Advance search

ชุมชนชาวมอญที่มีประวัติเก่าแก่กว่า 100 ปี เป็นกลุ่มชาวมอญที่ขยายตัวมาจากพระประแดงและสมุทรสาคร มีการดำรงชีวิตตามวิถีชุมชนริมน้ำ และมีประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน คือ ประเพณีตักบาตรพระร้อย

ทับยาว
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
วิภาพร บำรุงเกตุ
21 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 เม.ย. 2023
บ้านเลียบคลองมอญ


ชุมชนชาวมอญที่มีประวัติเก่าแก่กว่า 100 ปี เป็นกลุ่มชาวมอญที่ขยายตัวมาจากพระประแดงและสมุทรสาคร มีการดำรงชีวิตตามวิถีชุมชนริมน้ำ และมีประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน คือ ประเพณีตักบาตรพระร้อย

ทับยาว
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
10520
13.73185
100.8154
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนเลียบคลองมอญมีประวัติเก่าแก่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 โดยชุมชนเลียบคลองมอญลาดกระบังนั้นเป็นกลุ่มชาวมอญที่ขยายตัวมาจากพระประแดงและสมุทรสาครโดยใช้เรือในการเดินทาง เนื่องจากนโยบายขุดคลองสายต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่มพื้นที่นาสำหรับผลผลิตข้าวเพื่อการค้าและส่งออก โดยให้ชาวบ้านมาบุกเบิกที่ทำมาหากินด้วยการงดเว้นการเก็บภาษีในระยะแรก และเก็บในอัตราลดหย่อนพิเศษกว่าพื้นที่ทำนาเก่า ๆ ในระยะต่อมา ประกอบกับพื้นที่ทำนาของชาวมอญพระประแดงก็เริ่มแออัดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แม้ในระยะเริ่มแรกชาวมอญเหล่านั้นจะเดินทางไปทำนาเฉพาะช่วงฤดูทำนาเท่านั้น ปลูกกระท่อมเล็ก ๆ ไว้แค่เพียงพอกันแดดกันฝน พอหมดหน้านาก็กลับไปอยู่ที่พระประแดง แต่ต่อมาเมื่อถนนหนทางเจริญสะดวกสบายมากขึ้น ยิ่งเกิดวัดขึ้นในชุมชนจนสามารถใช้เป็นที่ทำบุญทำกุศลในเทศกาลต่าง ๆ ได้อย่างดีพร้อมแล้วด้วย ทำให้ชาวมอญเหล่านั้นพากันลงหลักปักฐานยังสถานที่ทำนา คือ ย่านลาดกระบัง โดยพื้นที่ที่ใช้ทํานาส่วนหนึ่งได้พื้นที่จากเจ้าจอมมารดากลิ่น (พระสนมเอกของรัชกาลที่ 4) ซึ่งเจ้าจอมมารดากลิ่นนั้นมีเชื้อสายมอญเต็มตัว โดยท่านเป็นธิดาของพระยาดํารงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) และเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยามหาโยธา รามัญราช (ทอเรียะหรือชื่อไทยว่าทองชื่น) เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นบุตรชายของ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งเป็นมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่ครั้นกรุงธนบุรี โดยในอดีตชุมชนเลียบคลองมอญมีการจัดการ การปกครองเป็นแบบมีกํานันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นําชุมชน

ชุมชนเลียบคลองมอญลาดกระบังนั้นถือได้ว่าเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ด้วยเจ้าจอมมารดากลิ่นโดยแท้จริง เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่สร้างวัดขึ้นมาให้เป็นวัดศูนย์กลางสำหรับชุมชนมอญ โดยเจ้าจอมมารดากลิ่นนั้นท่านเป็นบุตรีพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย) ตระกูลคชเสนี ต่อมาได้เป็นพระสนมเอกโดยเป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 และบุตรของเจ้าจอมกลิ่น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระเจ้าลูกเธอลำดับที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดากลิ่นนั้นท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาและเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก บำเพ็ญวัตรปฏิบัติหาความสุขตามสมควรแก่ฐานะผู้มีบรรดาศักดิ์ คือ ทำบุญให้ทานมักชอบเดินทางไปพักผ่อนตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะตามชานเมืองรอบนอกกรุงเทพมหานครที่เป็นชุมชนมอญอย่างปากลัดพระประแดง ลาดกระบัง เป็นต้น และด้วยอำนาจความเชื่อความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในศาสนาดังกล่าวข้างต้น เจ้าจอมมารดากลิ่นจึงได้สร้างวัดสุธาโภชน์ ณ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ถวายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ในปัจจุบันชุมชนเลียบคลองมอญเป็นชุมชนที่ยังคงยึดถือการปฏิบัติตนแบบในอดีต มีการดํารงชีวิตตามวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ แม้ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และคนในชุมชนก็มีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคมภายนอก และเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน แต่ยังคงมีการอนุรักษ์ วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงามไว้

