Advance search

ชุมชนริมคลองที่มีวัดประดู่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางประพาสของรัชกาลที่ 5 จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา

วัดประดู่
อัมพวา
สมุทรสงคราม
ฐิติมา ขวัญสุข
15 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
วัดประดู่

ชุมชนวัดประดู่ มีที่มาของชื่อตามชื่อวัดประดู่ ซึ่งหน้าวัดมีต้นประดู่ใหญ่ต้นหนึ่ง จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน และคลองหน้าวัด จึงเรียกว่า คลองประดู่ ตามชื่อวัด


ชุมชนชนบท

ชุมชนริมคลองที่มีวัดประดู่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางประพาสของรัชกาลที่ 5 จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา

วัดประดู่
อัมพวา
สมุทรสงคราม
75110
13.4282843567
99.8896023317
องค์การบริหารส่วนตำบลวัดประดู่

คลองวัดประดู่ หรือ คลองประดู่ เป็นคลองที่เเยกมาจากคลองแควอ้อมหรือแม่น้ำอ้อม คือ ลำน้ำแม่กลองเก่าที่เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กับตำบลวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ไหลไปทางใต้โดยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กับอำเภอวัดเพลง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และระหว่างอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กับอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นไหลเข้าเขตอำเภอเขาย้อย แล้วไปลงคลองบ้านน้อย หมู่ที่ 7 บ้านบางสามแพรก ตำบลเขาย้อย มีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร ปากคลองด้านเหนืออยู่ข้างวัดแก้วเจริญ ชาวบ้านมักจะเรียกปากคลองทางด้านนี้สองชื่อ คือ “ปากคลองวัดประดู่” และ “ปากคลองวัดแก้ว”

ชุมชนปากคลองวัดประดู่ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรระบุถึงความเป็นมาของชุมชนอย่างชัดเจนแต่พื้นที่บริเวณปากคลองวัดประดู่นี้นับได้ว่าเป็นบริเวณที่มีชุมชนเก่าแก่มาก่อนและอยู่ในเขตที่เรียกว่า “สวนนอก” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณแม่น้ำอ้อมและอยู่ติดกับเขตอำเภอวัดเพลงจังหวัดราชบุรี ในระยะแรกของการตั้งชุมชนริมน้ำบริเวณปากคลองวัดประดู่นี้ มีการกล่าวถึงพื้นที่บริเวณวัดแก้วเจริญมีการสืบค้นประวัติได้ว่าเป็นวัดโบราณ แต่ระบุไม่ได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้างและไม่ปรากฏนามเดิมของวัด ตามคำกล่าวของผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมาว่า "ชาวบ้านท่าใหญ่ได้อพยพหลบภัยจากข้าศึกพม่ามาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครั้งเสียกรุงเมื่อปี พ.ศ. 2310 ได้มาถึงสถานที่แห่งนี้เห็นเป็นชัยภูมิที่ดีเหมาะสมแก่การอยู่อาศัยรวมถึงเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีผู้คนอยู่อาศัยจึงได้ทำการถางป่าเพื่อสร้างบ้านเรือนเพื่อเป็นที่อยู่ แต่หลังจากถางป่าจากริมเข้าไปทางชายคลองประดู่ลึกประมาณ 3 เส้นเศษก็พบกับซากพระอุโบสถที่ไม่มีฝาผนังและหลังคา พบเพียงแต่ซากปรักหักพังปรากฏอยู่คู่กับพุทธประธานศิลาแลงพระพุทธรูปศิลาแลงปางต่าง ๆ และพระพุทธรูปที่สร้างด้วยแก้วประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีพบใบสีมารอบพระอุโบสถทั้งทางด้านหน้าและหลังผนังอุโบสถมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนแท่นนอกจากนี้ยังพบเจดีย์สององค์ชำรุดเสียหายมีพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ชนิดไม่มีผ้าพาดซึ่งเรียกว่า “พระกรวย” บรรจุอยู่เป็นจำนวนมากจึงทราบว่าบริเวณพื้นที่นี้เคยเป็นวัดมาก่อนเนื่องจากเป็นธรณีสงฆ์จึงไม่เหมาะแก่การสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ชาวบ้านจึงได้พากันข้ามคลองประดู่ไปถางป่าทางทิศตะวันตกห่างจากวัดประมาณห้าเส้นเศษเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและหมู่บ้านก็ยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบันชื่อหมู่บ้านบึงท่าใหญ่ หรือหมู่ที่ 6 อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ดังนั้นหมู่บ้านท่าใหญ่ จึงนับได้ว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานยุคแรกของพื้นที่บริเวณปากคลองวัดประดู่ที่มีเอกสารสืบค้นได้

