Advance search

หม่องสะเทอ

วัฒนธรรมไทย - มอญ ในอำเภอสังขละบุรี นมัสการหลวงพ่ออุตตมะ (พระราชอุดมมงคล) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ภายในชุมชนยังมีมีสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ ที่เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย 

หมู่ที่2
หนองลู
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
วีรวรรณ สาคร
3 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
วังกะ
หม่องสะเทอ

ชุมชนบ้านวังกะเดิมเริ่มจากหลวงพ่ออุตตมะนำประชาชนมารวมกัน ณ บริเวณที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ชุมชนตั้งอยู่ริมน้ำซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลาหลากหลายชนิด หมู่บ้านเดิมเป็นชาวมอญจึงใช้ชื่อหมู่บ้านเป็นภาษามอญว่า “วังกะ” แปลเป็นภาษาไทยหมายความว่า “วังปลา” หรือแหล่งที่มีปลาชุกชุม แหล่งรวมของพันธุ์ปลาหลายชนิด


วัฒนธรรมไทย - มอญ ในอำเภอสังขละบุรี นมัสการหลวงพ่ออุตตมะ (พระราชอุดมมงคล) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ภายในชุมชนยังมีมีสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ ที่เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย 

หมู่ที่2
หนองลู
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
71240
15.1355463996
98.4475883237
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองลู

ชุมชนบ้านวังกะ หรือชุมชนหม่องสะเทอ เป็นชุมชนชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ หัวเมืองมอญที่สำคัญ ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า

ชาวมอญเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยการอพยพผ่านเส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์และทางแม่น้ำบีคลี่ ซึ่งสาเหตุการอพยพของชาวมอญเหล่านี้นั้นมาจากปัญหาความไม่สงบและการสู้รบในพม่าที่รุนแรงขึ้น (การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธ์)

โดยพบว่าชาวมอญที่อพยพเข้ามาในพื้นที่วังกะนี้ กลุ่มแรกมีการอพยพเข้ามาในช่วงพ.ศ.2492 กลุ่มที่สองอพยพเข้ามาในราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2493 และกลุ่มที่สามอพยพเข้ามาในราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2494 ซึ่งกลุ่มที่สามที่อพยพเข้ามานี้เดินทางเข้ามาถึง 40 ครอบครัว โดยมารวมเข้ากับ 2 กลุ่มแรก ทำให้มีชาวมอญที่อพยพเข้ามารวมกันถึงประมาณ 60 ครอบครัว ทั้งนี้บริเวณที่ชาวมอญเหล่านี้อพยพเข้ามาในช่วงแรกนั้นได้เดินทางเข้ามารวมตัวกันที่บ้านนิเถะเดิม บริเวณวังกะล่าง หรือบริเวณแม่น้ำสามประสบ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี

ชาวมอญที่อพยพเข้ามาได้มีการสร้างบ้านเรือน สร้างโบสถ์วัดขึ้นมา โดยการตั้งบ้านเรือนของชาวมอญในบริเวณนี้ยังได้รับการอนุญาติและการจัดแบ่งที่ดินจากปลัดเจริญ ซึ่งในขณะนั้นนั้นทำหน้าที่รักษาการหัวหน้ากิ่งอำเภอสังขละบุรีให้สามารถตั้งบ้านเรือนได้ ทำให้ไม่นานนักเมื่อมีการอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ ของชาวมอญ จึงทำให้ก่อเกิดเป็นชุมชนวังกะขึ้นมาในบริเวณวังกะล่างนี้ 

