็นกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ร่วมสมัยกับสุนทรภู่ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. 2358 จนถึงในราว พ.ศ.2414
บริเวณนี้กสมัยก่อนมีไม้งิ้วขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังความตอนหนึ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือนิราศพระแท่นดงรัง ซึ่งกวีแต่งไว้เมื่อผ่านคลองมหาสวัสดิ์ ผ่านวัดงิ้วราย ผ่านนครปฐม ไปพระแท่นดงรัง จึงสันนิษฐานว่า บ้านงิ้วราย น่าจะมาจากชื่อของวัดนี้เช่นกัน
ชุมชนการค้าขายเก่าของชาวจีน เป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่สำคัญ และที่ทำการธุรกิจขนส่งสินค้าและโดยสารทางแม่น้ำ ภายในชุมชนมีตลาดโบราณเก่าแก่อายุประมาณกว่า 100 ปี
จากการสืบค้นประวัติศาสตร์จากวรรณคดีและวรรณกรรมไทยที่กล่าวถึง “งิ้วราย” ตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 2475 จำนวน 4 เรื่อง คือ 1.นิราศพระประธมของสุนทรภู่ พ.ศ.2375 (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ครองราชย์ พ.ศ.2367-2394) 2.โคลงนิราศพระประธมพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์นิราศนี้ในรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2377 เมื่อพระชนม์ 26 พรรษา 3.นิราศพระปฐมของหลวงจักรปาณี(ฤกษ์) พ.ศ. 2417 (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5) และ 4.นิราศพระแท่นดงรัง ของหมื่นพรหมสมพัตสร(นายมี)หรือเสมียนมีเป็นกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ร่วมสมัยกับสุนทรภู่มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปีพ.ศ.2358 จนถึงในราวปีพ.ศ.2414
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ในช่วงก่อนขุดคลองมหาสวัสดิ์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์ได้ประทับแรมที่บ้านโรงหวด ต่อมาในปีพ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 1 ได้ประทับแรมที่บ้านงิ้วราย ดังระบุไว้ในจดหมายเหตุกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่บันทึกเรื่องราวการเสด็จประพาสต้นไว้ในจดหมายฉบับที่ 6 ระบุว่าวันที่ 30 กรกฎาคมจอดที่บ้านงิ้วราย แขวงเมืองนครไชยศรี และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จากบันทึกสรุปข่าวในพระราชสำนัก 11 มีนาคม ปีพ.ศ. 2458 ระบุว่า “พรุ่งนี้เวลาสามโมง จะเสด็จจากพระรางัวงสนามจันทร์ทางรถไฟมายังงิ้วราย เพื่อลงเรือไปทอดพระเนตรการประลองยุทธ์ทหารบก”
