Advance search

ภายในวัดหอคำ บ้านคำกั้ง มีธรรมาสน์เสาเดียว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่พบได้เฉพาะธรรมาสน์ของชาวผู้ไทเท่านั้น

คำกั้ง
เหล่าใหญ่
กุฉินารายณ์
กาฬสินธุ์
เทศบาลเหล่าใหญ่ โทร. 0-4360-2125
วิไลวรรณ เดชดอนบม
16 ธ.ค. 2022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
1 มี.ค. 2023
บ้านคำกั้ง


ภายในวัดหอคำ บ้านคำกั้ง มีธรรมาสน์เสาเดียว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่พบได้เฉพาะธรรมาสน์ของชาวผู้ไทเท่านั้น

คำกั้ง
เหล่าใหญ่
กุฉินารายณ์
กาฬสินธุ์
46110
16.5911793
103.988007
เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่

บ้านคำกั้ง ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ที่ซึ่งปรากฏหลักฐานการอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานของชาวผู้ไท ที่มีบรรพบุรุษมาจากลุ่มน้ำดำ-แดง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ซึ่งมีอาณาเขตติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายหลังได้อพยพเคลื่อนย้ายเพื่อลี้ภัยสงครามมาอาศัยอยู่บริเวณเมืองวังและแขวงสะหวันนะเขต ต่อมาราวปี พ.ศ. 2369-2371 หลังสิ้นรัชสมัยเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ชาวผู้ไทกลุ่มนี้ได้ทำการอพยพอีกระลอกหนึ่ง อันสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง โดยอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยพร้อมกับชาวผู้ไทตำบลหนองห้างและตำบลกุดหว้า เดินทางข้ามเทือกเขาภูพานมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่ยังไม่ถึงเทือกเขาภูพานก็หยุดสร้างบ้านเรือนชื่อ “บ้านป่าไผ่” ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ต่อมาชาวบ้านป่าไผ่ได้ทราบข่าวว่าราชวงศ์กอมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองกุดสิมนารายณ์ ชาวบ้านป่าไผ่จึงได้ทำการอพยพอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านเหล่าเตโช” อยู่ในอาณาบริเวณของเทือกเขาภูพานเช่นเดิม แต่ใกล้เมืองกุดสิมนารายณ์มากกว่าบ้านป่าไผ่ และอพยพครั้งสุดท้ายมาอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ซึ่งชาวผู้ไทบ้านเหล่าเตโชนี้คาดว่าคือบรรพบุรุษของชาวผู้ไทบ้านคำกั้ง เนื่องจากชาวผู้ไทบ้านเหล่าเตโชได้ตั้งหมู่บ้านเชิงเขา 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาวี บ้านกุดบอด บ้านหนองแสง บ้านโพนสว่าง บ้านดงเหนือ บ้านเหล่าใหญ่ บ้านมะนาว บ้านหนองห้าง และบ้านคำกั้ง  

สภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมทั่วไปของชุมชนบ้านคำกั้ง ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายขาดความอุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว  

ที่อยู่อาศัย 

ที่อยู่อาศัยของชาวผู้ไทบ้านคำกั้งจะเป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงเหลี่ยมยอดแหลมดั้นสูง มีประตูทางเข้า 2 ทาง และมีหน้าต่างเล็ก ๆ เพียงสามารถเอาหัวลอดได้ เรียก “ประตูบอง” นอกจากนี้ยังมีบ้านอีกทรงหนึ่งเรียกว่า “เฮินซู” เสาทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดพอดีโดยไม่ต้องถาก เพียงแต่ตัดหัวท้าย หลังคามุงหญ้าคา ฝาบ้านเป็นฝาพะล่าน ไม่มีครัว ไม่มีชาย เฮินซูนี้เป็นเรือนที่ผู้เป็นเขยสร้างก่อนแต่งงาน หรือเขยที่จะมาขออาศัยอยู่กับพ่อตาเป็นการชั่วคราวก่อนขยับขยายหาที่ทางในการประกอบอาชีพและสร้างเรือนใหม่ การสร้างเฮินซูจะนิยมสร้างให้เสร็จภายในวันเดียว โดยภายหลังจัดหาวัสดุเรียบร้อยแล้ว จะเกณฑ์คนในหมู่บ้านมาช่วยกันสร้าง ปัจจุบันการสร้างเฮินซูของชาวผู้ไทไม่ปรากฏแล้ว เนื่องจากหลังแต่งงาน เขยจะมาอาศัยอยู่กับพ่อตาเป็นการถาวร โดยพ่อตาจะยกห้องใดห้องหนึ่งในบ้านให้เป็นเรือนหอ  

