ชุมชนที่มีนับถือศาสนาคริสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
คำว่า "ท่าแร่" ที่ปรากฏขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรพบในบันทึก "สำเนาหนังสือออกและคดีความ" เลขที่ 10 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ที่บาทหลวงกอมบูริเออ เขียนถึงพระวิชิตพลหาร ผู้ช่วยเมืองสกลนคร จึงได้ใช้ชื่อว่า "บ้านท่าแร่" โดยเขียนต้นหนังสือฉบับนั้นว่า "ที่สำนักท่านบาทหลวง บ้านท่าแร่" ส่วนสำเนียงการออกเสียงของภาษาผู้คนท้องถิ่น จะออกเสียงว่า "บ้านท่าแฮ่"
ชุมชนที่มีนับถือศาสนาคริสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ท่าแร่เป็นชุมชนศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอาสนวิหารอัครเทวดา มีคาแอล บ้านโบราณ เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้ประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมากถึง 136 ปี ชุมชนท่าแร่สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเมื่อ พ.ศ. 2427 ด้วยสาเหตุจากการเบียดเบียนทางศาสนาที่เกิดขึ้นภายในเมืองสกลนครจึงทำให้บาทหลวงซาเวียร์ เกโก เคลื่อนย้ายผู้คนที่เป็นชาวคริสตังออกจากพื้นที่ด้วยแรงอธิษฐานต่อเทวดามิคาแอล ขอให้พบดินแดนใหม่ในการเผยแพร่คริสต์ศาสนา การเดินทางในครั้งนั้นกระแสลมได้พัดพาเรือใบที่ชาวคริสตังช่วยกันสร้างขึ้นลอยมายังทางทิศเหนือของหนองหาร คือ ชุมชนท่าแร่
หลังจากนั้นบาทหลวงโปรดม ได้ให้บาทหลวงยอร์ช ดาแบง เดินทางมาเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่สกลนคร และตามมาถึงท่าแร่ พบว่ามีบ้าน 2-3 หลังกับโรงเรือนที่ใช้เป็นวัดเท่านั้นที่สร้างเสร็จ ส่วนผู้คนประมาณ 150 คน พักนอนในเพิงที่มุงด้วยหญ้าแฝกอยู่กับพื้นดิน ขณะนั้นมีคริสตังสำรองชาวญวณ 10 ครอบครัว และคริสตังสำรองชาวไทยอีสาน (เชื้อสายลาว) 10 ครอบครัว กลุ่มคริสตชนท่าแร่เจริญขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีครอบครัวใหม่มาตั้งหลักแหล่งเพิ่มขึ้นวัดหลังแรกที่สร้างขึ้นเป็นโรงเรือนชั่วคราวตั้งชื่อว่า "วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร"
ต่อมาภายใต้การดูแลของบาทหลวง ยอแซฟ กอมบูริเออ ได้จัดการวางผังหมู่บ้านและการตั้งบ้านเรือนตามหลักวิชาสมัยใหม่ (แนวคิดแบบตะวันตก) โดยได้ร่วมแรงร่วมใจกับผู้คนในชุมชนตัดถนนตรงแนวเป็นตารางหมากรุก และแบ่งเขตพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจน ได้แก่บริเวณวัด (โบสถ์) เป็นศูนย์กลางของชุมชน อารามแม่ชีสุสาน และมีเขตพื้นที่อาศัยของชาวคริสตชนตั้งอยู่โดยรอบ โดยจัดให้สัตบุรุษตั้งบ้านอยู่ 2 ฟาก คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตกอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหมวดคุ้ม ดังนี้ ด้านตะวันออกของวัดจัดให้เป็นคนกลุ่มไทยเหนืออาศัย มีขุนบรรจง (บิดาของนายห้อยแสง) เป็นหัวหน้า ซึ่งเรียกคุ้มนี้ว่า "คุ้มกลาง" ถัดไปคือ "คุ้มท่าแร่" โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ที่คุ้มนี้ส่วนมากเป็นคนที่เคลื่อนย้ายมาจากเมืองสกลนครอาศัยอยู่ โดยมีขุนพิทักษ์ (บิดากำนันอิ้ม) เป็นหัวหน้า ซึ่งในปัจจุบันได้แก่ผู้ที่ใช้นามสกุล เสมอพิทักษ์ และยงบรรทม ทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาวเวียดนาม เรียกว่า “คุ้มแกว” มีหลวงประเทศ และหมื่นเดช เป็นหัวหน้า บริเวณคุ้มนี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มตระกูล โสรินทร์, อุดมเดช, กายราช, สกนธวัฒน์ และศรีวรกุล
