ชุมชนดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นชุมชนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้า ภายในชุมชนมีการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยและชาวจีน มีวัดสีตลารามเป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน และมีสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นกระจายตัวอยู่ในชุมชน
ชุมชนศูนย์กลางการค้าและการขนส่ง ที่มีการอยู่อาศัยร่วมกันของชาวไทยและชาวจีน ภายหลังมีจำนวนตระกูลและลูกหลานชาวจีนที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านจีน” หรือ “ตรอกบ้านจีน”
ชุมชนดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นชุมชนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้า ภายในชุมชนมีการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยและชาวจีน มีวัดสีตลารามเป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน และมีสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นกระจายตัวอยู่ในชุมชน
“เมืองระแหง” หรือ “เมืองตาก” ในปัจจุบันนั้น มีหลักฐานการก่อตั้งเมืองอยู่บนที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำปิงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากตำแหน่งทำเลที่ตั้งเป็นจุดตัดทางยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการรบและเส้นทางการค้าขาย ระหว่างภาคเหนือ คือ อาณาจักรล้านนา ล่องลงมาทางแม่น้ำปิง ตัดกับเส้นทางทิศตะวันตกจากเมืองระแหง ผ่านแม่สอดเพื่อไปเมืองมะละแหม่ง เมืองท่าสำคัญติดทะเลทางทิศตะวันตกของประเทศพม่า และเส้นทางลงสู่ทิศใต้ไปยังกำแพงเพชร นครสวรรค์ จนถึงบางกอก (กรุงเทพฯ)
เมืองระแหงจึงเริ่มจากการเป็นชุมชนริมแม่น้ำปิง พัฒนาเป็นเมืองหน้าด่าน และหัวเมืองชั้นนอก เมื่อเส้นทางการรบเปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้า ระแหงก็เปลี่ยนบทบาทเป็นเมืองท่าค้าขาย โดยมีศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอยู่ที่ชุมชนตรอกระแหงหรือตรอกบ้านจีน ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเดิมที่อยู่ร่วมกันกับชาวจีน (แต้จิ๋ว) ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ทำการค้า กิจการ ป่าไม้ การเงิน การขนส่งเรือเมล์ ในช่วงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง จนประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองทั้งในภาคธุรกิจการค้า การเมือง การปกครอง การทหาร และราชการ ด้วยจำนวนตระกูลและลูกหลานชาวจีนที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านจีน” หรือ “ตรอกบ้านจีน” มาจนถึงในปัจจุบัน
ชุมชนตรอกบ้านจีนห่างจากศาลากลางจังหวัดตากประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 416 กิโลเมตร การเดินทางจากรุงเทพฯ มายังชุมชนตรอกบ้านจีน สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ก่อน พ.ศ.2475 บ้านเรือนในชุมชนตรอกบ้านจีน มีลักษณะเรียงตัวเป็นแถวยาวเลียบริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตระกูลต่าง ๆ จับจองครอบครองที่ดินเรียงกัน โดยแต่ละตระกูลมีที่ดินที่ติดน้ำ ใช้เป็นท่าน้ำ ศาลาริมน้ำ หรือท่าเรือสำหรับเป็นที่ขึ้นลงสินค้า ส่วนทางหน้าบ้านติดกับตรอกซึ่งกว้างประมาณ 4 - 5 เมตร ยาวประมาณ 400 เมตร เป็นเส้นทางสัญจรทางบก ขนาบซ้าย ขวา ด้วยเรือนค้าขายชั้นเดียว ทรงไทย หลังคาจั่วสูง ด้านหลังอาคารค้าขายฝั่งตะวันออกจะเป็นส่วนของที่พักอาศัย ยุ้งข้าวและสวนครัว สวนผลไม้ (ถนนตากสินในปัจจุบัน) ถัดไปเป็นป่าและป่าช้า