Advance search

บ้านช่างหล่อ

ชุมชนหัตถกรรมอันลือชื่อในด้านการประดิษฐ์หรือหล่อพระพุทธรูป ที่ได้สืบทอดต่อกันมายาวนานกว่า 700 ปี

บ้านช่างหล่อ
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
วิภาพร บำรุงเกตุ
21 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 เม.ย. 2023
บ้านช่างหล่อ


ชุมชนหัตถกรรมอันลือชื่อในด้านการประดิษฐ์หรือหล่อพระพุทธรูป ที่ได้สืบทอดต่อกันมายาวนานกว่า 700 ปี

บ้านช่างหล่อ
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
10700
สำนักงานเขตบางกอกน้อย โทร. 0-2424-0056
13.75916
100.4748
กรุงเทพมหานคร

บรรพบุรุษของชุมชนบ้านช่างหล่อ เป็นชาวกรุงเก่าที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 กล่าวคือ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กู้อิสรภาพได้แล้วก็ทรงรวบรวมผู้คนจากกรุงศรีอยุธยามาที่ธนบุรี เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าโจมตียากแก่การบูรณะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้สถาปนาเมืองหลวงใหม่ คือ กรุงธนบุรี กรุงธนบุรีเป็นพื้นที่บริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมไหลอ้อมจากปากคลองบางกอกใหญ่จนถึงปากคลองบางกอกน้อย เดิมเป็นที่ดินรูปเกือกม้า เป็นที่ดอนสะสมตะกอน ดินที่เหมาะสมต่อการตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ผู้คนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาก็ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเหมือนกับสมัยที่อยู่ที่กรุงศรีอยุธยาโดยอยู่รวมกันเป็นชุมชนต่าง ๆ ตามลักษณะการประกอบอาชีพ เช่น การปลูกผลไม้ ก็จะรวมกันเป็นชุมชน อาทิ การปลูกส้มเขียวหวานก็จะอยู่รวมกันที่บางมด ปลูกลางสาดก็จะอยู่รวมกันที่คลองสาน ปลูกละมุดสีดาก็จะอยู่รวมกันที่ราษฎร์บูรณะ ปลูกฝรั่งก็อยู่รวมกันที่บางเสาธง ปลูกลำไยก็รวมกันอยู่ที่บางน้ำชน ปลูกกระท้อนก็รวมกันอยู่ที่คลองอ้อม ปลูกเงาะก็รวมกันอยู่ที่บางยี่ขัน ปลูกลิ้นจี่ก็รวมกันอยู่ที่บางอ้อ ชุมชนบ้านบุก็ประกอบอาชีพทำเครื่องทองลงหุ่น ชุมชนบ้านขมิ้นก็ทำขมิ้นผงสำหรับย้อมจีวรพระ

บรรพบุรุษของชาวบ้านช่างหล่อเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา มีอาชีพหล่อพระพุทธรูปมาแต่เดิมภายหลังเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าและได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้อพยพตามมาด้วย และได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในละแวกตรอกบ้านช่างหล่อ (เขตบางกอกน้อย) และได้ดำเนินอาชีพปั้นและหล่อพระพุทธรูปสืบมา เดิมชาวบ้านช่างหล่อมีอาชีพเดียวกันหมด และเป็นเครือญาติพี่น้องสืบสกุลต่อเนื่องกันมา อาทิ สกุลพวกช่างปั่น ช่างหล่อ ช่างเททอง ช่างขัด ช่างลงรักปิดทอง ช่างติดกระจก ชาวบ้านช่างหล่อมีความสามัคคีกัน เมื่อบ้านใครรับงานใหญ่ ๆ มาบ้านอื่นจะมาร่วมงานช่วยกันทำได้ผลงานที่สวยงาม ช่างแต่ละสกุลร่วมงามกันด้วยดีเพราะต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านร่วมกัน

