ชุมชนตลาดโพธาราม เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ถือเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมานานตั้งแต่ครั้งอดีต ภายในชุมชนมีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ อาคารไม้ และอาคารโบราณอายุหลายร้อยปี ทั้งยังมีศาสนสถานที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน ได้แก่ วัดโพธิ์ไพโรจน์ วัดโชค และวัดไทรอารีรักษ์ นอกจากนี้ ยังมีเต้าหู้ดำ เป็นเมนูเด่นของชาวโพธาราม
ชุมชนตลาดโพธาราม เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ถือเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมานานตั้งแต่ครั้งอดีต ภายในชุมชนมีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ อาคารไม้ และอาคารโบราณอายุหลายร้อยปี ทั้งยังมีศาสนสถานที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน ได้แก่ วัดโพธิ์ไพโรจน์ วัดโชค และวัดไทรอารีรักษ์ นอกจากนี้ ยังมีเต้าหู้ดำ เป็นเมนูเด่นของชาวโพธาราม
โพธารามเดิมเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองและเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอโพธาราม ต่อมาได้ขยายตัวเติบโตขึ้นจนยกฐานะเป็นการปกครองในรูปสุขาภิบาล หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 แล้วได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาล เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2478 มีเนื้อที่ 2.65 ตารางกิโลเมตร มีอาคารสำนักงานตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองใกล้ๆ กับที่ว่าการอำเภอโพธารามและสถานีตำรวจอำเภอโพธาราม
ต่อมาทางราชการได้พัฒนาเส้นทางคมนาคมให้มีถนนติดต่อกับจังหวัด อำเภอใกล้เคียงและติดต่อถึงกรุงเทพมหานคร การคมนาคมทางน้ำจึงได้ลดความสำคัญลงไป เป็นเหตุให้การสัญจรไปมาบริเวณที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาลและสถานีตำรวจซบเซาลงไป ความเจริญในด้านการค้าและอาคารบ้านเรือนจึงขยายมาตั้งอยู่ทางด้านสถานีรถไฟและตามแนวถนนสายต่างๆ เนื่องจากกระแสน้ำในแม่น้ำแม่กลองไหลเซาะตลิ่ง ทำให้ดินริมตลิ่งพังไปเป็นอันมาก
ตลาดโพธาราม ถือว่าเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมานาน ดังปรากฏในหลักฐานบันทึกพระราชหัตถเลขาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า “ตำบลโพธารามนี้เป็นตลาดอย่างสำเพ็ง ยืดยาวมาก ผู้คนหนาแน่น จำนวนคนในโพธารามมีถึง 40,000 มากกว่าอำเภอราชบุรีเสียอีก”
พื้นที่ตลาดโพธารามดั้งเดิมแบ่งออกเป็นสามส่วน แต่ละส่วนก็มีความต่างกันไป เช่น ตลาดบน ในอดีตเป็นชุมชนที่ผลิตฟูกและที่นอนเพื่อส่งขาย หลักฐานที่ยังพอพบเห็นเหลือเพียงป้ายนามร้านค้า “ที่นอนราชา” คือ ป้ายของร้านทำที่นอนที่มีชื่อเสียงของตลาดโพธาราม คนในท้องถิ่นต่างร่ำลือถึงความประณีตในการทำที่นอน จนทำให้ชาววังต้องมาสั่งทำกัน
ตลาดกลาง เป็นตลาดสดที่ยังคงคึกคัก มีชาวโพธารามและคนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาจับจ่ายซื้อของกัน และส่วนสุดท้าย คือ ตลาดล่าง ในอดีตพื้นที่ตลาดล่างมักทำน้ำปลาขายเป็นส่วนใหญ่ ปลาที่ใช้เป็นปลาน้ำจืดที่หาได้จากในท้องถิ่น แต่ที่นิยมนำมาทำน้ำปลามากที่สุด คือ ปลาสร้อย ปัจจุบันนี้เหลือเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงสืบทอดกิจการต่อจากบรรพบุรุษ
ชุมชนตลาดโพธารามห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธาราม ประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 50 กิโลเมตร และห่างจากรุงเทพมหานคร ประมาณ 83 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนตลาดโพธาราม สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนวัดไทรฯ เขต 1
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แนวเขตเทศบาลเมืองโพธาราม, ทางรถไฟ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทางรถไฟ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำแม่กลอง, ชุมชนวัดโพธิ์ไพโรจน์, แนวเขตเทศบาลเมืองโพธาราม
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
อำเภอโพธารามมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำ มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านและอยู่ในเขตชลประทาน บริเวณตัวเมืองโพธารามเป็นที่ตั้งของ “ตลาดเก่าโพธาราม” และชุมชนตลาดโพธาราม แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ตลาดบน ตลาดกลาง ตลาดล่าง และชุมชนตลาดโพธารามก็มีการแบ่งเช่นเดียวกัน คือ ชุมชนตลาดบน ชุมชนตลาดกลาง และชุมชนตลาดล่าง พื้นที่ทั้งสามส่วนยังคงปรากฏเรือนแถวไม้เก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ให้เห็นอยู่ โดยบางส่วนเปิดเป็นร้านค้า พิพิธภัณฑ์ และบางส่วนถูกปิดไว้ไม่ได้มีการใช้งาน บริเวณตลาดกลางมีการปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำแม่กลองเป็นเขื่อนคอนกรีตซึ่งสามารถลงไปเดินเล่นริมเขื่อนได้ และเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟโพธารามที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ภายในตลาดเองยังมีกลิ่นอายของความเป็นชุมชนทางรถไฟในอดีต อย่างเช่นตรอกจับกัง จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ ได้ความว่า ตรอกดังกล่าวเป็นห้องเช่าที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนจีนที่อพยพเข้ามาแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” มาหางานที่สถานีรถไฟ ซึ่งต้องการแรงงานจำนวนมากขนสินค้าไปส่งตามร้านค้าในละแวกตลาดและพื้นที่ใกล้เคียง
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านโพธาราม จำนวน 3,766 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 8,295 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 3,960 คน หญิง 4,335 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีอาชีพค้าขายและฐานะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปอยู่ในระดับดี
ภายในตลาดโพธารามประกอบไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ รอบนอกออกไปบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองจะมีคนมอญอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ถัดไปบริเวณทุ่งราบริมฝั่งแม่น้ำจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนลาวที่ตั้งรกรากผสมผสานกับคนไทย
1. ชมรมอย่าลืม..โพธาราม เป็นชมรมของคนท้องถิ่นในตลาดโพธาราม ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 10, 12 และ 14 ถนน โพธาราม ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี บริเวณ “ตลาดบน” หัวมุมถนนท่านัดตัดกับถนนโพธาราม กลุ่มสมาชิกของชมรมฯ เป็นคนในตลาดโพธารามทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่เกิดจนปัจจุบัน การจัดตั้งชมรมฯ อยู่ภายใต้แนวคิด วันวาน คือ อนาคต ใช้วิธีการอนุรักษ์และสร้างคุณค่าให้กับประวัติศาสตร์ เพื่อชักขวนผู้คนจากภายนอกให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมเยือน กิจกรรมที่สำคัญของกลุ่ม คือ การอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยเฉพาะห้องแถวไม้ อาคารโบราณอายุนับร้อยปีที่ยังคงหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากภายในตลาดโพธาราม พร้อมทั้งอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรม เช่น อาหารการกิน หรืองานช่างแขนงต่างๆ
2. ด้านกลุ่มอาชีพ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งขายปลีกและขายส่ง เช่น การรับซื้อและจำหน่ายพืชผัก จำหน่ายปุ๋ย อาหารสัตว์และอุปกรณ์การเกษตร ด้านอุตสาหกรรม เช่น โรงงานทำน้ำปลา โรงงานทำซีอิ๊ว โรงงานทำเส้นหมี่ โรงงานทำที่นอน โรงงานทอผ้า โรงงานทำเกลือป่นและหัวผักกาดดอง โรงงานเพาะถั่วงอก เป็นต้น ส่งขายทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีอาชีพเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตนมสดในประเทศไทย
โพธารามมีประเพณีประจำปีอย่างหนึ่งที่ทำกันมากว่า 100 ปี โดยจะเชิญเทพรูปเคารพจากศาลเจ้าต่างๆ มาตั้งรวมกันในโรงเซ่นไหว้ชั่วคราว เป็นงานกุศลใหญ่โตมีความพร้อมเพรียง มีขบวนแห่ โรงทาน โรงงิ้ว นอกจากนี้ ยังมีงานประเพณีต่างๆ ที่จัดขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมจีนเป็นประจำทุกปี ได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง สารทจีน และเทศกาลกินเจ
