Advance search

ชุมชนผู้ไทบ้านจุมจังมีธรรมาสน์เสาเดียว ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดจุมจังเหนือฝังเสาธรรมาสน์ทะลุพื้นศาลาลงดินตามคติความเชื่อของชาวผู้ไท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ต่อการประกอบพิธีกรรมตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวผู้ไท

จุมจัง
จุมจัง
กุฉินารายณ์
กาฬสินธุ์
เทศบาลจุมจัง โทร. 0-4384-0341
วิไลวรรณ เดชดอนบม
20 ธ.ค. 2022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
1 มี.ค. 2023
บ้านจุมจัง

สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ตูมตัง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกลำน้ำสายหนึ่งในพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน และเพี้ยนเป็น “จุมจัง” ในภายหลัง 


ชุมชนผู้ไทบ้านจุมจังมีธรรมาสน์เสาเดียว ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดจุมจังเหนือฝังเสาธรรมาสน์ทะลุพื้นศาลาลงดินตามคติความเชื่อของชาวผู้ไท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ต่อการประกอบพิธีกรรมตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวผู้ไท

จุมจัง
จุมจัง
กุฉินารายณ์
กาฬสินธุ์
46110
16.468814
104.097258
เทศบาลตำบลจุมจัง

ชุมชนบ้านจุมจัง ตำบลจุมจัง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นชุมชนซึ่งปรากฏการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทมาอย่างยาวนาน ตามตำนานการก่อตั้งบ้านจุมจังเล่าว่า นับศตวรรษมาแล้วมีพรานป่าสองพี่น้องชาวบ้านเกลี้ยงนาเวียง เมืองเสลภูมิ ชื่อพรานสาผู้พี่ และพรานลาผู้น้อง ทั้งสองเดินทางออกล่าสัตว์ป่าตามรอยของแรดจากแม่น้ำชีไปจนถึงลำห้วยชัน แต่เนื่องจากฝนตกน้ำท่วมทำให้รอยของแรดหายไป พรานทั้งสองจึงหยุดตามรอยแรดและออกสำรวจป่าใหญ่ที่มีชื่อเรียกว่า “ดงสรวง” พบว่าป่าบริเวณนี้มีสัตว์อยู่จำนวนมาก อีกทั้งยังถูกขนาบด้วยป่าใหญ่ทั้ง 2 ข้าง พรานสองพี่น้องจึงตัดสินใจปักหลักยังพื้นที่ป่าดงสรวงแห่งนี้ เมื่อล่าสัตว์ได้ก็นำกลับไปยังหมู่บ้านของตน และออกมาล่าใหม่ ทำเช่นนี้อยู่เรื่อยไป ระหว่างออกมาล่าสัตว์ในพื้นที่ดงสรวง พรานทั้งสองก็ได้ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบไปด้วย และได้พบกับลำห้วยตูมตัง หรือลำห้วยจุมจังในปัจจุบัน 

หลายปีต่อมาบ้านเกลี้ยงนาเวียงหมู่บ้านของพรานสาและพรานลาเกิดน้ำท่วมใหญ่ คนในหมู่บ้านจึงคิดย้ายถิ่นฐานหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ พรานสาและพรานลาจึงนำชาวบ้านมายังบริเวณเนินกลางดงสรวงซึ่งมีลำห้วยขนาบ 2 ข้าง คือ ลำห้วยตูมตัง และลำห้วยชัน และตั้งหมู่บ้านชื่อหัวโสกโคกขี้ม้า หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หัวโสก-หนองขี้ม้า ผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดโรคฝีดาษขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านที่ติดโรคระบาดจะถูกกันออกไปจากหมู่บ้าน ต่อมาราวสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดโรคระบาดในหมู่บ้านหัวโสกโคกขี้ม้าอีกระลอกหนึ่ง ระลอกนี้คือโรคห่า ทำให้ผู้นำหมู่บ้านจำต้องพาลูกบ้านสละบ้านหนองโสกโคกขี้ม้าออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านเก่ากลางตำบลชุมพร อำเภอกุดสิมนารายณ์ จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาราว พ.ศ. 2482 บ้านเก่ากลางได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบลจุมจัง เนื่องจากมีลำห้วยซึ่งถือเป็นลำน้ำสายสำคัญของชุมชนไหลผ่าน บริเวณลำห้วยมีต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ “ตูมตัง” จึงเรียกว่า “ลำห้วยตูมตัง” ซึ่งมีการเรียกผิดเพี้ยนเป็น “จุมจัง” ต่อมาจึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อตำบล ในปี พ.ศ. 2490 มีการยกฐานะเมืองกาฬสินธุ์เป็นจังหวัด เป็นเหตุให้หมู่บ้านจุมจัง ตำบลจุมจัง อำเภอกุฉินารายณ์ ซึ่งแยกตัวออกจากตำบลบัวขาว ได้รับการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา  

สภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านจุมจัง ตำบลจุมจัง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ กินพื้นที่กว่าครึ่งของขนาดชุมชน มีป่าไม้อยู่ทั่วบริเวณ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังอยู่ติดกับลำห้วยจุมจังซึ่งเป็นแหล่งน้ำสายสำคัญของชาวตำบลจุมจัง ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนบ้านจุมจังเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก 

สถานที่สำคัญ

วัดจุมจังเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2482 ภายหลังการอพยพเข้ามารวมตัวกันก่อตั้งหมู่บ้านจุมจัง ภายในวัดมีกุฏิสงฆ์ 1 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล 1 หลัง และศาลาการเปรียญอีก 1 หลัง ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาธรรมาสน์เสาเดียวประจำชุมชนบ้านจุมจัง  

วัดพร้าวศรีสำราญ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย (คณะสงฆ์นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์) ตั้งอยู่ที่บ้านจุมจัง หมู่ที่ 1 เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่สำคัญในการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาของชาวผู้ไทบ้านจุมจัง ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของธรรมาสน์เสาเดียวบ้านจุมจัง ก่อนถูกย้ายไปตั้งที่วัดจุมจังเหนือในปัจจุบัน 

ชุมชนบ้านจุมจัง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านชาวผู้ไทที่มีเรื่องราวอารยธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชนเล่าขานมานานนับศตวรรษ สมาชิกในชุมชนบ้านจุมจังจึงประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทเป็นส่วนใหญ่ และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นปะปนเข้ามาบ้างเล็กน้อย เช่น ชาวไทยอีสาน ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในฐานะเขยหรือสะใภ้ โดยการแต่งงานกับสมาชิกชุมชนบ้านจุมจัง แต่นับเป็นประชากรในอัตราส่วนน้อยมาก เนื่องจากชาวผู้ไทมีค่านิยมแต่งงานกับชาวผู้ไทด้วยกันเท่านั้น 

ผู้ไท

สมาชิกชุมชนบ้านจุมจังมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งเกษตรกร ปศุสัตว์ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป และรับราชการ แต่เนื่องจากบ้านจุมจังตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบกว้าง ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังอยู่ติดกับลำน้ำจุมจัง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่ชุมชนบ้านจุมจังเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งชาวบ้านรับรู้ถึงข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ชุมชน ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก การทำเกษตรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านจุมจังคือการทำนา โดยทำปีละ 1-2 ครั้ง ตามแต่ความต้องการของเกษตรกรเจ้าของที่นา การทำนาในอดีตมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บผลผลิตที่ได้ไว้บริโภคในครัวเรือนตลอดระยะเวลา 1 ปี ส่วนที่เหลือจากการเก็บไว้บริโภคจะนำไปจำหน่ายในโรงสีหรือนายหน้ารับซื้อข้าว แล้วนำรายได้จากการขายข้าวมาหล่อเลี้ยงจุนเจือครอบครัว ทว่าปัจจุบันชาวนาได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจโลก เป็นเหตุให้วิถีการทำเกษตรครัวเรือนของเกษตรกรเปลี่ยนวิถีเป็นการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมมากขึ้น ข้าวที่นิยมปลูกมากที่สุด ได้แก่ ข้าวเหนียว และข้าวจ้าว บางครัวเรือนปลูกข้าวสายพันธุ์อื่นเพิ่มเติมสำหรับจำหน่ายโดยเฉพาะ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี และข้าวกล้อง เนื่องจากมีราคาสูงกว่าข้าวเหนียวและข้าวจ้าวปกติ เมื่อว่างเว้นจากฤดูกาลทำนาชาวชุมชนบ้านจุมจังจะใช้ระยะเวลาดังกล่าวในการทำไร่ พืชไร่ที่นิยมปลูก ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วลิสง และหน่อไม้ฝรั่ง นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ เป็ด ไก่ และสุกรเพื่อจำหน่ายและบริโภค โดยเลี้ยงไว้ในพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและพื้นที่ไร่นา  