โดยหลังก่อตั้งชุมชนแล้วมีการตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า "วังกะ" เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และในลำน้ำของชุมชนก็มีความสมบูรณ์ของปลานานาพันธุ์เป็นแหล่งวางไข่ของพันธุ์ปลา ดังนี้จึงใช้ชื่อภาษามอญว่าวังกะ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า วังปลา หรือแหล่งปลาชุกชุมตามลักษณะกายภาพของพื้นที่นั่นเอง ทั้งนี้ภายในชุมชนแห่งนี้ยังมีวัดเป็นศูนย์รวมทางศาสนาและศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนชื่อว่าวัดวังก์วิเวการาม โดยหลวงพ่ออุตตมะ (พระราชอุดมมงคล) เป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดแห่งนี้ ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะถือเป็นบุคคลสำคัญมากของชุมชนวังกะเพราะนอกจากเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดที่สำคัญของชุมชนแล้ว ยังเป็นผู้นำชุมชนในการรวบรวมชาวบ้านและผู้นำในพัฒนาภายในชุมชนวังกะอีกด้วย 

อย่างไรก็ตามต่อมาในปี พ.ศ.2521 การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยได้ทำการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ หรือเขื่อนเขาแหลมขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำและเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การสร้างเขื่อนนี้ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณอำเภอสังขละบุรีเดิม รวมไปถึงชุมชนมอญวังกะแห่งนี้ด้วยก็ถูกน้ำท่วมถึง วัดวังก์วิเวการามเดิมต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไร่น้ำถูกน้ำท่วมถึง ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนต้องอพยพย้ายขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูง โดยอพยพไปยังเนินเขาที่อยู่ริมแม่น้ำซองกาเรีย (อยู่ฝั่งตรงข้ามสถานที่ตั้งใหม่ของตัวอำเภอหน่วยราชการและหมู่บ้านฝั่งอำเภอ) ซึ่งคือในบริเวณบ้านวังกะ ตำบลหนองลู ในปัจจุบัน โดยได้มีการสร้างวัดวังก์วิเวการามขึ้นมาใหม่ รวมถึงมีการสร้างสะพานไม้เพื่อข้ามไปยังตัวอำเภอซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ

ทั้งนี้การสร้างเขื่อนได้ส่งผลอย่างมากต่อชาวมอญที่อพยพเหล่านี้อย่างมาก เนื่องจากชาวมอญเหล่านี้เป็นชาวต่างด้าวที่ไม่สามารถมีที่ดินเป็นของตนเอง อีกทั้งยังไม่ได้รับการชดเชยที่ดินจากการสร้างเขื่อนทำให้คนเหล่านี้ไร้ที่ดิน (การไฟฟ้ามอบที่ดินชดเชย 614 ไร่ให้แก่วัดเท่านั้น) แต่ด้วยความอนุเคราะห์ของหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามขณะนั้น ท่านได้แบ่งที่ดินของวัดวังก์วิเวการามให้ชาวมอญได้อยู่อาศัยซึ่งมีกว่า 400 ครอบครัวทำให้ชาวมอญสามารถมีที่อยู่อาศัยสืบถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีที่อยู่อาศัยแต่ก็ยังไม่มีพื้นที่ดินในการเพาะปลูก ชาวมอญจึงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปประกอบอาชีพอย่างอื่น หรือจะต้องทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งเมื่อน้ำในเขื่อนลดลงพอที่จะมรพื้นที่ทำการเกษตร ทั้งนี้นอกจากหลวงพ่ออุตตมะจะบริจาคพื้นที่วัดเพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยแล้ว ท่านยังบริจาคพื้นที่สร้างโรงเรียนสำหรับชุมชนอีกด้วย ทำให้ภายในชุมชนมีสถานศึกษาภายในพื้นที่

หลวงพ่ออุตตมะและชาวบ้านในพื้นที่ต่างรวมกันฟื้นฟูพื้นที่บ้านวังกะแห่งใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง มีการแบ่งอาณาเขตวัด เขตที่อยู่อาศัย และเขตการสร้างโรงเรียน ส่วนพื้นที่ว่างเปล่าประโยชน์หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์อื่นใดก็มีการจัดให้ปลูกต้นไม้ร่มรื่น ในส่วนที่พอมีสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ท่านก็จัดให้ปลูกพืชสวนสมุนไพร พื้นที่บางส่วนที่ท่านเห็นว่าสามารถพื้นฟูสภาพป่าได้ ท่านได้ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นร่มเงาไว้หลายชนิดด้วยกัน เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ร่มม้า เป็นต้น

