ชุมชนโบราณริมน้ำที่มีอายุกว่า 100 ปี ภายในชุมชนมีเรือนไม้เก่าแก่ริมน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ขนานยาวไปตามลำคลอง โดยเรือนไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรือนร้านค้าส่วนหนึ่งของตลาดอันมีชื่อของชุมชน เช่น ตลาด 108 ปี
คลองหลวงแพ่ง มาจากชื่อ "หลวงแพ่ง" ซึ่งเป็นหัวหน้าขุดคลองเชื่องระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์กับคลองรังสิต ชาวบ้านจึงเรียกคลองนี้ว่า “คลองหลวงแพ่ง” ทำให้ต่อมาเมื่อมีชุมชนเกิดขึ้นบริเวณริมคลองเส้นนี้จึงเรียกตามชื่อคลองว่า "ชุมชนคลองหลวงแพ่ง"
ชุมชนโบราณริมน้ำที่มีอายุกว่า 100 ปี ภายในชุมชนมีเรือนไม้เก่าแก่ริมน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ขนานยาวไปตามลำคลอง โดยเรือนไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรือนร้านค้าส่วนหนึ่งของตลาดอันมีชื่อของชุมชน เช่น ตลาด 108 ปี
คลองหลวงแพ่งเป็นคลองที่มีการเริ่มขุดในปี พ.ศ. 2431 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2433 โดยมีการขุดคลองจากคลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือขึ้นไปทางคลองแสนแสบเรื่อยมาจนถึงบางน้ำเปรี้ยว ผู้ดูแลการขุดคลองหลวงแพ่ง คือ หลวงแพ่งกรมการนครเมืองเขื่อนขันธ์ ได้ขอขุดคลองเนื่องจากจะขยายพื้นที่ทางการเกษตรทำให้เกิดคลองหลวงแพ่งขึ้นมา หลวงแพ่งนอกจากจะเป็นผู้ดูแลจัดการการขุดคลองที่คลองหลวงแพ่งยังมีการควบคุมดูแล การขุดคลองประเวศบุรัรมย์ คลองเป็ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของหลวงแพ่งก็ว่าได้แต่สุดท้ายแล้วหลวงแพ่งก็ต้องหนีออกจากพื้นที่เนื่องจากไม่สามารถขุดคลองได้สำเร็จ และนำเงินค่าจองที่นาของภาครัฐมาใช้
การเข้ามาของประชากรในชุมชนคลองหลวงแพ่งนั้น มีการเข้ามาเพื่อจับจองพื้นที่ในการทำมาหากินเนื่องจากในขณะนั้นได้อนุญาตให้ชาวบ้านออกค่าใช้จ่ายในการขุดคลองโดยจะมีการมอบที่ดินให้เป็นสิ่งตอบแทนจึงทำให้เริ่มมีการตั้งชุมชนขึ้นมา แต่ยังคงเป็นเพียงที่พักอาศัยชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาจึงการสร้างบ้านเรือนลักษณะการสร้างบ้านเรือนติด ๆ กันจนกลายเป็นห้องแถวติดกันในที่สุด โดยมีกลุ่มชาวจีนเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยชาวจีนนั้นได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากคลอง เนื่องจากเป็นทำเลที่เหมาะแก่การทำการค้าจนทำให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นตลาดย่านการค้าในที่สุด
รูปแบบที่อยู่อาศัยของชาวบ้านคลองหลวงแพ่งนั้นจะมีการสร้างบ้านเรือนริมน้ำหันหน้าเข้าหาคลอง มีการแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งนึงมี 120 ห้อง อีกฝั่งจะมี 30 ห้อง มีลักษณะเป็นบ้านไม้ห้องแถวติดกันเป็นอาคารสองชั้นยกพื้นสูง มักมีการยื่นบางส่วนของบ้านเข้าไปในคลอง โดยจะลักษณะเป็นชานระเบียงที่ถัดจากพื้นทางเดินหน้าบ้าน ส่วนภายในบ้านเรือนนั้นจะมีลักษณะเป็นโถงซึ่งจัดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ หรือเปิดโล่งเพื่อทำการค้า ในส่วนบริเวณด้านล่างจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บเรือ เนื่องจากบ้านเรือนถูกสร้างโดยใช้ไม้เป็นหลักทำให้ในปัจจุบันบ้านเรือนบางส่วนทรุดโทรมลง และไม่มีผู้อยู่อาศัยจึงไม่ได้รับการซ่อมแซมทำให้บ้านเรือนบางส่วนจึงถูกรื้อทิ้งในที่สุด
ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ในอดีตจะเปิดบ้านเพื่อทำการค้าขายต่าง ๆ และทำนาปลูกข้าวเป็นสำคัญถึงขนาดที่มีเรือสำหรับขนข้าวเข้ามาในชุมชนโดยเรือนั้นสามารถมีการบรรจุได้กว่า 1 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนมีการทำนาปลูกข้าวจำนวนมาก ปัจจุบันทั้งสองอาชีพนั้นลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการอพยพย้ายที่อยู่อาศัยไปในพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น แต่ชาวบ้านยังคงมีการพยายามรื้อฟื้นการค้าขายจนกลายมาเป็นตลาดหลวงแพ่งอีกครั้งปัจจุบันพื้นที่บริเวณคลองหลวงแพ่งนั้น เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่กับแขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง โดยในอดีตพื้นที่อยู่ในเขตการดูแลของ ทุ่งแสนแสบ แขวงมีนบุรี แต่เมื่อมีการขุดคลอง และการแบ่งเขตการปกครองใหม่ จึงมีการให้พื้นที่สองฝั่งคลองเป็นเขตตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทราเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่รูปแบบวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งสองพื้นที่ยังคงมีรูปแบบร่วมกันทั้งในแง่ของรูปแบบอาคารบ้านเรือน วัฒนธรรมรวมถึงศาสนา และความเชื่อพื้นที่ของชุมชนนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีคลองพาดผ่าน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับกับ ต.ศาลาแดง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
- ทิศใต้ ติดกับกับ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
- ทิศตะวันออก ติดกับกับ ต.คลองอุดมชลจร อ.เมืองฯ จ.ฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันตก ติดกับกับ แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
การคมนาคม ในพื้นที่ชุมชนตลาดหลวงแพ่งสามารถเดินทางผ่านช่องทางบกอย่างรถยนต์ผ่านถนน ทางหลวงสาย 304 ฉะเชิงเทรา–มีนบุรี และถนนสายฉะเชิงเทรา–อ่อนนุช ในส่วนการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟก็สามารถเดินทางได้เนื่องจากมีสถานีรถไฟคลองหลวงแพ่ง นอกจากนี้ยังคงมีการสัญจรทางน้ำอยู่แต่ลดจำนวนลงมาก อาจเหลือเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น
ชุมชนคลองหลวงแพ่ง เป็นชุมชนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจึงทำให้รูปแบบของประเพณีพิธีกรรมมีรูปแบบเดียวกับชุมชนชาวพุทธทั่วไป แต่จะมีประเพณีที่โดดเด่นดังนี้
- ประเพณีแห่เจ้าพ่อปุณและเจ้าแม่ปุณเถ่าม่า จะมีการจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เป็นศาลเจ้าที่รับการเคารพนับถือจากคนในชุมชน ศาลเจ้าทั้งสองจะอยู่คนละพื้นที่ ซึ่งจะต้องให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ต้องพบกับ และภายในงานจะมีการแสดงงิ้วเพื่อสร้างความรื่นเริง มีการทำบุญในตอนเช้า
ทุนทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม
- ตลาดหลวงแพ่ง 108 ปี เป็นตลาดโบราณริมน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดริมคลองประเวศบุรีรมย์ (คลองหลวงแพ่งล่าง) ตัดกับคลองหลวงแพ่ง ที่สะท้อนชีวิตของผู้คนริมน้ำ ซึ่งในอดีตเป็นตลาดที่มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมากมีการค้าขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตร และมีร้านค้าต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายยาโบราณ ร้านขายสิ่งของเครื่องใช้ ที่มีจำนวนกว่า 100 ร้านค้า แต่เมื่อมีการพัฒนารูปแบบคมนาคมทางบกจึงทำให้ตลาดหลวงแพ่งเริ่มซบเซาลงในที่สุด และเมื่อประมาณปี 2559 ชาวบ้านได้รวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูตลาดให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
- วัดสุทธาวาส ตั้งอยู่ที่ หมู่ 13 ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเฉิงเทรา เป็นวัดที่ชาวบ้านให้การเคารพศรัทธา อยู่สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนาของชาวบ้านและเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
- ศาลเจ้าพ่อปุณเถ่ากง และเจ้าแม่ปุณเถ่าม่า (ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หลวงแพ่ง) เป็นศาลเจ้าที่อยู่คู่กับพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยศาลเจ้าพ่อปุณเถ่ากงจะตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างคลองประเวศบุรีรมย์ และศาลเจ้าแม่ปุณเถ่าม่าตั้งอยู่บริเวณท้ายตลาด โดยศาลเจ้าทั้งสองเป็นที่ยึดเหนี่ยวให้กับชาวบ้านในชุมชน โดยเชื่อว่าท่านทั้งสองช่วยปกป้องคุ้มครอง ชาวบ้านและช่วยให้ทำการค้าขายได้ดีมากขึ้น
