Advance search

ชุมชนการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เพื่อทำการค้าขาย ผู้คนภายในชุมชนมีการจัดโครงการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม บริเวณชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้ และมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ล้านโป่ง ศาลเจ้าพ่อกวนอู และวัดคาทอลิกนักบุญยอเซฟ

บ้านโป่ง
บ้านโป่ง
ราชบุรี
มนิสรา นันทะยานา
18 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 เม.ย. 2023
บ้านโป่ง (ตลาดคุ้งพยอม)


ชุมชนการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เพื่อทำการค้าขาย ผู้คนภายในชุมชนมีการจัดโครงการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม บริเวณชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้ และมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ล้านโป่ง ศาลเจ้าพ่อกวนอู และวัดคาทอลิกนักบุญยอเซฟ

บ้านโป่ง
บ้านโป่ง
ราชบุรี
70110
13.814031
99.871769
เทศบาลเมืองบ้านโป่ง

ย่านชุมชนบ้านโป่งตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัดราชบุรี เป็นอำเภอที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต โดยถือเป็นชุมชนที่มีความสำคัญในเรื่องของการแลกเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่สมัยทวารวดี หลักฐานทางมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย ชาวจีน ชาวมอญ และชาวลาว ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ในอดีต ตลอดจนรูปแบบบ้านเมืองสมัยโบราณและชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน 

การจัดตั้งเมืองบ้านโป่งตามจดหมายเหตุเมืองราชบุรี ร.ศ. 116 เดิมอำเภอบ้านโป่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าผา เรียกชื่อว่า “อำเภอท่าผา” ต่อในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้น โดยจัดตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลท่าผา จะมีปัญหาเรื่องการคมนาคมที่ไม่สะดวก จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ตำบลบ้านโป่ง และเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอบ้านโป่ง ใน ร.ศ. 124 ในขณะเดียวกันการพัฒนาด้านการคมนาคมทางน้ำทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างบ้านโป่งกับเมืองต่าง ๆ สะดวกรวดเร็ว มากขึ้น

ย่านชุมชนบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น เหตุการณ์การเข้ามาตั้งค่ายกักกันของทหารญี่ปุ่นใน สงครามโลกครั้งที่ 2 และเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเป็นการส่วนพระองค์หรือจะเป็นเหตุการณ์การที่ผู้คนหลายชาติพันธุ์โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจย่านตลาดการค้า และขยายตัวจนเป็นจุดเริ่มต้นของย่านชุมชนบ้านโป่ง ที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่น ทั้งในเชิงสังคมวัฒนธรรมผ่านรูปแบบประเพณี ท้องถิ่น บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น ย่านชุมชนบ้านโป่งจึงมีโครงการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ได้รับความร่วมมือจากคนในย่านชุมชนเมืองบ้านโป่งทั้งภาค รัฐ ภาคเอกชน และประชาชน มาร่วมสร้างสรรค์พื้นที่เมือง เช่น โครงการ 70110: Ban Pong Urban Art Terminal 2017 เสพ ศิลป์ที่บ้านโป่ง เพื่อบ้านโป่ง ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 และ โครงการ 70110: Ban Pong Urban Art Terminal 2018 ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2561 เพื่อสร้างอัตลักษณ์ด้านศิลปะร่วมสมัยบนพื้นที่สาธารณะที่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และก่อเกิดความภูมิใจในบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งจังหวัดราชบุรีอยู่ในแผนขับเคลื่อนของภาคกลางตอนล่างที่ 1 กำหนดเป็น “ศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งภาคตะวันตก”

ชุมชนบ้านโป่ง (ตลาดคุ้งพะยอม) อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 69 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 74 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนตลาดบ้านโป่ง (ตลาดคุ้งพยอม) สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ ชุมชนบ้านโป่งมีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ     ติดต่อกับ ตำบลปากแรต และตำบลท่าผา
  • ทิศใต้        ติดต่อกับ ตำบลสวนกล้วย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลปากแรด
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ แม่น้ำแม่กลอง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนบ้านโป่ง ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองบริเวณริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 และทางรถไฟกรุงเทพ – สายใต้ กาญจนบุรี – หนองปลาดุก บริเวณชุมชนมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นที่พักอาศัย พาณิชยกรรม สถานประกอบการ สถาบันราชการ สถาบันศึกษาและสถาบันศาสนา และมีพื้นที่สาธารณะปะปนกัน