ในช่วงหลัง พ.ศ. 2463 คือ การที่ชาวเวียดนามกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจำนวนมากทางด้านทิศตะวันตก เรียกว่า "คุ้มบ้านใหม่" สาเหตุที่ชาวเวียดนามเคลื่อนย้ายอพยพเข้ามาจังหวัดสกลนคร เพราะ สงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2457-2461 ทำให้เกิดภาวะที่ทำให้ผู้คนเหล่านี้ต้องดิ้นรน เพื่อหนีภัยทางสงคราม ประกอบกับในขณะนั้นประเทศเวียดนามเกิดความแห้งแล้ง อดยาก และการอพยพในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482-2484 กลุ่มชาวเวียดนามที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ "คุ้มบ้านใหม่" ทางชุมชนเลือกให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทางบ้านเณร ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ไกลออกไปจากตัวชุมชน โดยสภาพของพื้นที่เป็นป่าทึบ ซึ่งคนในชุมชน เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า "ญวนอพยพ" ส่วนชาวเวียดนามที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนในชุมชนเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า "ญวนใหม่"
เมื่อ พ.ศ. 2484-2488 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงครามได้นำพาประเทศไทยเข้าสู่สงครามโดยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ที่เป็นคู่ตรงข้ามกับประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ได้สร้างบรรยากาศขุ่นมัวทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2483 รัฐบาลไทยได้เสนอให้รัฐบาลฝรั่งเศสสำรวจเขตแนวดินแดนไทย อินโดจีน โดยอ้างว่าดินแดนที่ไทยเสียไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังปักแนวเขตแดนไม่เรียบร้อย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธและนำไปสู่การใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหาที่เรียกว่า "กรณีพิพาทอินโดจีน หรือ สงครามอินโดจีน" และประกาศออกมาการสร้างนโยบายชาตินิยม ซึ่งนโยบายมุ่งเน้นการทำนุบำรุงประเทศไทย ให้เจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยให้คนไทยเป็นผู้มีวัฒนธรรม และประกอบอาชีพสุจริต และเพื่อให้คนไทยไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาใดต้องมีความสำนึกถึงความเป็นไทยด้วย ตามข้อกำหนดของรัฐนิยม ซึ่งรัฐนิยมในที่นี้หมายถึง ประเพณีนิยมที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศในรูปแบบของคณะสำนักรัฐมนตรี มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนปฏิบัติตามเพื่อความเจริญของประเทศชาติ รัฐนิยมประกาศใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2482-2485 รวมทั้งหมด 12 ฉบับ เป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาล แต่ที่น่าสนใจ คือ รัฐนิยม 12 ฉบับนี้ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือศาสนาของคนชนชาติใด
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้ประกาศสงครามอินโดจีนกับประเทศฝรั่งเศส ภายใต้การประกาศสงคราม การเบียดเบียนทางศาสนาได้เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะมีแนวความคิดที่ว่ากลุ่มคนที่เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย และอุดรธานี ที่นับถือศาสนาคริสต์ นั้นเป็นแนวร่วมของประเทศฝรั่งเศส วัดอารามถูกปิด บ้านพักสงฆ์ของมีค่าต่าง ๆ ถูกริบและทำลาย และห้ามไม่ให้คริสตชนปฏิบัติศาสนกิจ ถูกข่มขู่และถูกบังคับให้เลิกศาสนาใครที่ไม่ปฏิบัติตามได้รับโทษด้วยการจับติดคุก หรือถูกสังหาร เช่น กรณีที่บ้านสองคอน อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ส่วนกรณีที่จังหวัดสกลนคร บาทหลวงเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล และบาทหลวงอันตนคำผง กายราช ถูกจับกุมขังที่เรือนจำสกลนครเป็นเวลา 2 เดือน ภายหลังบาทหลวงศรีนวล ศรีวรกุล ถูกปล่อยตัวได้ออกเยี่ยมและให้กำลังใจชาวคริสตชนตามวัดต่าง ๆ ให้ต่อสู้กับความลำบากอย่างอดทน