เขตลาดกระบัง เป็นเขตการปกครองที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบังนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 123,859 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 77,406 ไร่ สภาพโดยทั่วไป เป็นท้องทุ่ง ทางทิศใต้มีแหล่งชุมชนหนาแน่น ซึ่งชุมชนในพื้นที่เขตลาดกระบังมีจํานวนทั้งหมด 63 ชุมชน และมีเขตนิคมอุตสาหกรรมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ 58 เขต โดยลาดกระบังเป็นเขตชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ติดต่อกับเขตปกครองอื่น ๆ ดังนี้

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีคลองลํานายโส คลองสองต้นนุ่น ลํารางคอวัง ลํารางศาลเจ้า คลองตาเสือ แนวคันนาผ่านถนนคุ้มเกล้า ลํารางตาทรัพย์ คลองบึงใหญ่ คลองลํากอไผ่ คลองลํามะขาม คลองลําพะอง คลองกระทุ่มล้ม คลองลําตาอิน และคลองลําตาแฝงเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อําเภอบางพลี อําเภอบางบ่อ และอําเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ มีแนวเส้นตรงจากคลองตาพุกไปบรรจบคลองลาดกระบัง คลองลาดกระบัง และแนวเส้นตรงจากคลองลาดกระบังไปบรรจบคลองกาหลงเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตประเวศ และเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร มีคลองตาพุก คลองแม่จันทร์ คลองบึงขวาง และคลองลาดบัวขาวเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อําเภอเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา มีคลองหลวงแพ่งและคลอง ประเวศบุรีรมย์เป็นเส้นแบ่งเขต

กลุ่มคนมอญที่อพยพมาจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาครโดยใช้เรือในการเดินทาง เนื่องจากนโยบายขุดคลองสายต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่มพื้นที่นาสำหรับผลผลิตข้าวเพื่อการค้าและส่งออก ซึ่งเป็นคนมอญที่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ หรือมีบรรพบุรุษเป็นคนมอญที่อพยพมากจากเมืองเมาะตะมะ เนื่องจากปัญหาการรุกรานและการปกครองที่กดขี่ทารุณของพม่า ทําให้คนมอญทนไม่ไหวเดินทางหลบหนีออกมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในดินแดนสยาม แต่เดิมคนมอญและคนไทยก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมและสังคมที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งประการสําคัญ คือ สยามมีเสรีภาพต่างจากพม่าและนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน ทําให้คนมอญสามารถปรับตัวได้ง่าย