ส่วนนาข้าวของชุมชนอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง (หรือเรียกว่าฝั่งป่ามะม่วง) ด้วยความสมบูรณ์พร้อมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐาน ส่งผลถึงความมีเอกลักษณ์ทางศิลปะ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม เรือนค้าขาย เรือนคหบดี ขุนนาง ที่เหมาะสมกับบริบทภูมิประเทศ ภูมิอากาศ กิจกรรมการใช้งาน วิถีชีวิต และภูมิปัญญาช่างท้องถิ่นในการออกแบบ โดยสามารถแบ่งได้เป็นเรือนไม้หลังคาจั่วชั้นเดียว เรือนไม้สองชั้นและเรือนไม้ที่มีลักษณะเฉพาะ (เรือนไทยและเรือนขนมปังขิง)
ในด้านการคมนาคม การขนส่งสินค้าโดยส่วนใหญ่จะใช้แม่น้ำปิงเป็นหลัก ส่งผลให้มีท่าเรือเรียงรายตลอดริมแม่น้ำตั้งแต่ทิศเหนือ ซึ่งท่าเรือที่สำคัญมีด้วยกัน 3 ท่า ได้แก่
- ท่าหลวงหรือท่าเรือ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของชุมชน (ถนนท่าเรือในปัจจุบัน)
- ท่าปากคลองน้อย ตั้งอยู่บริเวณที่คลองน้อยตัดกับถนนตรอกสายหลัก จึงถูกเรียกว่า ตรอกปากคลองน้อย มีสะพานทอง เป็นสะพานไม้สัก หลังคามุงสังกะสีสำหรับข้ามคลอง
- ท่าวัดน้ำหัก ตั้งอยู่ทางใต้ของชุมชน
นอกจากนี้ภายในชุมชนยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญของชุมชนอีกมากมาย ได้แก่ เสาสูงหรือเสาโทรเลข ที่เดินสายข้ามแม่น้ำปิงมาจากเสาที่ตั้งบนเกาะอีจอน (ชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกหาดทราย เกาะแก่ง) ที่โผล่ขึ้นมาในยามที่แม่น้ำปิงลดระดับลงในหน้าแล้ง) จึงทำให้บางคนเรียกตรอกบ้านจีนว่า “ตรอกเสาสูง” และมีวัดที่สำคัญที่ชุมชนเป็นโยมอุปัฏฐาก จากเหนือ ใต้ ได้แก่ วัดมะเขือแจ้ วัดโพธาราม วัดไผ่ล้อม วัดสระเกศ และวัดสีตลาราม (วัดน้ำหัก) รวมถึงศูนย์ราชการ ศาลากลาง ศาลที่อยู่ใกล้เคียงกับปากตรอกทางเหนือของชุมชน จึงอาจกล่าวได้ว่า บริเวณชุมชนตรอกบ้านจีนในอดีตเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของเมืองระแหง
ปัจจุบัน ตรอกบ้านจีน ยังคงเป็นชุมชนค้าขายมีที่วัดสีตลาราม หรือวัดน้ำหักเป็นศูนย์รวมจิตใจ และรูปแบบการตั้งบ้านเรือนก็ยังคงเรียงตัวอยู่ร่วมกับภูมินิเวศของแม่น้ำปิงที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม
ชมรมตรอกบ้านจีน ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยมีคุณหญิงทิพาพร สิตปรีชา เป็นประธานชมรม เป็นชมรมที่รวบรวมลูกหลานตรอกบ้านจีนในปัจจุบันและที่ย้ายถิ่นฐาน กลับมาร่วมมือกับเครือข่ายอนุรักษ์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชมรม มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน สืบสาน พัฒนาขยายองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น งานช่าง และร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น (เทศบาลเมืองตาก/ผังเมืองและโยธาธิการจังหวัดตาก) ในการออกข้อกำหนดผังเฉพาะการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนและพื้นที่โดยรอบ จนได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น รางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ประเภทชุมชน ประจำปี 2550 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลการประกวดแนวความคิดเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ประจำปี 2542 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท “ชุมชนพื้นถิ่น” ประจำปี 2553 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
