Advance search

หนังใหญ่วัดบ้านดอน

อดีตชุมชนกสิกรรมที่ยังคงอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นชุมชนแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดระยองที่มีแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่

4
เชิงเนิน
เมืองระยอง
ระยอง
กนกวรรณ อินต่าย
25 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 เม.ย. 2023
วัดบ้านดอน
หนังใหญ่วัดบ้านดอน

ชื่อชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนเป็นเพียงชื่อเรียกจากกลุ่มภายนอก เนื่องจากชุมชนวัดบ้านดอนมีความโดดเด่นในเรื่องของหนังใหญ่ที่เป็นวัฒนธรรมภายในชุมชน


ชุมชนชนบท

อดีตชุมชนกสิกรรมที่ยังคงอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นชุมชนแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดระยองที่มีแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่

4
เชิงเนิน
เมืองระยอง
ระยอง
21000
12.695050055015614
101.29883891065332
เทศบาลตำบลเชิงเนิน

ชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนนั้นเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองระยอง โดยชุมชนมีวัดบ้านดอนเป็นวัดประจำชุมชน และเป็นที่รู้จักจาก หนังใหญ่ ที่เข้ามามีบทบาทต่อชุมชน เดิมหนังใหญ่นั้นเข้ามาในระยอง โดยพระยาศรีสมุทรโภค ชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) ได้เห็นว่าวัฒนธรรมการเล่นหนังใหญ่  เป็นสิ่งควรค่าที่จะอนุรักษ์สืบทอดไว้  จึงสั่งซื้อตัวหนังใหญ่  จำนวน 200 ตัว  มาจากจังหวัดพัทลุง  ขนส่งข้ามอ่าวไทยมาทางเรือ  พร้อมทั้งจ้างครูหนังมาช่วยในการฝึกสอน  ถ่ายทอดการแสดงให้กับคนของท่านเจ้าเมือง เพื่อแสดงในงานสำคัญๆ มีการจัดเก็บตัวหนังใหญ่และจัดแสดงที่วัดเก๋ง แต่เมื่อวัดบ้านดอนได้สร้างขึ้นมาในราวปี พ.ศ. 2430 จึงได้มีการย้ายตัวหนังมาจัดเก็บและฝึกซ้อมอยู่ที่วัดบ้านดอน 

ในปี พ.ศ.2523  ได้มีการฝึกซ้อมหนังใหญ่และนำออกแสดงตามงานต่างๆ อีกครั้ง เช่น  งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, งานสงกรานต์ เพื่อเป็นการฟื้นฟู การสืบสานศิลปวัฒนธรรมและการละเล่น 

ต่อมาอดีตเจ้าอาวาสบ้านดอน  เห็นว่าควรมีสถานที่เก็บอนุรักษ์ตัวหนังให้ดีกว่าเดิม  เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ศิลปะเก่าแก่อันทรงคุณค่า  จึงริเริ่มโครงการสร้างอาคารเพื่อเก็บหนังใหญ่ และเปิดให้คนได้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ.2534 เป็นต้นมา

ชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนเป็นชุมชนที่มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีการร่วมมือกันของ วัด บ้าน โรงเรียน จนสร้างความสำเร็จโดยแสดงให้เห็นผ่านความเข้มแข็งของชุมชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างหนังใหญ่เอาไว้ซึ่งเยาวชนในชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ

ชาวบ้านในชุมชนจะประกอบอาชีพกสิกรรมบางส่วนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงมีการสร้างเขื่อนฝายปันน้ำในพื้นที่ข้างเคียงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดการน้ำ เมื่อน้ำไม่เพียงพอทำให้ชาวบ้านหันไปประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างในบริษัท และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงแทน รวมถึงรับราชการทั่วไป ส่วนการทำกสิกรรมได้เปลี่ยนไปจากอดีตมีการปรับพื้นที่เป็นนากุ้ง นาบัว แทนนาข้าว 

ชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนนั้นอยู่ห่างจากตัวเมืองระยองประมาณ 4 กิโลเมตร โดยที่ตั้งของชุมชนนั้นเป็นพื้นที่ราบกว้าง มีเนินบ้างเล็กน้อย และมีคลองไหลผ่าน ไม่มีพื้นที่ราบชายฝั่ง พื้นที่ของชุมชนติดกับบ้านค่าย บ้านตาขัน และบ้านแลง 

ระบบเครือญาติของชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนนั้น เป็นครอบครัวขยาย ในอดีตจะมีวัฒนธรรมการสืบทอดหนังใหญ่ แก่คนในครอบครัวเท่านั้น ในปัจจุบันมีการทํางานรับจ้างตามบริษัทและโรงงาน ตลอดจนทําการค้าและรับราชการมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม

กลุ่มอนุรักษ์การนวดแผนไทยวัดบ้านดอน เป็นกลุ่มที่ให้สมาชิกในชุมชนที่สนใจในการนวดไทยไปศึกษาหลักสูตรการนวดในสถาบัน จนได้รับใบประกอบวิชาชีพทางกลุ่มจึงมีการรับเข้ามาทำงานสร้างรายได้ให้กับตนเอง และรายได้ส่วนหนึ่งมีการช่วยค่าใช้จ่ายให้กับวัดบ้านดอน

ชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนนั้นเป็นชุมชนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้นจะเป็นรูปแบบเดียวกับชุมชนชาวพุทธในพื้นที่อื่น ๆ แต่ยังคงมีประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพส่วนใหญ่ของชุมชนอย่างการทำนา ซึ่งมีดังนี้

  • การทำขวัญข้าว มีการใช้บายศรีพร้อมเครื่องบูชา ขนมต้มขาวขนมต้มแดงหรือขนมไทยอื่น ๆ และขันน้ำพระพุทธมนต์ วางบนเสื่อที่มีการจัดวางในยุ้งฉางของชาวบ้าน มีการเชิญหมอขวัญเพื่อทำพิธีเมื่อเสร็จพิธีจึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมในยุ้งฉาง และเครื่องมือการทำนา 
  • การทำบุญลาน เมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จในปีนั้น ๆ จะมีการกำหนดวันเพื่อทำบุญ โดยจะทำกันที่ลานชายทุ่งบางครั้งอาจไปทำร่วมกับชุมชนอื่น โดยวันงานจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์เย็น โดยจะนิยมข้าวหลาม และมีงานรื่นเริง เช่น หนังใหญ่ ลิเก มีการทำบุญด้วยข้าวเปลือกซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระแม่โพสพ 
  • การทำบุญกลางทุ่ง (บุญขอฝน) จะมีการเลือกสถานที่และนำดินเหนียวปั้นเป็นปลาช่อน 2 ตัววางบนบ่อหรือแอ่งขนาดเล็ก ปลูกศาลเพียงตา ปักฉัตรหรือเพียงแค่จัดเหมือนการทำบุญทั่วไปมีการนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น และสวดบทขอฝน รุ่งขึ้นจึงถวายภัตตาหารเช้า และพระสงฆ์จะสวดบทขอฝนอีกครั้ง
  • งานบุญกลางบ้าน ชาวบ้านจะขนทรายมากองไว้ โดยเรียกว่ากองพระทราย ในก่อนช่วงเวลาสวดมนต์เย็น โดยจะใช้ดอกไม้ ธูป เทียน สายสิญจน์ มาปักไว้ที่กองทราย และจัดกิจกรรมสร้างความสนุกสนานต่างๆ วันต่อมาในช่วงเช้า 6.00-7.00 น จึงนำเอาอาหารมารวมตัวกันที่ศาลา และเขียนชื่อผู้ล่วงลับเพื่อให้พระสงฆ์ทำบังสุกุลตามพิธี และมีการนำเอาอาหารที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลเสร็จแล้วใส่เรือที่ทำจากกาบหมากหรือใบตองลอยลงแม่น้ำ
  • ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสงกรานต์ของชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนนั้นจะมีระยะเวลาที่มากกว่าพื้นที่อื่น โดยจะใช้เวลากว่าครึ่งเดือนและทำบุญวันสุดท้ายคือ 28 เมษายนของทุกปี ซึ่งระหว่างนั้นจะมีการทำบุญในหมู่บ้าน

  • นายอำนาจ มณีแสง  ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เป็นอดีตผู้ดูแลควบคุมหนังใหญ่วัดบ้านดอน เป็นผู้ที่ริเริ่มพลิกฟื้นหนังใหญ่วัดบ้านดอน และฝึกสอนเยาวชนในชุมชนในการเชิด รวมถึงเล่นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดง เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน
  • นายอำไพ บุญรอด  เป็นผู้พากย์หนังใหญ่ให้แก่คณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน มีการพัฒนาบทการพากย์โดยใช้ภาษาระยองเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่สืบสานอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน เป็นผู้ดูแล ให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา และประชาชนที่ต้องการเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับหนังใหญ่วัดบ้านดอน

ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาในท้องถิ่น 

  • วัดบ้านดอน เป็นวัดประจำชุมชนเดิมชื่อ วัดสระประทุม เนื่องจากพื้นที่ทางใต้ของวัดมีสระบัวขนาดใหญ่ วัดบ้านดอนสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2432 โดยที่ดินที่ใช้ในการสร้างวัดนั้นเป็นที่ดินของขุนจ่าเมืองระยอง ที่ส่งต่อให้บุตรคือนายวรณ์ที่เป็นผู้มอบที่ดินให้สร้างวัด วัดบ้านดอนได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2478 ทั้งนี้เมื่อขุนจ่าเสียชีวิตจึงมีการสร้างศาลหลวงจ่าขึ้นในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุโบสถ และเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน วัดบ้านดอนเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการจัดการอนุรักษ์หนังใหญ่ในพื้นที่
  • หนังใหญ่วัดบ้านดอน มีอายุกว่า 200 ปี มีการนำเข้าตัวหนังมาจากพัทลุง โดยพระยาศรีสมุทรโภค ชัยโชคชิตสงคราม แต่เดิมมีหนังใหญ่กว่า 200 ตัว และมีครูหนังที่จ้างมาให้ฝึกสอนคนในปกครอง ซึ่งหนังใหญ่มักจัดแสดงในงานสำคัญต่าง ๆ และมีการจัดเก็บไว้ที่วัดเก๋ง เมื่อวัดบ้านดอนสร้างเสร็จจึงได้ย้ายมาจัดเก็บที่วัดบ้านดอน และมีการรื้อฟื้นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
  • พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการดัดแปลงศาลาธรรมสังเวชหลังเก่าของวัดบ้านดอน เพื่อจัดแสดงตัวหนังที่ยังคงสมบูรณ์ รวมถึงเป็นสถานที่จัดเก็บตัวหนังและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน รวมถึงผู้ที่ต้องการเข้ามาศึกษา ทั้งนี้บริเวณใกล้เคียงจะมีโรงละครหนังใหญ่ ซึ่งจะถูกใช้ในการจัดแสดงหนังใหญ่และเป็นสถานที่ฝึกซ้อมหนังใหญ่

ชาวบ้านในชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอน ยังคงมีการพูดภาษาถิ่น หรือ ภาษาระยองที่ถือว่าเป็นภาษาไทยกลางแต่การออกเสียงนั้นจะคล้ายกับสำเนียงภาษาพูดของชาวจันทบุรี ชาวตราด โดยจะมีคำเฉพาะที่เป็นคำพูดในภาษาระยองแต่ปัจจุบันคนที่พูดภาษาระยองนั้นมีจำนวนน้อยลงมากเนื่องจากเยาวชนรุ่นหลังนั้นไม่ได้สานต่อมีเพียงเยาวชนส่วนน้อยเท่านั้นพูดหรือเข้าใจภาษาระยองได้ 


ชุมชนหนังใหญ่วัดบ้านดอนต้องพบกับปัญหาการพัฒนาของเทคโนโลยี และการพัฒนาของบ้านเมืองที่เสี่ยงต่อการที่วัฒนธรรมภายในชุมชนจะสูญหาย เนื่องจากหนังใหญ่วัดบ้านดอนนั้นเคยซบเซาลงอย่างมากแต่ก็มีการพัฒนาจนกลายมาเป็นที่รู้จัก โดยการได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างแท้จริง มีการให้เยาวชนในชุมชนเข้ามาสืบสานต่อ ทั้งการเชิด การวาด และการแกะตัวหนังใหญ่ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และสืบสานวัฒนธรรมภายในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เทศบาลตำบลเชิงเนิน. (2562). ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลเชิงเนิน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://www.choengnoen.go.th/news_km.

ดำริห์ การควรคิด. (2551). การวิจัยแบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายวัฒนธรรมและชุมชน ในการบริหารจัดการวัฒนธรรม : กรณีศึกษาหนังใหญ่วัดบ้านดอน ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง. (รายงานผลวิจัย). ม.ป.ท, ม.ป.ป.

องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง. (2562). ภาษาระยอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก http://new.rayong-pao.go.th/web/th/agencies/6/detail-news/N0000159.html.

อิษฎา ภัทรปรีชาวิทย์. (2550). หนังใหญ่ : กรณีศึกษาหนังใหญ่วัดบ้านดอน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีชาติพันธุ์วิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.