ในชุมชนบ้านช่างหล่อเป็นที่รวมของช่างปั้นและหล่อพระพุทธรูปหลายตระกูล เช่น พระเทพรจนา (สิน ปฎิมากร) เจ้ากรมช่างสิบหมู่ ช่างเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 ต้นตระกูลปฎิมากรท่านได้สืบทอดงานปั้นหล่อพระพุทธรูปให้แก่บุตร ธิดา และตกทอดมาจนถึงรุ่นหลาน คือ นายพิมานมูลประมุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม (ทัศนศิลป์) พ.ศ. 2530, ครูสุขอยู่มั่น, นายพร้อม บูรณะธน, นายเปลื้อง แจ่มใส, นายผัน, นางมูล ทรัพย์ปกรณ์ และนายฟุ้ง อันเจริญ ในการปั้นหล่อพระพุทธรูป ช่างหล่อของชุมชนบ้านช่างหล่อมีผลงานที่มีชื่อเสียงมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในยุคต่อ ๆ มาช่างของบ้านช่างหล่อยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิธีการปั่นและหล่อให้ทันสมัย โดยการนำวิธีการใหม่ ๆ มาผสมผสานกับวิธีการเดิมที่เคยทำในบ้านช่างหล่อกรรมวิธีในการหล่อพระพุทธรูปแบบเดิมของบ้านช่างหล่อ การหล่อพระพุทธรูปมีกรรมวิธี 2 ขั้นตอน คือ การปั้น และการหล่อ พระพุทธรูปเป็นงานที่ต่อเนื่องกัน หากทำด้วยช่างคนเดียวกันจึงจะดี เพราะช่างคนเดียวเป็นผู้เริ่มปั้นหุ่นชั้นใน วาดพระพักตร์ และส่วนต่าง ๆ ของพระพุทธรูป ควบคุมการเททองตลอดจนการเทตกแต่งหลังการหล่อ ผลงานที่ปรากฏจะสมบูรณ์แบบ

จุดประสงค์ในการหล่อพระ การหล่อพระในสมัยก่อนมีจุดประสงค์ คือ 1.เป็นพุทธบูชา 2.รำลึกถึงศาสนาหรือสืบทอดพระพุทธศาสนา และ 3.อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ การหล่อพระในปัจจุบันมีจุดประสงค์ คือ (1) การค้า (2) รำลึกถึงศาสนาหรือสืบทอดพระพุทธศาสนา (3) สะเดาะเคราะห์สืบชะตาอาชีพนี้ 

ชุมชนบ้านช่างหล่อทำพระพุทธรูปมาหลายชั่วอายุคนและมีหลายตระกูลได้ประกอบอาชีพนี้ แต่ปัจจุบันช่างที่จะทำพระพุทธรูปได้ทุกขั้นตอนและเป็นช่างแท้ ๆ นั้นหายาก เนื่องจากช่างฝีมือเอกได้เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว โรงหล่อที่ยังดำเนินกิจการอยู่นั้นส่วนมากลูกหลานจะเป็นผู้ดำเนินการแต่มิได้เป็นช่างอย่างบรรพบุรุษ เนื่องจากมิได้ลงมือทำเองแต่ได้จ้างช่างเป็นผู้ทำในแต่ละขั้นตอน ส่วนตนเองจะเป็นผู้ดำเนินการในฐานะเจ้าของ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังพอมีช่างสืบทอดอาชีพการหล่อพระอยู่บ้าง ได้แก่ ช่างตระกูลหล่อ พึ่งปรีดา คือ ช่างกระสวย พึ่งปรีดา

ชุมชนบ้านช่างหล่อในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างถนนอรุณอัมรินทร์กับถนนอิสรภาพช่วงที่ติดกับถนนพรานนก มีซอยแยกจากถนนพรานนก มีชื่อซอยว่า ‘บ้านช่างหล่อ’ อยู่ใต้โรงพยาบาลศิริราชลงมา ประกอบอาชีพหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นงานช่างหล่อของคนไทยที่ได้ทำสืบทอดต่อกันมาไม่ต่ำกว่า 700 ปี มาแล้ว

ชุมชนบ้านช่างหล่อตั้งอยู่ในซอยบ้านช่างหล่อ ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ขนาดเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ แขวงบางขุนศรีและแขวงศิริราช มีถนนจรัญสนิทวงศ์ทางรถไฟสายใต้ คลองวัดทอง และถนนสุทธาวาสเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แขวงศิริราช มีถนนอิสรภาพ ถนนวังหลัง และคลองบ้านขมิ้นเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ แขวงวัดอรุณและแขวงวัดท่าพระ (เขตบางกอกใหญ่) มีคลองมอญเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แขวงบางขุนศรี มีถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นเส้นแบ่งเขต