สถานที่สำคัญ

วัดหอคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดบ้านคำกั้ง” ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 9 ไร่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2380 ภายในมีสิมเก่า คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 สิมหลังนี้เดิมทีเป็นสิมไม้ก่อสร้างโดยฝีมือช่างชาวญวณ บันไดทางขึ้นมีรูปปั้นพญานาคจากคติความเชื่อว่าเมื่อครั้งสมัยพุทธกาลมีพญานาคมาขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธเจ้าไม่สามารถบวชให้ได้ จึงขอให้มีการสร้างรูปปูนปั้นไว้ที่สิม มีหน้าต่าง 3 บาน แต่เป็นหน้าต่างที่ไม่สามารถเปิดได้ จั่วด้านหน้าสิมเป็นรูปพญาครุฑ ส่วนด้านหลังเป็นรูปเทพพนม ใกล้กันเป็นศาลาการเปรียญหลังใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งธรรมาสน์เสาเดียวประจำวัดหอคำ บ้านคำกั้ง 

วัดป่าพุทธาราม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านคำกั้ง ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และจัดงานเทศกาลทางศาสนาประจำปีต่าง ๆ ของชาวบ้านคำกั้ง อาทิ ประเพณีลอยกระทง เช่นเดียวกับวัดบ้านคำกั้งหรือวัดหอคำ แต่ที่เรียกวัดป่า เนื่องจากสถานที่ตั้งของวัดอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีป่าล้อมรอบ  

วัดป่าพุทธประทานพร ตั้งอยู่ใกล้กับวัดป่าพุทธาราม เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานสำคัญประจำชุมชนบ้านคำกั้ง สถานที่ซึ่งชาวผู้ไทบ้านคำกั้งใช้ในการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา 

ประชากรชุมชนบ้านคำกั้งเป็นชาวผู้ไทที่อพยพเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาทางเทือกเขาภูพานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ ให้ความช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกัน สืบทอดจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด แม้ว่าปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ชาวบ้านคำกั้งยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของชาวผู้ไท  

ผู้ไท

ชาวชุมชนบ้านคำกั้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำนาเป็นหลัก ผลผลิตที่ได้จากการทำนาในแต่ละปีชาวบ้านจะแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะนำไปจำหน่าย และอีกส่วนหนึ่งเก็บใส่ยุ้งฉางไว้บริโภคตลอดทั้งปี เมื่อหมดฤดูกาลผลิต ชาวบ้านคำกั้งจะประกอบอาชีพเสริมคือการทำไร่ ทำสวน งานหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมือง ผ้าย้อมสี ผ้าไหม และงานจักสานต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนบ้านคำกั้งเมื่อยามว่างเว้นจากการทำนา 

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป ชาวบ้านเริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา จึงนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอหรือโรงเรียนประจำจังหวัดแล้วศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาจะนิยมสอบเข้ารับราชการซึ่งเป็นค่านิยมของชาวบ้านในชุมชนเพื่อยกระดับฐานะครอบครัว บางส่วนที่ไม่ได้รับราชการก็จะเลือกประกอบอาชีพอื่น เช่น พนักงานบริษัท ห้างร้าน รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น    