1. จีนทองอยู่ จีนบุญเย็น และจีนเต็ง ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท กิมเซ่งหลี (มาจากแซ่ของคนจีนทั้ง 3 คน) ทำกิจการผูกขาดการจัดเก็บภาษีอากร และทำการค้าตั้งแต่เมืองเชียงใหม่เรื่อยมาจนถึงนครสวรรค์ และได้ขยายกิจการต่าง ๆ มากมาย เช่น การทำป่าไม้ กิจการโรงสีทั่วประเทศ ลงทุนในกิจการธนาคารสยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) กิจการเรือเมลล์สยามทุน จำกัด รวมถึงกิจการค้าที่ฮ่องกงและซัวเถา อีกด้วย พ่อค้าขาวจีนทั้งสามคน ได้ถวายงานในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลายประการ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ และได้รับพระราชทานนามสกุล “โสภโณดร” (แปลว่า ทิศเหนือที่สวยงาม เป็นคำสนธิมาจากคำว่า โสภณ และอุดร) ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2456 ซึ่งพ่อค้าชาวจีนทั้งสามคนได้น้อมรับพระมหากรุณาธิคุณ ในการพระราชทานนามสกุลมาใช้ร่วมกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
2. นายจันทร์ แซ่ตั้ง บรรพบุรุษตระกูลสุประกอบ ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในตรอกบ้านจีน โดยจับจองที่ดินบริเวณทางใต้ของชุมชนเพื่อปลูกเรือนเป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้าขายยาแผนโบราณ รวมทั้งได้ปรุงยาแผนโบราณจำหน่ายจำพวกยาธาตุสี่ โดยใช้ชื่อ “จันทรประสิทธิ์โอสถ”
3. คุณหญิงทิพาพร สิตปรีชา ประธานชมรมตรอกบ้านจีน
ทุนวัฒนธรรม
1. วัดสีตลาราม (วัดน้ำหัก) วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดตากที่ได้รับพระราชทางนามว่า “วัดสีตลาราม” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2448 ซึ่งคำว่า สีตลา แปลว่า “เย็น” นั้น น่าจะหมายถึงผู้สร้างวัดที่มีชื่อว่า บุญเย็น เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงท่าน ส่วนชื่อ “วัดน้ำหัก” ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกนั้น กล่าวกันว่า ในอดีตบริเวณด้านตะวันตกของวัด เป็นแม่น้ำปิงซึ่งมีกระแสน้ำไหลหักวน เนื่องจากเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจากห้วยแม่ท้อซึ่งไหลแรงมาก ได้ไหลตัดกระแสน้ำของแม่น้ำปิงให้เบนหักมายังท่าน้ำหน้าวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดน้ำหัก" แต่ต่อมามีการถมดินสองฝั่งแม่น้ำ ร่องน้ำเปลี่ยนไปจึงไม่มีคุ้งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลวนให้เห็นอีก
2. เรือนไม้ สถาปัตยกรรมเรือนค้าขายที่ผสมผสานความเป็นภาคกลางและภาคเหนือ มีทั้งเรือนคหบดี เรือนพ่อค้า ขุนนาง เป็นเรือนไม้ที่มีเอกลักษณ์ทางศิลปะ ปัจจุบันเรือนไม้ที่อยู่ในชุมชนตรอกบ้านจีนหลายหลัง เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้
- บ้านนางถมยา แซ่ตั้ง เป็นบ้านของคุณยายถมยา แซ่ตั้ง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนถมยาวิทยาทาน ในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าวิหารภายในวัดสีตลาราม เดิมทีภายในบริเวณบ้าน ประกอบด้วย บ้าน 2 หลัง หลังเล็ก 1 หลัง และหลังใหญ่ 1 หลัง ต่อมามีการปรับปรุง ต่อเติม และซ่อมแซมจนบ้านหลังใหญ่ไม่เหลือสภาพเดิม แต่บ้านหลังเล็กยังคงใช้โครงสร้างเดิมอยู่บางส่วน และเป็นมรดกตกทอดจนถึงรุ่น คุณยายเกษร พุดตาลดง ปัจจุบันอายุ 80 ปี
