ชุมชนบ้านเขียบ ถือว่าเป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มทางด้านเกษตรกรรมและทำการ เลี้ยงสัตว์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง
ผู้คนในชุมชนมีความเชื่อเเบะเล่าสืบต่อกันมาว่า บริเวณพื้นที่แห่งนี้ เดิมชื่อ เมืองเขียบ หรือ เมืองเขียบนคร เป็นเมืองในสมัยขอมที่มีอำนาจในดินแดนแถบนี้ นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่าพวกขอมทำการขุดดินรอบๆหมู่บ้านจนบริเวณรอบๆหมู่บ้านกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เพื่อนำเอาดินนั้นมาทำเป็นพาชนะดินเผา เช่น ไห หม้อ ถ้วย ชาม(สังเกตได้จากพาชนะเก่าและโครงกระดูกที่กรมศิลปากรมาขุดพบในหมู่บ้าน และได้นำกลับไปในปี พ.ศ.2520) ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง และได้อพยพออกจากบริเวณแห่งนี้ไปจึงทำให้บริเวณแห่งนี้เป็นที่รกล้างไป
ชุมชนบ้านเขียบ ถือว่าเป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มทางด้านเกษตรกรรมและทำการ เลี้ยงสัตว์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง
ชุมชนชุมชนบ้านเขียบ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับเกษตรกรรมผลิตเพื่อยังชีพและเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อขายพ.ศ. 2425-2557แบ่งเป็นมิติเวลาของเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดช่วงเวลาสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านเขียบได้ 4ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2425 – 2557ดังนี้
ช่วงที่ 1 ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2425
เดิมบริเวณตรงนี้มีพวกขอมเคยอาศัยอยู่มาก่อนเรียกว่า เมืองเขียบหรือเขียบนคร เมืองนี้ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจพวกขอมได้มีการขุดดินรอบๆหมู่บ้านจนบริเวณรอบๆหมู่บ้านกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เพื่อนำเอาดินนั้นมาทำเป็นพาชนะดินเผา เช่น ไห หม้อ ถ้วย ชาม(สังเกตได้จากพาชนะเก่าและโครงกระดูกที่กรมศิลปากรมาขุดพบในหมู่บ้าน และได้นำกลับไปในปี พ.ศ.2520) ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ได้อพยพออกจากบริเวณแห่งนี้ไปจึงทำให้บริเวณแห่งนี้เป็นที่รกล้างไป
จากนั้นต่อมาหลายปีมีผู้คนเริ่มอพยพเข้ามาหักล้าง ถางพง เพื่อตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เนินดินในหมู่บ้านซึ่งเป็นบริเวณที่สูง โดยมีการอพยพเข้ามาโดยกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 นำโดยแม่ใหญ่ชาตรี แม่ใหญ่แพง แม่ใหญ่สีดา แม่ใหญ่ทองมี แม่ใหญ่กิ่ง และแม่ใหญ่เบ้า ซึ่งอพยพมาจากล้านช้าง เวียงจันทร์ แล้วมาอยู่ที่กาฬสินธุ์ก่อนจะอพยพต่อมาที่บริเวณแห่งนี้ กลุ่มนี้ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ ซึ่งที่ตรงนั้นเป็นเนินดิน (เนินดินเมืองเก่า) น้ำไม่สามารถท่วมถึงได้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในการตั้งบ้านเรือนสมัยโบราณ มีทางที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างกลุ่ม
กลุ่มที่ 2 นำโดยแม่ใหญ่ตื้อ พ่อใหญ่โพนสักขัว แม่ใหญ่เย้ ซึ่งอพยพมาจากมณฑลร้อยเอ็ดกลุ่มนี้มาอยู่ทางทิศใต้ของกลุ่มแรกจึงทำให้เกิดถนนเส้นแรกขึ้น
กลุ่มที่ 3 นำโดยแม่ใหญ่บาด พ่อใหญ่ขุนทัด พ่อใหญ่ขุนพา พ่อใหญ่ขุนวิสัยพ่อใหญ่ขุนชำนาญ ซึ่งอพยพมาจากบ้านหนองดุก บ้านหนองหูลิง จังหวัดร้อยเอ็ด กลุ่มนี้เข้ามาอาศัยอยู่ตามริมถนนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2
โดยกลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่มได้อพยพจากที่อยู่เดิมด้วยสาเหตุหลายสาเหตุต่างกัน เช่น เกิดความอดอยากเนื่องจากเกิดศึกฮ่อ เกิดภาวะแห้งแล้ง พื้นที่ไม่เหมาะสมกับการทำมาหากิน เมื่อกลุ่มคนดังกล่าวมาพบบริเวณรกล้างแห่งนี้ซึ่งมีสภาพอุดมสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำมาหากิน และตั้งรกราก เพราะบริเวณแห่งนี้เป็นเมืองเก่า (เมืองเขียบ) ที่มีลักษณะเป็นเนินสูงน้ำไม่สามารถท่วมถึงได้ และรอบเนินแห่งนี้ก็เป็นที่ราบลุ่ม มีป่าไม้ มีหนองน้ำ ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ได้ตลอดทั้งปีจึงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ทำกินมาจนถึงปัจจุบัน
การดำรงชีพในช่วงนี้จะอยู่กับธรรมชาติ มีการตั้งรกรากลงหลักปักฐาน หากินอย่างเรียบง่ายด้วยการจับกุ้ง หอย ปู ปลากินเป็นอาหาร ล่าสัตว์ป่า อาชีพครั้งแรกของชาวบ้าน คือ การทำไร่ไถนาใช้แรงงานสัตว์ เลี้ยงสัตว์เล็กๆ น้อยๆ ตามครัวเรือนไว้กิน ผลิตเครื่องมือจักสาน เครื่องมือจับสัตว์ไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือน และมีการถากถางที่ไว้ทำกินเพิ่มเติมซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีถึงมีขยับขยายที่ทำกิน เนื่องจากยังขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการทำกิน
ช่วงที่ 2 ช่วงตั้งหมู่บ้าน พ.ศ. 2425 – 2513
ต่อมาเมื่อหลัง พ.ศ. 2425 ชุมชนบ้านเขียบได้ขึ้นกับตำบลท่าขอนยางเป็นหมู่ที่8โดยมีผู้นำหมู่บ้านคือนายฝ่ายนายคาน นายสีลอน นายบุญทัน และนายใส ตามลำดับ เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นกลุ่มผู้นำดังกล่าวจึงได้พาชาวบ้านหักล้างถางพงเพื่อเป็นพื้นที่ทำกิน และถิ่นอาศัยตลอดมา จึงทำให้ชาวบ้านต้องมีการขยับขยายที่อยู่อาศัยไปตามหัวไร่ปลายนาเพิ่มขึ้นจึงทำให้เกิดถนนเส้นที่ 2 ขึ้นคือเส้นที่ตัดผ่านในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นถนนเส้นที่สามารถเดินทางไปยังบ้านใกล้เรือนเคียงได้แต่ยังไม่มีการปรับปรุง
นอกจากอาชีพหลักคือการทำนาซึ่งเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ และมีการแลกเปลี่ยนระหว่างครัวเรือน เกิดอาชีพรองลงมาได้แก่ การหาปลา ปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งมีอยู่ทุกหมู่บ้านบริโภคในครัวเรือนและบางส่วนเอาเก็บไว้แลกสิ่งของ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่นำใยไหมมาทอผ้า ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นของทุกครัวเรือน ซึ่งชาวบ้านจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ทอในช่วงประเพณีสำคัญทางศาสนา ทำบุญตักบาตรของหมู่บ้านมีการปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอเครื่องนุ่งห่มใช้ในครัวเรือน มีการปลูกต้นกกเพื่อนำมาทอเสื่อไว้ใช้สำหรับรองพื้นนั่งหรือเป็นของฝากของต้อนรับแขกไปไทมาของคนอีสาน
ต่อมาเกิดการขยายตัวของรัฐจากปัจจัยภายนอกชุมชนบ้านเขียบในสมัยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นำนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ความ “ทันสมัย” ได้แปรเปลี่ยนเป็นการพัฒนาประเทศเพื่อ “ความมั่นคง” ของชาติ รัฐบาลสมัยนี้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความมั่นคงของชาติ จึงเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2504และเกิดคำกล่าวที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข” ด้วยเหตุนี้ภาคอีสานจึงเป็นภูมิภาคหนึ่งที่รัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เกิดการขยายตัวของรายได้และการผลิตเริ่มเข้ามามีบทบาทในชุมชนบ้านเขียบ
การติดต่อกับภายนอกช่วงนั้นยังใช้ถนนเป็นเส้นทางเล็ก ทางเกวียน ทางวัว - ควาย หรือชาวบ้านเรียนอีกอย่างว่า “ทางโสก”คือทางต่ำๆ แคบๆ การคมนาคมจึงไม่สะดวกเท่าที่ควร ต่อมาเส้นทางจึงได้รับการปรับปรุงโดยหน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท หรือ รพช. เป็นถนนดินลูกรังและเมื่อปี พ.ศ. 2505 ได้รับการสนับสนุนจาก รพช. ก่อสร้างถนนลาดยาง ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น