มอญ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มอญลาดกระบัง มีความเชื่อและวิถีชีวิตที่คล้าย ๆ กับชาวมอญในพื้นที่อื่น ๆ ของไทย โดยเฉพาะมีความศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ที่สะท้อนผ่านประเพณีในรอบปีโดยมีพิธีกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีความใกล้ชิดพระพุทธศาสนาจึงทำให้วัดที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชนในการประกอบกิจกรรมประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่เช่นเดียวกับชาวไทย โดยวันที่ 11 และ 12 เมษายน ของทุกปี ชาวมอญลาดกระบังนั้นจะมีการร่วมกันทำขนม นั่นก็คือ กาละแม โดยทุกปีในวันสงกรานต์จะมีการส่งขนมแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เป็นประเพณีของมอญลาดกระบังที่ปฏิบัติกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นการเน้นย้ำความรักความสามัคคี และเป็นการเชื่อมสัมพันธ์อันดีของมอญลาดกระบัง เมื่อถึงวันที่ 13 14 และ 15 เมษายน จะมีการทำบุญตักบาตรทั้ง 3 วันหลังจากทำบุญเสร็จ ลูกหลานมอญลาดกระบังก็จะพากันไปรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และรดน้ำบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยนำดอกไม้ ธูป เทียน น้ำอบ และธงตะขาบ ไปไหว้ที่บรรจุโกศบรรพบุรุษ หรือไม่ก็นำโกศบรรจุกระดูกมาพรมน้ำอบ ถือเป็นการแสดงเมตตาจิต และจะต้องปฏิบัติในทุก ๆ ปี
  • ประเพณีตักบาตรพระร้อย มักจะกำหนดขึ้นในอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี โดยจัดขึ้นที่ วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร การจัดงานตักบาตรพระร้อยทางเรือจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงเช้า พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 100 รูป ลงเรือมาดจำนวน 80 ลำ โดยเรือนำขบวน คือเรือรับบาตรจากพุทธศาสนิกชน ที่รออยู่บริเวณสองริมฝั่งคลองลำปลาทิวซึ่งเป็นคลองที่ไหลผ่านบริเวณหน้าวัดสุทธาโภชน์ เรือที่นำมาร่วมในพิธีมีความเก่าแก่กว่า 100 ปี โดยเรือนำขบวนนั้นเป็นเรือมาด 4 แจว สำหรับสิ่งของที่ตักบาตร ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น ตามความประสงค์ของผู้ที่มาร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อย ณ วัดสุทธาโภชน์
  • การละเล่นสะบ้ามอญ หลังวันที่ 15 เมษายน มีการละเล่น ซึ่งเป็นกีฬาคู่กับวิถีชีวิตชาวมอญที่มีมาดั้งเดิม สนามสำหรับเล่นสะบ้าทอยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดประมาณ 6 x 30 เมตร พื้นเป็นดินผสมทรายอัดแน่น มีกติกาที่สำคัญคือการทอยลูกสะบ้าให้ถูกลูกสะบ้าของฝ่ายตรงข้ามให้ล้มมากที่สุด ผู้ใดมีความแม่นยำก็จะเป็นฝ่ายชนะ นิยมเล่นแต่เฉพาะผู้ชาย สะบ้าทอยของชาวมอญเขตลาดกระบังเรียกว่าสะบ้าหัวช้าง ในสมัยก่อนการแข่งสะบ้าทอยถึงขั้นเป็นการพนันด้วย แต่สมัยนี้เป็นการเล่นแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนานเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างคนในชุมชน โดยการแข่งสะบ้าทอยสามารถเข้าชมได้ที่ชุมชนเลียบคลองมอญ ในงานเทศกาลสงกรานต์มีการเล่นสะบ้าทอย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดสุทธาโภชน์ เดิมมีชื่อว่า วัดสุทธาวาส สร้างโดยเจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 ในที่ดินของท่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 วัดสุทธาโภชน์เป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชนมอญลาดกระบัง เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชน ประกอบด้วยอนุสรณ์สถานเจ้าจอมมารดากลิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง พิพิธภัณฑ์เรือท้องถิ่น ภายในวัดยังมีเรือนไม้สักทองอายุกว่า 100 ปี และสวนปลาธรรมชาติ
  • วัดทิพพาวาส เป็นวัดเก่าแก่ มีพระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทองซึ่งมีอายุกว่าร้อยปี บริเวณรอบวัดมีชุมชนชาวมอญอยู่เป็นจำนวนมาก ชุมชนมอญวัดทิพพาวาสนี้ สันนิษฐานว่าอพยพเข้ามาเมืองไทยมาในสมัยของเจ้าพระยามหาโยธา นามเดิมว่าพระยาเจ่ง เป็นต้นสกุลคชเสนี ในระยะแรกตั้งรกรากอยู่ที่พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แล้วส่วนหนึ่งได้ย้ายมาอยู่บริเวณนี้ ในช่วงสงกรานต์ชุมชนมอญวัดทิพพาวาส จัดให้มีประเพณีสงกรานต์แบบมอญขึ้นที่วัดเป็นประจำทุกปีในเดือนเมษายน นอกจากมีการทำบุญสรงน้ำพระแล้วยังมีการเล่นสะบ้าอีกด้วย ในแต่ละปีมีประชาชนเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
  • อาหาร อาหารมอญจัดเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและยังสืบทอดทำกันอยู่ในชีวิตประจำวัน อาหารประจำสำรับที่ชาวมอญจะต้องมีทุกมื้อ คือ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาย่าง นิยมกินกับผักหรือผลไม้ที่เก็บได้ตามบ้าน ส่วนประเภทแกงนั้นนิยมมาก คือ แกงส้มผักที่นิยมนำมาแกงส้มมักเป็นผักที่มีเมือกลื่น และออกรสเปรี้ยว เช่น ฝักกระเจี๊ยบเขียว (บอกระต๊าด) กระเจี๊ยบแดง (ฮะเจ็บ) มะตาด (ฮะเปรา) พืชผักเหล่านี้เป็นอาหารพื้นถิ่นที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์มอญในชุมชนเลียบคลองลาดกระบัง
  • การแต่งกาย ชุมชนเลียบคลองมอญมีการแต่งตัวตามสมัยนิยมแบบสากล แต่หากเมื่อถึงวาระที่สําคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันทางพุทธศาสนา วันประเพณีลอยกระทง งานวันชาติมอญ งานประเพณีต่าง ๆ ที่ชาวมอญที่นี่จัดขึ้นช่วงงานเทศกาล ประเพณีที่สําคัญ เช่น งานประเพณีสงกรานต์ งานวันเข้าพรรษา เป็นต้น คนมอญทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ผู้ใหญ่หรือแม้แต่เด็ก ต่างพร้อมใจกันแต่งกายแบบชาวมอญ ผู้หญิงจะต้องนุ่งผ้าถุง เสื้อแขนสั้นหรือแขนกระบอกและที่สําคัญต้องมีสไบ ส่วนผู้ชายจะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อแขนสั้น หรือแขนยาว และผ้าพาดบ่า ซึ่งเป็นการแต่งกายที่มีความสวยงามและมีความเป็นเอกลักษณ์