- บ้านตระกูลวัชรพุกก์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2459 เดิมเป็นเรือนของขุนวัชรพุกก์ศึกษากร (แปลก วัชรพุกก์) อดีตธรรมการเมืองตาก และนางบุญมี (โปสพันธ์) วัชรพุกก์ บิดามารดาของ ศ.นพ.เฉลี่ย วัชรพุกก์ และนายเฉลียว วัชรพุกก์ อดีตอธิบดีกรมทางหลวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ก่อน เรือนหลังนี้ปลูกอยู่ริมแม่น้ำปิง เพื่อประกอบกิจการค้าขายเกี่ยวกับเครื่องอัฐบริขาร อุปกรณ์บวชพระ เครื่องเขียน แบบเรียนต่าง ๆ จึงทำให้เรือนหลังนี้มีสถาปัตยกรรมแบบเรือนแถวค้าขาย 2 ชั้น โดยด้านหน้าติดกับถนนตรอกบ้านจีน ประตูจึงถูกออกแบบเป็นบานเฟี้ยม ที่สามารถเปิดได้โดยตลอดแนวเพื่อใช้ในการค้าขาย พบปะผู้คนได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีการรักษาซุ้มประตูเพื่อเข้าสู่ส่วนด้านในบ้านโดยไม่ต้องผ่านส่วนค้าขาย
- บ้านตระกูลทองมา บรรพบุรุษตระกูลทองมา เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งที่ถิ่นฐานในตรอกบ้านจีน โดยจับจองที่ดินและสร้างเป็นที่อยู่อาศัยบริเวณท่าปากคลองน้อย บ้านตระกูลทองมา สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2425 ซึ่งแต่เดิมเป็นของนายมาและนางทอง มีลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใช้ประตูบานเฟี้ยม สามารถเปิดด้านหน้าได้ตลอดเพื่อใช้สำหรับการค้าขาย ด้วยบริเวณด้านหน้าอยู่ติดกับคลองน้อย นายมาและนางทองจึงสร้างสะพานไม้คร่อมคลองน้อย เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสัญจรได้สะดวก ชาวบ้านจึงเรียกสะพานนี้ว่า “สะพานทอง” ตามชื่อของผู้สร้าง ประมาณปี พ.ศ. 2460 บ้านหลังนี้ถูกยกให้กับนายชูและนางริ้ว และมีการปลูกเรือนหลังที่ 2 ติดกับเรือนหลังแรก โดยมีเรือนสำหรับเก็บของและสมุนไพร เพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรค และมีชานสำหรับเป็นที่พบปะของครอบครัวและเตรียมอาหารสำหรับงานบุญในเทศกาลต่าง ๆ ตั้งอยู่ด้านหลัง ปัจจุบัน เรือนหลังนี้ได้ตกทอดสู่ลูกหลานตระกูลทองมา
- บ้านตระกูลสุวรรณเพ็ญ-ใต้ สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2466 เดิมเป็นที่ดินของนายริต นางทองคำ อยู่สวัสดิ์ ต่อมาได้ยกให้นางปุกเงิน ซึ่งเป็นลูกสาวเพื่อใช้เป็นเรือนหอ เมื่อสมรสกับนายอินทร์ สุวรรณเพ็ญ โดยนางปุกได้เปิดหน้าร้านทำการค้าขายจำพวกเครื่องใช้ต่าง ๆ เสื้อผ้า และเครื่องแก้ว ถัดเข้าไปภายในบ้านจะเป็นส่วนของที่พักอาศัยของสมาชิกในครอบครัว และมีชานต่อยื่นออกไปด้านหลังสำหรับนั่งพักผ่อน ห้องครัว ห้องน้ำ ยุ้งข้าว และสวนผลไม้ ยาวไปจนถึงรั้วหลังบ้านติดกับถนนตากสินในปัจจุบัน ลักษณะเป็นห้องแถวมีประตูเป็นแบบบานเฟี้ยม แบบลูกฟักสามารถเปิดได้ตลอดแนวเพื่อทำการค้าขาย โดยยกระดับในส่วนที่พักอาศัยให้สูงขึ้นเพื่อแยกส่วนกันอย่างชัดเจน ตัวบ้านเป็นบ้านชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วสูง มุงกระเบื้องดินเผา โครงสร้างเป็นไม้สัก ตั้งแต่ฐานราก เสา คาน พื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง มีการยึดโยงโครงสร้างต่าง ๆ เข้าด้วยกันตามเทคนิคโบราณ คือ การใช้สลักเดือย
- บ้านตระกูลโสภโณดร-ใต้ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของตรอกบ้านจีน ภายในบริเวณบ้านสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ บ้านใต้และบ้านเหนือ ถูกสร้างในยุคของหลวงบริรักษ์ประชากร (ตังกวย) บุตรชายของจีนทองอยู่ ผู้ดูแลกิจการของกิมเซ่งหลีที่เมืองตาก ตั้งอยู่ในชุมชนตรอกบ้านจีน เรือนทั้งหมดสร้างด้วยไม้สักและยึดองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกันตามเทคนิคโบราณ คือ ใช้เดือยสลัก หลังคาจั่วทรงสูง มุงกระเบื้องดินเผา หน้าจั่วและปั้นลมเป็นไม้แกะสลักทั้งหลัง
