ที่ตั้งของบ้านมะนาวหวานสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่งดงามของภูเขาน้อยใหญ่และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงภาพสะท้อนวิถีชีวิตริมเขื่อนของชาวบ้านมะนาวหวานกับการดำรงอยู่โดยการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ
ที่ตั้งของบ้านมะนาวหวานสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่งดงามของภูเขาน้อยใหญ่และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงภาพสะท้อนวิถีชีวิตริมเขื่อนของชาวบ้านมะนาวหวานกับการดำรงอยู่โดยการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านมะนาวหวาน ตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีประวัติแน่ชัด แต่ก่อนที่จะมีการจัดการปกครองท้องที่เป็นแบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านมะนาวหวานเคยขึ้นกับเมืองไชยบาดาล มณฑลนครราชสีมา ต่อมา พ.ศ. 2484 เมืองไชยบาดาลถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดลพบุรี บ้านมะนาวหวานจึงถูกโอนไปด้วยเช่นกัน กระทั่ง พ.ศ. 2505 เมื่อมีประกาศตั้งกิ่งอำเภอพัฒนานิคม (อำเภอพัฒนานิคม) ตำบลมะนาวหวานจึงได้ถูกโอนมาขึ้นกับกิ่งอำเภอพัฒนานิคมด้วยจนปัจจุบัน
เดิมบ้านมะนาวหวานเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ติดกับบ้านโคกสลุง แต่ภายหลังการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านเพื่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ทำให้ชาวบ้านมะนาวหวานต้องอพยพโยกย้ายขึ้นไปอยู่ทางตะวันออกของเขื่อนตรงข้ามกับบ้านโคกสลุงเดิม ซึ่งการสร้างเขื่อนป่าสักส่งผลกระทบให้ที่ทำกินของชาวบ้านถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด ความเสียหายที่เกิดขึ้น ภาครัฐได้เยียวยาเจ้าของที่ดินโดยการจ่ายเงินชดเชยและจัดสรรพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ให้ แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเลือกรับเป็นเงินชดเชยมากกว่าที่ดิน เนื่องจากที่ดินที่ได้จากการจัดสรรของหน่วยงานราชการไม่สามารถเลือกทำเลได้ ฉะนั้นเมื่อได้เงินชดเชยแล้ว ชาวบ้านบางรายที่ยังเหลือที่ดินจากการที่น้ำท่วมไม่ถึงก็จะย้ายไปปลูกบ้านอยู่ตามที่ไร่ที่นาของตนเอง บางคนไปซื้อที่ดินปลูกบ้านใหม่บริเวณทางเข้าไร่ ทำให้ลักษณะการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมะนาวหวานขณะนั้นค่อนข้างกระจัดกระจาย
ปัจจุบันทำเลที่ตั้งใหม่ของบ้านมะนาวหวานอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเต็มไปด้วยบ้านเรือนที่ปลูกสร้างแบบสมัยใหม่จากเงินชดเชยที่ได้รับหน่วยงานรัฐ ประชาชนในหมู่บ้าน คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทเบิ้ง ที่คาดว่าอาจอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ด้วยเหตุผลทางการเมืองตั้งแต่สมัยธนบุรี ไปจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรืออาจเป็นกลุ่มวัฒนธรรมไทที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและตั้งรกรากอยู่อาศัยในพื้นที่มาจนปัจจุบัน
สภาพแวดล้อม
หมู่บ้านมะนาวหวานตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สภาพแวดล้อมทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำป่าสัก ทั้งสองฝั่งรายล้อมด้วยทุ่งนา ไร่และป่าละเมาะ มีลำน้ำธรรมชาติไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก พื้นที่ชุมชนบางส่วนอยู่ในเขตชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี สำหรับทรัพยากรป่าไม้ของหมู่บ้านมะนาวหวานนั้นไม่เหลือพื้นที่ที่ซึ่งคงสภาพป่าไม้อยู่เลย
สถานที่สำคัญ
ทะเลน้ำจืดมะนาวหวาน จากลักษณะที่ตั้งของบ้านมะนาวหวานที่ตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน เป็นช่วงที่น้ำในเขื่อนลดระดับ สามารถมองเห็นผืนหญ้าสีเขียวเป็นลานกว้าง กลายเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาขับรถชมวิวและตั้งแคมป์ชมพระอาทิตย์ตกดินในยามเย็น