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นพื้นที่แถบอัมพวาหรือที่คนรู้จักกันในชื่อ “บางช้าง” เริ่มมีผู้คนเชื้อชาติต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทย ชาวจีนและชาวเขมร โดยเฉพาะชาวจีนที่อพยพเข้ามานั้นมีความชำนาญทั้งในด้านการค้าขายและการเกษตรส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้มีทั้งตลาดบกและตลาดน้ำตามพื้นที่ต่าง ๆ จนกิดตลาดน้ำบริเวณปากคลองสายสำคัญที่อยู่บริเวณวัดริมน้ำ เช่น บริเวณปากของอัมพวา ปากคลองบางแค ซึ่งในอดีตบริเวณปากคลองวัดประดู่หรือปากคลองวัดแก้วเจริญนี้เป็นตลาดค้าขายขนาดใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่ง

ถึงแม้ข้อมูลของชุมชนริมคลองวัดประดู่จะมีความเป็นมาที่ไม่ชัดเจน หากแต่ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงทำการเสด็จประพาสต้นทรงเสด็จ ณ วัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม รัตนโกสินทร์ศก 123  ณ สถานที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหลายพระองค์และข้าราชบริพารได้เสด็จทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งรองเพื่อเสด็จประทับแรมที่จังหวัดสมุทรสงคราม กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับวัดที่เมืองสมุทรสงครามนี้ไว้ว่า

“...วันที่ 21 กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาด ไปพบยายเจ้าของเรือที่แกเคยเห็นเจ้าชีวิต 3 หน แกพาลูกมาเฝ้า ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องแต่งตัวแก่เด็กนั้นหลายอย่าง ประพาสตลาดแล้วออกเรือจากเมืองราชบุรี กระบวนเรือพลับพลาให้ล่องลงไปตามลำน้ำใหญ่ไปคอยที่เมืองสมุทรสงครามเสด็จเรือมาด 4 แจว มีเรือต้นที่ซื้อใหม่เป็นเรือพระที่นั่งรองพ่วงเรือไฟเล็กเข้าทางแม่น้ำอ้อมไปแวะซื้อเสบียงอาหารที่ตลาดปากคลองวัดประดู่ ออกจากตลาดแจวเข้าคลองเล็กไปจนถึงวัดประดู่ หยุดพักทำครัวเสวยเช้าที่วัดนั้น กองล้างชามเที่ยวตรวจได้ความแปลกประหลาดที่วัดนี้ว่าเป็นหมอน้ำมนต์ มีผู้ที่เจ็บไข้ไปคอยรดน้ำมนต์รักษาตัวอยู่หลายคนได้ความว่าเป็นโรคผีเข้าบ้าง ถูกกระทำย่ำยีบ้าง และโรคอย่างอื่น ๆ บ้างเมื่อเลี้ยงกันเสร็จแล้ว จึงพร้อมกันไปดูรดน้ำมนต์ รดน้ำมนต์อย่างนี้ฉันก็พึ่งเคยเห็น คนพูดจากันอยู่ดี ๆ พอเข้าไปนั่งให้พระรดน้ำ ก็มีกิริยาอาการวิปลาศไปต่าง ๆ ”

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบริเวณปากคลองวัดประดู่ในอดีตจากการสอบถามคนเก่าแก่ซึ่งเป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่พบว่าผู้คนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเรือนแพจอดตามริมฝั่งแม่น้ำแควอ้อมและคลองวัดประดู่ ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนท่าม่วงสภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนแปลงความสะดวกสบายในการสัญจรทางน้ำในฤดูน้ำหลากจึงลดลง ประกอบกับพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มมีการตัดถนนเข้ามาชาวบ้านจึงหันไปนิยมการสัญจรทางบกมากกว่า ทำให้ตลาดทางน้ำเริ่มซบเซาลงรวมถึงตลาดนัดปากคลองวัดประดู่เช่นกัน 