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนท่าแร่ ในความทรงจำของผู้คนที่มีต่อเหตุการณ์ ในครั้งนี้ได้สะท้อนถึงการเบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ในกรณีที่ผู้คนที่ศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาถูกข่มขู่เอาชีวิตด้วยอาวุธปืนว่าต้องเปลี่ยนศาสนา แต่ด้วยกล้าหาญแรงศรัทธาในความเชื่อต่อพระผู้เป็นเจ้า "เขาประกาศว่ายังไงก็ไม่เปลี่ยนศาสนา ถึงแม้ตัวตายก็ยอม ส่วนบางคนที่ยอมเปลี่ยนศาสนา เพื่อรักษาชีวิตของตนเองไว้ก็มี ถ้าผู้ใดยอมสละชีวิตของตนเองที่มีต่อความเชื่อ เราเรียกคนเหล่านั้นว่า Maratyr", สัมภาษณ์) จนกระทั่ง พ.ศ. 2488 สิ้นสุดการเบียดเบียนทางศาสนาผู้คนที่เคยเปลี่ยนใจหันไปนับถือศาสนาพุทธได้เปลี่ยนศาสนากลับมานับถือ ศาสนาคริสต์ อีกครั้ง ด้านการฟื้นฟูจิตใจและพลังศรัทธาคริสต์ศาสนาของชุมชนท่าแร่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา หลังจากสถานการณ์ความตึงเครียดได้คลายตัวลง บาทหลวงศรีนวล อุปสังฆราชได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อขอคืนทรัพย์สินของวัดที่ถูกทางการยึดไป โดยมอบให้คุณพ่อคำผง กายราช และคุณพ่อวิกเตอร์ ถิ่นวัลย์ เป็นผู้แทนเดินทางไปรับสิ่งของ แต่ผู้ว่าราชการในขณะนั้นได้ปฏิเสธ จึงทำให้บาทหลวงศรีนวล เดินทางไปพบพระสังฆราชซอตตี รักษาการผู้ปกครองมิสซังราชบุรี โดยปรึกษากันและร่วมกันทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2487 โดยมีความต้องการที่ขอคืนทรัพย์สินที่ยึดไป และขอคืนอาคารสถานที่ที่ทางการที่เข้าครอบครอง พร้อมเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ ในสมัยรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และคืนทรัพย์สินให้วัด และมิสซัง โดยมีคุณพ่อซามูแอล สมุห์ พาณิชเกษม เป็นผู้ไปรับมอบ แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่สูญหาย และบางอย่างชำรุดใช้การไม่ได้
ความโดดเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนท่าแร่ คือ ประเพณีแห่ดาว เป็นการจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกันเองของคนภายในชุมชนที่มีความเชื่อและได้ปฏิบัติประเพณีนี้มานานตั้งแต่ในช่วงตั้งชุมชน การแห่ดาวที่ท่าแร่มีประวัติยาวนานไม่น้อยกว่า 100 ปีมาแล้ว โดยคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเป็นผู้ริเริ่ม ณ ชุมชนท่าแร่ ความเชื่อในประเพณีแห่ดาวเป็นสิ่งที่ชาวคริสต์จัดขึ้นในเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวคริสต์ทั่วโลกปฏิบัติกันสืบทอดมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีการจัดงานจัดขึ้นในกลางคืนของที่ 25 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่บรรดาโหราจารย์ (พญา 3 องค์) ได้ติดตามดาวดวงหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นดาวประจำพระองค์ของผู้ที่ประสูติมาเพื่อเป็นกษัตริย์ของชาวยิวจึงต้องการไปนมัสการพระองค์ ดาวดวงนั้นได้นำพวกเขาไปที่เมืองเบธเลเฮมพบพระกุมารเยซูที่กำลังบรรทมอยู่ในรางหญ้า ดังนั้นการแห่ดาวจึงถือว่าเป็นกิจกรรมเพื่อระลึกถึงการประสูติของพระเยซูเจ้านั่นเอง สถานที่ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่ถือปฏิบัติในวันคริสต์มาส เพื่อรำลึกถึงวันประสูติของพระเยซู ผู้ที่ถือว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้าของชาวคริสต์ คือบริเวณโบสถ์และรอบชุมชน
