Advance search

บ้านไพรขลา

ชุมชนในวัฒนธรรมเขมรและเป็นชุมชนค้าเร่ ยาสมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ 

ถนนหมายเลข 2081 (ชุมพลบุรี-ท่าตูม)
ไพรขลา
ไพรขลา
ชุมพลบุรี
สุรินทร์
วุฒิกร กะตะสีลา
29 มี.ค. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
28 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
29 เม.ย. 2023
บ้านไพรขลา

มาจากคำว่า “เปร็ยคละ” คำว่า  “เปร็ย”  แปลว่า ป่าดงหรือป่าไพร,   คำว่า “คละ”  หรือ “ขลา” แปลว่า  เสือ ที่เป็นภาษาเขมรอันมีความหมายว่า  “ป่าดงเสือ” จนกระทั่งในปัจจุบันคำว่า “เปร็ยคละ” ได้เพี้ยนและแปรเปลี่ยนมาเป็น “ไพรขลา”


ชุมชนชนบท

ชุมชนในวัฒนธรรมเขมรและเป็นชุมชนค้าเร่ ยาสมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ 

ไพรขลา
ถนนหมายเลข 2081 (ชุมพลบุรี-ท่าตูม)
ไพรขลา
ชุมพลบุรี
สุรินทร์
32190
อบต.ไพรขลา โทร. 0-4454-5132
15.34553877
103.543687
องค์การบริหารส่วนตำบลไพรขลา

การอพยพเพื่อตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนไพรขลาเริ่มขึ้นเมื่อประมาณมากกว่า 100 ปี หรือระหว่างปี  พ.ศ. 2398-2429 กลุ่มคนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในระยะแรกคือคนเขมร  มาจากบ้านขาม  บ้านยางกระจับ  เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นโนนสูงน้ำท้วมไม่ถึงและมีความสมบูรณ์ แรกเริ่มอพยพมาตั้งบ้าน 7 ครัวเรือน  แต่อยู่ได้ไม่นานจึงย้ายหนีกลับไปบ้านเก่า  เพราะมีเสือตัวใหญ่ออกมาก่อกวนวัว-ควายกับสัตว์เลี้ยงอื่นๆของชาวบ้าน หลังจากอพยพกลับภูมิลำเนาเดิมของกลุ่มคนเขมร จึงกล่าวถึงพื้นที่อันรกร้างว่างเปล่าที่เคยอพยพไปอยู่อาศัยในเวลาอันสั้นว่า  “เปร็ยคละ”  ที่เป็นภาษาเขมรอันมีความหมายว่า  “ป่าดงเสือ” จนกระทั่งในปัจจุบันคำว่า “เปร็ยคละ” ได้เพี้ยนและแปรเปลี่ยนมาเป็น “ไพรขลา” เรื่องเล่าเกี่ยวกับป่าดงเสือดังกล่าวได้ขยายวงกว้างออกไปและสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในละแวกนั้น ทำให้ไม่มีกลุ่มคนกล้าที่จะอพยพเข้าไปอาศัยในบริเวณนั้นเป็นระยะเวลานานหลายปี  ต่อมาเมื่อมีกลุ่มคนจากอำเภอพนมไพร  จังหวัดร้อยเอ็ด อพยพมาตั้งถิ่นฐานซ้อนทับชุมชนเดิม หลังจากการตั้งถิ่นฐานซ้อนทับชุมชนเดิมของกลุ่มหลวงพิบูลย์ที่มาจากบ้านเมืองลีง  อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด  ระยะแรกชาวบ้านได้ลงมือหักร้างถางป่าบริเวณใกล้กับโนนสูงที่ตั้งชุมชนเพื่อจับจองที่ดินทำกิน

การประกอบอาชีพของผู้คนในในช่วงเวลานี้คือ  การเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงตนเอง  ครอบครัวและเครือญาติเป็นหลัก สามารถผลิตปัจจัย 4 ได้เอง เช่นเครื่องนุ่งห่ม  ปลูกฝ้าย  ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่นำมาทอผ้าและเย็บผ้าใช้เองได้  อาหารและยารักษาโรคสามารถเก็บหาได้ตามธรรมชาติโดยเฉพาะบริเวณป่าโคก  การทำนามักทำบริเวณริมฝั่งหนองน้ำที่มีพื้นที่เพียง 1-2 งานเท่านั้น ข้อจำกัดของการทำนาในช่วงเวลานี้คือ เครื่องมือที่ ไม่ทันสมัยและอาศัยแรงงานคนและควายเป็นหลัก  กอปรกับการมีศัตรูพืชที่ทำลายผลผลิตของชาวนาตลอดฤดูกาล ยกตัวอย่างเช่น  ปูนา  นก  หนู  เป็นต้น จึงเป็นความยากลำบากในการทำนาแต่ละปี  แม้การทำนาจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร  ทว่าความอุดมสมบูรณ์ของนิเวศวิทยาเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้มีความอุดมสมบูรณ์  เช่น พืชพรรณธรรมชาติทั้งบนบกและในลำน้ำ  ปลา  กบ  เขียด  นก  หนู  เต่า ฯลฯ สามารถนำมาประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงชีพทดแทนได้ รวมทั้งการนำปลาจ่อม  ปลาร้า ไปแลกข้าวกับชุมชนใกล้เคียง  