ชุมชนตำบลงิ้วรายเป็นชุมชนเก่า ตั้งอยู่ในอำเภอนครชัยศรี จากที่ตั้งของนครชัยศรีเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ริมแม่น้ำ และมีคูคลองที่เชื่อมต่อการค้าขายไปยังแหล่งชุมชนอื่น มีพื้นที่ทั้งหมด 7.67 ตารางกิโลเมตร แต่เดิมชื่อว่าตำบลท่าเรือแต่เปลี่ยนมาเป็นตำบลงิ้วรายเพื่อให้ตรงกับชื่อวัดงิ้วรายที่มีต้นงิ้วเรียงรายขึ้นอยู่จำนวนมากในวัดงิ้วรายตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรีซึ่งแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า แม่น้ำสุพรรณบุรี เมื่อไหลผ่านนครปฐมเรียกว่าแม่น้ำนครชัยศรีและไหลลงสู่อ่าวไทย ที่จังหวัดสมุทรสาคร งิ้วรายตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 เรียกว่าบ้านกลางเพราะเป็นแหล่งรวมความเติบโตทางเศรษฐกิจมาแต่อดีตสภาพของหมู่ที่ 3 จะมีตลาดเป็นห้องแถวไม้เรียงยาวไปจนจรดแม่น้ำนครชัยศรี หรือท่าเทียบเรือ การขนส่งในสมัยก่อน และอีกด้านของตลาดคือสถานีรถไฟงิ้วรายซึ่งทั้ง 2 สถานที่ล้วนมีผลต่อความทรงจำของผู้คนเป็นอย่างมากเพราะเป็นเส้นทางคมนาคมลำเลียงทหารและอาหารไปสู่ค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรี
ชุมชนงิ้วรายในอดีตยุครุ่งเรือง ปีพ.ศ. 2470 - 2515 งิ้วรายเป็นท่าเทียบเรือของบริษัทสุพรรณขนส่งที่รับส่งผู้คนและสินค้าจากสุพรรณ บางเลน เพื่อมาต่อรถไฟที่สถานีรถไฟวัดงิ้วรายเข้าสู่กรุงเทพฯ หรือลงใต้ผ่านทางสถานีวัดงิ้วราย นครชัยศรี นครปฐม มุ่งสู่ภาคใต้ และเป็นแหล่งรับสินค้าจากที่ต่าง ๆ สู่สุพรรณบุรีจากสถานีรถไฟข้ามถนนเล็กๆ เพื่อไปท่าเรือผ่านถนนซีเมนต์สั้น ๆ กว้างประมาณ 3 เมตร ความยาวตลอดทางประมาณ 200 เมตร เนืองแน่นไปด้วยผู้คนสองฟากถนนเป็นห้องแถวไม้ปลูกเรียงรายต่อกัน และยังคงอยู่ถึงปัจจุบันบ้านแต่ละหลังล้วนประกอบอาชีพค้าขายมีร้านขายสินค้านานาชนิด ร้านขายอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ร้านโชห่วยขายของชำ เครื่องมือช่าง แผงขายผัก ร้านขายยา ร้านอาหารทะเล นอกจากี้ยังมีโรงงานปลาทูนึ่งอีก 3 - 4 แห่ง ที่รับปลาทูจากเพชรบุรีและมาทางเรือจากมหาชัยสมุทรสาครมานึ่งขายรวมถึงบรรดากุ้งหอย ปู ปลาทะเล จากมหาชัย สมุทรสาคร อีกด้วยเลยตลาดไปนิดจะไปอีกนิดเป็นโรงระหัดนอกจากนี้ยังมีผลไม้นานาชนิดโดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน เงาะโรงเรียนจากนาสาร จังหวัดสุราษฏร์ธานี จะถูกส่งมาที่งิ้วรายทางรถไฟพร้อมกันสินค้าต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาชีพคนรับจ้างเข็นรถรับส่งสินค้าสิบกว่าคนด้วยอัตราค่าแรงเที่ยวละ 1 บาท ช่วงเวลาที่งิ้วรายรุ่งเรืองจะมีเงินสะพัดวันละหลายพันบาท (ราคาข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยวยุคนั้นชามละ 1 บาท) ก่อนที่ชุมชนงิ้วรายจะเริ่มซบเซาลงพร้อมกับการมาของถนนเพชรเกษมและถนนมาลัยแมนที่ทำให้การเดินทางสู่สุพรรณสะดวกขึ้น งิ้วราย นอกจากเป็นย่านการค้าแล้วยังเคยเป็นจุดพักของทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
ในปัจจุบันของชุมชนงิ้วรายมีการขยายตัวอย่างมากแต่เดิมที่การเข้าถึงหมู่ 3 ไม่มีทางรถยนต์สัญจรเข้าได้ต้องใช้รถไฟและทางเรือ ปัจจุบันมีทางรถเข้าถึงสะดวกและถนนที่ตัดใหม่ส่งผลต่อความเจริญของชุมชนด้านหนึ่งมีที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบลตั้งอยู่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาตั้งริมถนนใหญ่มีร้านจำหน่ายเรือโบราณ เพื่อขายให้นักสะสมหรือร้านค้า ร้านเรือโบราณนอกจากขายเรือแล้วยังมีการซ่อมเรือแกะประกอบเรือใหม่แกะเอาไม้เก่ามาใช้ทำเรือใหม่ บริเวณอีกฝั่งถนนยังคงมีการทำการเกษตรบริเวณที่เรียกว่าถนนเลียบคลองต้นแบบ (กำนันเจ๊ง) สองฝั่งของคลองมีการทำการเกษตร ทำนา สวนกล้วย มะละกอ ส้มโอ และเคยมีสวนลำไย มีบ้านเรือนเล็กน้อยมีโรงงานอุตสาหกรรม (ท่อน้ำไทย) ที่คนงานมีทั้งชาวไทยอีสานและแรงงานพม่าภายในพื้นที่ตำบลงิ้วรายยังมีการระลึกถึงความทรงจำโดยมีบ้านของผู้ชื่นชอบของโบราณได้รวบรวมสิ่งของมีค่าในอดีตที่เกี่ยวกับพื้นที่ เช่น ตั๋วรถไฟ รูปภาพเก่าของตลาด ภาพเรือในแม่น้ำ เป็นต้น
ที่ตั้งและอาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสัมปทวน ตำบลวัดสำโรง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไทยาวาส อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลวัดแค อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ชุมชนงิ้วราย ชุมชนการค้าขายเก่าของชาวจีนเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่สำคัญเป็นที่ทำการธุรกิจขนส่งสินค้นและโดยสารทางแม่น้ำระหว่างท่าเรืองิ้วราย-ท่าเรือสุพรรณบุรี (เส้นทางผ่านพอสังเขป) จากท่าเรืองิ้วราย ห้วยพลู บางพระ บางปลา บางเลน บางแม่หม้าย บางซอ ปลายทางท่าเรือสุพรรณบุรี
พระครูปุริมานุรักษ์ (บุญมี จนฺทสิริ สุขาบูรณ์) หรือหลวงเตี่ยบุญมี, ตระกูลทองสิมา นายวุ่น ทองสิมา อดีตผู้จัดการบริษัท สุพรรณขนส่ง มาสู่รุ่นปัจจุบัน คือ นายกฯสมัชชา ทองสิมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย
ทุนวัฒนธรรม
1. ตลาดท่าเรืองิ้วราย เป็นตลาดโบราณเก่าแก่ประมาณ 100 ปี ตลาดเก่าโบราณงิ้วรายเกิดขึ้นครั้งเมื่อสร้างสถานีรถไฟวัดงิ้วราย เหตุที่เป็นตลาดเพราะเป็นท่าเรือที่มีผู้คนขึ้น - ลงเรือโดยและรถไฟโดยสารจากสุพรรณบุรีเข้ากรุงเทพฯ และสินค้าขนส่งสินค้าไปตามลำน้ำท่าจีนถึงเมืองสุพรรณบุรี-สิ้นสุดแผ่นดินเมืองชัยนาทตลาดนี้เป็นห้องแถวทางเดินตรอกเล็ก ๆ ยาวประมาณ 150 เมตร ตลาดงิ้วรายมีร้านค้าแบบวิถีชุมชน โดยเฉพาะขนม เช่น กล้วยทอด ขนมถั่วแปปโบราณแท้ ผัดหมี่โบราณ ปัจจุบันเศรษฐกิจในตลาดซบเซาลงเป็นอย่างมาก
2. วัดงิ้วราย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรีเป็นวัดที่สงบร่มรื่น อายุกว่า 100 ปี ทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ในตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม สันนิษฐานว่าเป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (แต่กรมการศาสนาระบุว่าสร้างราว พ.ศ. 2360) เพราะลักษณะอุโบสถเป็นแบบหลังคาชั้นเดียว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีลักษณะคล้ายเรือสำเภา มีภาพลายนูนก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่างด้านละ 2 บาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบอุโบสถ ปัจจุบันได้รื้ออุโบสถแล้วก่อสร้างเป็นวิหารเรือนแก้วขึ้นแทนที่มีเพียงประตูหน้าด้านเดียว พระประธานอุโบสถหลังเก่าสร้างด้วยศิลาแลงประทับนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย มีพระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบพระประธานอีก 5 องค์