ทั้งนี้ชุมชนวังกะได้ดำเนินชุมชนภายได้การนำของ หลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจชุมชน เป็นผู้นำและผู้สร้างชุมชน มาจนถึงพ.ศ.2549 โดยหลวงพ่ออุตตมะได้มรณภาพในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2549 ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมากต่อการจากไป ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของชุมชนวังกะแห่งนี้ ดังนั้นเพื่อระลึกถึงหลวงพ่ออุตตมะชาวบ้านจึงได้รวมใจกันบรรจุสังขาลของหลวงพ่ออุตตมะไว้ที่ปราสาทเก้ายอด วัดวังก์วิเวกการาม เพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาและระลึกถึงแก่ประชาชนในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาชุมชนวังกะได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในชุมชนคือ สะพานอุตตมานุสรณ์ที่ร่วมกันสร้างนับแต่สมัยย้ายชุมชนมาบริเวณวังกะ ตำบลหนองลู ได้เกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเนื่องจากฝนตกหนักจนทำให้สะพานแห่งนี้พังลง ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2556 การพังของสะพานแห่งนี้ได้ถือเป็นข่าวใหญ่เพราะสะพานนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดของประเทศไทยและยาวเป็นอันดับสองของโลก เมื่อมีการพังของสะพานจึงทำให้เป็นที่สนใจของผู้คน มีการทำข่าวกระจายออกไปทำให้ผู้คนที่เห็นข่าวได้รู้จักพื้นที่และสนใจที่จะมาเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้ รวมถึงสนใจที่จะมาเที่ยวชมสะพานลูกบวบ ซึ่งเป็นสะพานที่ชาวมอญร่วมแรงร่วมใจกันทำขึ้นเพื่อใช้ชั่วคราวแทนสะพานที่พังไป โดยสร้างจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา อย่างไรก็ตามสะพานมอญต่อมาได้รับการซ่อมแซมจากทหารช่าง กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ ร่วมกับชาวมอญในพื้นที่และสามารถแล้วเสร็จเปิดใช้งานในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2557 โดยมีพิธีฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งกล่าวได้ว่าจากการพังของสะพานได้ถือเป็นการทำให้ชุมชนเป็นทีรู้จักแก่ผู้คนภายนอกและทำให้คนภายนอกเดินทางมาเยี่ยมชมภายในพื้นที่หมู่บ้านมากขึ้น

ในปัจจุบันชุมชนบ้านวังกะถือเป็นสถานที่สำคัญในการท่องเที่ยวและศึกษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์มอญแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยภายในชุมชนนอกจากท่องเที่ยวเรียนรู้ไปกับวิถีชีวิตของชาวบ้านภายในชุมชนแล้วนั้น ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมความสวยงาม เช่น สะพานไม้อุตตมานุสรณ์ วัดใต้น้ำ วัดวังวิการาม เจดีย์พุทธคยา เป็นต้น ทั้งนี้ภายในชุมชนยังมีกิจกรรมที่เป็นที่นิยมที่นักท่องเที่ยวมักทำกันคือ การทำบุญตักบาตรตอนเช้าที่สะพานมอญ (สะพานไม้อุตตมานุสรณ์) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากได้บุญแล้วยังได้ชื่นชมความสวยงามของประเพณีวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมถึงชื่นชมความสวยงามสถานที่ในตอนเช้าอีกด้วย ทั้งนี้จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนบ้านวังกะแห่งนี้มากขึ้นได้ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งในชุมชนหันมาประกอบธุรกิจท่องเที่ยว นำมาสู่การเกิดอาชีพและการสร้างรายได้แก่ชาวชุมชนบ้านวังกะในปัจจุบันอีกด้วยนั่นเอง

สภาพพื้นที่ประมาณความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากน้ำฝนร้อยละ 70 เป็นภูเขา มีพื้นที่ราบลุ่มเป็นบางส่วนและมีพื้นที่ราบอยู่ระหว่างแนวภูเขา สภาพดินเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากน้ำฝนได้ไหลพัดมาปุ๋ยอินทรีย์ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ลงมาสู่ที่ราบลุ่ม ประมาณร้อยละ 10 เป็นที่ราบลุ่มและที่ราบระหว่างภูเขา และประมาณร้อยละ 20 เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เดิมใช้ชื่อเขื่อนเขาแหลม) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาช้างเผือก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม

สภาพภูมิอากาศของชุมชนหมู่บ้านหม่องสะเทออยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือลมจากทะเลอันดามันประกอบกับมีเทือกเขาสูง ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฤดูฝนที่ยาวนานกว่าพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งมีช่วงเวลาของแต่ละฤดู ดังนี้

  • ฤดูร้อน ประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน (ประมาณ 3 เดือน)
  • ฤดูฝน   ประมาณ เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม (ประมาณ 6 เดือน)
  • ฤดูหนาว ประมาณ เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ (ประมาณ 3 เดือน)

จำนวนประชากรภายในชุมชนหมู่บ้านหม่องสะเทอที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ ชาย 541 คน หญิง 545 คน รวมทั้งหมด 1,086 คน และจำนวนประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ได้แก่ ชาย 2,959 คน หญิง 2,783 คน รวมทั้งหมด 5,742 ดังนั้นประชากรภายในชุมชนหมู่บ้านหม่องสะเทอรวมทั้งสิ้น 6,828 คน

ด้วยชุมชนหมู่บ้านหม่องสะเทอเป็นชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้กับชายแดนประเทศพม่า จึงทำให้มีสภาพทางสังคมที่ประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ เช่น ไทย กะเหรี่ยง มอญ และพม่า เกิดความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อ

มอญ
  • ธนาคารขยะบ้านหม่องสะเทอ ธนาคารขยะบ้านหม่องสะเทอช่วยให้เยาวชนในชุมชนรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดการพัฒนาหมู่บ้านอย่างยั่งยืน 

วิถีชีวิตวัฒนธรรม

  • วันรำลึกบรรพชนมอญ (วันชาติมอญ) ชาวมอญยึดถือปฏิทินทางจันทรคติ คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 โดยนับเอาดิถีมงคลเมื่อวันแรกสร้างกรุงหงสาวดี อาณาจักรอันเกรียงไกรของชนชาติมอญเมื่อปี พ.ศ. 1116 ภายในงาน วันรำลึกบรรพชนมอญ (วันชาติมอญ) ประกอบด้วยการทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์มอญจากวัดต่างๆในพื้นที่อุทิศถวายแด่บุรพกษัตริย์ไทยและมอญ ตลอดจนบรรพชนมอญผู้ล่วงลับ มีการแสดง นิทรรศการประวัติศาสตร์สังคมเชิงวิชาการ นิทรรศการการแต่งกายเคลื่อนที่ของชาวมอญจากชุมชนต่างๆ รวมทั้งการแสดงการรำ การละเล่น ของชาวมอญในอดีต เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นให้ได้มีโอกาสพบเจอ เรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ต่อไป
  • ประเพณีสงกรานต์ (ฮะตาว จอ) ตามธรรมเนียมของชาวมอญที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ จะเตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อทำบุญ โดยบุตรหลานที่ไปทำงานต่างถิ่น หรือแยกบ้านเรือน จะเดินทางกลับมาในวันที่ 11-12  เมษายนของทุกปี เพื่อร่วมทำบุญกุศลในเทศกาลสงกรานต์
  • ประเพณีแย่งศพมอญ ประเพณีแย่งศพมอญถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ตาม "อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage พ.ศ. 2546 ประเพณีแย่งศพมอญยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่งของชาวมอญที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา เป็นประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณและยังคงสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเพณีแย่งศพมอญไม่ได้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ดังนั้นการที่ชาวมอญจัดพิธีฌาปณกิจศพพระโดยเฉพาะพระสงฆ์ที่มีสมณสูงจึงต้องกระทำการแสดงความเคารพสูงสุด และต้องจัดให้มีความแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งประเพณีการแย่งศพมอญแต่ละที่จะมีรูปแบบการจัดงานที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมและแรงศรัทธาของคนในชุมชน แต่สิ่งที่ต้องมีในประเพณีการเผาศพพระสงฆ์คือพิธีแย่งศพมอญ ประเพณีดังกล่าวจะมีเฉพาะในงานฌาปนกิจศพของพระสงฆ์ซึ่งต้องมีการสร้างเมรุเผาศพที่มีลักษณะคล้ายปราสาทในรูปแบบศิลปวัฒนธรรมมอญ ปราสาททุกหลังที่จัดทำขึ้นมานั้นเพื่อเป็นการถวายเกียรติคุณแก่หลวงพ่ออย่างสูงสุดในฐานะที่ท่านได้สร้างคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนา เนื่องจากพระสงฆ์เป็นบุคคลที่ชาวมอญให้ความเคารพเป็นอย่างมาก เพราะพระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดและเผยแพร่ศาสนาให้กับชาวมอญ ดังนั้นการที่ชาวมอญจัดพิธีเผาศพพระสงฆ์จึงต้องกระทำการที่แสดงถึงความเคารพสูงสุดและมีความแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป โดยรูปแบบการแย่งศพมอญบางที่อาจทำเพียงดึงถอยหลังยื้อเดินหน้า กระทำ 3 ครั้ง สมมติเป็นการแย่งศพ

