Advance search

ตลาดท่ายาง

เป็นย่านตลาดการค้าบริเวณถนนเทศบาลต่อเนื่องถึงริมแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมีห้องแถวไม้ 2 ชั้น เป็นกลุ่มแถวยาวปะปนอยู่กับอาคารสมัยใหม่ โดยมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเพชรบุรีและคลองชลประทานไหลผ่านพื้นที่

ท่ายาง
ท่ายาง
เพชรบุรี
ภัทรานิษฐ์ พิศวงค์
31 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
13 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ตลาดท่ายาง

ที่มาของชุมชนเกิดจากการที่มีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดขึ้นอยู่ทั่วบริเวณโดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่มีต้นยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงเป็นที่มาในการใช้ตั้งชื่อหมู่บ้านที่ติดริมแม่น้ำแห่งนี้ว่า “ท่ายาง”


เป็นย่านตลาดการค้าบริเวณถนนเทศบาลต่อเนื่องถึงริมแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมีห้องแถวไม้ 2 ชั้น เป็นกลุ่มแถวยาวปะปนอยู่กับอาคารสมัยใหม่ โดยมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเพชรบุรีและคลองชลประทานไหลผ่านพื้นที่

ท่ายาง
ท่ายาง
เพชรบุรี
76130
เทศบาลท่ายาง โทร. 0-3246-3000
12.9733161247
99.8929765527
เทศบาลตำบลท่ายาง

ท่ายางเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หรือประมาณปี พ.ศ. 2100 มีชุมชนแรก ๆ ก่อตัวกันขึ้นที่บ้านท่าคอย ซึ่งมีหลักฐานเป็นโบสถ์มหาอุตม์ และหอระฆังอายุกว่า 400 ปี อยู่ที่วัดท่าคอย พื้นที่ส่วนใหญ่ของท่ายางเป็นป่าดงดิบและภูเขาสูง มีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดขึ้นอยู่ทั่วบริเวณโดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีจะมีต้นยางหรือต้นยางนาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงเป็นที่มาในการใช้ตั้งชื่อหมู่บ้านที่ติดริมแม่น้ำว่า “ท่ายาง” และ “ยางหย่อง” 

ในปี พ.ศ. 2430 ได้มีชาวจีนจากมณฑลซัวเถา และเกาะไหหลำ อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่แห่งนี้จำนวนมาก ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงที่ไม่ชอบความวุ่นวายต้องอพยพร่นถอยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบพื้นที่ อ.แก่งกระจาน โดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาใหม่ส่วนใหญ่จะตั้งชุมชนอยู่บริเวณทางทิศตะวันออกของบ้านท่าคอย ติดริมแม่น้ำเพชรบุรี และได้ร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าพ่อกวนอูและศาลจ้าแม่ทับทิมขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในพื้นที่จนถึงทุกวันนี้

หลังจากชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ไม่นานก็ได้มีราษฎรจากจังหวัดอื่นอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ทางราชการต้องตั้งอำเภอขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2436 ที่บริเวณหมู่บ้านวังไคร้ ริมแม่น้ำแม่ประจันต์ ต.วังไคร้ และเรียกว่า “อำเภอแม่ประจันต์” ซึ่งอำเภอแห่งนี้ตั้งอยู่ได้ประมาณ 20 ปี ทางการเห็นว่าอยู่ไกลจากย่านชุมชนจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ต.ยางหย่อง และเรียกชื่อใหม่ว่า “อำเภอย่างหย่อง” แต่ที่แห่งนี้มีโจรผู้ร้ายชุกชุมสร้างความเดือดร้อนสร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากทางการจึงย้ายที่ตั้งอำเภออีกครั้งในปี พ.ศ. 2460 โดยย้ายไปตั้งอยู่ในหมู่ 1 บ้านท่ายางบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี แต่ยังคงเรียกอำเภอยางหย่องตามเดิม

กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ทางการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอยางหย่องเป็นอำเภอท่ายางพร้องทั้งสร้างสถานบริการสาธารณสุขแห่งแรกคือ สุขศาลาชั้น 2 มีที่ทำการอยู่บริเวณถนนเพชรเกษม ริมคลองชลประทานสาย 3 ก่อนยกฐานะเป็นสถานีอนามัยชั้น 2, อนามัยอำเภอ, พยาบาลอนามัยและผดุงครรภ์, สถานีอนามัยชั้น 1, ศูนย์การแพทย์และอนามัยแล้วเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลท่ายาง และย้ายมาตั้งอยู่ริมถนนสาท่ายาง - บ้านหนองบ้วยจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงเรียนบ้านท่ายางประชาสรรค์ขึ้นอีก 1 แห่ง พร้อมพัฒนาปรับปรุงเส้นทางเดินและป่ากล้วยขยายเป็นถนนใหญ่เส้นหลักเชื่อมต่อถนนเพชรเกษมที่สามแยกท่ายางคู่ขนานกับถนนริมน้ำหรือถนนราษฎร์บำรุง

