ชุมชนชาวสวนโบราณริมคลองบางระมาดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่ยังคงหัตถกรรมการแทงหยวก และการทำเครื่องหอมโบราณเอาไว้ ภายในชุมชนมีวัดจำปาซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่คาดว่าสร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยา
ชื่อชุมชนเกาะศาลเจ้านั้นเกิดมาจากการที่ขุดคลองลัดวัดจำปาทำให้พื้นที่ชุมชนมีลักษณะเป็นเกาะ และชาวบ้านนั้นเคารพนับถือศาลเจ้าพ่อจุ๊ยเป็นอย่างมากจึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนเกาะศาลเจ้า
ชุมชนชาวสวนโบราณริมคลองบางระมาดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่ยังคงหัตถกรรมการแทงหยวก และการทำเครื่องหอมโบราณเอาไว้ ภายในชุมชนมีวัดจำปาซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่คาดว่าสร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยา
ชุมชนวัดจำปา เป็นชุมชนชาวสวนโบราณที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรี ชุมชนตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด และชุมชนถูกโอบล้อมไปด้วยคลองสำคัญ 3 สาย คือ คลองบางระมาดซึ่งเป็นคลองที่มีมาตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม คลองบ้านไทร และมีคลองลัดวัดจำปาเป็นคลองที่เชื่อมคลองบางระมาด และคลองบ้านไทรเข้าด้วยกันโดยเริ่มมีการขุดคลองขึ้นในราว ๆ ปี พ.ศ. 2480-2533 ซึ่งทำให้ชุมชนนั้นมีพื้นที่ลักษณะเป็นเกาะ
การตั้งชุมชนริมคลองบางระมาดนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากหลักฐานที่ทำให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานที่ปรากฏในโครงกำสรวลสมุทร สันนิษฐานว่ามีการแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ช่วงรัชกาลของพระบรมไตรโลกนาถ โดยโครงนี้มีการกล่าวถึงชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม เช่น บางพลู บางระมาด บางนางนอง เป็นต้น และมีการพบหลักฐานทางโบราณคดี คือ กระเบื้องเคลือบสีเขียวที่พบในชุมชน มีการตรวจสอบอายุพบว่ามีอายุกว่า 500 ปี แสดงให้ถึงการมีอยู่ของชุมชน
ในสมัยอยุธยาตอนกลางบางระมาดมีชื่อเสียงในด้านของผลไม้เป็นอย่างมากเนื่องจากทำเลที่ตั้งของชุมชนที่มีแม่น้ำไหลผ่านทำให้เกิดการทับถมของตะกอนส่งผลต่อดินในพื้นที่ที่เรียกว่า ดินลักจืดลักเค็ม ผลไม้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้นั้นมีคุณสมบัติที่ดี และสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน โดยมีชื่อปรากฏอยู่ในบันทึกของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์
การเข้ามาอยู่อาศัยภายในชุมชนนั้นเข้ามาในหลายระลอก เดิมชุมชนดั้งเดิมที่มีการตั้งอยู่ริมคลองบางระมาดชาวบ้านมีการเกษตร ทำสวนผลไม้ แต่การอยู่อาศัยนั้นยังไม่ได้หนาแน่นมากแต่เมื่อภายหลังจึงมีการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คนหนึ่งในนั้นคือ ชาวจีน ที่มีการนำภูมิปัญญาการทำสวนแบบยกร่องมาใช้เพื่อให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ และป้องกันน้ำท่วมสวนของตน และการเข้าของผู้คนมาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 รวมถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเข้ามาอยู่อาศัยของพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตพระนคร มีการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในตลิ่งชัน และในพื้นที่ชุมชนวัดจำปา
ในปี พ.ศ. 2516 เรื่อยมาพื้นที่โดยรอบชุมชนมีการเปิดใช้สะพานพระปิ่นเกล้ามีการสร้าง และขยายถนนโดยรอบส่งผลทำให้พื้นที่ชุมชนวัดจำปานี้มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลหลาย ๆ ด้านต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน เริ่มมีการการสัญจรผ่านช่องทางบกมากขึ้นการสัญจรทางน้ำเริ่มลดจำนวนลง อีกทั้งภายในพื้นที่ยังมีการพัฒนาหมู่บ้านบ้านจัดสรรมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2485 และพ.ศ. 2538 เรื่อยมาชุมชนได้ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบอาชีพการทำสวนของชาวบ้านจนทำให้มีการหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ทำให้จำนวนการทำสวนลดน้อยลงเป็นอย่างมาก
ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ริมคลองมีคลอง 3 สายโอบล้อมชุมชนเอาไว้ โดยมีคลองลัดวัดจำปาเป็นคลองที่เชื่อมคลองบางระมาด คลองบ้านไทรเข้าด้วยกันจนทำให้พื้นที่มีลักษณะเป็นเกาะ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนบรมราชชนนี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองบางระมาด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ วัดกระจัง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนหมู่ 6
การคมนาคม การเข้าถึงชุมชนนั้นสามารถเดินทางทางบกโดยใช้เส้นทางถนนบรมราชชนนี ถนนพุทธมณฑลสาย 1 เข้ามาจอดรถยนต์ที่วัดจำปาและเดินเท้าเข้ามายังชุมชน
ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่นั้นนับถือศานาพุทธทำให้รูปแบบวิถีชีวิตประเพณีของชาวบ้านเป็นเช่นเดียวกับชุมชนชาวพุทธอื่น ๆ แต่ยังคงมีงานสำคัญที่ปรากฏเพียงในชุมชนวัดจำปาเท่านั้นได้แก่
1. งานประจำปีศาลเจ้าพ่อจุ้ย-เจ้าพ่อกุมภกรรณ จะมีการจัดขึ้นในวัน 3 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยจะมีการถวายเครื่องเซ่นที่ศาลเจ้าพ่อจุ๊ยโดยประกอบไปด้วย หัวหมู 2หัว ไก่ 2ตัว อาหารคาวหวาน ผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น มีการถวายภัตตาหารเพล และมีการสมโภชศาลเจ้า มีการจัดแสดงละครเพื่อสร้างความสนุกสนาน ปัจจุบันมีการเพิ่มกิจกรรมสนุกสนานอื่น ๆ รวมถึงคนชุมชนมีการเข้ามาจำหน่ายสินค้าภายในงาน
2. งานทำบุญอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสวัดจำปา มีการจัดขึ้นในวันที่ 11 กันยายนของทุกปี โดยจะเป็นการร่วมทำบุญของคนในชุมชน ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชุมชน และวัดโดยกิจกรรมจะมี 2 วัน ในวันที่ 10 จะมีการการสวดอภิธรรม วันที่ 11 จะมีการสวดมนต์เลี้ยงพระในตอนเช้า และทำบุญอุทิศให้กับอดีตเจ้าอาวาส
ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาในท้องถิ่น
1.วัดจำปา เป็นวัดเก่าแก่ประจำชุมชน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเห็นได้จากการที่วัดจำปาแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง ครั้งแรกนั้นในช่วงรัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยสมเด็จพระสังฆราชแห่งวัดราชบูรณะ แสดงให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น การตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบ หน้าบันมีการประดับด้วยตุ๊กตาจีน เป็นต้น และมีการการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากปรากฏราชวัตโลหะที่หล่อจากประเทศอังกฤษมีตราประจำรัชกาลที่ 5 ซึ่งภายในวัดจำปามีพระพุทธรูปประดิษฐานภายในวัดคือ หลวงพ่อโชคดี
2. ศาลเจ้าพ่อจุ๊ย ศาลเจ้าอายุกว่า 200 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าศาลเจ้านั้นสร้างขึ้นเมื่อใด โดยศาลเจ้าพ่อจุ๊ยนั้นเป็นศาลเจ้าที่ได้รับการเคารพนับถือจากคนในชุมชนเป็นอย่างมาก โดยคำว่า จุ๊ย ในภาษาจีนนั้นหมายถึง น้ำ และภายหลังมีความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อกุมภกรรณ์เกิดขึ้นที่ศาลเจ้า ภายในศาลเจ้าจะมีรูปปั้นจระเข้ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นพาหนะของเจ้าพ่อจุ๊ย
3. บ้านเครื่องหอม เป็นบ้านที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาศึกษา การทำแป้งร่ำ แป้งพวง เครื่องหอมโบราณที่ใกล้จะสูญหายไป มีการผลิตและจำหน่ายเครื่องหอมอย่างน้ำปรุงที่มีกลิ่นที่หลากหลาย ยาดม น้ำอบ ซึ่งมีการทำขึ้นมาเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ
4. บ้านสองบุตรี เป็นบ้านที่สร้างขึ้นมาใหม่มีรูปแบบไทยประยุกต์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมของสะสมและของเก่า รวมถึงเป็นพื้นที่สาธิตการแทงหยวกหัตกรรมโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่ภายในชุมชน
5. การแทงหยวกสายวัดจำปา การแทงหยวกเป็นหัตถกรรมโบราณที่มีการนำหยวกกล้วยมาใช้ในการแกะสลักประดับในงานต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคลแต่ที่สายวัดจำปานี้จะเน้นการแกะสลักเป็นเรื่องราวประกอบเครื่องศพ พร้อมกับการทำเบญจาจะมีลักษณะเป็นเสาสี่ต้นที่มีการทำขึ้นเพื่อประกอบงานมงคล งานแทงหยวกวัดจำปามีการพัฒนารูปแบบเมื่อครูหลวงวัฒนศิลป์ ช่างหลวงได้ลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอาศัยอยู่ในชุมชน และมีการสอนการแทงหยวกอย่างในราชสำนักให้กับชาวบ้านในชุมชนจนกลายมาเป็นรูปแบบที่ชาวบ้านได้มีการทำจนถึงปัจจุบัน และภูมิปัญญาการแทงหยวกนั้นสืบทอดต่อกันมาในตามสายสกุลช่างแต่ปัจจุบันมีการสอนให้กับผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาได้
ความเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาชุมชนวัดจำปา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการพัฒนาทั้งในด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี และการคมนาคมที่มีการตัดถนนทำให้ชาวบ้านสามารถเดินทางสะดวกมากขึ้นการเดินทางทางน้ำเริ่มหายไปจากชุมชน และมีการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มคนนอกพื้นที่มากขึ้นจากการมีบ้านจัดสรรที่เริ่มมีการเข้ามาตั้งในพื้นที่ใกล้ ๆ กับชุมชน รวมถึงวิถีชีวิตที่เริ่มปรับเปลี่ยนไปการทำสวนภายในชุมชนมีจำนวนที่น้อยลง
การพัฒนาของสังคมและการดำเนินวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ ได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมภายในชุมชนอย่างหัตกรรมการแทงหยวกที่เริ่มขาดผู้สืบสานต่อ แต่ทั้งนี้ชุมชนได้มีการร่วมมือเพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง อีกทั้งมีการจัดการการท่องเที่ยวภายในชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อให้ชาวบ้านนั้นมีรายได้ อันจะส่งผลต่อการที่ชาวบ้านจะอนุรักษ์และรักษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมของตนเอาไว้
จุฑาธิป ประดิพัทธ์นฤมล. (2557). การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ : กรณีศึกษา ย่านชุมชนเกาะศาลเจ้า แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง. (2556). ยลถิ่นฐานย่านเก่าฝั่งธนบุรี...ใน “งานศิลป์ วิถีถิ่น เกาะศาลเจ้า”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=1028.
พนมกร นวสลา. (2558). พลวัตวัฒนธรรมชาวสวนในพื้นที่ชานเมือง กรณีศึกษา ชุมชนเกาะศาลเจ้าวัดจำปา แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร. [เอกสารอัดสำเนา].
ยุวรี โชคสวนทรัพย์. (2561). การปรับตัวของชุมชนเกาะศาลเจ้าภายใต้ศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ 9 เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติวัฒนธรรม. วารสารสังคมศาสตร์วิจัย, 9(2), 385-387.
ระพีพัฒน์ เกษโกศล. (2557). การจัดการท่องเที่ยววิถีถิ่นชุมชนเกาะศาลเจ้าและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). วัดจำปา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2566, จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/WatChampa.
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2555). ย่านตลิ่งชัน : ประวัติศาสตร์ พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลง. วารสารดำรงวิชาการ, 11(1), 192-203.