พ.ศ.2513เมื่อมีการตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขามเรียงขึ้นชุมชนเขียบจึงได้ย้ายออกจากตำบลท่าขอนยางมาขึ้นอยู่กับตำบลขามเรียง เป็นบ้านเขียบหมู่ที่ 3 เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านเขียบ เป็นช่วงแยกตัวของหมู่บ้าน โดยมีนายใส ทองขันธ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นบ้านเขียบหมู่ที่ 3 ตั้งแต่นั้นมา
ปัจจัยในการผลิตเริ่มมีมากขึ้นเพราะมีคนเพิ่มขึ้นในหมู่บ้านจึงเกิดความต้องการทางด้านปัจจัย 4 มีการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำสวนผัก เพื่อขายเล็กๆน้อยๆ และแลกเปลี่ยนเกลือในแต่ละครัวเรือนบ้าง แรงงานยังเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย เริ่มมีเครื่องมือในการผลิตมากขึ้นทำให้ช่วยผ่อนแรงได้และยังปลูกข้าวเป็นหลักอาหารจากป่าไม่ว่าจะเป็น เห็ด ผักป่า สัตว์ป่า ปลา และสัตว์อื่นๆ มีอย่างอุดมสมบูรณ์ การทำนาส่วนใหญ่เป็นนำดำ ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธ์ข้าวเหนียวพื้นเมืองซึ่งมีความต้านทานโรคได้ดี
ช่วงที่ 3 ช่วงการเข้ามาของโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน พ.ศ. 2513 – 2537
พ.ศ. 2521 เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมบ้านเขียบด้านการผลิตอย่างมาก เนื่องจากเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหมู่บ้านและบริเวณพื้นเพาะปลูกและที่ทำกินยายต่วย คลังแสงเล่าว่า “น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 2-28 ตุลาคม พ.ศ. 2521 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดของหมู่บ้าน ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ต้องขนย้ายของขึ้นที่สูง การสัญจรถูกตัดขาดต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางข้าวที่ปลูกไว้ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว สามียายต้องดำน้ำลงเก็บเกี่ยวข้าวที่กำลังตั้งท้องแต่ยังพอมีข้าวของปีที่แล้วเหลืออยู่”
น้ำท่วมหมู่บ้านครั้งนี้ทำให้ผลผลิตเสียหายหมด สัตว์เลี้ยงหายไปกับกระแสน้ำ มีหลงเหลืออยู่บ้าง ชาวบ้านก้อไม่มีการย้ายหนีไปไหน ผู้คนจับปลามาทำกินเป็นอาหารเพื่อดำรงชีพ ส่วนที่เหลือก็แปรรูปเป็นปลาร้าไว้ประกอบอาหารจากการที่ชาวบ้านเดินทางสัญจรทางบกไม่ได้ ชุมชนมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี เกิดอาชีพประมงขึ้น ชาวบ้านมีการสานอุปกรจับสัตว์น้ำของแต่ละครัวเรือน เช่น แห ตาข่ายดักปลา เบ็ด
พ.ศ. 2524 มีการนำไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านทำให้วิถีชีวิตชุมชนบ้านเขียบเปลี่ยนไป มีการนำเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้ เริ่มเชื่อมต่อไฟฟ้าที่บ้านของนายพันธ์ จันทะเกตุ และบ้านนายประจักร ไชยโสดา ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เป็นหลังแรกก่อนจะเชื่อมต่อไปยังบ้านของลูกบ้าน
พ.ศ. 2525 ชุมชนบ้านเขียบได้แยกเป็น 2 หมู่คือ จากหมู่ 3 ออกเป็นหมู่ 17เป็นช่วงหลังจากการแยกเขตการปกครอง มาถึงการแยกตัวของหมู่บ้านโดยมีนายฮวด ทองขันธ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นพาผู้คนมาทางทิศใต้และทิศตะวันตกของหมู่ที่ 3เพราะบ้านเรือนเริ่มแออัดผู้คนเริ่มหนาแน่น ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานเข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชนจึงทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากการมีไฟฟ้าเข้ามามีความสว่างในหมู่บ้าน ชาวบ้านรู้สึกปลอดภัย มีการจับกลุ่มคุยกัน และมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันในชุมชนตอนกลางคืน
พ.ศ. 2531 มีการสร้างถนนลาดยางทางเหลือชนบทเส้นทางท่าขอนยาง-ตำบลเขวาใหญ่ตัดผ่านหมู่บ้าน และมีถนนคอนกรีตเส้นแรกบริเวณหน้าวัดพุทธไชยารามปี พ.ศ. 2537
ผลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ชุมชนเกษตรกรรมบ้านเขียบยุคนี้เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพ และแลกเปลี่ยน ไปเป็นการผลิตเพื่อค้าขายอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีการปลูกมันสำปะหลังโดยมีนายพูน ทองขันธ์ เป็นพ่อค้าคนกลางของหมู่บ้านในการับซื้อหัวมันสำปะหลังไปขายให้กับโรงงานแป้งมันสำปะหลังในช่วงนั้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ทำประมง คือเลี้ยงปลาในบ่อพื้นที่นาเพื่อขาย มีการปลูกปอช่วงแรกในยุคนี้แต่ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควรเนื่องจากพื้นที่ชุมชนบ้านเขียบเป็นพื้นที่ที่มีน้ำขัง ไม่ใช่น้ำไหล เพราะการแช่ปอต้องใช้พื้นที่ที่มีน้ำไหลน้ำจึงจะไม่ส่งกลิ่นเหม็น การปลูกปอจึงไม่นิยมปลูกในช่วงหลังๆเกิดกลุ่มการปลูกผักสวนครัว ทอเสื่อ เลี้ยงวัว-ควาย เพื่อขายเป็นการสร้างรายได้อีกช่องทาง
การปลูกมันสำปะหลังได้เลิกไปเพราะต้องการเพิ่มพื้นที่ในการทำนาให้มากขึ้น ประกอบกับเกิดสภาวะแห้งแล้ง ราคาขายผลผลิตตกต่ำและการปลูกมันสำปะหลังทำให้ดินเสื่อมโทรมหลังจากนั้นเกิดอาชีพการผลิตแบบใหม่ คือค้าขาย เลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่ สุกร ปลา เป็ด ทอเสื่อจำหน่าย รับจ้างทั่วไป การผลิตแบบใหม่นี้ทำกันมากก็ต่อเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสิ้นลง เพราะคนในชุมชนจะมีเวลาว่างในการดูแลเอาใจใสได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่คนในชุมชน เกิดการย้ายที่อยู่ที่ทำงานไปยังที่ที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจ หรือ เมืองใหญ่ของคนหนุ่มสาว คนวัยแรงงาน ทิ้งลูกหลานไว้ให้คนแก่เลี้ยงดู
ช่วงที่ 4 ช่วงตั้งมหาวิทยาลัยพ.ศ. 2537 – 2557
พ.ศ. 2537 เป็นต้นมาตำบลท่าขอนยางตำบลขามเรียง ซึ่งอยู่ในเขตที่มีการสร้างเมืองแห่งการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามขึ้น ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของคนใน 2 ตำบลนี้อย่างมาก เช่น เกิดหอพักจากการขายที่ดินของชุมชนใกล้เคียง คนในแถบนี้มีเงินจากการขายที่ดินไว้เพื่อลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวด้านอื่นๆ เกิดการจ้างงานของมหาวิทยาลัย อาชีพค้าขายที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านซ่อม กรรมกรก่อสร้าง ค้าขายตามตลาดสด ตลาดนัด ฯลฯความเจริญทางเศรษฐกิจนี้สงผลกระทบต่อชุมชนบ้านเขียบด้วยเช่นกัน เกิดการผลิตเพื่อขายมากขึ้น เช่น ปลูกผัก กลุ่มที่เลี้ยงสัตว์พวก สุกร ไก่ วัว ฯ
ปีพ.ศ. 2540 มีระบบประปาเข้ามาในหมู่บ้านโดยมีงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลขามเรียง โดยเป็นระบบประปาผิวดิน มีระบบกรองน้ำและฆ่าเชื้อโรค ต่อมามีการแยกหมู่บ้านออกเป็นหมู่ 22สาเหตุเป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยนายประจักร ไชยโสดา เล่าว่า “คนทำเรื่องขอแยกเป็นหมู่ 22 สุดท้ายไม่ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะคนที่ได้รับเลือกมีญาติพี่น้องและคะแนนเสียงเยอะกว่า”
การผลิตข้าวยังเป็นอาชีพหลักในการผลิตเพื่อขายของชุมชนบ้านเขียบ แต่ประสบปัญหาราคาปุ๋ย การจ้างแรงงานสูงขึ้น ผู้นำหมู่บ้านแต่ละหมู่จึงมองหาโครงการ หรือกองทุนใหม่ๆ เข้ามาทำให้ชุมชนผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดีและต้องการสร้างรายได้ของชุมชนเพิ่มมาขึ้น จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างในหมู่บ้านขึ้น เช่น กลุ่มออมทรัพย์ให้มีเงินออมของแต่ละครัวเรือนกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อกก รวมกลุ่มปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากแต่ละครัวเรือนได้ทำเสื่อในช่วงระหว่างฤดูการทำนาเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มผลผลิตในการทอเสื่อกก ผู้ดูแลกลุ่มนี้ได้แก่ นางสมบูรณ์ คลังแสง นางหนูเพียร ไชโสดา นางอนงค์ คลังแสง นางสีลา อันทราศรี นางปิยะวรรณ มณีสวัสดิ์ นางพิมพา ไชยโสดา
กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคขุน รวมกลุ่มเพื่อการเลี้ยงโคเนื้อ โคขุน เพื่อให้ได้คุณภาพเนื้อ และสามารถ ขายให้ได้ในราคาสูง นำโดยนายเทียบ คลังแสง นายประจักรไชยโสดา นายบุญเลี้ยงไชยโสดา นายสมบูรณ์ คำปลิว
กลุ่มปลูกผักสวนครัวนำโดยนางสีลา อันทราศรี นางพิมพา ไชยโสดา นางวันทอง คำปลิว จัดกลุ่มเพื่อปลูกพืชสวนครัวเพื่อค้าขาย สถานที่ปลูกบริเวณที่สวนของตน และจะนำมาผลิตออกขายยังตลาดนัดหมู่บ้าน หรือตลาดสดในจังหวัดมหาสารคามเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน กลุ่มเลี้ยงปลาในนาข้าว นำโดยนายพินิจ ศิลา นายเทียบ คลังแสง นางสมบูรณ์ คลังแสง นางแสงเดือน ไชยโสดา นางปิยะวรรณ มณีสวัสดิ์ เป็นการรวมกลุ่มโครงการหมู่บ้านเข็มแข็งต้นแบบเพื่อเลี้ยงปลาในนาข้าวในระหว่างฤดูทำนา เพื่อเป็นอาหารในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต และอาชีพเสริมหารายได้ในครัวเรือนกองทุนปุ๋ย จัดตั้งขึ้นปี พ.ศ.2549 ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน (SML) นำโดยนายเทียบ คลังแสง นายสุนทร ไสโสดา นายประจักร ไชยโสดา นายสมบูรณ์ คำปลิวรัฐบาลให้เงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ โดยผู้นำชุมชนเล็งเห็นว่าชมชนบ้านเขียบนั้นทำอาชีพทำนาเป็นกลัก ซึ่งการทำนาปัจจุบันใช้ต้นทุนการผลิตสูง เช่น ค่าไถนา ค่าจ้างแรงงาน ค่าปุ๋ย ทำให้คนในชุมชนไม่มีเงินในการซื้อปุ๋ยได้ตามความต้องการ จึงต้องการให้มีกองทุนการซื้อปุ๋ยที่เป็นระบบเพื่อให้ประชาชนลดค่าใช่จ่าย มีปุ๋ยเพียงพอในการผลิต และช่วยเพิ่มผลผลิตในนาข้าว
พ.ศ.2557 ชุมชนบ้านเขียบเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตอย่างไม่หยุดยั้งด้านการผลิตข้าว คือได้เกิดโครงการศูนย์เกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษชุมชนซึ่งชุมชนบ้านเขียบได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านนำร่องของตำบล ซึ่งกำลังเริ่มโครงการ นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้นำความรู้ต่างๆมาปรับใช้ในชุมชนต่อไป และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
บ้านเขียบ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลโดยมีโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง มีเนื้อที่โดยรวมทั้งหมดประมาณ 1,000 ไร่เศษ ซึ่งพื้นที่ส่วนมากประมาณ 900 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ทำกินทางการเกษตร (ทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์) นอกจากนั้นเป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณะประโยชน์
อาณาเขต
- ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านโนแสบง และบ้านดอนมัน ตำบลขามเรียง
- ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านหนองแข้ บ้านมะกอก ตำบลขามเรียง
- ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านขามเรียง ตำบลขามเรียง
- ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านขี บ้านเขวา ตำบลเขวาใหญ่
ลักษณะภูมิประเทศ บ้านเขียบ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีลักษณะภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ ที่ใช้ในการทำนา และที่ดอน ที่ใช้ปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ ส่วนภายในหมู่บ้านมีลักษณะเป็นที่เนินสูง ซึ่งน้ำไม่สามารถท่วมถึงได้
ลักษณะภูมิอากาศ บ้านเขียบ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มี 3 ฤดูคือ
- ฤดูร้อน เริ่มเดือนมีนาคม - เดือนมิถุนายน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนกันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธ์
ชุมชนบ้านเขียบ ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ จึงทำให้ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตกับการทำอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ในการหาอยู่หากินของผู้คนในชุมชน ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนยังคงมีการช่วยเหลือกันและกันผ่านระบบเครือญาติ ตระกูลที่มีบทบาทในชุมชนบ้านเขียบมากที่สุด ได้แก่ ตระกูลไชยโสดา และ ตระกูลทองขันธ์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้หมู่บ้านมีความพัฒนามาตามลำดับ จากการมีบทบาทเป็นผู้นำหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีอิทธิพลต่อคนในหมู่บ้านทั้งด้านสังคมและการปกครอง แล้วได้นำสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาในหมู่บ้านทั้งด้านสาธารณูปโภค บริโภคต่างๆหมู่บ้านมีความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา
- กลุ่มออมทรัพย์ให้มีเงินออมของแต่ละครัวเรือนกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อกก
- กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคขุน
- กลุ่มปลูกผักสวนครัว
- กองทุนปุ๋ย
- โครงการศูนย์เกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษชุมชน
ประเพณีต่างๆของชุมชนบ้านเขียบมีผู้นำหมู่บ้านที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือของคนในท้องที่ เป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณที่ ปู่ ย่า ตา ยายได้ทำมา ประเพณี 12 เดือนของชาวบ้านเขียบ(ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน) มีดังนี้
- เดือนอ้าย ไม่มีงานบุญหรือประเพณีหรือกิจกรรมในหมู่บ้าน
- เดือนยี่ บุญปีใหม่ ชาวบ้านจะทำอาหารคาว หวาน และนำไปร่วมตักบาตรที่บริเวณถนนเส้นกลางหมู่บ้าน โดยในการทำบุญขึ้นปีใหม่นี้จะนิมนต์พระมารับบิณฑบาตประมาณ 9-12 รูป สาเหตุที่ทำบุญตักบาตรในช่วงปีใหม่เนื่องจากคนสูงอายุในหมู่บ้านต้องการที่จะให้บุตรหลานได้อนุรักษ์ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยไว้ ถือเป็นการพบปะร่วมทำบุญในหมู่บ้าน เพิ่มความสามัคคีในหมู่บ้าน
- เดือนสาม บุญข้าวจี่ชาวบ้านจะนำข้าวจี่ใส่น้ำอ้อย และไข่ จี่ข้าวเกรียบที่ชาวบ้านร่วมกัน โดยนำไปทำบุญร่วมกันในช่วงเช้าที่วัดพุทธไชยาราม โดยมีความเชื่อว่าเป็นการสักการะ และบูชาเทวดาที่เป็นผู้คุ้มครองหมู่บ้านเพื่อให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข และถือว่าเป็นมงคลของชีวิต
- เดือนสี่ บุญผะเหวดมีการห่อข้าวต้ม ของหวาน เพื่อเตรียมไปใส่บาตรในตอนเช้า ในการทำบุญนั้นชาวบ้านจะนำข้าวสาร เครื่องอุปโภค และบริโภคต่าง ๆ ไปรวมกันที่วัด เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่เสียชีวิตหรือล่วงลับไปแล้ว ในช่วงเพลจะมีการนิมนต์พระจากหมู่บ้านอื่นมาให้เทศน์ผะเหวด โดยชาวบ้านจะร่วมรับฟัง และมีการถวายผะเหวด จากนั้นจะมีการเทศน์ผะเหวดต่อจนจบเรื่อง ในระหว่างที่เทศน์จะมีต้นกันหลอนจากต่างหมู่บ้านมาร่วมทำบุญเรื่อย ๆ เมื่อหมดต้นกันกลอนชาวบ้านจะร่วมกันทำความสะอาดวัด และกลับมาร่วมงานบุญในหมู่บ้าน ซึ่งในวันนี้ถือเป็นช่วงเวลาการพบประสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้องหรือเพื่อนพ้อง
- เดือนห้า บุญอัฐิ / บุญสงกรานต์ในช่วงนี้จะถือเอาวันสงกรานต์ที่ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ช่วงบ่ายจะมีการเชิญพระพุทธรูปลงมาเพื่อทำการสรงน้ำพระในช่วงวันสงกรานต์ ในวันที่ 14 เมษายน ในช่วงเช้าจะมีการสรงน้ำกระดูกญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วที่บริเวณวัด พร้อมทั้งร่วมทำบุญตักบาตรที่ศาลาการเปรียญ ในวันที่ 15 เมษายน จะมีการแห่พระพุทธรูปรอบหมู่บ้าน ในระหว่างที่แห่นั้นจะมีกลองยาวร่วมขับกล่อมดนตรี ชาวบ้านจะร่วมกันสรงน้ำ และเล่นสาดน้ำ มีความสนุกสนานรื่นเริงไปตลอดเส้นทาง โดยถือว่าเป็นการต้อนรับเข้าสู่ประเพณีสงกรานต์อย่างแท้จริง
- เดือนหก บุญเลี้ยงบ้าน (ไหว้ผี ปู่ตา)โดยชาวบ้านจะมีการจัดเหล้าไห ไก่ตัว เพื่อนำไปเลี้ยงเจ้าปู่ และจัดทำบั้งไฟเพื่อเสี่ยงทายสถานการณ์ของหมู่บ้านเช่น ดินฟ้าอากาศ ความสงบสุขของหมู่บ้าน โดยจะทำบั้งไฟขนาดเล็กจำนวน 3 ลำ เพื่อทำการเสี่ยงทาย ในการทำพิธีจะมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้นำในการทำพิธีดังกล่าว ในช่วงเพลจะมีการเลี้ยงพระสงฆ์บริเวณหนองสิมเพื่อเป็นการเอาบุญหนอง บุญบ้านเพื่อให้หมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ และอยู่เย็นเป็นสุข ในช่วงเย็นจะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์บริเวณศาลาประชาคมหมู่บ้าน เชื่อว่าเป็นการสวดขับไล่ผีสางออกจากหมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ในช่วงเช้าของวันต่อมาจะมีการเลี้ยงพระสงฆ์เพื่อทำสังฆทาน โดยจะมีการทำธงข้าวดำ ข้าวแดง ธงหน้าวัวไปที่วัดทุกหลังคาเรือนเพื่อให้พระขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกจากหมู่บ้าน และพระจะเสกคาถาใส่หิน และข้าวสารเพื่อให้เฒ่าจ้ำนำมาหว่านรอบหมู่บ้านเป็นอันเสร็จพิธีกรรม
- เดือนเจ็ด บุญบวชในเดือนนี้จะมีการบวชนาคก่อนวันเข้าพรรษา โดยในพิธีการบวชนาคนั้นจะมีการจัดขบวนแห่นาครอบหมู่บ้านเพื่อไปทำพิธีบวชในวัด ซึ่งในตอนเย็นจะมีพิธีการจัดมหรสพให้ชาวบ้านชม ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับเจ้าภาพในแต่ละครัวเรือนที่มีการจัดงานบวช
- เดือนแปด บุญเข้าพรรษาบุญเข้าพรรษาจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ ภายในพิธีจะมีการตักบาตร ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ที่วัด ส่วนตอนเย็นจะมีการทำขันธ์ดอกเบญจใบตองกล้วย ทำส่วยเอาดอกไม้เสียบ บูชาหิ้งพระ และเอาไปถวายพระที่วัด จนกระทั่งถึงตอนค่ำชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัดเพื่อตั้งบุญคุณ รับศีลรับพร และเวียนเทียนถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี
- เดือนเก้า บุญข้าวประดับดินจัดในวันขึ้น 15 ค่ำโดยชาวบ้านจะห่อข้าวต้ม ขนม รวมทั้งห่อข้าวสำหรับญาติผู้ล่วงลับ ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้าว ปลา พริก เกลือ ปลาร้า ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเบือ(ข้าวสารแช่) ข้าวสาร หมาก พลู กรอกยา และข้าวต้มขนม โดยห่อรวมกันในใบตอง ตอนเย็นก่อนวันงานจะมีการตั้งบุญคุณที่วัด รุ่งเช้าก็จะเอาข้าวของที่เตรียมไว้ไปวัดให้พระสวดมนต์ใส่ห่อข้าว แล้วเอาห่อข้าววางไว้บนดิน พร้อมกับเรียกญาติที่ล่วงลับ และแม่ธรณีมารับเอา โดยจะแบ่งส่วนหนึ่งไปถวายที่ศาลเจ้าปู่ ในช่วงเช้าวันต่อมาก็ไปทำบุญตักบาตรที่วัด และร่วมถวายจตุปัจจัย และพระจะเทศน์ 1กัณต์
- เดือนสิบ บุญข้าวสากทำในวันเพ็ญเดือนสิบ ก่อนถึงวันงาน 1 วัน ญาติพี่น้องจากหมู่บ้านใกล้เคียงจะเอาข้าวสาร กล้วยสุก สำหรับไว้ทำข้าวต้มในการประกอบพิธีกรรมมาไหว้ญาติผู้ใหญ่ และญาติผู้ใหญ่จะให้ศีลให้พร รวมถึงให้เงินตลอดจนหาของฝากกลับบ้านให้ด้วยเช่น ข้าวสาร ปลาร้า มัน ผลไม้ต่างๆ เป็นต้น ก่อนจะถึงวันงาน 1 วัน ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้มขนม และห่อข้าวสำหรับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน แต่แตกต่างกันตรงที่บุญข้าวสากจะต้องมีผลไม้เป็นส่วนประกอบ รุ่งเช้าของวันงานประมาณ 7 โมงเช้าชาวบ้านจะนำข้าวต้มขนมไปตักบาตรที่วัด และในเวลาเพล 10.00 น. โดยเตรียมห่อข้าวสาก ห่อคำหมาก ห่อยาสูบ และห่อข้าวปลาอาหารซึ่งเย็บคู่กัน พร้อมกับนำห่อข้าวใหญ่เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ซึ่งใช้เส้นไหมหรือเส้นด้ายมัดห่อหุ้ม เนื่องจากมีความเชื่อว่าเส้นไหมหรือเส้นด้ายดังกล่าวจะจูงดวงวิญญาณญาติผู้ล่วงลับตลอดจนญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ไปสู่สวรรค์ โดยห่อข้าวใหญ่จะเอาไปถวายพระ ส่วนห่อข้าวสากจะนำไปให้พระพรมน้ำมนต์ และสวด หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำข้าวสากไปห้อยตามต้นไม้แล้วเรียกญาติผู้ล่วงลับมารับส่วนบุญโดยเหลือไว้เพื่อนำไปใส่นา ใส่สวนเพื่อบูชาตาแฮก และคอกวัวควายเพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีกรรมดังกล่าวมีการจัดขึ้นทุกปี
- เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษาทำในวันขึ้น 15 ค่ำ และบุญกฐินทำในวันแรม 1 ค่ำถึงขึ้น 1 ค่ำเดือนสิบสอง โดยชาวบ้านจะทำข้าวต้ม ขนม ขันดอกเบญจขึ้นหิ้งบูชาพระ จากนั้นเอาขนมไปใส่บาตรร่วมกันที่วัด พิธีกรรมดังกล่าวมีการจัดขึ้นทุกปี
- เดือนสิบสอง บุญกฐินจะมีการห่อข้าวต้ม ขนมต่าง ๆ ไปร่วมทำบุญที่วัดในตอนเช้า ส่วนที่บ้านจะมีการเลี้ยงแขก ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงเพื่อร่วมสังสรรค์ ในวันต่อมาจะมีการไปทอดกฐินตามวันต่าง ๆ โดยในต้นกฐินนั้นจะมีเงิน ต้นกล้วย ข้าวสาร ต้นอ้อย เครื่องอุปโภค และบริโภคต่าง ๆ พิธีกรรมดังกล่าวมีการจัดขึ้นทุกปี
บุคคลเหล่านี้เป็นผู้นำที่ตั้งกลุ่มทอเสื่อกก เพื่อหารายได้เสริมให้กับชุมชนที่เว้นว่างจากการทำนา รายชื่อดังนี้
- นางสมบูรณ์ คลังแสง
- นางหนูเพียร ไชโสดา
- นางอนงค์ คลังแสง
- นางสีลา อันทราศรี
- นางปิยะวรรณ มณีสวัสดิ์
- นางพิมพา ไชยโสดา
ทุนวัฒนธรรม
- วัดพุทธไชยาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนชุมชนบ้านเขียบ ที่ปฏิบัติตนในฐานะชาวพุทธในการดำรงรักษาพระพุทธศาสนา นอกจากนี้บทบาทของวัดยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีในวาระต่างๆตามประเพณี เช่น งานบุญ งานศพ สถานที่ประกอบพิธีสำคัญทาง
- ศาลปู่ตา เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน กล่าวคือ ถ้าใครจะเดินทางไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด เดินทางไปสอบแข่งขันต่างๆ ฯลฯ ได้ไปหาเฒ่าจ้ำให้พาไปบ๋า ที่ศาลปู่ตา เกี่ยวกับความต้องการให้ตามไปดูและรักษาให้ถึงจุดหมายอย่างปลดภัย ตลอดจนการช่วยผลักดันในการสอบแข่งขันให้ประสบผลสำเร็จสำหรับของเซ่นไหว้(แก้บน)ชาวบ้านเขียบ นิยมใช้ เหล้า หมาก พลู บุหรี่ ไก่ต้ม หัวหมูต้ม ผลไม้ตามฤดูกาล ดอกไม้ ธูป เทียน อาหารคาวหวาน ตลอดจนใส่ปัจจัยตามศรัทธา
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในภาษาราชการเป็นภาษาไทย ส่วนภาษาท้องถิ่น คือภาษาอีสาน (ภาษาไทลาว)
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนเกิดขึ้นในเรื่องของการรวมตัวเพื่อจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เช่น การผลิตข้าวยังเป็นอาชีพหลักในการผลิตเพื่อขายของชุมชนบ้านเขียบ แต่ประสบปัญหาราคาปุ๋ย การจ้างแรงงานสูงขึ้น ผู้นำหมู่บ้านแต่ละหมู่จึงมองหาโครงการ หรือกองทุนใหม่ๆ เข้ามาทำให้ชุมชนผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดีและต้องการสร้างรายได้ของชุมชนเพิ่มมาขึ้น จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มต่างในหมู่บ้านขึ้น เช่น กลุ่มออมทรัพย์ให้มีเงินออมของแต่ละครัวเรือนกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อกก เนื่องจากแต่ละครัวเรือนได้ทำเสื่อในช่วงระหว่างฤดูการทำนาเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มผลผลิตในการทอเสื่อกก และกลุ่มต่างๆที่เกิดการรวมตัวเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละเรื่อง จึงทำให้เราได้ทราบว่าชุมชนแห่งนี้มีความสามัคคีและร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม
ร้านอาหารตามสั่ง และ ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งร้านทั้ง 2 อยู่ใกล้วัดพุทธไชยาราม
แผนพัฒนาชุมชนและข้อมูลพื้นฐานชุมชน บ้านเขียบ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ปี พ.ศ. 2555-2556.
วรามิตร ใหม่คามิ (2545) .การจัดทำแผนแม่บทชุมชนบ้านเขียบหมู่3 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2545