- วัดราชโกษา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงขุมทอง เขต ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน พระครูประสุตสารธรรม(พระอาจารย์ดำ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีอาณาเขต 17 ไร่ มีธรณีสงฆ์ 7 ไร่เศษ ทิศเหนือติดคลองประเวศบุรีรมย์ ทิศตะวันออกติดถนนขุมทอง-ลำต้อยติ่ง
ในปีพ.ศ. 2446 พระยาเพชรพิไชย เจ้าจอมลิ้นจึ่ในรัชกาลที่ 5 และเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅไชยได้บริจาคที่ดินจำนวน 17 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา เพื่อสร้างวัด โดยสร้างเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2450 หลังจากนั้นใช้ชื่อวัดว่า วัดพระยาเพชรพิไชย ตามชื่อผู้สร้างวัด แต่หลังจากนั้นพระยาเพชรพิไชยได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชโกษาในสมัยที่พระอาจารย์อิ่มเป็นเจ้าอาวาส จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดราชโกษา"
จนกระทั่ง คุณยายภัทร จารุจินดา (ผู้เป็นบุตรีเจ้าพระยาสุรบดินทร์และเป็นหลานพระยาเพชรพิไชย) กับคุณหญิงอุ่น มาพบวัดราชโกษาโดยบังเอิญหลังจากที่เสาะหาวัดเป็นเวลานาน เมื่อได้สนทนากับพระครูมานิต ธรรมคุณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน จึงทราบเรื่องราวว่าตระกูลเป็นผู้ทำนุบำรุงวัดมาแต่อดีต จึงได้ปวารณาตัวพร้อมที่จะร่วมทำนุบำรุงวัดตามบรรพบุรุษให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2499
ภายในอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้วลายกระหนก คล้ายพระพุทธชินราช หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ต่อมามีการจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อดำเมื่อราว พ.ศ. 2460 หลวงพ่อดำองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักจนมีการสร้างวัตถุมงคลออกมาหลายรุ่น
จากการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้สังคม ตลาดหลวงแพ่งเริ่มเปลี่ยนเป็นสังคมที่มีทั้งคนดั้งเดิมในพื้นที่และกลุ่มคนใหม่ที่เข้ามาอยู่เพื่อพักอาศัย เนื่องจากราคาค่าเช่าบ้าน ไม่แพง และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งงาน ทำให้พื้นที่ตลาดหลวงแพ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของคนที่เข้ามาอยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อ กิจกรรมการค้า กิจกรรมการค้าขายยิ่งลดจำนวนลงและปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก คงเหลือไว้แต่ร้านค้าดั้งเดิม เช่น ร้านขายของชำ และร้านขายยาแผนโบราณ ที่ยังคงดำรงอยู่ภายตลาด
ชุมชนต้องเผชิญกับการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจการคมนาคมเนื่องจากเมื่อมีการพัฒนาทางด้านคมนาคมทำให้มีการใช้เส้นทางที่มีการทำขึ้นมาใหม่ คือ เส้นทางการเดินทางทางบกที่ทำให้การสัญจรทางน้ำนั้นเริ่มหายไปจากสังคม และพื้นที่มีราคาที่สูงขึ้นทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานตลอดจนการรื้ออาคารห้องแถวเก่าเพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อื่นจนทำให้วัฒนธรรมที่คงอยู่ในชุมชนนั้นเริ่มเลือนหายไป
ฐานความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนหลากวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ชุมชนคลองหลวงแพ่ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2566, จาก https://www.thailocalwisdom.com/index.php
พิมพ์อุมา โตสินธพ. (2548). คลองเชื่อมพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางประกงระหว่าง พ.ศ.2420-2500. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2555). วัดสุทธาวาส. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/album/151218.
หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา. (2558). ชุมชนตลาดหลวงแพ่ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/2801.
สิรภัทร พะยัติ และ กฤตพร ห้าวเจริญ. (2557). บทบาทและการเปลี่ยนแปลงของตลาดหลวงแพ่ง กรุงเทพมหานคร. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สชจ, 24(1), 22-35.