อาชีพค้าขายเป็นอีกหนึ่งอาชีพยอดนิยมของชาวผู้ไทชุมชนบ้านจุมจัง โดยเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน สินค้าที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรจำพวกพืชผักสวนครัว เนื้อสัตว์ และของป่า เช่น พริก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วฝักยาว เป็ด ไก่ สุกร และเห็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านในชุมชนมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริมอีกอาชีพหนึ่ง โดยใช้ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรมารับจ้าง ในขณะเดียวกันชาวบ้านบางคนก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพหลักเนื่องจากไม่มีที่นาและพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม  

ปัจจุบันเนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สภาพสังคมและวิถีชีวิตของชาวบ้านจุมจังเปลี่ยนแปลงไปด้วย หนุ่มสาวรุ่นใหม่ในชุมชนไม่พึงใจกับอาชีพเก่าแก่ของชุมชนดังเช่นอาชีพเกษตรกร เนื่องจากมองว่าเป็นอาชีพที่ยากลำบาก จึงเลือกเดินทางออกไปประกอบอาชีพอื่นนอกชุมชน อาชีพนิยมของคนรุ่นใหม่ในชุมชน ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม  

ชาวผู้ไทบ้านจุมจังมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ มีคติความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไท ยังคงนับถือสืบทอดขนบธรรมเนียมฮีตคองมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีประเพณีบุญเดือนสี่หรือบุญเทศน์มหาชาติเป็นบุญใหญ่ประจำปีของชุมชน นับถือพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทุกปีชาวผู้ไทบ้านจุมจังจะมีการประกอบประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญตามหลักพุทธศาสนา รวมถึงประเพณีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชนผ่านการแสดงออกในการมีส่วนในกิจกรรมชุมชน อันอยู่บนฐานความเชื่อ และความศรัทธาของคนในชุมชนต่ออำนาจหรือสิ่งอื่นใดที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต  

ชาวผู้ไทบ้านจุมจังมีประเพณีพิธีกรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวงจรวัฏจักรชีวิตตั้งแต่เกิด แต่งงาน จนตาย ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด ประเพณีการแต่งงาน และประเพณีเกี่ยวกับการตาย 

ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด เป็นกุศโลบายข้อควรปฏิบัติสำหรับหญิงมีครรภ์ชาวผู้ไท ตั้งแต่เริ่มมีครรภ์จนคลอดบุตร ว่าควรพึงปฏิบัติสิ่งใดหรือควรละเว้นสิ่งใด เนื่องจากชาวผู้ไทเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงมีคติความเชื่อเรื่องผีและสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติไว้อย่างเข้มข้น เช่น ผู้หญิงหลังคลอดบุตรต้องอยู่กรรม (อยู่ไฟ) เป็นเวลา 7-21 วัน เพื่อให้เลือดลมดี แผลแห้งง่าย 