สำหรับรูปแบบการแย่งศพของวัดหม่องสะเทอ จังหวัดกาญจนบุรี จะสามารถศึกษาได้จากกรณีศึกษาของงานพิธีฌากิจศพพระครูกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดหม่องสะเทอ ซึ่งงานนี้ถือเป็นการจัดประเพณีแย่งศพครั้งแรกที่ตำบลหนองลู โดยประเพณีที่เกิดขึ้นพบว่าจะมีการก่อสร้าปราสาทใช้ในการประกอบพิธี โดยมีการจัดสร้างสามหลังคือ ปราสาทใหญ่หรือเมรุหลักเป็นสถานที่ประชุมเพลิง ส่วนปราสาทสำหรับใส่ร่างนั้นจะสร้างขึ้นโดยมีลักษณะคล้ายหงส์ ส่วนปราสาทเล็กอีกหลังนั้นหลังจากที่ได้ทำการประชุมเพลิงแล้วจะนำอัฐิขึ้นตั้งเพื่อทำการบำเพ็ญกุศล โดยปราสาทที่สร้างขึ้นนี้ได้จำลองให้เสมือนเป็นเมืองสวรรค์ สำหรับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาทจะหาได้ในชุมชนโดยวัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม้ไผ่ กระดาษสา กระดาษแก้ว ใช้ระยะเวลาในการสร้างปราสาทประมาณ 4–5 เดือน การสร้างปราสาทจะเป็นฝีมือของชาวมอญผู้มีความรู้ความสามารถในการเขียนลวดลายและการออกแบบปราสาททรงมอญโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดความสวยงามตามรูปแบบมอญโบราณ ภายในพิธีการแย่งศพจะจัดเป็นการแสดงเป็นเรื่องราวระหว่างฝ่ายมนุษย์กับฝ่ายเทวดาทำการยื้อแย่งศพกันอันแสดงถึงการมีบุญญาธิการสูงหรือการแสดงถึงความเคารพสูงต่อพระสงฆ์ ทั้งนี้สามารถกล่าวได้ว่าการจัดงานดังกล่าวเกิดขึ้นนี้เกิดจากแรงศรัทธาของศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ โดยนอกจากเป็นการจัดขึ้นเพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจศพหลวงพ่อแล้วยังจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงหลวงพ่อซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมอญในท้องถิ่นด้วย