1. นายอภิชาต ศิริอุดมเศรษฐ ประธานชมรม อย่าลืม...โพธาราม โดยมีแรงบันดาลใจในการตั้งกลุ่ม เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่ถึงแม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาไปไกลในด้านเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ลืมอดีตของคนเอง สังเกตได้จากการที่ตึกระฟ้าถูกสร้างเคียงคู่กับบ้านเก่าแก่ ซึ่งเป็นภาพที่ชินตาและอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ขัดเขิน
ทุนวัฒนธรรม
1. วิกครูทวี เป็นโรงหนังเก่าแก่ในโพธาราม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มต้นจากครูทวี หรือ ทวี แอคะรัต ได้สร้างห้องโรงหนังขึ้นที่บริเวณตลาดกลาง ก่อนจะย้ายมาตั้ง ณ ที่อยู่ปัจจุบัน โดยเริ่มแรกเป็นห้องแถวไม้ ตั้งจอไว้ทางทิศเหนือ มีเก้าอี้ไม้ยาว ประตูบานเฟี้ยว จากนั้นจึงได้สร้างเป็นอาคารแบบที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2501 นับเป็นอีกสิ่งก่อสร้างหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของโพธารามเมื่อครั้งอดีตได้ วิกครูทวี ดำเนินกิจการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปิดตัวลงเมื่อปี พ.ศ.2541 แต่อุปกรณ์เกี่ยวกับการฉายหนังและฟิล์มต่างๆ ยังอยู่ครบ จนในภายหลังมีการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้เป็นศูนย์ทำกิจกรรม
2. วัดโพธิ์ไพรโรจน์ ตั้งอยู่เลขที่ 44/1 ถนนโพธิไพโรจน์ ตำบล โพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 29 ไร่ อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2476 เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็กทรงไทย ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ.2465 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2463 เป็นอาคารไม้ทรงไทย กุฎิสงฆ์ จำนวน 5 หลัง เป็นอาคารไม้ 3 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493 ศาลาอเนกประสงค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2543 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจานี้มีหอระฆัง 1 หลัง ฌาปนสถาน 1 หลัง โรงครัว 3 หลัง ศาลา 1 หลัง ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ 1 องค์ พร้อมพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระพุทธรูปนาม “หลวงพ่อสุโขทัย”
วัดโพธิไพโรจน์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2468 การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระสุด รูปที่ 2 พระหงส์ รูปที่ 3 พระปลอด รูปที่ 4 พระวินัยธรเชียง ธมมสโร รูปที่ 5 พระครูโพธาภิรักษ์ ปัจจุบัน พระครูสมุสังวาล์ การศึกษามีโรงเรียน พระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2492
3. วัดโชค ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2323 เดิมมีชื่อว่า วัดบ้านใหม่ ผู้สร้างวัด ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ตั้งอยู่ริม ฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ด้านทิศตะวันออก ในสมัยที่พระครูธรรมเสนานี (แจ่ม จนทสโร) เจ้าอาวาส รูปที่ 4 พ.ศ. 2429 ท่านได้พัฒนาวัดด้านศาสนวัตถุ ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือแก่เด็ก และสร้างสาธารณประโยชน์ ต่าง ๆ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา วชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชรูปที่ 10 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ วัดบวรนิเวศวิหารได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี และได้ เสด็จมาแวะพักที่วัดบ้านใหม่ และท่านได้ทรงเปลี่ยนชื่อวัดบ้านใหม่ เป็น “วัดโชค” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2458 ซึ่งได้ทรงลงราชหัตถเลขาให้ไว้เป็นสำคัญ พร้อมทั้งได้ทรงแต่งตั้งให้ พระครูธรรมเสนานี (แจ่ม จนทสโร) เป็นเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีด้วย นับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่วัดโชค ในสมัยพระครูวิทยาวรคุณเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ใน พ.