Advance search

ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม และมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลน 

หมู่ 1 ถนนตราด-แหลมงอบ
บ้านน้ำเชี่ยว
น้ำเชี่ยว
แหลมงอบ
ตราด
ศิริลักษณ์ นาโม
20 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
29 เม.ย. 2023
บ้านน้ำเชี่ยว

พื้นที่ส่วนใหญ่ในชุมชนอยู่ติดทะเล มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก มีคลองขนาดใหญ่ไหลผ่าน ซึ่งคลองนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่เขาวังปลา เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในคลองจะไหลเชี่ยวมาก จึงเป็นที่มาของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว


ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม และมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลน 

บ้านน้ำเชี่ยว
หมู่ 1 ถนนตราด-แหลมงอบ
น้ำเชี่ยว
แหลมงอบ
ตราด
16120
12.1899646665619
102.460703551769
เทศบาลตำบลน้ำเชี่ยว

บ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนที่ก่อตั้งมากกว่า 200 ปี ดังที่ปรากฏหลักฐานคือวัดน้ำเชี่ยวที่เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชม จากเอกสารของสำนักงานพระพุทธศาสนา "หนังสือที่ พ.ศ. 0022/7623 เรื่องรับรองสภาพวัด 26 มิถุนายน 2549" ให้ข้อมูลว่า วัดน้ำเชี่ยวถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2310 จึงสันนิษฐานได้ว่า การตั้งถิ่นฐานของชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2310 หรือก่อนหน้านั้น

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองตราด โดยเฉพาะชาวจีนทั้งที่เข้ามาค้าขายและอพยพหลบหนีความยากจนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นผลมาจากภัยธรรมชาติและผลจากสงครามฝิ่น ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองตราดที่เป็นเมืองทะเลติดทะเลอ่าวไทย ทำให้สามารถเดินทางมาจอดพักเรือได้ เมื่อถึงฤดูมรสุมที่ไม่สามารถเดินเรือได้ พ่อค้าชาวจีนจึงหาที่พักอาศัย เพื่อรอให้สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเดินทาง และมีพ่อค้าชาวจีนบางกลุ่มตัดสินใจตั้งหลักปักฐานในเมืองแห่งนี้ โดยอ้างอิงจากพงศาวดารชาติไทย พระบริหารเทพธานี ได้สันนิษฐานไว้ว่า “เข้าใจว่าแต่เดิมคงจะไปมาระหว่างเมืองจีนกับเมืองไทย โดยเรือสำเภา เรือใบ มีอ่าวก็แวะพักแลค้าขาย เมืองตราดอยู่ระหว่างทาง เมื่อมาค้าขายเห็นทำเลการทำมาหาเลี้ยงชีพดีกว่าบ้านเมืองของตัว จึงได้ขึ้นมาทำมาหากินอยู่แล้วต่อมาก็ชักชวนกันอยู่เรื่อยมาก” ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ชาวจีนพักอาศัยจะอยู่ในหมู่ที่ 1 ชุมชนหัวถนน และหมู่ที่ 3 ชุมชนตลาดน้ำเชี่ยว เพราะพื้นที่ทั้งสองจะมีคลองที่ออกสู่ทะเล เป็นจุดหลบคลื่นลมของเรือเล็กที่ออกทะเลไปทางร่องช้าง (ร่องบริเวณหน้าเกาะช้าง) ชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี้จะนิยมสร้างบ้านเรือนเป็นตึกแถว เพื่อประกอบอาชีพค้าขายเปิดร้านขายของชำหลายราย เช่น แป๊ะกิม เจ๊ไน๊ แป๊ะหัว และสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ข้าวสาร เกลือ น้ำตาลทราย เครื่องเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ชาวจีนยังนิยมทำทองขายอีกด้วย

ในขณะเดียวกันที่การค้าระหว่างสยามและจีนเจริญรุ่งเรือง ได้เกิดสงครามระหว่างสยามกับญวนในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของเขมร ทัพเรือเจ้าพระยาคลัง และทัพบกเจ้าพระยาดินธรได้รับชัยชนะ ญวนและเขมรพ่ายแพ้ในสงคราม ทัพสยามกวาดต้อนเชลยศึกเข้ามาในสยาม โดยเฉพาะทัพเรือเจ้าพระยาคลังได้กวาดต้อนชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ที่เป็นแขกญวนและเขมรให้อยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว

ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 5 ยุคสมัยการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก เขมรตกเป็นประเทศอารักขาของชาติฝรั่งเศส การปกครองที่เปลี่ยนกฎเกณฑ์ทำให้ชาวเขมรบางกลุ่มอพยพเข้ามาในสยาม เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นชายแดนติดกัน โดยเฉพาะชาวมุสลิมเขมรได้หลบหนีจากการบีบบังคับทางด้านศาสนาของฝรั่งเศสเข้ามาอยู่ในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวที่มีพวกพ้องเดิมอยู่แล้ว โดยอ้างอิงจากหลักฐานใบรัชูปการใช้แทนหนังสือเดินทางของนายแอน วิรัญโท ที่ระบุในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวมุสลิมที่อาศัยในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จึงถูกเรียกขานว่า “แขกน้ำเชี่ยว”

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะอาศัยในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 บริเวณริมสองฝั่งคลองบ้านน้ำเชี่ยว จึงนิยมประกอบอาชีพทำประมงในลำคลองและออกเรือในอ่าว โดยใช้เครื่องมือพื้นบ้านแบบง่าย ๆ ในการจับสัตว์น้ำ คือ การทอดแห รุนเคย แทงปลา วางเบ็ด และจับหอยต่าง ๆ เพื่อเป็นอาหารและจำหน่าย จนมีฉายาว่า “พวกเกาะตลิ่งกิน”

ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ประกอบกับสถาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเมืองชายทะเลติดอ่าวไทย ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีฐานะเป็นเมืองท่าที่สำคัญ เพราะเป็นจุดขนถ่ายสินค้า จุดพัก และจุดเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางจากทางน้ำมาเป็นทางบก จนกลายเป็นย่านการค้าที่แลกเปลี่ยนสินค้าทั้งพืชผลไม้ ของดำรงชีพ และสินค้าประมง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2469 เกิดการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างตัวเมืองตราดและชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 8 กิโลเมตร ความเจริญทางด้านการคมนาคมทางบก ส่งผลการเป็นเมืองท่าลดบทบาทลง ซึ่งส่งผลกระทบให้ย่านการค้าต้องซบเซาตาม จนมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการพยายามผลักดันให้ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตำบลแหลมงอบ จังหวัดตราดมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน อำเภอเมืองตราด
  • ทิศใต้ ติดต่อ อ่าวไทย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน อำเภอเมืองตราด
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหญ่ และองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จำนวน 1,336 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 3,201 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,544 คน หญิง 1,657 คน

ในช่วงการพัฒนาศักยภาพของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เทศบาลบ้านน้ำเชี่ยวได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อการท่องเที่ยว 6 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มเรือท่องเที่ยว คือกลุ่มเรือที่คอยบริการเรือท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว มีทั้งการถ่องเรือชมป่าชายเลน เรือตกปลา โดยชาวบ้านที่มีเรืออยู่แล้วและรวมกลุ่มกันในการให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
  • กลุ่มบ้านพักโฮมสเตย์ คือกลุ่มผู้ให้บริการบ้านพักโฮมสเตย์แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแบบค้างคืน โดยเป็นกลุ่มผู้ที่ผ่านการอมรม และมาตรฐานในการทำโฮมสเตย์
  • กลุ่มมัคคุเทศก์ โดยเยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรม ทำการนำชมสถานที่ และกิจกรรมต่าง ๆ
  • กลุ่มอาหาร โดยชาวบ้านที่เข้ามาร่วมกลุ่ม ให้บริการอาหารแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ติดต่อมา
  • กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำกิจกรรมการสาธิตการสานงอบให้แก่นักท่องเที่ยว หรือสาธิตการจับสัตว์น้ำ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ของฝาก กลุ่มนี้จะผลิตสินค้าเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยว สินค้าได้แก่ตังเมกรอบ งอบ และอาหารทะเลแห้ง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. นายศักดิ์ชัย เอี่ยมบุญญฤทธิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลบ้านน้ำเชี่ยวในขณะนั้น เป็นบุคคลสำคัญที่พยายามผลักดันให้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จนแปรสภาพมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด

ประวัติการทำงาน : ประธาน CBT Thailand (ภาคตะวันออก), ประธานกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดตราด, ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว

ทุนวัฒนธรรม

งอบเมืองตราด มีลักษณะด้านหน้าเป็นรูปวงรีแหลมคล้ายสามเหลี่ยม มีปีกยื่นยาวไปทางด้านหลัง ลักษณะรูปทรงของงอบแบบนี้เป็นงอบแบบโบราณ เหมาะกับการใช้สวมใส่เพื่อกันฝนและกันลม โดยงอบชนิดนี้จะมีความลาดเอียง ทำให้น้ำฝนไหลลงสะดวกและไม่ต้านลม ในส่วนของปีกหางที่ยื่นไปด้านหลังยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำฝนเปียกหลังอีกด้วย ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นงอบแบบโบราณเช่นนี้ ส่วนงอบอีกรูปทรงหนึ่งที่ชาวตราดจะเรียกว่า หมวกใบจาก เพราะเป็นการนำใบจากมาเย็บเป็นหมวก เพื่อใช้สำหรับคุมแดดกันฝน แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า งอบน้ำเชี่ยว เพราะมีแหล่งผลิตสินค้าที่สร้างชื่อเสียงของบ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด 1 งอบ เมืองตราดหรือรู้จักกันทั่วไปว่า “งอบน้ำเชี่ยว” นั้น ปัจจุบันได้พัฒนาผลิตให้มีรูปทรงที่มีความหลากหลายมากขึ้น รูปทรงของงอบเมืองตราดมี 5 รูปแบบ ดังนี้