เนื่องจากชาวผู้ไทบ้านคำกั้งมีอาชีพหลักคือการทำนา อาชีพเสริมคือการทำไร่ ทำสวน และการทำหัตถกรรมงานฝีมือต่าง ๆ ฉะนั้น วิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของชาวผู้ไทบ้านคำกั้งจึงหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปกับการลงนา ลงไร่ ทำสวน และทำหัตถกรรม ตามแต่ช่วงเวลาและฤดูกาล 

ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม 

ชาวผู้ไทบ้านคำกั้งมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักคอยยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความศรัทธาในพระพุทธเจ้า และหลักธรรมคำสอนที่สังคายนาไว้ในพระไตรปิฎก มีการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา และวันอัฐมีบูชา ประเพณีพิธีกรรมของชาวผู้ไทบ้านคำกั้งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นเดียวกับประเพณีพิธีกรรมของชาวไทอีสาน ยึดถือ  ฮีตสิบสองและคองสิบสี่ตามแบบอย่างบรรพบุรุษสืบได้ทอดมา ซึ่งการประกอบประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้ นับเป็นวาระโอกาสอันดีที่ทำให้ชาวบ้านคำกั้งได้มาร่วมชุมนุมกัน ประเพณีสิบสองเดือนหรือฮีตสิบสองของชาวผู้ไทบ้านคำกั้ง มีดังนี้ 

  • เดือนอ้าย (เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม : เป็นพิธีกรรมที่พระสงฆ์ผู้กระทำความผิดจะได้สารภาพความผิดต่อหน้าคณะสงฆ์ และสำนึกในความผิดของตน  

  • เดือนยี่ บุญคูณลาน : พิธีกรรมการทำขวัญข้าวหลังนำข้าวขึ้นยุ้ง โดยนิมนต์พระสงมาสวดพระพุทธมนต์และทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ จะเข้าสู่ช่วงของการประพรมน้ำมนต์ไปตามกองข้าว วัว ควาย อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับทำการเกษตรเพื่อความเป็นสิริมงคล 

  • เดือนสาม บุญข้าวจี่ : ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวและอุปกรณ์การทำข้าวจี่มารวมกันที่วัดเพื่อทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ บุญข้าวจี่นี้จะไม่ทำเป็นประจำทุกปี แต่จะเว้นช่วง 2-3 ปี ต่อครั้ง 

  • เดือนสี่ บุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) : เป็นประเพณีสำคัญประจำปีที่ชาวตำบลเหล่าใหญ่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้น โดยพี่น้องชาวตำบลเหล่าใหญ่จะร่วมกันหาปัจจัย เช่น หมอนลายขิด ผ้าห่ม เสื้อผ้า รวมเป็นกองบุญใหญ่ของเครือญาติ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ตำบลเหล่าใหญ่มีผ้าผะเหวดที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี เล่าเรื่องราวการบำเพ็ญทานบารมีบรรพชาติสุดท้ายของพระเวสสันดร  

  • เดือนห้า บุญสงกรานต์ : ประเพณีที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน บุญสงกรานต์นี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบุญรวมญาติก็ได้ เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องได้กลับมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาใรอบปี 

  • เดือนหก บุญบั้งไฟ : บุญบั้งไฟนี้จะไม่มีการกำหนดวันแน่นนอน แต่จะทำการกำหนดวันขึ้นใหม่ในปีที่จะจัดงาน แล้วประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้โดยทั่วกัน ในการเข้าร่วมงานบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวผู้ไท นับเป็นงานประเพณีที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี 

  • เดือนเจ็ด บุญซำฮะ หรือบุญชำระ : งานบุญซำฮะคือการชำระล้างจิตใจให้สะอาดก่อนเข้าพรรษา มีการทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ และทำบุญที่ดินผีปู่ตาให้คุ้มครองหมู่บ้านและคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความวุ่นวาย 

  • เดือนแปด เข้าพรรษา : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ และเวียนเทียนรอบศาลาวัด 

  • เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน : คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ภูตผีไร้ญาติ โดยการนำอาหารใส่กระทงวางไว้ตามโคนไม้หรือชายคาบ้าน เพื่อไม่ให้ภูตผีไร้ญาติมาทำร้ายบุตรหลาน 

  • เดือนสิบ บุญข้าวสาก : บุญข้าวสากหรือกระยาสารท เป็นประเพณีการทำบุญที่จะมีการเขียนสลากแจ้งของสำรับอาหารและเครื่องไทยทานไว้ในถาดอาหาร พระภิกษุรูปใดจับได้สลากสำรับใด ก็รับปัจจัยเครื่องไทยทานของเจ้าภาพผู้นั้น 

  • เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา : จะถูกจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะไปรวมกันที่อุโบสถเพื่อแสดงอาบัติต่อกัน จากนั้นจะทําวัตรและทําปวารณาแทนการสวดปาฏิโมกข์ ส่วนชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารไปทําบุญตักบาตรที่วัดในตอนรุ่งเข้า และถวายผ้าจํานําพรรษาแด่ภิกษุสามเณร ตอนค่ำมีการเวียนเทียน 

  • เดือนสิบสอง บุญกฐิน : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังออกพรรษาภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยการตั้งองค์กฐินไปทอดถวายที่วัด พร้อมสิ่งของปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์เทศน์ฉลองกฐิน 1 กัณฑ์ พร้อมให้ศีลให้พร 

ชาวผู้ไทบ้านคำกั้งมีประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่อดีต และเป็นประเพณีที่ปรากฏเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวผู้ไทเท่านั้น คือ ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท 

ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท เริ่มต้นขึ้นเมื่อหนุ่มสาวผูกสมัครรักใคร่ และตกลงที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน พ่อแม่ฝ่ายชายจะทำ “การโอม” คือการขอหมั้นหมายฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ โดยมีคู่สามีภรรยาซึ่งเป็นแบบอย่างในการครองเรือนมาเป็นตัวกลางในการสู่ขอ เรียกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” ซึ่งต่อไปจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของบ่าวสาว นอกจากนี้ในประเพณีแต่งงานของชาวผู้ไทยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเฆี่ยนเขย คือการให้ฝ่ายหญิงได้บอกกล่าวข้อปฏิบัติต่าง ๆ กับฝ่ายชายว่าสิ่งใดสามารถปฏิบัติได้ หรือสิ่งใดควรละเว้น เป็นต้น  

อนึ่ง ชุมชนผู้ไทบ้านคำกั้งยังปรากฏคติความเชื่อเรื่องตำนานผีบรรพบุรุษและสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ สืบทอดต่อกันมาผ่านเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะตามวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น ความเชื่อเรื่องผีฟ้าพญาแถน ที่เชื่อว่าเป็นผู้ดลบันดาลอำนาจเหนือธรรมชาติให้คุณและโทษ ทั้งกับมนุษย์และอมนุษย์ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ (ผีเสื้อ) และผีมเหสักข์ (ผีเสื้อเมือง) โดยมีพิธีกรรมเหยาเป็นสื่อกลางระหว่างคนกับผีที่เคารพนับถือ  

วัฒนธรรมการกิน 

ด้านวัฒนธรรมการกิน สืบเนื่องมาจากแต่เดิมชาวผู้ไทค่อนข้างพิถีพิถันในการเลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้าน โดยมักจะเลือกพื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขา ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าอันจะเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน ชาวผู้ไทในอดีตไม่นิยมบริโภคเนื้อ ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อไก่ เนื้อเป็ด จะมีราคาถูกมากเนื่องจากไม่เป็นที่นิยม แต่ด้วยพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิต ทำให้ปัจจุบันชาว  ผู้ไทหันมาบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้มากขึ้น ส่วนอุปนิสัยการกิน ชาวผู้ไทมีอุปนิสัยการกินที่เรียบง่าย นิยมรับประทานอาหารเหมือนกับชาวอีสานทั่วไป คือ นิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักคู่กับกับข้าว 1-2 อย่าง หรือผักที่หาได้ในพื้นที่ชุมชนนำมาลวกจิ้มคู่กับน้ำพริก  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