ประชากร
ปัจจุบันหมู่บ้านมะนาวหวานแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ 1 2 3 และ 8 มีประชากรทั้งสิ้น 1,919 คน 678 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 904 คน และหญิง 1,015 คน ประชากรในหม่บ้าน คือ ชาวไทเบิ้ง
ระบบเครือญาติและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
ครอบครัวชาวไทเบิ้งมีลักษณะเป็นครอบครัวเกษตรกรรม จึงนิยมมีลูกหลายคนเพื่อเพิ่มแรงงานแก่ครอบครัวในการทำมาหากิน สำหรับชายชาวไทเบิ้งที่แต่งงานแล้วจะต้องย้ายออกไปอยู่บ้านภรรยา ผู้ชายจึงต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับครอบครัวของฝ่ายหญิง ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ชายต่อครอบครัวภรรยาจะมีผลระยะยาวต่อทรัพย์สมบัติที่จะได้รับจากพ่อแม่ภรรยา และมีโอกาสที่จะได้เป็นหัวหน้าครอบครัวเมื่อพ่อแม่ภรรยาเสียชีวิต
ไทเบิ้งอาชีพหลัก: ชาวไทเบิ้งในหมู่บ้านมะนาวหวาน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ ทำสวน พืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าว (นาปี และนาปรัง) ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทานตะวัน และอ้อย นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเข้ารับราชการในหน่วยงานของภาครัฐ
อาชีพเสริม: รับจ้างทั่วไป และปศุสัตว์เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เช่น โคนม โคเนื้อ สุกร และไก่พันธุ์ ส่วนในช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน เป็นช่วงที่น้ำในเขื่อนลดระดับ ชาวบ้านสามารถลงน้ำหาปลาบริเวณริมเขื่อนเพื่อนำไปเป็นอาหาร และจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาตั้งแคมป์บริเวณริมเขื่อนได้
การแลกเปลี่ยนภายในชุมชน: ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของร้านค้าชุมชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในชีวิตประจำวัน ปลา พืชผักสวนครัวและผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น พริก มะเขือ มะรุม ฯลฯ
ประเพณี
ชาวไทเบิ้งบ้านมะนาวหวาน รวมถึงไทเบิ้งทุกชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก โดยทั่วไปจะมีประเพณีที่มีความคล้ายคลึงกับชาวไทยภาคกลาง สรุปประเพณีท้องถิ่นของชาวไทเบิ้งบ้านมะนาวหวานได้ดังนี้
ประเพณี |
รายละเอียด |
บุญเทศน์มหาชาติ |
นิยมเทศน์กลางเดือน 12 และช่วงเข้าพรรษา ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวไทเบิ้ง |
วันตรุษ |
จะทำในวันพระสิ้นเดือน 4 โดยชาวบ้านจะกวนข้าวเหนียวแดง ทำข้าวโปง และนางเล็ด เพื่อนำไปถวายพระ แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่นิยมทำขนมเองเนื่องจากมีความยุ่งยาก ส่วนใหญ่จะไปหาซื้อข้าวเหนียวแดงและกาละแมไปถวายพระแทน |
ก่อพระเจดีย์ทราย |
จะทำเป็นประจำทุกปีในช่วงของวันตรุษและวันสงกรานต์ โดยช่วงเช้าจะทำบุญก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนช่วงค่ำมีการสวดมนต์ฉลองพระทราย |
สารท |
ทำในวันสิ้นเดือน 10 โดยชาวบ้านจะทำข้าวกระยาสารทไปถวายพระ เพื่อถือเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ |
ทำบุญกลางบ้าน |
จะทำช่วงกลางเดือน 6-8 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำบุญบูชาผี ให้คนในหมู่บ้านอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัย นาไร่ได้ผลผลิตดี |
แห่นางแมว |
จะทำเฉพาะปีที่ฝนแล้งเท่านั้น โดยจะทำในช่วงเดือน 9-10 หลังดำนาหรือหว่านข้าวแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง เพื่ออ้อนวอนแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้บันดาลฝนลงมาให้ |
รับท้องข้าว |