  • งอบรูปทรงกระทะคว่ำ เป็นหมวกใบจากอเนกประสงค์ เพราะนอกจากจะใช้สำหรับกันแดดและกันฝนยังสามารถใช้งานอย่างอื่นได้อีก เมื่อพลิกหมวกให้หงายขึ้นมา จะกลายเป็นภาชนะใส่ของและสามารถลอยน้ำได้
  • งอบทรงกระดองเต่า รูปทรงแบบปีกเว้าคุ้มเข้ามาคล้ายกระดองเต่า เหมาะกับเกษตรกร เพราะตรงส่วนเว้าด้านหน้าจะช่วยให้มองเห็น และส่วนเว้าด้านหลังจะช่วยให้สะดวกในการก้มเงยตอนดำนา 
  • งอบทรงยอดแหลม ลักษณะทรงกรวยแหลม ปากกว้าง เหมาะกับชาวสวนสามารถระบายความร้อนได้ดี ปีกหมวกด้านข้างมีความกว้าง เพื่อป้องกันกิ่งไม้
  • งอบทรงสมเด็จ มีประวัติว่า “เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอสว.มาเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดตราด ณ โรงเรียนบ้านเนินดินแดง อำเภอแหลมงอบ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2524 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านน้ำเชี่ยว ได้นำหมวกใบจากที่ได้ออกแบบทรงนี้ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย และได้พระราชทานชื่อใบจากรูปทรงนี้ว่า ทรงสมเด็จ”
  • งอบทรงกะโหลก รูปทรงเท่าศีรษะ มีกระบังยื่นมาด้านหน้า มีลักษณะคล้ายหมวกภาคสนามของทหาร

วัดน้ำเชี่ยว เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธบ้านน้ำเชี่ยว ที่มีพระบรมสารีริกธาตุและพระประจำวันเกิดปางต่าง ๆ ให้ได้มากราบไหว้บูชา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านน้ำเชี่ยวกับการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนที่ผ่านมา (พ.ศ. 2547 - 2555)

สภาพความซบเซาด้านการค้าของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวดำเนินเรื่อยมาจนปี พ.ศ. 2547 นายศักดิ์ชัย เอี่ยมบุญฤทธิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลบ้านน้ำเชี่ยวในขณะนั้น ได้พยายามผลักดันให้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จนบ้านน้ำเชี่ยวได้ฟื้นตัวจากความซบเซา แปรสภาพมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด โดยมีพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวดังนี้

เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2547 จากการพัฒนาฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรป่าชายเลน บริเวณริมคลองน้ำเชี่ยวที่ถูกรุกล้ำเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยของคนในท้องที่ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน ทำให้เกิดปัญหาป่าชายเลนเสื่อมโทรม โดยทำการพูดคุย สร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านในเรื่องความสำคัญของป่าชายเลน เมื่อชาวบ้านเถิดความเข้าใจจึงทำการขอให้รื้อถอนบ้านที่สร้างในพื้นที่ป่าชายเลน และห้ามสร้างเพิ่มเติมในบริเวณเขตป่าชายเลนกำหนดไว้ คือ บริเวณเกาะลอย เขตหมู่ และได้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชื่อว่ากลุ่มรักษ์คลองน้ำเชี่ยวขึ้น เพื่อทำการรักษาสภาพแวดล้อมในลำคลองน้ำเชี่ยว ทำกิจกรรมปลูกป่า เก็บขยะ ดูแลรักษาความสะอาดในคลองน้ำเชี่ยวประกอบด้วยเยาวชนในหมู่บ้านและประชาชนทั่วไป จะทำการเก็บขยะในคลองทุกวันอาทิตย์ จากนั้นทางเทศบาลตำบลน้ำเชี่ยว ได้จัดสรรงบประมาณเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติ โดยเทศบาลตำบลน้ำเชี่ยวได้ทำเรื่องขออนุญาตจากกรมทรัพยากรธรรมชาติ ในการดูแลพื้นที่ป่าชายเลนในบ้านน้ำเชี่ยว ปริมาณพื้นที่กว่า 30 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของหน่วยทรัพยากรชายฝั่ง

จากโครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ที่เริ่มดำเนินงานดังกล่าวไว้ข้างต้น เทศบาลตำบลน้ำเชี่ยวจึงได้ทำการผลักดันให้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและนำเอาเรื่องเล่า ประวัติความเป็นมาของผู้คนในชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน มาเป็นส่วนหนึ่งในการท่องเที่ยวในชุมชนด้วย ในปี พ.ศ. 2548 โดยการเชิญให้คนเข้ามาชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติและชุมชน ทำการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความน่าสนใจคือ เป็นชุมชนสองศาสนา ประกอบด้วยคน พุทธและมุสลิม ที่อยู่ ร่วมกันอย่างกลมกลืน มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่น่าสนใจ จากการเปิดพื้นที่ให้คนเข้าท่องเที่ยวโดยเริ่มจากหน่วยงาน องค์กรในจังหวัดตราดก่อน ทำให้เป็นที่รู้จักในองค์กรระดับจังหวัด จึงได้ส่งบ้านน้ำเชี่ยวเข้าประกวดโครงการหนึ่งเดียววัฒนธรรมประเพณี ผลการประกวดได้อันดับที่ 42 ถือเป็นแห่งเดียวของจังหวัดตราดที่ได้เข้าประกวด จึงทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้รับความสนใจ จากบุคคลภายนอกเข้าทำการถ่ายทำ รายการ เผยแพร่บ้าง ถือเป็นการเปิดตัวการท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวที่ประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจังต่อมา

ในปี พ.ศ. 2549 เทศบาลตำบลน้ำเชี่ยวได้ทำการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยสร้างทางเดินศึกษาป่าชายเลน หอดูนก และทำแผ่นป้ายข้อมูลความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน เพื่อให้เป็นศูนย์ศึกษาทางธรรมชาติ โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีพา ทำการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในด้านการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยการทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ นำสื่อทั้งออน ไลน์ และออฟไลน์มาประชาสัมพันธ์ เช่น ถ่ายทำสารคดีการท่องเที่ยวแนะนำชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นอกจากนี้ยังได้ส่งเข้าร่วมประกวด และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 80 ของผู้ชนะเลิศหมู่บ้านท่องเที่ยว ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP village) ประจำปี ซึ่งคัดเลือกจากหมู่บ้านที่มีผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่โดดเด่นและมี ศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคือ งอบซึ่งเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ของตำบลบ้านน้ำเชี่ยว อันเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง รู้จักกันดีในนามของงอบน้ำเชี่ยว และยังได้รับรางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (OVC) อีกด้วย ทำให้การท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวเป็นที่รู้จัก และได้รับความสนใจ แพร่หลายขึ้น และทำให้นายกเทศมนตรีและกลุ่มผู้ดำเนินงาน ได้ไปศึกษาดูงานค้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้นำแนวคิดเรื่อง home stay เข้ามา ซึ่งเริ่มแรกนั้นทำการชักชวนบ้านที่มีความพร้อม และอยู่บริเวณริมคลองน้ำเชี่ยว ให้เข้าร่วม เนื่องจากมีทัศนียภาพที่สวยงาม โดยเทศบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดเตรียมอุปกรณ์ ของใช้จำเป็น เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ให้แก่บ้านที่เข้าร่วม เริ่มแรกมีผู้เข้าร่วม 4 หลัง เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการอยู่ค้างคืน และเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด จากการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา ทำให้ในปี พ.ศ. 2550 บ้านน้ำเชี่ยวได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือ “ไทยแลนด์ทัวริสต์อะวอร์ค” จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเภทชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว รางวัลนี้ทำให้บ้านน้ำเชี่ยวเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจ มีกลุ่มผู้มาศึกษาดูงานเรื่องการท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวมากขึ้น

วัดใจ หรือ ดวงตาบ้านน้ำเชี่ยว สะพานไม้โค้งสูง ซึ่งเป็นจุดถ่ายรูปที่สวยแห่งหนึ่งในชุมชม เพราะวิวที่สวยงามของชุมชมที่สะท้อนกับแสงเงาบนผืนน้ำ วัดใจจึงเป็นจุดสนใจของการมาท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าน้ำเชี่ยว

จุฑารัตน์ เจือจิ้น. (2555). แนวทางการจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). งอบ มิใช่หมวก หมวกใบจาก เมืองตราด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2566, จาก: https://www.museumthailand.com/

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2566, จาก: https://cbtthailand.dasta.or.th/

Summer B. (2564). ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ที่เที่ยวตราด เสน่ห์ชุมชนริมน้ำ 3 วัฒนธรรม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2566, จาก: https://travel.trueid.net/