ประเพณีการแต่งงาน ชาวผู้ไทมีการปลูกฝังค่านิยมสำหรับบุตรหลานมาอย่างยาวนานว่า ควรแต่งงานในหมู่ชาวผู้ไทด้วยกันเท่านั้น ไม่นิยมแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแต่งงานกับคนจากชาติพันธุ์อื่น เนื่องจากจะสามารถทราบได้ว่าผู้ที่จะมาเป็นเขยหรือสะใภ้เป็นลูกหลานครอบครัวใด มีฐานะ ที่นา อุปนิสัยอย่างไร ก่อนพิธีแต่งงานฝ่ายชายจะต้องสร้างเรือนหอ และจะยึดเอาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่เป็นวันแต่งงาน การแต่งงานของชาวผู้ไทจะมีคู่แต่งงานซึ่งเป็นแบบอย่างในการครองเรือนมาเป็นสื่อกลางในการสู่ขอ เรียกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” คู่บ่าวสาวจะนับถือพ่อล่ามแม่ล่ามเปรียบเสมือนพ่อแม่อีกคนหนึ่ง ยามชีวิตคู่เกิดการทะเลาะวิวาท พ่อล่ามแม่ล่ามจะทำหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือและเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  

ประเพณีเกี่ยวกับการตาย ตามประเพณีงานศพของชาวผู้ไท จะมีการนิมนต์พระมาสวดบทแสดงความกตัญญูต่อผู้ตาย มีการบวชหน้าศพในวันฌาปนกิจ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างกุศลนำทางผู้ตายไปสู่สวรรค์ แต่ในกรณีที่ตายผิดธรรมชาติ หรือที่ชาวผู้ไทเรียกว่า ตายมีแฮง (ตายโหง) จะไม่นิมนต์พระมาสวด และไม่มีการบวชหน้าศพ หลังสวดอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ประกอบพิธีฌาปนกิจ และเก็บอัฐิผู้ตายเสร็จสิ้น จะมีการเลี้ยงภัตตาหารพระสงฆ์ และแจกทานแก่ผู้ไปร่วมงานอย่างทั่วถึง เรียกว่า “บุญแจกข้าว” 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

ธรรมาสน์เสาเดียววัดจุมจังเหนือ ธรรมาสน์เสาเดียวเป็นศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาของชาวผู้ไท ธรรมาสน์เสาเดียวของชาวผู้ไทนั้นมีความแตกต่างจากธรรมาสน์ทั่วไปคือ มีเสาค้ำยันตัวเรือนธรรมาสน์เพียงเสาเดียวซึ่งทำมาจากเสาหลักกลางบ้าน สะท้อนถึงการผสมผสานรวมระหว่างพุทธศาสนากับการนับถือผี โดยการนำความเชื่อเรื่องหลักบ้านผนวกเข้ากับความเชื่อของศาสนาพุทธ อันเป็นวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวผู้ไท ตามคติของชาวผู้ไทเชื่อว่าหากผู้ใดสร้างธรรมาสน์นับเป็นการสร้างมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ ผลบุญจะบันดาลให้พบแต่ความสุขความเจริญในชาติหน้า และได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในชาตินี้ 

ธรรมาสน์เสาเดียวบ้านจุมจัง ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดจุมจังเหนือ ฝังเสาธรรมาสน์ทะลุพื้นศาลาลงดินตามคติความเชื่อของชาวผู้ไท เสาธรรมาสน์ทำจากไม้ตะเคียน สูงจากพื้นศาลา 147 เซนติเมตร แกะลวดลายแอวขัน สลักลายบัวคว่ำบัวหงายเป็นลายกนกแต้มสีสวยงาม ตัวเรือนธรรมาสน์ทำจากไม้จิก (ไม้เต็ง หรือไม้มุจลินทร์) รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฉลุลายเครือเถาสอดประสานเป็นลายขัด ตกแต่งด้วยสีทอง ตัดเส้นด้วยสีนำเงิน และสีแดง วิ่งลายบนล่างเพื่อให้ลายเส้นมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีประตูด้านหลังสำหรับพาดบันไดขึ้นธรรมาสน์ หลังคาเป็นทรงมณฑป 2 ชั้น มีเครื่องบนหลังคา หางหงส์ทั้งสี่ด้านสลักรูปพญานาคมีหงอน ทำด้วยไม้ แต้มสีทองตัดลายเส้นด้วยสีแดง ปลายยอดเป็นรูปทรงฝักเพกา ส่วนบันไดทำด้วยไม้เนื้อแข็งธรรมดา แกะสลักรูปพญานาค 2 ตัว เป็นนาคเกี้ยวซ่อนศีรษะแนบกับลำตัวเบื้องล่าง ส่วนหางขมวดห้อยตกลงเบื้องล่าง ไม่มีการแกะสลักเกล็ดหรือตกแต่งลวดลายใด ๆ  