ชุมชนท่ายางในอดีตเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้า และจุดแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญของเพชรบุรี มีชาวบ้านที่ทำไร่ ทำสวนจากพื้นที่เหนือน้ำของอำเภอท่ายาง เช่น แก่งกระจาน หนองเตียน เขาลูกช้าง หนองชุมแสง ท่าขาม ได้ล่องเรือนำผลผลิตทางการเกษตรมาขึ้นที่ท่าน้ำบริเวณศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลเจ้าแม่ทับทิม เพื่อเจรจาซื้อขายกับพ่อค้า แม่ค้าจากเมืองเพชร บ้านลาด และบ้านแหลมที่นำอาหารทะเลมาขายที่ตลาดป้าบ่วย นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงหาบของกระเดียดกระจาด และเข็นรถรุน (รถสาลี่) มาตั้งขายอยู่ทั่วไป หลังจากชุมชนท่ายางเกิดเหตุไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2495 ชุมชนท่ายางตกอยู่ในสภาวะเงียบเหงาไม่คึกคักเหมือนก่อน

ปัจจุบันชุมชนท่ายางแห่งนี้ยังคงหลงเหลืออาคารไม้ ร้านค้าโบราณครั้งอดีตที่ลูกหลานได้อนุรักษ์และสืบต่อธุรกิจอันเก่าแก่ของบรรพบุรษให้คงไว้ จนเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวแห่กันมาเที่ยวชมและเลือกซื้อ เลือกชิมสินค้าที่ขึ้นชื่อของอำเภอท่ายาง เช่น ร้านผัดไทท่ายาง ร้านทองม้วนทิพย์ ตลาดสดท่ายาง ร้านขนมหวานแม่บุญล้น เป็นต้น

ชุมชนตลาดท่ายางมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยภายหลัง คือชาวไททรงดำ ชาวไททรงดำอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีเป็นชนเผ่าที่ไม่เรียกตัวเองว่าลาวแต่เรียกตัวเองว่า “ไท” เหมือนกับ “ไทหลวง” หรือ “ไทใหญ่” เหตุที่เรียกว่าไทดำเพราะชนเผ่านี้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ ย้อมด้วยเขม่าไฟที่ติดก้นหม้อใกล้ๆกับชนเผ่าไทดำก็เป็นไทแดงและไทขาว เนื่องจากนุ่งห่มเครื่องแต่งกายสีแดงและสีขาว

ชาวไทดำในจังหวัดเพชรบุรีเป็นชาวไทดำที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยศึกจากแคว้นสิบสองจุไทดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแถนหรือเมืองเดียน เบียน ฟู โดยกองทัพของเจ้าพระยาจักรี ที่ออกไปตีเวียงจันทน์เมื่อปีพ.ศ. 2321 ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วให้เจ้าหลวงพระบางกวาดต้อนผู้คนจากเชียงขวาง ดินแดนชาวพวนและสิบสองจุไทลงมาธนบุรี เชลยศึกครั้งนั้นมีทั้งลาว มีทั้งพวน ไทดำ ไทแดง มีทั้งข่า พวนมีจำนวนมากที่สุดและอยู่แยกกันในหลายจังหวัดของประเทศไทย แต่ไทดำอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่สาม โปรดให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกไปตีเวียงจันทน์อีก ครั้งนี้กวาดต้อนคนลาว คนพวน รวมทั้งไทดำลงมาอีกและโปรดให้ไทดำอยู่ที่เพชรบุรีและราชบุรี 

ชุมชนท่ายางเป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 1 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่บริเวณริมฝั่งขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ในตำบลท่ายางจะประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน ดังนี้

  • หมู่ที่ 1 บ้านท่ายาง
  • หมู่ที่ 2 บ้านหนองสัก
  • หมู่ที่ 3 บ้านท่ากระเทียม
  • หมู่ที่ 4 บ้านไสค้าน 
  • หมู่ที่ 5 บ้านหนองแฟบ
  • หมู่ที่ 6 บ้านกระจิว 
  • หมู่ที่ 7 บ้านหนองบ้วย 
  • หมู่ที่ 8 บ้านหนองแขม
  • หมู่ที่ 9 บ้านหนองแจง 