3. สถานีรถไฟวัดงิ้วราย เป็นสถานีรถไฟเก่า ฝั่งตรงข้ามสถานีจะเป็นชุมชนตลาดเก่า เนื่องจากสมัยก่อนชุมชนจะติดกับแม่น้ำชาวบ้านในชุมชนจะใช้ท่าเรือนี้ในการทำการค้า ปัจจุบันจะเป็นที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังมีร้ายก๋วยเตี๋ยวไก่ และ ร้านขายนาฬิกาเล็กไปเปิดอยู่
เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นในชุมชนงิ้วราย ความทรงจำคือสิ่งที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ในอดีต เป็นการย้อนหวนคืนถึงการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยความรุ่งเรืองของชุมชนงิ้วรายได้ช่วยเผยความทรงจำของผู้คนที่เกี่ยวกับพื้นที่ ซึ่งกล่าวถึงความทรงจำในเรื่องเศรษฐกิจที่เจริญถึงขีดสุดของชุมชนเมื่อครั้งยังมีท่าเรือเพื่อใช้สัญจร นับแต่ปีพ.ศ. 2485 และมาต่อรถไฟ โดยประกอบไปด้วยความทรงจำเรื่องโรงฝิ่น โรงนี่งปลาทู ตลาด บริษัทการเดินเรือ
ตลาดงิ้วราย ตลาดงิ้วรายเติบโตอย่างมาก มีความเป็นมาหลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปีพ.ศ. 2488 ทหารญี่ปุ่นถูกควบคุมตัวและส่งกลับประเทศ และมีคำบอกเล่าว่ามีสิ่งของรวมทั้งทรัพย์สินที่ทหารญี่ปุ่นทิ้งไว้มากมาย ทั้งเครื่องแต่งกาย มุ้ง และจากคำบอกเล่าคือหีบใส่เงินหีบใส่เงินจะมีจริงหรือไม่แต่การพูดคุยกับทายาทตลาดและทายาทผู้ก่อตั้งบริษัทเดินเรือ ให้ข้อมูลว่าหีบเงินมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเจริญให้ตลาดงิ้วราย เกิดเป็นบริษัทเรือเมล์สุพรรณขนส่ง และทำให้ตลาดงิ้วรายมีความคึกคักเป็นอย่างมากความคึกคักของตลาดงิ้วรายมีความสืบเนื่องจากการเป็นชุมทางในการค้าขาย การขนส่งสินค้า และการเดินทาง การเดินทางไปยังจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อครั้งนั้นยังไม่มีรถโดยสารหรือเส้นทางคมนาคมทางบก ผู้คนต้องนั่งเรือมาตามลำน้ำนครชัยศรีและสิ้นสุดการเดินทางที่ชุมชนแห่งนี้ และจึงเดินทางต่อด้วยรถไฟไปยังสถานที่เป้าหมายของตน ไม่ว่าจะเข้าไปพระนครสิ้นสุดการเดินทางโดยทางรถฟลงสถานีบางกอกน้อย หรือการเดินทางไปสุพรรณบุรี การเป็นชุมทางในการขนส่งสินค้า โดยสินค้าที่ต้องการขนถ่ายจากภาคใต้ที่มากับรถไฟไปยังสมุทรสาคร ต้องมาลงเรือต่อที่นี้ หรือสินค้าจากสมุทรสาครประเภทเกลือ ปลาเค็ม กะปิ น้ำปลาก็ต้องมาลงที่นี้เพื่อกระจายไปยังสุพรรณบุรี อยุธยา นครปฐม ท่าเตียน พระนครต่อไปการคมนาคมเมื่อก่อนจะไปสุพรรณบุรี อยุธยา จะไปทางใต้หรือขึ้นไปบางกอก ท่าเตียนจะต้องใช้ชุมทางงิ้วรายเป็นที่ต่อรถไฟ และต่อเรือทั้งสิ้น รถไฟจะออกจากสถานีงิ้วรายได้ต้องรอเรือให้มาถึงก่อน