นิยมทำในวันออกพรรษาหรือลาพรรษา เพื่อไหว้วอนต่อพระแม่โพสพให้ช่วยดูแลท้องนาและเมล็ดข้าวให้เจริญงอกงาม |
รับขวัญข้าว |
จะทำในเดือน 12 หลังนำข้าวเข้ายุ้งแล้ว เพื่ออัญเชิญพระแม่โพสพจากท้องนาให้ตามมาดูแลข้าวในยุ้ง |
นอกจากประเพณีดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ชาวไทเบิ้งบ้านมะนาวหวานยังมีประเพณีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านกระทำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เช่น ประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ วันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา และมาฆบูชา เป็นต้น
ความเชื่อ
ชาวไทเบิ้งบ้านมะนาวหวาน เป็นกลุ่มคนที่ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเข้มข้น เช่น ในอดีตชาวบ้านมะนาวหวานมีการตั้งศาลบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อชาวบ้านเดินทางผ่านศาลนี้จะต้องทำการ “โผลก” คือ พูดดัง ๆ ว่าจะไปทำอะไรที่ไหน เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ศาลรับรู้จะได้คอยคุ้มครอง หรือเชื่อว่าการแห่นางแมวจะทำให้เทพเจ้าพอใจและบันดาลฝนให้ตก นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่อาจใช้ภูมิปัญญาอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดจึงมีความเชื่อเช่นนั้น เช่น ความเชื่อเรื่อง “โคลงเสดียด” ว่า “ปลูกเรือนใกล้วัด ไม้ปัดหลังคา เสาเรือฟ้าผ่า หลังคาไฟไหม้” เป็นสิ่งที่หากเกิดขึ้นแล้วจะไม่เป็นมงคล สามารถอธิบายได้ว่า การปลูกบ้านใกล้วัดอาจทำให้มีเรื่องกระทบกระทั่งกับคนอื่นได้ง่าย เพราะวัดเป็นศูนย์รวมชุมชน มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจสร้างความรำคาญใจแก่บ้านเรือนแถบนั้น หรือหากมีกิ่งไม้มาพาดปัดอยู่บนหลังคา อาจทำให้เกิดอันตรายแก่คนในบ้านได้ เป็นต้น
เครื่องมือจับสัตว์วัตถุทางวัฒนธรรม
เนื่องจากสภาพที่ตั้งของหมู่บ้านมะนาวหวานที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ในฤดูฝนน้ำในแม่น้ำมักจะเอ่อท่วมสองฟากฝั่ง อีกทั้งยังอยู่ใกล้เขื่อนป่าสัก อยู่ติดกับพื้นที่ดอนเชิงเขา สภาพโดยรอบเป็นป่าโปร่งหรือป่าละเมาะ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ชาวบ้านจึงมักจะทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำ และสัตว์อื่น ๆ เช่น หนู ไก่ พังพอน เพื่อเป็นอาหารและขาย
ลัน : เป็นเครื่องมือสำหรับดักจับปลาไหล ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ เจาะข้อออกให้ทะลุถึงกัน ปลายปิดตัน เจาะรูเล็ก ๆ 2-3 รู เพื่อให้อากาศถ่ายเท ปลาจะได้ไม่ตาย เวลาดักจะจมลันใกล้ตลิ่ง ใส่เหยื่อ เช่น ปูนา หอยโข่ง เสียบไม้ปักลงดิน ปล่อยด้านที่มีช่องอากาศให้ลอยเหนือผิวน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน ปลาไหลที่เข้ามากินเหยื่อจะไม่สามารถหาทางออกได้
ตะแกรง : มีลักษณะคล้ายฝาชีด้านหงาย สานห่าง ๆ ด้วยไม้ไผ่ สำหรับโหงปลา บริเวณที่ใช้ตะแกรงได้ดีจะต้องเป็นบริเวณที่มีผืนน้ำไม่กว้างนัก เพื่อให้ตะแกรงกรองปลาหรือสัตว์น้ำต่าง ๆ ไม่ให้หลุดรอดไปได้
ข้องหรือตะข้อง : เป็นภาชนะสำหรับใส่สัตว์น้ำ เช่น ปลา กบ ปู ทำด้วยไม้ไผ่สาน
กระชัง : เป็นภาชนะสำหรับขังปลา ส่วนใหญ่จะแขวนแช่ไว้ในน้ำ ปลาจะได้ไม่ตาย ทำด้วยไม้ไผ่ รูปทรงรียาว ห้วท้ายตัด สานโปร่ง ผีฝาเปิดปิดได้
กระชังปลา : เป็นภาชนะขังปลา ทำด้วยเชือกถักเป็นตาข่าย การขังปลาอาจทำได้โดยการนำกระชังไปแช่ไว้ในน้ำ ทำให้ปลาได้ว่ายน้ำ และกินอาหารได้คล้ายตามธรรมชาติ
กะตังบาน : เป็นเครื่องมือสำหรับดักนกเขา ทำด้วยไม้ไผ่ มีกรงใส่นกต่ออยู่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านเป็นกับดักนก มีคานเกาะ สลัก และตาข่ายครอบนก
แร้วหลุม : เป็นเครื่องมือดักนกและพังพอน ทำด้วยไม้ไผ่มีเชือกทำเป็นบ่วง เวลาดักจะปักคันแร้วและสลักลงดินให้แน่น ดึงเชือกลงมาขัดกับสลักพร้อมเสียบเหยื่อเอาไว้ เมื่อสัตว์มากินเหยื่อจะดึงสลักให้หลุดคานแร้ว แล้วดึงเชือกบ่วงมัดรวบสัตว์เอาไว้
