Advance search

ชุมชนตลาดเมืองราชบุรี เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งอดีต ภายในชุมชนมีสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสะพานรถไฟที่ถูกใช้งานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หน้าเมือง
เมืองราชบุรี
ราชบุรี
มนิสรา นันทะยานา
18 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 เม.ย. 2023
ตลาดเมืองราชบุรี


ชุมชนตลาดเมืองราชบุรี เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งอดีต ภายในชุมชนมีสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสะพานรถไฟที่ถูกใช้งานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หน้าเมือง
เมืองราชบุรี
ราชบุรี
70000
13.530898
99.823855
เทศบาลเมืองราชบุรี

เทศบาลเมืองราชบุรี เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาลมีชื่อว่า สุขาภิบาลเมืองราชบุรี ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมือง รศ. 127 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2458 ต่อมาในสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยในปี พ.ศ. 2475 มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เพื่อยกฐานะของท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นสุขาภิบาลอยู่แล้วขึ้นเป็นเทศบาล และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองราชบุรีเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478 สุขาภิบาลเมืองราชบุรีจึงมีฐานะเป็นเทศบาลเมืองราชบุรี รวมระยะเวลาจัดตั้งเป็นเทศบาลเมืองราชบุรีถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 88 ปี ปัจจุบัน สำนักงานเทศบาลเมืองราชบุรีตั้งอยู่ที่ถนนศรีสุริยวงศ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

ชุมชนตลาดเมืองราชบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดราชบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 99 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนตลาดเมืองราชบุรี สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนตลาดเมืองราชบุรี เป็นชุมชนย่านตลาดเมืองราชบุรีต่อเนื่องกับบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟราชบุรี ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันสภาพของอาคารบ้านเรือนเป็นอาคารพาณิชย์ที่เจริญมากขึ้น โดยพบเห็นอาคารไม้ 2 ชั้น (ล่างปูน-บนไม้) อยู่บ้างบริเวณถนนรถไฟฝั่งตะวันตกของสถานี

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปีพ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านหน้าเมือง จำนวน 16,474 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 33,870 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 15,507 คน หญิง 18,363 คน

ด้านกลุ่มอาชีพ 

ประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองราชบุรีมีการประกอบอาชีพค้าขาย และบริการ โดยในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีมีร้านค้าทั้งประเภทค้าปลีก ค้าส่ง และบริการ การค้าปลีกส่วนใหญ่เป็นร้านขายเครื่องอุปโภคและบริโภค ภัตตาคารอาหารเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม และการบริการทางด้านอื่น ๆ ได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น ร้านค้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนถนนอัมรินทร์ ถนนไกรเพชร ถนนราษฎรยินดี และถนนรถไฟ ส่วนการบริการอื่น ๆ ได้ขยายไปตามถนนสุริยวงศ์ ถนนคฑาธร ถนนมนตรีสุริยวงศ์ และถนนเพชรเกษมสายใหม่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒธรรม

1. สถานีรถไฟราชบุรี ทางรถไฟเมืองราชบุรีจัดเป็นทางรถไฟหลวงสายตะวันตกของสยามก่อนจะผนวกรวมเป็นทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการ ซึ่งมีกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2443 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445

เส้นทางการเดินรถ เริ่มตั้งแต่สถานีบางกอกน้อย ตรงไปทางตะวันตกใกล้แนวคลองมหาสวัสดิ์ข้ามแม่น้ำท่าจีนที่สะพานเสาวภา ไปจนถึงฝั่งแม่น้ำแม่กลองที่บ้านโป่ง เลี้ยวลงไปทางทิศใต้เลียบใกล้ฝั่งแม่น้ำและข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ช่วงเมืองราชบุรี ที่สะพานจุฬาลงกรณ์ แล้วตรงไปตามทางจนถึงเมืองเพชรบุรี รางรถไฟมีความกว้าง 1 เมตร และมีความยาวทั้งสิ้น 151 กิโลเมตร ในระหว่างเส้นทางดังกล่าวต้องสร้างสะพานรถไฟข้ามคลองและแม่น้ำถึง 3 แห่ง ได้แก่

  1. สะพานข้ามคลองตลิ่งชัน 
  2. สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน (สะพานเสาวภา)
  3. สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองช่วงเมืองราชบุรี (สะพานจุฬาลงกรณ์)

โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ สถานีรถไฟราชบุรี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดรถไฟอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ สถานีรถไฟราชบุรี เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ราชบุรี ระหว่างวันที่ 18–25 กันยายน พ.ศ. 2456

2. สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองช่วงผ่านเมืองราชบุรีสร้างเมื่อ พ.ศ. 2444 ทางเดินรถแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 50 เมตร มีระยะทางทั้งสิ้น 150 เมตร นับได้ว่าเป็นสะพานรถไฟที่ยาวที่สุดของสยามประเทศในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานชื่อว่า สะพานจุฬาลงกรณ์ ตามพระนามของพระองค์ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดทางรถไฟอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชบุรีเป็นเส้นทางลำเลียงกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นไปมลายูและพม่า สะพานจุฬาลงกรณ์จึงตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อทำลายเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น และช่วงปลายสงครามก็ยังเป็นเส้นทางที่ญี่ปุ่นถอยทัพ สะพานจุฬาลงกรณ์ถูกทิ้งระเบิดใส่ถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2488 จนสะพานหัก เมื่อญี่ปุ่นประเมินว่า ไม่สามารถซ่อมสะพานเหล็กได้ทัน จึงตัดสินใจสร้างสะพานรถไฟโครงไม้ขึ้นมาแทน โดยขนานไปตามแนวสะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานไม้นี้มีการใช้งานอย่างหนักทั้งวันทั้งคืนไม่ถึง 2 เดือนก็ทรุดโทรม และเมื่อหัวรถจักรไอน้ำคันหนึ่งของญี่ปุ่นที่วิ่งตัวเปล่ามาสะพานก็เกิดทรุดตัว จนหัวรถจักรพลัดตกทับสะพานจมลงกลางแม่น้ำไป กลายเป็นตำนานที่ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าขานมาจนถึงภายหลัง ส่วนสะพานจุฬาลงกรณ์นั้น หลังจบสงครามได้มีการปรับปรุงและสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2505

ปัจจุบันมีก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ และมีการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นสะพานคานขึง (Extradose Bridge) คือ การผสมผสานระหว่างสะพานขึงและสะพานคอนกรีตที่ใช้สายเคเบิ้ลในการช่วยรับแรง เป็นสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์ที่เป็นสะพานรถไฟเดิม สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ก่อสร้างอยู่จะเป็นสะพานรถไฟคานขึงที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และอาจจะขึ้นแท่นเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองราชบุรีในอนาคตอีกด้วย

ทุนเศรษฐกิจ

1. ตลาด

  • ตลาดขายส่งผักและผลไม้ศรีเมือง ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับสถานีขนส่งของจังหวัดราชบุรี ส่วนใหญ่เกษตรกรรายย่อยเป็นผู้นำสินค้ามาจำหน่ายโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
  • ตลาดสดเทศบาล เทศบาลมีตลาดสด 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่ถนนอัมรินทร์ สภาพอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว
  • ตลาดทรัพย์สิน เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดสดเทศบาล บริเวณถนนอัมรินทร์ นอกจากนี้ยังมีตลาดสดชั่วคราวในช่วงเช้ามืด คือ บริเวณริมทางรถไฟ หน้าวัดสีชมพู หน้าวัดโรงช้าง และหัวถนนศรีสุริยวงศ์ พ่อค้าแม่ค้าจะนำสินค้ามาวางจำหน่ายบนทางเท้า และผิวจราจรบริเวณถนนอัมรินทร์ ถนนอัมรินทร์ตัดกับถนนรถไฟ ถนนวรเดช ถนนสัจจาภิรมย์ ถนนศรีมหาเกษตร นอกจากนั้นยังมีตลาดนัดขายสินค้าในช่วงเย็นอีกหนึ่งแห่ง คือ ตลาดนัดกำนันยงค์

2. อุตสาหกรรม

ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลหน้าเมือง มีอุตสาหกรรมประเภทหลัก คือ อุตสาหกรรมโรงกลึง อู่ซ่อมรถ ซ่อมเครื่องยนต์ เครื่องเชื่อม โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมการทอผ้า และโรงงานประเภททำเส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เต้าหู้และขนม 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. สะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานรถไฟแห่งแรกของเมืองราชบุรี สะพานรถไฟที่ยาวที่สุดในสยามประเทศ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/.

เทศบาลเมืองราชบุรี. (2553). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก http://www.rbm.go.th/.

NGThai. (2565). จากประวัติศาสตร์สงครามโลก สู่การสร้างสะพานแขวนรถไฟแห่งแรกของไทยในราชบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://ngthai.com/travel/.