จึงจะสามารถเดินขบวนได้ เนื่องจากผู้โดยสารเดินทางด้วยเรือและมาต่อรถไฟเพื่อไปกรุงเทพฯ และผู้ที่เดินทางมาด้วยรถไฟมาขึ้นเรือเพื่อเดินทางไปจังหวัดอื่น การเป็นชุมทางการค้าและศูนย์กลางการเดินทางทำให้การค้าขายในตลาดเติบโตมากกว่าการค้าในชุมชน นอกจากคนจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในตลาดค้าขายแล้ว ชาวบ้านต่างนำสินค้าพืชผลทางเกษตร ประเภทผัก และผลไม้ต่าง ๆ ที่มีชื่อมาแต่เดิม เช่น ส้มโอ มะพร้าว กล้วย อ้อย ละมุด ทีเป็นสินค้าพืชสวนมาขาย หรือผลไม้จากทางใต้เช่นชุมพรขึ้นมาด้วย และการขายอาหารทะเลที่รับมาจากสมุทรสาครโดยเฉพาะปลาทูที่นำปลามาจากเรือแถวมหาชัย ถึงขนาดมีโรงนึ่งปลาทูในชุมชน เป็นแหล่งกลางในการกระจายปลาทูไปทั่วบริเวณนี้
โรงปลาทู ปลาทูเป็นสินค้าที่สำคัญของชุมชนประเภทหนึ่ง ที่คนในชุมชนมีความทรงจำและมักเอ่ยถึง เพราะเป็นอาชีพที่คนสูงอายุหลายคนมักเคยทำมาก่อน ทั้งการล้างปลาทูการคว้านไส้ปลาทู การนี่งปลาทู เพราะปลาทูจะมาจากเรือมหาชัยเป็นปลาทูสดและมาทำให้เป็นปลาทูนึ่งที่แห่งนี้ โรงปลาทูสำหรับผู้อายุมากกว่า 60 ปี ยังเอ่ยถึง ทุกคนมักจะพูดถึงเป็นสิ่งแรกๆ รองจากการเดินเรือ สิ่งที่ตามมากับปลาทูไม่ใช่เพียงแค่สินค้าปลาทู แต่สินค้าอื่นๆ ที่ตามมาก็มีแกงไตปลา น้ำปลา ที่ทำจากปลาทู ไส้ปลาทู ปลาทูนี้ไม่ใช่จับได้ในพื้นที่นี้แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากแหล่งนี้ไปสู่เมือง
โรงฝิ่น ชุมชนงิ้วรายอยู่ในตลาดใกล้กับอู่ต่อเรือของบริษัทสุพรรณขนส่ง และลูกค้าก็คือคนจีนที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกรต่อเรือโรงฝิ่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจและการค้าของชุมชนเกิดการเคลื่อนไหว ปัจจุบันโรงฝิ่นคงเหลือเพียงเรื่องเล่าของผู้อาวุโสที่ชี้ให้คนรุ่นหลังรู้จักและจดจำว่าบริเวณข้างตลาดเป็นโรงฝิ่น จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2502 รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ผ่านพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมีใจความว่า “ผู้ใดปลูก ผลิต นำเข้าหรือส่งออก สั่งเข้าหรือส่งออกด้วยประการใด ๆ ซึ่งยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับ 10 เท่าของมูลค่ายาเสพติดนั้น แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท” และในปีนี้เองที่ชาวชุมชนให้ข้อมูลตรงกันว่ามีการยกเลิกการสูบฝิ่นและนำอุปกรณ์ทั้งหมดไปเผาที่สนามหลวงตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ที่ได้ออกแถลงเรื่องการเลิกฝิ่น เมื่อวันที่ 30มิถุนายน ปีพ.ศ. 2502 โดยให้เลิกฝิ่นเด็ดขาด ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมกล้องฝิ่นจากโรงฝิ่นในท้องที่ไปกองไว้ที่ท้องสนามหลวงและได้ทำการเผาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปีพ.ศ. 2502 ถือเป็นการยุติการสูบฝิ่นในชุมชนไปด้วย
