ชุมชนเกษตรกรรมที่พึ่งพาตนเองและเครือญาติ
ตั้งชื่อตามหนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีดอกบัวขึ้นจำนวนมากที่อยู่บริเวณสันของป่าและเป็นพื้นที่นัดพับของนายพรานในอดีตคำว่าตุหมายถึงที่สิ้นสุดหรือที่นัดพบ ดังนั้นจึงตั้งพื้นที่บริเวณนี้ว่า “หนองบัวสันตุ”
ชุมชนเกษตรกรรมที่พึ่งพาตนเองและเครือญาติ
บ้านหนองบัวสันตุเป็นหมู่บ้านขนาดกลาง ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบัวสันตุ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม มีอายุตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านประมาณ 200 ปีมาแล้ว อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำนาและทำสวน อีกทั้งยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค ควาย ไก่ เป็ด หมู ที่มาของชื่อหมู่บ้านมาจากทรัพยากรในชุมชนที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่และมีบัวขึ้นอยู่ตามหนองน้ำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าโคกขนาดใหญ่ มีนายพรานเข้ามาล่าสัตว์บริเวณป่าแห่งนี้และใช้พื้นที่หนองบัวแห่งนี้เป็นที่นัดพบกัน พื้นที่ของหนองบัวเป็นบริเวณริมป่าหรือสันป่าเมื่อนายพรานนัดพบในพื้นที่ของสระบัวแห่งนี้ จึงเรียกว่า “หนองบัวสันตุ” กลุ่มคนที่มาตั้งหมู่บ้านมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ หลวงศรีธรรมการและตากอ ยายสี โพเทพา เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มีหนองน้ำขนาดใหญ่และป่าโคกเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย โดยกลุ่มคนดังกล่าวเป็นผู้คนจากบ้านโคกสี ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม บ้านหนองบัวสันตุมีการสร้างชุมชนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเหมือนกับชุมชนอีสานทั่วไป โดยการเลือกชัยภูมิที่ตั้งที่ต้องมีแหล่งน้ำ ป่า ผู้คนได้ทำการเกษตร ทำนา และในช่วงว่างจากฤดูทำนาก็จะจักสานและทอผ้า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนในพื้นที่อีสาน
สภาพชุมชนบ้านหนองบัวสันตุพื้นที่รอบชุมชนเป็นพื้นที่นาและมีป่าโคกขนาดใหญ่ทางฝั่งทิศใต้ของชุมชน ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน ทั้งป่าไม้ พืช สัตว์ รวมทั้งเป็นพื้นที่ทำกินของคนในชุมชน ในการเก็บของป่า ผัก สมุนไพร
เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว ในช่วงเดือนนี้จะตรงกับช่วงหลังจากการเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวของชุมชน การทำบุญปีใหม่
เดือนกุมภาพันธ์ บุญข้าวจี่
เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
เดือนพฤษภาคม บุญวิสาขบูชา บุญบั้งไฟ
เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
เดือนตุลาคม บุญข้าวเม่า บุญทอดเทียน บุญออกพรรษา
เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
ชุมชนบ้านหนองบัวสันตุเป็นพื้นที่ที่มีป่าโคกขนาดใหญ่ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติด้านป่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งในฤดูกาลต่างๆได้ใช้ป่าในการเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ทั้งสัตว์ต่างๆ เห็ด พืช สมุนไพร
คนในชุมชนใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและใช้ภาษอีสานในการสื่อสาร
ชุมชนบ้านหนองบัวสันตุมีลักษณะคล้ายกับชุมชนในอีสานทั่วไปโดยเฉพาะชุมชนที่มีทรัพยากรป่าจำนวนมาก กล่าวคือ การพัฒนาของรัฐในช่วงหลังพ.ศ. 2500 ที่เริ่มมีการพัฒนาท้องถิ่น ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รัฐเริ่มสนับสนุนให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ปอ มันสำปะหลัง
ชุมชนบ้านหนองบัวสันตุได้รับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทำกิน จากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าการทำนาเป็นการทำเพื่อกินในครัวเรือน เมื่อเปลี่ยนระบบการผลิตให้เข้ากับสภาพสังคมที่พืชเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เริ่มมีการจัดการพื้นที่ด้านการเกษตรที่ต้องการผลผลิตมากขึ้นดังนั้นจึงมีการบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชนและจัดการให้เป็นพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะหลายพื้นที่รุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปอ ดังนั้นสภาพพื้นที่บริเวณบ้านหนองบัวสันตุที่เห็นปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ
ปิ่นเพชร สาทองขาว.( 2545 ).การศึกษาวิเคราะห์ชุมชนบ้านหนองบัวสันตุ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัวสันตุ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2545.
ปิ่นเพชร สาทองขาว.( 2545 ).การจัดทำแผนแม่บทชุมชนบ้านหนองบัวสันตุ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัวสันตุ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2545.
วัดหนองบัวสันตุ.( 2562 ).วัดหนองบัวสันตุ.(ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 .
เข้าถึงได้จาก .(เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps/ (สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566)