พ.ศ. 2525 พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ประมุขของอัครสังฆมณฑล ท่าแร่-หนองแสง สร้างสำนักมิสซังแห่งใหม่ที่สกลนครและย้ายที่ทำการมาแห่งใหม่ โดยได้มอบหมายให้ชุมชนท่าแร่ ที่มีสถานภาพที่เป็นชุมชนคริสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการเผยแพร่ศาสนาให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและสร้างความสามัคคีระหว่างผู้คนต่างศาสนา ที่สอดคล้องกับนโยบายของกรุงโรม ท่านเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกและนำในการแห่ดาวและประดับดาวบนรถบุษบก ถ้ำพระกุมารดาวที่ใช้ในขบวนแห่งโดยแห่จากศาลากลางจังหวัดสกลนครไปยัง โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ สกลนคร โดยพัฒนารูปแบบการแห่ดาว ส่วนการแห่ดาวในชุมชนได้มีการพัฒนารูปแบบจากเดิม กล่าวคือจากการเดินแห่มาใช้ยานพาหนะแทน เช่น สามล้อปั่น จำนวน 20 คัน รถจักรยานยนต์ 4-5 คันและรถยนต์จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มากนัก เพิ่มสีสันด้วยการประดับดาว ตกแต่งพระกุมาร ตกแต่งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ให้สวยงามขึ้นด้วยไฟ แสง สี เสียงในระดับหนึ่ง
การแห่ดาวที่สกลนครค่อย ๆ พัฒนาขึ้นโดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ได้เชิญขบวนรถดาวจากวัดหรือหมู่บ้านคาทอลิกอื่น ๆ มาร่วมแห่และประกวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปีจากจำนวน 20-30 ดวง เพิ่มเป็น 150-200 ดวง ตามลำดับ ด้วยการประดับ ประดาด้วยความประณีตยิ่งขึ้นนอกนั้นมีการประกวดร้องเพลงคริสต์มาส ประกวดซานตาคลอส ร้องเพลงคริสต์มาสประสานเสียง การแสดงบนเวที ละครเทวดาเล่าประวัติการประสูติของพระเยซูเจ้า มีพิธีเปิดงานแห่ดาวและอวยพรคริสต์มาสอย่างสง่าและมีแบบแผนมากขึ้นด้วย และที่สำคัญรูปแบบของการจัดงานได้มีการจัดกิจกรรมประเพณีแห่ดาว เป็น 2 วันกล่าวคือ วันที่ 24 ธันวาคม เป็นการจัดขึ้นภายในชุมชนท่าแร่ และในวันที่ 25 ธันวาคม เป็นการนำขบวนแห่ที่ตัวเมืองจังหวัดสกลนคร ซึ่งเมื่อนำขบวนเข้ามาแห่ภายในเมืองเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นในการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาวคริสต์เป็นผู้ประกอบการ ธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในเมืองเข้ามามีส่วนร่วมนำรถที่ประดับประดาอย่างสวยงามร่วมในประเพณีแห่ดาว ที่นำมาสู่เหตุการณ์ครั้งสำคัญโดยเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท.) ผู้นำของรัฐ คือนายปรานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร (ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น) ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ชุมชนท่าแร่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ที่ต้องปรับตัวจากนโยบายที่เกิดขึ้น โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีการบริหารจัดการและประกวดเข้ามา แม้ว่าในปัจจุบันประเพณีแห่ดาว ถูกยกระดับจากท้องถิ่นสู่งานระดับประเทศ ที่ได้รับความสนใจจากชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียงที่ยืนรอชมขบวนรถแห่ดาว เป็นอย่างมาก จากเดิมที่แห่ภายในชุมชน ต่อมาได้แห่ขบวนเข้าเมืองสกลนคร นี้อาจเป็นนัยยะหนึ่งที่ศาสนจักรใช้ประเพณีนี้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศาสนาให้พวกผู้คนได้รู้จัก "ชาวคริสต์ท่าแร่"