ธรรมาสน์เสาเดียว 

ธรรมาสน์เสาเดียว คือธรรมาสน์ที่มีลักษณะโครงสร้างเสาเดียว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่พบเฉพาะธรรมาสน์ของชาวผู้ไทเท่านั้น ธรรมาสน์เสาเดียวเป็นศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวผู้ไท สะท้อนศรัทธาอันแรงกล้าภายใต้การสร้างมโนคติความเชื่อเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ ผสานรวมหลักไตรภูมิในพระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องหลักกลางบ้านอันเป็นวัฒนธรรมร่วมดั้งเดิมของชาวผู้ไท โดยการนำเอาเสาหลักบ้านมาใช้เป็นเสาตั้งรับธรรมาสน์ แล้วเจาะพื้นศาลาการเปรียญเพื่อฝังเสาธรรมาสน์ลงดินให้เหมือนหลักบ้านเดิม สอดคล้องกับคติการนับถือผีของชาวผู้ไท ทั้งยังอาจมีนัยสำคัญว่าเสาธรรมาสน์ที่ปักลงดินเปรียบเสมือนใจบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการประกอบประเพณีพิธีกรรมการบวงสรวงต่าง ๆ ของชาวผู้ไท  

ธรรมาสน์เสาเดียววัดหอคำตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญหลังใหม่ ฝังเสาธรรมาสน์ลงดิน ใช้สลักยึด ถอดประกอบได้ หลังคาทรงมณฑป 3 ชั้น บริเวณหงส์ของหลังคาตกแต่งด้วยนาคมีหงอนมีเคราด้วยไม้แต้มสีสวยงาม ส่วนฐานตัวเสาตั้งธรรมาสน์สูง 520 เซนติเมตร แกะสลักนูนต่ำแต้มสีเป็นลวดลายเครือเถาดอกไม้ ส่วนฐานที่รองรอบตัวเรือนธรรมาสน์กว้าง 165 เซนติเมตร กว้าง 165 เซนติเมตร แกะสลักเป็นลวดลายฝูงม้าวิ่ง เรือนธรรมาสน์มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 134 เซนติเมตร ยาว 134 เซนติเมตร สูง 1.22 เซนติเมตร ทำด้วยไม้มุจลินทร์หรือไม้จิก ผนังตัวเรือนทำเป็นแป้นไม้ตีประกบชิดกัน มีช่องประตูด้านหลังซึ่งมีขนาดกว้างกว่าทุกช่อง มีไว้สำหรับพาดบันไดขึ้นธรรมาสน์  

การรักษาโรค 

ชาวผู้ไทบ้านคำกั้ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตการดำรงอยู่โดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในอดีตเมื่อครั้งวิทยาการทางการแพทย์รวมถึงการคมนาคมขนส่งยังไม่เจริญก้าวหน้าเทียบเท่าปัจจุบัน ยามชาวผู้ไทซึ่งเป็นสมาชิกในชุมชนเจ็บป่วยก็จะทำการรักษาด้วยสมุนไพร หมอรักษาโรคพื้นบ้าน หรือความเชื่อจากอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์ที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เรียกว่า “หมอธรรม”  

หมอธรรม หมอเหล่านี้เป็นหมอรักษาโรคพื้นบ้านประจำชุมชน เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วย ก็จะพาไปหาหมอเป่าหรือหมอธรรมก่อนเป็นอันดับแรก หมอเหล่านี้จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามตำราและความเชี่ยวชาญของแต่ละท่าน เช่น สมุนไพร (หมอรากไม้) มนต์คาถา (หมอมนต์) การเข้าทรง (หมอทรง) การเหยา (หมอเหยา) ฯลฯ การรักษากับหมอประเภทนี้ ผู้ป่วยจะต้องเตรียมเครื่องคายเพื่อไปขอรับการรักษากับหมอ เรียกว่า “ยกครู” เมื่อรักษาจนหายดีก็ต้องเตรียมเครื่องคายเพื่อ “ปลงคาย”  