อาคารพาณิชยกรรมมักเกาะตัวหนาแน่ตามแนวเส้นทางการสัญจรหลักที่มีการเข้าถึงสะดวก ทั้งนี้ยังพบการใช้พื้นที่บนถนนเส้นสายชูโต สำหรับการตั้งร้านขายอาหารข้างทางในช่วงเวลาเย็นถึงเที่ยงคืน ส่วนอาคารที่พักอาศัยกระจายตัวตามเส้นทางสัญจรหลักและตามซอกซอย ส่วนการใช้ประโยชน์อาคารเพื่อสถาบันราชการ มีการกระจายตัวตามแนวเส้นทางภายในชุมชน นอกจากนี้ยังปรากฏอาคารที่มีคุณค่าประจุกตัวอยู่ในพื้นที่บริเวณย่านตลาดบ้านโป่ง โดยเฉพาะในบริเวณถนนเนียนนิยมที่เชื่อมต่อกับวงเวียนของ ตลาดซอยกลาง ถนนซอยเชาวน์อุทิศและถนนซอยเชาวน์วงศาที่เชื่อมต่อกับถนนแสงชูโต และบริเวณริมถนนค่ายหลวงที่ติดกับริมแม่น้ำแม่กลอง

พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน

ชุมชนบ้านโป่ง เป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างสาธารณูปโภค - สาธารณูปการที่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากมีส่วนสถานพยาบาล สถานศึกษา และหน่วยงานราชการ จึงทำให้พื้นที่มีการพัฒนาอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่การนันทนาการพักผ่อนหย่อนใจที่เพียงพอและครอบคลุม

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

น้ำ ทรัพยากรน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำแม่กลอง และคลองชลประทาน โดยแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค ใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค สาขาบ้านโป่ง สำหรับอุปโภคและบริโภค และมีแหล่งน้ำที่สำคัญ 2 แห่ง ประกอบด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 1 แห่ง คือ แม่น้ำแม่กลอง และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น จำนวน 1 แห่ง คือ คลองชลประทาน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในชุมชนบ้านโป่ง จำนวน 8,324 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 15,455 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 7,202 คน หญิง 8,253 คน ชุมชนบ้านโป่ง มีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงจำนวนการเกิดของประชากรเพิ่มขึ้นจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2558 สัดส่วนการย้ายถิ่นเข้าของอำเภอบ้านโป่งมีจำนวนมากกว่าการย้ายถิ่นออกของประชากร

ลักษณะด้านสังคม

ชุมชนบ้านโป่งมีการผสมผสานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ได้แก่ ไทย มอญ ลาวโซ่ง และจีน ทำให้เกิดรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนผ่านการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่

จีน, มอญ

ด้านกลุ่มอาชีพ ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาทำอาชีพรับจ้าง ทำให้ไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพการประมงที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง แต่มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับในชุมชนอื่น

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีประจำปีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีลอยกระทง การแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงโล่พระราชทานฯ การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแห่เทียนพรรษา การจัดงานส่งเสริมอาชีพและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดงานวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ชุมชนบ้านโป่ง มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการในระดับชุมชน เนื่องจากเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ พร้อมทั้งมีการลงทุนด้านพาณิชยกรรมต่าง ๆ ในเขตชุมชนอย่างหนาแน่น จึงกล่าวได้ว่าชุมชนบ้านโป่ง เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับอำเภอและจังหวัดที่ให้บริการแก่คนในชุมชน ตลอดจนพื้นที่บางส่วนของจังหวัดใกล้เคียง

กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจในชุมชนบ้านโป่ง คือการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญในระดับภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมโรงน้ำตาล เยื่อกระดาษ อู่ประกอบรสบัส และผงชูรส เป็นต้น โดยใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในพื้นที่โดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม 

