
วัดธรรมิการามวรวิหาร วัดสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการก่อสร้างในระยะแรก และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค ซึ่งอยู่ระหว่างการเสด็จพักตากอากาศ เสด็จวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ และพระราชทานสิ่งของแก่วัดจำนวนหนึ่ง
วัดธรรมิการามวรวิหาร วัดสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการก่อสร้างในระยะแรก และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค ซึ่งอยู่ระหว่างการเสด็จพักตากอากาศ เสด็จวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ และพระราชทานสิ่งของแก่วัดจำนวนหนึ่ง
เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2478 ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี พ.ศ. 2478 ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2478) น.อ. อาทิตย์ทิพอาภา ร.น. เจ้าพระยายมราช พล.อ.เจ้าพระยาพิชเยนทรชัยยัน ตราไว้ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยจัดเขตชุมชนในบรรดาตำบล อันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้มีฐานะเป็นเทศบาลเมือง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ จากเดิม 4.85 ตารางกิโลเมตร เป็น 14 ตารางกิโลเมตร ตามพระราชกฤษฎีกาการเปลี่ยนแปลง เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี พ.ศ. 2512 ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2512 เพื่อความเหมาะสมแก่การบริหารกิจการและทำนุบำรุงท้องถิ่น โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลประจวบคีรีขันธ์ทั้งหมด ตำบลเกาะหลักและตำบลอ่าวน้อยบางส่วน มีชุมชนย่อยในเขตเทศบาล 15 ชุมชน
ชุมชนตลาดริมทางรถไฟประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 700 เมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 291 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังชุมชนตลาดริมทางรถไฟประจวบคีรีขันธ์ สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
สภาพทั่วไปเป็นที่ราบมีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกลงสู่ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นอ่าวไทย มีภูเขาไม่สูงมากนัก มีคลองบางนางรมไหลผ่านกลางพื้นที่เทศบาลเนทิศเหนือออกสู่ทะเลด้านตะวันออก พื้นที่ที่นอกเหนือจากราษฎรปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยและประกอบการค้า บางส่วนจะเป็นสวนมะพร้าวบ้างเล็กน้อย
ชุมชนตลาดริมทางรถไฟประจวบคีรีขันธ์ เป็นบริเวณตลาดเก่าในบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล ซึ่งมีคลองบางนางรมไหลผ่าน โดยมีบ้านเรือนอยู่อาศัย ในพื้นที่มีบ้านไม้ 2 ชั้น เป็นแนวยาวตลอดถนนมหาราช 1 ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของสถานีรถไฟ
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2554 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 11,076 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 17,892 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 8,236 คน และหญิง 9,656 คน โดยสังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมชนบทกึ่งเมือง ไม่ได้เป็นเมืองแห่งธุรกิจ แต่เป็นเมืองแห่งธรรมชาติที่มีความสงบร่มเย็น
ด้านกลุ่มอาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ ประมง ค้าขาย ทำสวนมะพร้าว เลี้ยงสัตว์ มีอุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็กๆ และรับจ้างทั่วไป ตามลำดับ
ประเพณีหรือวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เด่นชัดในเขตเทศบาลไม่ปรากฏแน่ชัด มีแต่ประเพณีของไทยทั่วไป ที่ถือปฏิบัติตามวันสำคัญต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมา ดังนี้
1. ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี มีการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและอวยพรผู้ใหญ่
2. ประเพณีวันสงกรานต์ ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร การจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ การสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การละเล่นพื้นบ้าน และการประกวดนางสงกรานต์ ฯลฯ
3. ประเพณีวันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำบุญตักบาตร การจัดขบวนแห่เทียนพรรษา และประกวดเทียนพรรษา ฯลฯ
4. ประเพณีตักบาตรเทโววันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี มีการตักบาตรเทโวเขาช่องกระจก ถือเป็นงานประเพณีที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
5. ประเพณีลอยกระทง จัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวดขบวนแห่กระทง การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศหรือหนูน้อยนพมาศ ตลอดจนการละเล่นต่าง ๆ
ทุนวัฒนธรรม
วัดธรรมิการามวรวิหาร วัดธรรมิการามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดปากคลอง” เพราะอยู่ติดกับตลองบางนางรม และเรียกกันทั่วไปว่า “วัดเขาช่องกระจก” มีพื้นที่วัดทั้งสิ้น 64 ไร่เศษ โดยแบ่งตามเขตพื้นที่เป็น 2 คณะ เรียกที่ตั้งวัดเดิมว่า “คณะเหนือ” และเขตวัดที่ขยายลงมาทางใต้ว่า “คณะใต้”