ความซบเซาของตลาดปากคลองวัดประดู่นี้มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปคือในช่วงแรกกลุ่มคนที่หาบของมาขายที่นอกชานเริ่มหายไปทีละรายสองราย จำนวนเรือที่พายมาขายของเริ่มลดลงจนกระทั่งที่นอกชานไม่มีคนเข้ามาขายของอีก มีเฉพาะเรือพายมาขายกันเองอยู่บ้าง ในที่สุดเรือลดน้อยลงจนเลิกขายสินค้าไปในที่สุด

พื้นที่ของชุมชนวัดประดู่อยู่ในการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดประดู่ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 16.48 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10,300 ไร่ โดยพื้นที่ในชุมชนเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำการเกษตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเมืองใหม่ ตำบลบางแค อำเภออัมพวา ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลปลายโพงพาง ตำบลบางแค อำเภออัมพวา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลวัดยางงาม ตำบลวันดาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่ที่เป็นที่ราบและมีลำคลองมากมาย ชาวบ้านในชุมชนวัดประดู่จึงทำการเกษตรเป็นหลัก โดยพืชส่วนใหญ่ที่ปลูก ได้แก่ มะพร้าว ส้มโอ ทำนา รวมถึงการเลี้ยงปลา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

วัดประดู่ (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่ที่บ้านบางกระรี้ หมู่ที่ 2 ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วัดประดู่เป็นวัดโบราณไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่า "สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลายแต่ได้รื้อไปแล้ว เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วัดหนึ่งในเมืองแม่กลอง หน้าวัดมีต้นประดู่ใหญ่ต้นหนึ่ง และคลองหน้าวัดคือ คลองประดู่" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นทางชลมารคมาถึงวัดนี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 และหยุดพักทำครัวเสวยเช้าที่วัดนี้ ผูกเรือที่ต้นประดู่ใหญ่ปัจจุบันนี้ทางวัดได้ทำแผ่นป้ายใหญ่ริมคลองหน้าวัด บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ณ วัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามรัตนโกสินทร์ศก 123 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 ณ สถานที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหลายพระองค์ และข้าราชบริพารได้เสด็จทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งรอง (เรือมาด 4 แจว) ได้มาจอดพัก และผูกเรือพระที่นั่ง ณ ต้นสะเดาต้นนี้ เพื่อทำครัวเสวยพระกระยาหารเช้า ณ บริเวณนี้ และได้เสด็จกลับไปเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เศษ (บ่าย 3 โมงเย็น) เพื่อเสด็จประทับแรมที่จังหวัดสมุทรสงคราม"

นอกจากวัดประดู่จะมีประวัติศาตร์ที่สำคัญและวัดประดู่ยังถือว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่อัมพวาอีกด้วย โดยทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทำการจัดโครงการ “วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน” และได้ทำการเลือกให้วัดประดู่ให้เป็นวัดตัวอย่างนำร่องในโครงการ เนื่องจากวัดประดู่ถือว่าเป็นศูนย์กลางชุมชนได้อย่างแท้จริงและมีความโดดเด่นในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการส่งเสริมการศึกษาคณะสงฆ์และงานสาธารณสงเคราะห์และงานสาธารณูปการ โดยมีพระมหาสุรศักดิ์ อติสกโข เจ้าอาวาสวัดประดู่เป็นผู้วางรูปแบบในการพัฒนาวัดให้สะอาด สวยงาม และเป็นแหล่งเรียนรู้สู่ความยั่งยืน

พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ทางวัดได้เก็บรักษาเครื่องราชศรัทธา เมื่อสมัยที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสร็จประพาสต้นทางชลมารคและทรงเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดประดู่และได้ทรงถวายเครื่องราชศรัทธาไว้ที่วัดประดู่ กระทั่งในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นโดยมีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น 5 หลังคาแฝด มีการปิดทองทั้งหลังเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเครื่องราชศรัทธาและเป็นสมบัติของชาติต่อไป

ศาลาเก๋งเรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สืบเนื่องจากเหตุการณ์เสด็จประพาสต้นทางชลมาครของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2447 พระองค์ได้ทรงเรือพระที่นั่งซึ่งเป็นเรือมาด 4 แจว ที่ทำมาจากซุงไม้สักหรือตะเคียน พระองค์ได้จอดแวะพักและผูกเรือพระที่นั่น ณ ต้นสะเดา เพื่อทำครัวและเสวยพระกระยาหารเช้า กระทั่งในปี พ.ศ. 2541 ได้มีการสร้างสถานที่เก็บรักษาเก๋งเรือพระราชทานเอาไว้และมีการบูรณะซ่อมแซมจากของเดิมที่ชำรุดให้สมบูรณ์

ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู (หอศิลป์) ด้วยทางวัดประดู่มีการเล็งเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน หอศิลป์แห่งนี้ได้เปิดให้ชุมชนและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาขั้นตอนการทำและการฝึกทำหัวโขนและเศียรครู โดยมีหลักสูตรการเรียนรู้จากผู้ชำนาญที่ได้เล่าเรียนจากผู้มีความรู้ในการทำหัวโขนและเศียรครูโดยตรง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การตั้งกฏระเบียบที่อยู่อาศัยของวัดแก้วเจริญ

ประมาณปี พ.ศ. 2535 วัดแก้วเจริญมีนโยบายจะปรับปรุงพื้นที่วัด โดยต้องการที่ดินบริเวณปากคลองวัดประดู่คืนจากชาวบ้านที่เช่าอาศัย มีการออกหนังสือให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ แต่ในที่สุดชุมชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ย้ายออกไปจากพื้นที่มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ย้ายบ้านเรือนออกไป เช่น บริเวณริมน้ำที่สร้างเป็นเขื่อนกั้นดินในปัจจุบัน และพื้นที่ด้านหลังถัดจากริมน้ำเข้าไปใกล้กับแนวรั้วของวัดแก้วเจริญปัจจุบัน ส่วนชุมชนที่เหลือก็สามารถอาศัยอยู่ต่อไปได้ตลอด แต่การอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตวัดจะต้องมีกฎคือห้ามสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามเล่นการพนันและห้ามขายน้ำมัน เป็นแนวปฏิบัติในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในเขตวัด


ปัญหาน้ำเสียคลองวัดประดู่

ปัญหาน้ำเสียได้เกิดขึ้นในคลองวัดประดู่ ซึ่งถือเป็นคลองที่ชาวบ้านใช้สัญจรและใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค โดยปัญหาน้ำเสียนี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทำให้ทางจังหวัดสมุทรสงครามได้ทำการยกปัญหาน้ำเสียในคลองวัดประดู่ขึ้นเป็นวาระสำคัญของจังหวัด โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงาน 6 ด้าน ประกอบด้วย ภาคราชการและภาคประชาชนร่วมกันดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และมีการประชุมติดตามงานในทุกเดือน      

อย่างไรก็ตาม นายขจร ศรีชวโนทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการลงเรือท้องแบนเพื่อสำรวจคลองวัดประดู่ จนถึงบริเวณตลาดน้ำ 3 อำเภอ รวมระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร พบว่าคุณภาพน้ำเริ่มดีขึ้นแต่จากการตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการล้งมะพร้าวที่ตั้งอยู่ริมคลองวัดประดู่ พบว่ายังมีสถานประกอบการหรือล้งมะพร้าวบางแห่งมีการต่อท่อทิ้งลงคลองวัดประดู่ แต่อ้างว่าช่วงนี้ได้หยุดดำเนินการเนื่องจากไม่มีลูกค้าแล้ว ทางผู้ว่าฯ จึงได้ทำการว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้อุดท่อน้ำทิ้งดังกล่าว หากพบว่าไม่ปฎิบัติตามหรือฝ่าฝืนจะทำการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผู้จัดการออนไลน์. (2551). วัดประดู่ แหล่งเรียนรู้ชุมชนที่อัมพวา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2566, จาก: https://mgronline.com/travel/detail/9510000067526.

ผู้จัดการออนไลน์. (2565). พ่อเมืองแม่กลองติดตามปัญหาน้ำเสียคลองวัดประดู่ พบคุณภาพน้ำเริ่มดีขึ้น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2566, จาก: https://mgronline.com/local/detail/9650000082063.

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม. (ม.ป.ป). วัดประดู่ พระอารามหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2566, จาก: https://skm.onab.go.th/th/content/category/detail/id/110/iid/5581.

อรุณวรรณ ศิริวชิราภรณ์. (2550). ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของการตั้งถิ่นฐานดั่งเดิมของชุมชนปากคลองวัดประดู่ จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการวางผังเมือง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

องค์การบริหารส่วนตำบลวัดประดู่. (ม.ป.ป). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2566, จาก: https://watpradoo.go.th/public/list/data/index/menu/1142.