ชุมชนไพรขลา  ตำบลไพรขลา  อำเภอชุมพลบุรี  จังหวัดสุรินทร์  ตั้งอยู่บริเวณชายขอบด้านทิศใต้ของอาณาบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้  เมื่อเดินทางถึงอำเภอชุมพลบุรีไปตามเส้นทางสาย 2081 (ชุมพลบุรี-ท่าตูม) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 20 จะถึงจุดที่ตั้งชุมชนไพรขลา ลักษณะสำคัญของชุมชนแห่งนี้คือ ในอดีตเคยเป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี โดยปรากฏหลักฐานสำคัญได้แก่ คูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชนและพบหินศิลาแลงที่สร้างกู่ขนาดเล็กที่เรียกว่าสิมมาน้อย สิมมาใหญ่ภายในชุมชน นอกจากนี้ยังพบเศษเครื่องปั้นดินเผากระจายอยู่ทั่วไป 

ประชากรของชุมชนบ้านไพรขลาค่อนข้างมีความหลากหลายและอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเขมรที่ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารอีกกลุ่มคือกลุ่มลาวที่ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร ซึ่งทั้งสองกลุ่มอยู่อาศัยด้วยกันอย่างเป็นสุข

มีกลุ่มพ่อค้าเร่ที่ติดต่อประสานงานในการเร่ขายสิ่งของตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มค้าเฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบัน

เดือนตุลาคม ประเพณีแซนโฏนตาของชุมชนจะมีผู้คนกลับมาไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวเขมร ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่ของชาวบ้านไพรขลาที่คนทุกคนต้องกลับบ้านเพื่อร่วมประเพณี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • เป็นชุมชนค้าเร่ที่มีรูปแบบการค้าในลักษณะของการเร่ขายหรือนายฮ้อยจนกระทั่งส่งต่อมายังคนรุนหลังในการรู้จักค้าขายและเป็นพ่อค้าเร่
  • เป็นชุมชนโบราณที่พบคูน้ำคันดินรอบชุมชนซึ่งอยู่ในยุคโลหะตอนปลายหรือวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้เป็นชุมชนโบราณที่พบคูน้ำคันดินรอบชุมชนซึ่งอยู่ในยุคโลหะตอนปลายหรือวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้

มีทั้งกลุ่มคนที่ใช้ภาษาลาวอีสานอีสานและกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเขมร


การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในชุมชน

พ.ศ. 2527 การปฏิรูปที่ดินมาถึงการพัฒนาพัฒนาเส้นทางคมนาคมของรัฐ  ได้เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนไพรขลาเป็นยิ่งนัก  โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อหารายได้นอกภาคเกษตรกรรมหลังฤดูกาลทำนาและเก็บเกี่ยวผลผลิต  ที่ทำให้ชุมชนไพรขลาเดินทางข้ามชุมชน ข้ามพื้นที่ด้วยเกวียนและการเดินเท้าที่สะดวกสบายขึ้น  กิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรมของชุมชนไพรขลาหลังจากการมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้นคือการค้าขายยาสมุนไพร  ๓๒ ชนิดที่ไปรับมาจากร้านใต้อันตึงในตัวจังหวัดสุรินทร์  โดยการซื้อยกห่อขนาดใหญ่จากนั้นนำมาจัดแบ่งเป็นห่อเล็กที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคแตกต่างกันไป  การค้ายาสมุนไพรเริ่มกระจายตัวมากขึ้น  ชุมชนไพรขลาจึงปรับตัวและปรับเปลี่ยนสินค้าให้ทันสมัย กับความต้องการเสมอ  โดยเฉพาะการค้ายาสมุนไพรที่มีการบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยขึ้น ดังนั้น “สมุนไพรนก อีแอ่น” ในอำเภอบ้านไผ่  จังหวัดขอนแก่น จึงเป็นทางเลือกใหม่ของพ่อค้าเร่ไพรขลาในระยะเวลาต่อมา กิจกรรมการค้าขาย นอกภาคเกษตรกรรมเริ่มเข้มข้นขึ้นตามลำดับ  หลายครอบครัวเริ่มนำทุนที่ได้จากการค้าขายข้าวและยา สมุนไพรมาชื้อจักรยาน  มอเตอรไซด์ เป็นพาหนะในการเดินทางเพื่อเร่ขายสินค้า  การมีพาหนะดังกล่าวทำให้ พ่อค้าเร่ในชุมชนไพรขลาเดินทางข้ามชุมชนข้ามพื้นที่ไกลออกไปและเกิดความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น ตามลำดับ  สินค้าที่นำไปขายเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น  เช่น  ยาเส้น  มุ้ง  เข็มขัด  ต่างหู  สร้อยคอ   แหวน  และเครื่องมือทางการเกษตรจำพวก  สบไถ  มีด  เคียว  จอบ  เสียม  เป็นต้น