ศ. 2466 ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในปี พ.ศ. 2475 จัดตั้งโรงเรียนทอผ้า ปี พ.ศ.2466 จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาชื่อว่าโรงเรียนวัดโชค ในสมัยเจ้าอาวาสรูปที่ 7 คือ พระครูพิพัฒน์รัตโนภาส ท่านได้พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด ทั้งอุโบสถ วิหารศาลาการเปรียญ และยังสร้างพระประธานพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา สูง 9 วา ประดิษฐานที่บริเวณหน้าอุโบสถ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 16 เมตร ยาว 26 เมตร การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2475
4. วัดไทรอารีรักษ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี วัดไทรอารีรักษ์เป็นวัดของชาวมอญ ซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในแถบริมแม่น้ำแม่กลอง ในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม สร้างขึ้นเมื่อประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่อว่า วัดวิหาร ภาษารามัญ เรียกว่า “เพี้ยชาย” สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่
- อุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน สร้างอย่างท้องถิ่นภาคกลางภายนอกและภายในมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย
- วิหาร ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน หน้าบันประดับกระจกลวดลายพันธุ์พฤกษา ภายในวิหารประดิษฐานมีซุ้มทรงจีนคลุมรอยพระพุทธบาท มีการเขียนจิตรกรรมลวดลายและเรื่องราวอย่างจีนประดับอยู่โดยรอบ
- หอระฆัง ลักษณะเป็นอาคารยกพื้นสูง สิ่งสำคัญของหอระฆังนี้ คือ บริเวณไม้คอสองจะมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพพุทธประวัติ และภาพหม่าเหมี่ยว แสดงภูมิทัศน์ของบ้านเรือนแบบตะวันตก เป็นภาพจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4-5
- เจดีย์ราย ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อเป็นแถวภายในลานพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่า คงมีการนำรูปแบบของเจดีย์ที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ 3 กลับมาสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5
5. อาหาร เต้าหู้ดำ เป็นเมนูเด่นของโพธาราม เต้าหู้ดำคือ เต้าหู้ขาวที่ทำมาจากถั่วเหลืองแม้ 100% ไม่มีส่วนผสมของแป้ง เหมือนกับโรงงานเต้าหู้อื่นๆ ต้มในน้ำพะโล้โดยส่วนผสมที่ใช้ ประกอบไปด้วย ผงพะโล้ และน้ำตาลทราย เกลือทะเล อบเชย โป๊ยกั๊ก โดยไม่มีการใส่สารกันบูดแต่อย่างใด เทคนิคการต้มอยู่ที่การใช้ไฟปานกลางและใช้เวลาต้มนานถึง 3 วัน จนน้ำพะโล้เข้าเนื้อจึงนำมาวางขาย
ในชุมชนตลาดโพธาราม มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น ร้านตัดเย็บรองเท้าด้วยมือใช้หุ่นไม้ ร้านขายยาโบราณ ร้านบัดกรีเครื่องสังกะสี โรงเพาะถั่วงอก ร้านทำเส้นบะหมี่ โรงน้ำปลา และโรงเต้าหู้
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.
กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว. (2561). “โพธาราม” เมืองเล็กมากเสน่ห์ อวลกลิ่นอายตลาดเก่าเล่าเรื่องราวงานศิลป์ล้ำค่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9610000058899.
จิรนันท์ คอนเซพซิออน. (2563). รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ตอนที่ 2 วัดมอญ : วัดไทรอารีรักษ์ (ตอนจบ). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/promotion/view/22650รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลองตอนที่-๒วัดมอญ--วัดไทรอารีรักษ์-ตอนจบ-.
เทศบาลเมืองโพธาราม. ข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก http://photharam.go.th/public.
ปกรณ์ คงสวัสดิ์. (2553). “อย่าลืม...โพธาราม” ชมรมของคนท้องถิ่นกับการเคลื่อนไหวภาคสังคม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=564.
สุธน สุขพิสิษฐ์. (2563). ของดีโพธาราม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://readthecloud.co/photharam-foods-ratchaburi.