อาคารที่มีคุณค่า ในพื้นที่ชุมชนบ้านโป่ง มีอาคารที่มีคุณค่า ซึ่งหมายถึง อาคารที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยในอดีตในด้านของโครงสร้าง รูปแบบ ลักษณะการตกแต่งและศิลปกรรม หรือมีคุณค่าในแง่ของประวัติศาสตร์ที่หมายรวมถึงอาคารที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญในอดีตโดยอาคารเหล่านี้เป็นอาคารที่ใช้วัสดุจากไม้ จำนวน 1 - 2 ชั้น ยังคงรูปแบบอาคารไม้แถว บ้านไม้แฝด มุงหลังคากระเบื้องว่าว ประตูบานเฟี้ยมแบบโบราณ และยังพบว่ามีอาคาร 2 ชั้นทรงโมเดิร์นผสมสไตล์จีนที่ก่อสร้างหลัง จากที่เกิดเหตุการณ์อัคคีภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่ยังคงสภาพและความสวยงามใช้งานประกอบกิจกรรมได้ตามปกติ อีกทั้งยังมีโรงหนังเฉลิมทองคำซึ่งเดิมเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่และเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของอำเภอบ้านโป่งในอดีต แต่ปัจจุบันไม่มีการดำเนินกิจกรรมใด ๆ แต่มีการใช้พื้นที่ผนังทั้งสอง ด้านของตัวอาคารเป็นที่รังสรรค์ผลงานศิลปะและเป็นจุดซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่น่าจดจำและ กระตุ้นให้คนสนใจอาคารสวยงามที่มีคุณค่าและผลงานศิลปะในย่านชุมชนบ้านโป่งมากขึ้น

ศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลอาม่า” ตั้งอยู่ถนนริมน้ำตลาดบ้านโป่ง โดยประวัติศาสตร์ตามที่เล่าสืบกันมา เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว ชาวจีนอัญเชิญองค์หม่าโจ้ว จากประเทศจีน เดินทางโดยเรือมาถึงแม่น้ำแม่กลอง ปากคลองหลวงสิทธิ์ อำเภอบ้านโป่ง และได้ปักฐานอาศัยอยู่แถวท่าเรือ อัญเชิญองค์หม่าโจ้วไว้บูชาที่บ้านของตน ต่อมาชาวจีนผู้นี้แก่ชรามากขึ้น จึงได้สร้างศาลไม้เล็ก ๆ ขึ้น 1 หลัง แล้วอัญเชิญองค์หม่าโจ้วมาไว้ที่ศาลหลังนั้นเพื่อให้คนทั่วไปได้กราบไหว้บูชาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2497 เพลิงไหม้ตลาดบ้านโป่งครั้งใหญ่ ร้านค้าบ้านเรือนเสียหายจนหมดทั้งตลาด เว้นไว้แต่ศาลหม่าโจ้วเท่านั้นที่ไม่ได้รับความเสียกาย ทำให้ชาวตลาดบ้านโป่งและใกล้เคียงมีความศรัทธาในองค์หม่าโจ้วมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2532 คณะกรรมการโรงเจบ้วนฮกตั้ว ได้ขออนุญาตองค์หม่าโจ้ว สร้างศาลหม่าโจ้วหลังใหม่และรูปจำลององค์หม่าโจ้วรูปไม้สักแกะสลักปิดทองคำขนาดใหญ่ขึ้นอีก 1 องค์ และทำพิธีเปิดศาลหลังใหม่ อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2535 และขออนุญาตองค์หม่าโจ้ว ใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ศาลเจ้าแม่บ้านโป่ง”

ศาลเจ้าพ่อกวนอูศาลเจ้าพ่อกวนอู หรือ “โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว” ตั้งอยู่บนถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชุบรี จังหวัดราชบุรี บริเวณริมน้ำ (สนามหญ้า) ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ศาลเจ้าพ่อกวนอูเป็นศาลเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองราชบุรีมากว่า 100 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 เจ้าพ่อกวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ อดีตขุนพลนักรบผู้เก่งกาจสมัยเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ นอกจากองค์เจ้าพ่อกวนอูที่เป็นเทพประธานของที่นี่แล้ว ภายในศาลแห่งนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ 2 องค์เทพเท้าที่ประทับอยู่ซ้าย - ขวา ของเจ้าพ่อกวนอู คือ “เทพเจ้าลือโจวเซียนซือ” (ซ้าย) และเทพเจ้าเอี่ยมกวงไตตี (ขวา) ป้ายคำสรรเสริญ, ตู้ไม้เก็บป้ายวิญญาณ และภาพวาดปูนปั้นฝาผนัง สามพี่น้อง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย

โรงเจบ้วนฮกตั้ว เป็นโรงเจที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดราชบุรี ชาวจีนที่พากันเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาอาศัยบนผืนแผ่นดินไทยในอำเภอบ้านโป่ง เมื่อปี พ.ศ. 2470 ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโรงเจแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวจีน และใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของคนจีน ซึ่งภายในโรงเจจะมีเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวจีนประดิษฐานอยู่ และเมื่อถึงเทศกาลกินเจ ทางคณะกรรมการโรงเจฯ ได้ร่วมกันจัดงานทุกปี

วัดคาทอลิกนักบุญยอเซฟ ตั้งอยู่ด้านหลังสถานีรถไฟบ้านโป่ง ติดกับโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย เป็นสถานที่รวมตัวของคริสตชนมาเป็นเวลากว่า 100 ปี เป็นการเจริญเติบโตทั้งด้านวัตถุและจิตใจของชุมชนคริสตชนคู่มากับเมืองบ้านโป่ง มีคณะผู้นำในฐานะเจ้าอาวาสทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติรวมแล้ว 15 องค์ วัดคาทอลิกนักบุญยอเซฟ เป็นสถานที่ที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม สูง สง่า และค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในช่วงเดือนธันวาคม วัดคาทอลิกนักบุญบอเซฟแห่งนี้ จะถูกประดับประดาไปด้วยไฟหลากสีให้เข้ากับเทศกาลคริสต์มาส

สมบัตินภานิวาส (บ้านไก่คู่) เดิมเป็นบ้านหลวงสิทธิเทพการ หรือบ้านสังคหะวังตาล ปัจจุบัน นายสมบัติ - นางนภา พิษณุไวศยวาท เป็นเจ้าของผู้ครอบครองบ้าน โดยปกติไม่ได้เปิดให้เข้าเที่ยวชม เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลต้องขออนุญาตก่อน แต่มีการเปิดให้เข้าชมเป็นบางโอกาส เมื่อมีการใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ในระหว่างวันที่ 1 – 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ทางบริษัท โซล่าแอสฟัลท์ จำกัด ได้ร่วมกับศิลปินกลุ่มเส้นทาง ใช้สถานที่แห่งนี้ จัดนิทรรศการ “ย้อนรอยพระบาทยาตรา ณ บ้านโป่ง นิทรรศการทัศนศิลป์เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” โดยเปิดให้ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมฟรี วันละ 2 รอบ รอบเช้า เวลา 09.00 – 12.00 น. และรอบบ่าย เวลา 14.00 – 17.00 น.

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในชุมชนบ้านโป่ง (ตลาดคุ้งพะยอม) มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น ขนมไทยร้านขนมกัญญา หมี่เตี๊ยว โรงงานหมี่เตี๊ยวลิ้มเลี่ยงฮง และโรงงานลิ้มชัยฮง หมูหยอง หมูกรอบ ร้านลิ้มจุงเฮียง

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียนจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php

ความสุขของ. (2560). บ้านโป่ง เมืองมีเสน่ห์ กิน เที่ยว ตะลุย Street Art ถิ่นคนงาม วันเดียวก็เที่ยวได้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.thetrippacker.com/th/review/อำเภอบ้านโป่ง/11262

เทศบาลเมืองบ้านโป่ง. ข้อมูลพื้นฐานเทศบาล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://banpong.go.th/public/

ปิ่น บุตรี. (2565). เฮง เฮง เฮง ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ “เส้นทางมังกรราชบุรี” เสริมมงคล รับพลังมังกร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/travel/detail/9650000010692

วีระยุทธ ผลประกอบศิลป์. (2564). การวิเคราะห์ศักยภาพการมองเห็นเชิงพื้นที่ของงานศิลปะสาธารณะในย่านชุมชนบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์การผังเมืองมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการผังเมือง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

MRG online. (2558). “โรงเจบ้วนฮกตั้ว” บ้านโป่งทำพิธีเสี่ยงทายหญิงสาวเป็นองค์สมมติ “เจ้าแม่กวนอิม” รับเทศกาลถือศีลกินเจ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/local/detail/9580000110657

St.joseph church Banpong. (2566). ประวัติวัด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จากhttp://www.josephbanpong.org/site/index.php/chdata/chhistory