บริษัทสุพรรณขนส่ง บริษัทสุพรรณขนส่งเป็นเจ้าของกิจการเดินเรือเจ้าเดียวมีมากกว่า 100 ลำ และตั้งชื่อเรือตามตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น เรือชื่อพระไวยวรนาถเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดถึง 73 ฟุต เรือโดยสาร 2 ชั้น เช่นเรือชื่อขุนแผน เรือขุนช้าง เรือแก่นแก้วเรือนางบัวคลี่ เป็นต้น ที่สามารถจุผู้โดยสารได้มากถึง 200 คน ส่วนเรือขนาดเล็กเป็นเรือลากจูงเรือขนของและมีความสำคัญระดับรองลงมาชื่อ พลายชุมพล พลายยง พลายเพชร เป็นต้น กิจการเดินเรือที่รู้จักกันว่าเรือแดง เริ่มโดย หุ้นส่วน 3 ตระกูลคือ ตระกูลทองสิมา ตระกูลวิภารัตน์และตระกูลนุซสิรี ผู้ก่อตั้งคือ ปรีชา วิภารัตน์ ร่วมกับ เคลือบ นุซสิรี และ วุ่น ทองสิมา อู่ต่อเรือมีชาวกวางตุ้งหรือโฮวเล้ง เป็นผู้ต่อเรือโดยใช้มือ และไม่ใช้ตะปูเป็นชิ้นส่วน บริษัทสุพรรณขนส่งเป็นบริษัทเดินเรือแห่งเดียวที่มีเส้นทางการเดินเรือถึง 9 สาย รับส่งผู้โดยสารที่จะไปสุพรรณบุรีจากสถานีงิ้วรายไปถึงสุพรรณบุรีใช้เวลาเกือบ 8 ชั่วโมง สินค้าและผู้คนจะมาถ่ายสินค้าและต่อเรือที่ท่างิ้วรายแห่งนี้ สินค้าเช่น ปลาจากสมุทรสาคร กะปี น้ำปลา ก่อนจะส่งไปกรุงเทพรวมทั้งปลาทูที่มีโรงนึ่งในตลาด และยังเป็นท่าขึ้นข้าว เรือจากท่าเตียนจะนำข้าวสารและน้ำตาลมาลงที่ตลาดเพื่อส่งไปขายยังจังหวัดต่าง ๆ ความยิ่งใหญ่ของการคมนาคมทางน้ำแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรีนี้มีเส้นทางการเดินเรือจากงิ้วราย - สุพรรณบุรี, งิ้วราย - มหาชัย, งิ้วราย - สมุทรสาคร เรือโดยสารที่ไปสุพรรณบุรีออกเดินทางรอบแรกจากงิ้วราย เวลา 8.00 น. มีรอบ 10 - 11.00 น รอบ 13.00 น.รอบสุดท้าย 18.00 น. และเรือโดยสารจากสุพรรณบุรีจะเดินทางมาถึงตลาดงิ้วรายเที่ยวแรกเวลา 03.30 - 04.00 น. ฉะนั้นพ่อค้าแม่ขายจะตั้งของขายตั้งแต่เวลา 02.00 น.ของทุกวันเพื่อให้ทันกับผู้โดยสารเที่ยวแรก เรือเที่ยวสุดท้ายจากสุพรรณบุรีจะไปงิ้วราย ออกเวลาประมาณ 18.30 น ฉะนั้นบริเวณท่าเรือจึงมีการให้ที่พักค้างรอเรือสำหรับผู้โดยสารหรือคนรู้จักก็จะพึ่งพิงเพื่อรอการโดยสารเรือในเที่ยวต่อไป วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้จนถึงกาลเวลาสิ้นสุดของการเดินทางโดยทางเรือ
เส้นทางรถไฟ ด้วยชุมชนงิ้วรายมีเส้นทางรถไฟเป็นทางผ่านไปยังภาคใต้ และมีเส้นทางแยกไปจังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ชาวชุมชนยังระลึกได้ถึงชนกลุ่มอื่น ที่มิใช่ชาวบ้านแบบตนมีทั้งฝรั่งและคนญี่ปุ่น ที่สัญจรผ่านชุมชนแห่งนี้ไปยังบางกอกน้อย หรือไปยังสถานีน้ำตกปลายทางกาญจนบุรีที่จะเป็นจุดเชื่อมการก่อสร้างสถานีรถไฟเข้าไปในพม่า เส้นทางรถไฟสายใต้เริ่มก่อสร้างในพ.ศ. 2441 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงเพชรบุรี โดยใช้รางรถไฟขนาด 1 เมตร และสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2445 และสร้างสถานีรถไฟงิ้วรายเมื่อปีพ.