ฟ้าทับเหว : เป็นกับดักหนูแบบโบราณ ที่ใช้น้ำหนักของแท่งไม้เป็นตัวทุ่มลงมาทับตัวหนู หนูที่ใช้ฟ้าทับเหวดักมักเป็นหนูขนาดใหญ่ เช่น หนูป่า หนูพุก หนูท้องขาว ไม่นิยมนำมาดักหนูบ้านเพราะมีขนาดเล็ก
ภาษาพูด : ภาษาไทเบิ้ง และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
การเวนคืนที่ดินในพื้นที่บ้านมะนาวหวานเพื่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ส่งผลให้สถานที่อยู่อาศัยเดิมของชาวบ้านถูกปล่อยให้จมไปกับการกักเก็บน้ำ โครงสร้างและความสัมพันธ์ของชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบทบาทของชุมชนในอนาคต อาชีพดั้งเดิมถูกลดความสำคัญลงด้วยเหตุจำเป็น และแม้จะมีการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้าน ทว่า กลับทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก กล่าวคือ นอกจากเงินชดเชยจะไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีที่ทำกินแบบเดิมแล้ว ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีวิถีการใช้ชีวิตและรายจ่ายที่สูงขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของชาวไทเบิ้งบ้านมะนาวหวาน ทำให้ชาวบ้านมะนาวหวานถูกมองว่ามีลักษณะ “ฟุ่มเฟือย” เป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะ “สังคมบริโภคนิยม” ทั้งที่ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนที่เกิดกับบ้านมะนาวหวานนั้นมีความรุนแรงมากกว่าหมู่บ้านอื่น แม้ว่าในระยะเวลาต่อมาจะมีความพยายามแก้ปัญหาท้องถิ่นโดยความพยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมของชาวไทเบิ้งบ้านมะนาวหวาน ทว่า ความพยายามดังกล่าวกลับไม่ได้รับผลตอบรับจากชาวบ้านมากเท่าที่ควร ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความตระหนักในความเป็นไทเบิ้งของชาวบ้านมะนาวหวานค่อนข้างที่จะเจือจาง อันมีสาเหตุมาจากผลกระทบที่รุนแรงในการต้องอพยพย้ายที่อยู่อาศัยเกือบทั้งหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวบ้านต้องไปปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในสถานที่ใหม่ ลักษณะบ้านแบบสมัยใหม่ และวิถีการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ รวมถึงการล่มสลายของกลุ่มความสัมพันธ์ชาวไทเบิ้ง ที่ต้องแยกย้ายกระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ปฎิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มชาวไทเบิ้งลดลงไป อันเป็นสาเหตุให้วัฒนธรรมกลิ่นไอความเป็นไทเบิ้งในบ้านมะนาวหวานเลือนหายไป
กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2553). เขตการใช้ที่ดินตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี. ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 1.
กรมแผนที่ทหาร. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566].
ชาญวิทย์ ตีรประเสริฐ. (2548). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรม และกระบวนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมไทยเบิ้ง. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พิมพ์อาภา พันธุลี วรรณี ตั้งเสาวภาคย์ ศิริรัตน์ อุปทินเกตุ และคณะ. (2542). เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์กับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี. วารสารประชากรศาสตร์, 15(2), 96-97.
ภูธร ภูมะธน วรรณา จันทนาคม นวลน้อย บรมรัตนพงศ์ และคณะ. (2541). มรดกวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก. กรุงเทพฯ: พี. เอ. ลีฟวิ่ง จำกัด.
เรารัก"ลพบุรี". (2019, 7 พฤษภาคม). "บ้านมะนาวหวาน". Facebook. https://www.facebook.com/raoruklopburi/photos/pcb.855194177942690/855194054609369?locale=th_TH