ชุมชนท่าแร่ ตั้งอยู่ที่ ถนนนิตโย (ทางหลวงหมายเลข 22 อุดรธานี-นครพนม) ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นชุมชนคริสต์ศาสนา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พื้นที่ของชุมชนท่าแร่ เป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของเทศบาลตำบลท่าแร่ มีอาณาเขตพื้นที่ 2.193 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์และตำบลนาแก้ว อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร
- ทิศใต้ ติดกับ หนองหาร แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ของจังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลนาแก้ว อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร
ประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์ประมาณ 12,000 คน ซึ่งประชากรจำนวนเหล่านี้กระจายตัวอยู่ใน 7 หมู่บ้าน จากทั้ง 12 หมู่บ้านภายใต้การปกครองของเทศบาลตำบลท่าแร่ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนประกอบด้วยกลุ่มคนไทยเชื้อสายเวียดนามและกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ กลุ่มสายตระกูลที่มีความเก่าแก่ของชุมชนประกอบด้วย โสรินทร์ อุดมเดช ศรีวรกุล เสมอพิทักษ์ กายราช
ญ้อ, เวียดนาม- ชมรมเวชบุคคลคาทอลิกอัครสังฆมณฑลท่าเเร่-หนองแสง เป็นชมรมที่บริการเรื่องการรักษาพยาบาล ที่ออกหน่วยไปยังชุมชนต่าง ๆ
วิถีชีวิตของผู้คนมีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย และรับราชการ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามหน้าที่ของแต่ละบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อวิถีชีวิต คือ คริสต์ศาสนา โดยเฉพาะวันอาทิตย์ที่ทุกคนต้องเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพียงกัน ส่วนด้านปฏิทินชุมชนนั้นเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีแห่ดาว เป็นสิ่งที่ชาวคริสต์จัดขึ้นในเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวคริสต์ทั่วโลกปฏิบัติกันสืบทอดมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี การจัดงานจัดขึ้นในกลางคืนของที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ประเพณีการแห่ศีลมหาสนิท ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นต้น
1.นายสุรพล ศรีวรกุล ข้าราชการบำนาญ เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้และอธิบายเรื่องของประวัติศาสตร์ของชุมชนท่าแร่
อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล มิสซังท่าแร่-หนองแสง
สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของชุมชน เพราะรูปแบบมีการสร้างให้คล้ายกับรูปเรือ ที่เคลื่อนย้ายพาผู้คนออกจากเมืองสกลนครมาตั้งถิ่นฐาน ณ ชุมชนท่าแร่ ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนท่าแร่ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่ตั้งอยู่กลางชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ให้ผู้คนเข้ามาศึกษาเรื่องราว ความเชื่อ คำสอนของศาสนาคริสต์ และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนท่าแร่
ผู้คนในชุมชน ใช้ภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร ส่วนภาษาท้องถิ่นมีสำเนียงการพูดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ
ด้านทรัพยากรที่เป็นมรดกของชุมชน เช่น บ้านโบราณ ที่ได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและได้รับความนิยมจากบุคคลภายนอก จึงทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ของบ้านโบราณและชุมชนท่าแร่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว
- อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล มิสซังท่าแร่-หนองแสง
- อนุสาวรีย์ อัครเทวดามีคาแอล (อาคารเซนต์ไมเคิล) สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงอัครเทวดามิคาแอล
- อนุสาวรีย์บาทหลวงกอมบูริเออ
- หอระฆังโบราณ ใช้เป็นที่ตีระฆังให้สัญญาณปลุกเรียกให้ชาวท่าแร่ที่นับถือคริสต์ เข้าโบสถ์เพื่อฟังมิสซาในตอนเช้าและทุกวันอาทิตย์ซึ่งถือว่าเป็นวันพระเจ้า เหตุที่สร้างสูง ๆ ก็เพื่อเวลาตีจะส่งสัญญาณให้ชาวบ้านที่อยู่ไกล ๆ ตื่นได้ยิน และมาฟังมิสซาพร้อมกัน
- สุสานศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวท่าแร่ที่นับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก เพราะมีความเชื่อว่าสักวันหนึ่งทุกคน คือทั้งคนเป็นและคนตาย ได้รับการพิพากษาความดีและความชอบที่ตนได้กระทำเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในโลกนี้ เรียกอีกอย่างว่าวันพิพากษาประมวลพร้อม ในวันสิ้นโลก
- อารามรักกางเขนแห่งท่าแร่ เป็นสถานที่พำนักของนักบวชหญิงนิกายโรมันคาทอลิกที่เรียกว่า ซิสเตอร์ และเป็นสถานที่ฝึกเตรียมตัวที่จะเป็นนักบวชในคณะนี้ เริ่มเข้าฝึกแต่จบชั้นประถมศึกษา 6 ถึง มัธยมศึกษา 6
- บ้านเณรแม่พระฟาติมาท่าแร่ เป็นสถานที่ฝึกของคณะนักบวชที่จะเป็นพระสงฆ์เริ่มจากการเข้าฝึกที่บ้านเณรแห่งนี้ ตั้งแต่จบ ประถมศึกษา 6 ถึง มัธยมศึกษา 6 เพื่อเตรียมการเป็นพระสงฆ์ในอนาคตข้างหน้า
- อารามชีลับ เป็นสถานที่พำนักของนักบวชหญิงนิกายโรมันคาทอลิก คณะฟังซิส หรือเรียกอีกอย่างว่า อารามชีมืด เป็นอารามเฉพาะนักบวชหญิง ที่เฝ้าบำเพ็ญเพียรภาวนาและทำงานอยู่แต่ภายในสำนักไม่ได้ไปไหนตลอดชีวิต ตามคำปฏิญาณที่ว่า "ภาวนาและทำงาน"
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟท่าแร่ เหตุที่ใช้ชื่อเซนต์โยเซฟ เนื่องมาจากความต้องการให้ โรงเรียนเป็นอนุสรณ์แด่บาทหลวงโยเซฟ กอมบูรีเออร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ผู้นำคริสต์ศาสนามาเผยแผ่ที่ท่าแร่ ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านท่าแร่ด้วย อีกทั้งเพื่อต้องการถวายเกียรติแด่ท่านนักบุญโยเซฟ นักบุญ องค์อุปถัมภ์ของโรงเรียนเซนต์โยเซฟท่าแร่ ปัจจุบันนี้โรงเรียนเซนต์โยเซฟท่าแร่ ตั้งอยู่เลขที่ 31 หมู่ที่ 6 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
กัณฐิกา กล่อมสุวรรณ. (2564). ข้างหลังภาพ ... ท่าแร่ : ชุมชนโบราณบนแผ่นดินอีสาน. วารสารเมืองโบราณ, ปีที่47 ฉบับวันที่ 1 มกราคม-มีนาคม
ขวัญ ถิ่นวัลย์ บรรณาธิการ. (2563). สืบสานพันธกิจและตามรอยธรรมทูต. สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์.
นิทัศน์ เสมอพิทักษ์และคณะ. (2561). รอยแผลแห่งความเชื่อในอดีตของชาวท่าแร่. สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์.
ปฐม หงษ์สุวรรณ. (2555). ประเพณีแห่ดาว : เวทีการต่อรองเพื่อนิยามตัวตนความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม. วารสารศิลปวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม.
ปริญญา เสมอพิทักษ์. (บ.ก.). (2556). หนังสืออนุสรณ์ 125 ปี ท่าแร่ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 125 ปี ของการก่อตั้งคริสตชนท่าแร่ ค.ศ. 2009. สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์.