- บ้านตระกูลสุประกอบ ประมาณ ปี พ.ศ. 2410 นายจันทร์ แซ่ตั้ง บรรพบุรุษตระกูลสุประกอบ ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในตรอกบ้านจีน เพื่อปลูกเรือนเป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้าขายยาแผนโบราณ เดิมบ้านหลังนี้ปลูกสร้างติดริมแม่น้ำปิง มีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวสำหรับทำการค้าขาย ต่อมาได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมประมาณ 3 ครั้ง จนมีลักษณะเป็นเรือน 2 ชั้นหลังคาทรงปั้นหยา ปัจจุบันเรือนหลังนี้ยังคงเหลือร่องรอยศิลปกรรม มรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ เช่น เครื่องลายคราม ที่มีอายุมากกว่า 150 ปี ข้าวของเครื่องใช้ และมรดกทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอด คือ ตำรับยาแผนโบราณต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของเรือนปัจจุบันได้เก็บบันทึกรวบรวมประวัติของเรือน ภาพถ่าย รวมทั้งมรดกทางภูมิปัญญาต่าง ๆ ไว้
- บ้านตระกูลต้นประทุม ตั้งอยู่บริเวณต้นซอยของตรอกบ้านจีน เป็นบ้านของนายสะอาด นางส้มชู้ ต้นประทุม มีลักษณะเป็นบ้านไม้ทรงไทย 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ประตูชั้นล่างเป็นประตูบานเฟี้ยมสามารถเปิดได้ตลอดแนว แต่เดิมเป็นร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ปัจจุบันชั้นล่างเปิดเป็นร้านผัดไทยสูตรโบราณ ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดตาก
- บ้านตระกูลนาแก้ว สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2503 มีลักษณะเป็นบ้านไม้ทรงไทย 2 ชั้น หลังคาทรงมะนิลา ประตูชั้นล่างเป็นแบบบานเฟี้ยม โดยใช้ช่างคนไทยเป็นคนสร้าง ใช้เวลาในการก่อสร้างเกือบ 1 ปี ปัจจุบันเจ้าของบ้านคือ นายถนอม นางพรสวรรค์ นาแก้ว
- บ้านตระกูลโสภโณดร-เหนือ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของตรอกบ้านจีน เดิมเป็นเรือนไม้ แต่ประมาณ พ.ศ. 2453-2455 ได้รื้อเรือนไม้หลังเดิมออกเพื่อปลูกสร้างเรือนหลังใหม่ มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ฉลุไม้ตกแต่งเป็นลวดลายแบบตะวันตก หรือที่เรียกว่า ทรงขนมปังขิง โดยสร้างจากความประทับใจจากการพบเห็นพระราชวังในกรุงเทพมหานคร ครั้นเมื่อเดินทางไปติดต่อค้าขาย และทาสีตัวอาคารเป็นสีเหลืองตามความเชื่อของชาวจีน ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเป็นสีฟ้าตามความชอบของเจ้าของเรือน และใช้เป็นเรือนเพื่ออยู่อาศัย รวมทั้งได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสภาพเดิมทั้งหมด
- บ้านตระกูลไชยนันทน์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 เดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นที่สำหรับจอดเรือโกลน และที่พักซุงของ นายริต นางทองคำ อยู่สวัสดิ์ ซึ่งต่อมาได้ยกให้นางพร้อม บุตรสาวคนเล็ก เพื่อสร้างเป็นเรือนหอเมื่อสมรสกับนายเทียม ไชยนันทน์ โดยสร้างเป็นเรือนแถวไม้ 2 ชั้น ใช้สำหรับเป็นที่พักอาศัยและสำนักงานทนายความของนายพร้อม ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 เมื่อคลองน้อยและแม่น้ำปิงถูกถม ที่ว่างข้างคลองจึงกลายเป็นที่จอดรถ มีหลังคาสังกะสีเพิงหมาแหงนใช้บังแดดบังฝน หลังจากนั้นจึงถูกรื้อถอน เพื่อสร้างเป็นสำนักงานที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ สาขาเมืองตาก มาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วง พ.