เนื่องจากชุมชนเลียบคลองมอญเป็นชุมชนมอญตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคกลาง จึงส่งผลให้มีการใช้ภาษากลางเป็นหลัก และเนื่องจากชุมชนเลียบคลองมอญเป็นชุมชนที่มีขนาดเล็ก หากเทียบกับชุมชนมอญอื่น ๆ ชุมชนเลียบคลองมอญจึงจําเป็นต้องมีการปรับตัวด้านภาษาให้เข้าพื้นที่โดยรอบ เพื่อง่ายต่อการสื่อสาร นอกจากนี้ภายในโรงเรียนบริเวณชุมชน มีการใช้ภาษาสื่อกลางในการสื่อสารเป็นภาษาไทย ส่งผลให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังไม่สามารถใช้ภาษามอญในการสื่อสารได้แล้ว เนื่องจากมีการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารมากกว่าการใช้ภาษามอญ จนหลงลืมภาษาอันเป็นเอกลักษณ์และทรงคุณค่าของตน



การเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียง 2 กิโลเมตร ส่งผลให้ชุมชนเลียบคลองมอญต้องเผชิญกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการคมนาคมที่กระจายเข้ามาในพื้นที่โดยตลอด เห็นได้ชัดในการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนที่มีวิถีชีวิตทางน้ำมาเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตทางบก เปลี่ยนจากการใช้เรือมาเป็นการใช้รถสัญจรในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามชุมชนเลียบคลองมอญยังสามารถดำรงรักษาประเพณีดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมทางน้ำได้เป็นเวลากว่า 100 ปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นวมณฑ์ อุดมรัตน์. (2554). การศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ : กรณีศึกษาชุมชนเลียบคลองมอญ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว. กองการท่องเที่ยว. (2561). คู่มือท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง. กรุงเทพฯ: ฝ่ายบริหารจัดการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.

สุภาวดี ศรีศุภศิริวงศ์. (2564). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมมอญ : กรณีศึกษาชุมชนเลียบคลองมอญ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร. โครงการศึกษาเฉพาะเรื่องศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบรูพา.