Advance search

บ้านแกดำ

ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนการท่องเที่ยวของจังหวัดมหาสารคาม

หมู่ที่ 1 ถนนสุขาภิบาล 9
ชุมชนบ้านแกดำ
แกดำ
แกดำ
มหาสารคาม
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
11 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
17 เม.ย. 2023
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
30 เม.ย. 2023
บ้านแกดำ

ภายในชุมชนมีต้นไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ลำต้นเป็นสีครั่ง (สีเลือดหมู/ดำ) เรียกว่าต้นสะแกครั่ง หรือ สะแกดำ จึงทำให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณดอนป่าช้าน้อย (ปัจจุบันที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแกดำ) และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสะแกดำ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น บ้านแกดำ


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนการท่องเที่ยวของจังหวัดมหาสารคาม

ชุมชนบ้านแกดำ
หมู่ที่ 1 ถนนสุขาภิบาล 9
แกดำ
แกดำ
มหาสารคาม
44190
เทศบาลแกดำ โทร. 0-4378-7043
16.02556836
103.388359
เทศบาลตำบลแกดำ

ชุมชนแกดำ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณ พ.ศ.2338 มีนายพราน จำนวน 5 คน และพระสงฆ์ สามเณร ร่วมเดินทางบ้านจากบ้านเว่อ หนองไหล  จังหวัดร้อยเอ็ด มาล่าสัตว์ได้เดินทางลัดเลาะริมแม่น้ำชีและป่าหนาทึบ เส้นทางการเดินทางได้ผ่าน กุดเชียงสา บ้านหนองข่าโปโล เรื่อยมาจนถึงบ้านเสือโก้ก อำเภอวาปีปทุม ซึ่งเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ และ ปลา สัตว์ป่า นายพรานทั้ง 5 คนจึงตัดสินใจพักแรมที่บริเวณนี้ จากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทำให้กลุ่มนายพราน จะกลับไปยังบ้านเว่อ  เพื่อชักชวนผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณนี้และแล้วได้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นกับ สามเณร ถูกเสือกัดจนเสียชีวิต ทำให้นายพราน ที่เป็นบิดาของสามเณร ตัดสินใจเดินทางกลับไปยังบ้านเว่อ ส่วนนายพราน 4 คน เกรงกลัวอันตราย เพราะเสือยังออกอาละวาด จึงได้ออกเดินทางเรื่อยมาจนมาถึง “ห้วยแกดำ” และพื้นที่บริเวณรอบๆห้วยแกดำ เป็นเนินดินมีลักษณะคล้ายหลังเต่า อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เช่น ต้นแคน (ตะเคียน) ต้นหมากค่า และต้นสะแกดำ จนกระทั้งนายพรานได้เดินทางกลับไปยังบ้านเว่อ และได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้กับคนในหมู่บ้านฟัง

พระจ้อย ได้ยินได้ฟังจึงอยากเห็นด้วยตนเอง จึงได้ออกเดินทางมาพร้อมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เพื่อมายัง “ห้วยแกดำ” และได้พบเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ลำต้นเป็นสีครั่ง (สีเลือดหมู/ดำ) เรียกว่าต้นสะแกครั่ง หรือ สะแกดำ จึงทำให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณดอนป่าช้าน้อย (ปัจจุบันที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแกดำ) และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสะแกดำ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น บ้านแกดำ

ในช่วงประมาณ พ.ศ.2404 เมื่อผู้คนมีจำนวนมากขึ้นหลวงปู่จ้อย ได้พาชาวบ้านขยายบ้านเรือนมายังบริเวณทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณหนองแกดำและสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้น เรียกว่า “วัดดาวดึงส์” ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่พึ่งพา อาศัยธรรมชาติในการดำรงชีพ เช่นการใช้น้ำจากหนองแกดำ สำหรับการอุปโภค และหาปลา ส่วนบริโภค ชาวบ้านขุดน้ำส่างไว้ดื่มกินในครอบครัว

ประมาณ พ.ศ.2456 ชาวบ้านภายในชุมชนจึงได้มีการขยับขยายแยกบ้านออกไปยังพื้นที่บริเวณข้างเคียง เพื่อการสร้างวัดโพธิ์ศรีแกดำ ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล (วัดดาวดึงส์) (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลแกดำ) ในปีพ.ศ. 2496 ได้ขุดลอกพื้นที่บริเวณหนองแกดำซึ่งเป็นหนองน้ำสำคัญของชาวชุมชนบ้านแกดำและบริเวณใกล้เคียงอย่างบ้านหัวขัวเมื่อทางรัฐบาลมีการเข้ามาขุดลอกหนองแกดำให้มีขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “อ่างเก็บน้ำหนองแกดำ”

ต่อมา พ.ศ. 2502 นาย ทองปักษ์ เพียงเกษ, นายกรณ์  อนุอัน และกำนันคำมี ศรีธรราษฎร์ ได้ร่วมมือกันสร้างโรงเรียนแกดำอนุสรณ์ (ร.ร.ราษฎร์) ประมาณพ.ศ. 2507 เนื่องจากผลของการขุดคลองทำให้คันดินอ่างเก็บน้ำก็ได้ขาดเนื่องจากฝนตกหนัก น้ำในอ่างมีปริมาณมากทำให้เกิดท่วมไร่นาบ้านเรือนทั้งสองฝั่งได้รับความเสียหายทางรัฐบาลจึงมีการเรียกคืนไร่นาให้ชาวบ้าน

พ.ศ. 2508 -2509 ได้ย้ายโรงเรียนโรงเรียนแกดำอนุสรณ์(ร.ร.ราษฎร์ ) จากวัดดาวดึงส์ไปยังบริเวณที่ดินของ นายกรณ์  อนุอัน ที่ฝั่งบ้านหัวขัว  เนื่องจากว่าเมื่อวัดมีงานพิธีโรงเรียนก็ต้องหยุดทำให้เวลาเรียนไม่พอ เมื่อย้ายไปที่บ้านหัวขัว การเดินทางจึงเป็นไปด้วยความลำบากทั้งการเดินทางน้ำน้ำในอ่างที่มีปริมาณมากและการเดินทางได้อ้อมไปไกล ดังนั้น นาย กรณ์ อนุอัน,กำนันคำมี ศรีธรราษฎร์และนายเคน จันทะนนตรี จึงได้มีการประชุมชาวบ้านหัวขัวและบ้านแกดำ เพื่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำหนองแกดำ โดยทำการขอบริจาคไม้จากชาวบ้านและให้ชาวบ้านร่วมกันสร้างสะพานที่มีความแข็งแรงขึ้นมาโดยได้มีการสร้างสะพานเป็นแนวขวางมีเสาคู่และไม้คอเสาขึ้นมา เพื่อใช้ในนักเรียนที่เป็นลูกหลานได้ใช้ข้ามไปโรงเรียน และไปที่ไร่ ที่นาของตนเอง

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจของหมู่บ้านแกดำ เกิดช่วงประมาณ พ.ศ.2516 ที่ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมสำหรับเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว คือ “การปลูกปอ” ชาวบ้านที่มีที่ดิน ได้ทำการปรับพื้นที่ของตนเองสำหรับปลูกปอ ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินสำหรับปลูกปอ ส่วนใหญ่จะรับจ้างลอกปอ ผลผลิตที่ได้จากปอชาวบ้านนำมาขายยังในเมืองมหาสารคาม บางครั้งมีพ่อค้ามารับซื้อปอถึงหมู่บ้าน ทำให้สภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนกระทั้งราคาปอตกต่ำ ชาวบ้านจึงเลิกปลูกปอ

พ.ศ.2519 บ้านแกดำได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ แยกตัวออกมาจากอำเภอเมืองมหาสารคาม สาเหตุ เนื่องจากบ้านแกดำ ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมือง ซึ่งการติดต่องานทางราชการของชาวบ้านมีความล่าช้าและข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทาง  ผลของการแยกตัวออกมาเป็นกิ่งอำเภอแกดำทำให้การติดต่อราชการมีความรวดเร็วมากขึ้น  พ.ศ.2520 มีการก่อตั้งสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอแกดำขึ้น และ พ.ศ.2526 ได้มีการตั้งโรงพยาบาลกิ่งอำเภอแกดำ

 พ.ศ.2531 กิ่งอำเภอแกดำได้มีการยกฐานะให้เป็นอำเภอแกดำ ต่อมาจึงได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประชาชน ยกตัวอย่างเช่นการสร้างสถานที่ราชการขึ้น เช่น ที่ว่าการอำเภอ เทศบาล เป็นต้น

ด้านประเพณี ชาวบ้านแกดำ จัดงานบุญประเพณีตาม ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ โดยมีความเชื่อที่ปฏิบัติตามบรรพบุรุษ ที่เคยพาทำมาตั้งแต่อดีต ซึ่งบางบุญประเพณี ไม่ได้จัด แต่งานบุญประเพณีที่ชาวบ้านจัดทำทุกปี คือ งานบุญบั้งไฟ จนกระทั้ง ประมาณ พ.ศ.2545 ทางอำเภอ ยกระดับงานประเพณีบุญบั้งไฟให้มีความยิ่งใหญ่ จึงนำงานกบ ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอมาจัดร่วมกันกับบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจากทุกหมู่บ้านของอำเภอมีส่วนร่วมในงานบุญประเพณีที่ดีงาม และสร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอ

นอกจากงานบุญประเพณีที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา อำเภอแกดำได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกลายเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งของจังหวัดมหาสารคาม สถานที่แห่งนั้น คือ สะพานไม้แกดำ ซึ่งเป็นสถานที่ ที่นำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนบ้านแกดำ เพื่อชมความงดงามของสะพานไม้แกดำ และทำให้ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยว ได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านแกดำ 

ชุมชนบ้านแกดำ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของตัวเมือง จังหวัดมหาสารคาม ประมาณ 25 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม                                 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลวังแสง

  • ทิศใต้  ติดกับ ตำบลแกดำ

  • ทิศตะวันออก  ติดกับ ตำบลโนนภิบาล

  • ทิศตะวันตก  ติดกับ  ตำบลวังแสง

สภาพแวดล้อมของชุมชน

ชุมชนบ้านแกดำ เป็นชุมชนที่มีลักษณะที่ผู้คนยึดถืออาชีพเกษตรกร ที่ยังต้องพึ่งพาระบบนิเวศทางธรรมชาติ ที่เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต และ ระบบการผลิตทางด้านการเกษตร ส่วนวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย โดยมีวัดดาวดึงส์ เป็นวัดของชุมชนและเป็นศูนย์ร่วมจิตใจของคนทั้งชุมชนบ้านแกดำและชุมชนใกล้เคียง เห็นได้จากการร่วมแรงร่วมใจ จัดผ้าป่า เพื่อใช้ในการพัฒนาวัดควบคู่กับการพัฒนาสะพานไม้แกดำ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอแกดำ นอกจากวัดดาวดึงส์ ที่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแล้วนั้น ผู้คนในชุมชนยังมีอีกสถานที่ถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน คือ “ดอนหลวงปู่จ้อย” กล่าวคือเมื่อครั้งที่ หลวงปู่จ้อย ยังมีชีวิตอยู่ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านมีความเลื่อมใส ศรัทธาในตัวของท่านเป็นอย่างมาก จนกระทั้งท่านมรณภาพ พลังความเชื่อความของผู้คนในอำเภอแกดำที่มีศรัทธาต่อหลวงปู่จ้อย ทำให้มีการสร้างศาล เป็นที่กราบไหว้และระลึกถึงหลวงปู่จ้อย เป็นที่พึ่งทางจิตใจและสถานที่ประกอบพิธีกรรมด้านความเชื่อ และงานบุญบั้งไฟของชาวอำเภอแกดำ 

จากแผนพัฒนา พ.ศ.2561-2565 ของเทศบาลตำบลแกดำ ได้ระบุจำนวนครัวเรือน และ จำนวนประชากรชาย/หญิง ไว้ดังนี้ จำนวนครัวเรือนมีจำนวนทั้งสิ้น 180 หลังคาเรือน จำนวนประชากร เพศชาย มีจำนวน 391 คน และ เพศหญิง จำนวน 386 คน รวมทั้งสิ้น 777 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว บรรยากาศภายในชุมชนเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน 

กลุ่มที่เป็นไม่ทางการ คือ กลุ่มที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มนี้รวมตัวกันขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่ชุมชน โดยจะมีการจัดเตรียมชุดการแสดง อาหารตามฤดูกาล และที่พัก เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชน 

ในรอบปีของผู้คนในชุมชนบ้านแกดำมีวิถีวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กับ ฮีต 12 คอง 14  และโดยมี รายละเอียด ดังนี้

ด้านประเพณี

  • งานบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญที่ผู้คนต้องจัดเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อขอฝนให้ฝนตกตามฤดูกาล จนกระทั้ง ประมาณ พ.ศ.2545 ทางอำเภอยกระดับงานประเพณีบุญบั้งไฟให้มีความยิ่งใหญ่ จึงนำงานกบ ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอมาจัดร่วมกันกับบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจากทุกหมู่บ้านของอำเภอมีส่วนร่วมในงานบุญประเพณีที่ดีงาม และสร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอแกดำ

  • ดอนหลวงปู่จ้อย เมื่อครั้งที่ หลวงปู่จ้อย ยังมีชีวิตอยู่ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านมีความเลื่อมใส ศรัทธาในตัวของท่านเป็นอย่างมาก จนกระทั้งท่านมรณภาพ พลังความเชื่อความของผู้คนในอำเภอแกดำที่มีศรัทธาต่อหลวงปู่จ้อย ทำให้มีการสร้างศาล เป็นที่กราบไหว้และระลึกถึงหลวงปู่จ้อย เป็นที่พึ่งทางจิตใจและสถานที่ประกอบพิธีกรรมด้านความเชื่อ และงานบุญบั้งไฟของชาวอำเภอแกดำ

  • ดอนปู่ตาขุนชาญ เกือบทุกหมู่บ้านในภาคอีสานต้องมี “ดอนปู่ตา” เป็นที่ประทับของผีปู่ตาหรือผีอารักษ์ของหมู่บ้าน โดยมีความเชื่อว่า บริเวณพื้นที่รอบๆดอนปู่ตา เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปตัดไม้ใหญ่ที่อยู่บริเวณนั้น รวมถึงไม่จับสัตว์ต่างๆ ที่มีในดอนปู่ตามากินเป็นอาหาร เพราะเชื่อว่าสัตว์ป่าเหล่านั้นเป็นบริวารของปู่ตา เป็นพื้นที่ป่าวัฒนธรรมของชุมชนที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมร่วมกัน 7 หมู่บ้าน ได้แก่ชาวบ้าน บ้านแกดำ  บ้านแกดำกลาง บ้านหนองไข่ผำ บ้านบอน บ้านขามหวาน บ้านโพธิ์ศรีและบ้านหัวขัว ต่างก็มีป่าดอนปู่ตาร่วมกันและให้ความนับถือในปู่ตาท่านเดียวกัน

  • ดอนปู่ตาขุนชาญ หรือดอนปู่ตาที่ชาวบ้านเรียกขานกันนั้นเดิมคือ “ฆราวาสท่านหนึ่งที่อพยพมาพร้อมกับหลวง

  • ปู่จ้อย (ในปีพ.ศ.2338 ตามที่ชาวบ้านเชื่อและเล่ากันมาจากรุ่นสู่รุ่นแต่ก็ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าดอนปู่ตาชุนชานมีมาตอนไหนแต่ก็นับถือกันมาจากรุ่นต่อรุ่นแล้ว)  ซึ่งปู่ขุนชาญคือคนที่ติดตามหลวงปู่จ้อยคอยส่งข้าวส่งน้ำให้กับหลวงปู่จ้อยตอนที่บวชเป็นภิกษุ เปรียบเสมือนเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ท่านหนึ่ง”   ซึ่งปู่ตาขุนชาญเปรียญเหมือนผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนอีกอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพไปไม่น้อยกว่าหลวงปู่จ้อยที่ชาวบ้านเคารพนับถือ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • สะพานไม้แกดำ ที่มาของการสร้างสะพานไม้ เริ่มขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 2508 โดยการประชุมของชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน คือบ้านแกดำ และ บ้านหัวขัว เพื่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำหนองแกดำ โดยทำการขอบริจาคไม้จากชาวบ้าน และร่วมกันสร้างสะพานขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์ไว้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกการเดินทางสัญจรของชาวบ้าน

นับตั้งแต่ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา สะพานไม้แกดำเริ่มมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ร่วมกับหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลของสะพานไม้แกดำ

จุดเด่นของสะพานไม้แกดำเป็นที่สนใจและดึงดูดผู้คนจากต่างถิ่นมากมายเข้ามาสัมผัส สะพานไม้แห่งนี้  ที่เข้ามาพัฒนาสถานที่แห่งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน การค้าขายเริ่มคึกคัก พ่อค้าแม่ค้านำสินค้า อาหาร ไว้สำหรับบริการให้กับนักท่องเที่ยว           

 ผู้คนในชุมชนใช้ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน


สถานการณ์ที่ถูกกระตุ้นด้วยนโยบายของการท่องเที่ยว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชน กล่าวคือ เมื่อ การที่จังหวัดมหาสารคามนำ “สะพานไม้แกดำ” มากระตุ้นและพัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นกลายแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดมหาสารคาม และกระแสตอบรับเป็นอย่างดีของนักท่องเที่ยว จึงทำให้ผู้คนในชุมชนเกิดการตื่นตัวและกล้าที่จะลงทุนเปิดร้านอาหาร เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยี่ยมชมสะพานไม้ของชุมชน  ซึ่งโจทย์ในข้อนี้ได้ท้าทายกับผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมากว่า สิ่งที่ลงทุนไปนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ 

ชุมชนบ้านแกดำ มีความน่าสนใจอีกอย่าง คือ วัดดาวดึงห์ ปลาส้มและกบของชุมชน 

นางคำปน มาน้ำเที่ยง ผู้ให้สัมภาษณ์, สัมภาษณ์โดย นายเกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา ณ ศาลากลางของชุมชนแกดำ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 

นางทองใส สุโพธิ์ ผู้ให้สัมภาษณ์, สัมภาษณ์โดย นายเกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา ณ ศาลากลางของชุมชนแกดำ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 

นางมณี อนุอัน ผู้ให้สัมภาษณ์, สัมภาษณ์โดย นายเกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา ณ ศาลากลางของชุมชนแกดำ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565