มูลเหตุของการสร้างวัดสืบเนื่องจากบุตรของพระยาดำรงธรรมสาร (ส่ง วิเศษสิริ) กับคุณหญิงดำรงธรรมสาร (ใหม่ วิเศษศิริ) ได้ถึงแก่กรรมลง ด้วยความรักความผูกพันดับผู้เป็นบุตรอย่าวลึกซึ้ง จึงเชื่อตามที่มีผู้บอกว่ามีบุตรได้มาเกิดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ดั้นด้นเดินทางมายังแถบนี้ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นมีสภาพเป็นป่าดง และเมื่อมาถึงพื้นที่ตรงที่สร้างวัด ท่านรู้สึกพอใจกับสถานที่แห่งนี้มากจึงร่วมกันเรี่ยไรและรวบรวมเงินสร้างวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2466
ในปี พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการก่อสร้างวัดธรรมิการามในระยะแรก โดยขณะนั้นพระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประทับแรมอยู่ที่พลับพลาชายทะเลติดกับบริเวณเขาช่องกระจก ทรงพอพระราชหฤทัยกับการสร้างวัดมาก เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่แถบนี้มีความวิเวกสงบเงียบเหมาะแก่การเจริญสมณธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาคซึ่งอยู่ระหว่างการเสด็จพักตากอากาศ เสด็จวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ และพระราชทานสิ่งของแก่วัดจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย
1. พระพุทธชินราชจำลอง ขนาดหน้าตักกว้าง 1.54 เมตร ประดิษฐาน เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
2. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงม้า
3. ธรรมาสน์กูบช้าง ชั้นโท
4. ใบเสมาหินแกรนิตสลักลายจำนวน 8 ชิ้น
เมื่อสร้างพระอุโบสถแล้วเสร็จ ในพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ ระหว่างวันที่ 26 - 28 เมษายน พ.ศ. 2428 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ ประทานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้แก่ วัดธรรมิการาม
ช่องกระจกตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดในเขตคณะใต้เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็กริมอ่าวประจวบ มียอดสูงสุดเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 245 เมตร เดิมมีพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ในปี พ.ศ. 2497 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพันตำรวจเอกตระกูลวิเศษรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น พร้อมด้วยคณะกรรมการจังหวัด ได้มอบสิทธิ์การดูแลรักษาเขาช่องกระจกและบริเวณโดยรอบให้แก่วัดธรรมิการาม
ในปี พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีรักธาตุเพื่อประดิษฐานในเจดีย์บนยอดเขาช่องกระจก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2501
ทุนเศรษฐกิจ
สภาพเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการพาณิชยกรรม การเกษตร และการประมง ประชาชนส่วนมากในเขตเทศบาลประกอบอาชีพค้าขายทั่วไป การประมง การเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการประมงจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และรับจ้างทั่วไป ตามลำดับ
การเกษตรกรรม
ในเขตเทศบาลมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนน้อย พื้นที่ด้านเกษตรกรรมส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว จะมีการเพาะปลูกพืชอื่นบ้างเล็กน้อย มีการเลี้ยงสัตว์จำนวนน้อยราย เช่น สุกร เป็ด ไก่ และมีเกษตรกรบางรายประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม แต่พื้นที่เพาะปลูกหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่นอกเขตเทศบาล เช่น สวนมะพร้าว ไร่สับปะรด การเลี้ยงกุ้ง และเลี้ยงปลา เป็นต้น
การอุตสาหกรรม
ส่วนใหญ่เป็นการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนจากราษฎรในชุมชนของเทศบาล เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ การแปรรูปสินค้าต่าง ๆ เช่น สับปะรดกวน สับปะรดอบแห้ง และมะพร้าวอบแห้ง ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ทางการประมง ได้แก่ น้ำปลา อาหารทะเลแห้ง เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง หอยแห้ง ปลาหมึกแห้ง ปลาหมึกอบ ฯลฯ และมีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้างเล็กน้อย ตลอดจนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ติดตลาดของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ คือเมี่ยงปลาสายไหม ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 37 แห่ง แรงงาน 442 คน
ด้านความท้าทายของชุมชน เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนคอยคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยก่อนนำไปกำจัดให้น้อยลง และแก้ไขปัญหามลภาวะจากขยะมูลฝอย
เดชา สุดสวาท. (2543). วัดธรรมิการามวรวิหาร โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีอำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (เอกสารอัดสำเนา).
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.
เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์. ข้อมูลเทศบาล. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก http://www.prachuapcity.go.th/index.php.