การคมนาคม

เส้นทางคมนาคมปัจจุบัน คือ ทางบกและทางน้ำ ภายในชุมชนจะมีถนนปูนซึ่งเป็นเส้นทางเดินรถทางเดียวเชื่อมโยงถึงกันภายในชุมชนและเชื่อมต่อถนนเส้นรอบนอกชุมชน ได้แก่ ถนนพรานนก ถนนอิสรภาพ และถนนอรุณอัมรินทร์ โดยมีรถประจำทางผ่านหลายสาย เช่น สาย 19, 57, 81, 91, 146, ปอ.91, 177 เป็นต้น ส่วนการคมนาคมทางน้ำ มีท่าเรือวังหลังเป็นทั้งท่าเรือข้ามฟากไปยังท่าพระจันทร์ และท่าช้าง รวมไปถึงท่าเรือด่วน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลชุมชนนัก

ลักษณะบ้านเรือน

ชุมชนบ้านช่างหล่อเป็นชุมชนขนาดกลาง ค่อนข้างแออัดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยและพื้นที่ เนื่องจากมีหอพักจำนวนไม่น้อย ตึกแถวเพื่อทำการค้าและอยู่อาศัย บางบ้านอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่อยู่เป็นครอบครัวขยาย ซึ่งมีพื้นที่พอประมาณและสร้างบ้าน 2 - 3 หลังอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน

ประชากร

จำนวนประชากรในชุมชนบ้านช่างหล่อ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อยกรุงเทพฯจำนวน 750 คน แบ่งเป็นหญิงจำนวน 450 คน ชายจำนวน 300 คน จำนวนบ้าน 265 หลัง อยู่บนพื้นที่ชุมชน 15 ไร่ จัดเป็นชุมชนแออัดตามคำนิยามใหม่ของประเภทชุมชน

ลักษณะครอบครัวและเครือญาติ

ชุมชนบ้านช่างหล่อแต่เดิมเชื่อว่าเป็นเครือญาติกันจากอยุธยาในปัจจุบันมีการโยกย้ายถิ่นฐานไปมาของประชากรจำนวนมาก ทั้งย้ายออกและย้ายเข้ามาของคนจากถิ่นอื่นตลอดเวลาเนื่องจากมีหอพักจำนวนมาก มีคนชุมชนดั้งเดิมไม่กี่หลังคาเรือน ซึ่งก็มีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจะให้ความสำคัญกับระบบเครือญาติ ระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนบ้านทั้งชาวบ้านดั้งเดิมและผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในรอบปีของผู้คนบ้านช่างหล่อมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีที่สำคัญของชาวบ้านช่างหล่อ ก็คือ วันสงกรานต์ โดยมีการจัดทุกปีมาช้านานแล้ว โดยช่วงวันขึ้นปีใหม่ของไทยนี้ ในวันแรกชุมชนจะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าบริเวณลานหน้าศาลาแดง โดยนิมนต์พระจากวัดใกล้เคียงมารับบิณฑบาต ต่อจากนั้นจะมีพิธีสรงน้ำพระ คือ หลวงพ่อปู่ และพระวิษณุกรรมซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านช่างหล่อ พิธีห่มผ้าต้นโพธิ์ รดน้ำผู้สูงอายุ ทำบุญเลี้ยงเพลพระ และตอนบ่ายจะมีขบวนแห่และการเล่นพื้นบ้านคือการทอยสะบ้า ซึ่งชาวบ้านช่างหล่อจากเล่นเป็นประจำทุกปี