ภาษาพูด: ภาษาผู้ไท (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยกลาง (ภาษาราชการ) 

ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง  

ชาวผู้ไทบ้านคำกั้งมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง คือภาษาผู้ไท แต่ไม่มีภาษาเขียน ฉะนั้นชาวผู้ไทบ้านคำกั้งจึงใช้ภาษาไทยกลางในการเขียน และติดต่อสื่อสารทางราชการ 


สืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและวัฒนธรรม ส่งผลให้วิถีชีวิต จารีต ประเพณี และวัฒนธรรมบางประการของชาวผู้ไทบ้านคำกั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาทิ ในอดีตสังคมชาวผู้ไทให้ความสำคัญกับผู้เป็นสามีมาก โดยจะแต่งเครื่องสมมาสามีทุกวันพระ แต่ปัจจุบันหาได้เป็นเช่นนั้นแล้ว ภรรยายังคงให้ความเคารพนับถือสามีอยู่ เพียงแต่ลดพฤติกรรมการปฏิบัติบางประการลงไป ดังการสมมาสามีทุกวันพระก็หาได้ปรากฏในคู่แต่งงานชาวผู้ไทรุ่นใหม่ อย่างมากก็เพียงแต่งเครื่องสมมาในวัน “ออกคำ” (ออกจากการอยู่ไฟ) เพื่อเป็นการขอบคุณสามีที่อดหลับอดนอนหาฟืน หาอาหารมาดูแลภรรยา หรือเรื่องวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร ในอดีตทุกคนในครอบครัวจะต้องมานั่งล้อมวงรับประทานอาหารพร้อมกัน และจะต้องให้ผู้เป็นสามีเริ่มรับประทานก่อน ภรรยาและลูกจึงจะสามารถรับประทานได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้เคร่งดังแต่ก่อน เนื่องจากสมาชิกทุกคนในครอบครัวต่างมีธุระ ภรรยาก็ออกไปทำงานนอกบ้าน หาได้ทำหน้าที่อยู่เป็นแม่บ้านดังเดิม ลูกก็ต้องไปโรงเรียน ฉะนั้นจึงผ่อนปรนให้ลูกและภรรยารับประทานอาหารก่อนได้ รวมถึงค่านิยมเรื่องการส่งบุตรหลานเรียนในระดับสูงเพื่อยกระดับฐานะครอบครัวให้ดีขึ้น ไม่ต้องสืบทอดอาชีพเกษตรกรเป็นหลักเหมือนในอดีต และที่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดที่สุดในสังคมชาวผู้ไทบ้านหนองห้างคือการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่มีความเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จากเดิมที่สร้างปล้านด้วยไม้ ปัจจุบันหันมาสร้างด้วยปูนและคอนกรีต เนื่องจากมีความเป็นสมัยนิยมและคงทนมากกว่าการสสร้างบ้านจากไม้  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิถีชีวิต สภาพสังคม ความเป็นอยู่ จารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวผู้ไทบ้านคำกั้งบางประการจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเพณีวัฒนธรรมดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ได้ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกาภิวัตน์ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คำพันธ์ ยะปะตัง. (2555). ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

เริงวิชญ์ นิลโคตร วงศ์สิริ เรืองศรี ธารารัตน์ สัญญะโม และคณะ. (2564). แนวทางการพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวผู้ไทบ้านคำกั้ง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารสังคมศาสตร์และวัฒนธรรม, 5(2), 6-11. 

สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). วัดหอคำ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566].

เทศบาลเหล่าใหญ่ โทร. 0-4360-2125