ระยะเวลาผ่านเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 2530 รูปแบบการผลิตในภาคเกษตรกรรมเริ่มอาศัยเครื่องจักรกลทางการเกษตรเป็นหลัก  ทำให้ช่วงเวลาในการทำนาของชุมชนไพรขลามีระยะเวลาสั้นลง เจ้าของที่นามักขายที่นารวมทั้งปล่อยให้เช่าที่นาขยายวงกว้างขึ้น  การทำนา 25 ไร่ ใช้ระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เหตุเพราะการทำนาในยุคนี้เข้าสู่ระบบการ “จ้าง” ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ผู้คนในชุมชนไพรขลาหันมาให้ความสนใจกิจกรรมการค้าและเงินตรานอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก  โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการค้าขายเฟอร์นิเจอร์และการเป็นแรงงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์

ชุมชนไพรขลากับการเร่ขายเฟอร์นิเจอร์

ชุมชนเกิดการขยายตัวจากชุมชนบทกลายเป็นชุมชนเมือง  กล่าวคือการมีโรงงานเฟอร์นิเจอร์เกิดขึ้นตามเส้นทางสาย ชุมพลบุรี-ท่าตูม (สาย 2081) การเร่ขายแบบเดิมที่เดินทางเท้าขาย  ถีบจักรยาน  นั่งจักรยานยนต์ขายจนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นการใช้รถยนต์  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้คนในชุมชนไพรขลา ที่เริ่มผันตัวเองเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แรกเริ่มพ่อใหญ่สี (เดิมเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่4) เป็นคนนำความรู้เข้ามาในหมู่บ้านเริ่มมีการซื้อเครื่องมือมาจากสุรินทร์ และเริ่มผลิตตู้กับข้าวโลปีเนียม เริ่มชำนาญและทอดแบบจากตู้ต่างๆ  ชาวบ้านเริ่มมีความสนใจมาขอเป็นลูกมือ  จนมีการกระจายตัวออกไปในหมู่บ้านไพรขลา เมื่อเริ่มสะสมทุนได้จำนวนหนึ่ง  โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องมือและวัตถุดิบในการทำเฟอร์นิเจอร์มีการแยกตัวเพื่อไปทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในครอบครัวและสายตระกูลตนเอง  ชุมชนไพรขลาเป็นยุคทองของการค้าขายเฟอร์นิเจอร์อย่างแท้จริง  ผู้คนใน หมู่บ้านกลายเป็นผู้ประกอบการและเร่ขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งเงินสดและเงินผ่อนทั่วภาคอีสานและกระจายตัวออกไปยังภาคอื่น ความเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนไพรขลาหลังทศวรรษที่ 2540  ที่มีการสะสมทุนจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ บางครอบครัวมองเห็นหน้าต่างของโอกาสและผันตัวเองเพื่อทำการค้ารูปแบบใหม่เช่น  ธุรกิจรถไถนารับจ้าง  เปิดร้านขายอุปกรณ์และเครื่องมือก่อสร้าง  ร้านขายของชำ  เป็นต้น  การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนดังกล่าวส่งผลให้สถาบันการเงินมาเปิดสาขาย่อยเพื่อให้บริการด้านการเงินและสินเชื่อด้านอื่นๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สิม วัดศรัทธาวารี บ้านไพรขลา(2563).สิม วัดศรัทธาวารี บ้านไพรขลา(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/1756422141271246/photos/a.1757097401203720/2717897651790352/

รถเร่ขายตู้กับข้าวบ้านไพรขลา.(2563).รถเร่ขายตู้กับข้าวบ้านไพรขลา.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก:https://www.facebook.com/photo?fbid=119549502968912&set=pcb.119549566302239119549502968912