โดยเส้นทางการเดินทางสู่ชุมชนท่ายางนั้นเริ่มจากตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีแล้วลงมาทางใต้ตามถนนเพชรเกษมไปอีกประมาณ 17 กิโลเมตร ตามเส้นทางที่ผ่านก็จะผ่านบริเวณป่ายางในเขตบ้านหนองช้างคายซึ่งจะเป็นจุดที่เตือนให้ผู้เดินทางทราบว่าจวนจะถึงเขตชุมชนตลาดท่ายางแล้ว เมื่อมองเห็นทางโค้งข้างหน้าที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า โค้งห่าพุ่ง พร้อมกับป้ายสีเขียวตัวหนังสือสีขาวว่า “ชาวท่ายางยินดีต้อนรับ” ก็เข้าสู่ชุมชนท่ายางแล้ว

สภาพแวดล้อม 

ชุมชนตลาดท่ายางอยู่ในเขตลุ่มน้ำตอนล่างของแม่น้ำเพชรบุรี เดิมที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มเต็มไปด้วยป่า ฤดูน้ำก็มักจะเกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ ต่อมามีการบุกเบิกถางพื้นที่ให้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเพาะปลูก แม่น้ำเพชรบุรีเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวบ้านทั้งในด้านอุปโภคและบริโภคสมัยก่อนที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ ในชุมชนชาวบ้านต้องรองน้ำฝนและหาบน้ำจากห่ามาใช้ล้าง อาบกิน บางครั้งก็ได้อาศัยน้ำจากบ่อที่ขุดกันขึ้นบริเวณบ้านเรือน บ่อน้ำนี้ส่วนใหญ่ก็คือน้ำที่ซึมมาจากแม่น้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลากระดับน้ำในแม่น้ำจะสูงขึ้น ในอดีตชาวบ้านก็ได้อาศัยแม่น้ำเพชรบุรีเป็นเส้นทางติดต่อกับชุมชนใกล้เคียงและที่ห่างไกลออกไป พอเข้าฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำลดลงเกิดเป็นหาดหินหาดทรายบริเวณชายท่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำก็ใช้พื้นที่ริมฝั่งน้ำเพาะปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ ไว้ใช้กิน ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนเพชรกักน้ำและประตูน้ำเพื่อใช้ควบคุมปริมาณน้ำจึงสามารถแก้ปัญหาน้ำหลากมากเกินไปได้ ปัจจุบันชาวบ้านยังได้อาศัยน้ำจากคลองสาย 3 เป็นแหล่งน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งทำให้ทำนาดำได้ปีละ 2 ครั้ง ปลูกทำสวนผลไม้และผักต่างๆได้ตลอดทั้งปี

สภาพอากาศ

ชุมชนตลาดท่ายางมีลักษณะเหมือนในชุมชนหรือหมู่บ้านอื่น ๆ ในภาคกลางของไทย มีทั้งฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน 

อำเภอท่ายางมีประชากรทั้งหมดประมาณ 81,729 คน ชาย 40,416 คน หญิง 41,313 คน อำเภอท่ายางมีประชากรมากเป็นอันดับสองรองจากอำเภอเมืองคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ประมาณ 23.29 % ของประชากรทั้งจังหวัด ดังนั้นทำให้ประชากรหนาแน่นเพียง 24.81 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร แต่ลักษณะการกระจายตัวของประชากรจะหนาแน่นเฉพาะเขตที่เหมาะสมแก่การเกษตรเท่านั้น เช่น พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรี พื้นที่เขตชลประทาน เป็นต้น ประชากรเกือบทั้งหมดของอำเภอประกอบอาชีพเกษตรกรแต่เป็นอำเภอที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าอำเภออื่น ๆ 

ไทดำ

ด้านเศรษฐกิจ 

สำนักพัฒนาชุมชนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีได้มีการจัด Kick off โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีชวนนักท่องเที่ยวชมเสน่ห์วิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรม โดยนายอานนท์ พร้อมเพรียง นายอำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นประธานในพิธี Kick off โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี อำเภอท่ายาง ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นายอานนท์  กล่าวว่า "กิจกรรม Kick off เปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี อำเภอท่ายางที่จัดขึ้นนี้เป็นการนำเสนอความเป็นอัตลักษณ์ เสน่ห์วิถีของชุมชน สินค้า OTOP สินค้าชุมชนที่มีคุณภาพ และมีบริการที่หลากหลายไว้รองรับและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนชุมชนอันจะส่งผลให้ชุมชนมีรายได้ เกิดการกระจายรายได้ของชุมชน เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงดึงเสน่ห์ของชุมชนออกมาให้ชัดเจน เช่น ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ทะเล วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ถือเป็นเสน่ห์ที่สร้างเรื่องราวเพิ่มคุณค่าให้แก่ชุมชนทั้งนั้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชนต้องคำนึงถึงคุณภาพและราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม และพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้เกิดความน่าสนใจ ทันสมัย ตรงกับความต้องการของลูกค้า"

โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้ดำเนินการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ 1. บ้านโค้งตาบาง หมู่ที่ 10 ตำบลท่าไม้รวก 2. บ้านวังพลับ หมู่ที่ 11 ตำบลท่าคอย 3. บ้านคอละออม หมู่ที่ 1 ตำบลท่าแลง และ 4. บ้านตลาด หมู่ที่ 6 ตำบลหนองจอก (และหมู่บ้านร่วม ม.5 และ ม.7 ตำบลหนองจอก) มีการเตรียมความพร้อมพัฒนาชุมชนและบุคลากรในหมู่บ้านรวม 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว สร้างความพร้อมการเป็นเจ้าบ้านที่ดี พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ พัฒนาศักยภาพด้านกายภาพ ส่งเสริมและพัฒนาอัตลักษณ์ เสน่ห์วัฒนธรรมประเพณีของชุมชน พัฒนาสินค้า OTOP หมู่บ้านละ 10 ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น และการส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว 

สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

ลักษณะเศรษฐกิจโดยทั่วไป ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ มะนาว กล้วย พืชผักต่าง ๆ โดยมีตลาดกลางทางการเกษตร 1 แห่ง คือ ตลาดกลางการเกษตรท่ายาง นอกจากรายได้จากภาคเกษตรกรรมแล้ว ประชาชนยังประกอบธุรกิจการค้า รับจ้าง มีธนาคาร 13 แห่ง ปั๊มน้ำมัน 9 แห่ง ศูนย์การค้า 1 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 1 แห่ง ประกอบการด้านการผลิตอาหารสัตว์ ส่วนด้านการท่องเที่ยว ในพื้นที่เทศบาลตำบลท่ายางนั้นไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าผลิตผลทางการเกษตร ขนมพื้นเมือง สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน หาดปึกเตียน หาดชะอำ เป็นต้น ตลอดจนเป็นทางผ่านของนักท่องเที่ยวสู่ภาคใต้ด้วย สภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

สำหรับสภาพสังคม ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม เช่นเดียวกับประชาชนในภาคกลางทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ประเพณีสงกรานต์ บวชนาค เข้าพรรษา ลอยกระทง เป็นต้น นอกจากนี้ ชุมชนบ้านเขากระจิว หมู่ที่ 6 ต.ท่ายาง ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายไททรงดำ ซึ่งมีประเพณีวัฒนธรรมและการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ได้แก่ ประเพณีไททรงดำเป็นประเพณีการทำบุญ ในงานจะมีการจัดการละเล่น และการทำอาหารแบบดั้งเดิมของชาวไททรงดำ มีการแต่งกายด้วยชุดตามประเพณีที่หาดูได้ยาก จัดในช่วง เดือนเมษายนของทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

วัดท่าคอย เป็นวัดราษฎร์สังกัดณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีในตำบลท่าคอย อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี อยู่ใกล้กับชุมชนเขตตลาดอำเภอท่ายางและชุมชนหมู่บ้านท่าคอย วัดท่าคอยตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2313 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2536 

วัดกระจิว หรือ วัดบรรพตาวาส เป็นวัดประจำชุมชนตลาดท่ายางตั้งเมื่อ พ.ศ. 2404 ผู้ใหญ่บ้านหัวตะเข้ คุณย่าแสง หินธีรพันท์ และชาวบ้านเลื่อมใสใน พระกฤติ์ ทสฺสโน ที่ธุดงค์มาเพื่อนมัสการพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างไว้ในถ้ำ แต่ไม่พบชาวบ้านจึงพร้อมใจกันสร้างวัดถวายในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจคณะสงฆ์ที่เมืองเพชรบุรี และมาประทับแรม ณ ที่วัดแห่งนี้และทรงประทานนามใหม่ว่า "วัดปัพพตาวาส" ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2520 วัดปัพพตาวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสี จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดบรรพตาวาส” จนถึงปัจจุบัน

ไทดำ ภาษาถิ่นเพชรบุรี


สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาตำบล  อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน แผนพัฒนาตำบล และจัดทำแผนพัฒนาตำบล เพื่อเชื่อมโยงแผนในระดับพื้นที่ 


กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม. (2564). ชุมชนตาดท่ายาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3484.

สุจินต์  ไตรสินสมบูรณ์. (2529). พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนตลาดท่ายาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต, สาขาวิชาโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี. ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2566, จาก: https://district.cdd.go.th/thayang/about-us.