ศ. 2475 เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีผลต่อตระกูลข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองและนักธุรกิจ พ่อค้า ที่อาศัยอยู่ในตรอกบ้านจีน จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484 – 2493) สงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ ที่แผ่ขยายมาจากประเทศพม่า ทำให้เมืองตากซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการรบมาตั้งแต่อดีต ประกอบกับชุมชนตรอกบ้านจีนตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีจุดสังเกตของชุมชนคือ เสาโทรเลข (เสาสูง) จึงกลายเป็นจุดอันตราย จุดทิ้งระเบิด ส่งผลให้ชาวบ้านต้องขุดหลุมหลบระเบิดและใช้มะพร้าวพลางหลังคาบ้าน จนบางครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด การอพยพย้ายถิ่นฐานในภาวะสงครามนำไปสู่การเกิดตลาดใหม่ทางเหนือของชุมชน (พ.ศ. 2488)
จากการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงค่านิยมแนวคิดการส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือต่างถิ่น จึงนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานของหลายครอบครัว จนปรากฏบ้านร้าง ที่ดินรกร้างว่างเปล่า รวมถึงบ้านที่ขาดการดูแลจนทรุดโทรม กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยว สกปรก แหล่งเพาะเชื้อโรค อุบัติเหตุเพลิงไหม้ และทำลายความสวยงามทัศนียภาพที่มีเอกลักษณ์ของชุมชน รวมไปถึงความไม่ปลอดภัยทางสังคม ปัญหาโจรขโมย ยาเสพติด
การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมากที่สุด คือ การพัฒนาเมืองแบบสมัยใหม่ เปลี่ยนชุมชนที่พึ่งพาตนเองจากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเมืองที่พึ่งสาธารณูปโภคจากรัฐ ซึ่งการพัฒนาเมืองแบบสมัยใหม่ทำให้ระบบขนส่งภายในชุมชนเปลี่ยนรูปแบบจากการเดินทางโดยเรือ ใช้ช้างหรือม้าเป็นพาหนะ มาเป็นการใช้รถยนต์ ในขณะที่ตรอกและถนนต่าง ๆ โดยรอบชุมชนเดิมมีขนาดเล็กและไม่เพียงพอต่อระบบขนส่งรูปแบบใหม่ จึงทำให้เริ่มมีการก่อสร้างถนนเพิ่มเติมและทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง ซึ่งมาพร้อมกับมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง เสียงรบกวนและความร้อน
กระทั่งมีการกั้นล้อมรั้วในชุมชนตรอกบ้านจีนในช่วง พ.ศ. 2497 การย้ายตำแหน่งของสาธารณูปโภคสำคัญ ได้แก่ ตลาดและศาลากลางจังหวัดตาก การถมคลองน้อย การรื้อสะพานทองใน พ.ศ. 2495 ทำให้ชุมชนตรอกบ้านจีน ถูกลดความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการค้าขายลง
การถมแม่น้ำปิงเป็นที่ราชพัสดุใน พ.ศ. 2505 ส่งผลกระทบหลายประการ ได้แก่ ทำให้ชุมชนอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้น และต้องพึ่งพาสาธารณูปโภคจากภาครัฐ ผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง เนื่องจากถูกอาคารต่าง ๆ ที่สร้างใหม่บนที่ราชพัสดุบดบังความสวยงาม เกิดปัญหาน้ำท่วมขังชุมชน เนื่องจากพื้นดินถมที่มีระดับสูงกว่าเดิม ขวางทางน้ำที่ไหลลงแม่น้ำจากที่สูงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติ ทำให้น้ำท่วมขังในชุมชน ส่งผลต่อบ้านเรือนโบราณได้รับความเสียหาย ทรุด เนื่องจากฐานรากไม้ผุพัง เพราะแช่น้ำท่วมขัง อีกทั้งน้ำที่ท่วมขังในชุมชนเป็นแปล่งเพาะพันธุ์ยุง
ในชุมชนตรอกบ้านจีน มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น ร้านผัดไทยตรอกบ้านจีน
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). ตรอกบ้านจีน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2566, จาก http://thailandtourismdirectory.go.th
ปณิตา สระวาลี. พิพิธภัณฑ์ตรอกบ้านจีน. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก. (2562) ตรอกบ้านจีน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2566, จาก https://www.trokbanchintak.com