ศ. 2477 และช่วงระยะเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2484 - 2488 การเดินทัพของทหารญี่ปุ่น ได้ใช้ทางรถไฟนี้เป็นเส้นทางเดินทัพที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ด้วย โดยชาวบ้านสูงอายุยังคงจำภาพและระลึกถึงการเดินทัพของทหารญี่ปุ่นที่ผ่านชุมชน เพราะเส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางที่ใกล้พม่ามากที่สุด ความจำเป็นทางด้านยุทธศาสตร์ ทำให้กองกำลังทหารญี่ปุ่นต้องสร้างเส้นทางรถไฟ เพิ่มเติมอีก 2 เส้นทางคือเส้นทางรถไฟสายใต้ที่ไทยสร้างไปถึงเพชรบุรีแล้วแต่ญี่ปุ่นต้องการเชื่อมทางรถไฟสายแรกจากไทย ไปยังพม่าโดยเชื่อมต่อจากสถานีหนองปลาดุก ผ่านกาญจนบุรีไปยังเมืองทันบีอูซายัต สายที่สองคือทางรถไฟสายคอคอดกระสร้างเชื่อมต่อจากสถานีชุมพรไปยังสถานีกระบุรีในจังหวัดระนอง เพื่อขนส่งทหารลงเรือไปพม่า ทางรถไฟทั้ง 2 สายกองทัพญี่ปุ่นจะขนกำลังพลและเสบียงอาหารไปยังมลายูและมีเป้าหมายเพื่อขนส่งกองกำลังบำรุงให้กับแนวหน้าของกองทัพญี่ปุ่นในพม่าเพื่อบุกอินเดียต่อไป นายพลนากามูระ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและเข้ามาประจำการกองทัพในประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2486 ได้กล่าวถึงไว้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2485 ภาวะสงครามทางพม่ามีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น การส่งกำลังบำรุงทางทะเลถึงย่างกุ้งมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากมีเครื่องบินและเรือดำน้ำของศัตรูปรากฎตัวขึ้น ผู้บัญชาการสูงสุดที่โตเกียวจึงได้คิดวางแผน กำหนดนโยบายจะสร้างทางรถไฟสายไทย - พม่าขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2485 เพื่อขนส่งกำลังบำรุงทางบกทดแทนทางทะเล และกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และนั่นจึงเป็นที่มาของการมุ่งหน้าไปยังกาญจนบุรีเพื่อสร้างทางรถไฟไปสู่พม่าและผ่านชุมชนงิ้วรายแห่งนี้
จารุวรรณ ขำเพชร. (2557). พื้นที่และความทรงจำร่วมเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของชุมชนงิ้วราย. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 17(17), 261-273.
ท่องเที่ยวชุมชน นครปฐม. (ม.ป.ป). วัดงิ้วราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566, จาก https://www.ท่องเที่ยวชุมชน.com/place/detail/45.
ท่องเที่ยวชุมชน นครปฐม. (ม.ป.ป). สถานีรถไฟวัดงิ้วราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566, จาก https://www.ท่องเที่ยวชุมชน.com/place/detail/47.
เอมอร ไมตรีจิตร์. (2557). การยอมรับการจัดทำบัญชีครัวเรือนของประชาชนในตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์.
ชมรมชาวงิ้วราย นครชัยศรี. (2559). ประวัติความเป็นมา ตำบลงิ้วราย นครชัยศรี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.gotoknow.org/posts/618579.