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การถือครองที่ดิน ที่ดินของชุมชนเป็นส่วนตัวการประกาศอาชีพในอดีตแทบทุกหลังคาเรือนจะประกอบอาชีพเททองหล่อพระ แต่หลังจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมและทางราชการประกาศให้พื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่ควบคุมมลภาวะทางอากาศ การเททองหล่อพระภายในชุมชนก็ค่อย ๆ หายไปจากพื้นที่เดิม และโยกย้ายไปที่ต่าง ๆ ประชากรส่วนใหญ่จึงออกไปทำงานนอกชุมชน ได้แก่ ราชการ บริษัท ค้าขาย และอื่น ๆ โดยจะไปทำงานตอนเช้าและกลับมาตอนเย็น ใช้เวลาอยู่บ้านเฉพาะตอนกลางคืนและวันหยุดราชการ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะประกอบอาชีพในชุมชน เช่น ค้าขาย เย็บผ้า เสริมสวย และงานหัตถกรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การหล่อพระ โดยการขึ้นหล่อพระพุทธรูปของชุมชนบ้านช่างหล่อสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของการปั้นหล่อพระพุทธรูปของชุมชนบ้านช่างหล่อ คือ กรรมวิธีและขั้นตอนในการหล่อพระพุทธรูป โดยแต่ละขั้นตอนจะมีการนำเอาวัสดุธรรมชาติมาใช้ ซึ่งต่อมาเมื่อวัสดุดังกล่าวหายากหรือมีราคาแพงชาวบ้านในชุมชนก็จะใช้ภูมิปัญญาสรรหาวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงและ หาง่ายกว่ามาทดแทนยกตัวอย่างเช่น ในสมัยโบราณชาวบ้านช่างหล่อจะนิยมใช้ดินเหนียวจากอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ที่เรียกว่า ‘ดินขี้งูเหลือม’ มาใช้ผสมกับทรายมอญจากอำเภอบางพูด จังหวัดนนทบุรี เพื่อใช้ขึ้นขึ้นหุ่นพระ แต่ต่อมาวัสดุทั้งสองอย่างหายากขึ้น เนื่องจากมีผู้คนอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งวัสดุเหล่านี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวชาวชุมชนก็ได้ใช้ประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ค้นหาวัสดุที่จะนำมาทดแทน ซึ่งในที่สุดชาวชุมชนบ้านช่างหล่อก็ได้หันไปใช้ดินเหนียวจากอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่หาได้ง่ายกว่าแทน ส่วนทรายก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากทรายมอญมีราคาค่อนข้างสูงและหายาก ชาวชุมชนได้หันไปใช้ทรายที่ใช้ในการก่อสร้างแทน โดยนำทรายก่อสร้างมาร่อนและเลือกใช้เฉพาะทรายขนาดกลาง เพราะทรายก่อสร้างจะมีขนาดเม็ดใหญ่กว่าทรายมอญ

เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของการปั่นหล่อพระพุทธรูปของชุมชนบ้านช่างหล่อก็คือ การหล่อพระพุทธรูปโดยด้านในกลวง และมีเนื้อโลหะที่บาง ซึ่งการหล่อพระพุทธรูปให้มีด้านในกลวงไม่ทึบตันเหมือนกันประติกรรมของชาติตะวันตก ถือว่าเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ซึ่งเทคนิคการหล่อพระพุทธรูปให้ด้านในกลวงก็เกิดขึ้นจากการที่ชาวชุมชนบ้านช่างหล่อสามารถนำเอาวัสดุที่มีคุณสมบัติต่างกันมาใช้ในขั้นตอนการหล่อได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างการเข้าขี้ผึ้งบนตัวหุ่นก่อนที่จะทำการดอกทอยและหุ้มทับด้วยดิน แล้วใช้ความร้อนสำรอกเอาขี้ผึ้งออกมา ซึ่งเมื่อสำรอกเอาขี้ผึ้งออกมาก็จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหุ่นต้นแบบด้านในกับดินที่หุ้มด้านนอก จากนั้นจึงค่อยเอาโลหะที่จะใช้ในการหล่อพระพุทธรูปเทลงไปในช่องว่างดังกล่าว ดังนั้นจึงทำให้ไม่สิ้นเปลืองโลหะในการหล่อและจะได้พระพุทธรูปที่มีความงดงามอีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของการปั่นหล่อพระพุทธรูปของบ้านช่างหล่อทางอ้อมก็คือ วิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการขึ้นหล่อพระของชาวชุมชน กล่าวคือชาวชุมชนบ้านช่างหล่อจะถ่ายทอดความรู้ในการปั้นหล่อตามสายเลือด เนื่องจากชาวชุมชนบ้านช่างหล่อได้ประกอบอาชีพขึ้นหล่อพระมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งแต่ละช่วงอายุก็จะมีการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานที่เกิดจากการลองผิดลองถูกจนกระทั่งพบกรรมวิธีที่เหมาะสม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล



วัฒนธรรมชุมชนบ้านช่างหล่อในปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยการประกอบอาชีพช่างหล่อได้ลดน้อยลง เนื่องจากบริเวณที่ชุมชนตั้งอยู่ในอดีตนั้นปัจจุบันที่ดินมีราคาแพงมากขึ้น ชุมชนกลายเป็นชุมชนเมืองมีผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างมากประกอบการหล่อพระนั้นต้องอาศัยพื้นที่ที่กว้างแต่ไม่สามารถขยายได้เพราะราคาที่ดินแพง และประการสำคัญ คือ การหล่อพระนั้นมีควัน มีกลิ่น มีละอองและมีเสียงดัง มีควัน เนื่องจากการหลอมทอง ในขณะที่เททองก็จะมีกลิ่นเหม็นของขี้ผึ้ง ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ละลายขี้ผึ้งและมีฝุ่นละอองจากการเททอง ส่วนเสียงดังเกิดจากตกแต่งทองเหลืองจึงทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีการผลักดันให้ไปตั้งโรงหล่อพระพุทธรูปในบริเวณเขตปริมณฑล ได้แก่ เขตอำเภอลาดหลุมแก้วจังหวัดปทุมธานี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามจัดให้เป็นเขตของการหล่อพระ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันที่ซอยบ้านช่างหล่อส่วนจึงเป็นเพียงสำนักงานติดต่อในการหล่อพระ หรือทำพระพุทธรูปขนาดเล็ก หรือเป็นที่ปั้นพระพุทธรูป แต่พอเวลาเททองหล่อพระและตกแต่งจะต้องไปทำที่อื่นโรงงานที่ยังคงมีอยู่ต่อไปจะต้องเคลื่อนย้ายออกไปเหลือเพียงสำนักงานติดต่อเท่านั้น


ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วิถีชีวิตความอยู่ของคนในชุมชนค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงทั้งที่พักอาศัย และการสัญจร ซึ่งแต่ก่อนนิยมใช้ทางน้ำแต่ด้วยคลองบ้านช่างหล่อตื้นเขินจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งขยะมูลฝอย สภาพพื้นที่ การรุกล้ำถมที่ดิน ฯลฯ ชาวบ้านบริเวณบ้านช่างหล่อ และชาวบ้านใกล้เคียงจึงเปลี่ยนมาใช้เส้นทางบกซึ่งสะดวกกว่าซึ่ง มีรถม้า รถลาก จนมาเป็นรถยนต์ตามลำดับ และสวนต้นไม้ก็ถูกตัดโค่นลงเพื่อทำเป็นตึกอาคารร้านค้า บ้านสำหรับพักอาศัย ซึ่งก็จะมีคนโยกย้ายมาจากที่อื่นจำนวนไม่น้อย เพราะพื้นที่บริเวณนี้สะดวกและใกล้สถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระบรมมหาราชวัง กรมศิลปากร ฯลฯ จึงทำให้ชุมชนบ้านช่างหล่อแออัดมากขึ้น คนนอกเข้ามาจำนวนมาก ความถ้อยทีถ้อยอาศัยน้อยลง มีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่เมื่อมีการหล่อพระ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การหล่อพระในชุมชนบ้านช่างหล่อลดน้อยลง พร้อมทั้งเทศบาลกรุงเทพมหานครออกกฎห้ามจุดไฟเผา หล่อพระ หรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟที่ทำให้เกิดมลพิษในชุมชน จึงทำให้การหล่อพระในชุมชนบ้านช่างหล่อต้องโยกย้ายไปตั้งโรงงานที่อื่น รวมไปถึงขาดการสืบทอดภูมิปัญญาสู่รุ่นหลัง จึงทำให้การหล่อพระของชุมชนบ้านช่างหล่อสูญหายไปจากพื้นที่เดิมในที่สุด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พระมหาสาโรช รุ่งเรือง. (2556). แนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการหล่อพระ: กรณีศึกษาชุมชนบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง. (2560). สืบค้นย่านบางกอกน้อยที่สูญหายด้วยการท่องเที่ยวภาคประชาชน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://lek-prapai.org/.

วัฒนะ จูฑะวิภาต. (2544). หัตถกรรมไทย ความเป็นมาและการผลิตในปัจจุบัน ศึกษากรณี: ช่างปั้นหล่อพระ การทำบาตรพระ การทำขลุ่ย และการทำของเล่นไม้ระกำ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.