ชาวผู้ไทบ้านจุมจังมีภาษาพูดเป็นของตนเองคือภาษาผู้ไท แต่ไม่มีภาษาเขียน ฉะนั้นจึงใช้อักษรไทยกลางในการเขียนเพื่อติดต่อสื่อสาร 

ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยกลาง (ใช้ติดต่อราชการ) 

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง


เนื่องด้วยผลกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งผลักดันเศรษฐกิจไทยไปสู่เวทีเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้วิถีการทำนาของเกษตรกรไทยเกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายรวมถึงเกษตรกรชาวผู้ไทบ้านจุมจังด้วย ในอดีตชาวนาจะทำนาด้วยวิธีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มีวัฒนธรรมการลงแขกช่วยเหลือสมาชิกในชุมในการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยผลิตที่ได้จะเก็บไว้สำหรับบริโภคตลอดทั้งปี และแบ่งออกจำหน่ายส่วนหนึ่งเพื่อสร้างรายได้ ทว่าปัจจุบันวัฒนธรรมการลงแขกเริ่มสูญหาย เนื่องจากการทำนามิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลักดังเดิม แต่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุตสาหกรรมตามนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้ชาวนาต้องหันไปพึ่งพาเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและเพิ่มผลผลิต ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นเท่าตัว อีกทั้งยังเป็นตัวแปรสร้างในการสร้างระยะห่างระหว่างสมาชิกในชุมชนอีกด้วย  


บ้านจุมจังมีสถานศึกษาที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ และโรงเรียนจุมจังอุปกรณ์เจริญเวทย์ 

โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ 

โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ เป็นโรงเรียนประจำชุมชนและตำบลจุมจัง เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยความร่วมมือของชาวตำบลจุมจังและตำบลเหล่าไฮงาม ที่ได้บริจาคเงินทุน ที่ดิน วัสดุต่าง ๆ รวมถึงแรงกายและแรงใจก่อสร้างโรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ขึ้นมา แรกเริ่มเป็นเพียงโรงเรียนชั่วคราว แยกสาขาจากโรงเรียนบัวขาว โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบัวขาว สาขาจุมจัง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 จึงได้รับประกาศแต่งตั้งเป็น “โรงเรียนจุมจังประชาราษฎร์” 

โรงเรียนจุมจังอุปกรณ์เจริญเวทย์ 

โรงเรียนจุมจังอุปกรณ์เจริญเวทย์ ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2462 เริ่มแรกอาศัยพื้นที่ภายในวัดเก่ากลางเป็นอาคารเรียน ต่อมาปี พ.ศ. 2488 ได้ย้ายโรงเรียนมาที่บ้านสันติสุข ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน มีการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบและภายในโรงเรียนเรื่อยมา อาทิ การสร้างกำแพงล้อมรอบโรงเรียน สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ซุ้มประตู พระพุทธรูปบูชาประจำโรงเรียน เป็นต้น ปัจจุบันโรงเรียนจุมจังอุปกรณ์เจริญเวทย์เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล1-ประถมศึกษาปีที่ 6 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คำพันธ์ ยะปะตัง. (2555). ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

นิตยา เดชโคบุตร นุจรี ใจประนบ และพุทธิพงษ์ หงษ์ทอง. (2560). ทุนทางสังคมของชาติพันธุ์ผู้ไทเพื่อการพัฒนา: กรณีศึกษาบ้านม่วงไข่ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารช่อพะยอม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 28(2), 290-294. 

ปฏิภาณ พานทอง. (2562). บทเล่าขานตำนานชนชาว “จุมจัง”. [ออนไลน์]. ได้จาก:  http://www.thaischool1.in.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565].

เทศบาลจุมจัง โทร. 0-4384-0341