  • งานบุญหม้อเงิน หม้อทอง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ชาวบ้านจะทำบุญหม้อเงิน หม้อทอง ซึ่งสมัยก่อนจะใช้หม้อดิน แต่ปัจจุบันหม้อดินหายาก จึงใช้กะละมังขนาดใหญ่แทน โดยใส่มะพร้าว ผงซักฟอก ข้าวสาร เงิน ทราย กะปิ น้ำปลา ฯลฯ ชาวบ้านจะทูนหัวหรือแบกไปทำพิธีที่วัด เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่จะถวายหม้อเงิน หม้อทองให้พระสงฆ์ เนื่องจากมีความเชื่อว่า ชาติหน้าจะไม่ลำบากและมีกินมีใช้ โดยจะนำทรายและข้าวสารกลับบ้าน โดยจะนำมาสาดในบ้านและรอบ ๆ บริเวณเพื่อเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว
  • งานวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่ออุตตมะ การจัดงานวันคล้ายวันเกิดของลวงพ่ออุตตมะ จะจัดขึ้นในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งยึดจากวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ การจัดงานสมโภชนี้พระสงฆ์ที่วัดวังก์วิเวการามจะสวดมนต์ที่บนเจดีย์พุทธคยาจำลองก่อนวันเกิดหลวงพ่อเป็นเวลา 9 วัน ซึ่งชาวบ้านจะไปเข้าร่วมพิธีทุกคืน นอกจากนี้ภายในงานจะมีการจัดมหรสพรื่นเริงอย่างน้อย 5 วัน 5 คืน ในตอนกลางวันจะมีเวทีมวยคาดเชือกให้ชมกันแบบสด ๆ ในบริเวณบนศาลาวัดจะมีการแสดงรำมอญ ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการละเล่น การแสดงทะแยมอญ การแสดงดนตรีมอญ เป็นต้น ทั้งนี้ภายในงานจะมีการออกร้านขายสินค้าต่างๆมากมายแก่ผู้คนทั่วไป งานนี้ถือเป็นงานประจำปีและงานใหญ่งานหนึ่งที่จัดขึ้นอย่างรื่นเริงภายในชุมชนวังกะ

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

  • การประมงน้ำจืด ชาวบ้านส่วนใหญ่จะจับปลาจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ซึ่งอาชีพนี้ทำรายได้ให้กับชาวบ้านค่อนข้างมาก โดยบางรายจะทำการเพาะเลี้ยงปลาในบริเวณอ่างเก็บน้ำและปลาที่จับได้ส่วนใหญ่ จะนำมาขายเป็นของสดประจำทุกวัน บางบ้านอาจตากแห้งทำเป็นปลาแห้งเข้าไปขายที่ตลาดทั้งฝั่งไทยและฝั่งมอญ ชาวบ้านบางรายที่ไม่ได้ส่งปลาไปขายที่ตลาด สามารถใช้เรือติดท้ายเข้าไปค้าขายยังหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้ โดยปลาที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำได้แก่ ปลาดัง ปลากด ปลานิล ปลาช่อน ปลากระมัง ปลากา ปลาสูบ เป็นต้น
  • การรับจ้างขับเรือ ชาวบ้านบางรายจะขับเรือนำนักท่องเที่ยวชมทิวทัศน์บริเวณอ่างเก็บน้ำ และชมวัดกลางน้ำซึ่งเป็นวัดวังก์วิเวการามเก่า
  • การรับจ้างทั่วไป การรับจ้างทั่วไป เช่น ขุดดิน ก่อสร้าง ดายหญ้า เป็นต้น คนงานเหล่านี้จะได้รับค่าจ้างไม่สูงนัก บางรายรับจ้างขายของในตลาดอำเภอสังขละบุรี 

  • หลวงพ่ออุตตมะ (หลวงพ่ออุดมมงคล) หรือเดิมชื่อ เอหม่อง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 ที่หมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดเมาะลำเลิง ประเทศพม่า โดยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่าช่วงปี พ.ศ.2490 ทำให้ท่านได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีคนมาแจ้งข่าวว่าที่สังขละบุรีมีชาวมอญจากบ้านเดิมของท่าน อพยพเข้าเมืองไทย และต้องการนิมนต์ท่านไปเยี่ยม ทำให้ท่านได้พบกับชาวมอญที่อพยพมาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง ท่านได้พาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง ถือเป็นจุดกำเนิดของชุมชนชาวมอญวังกะในสังขละบุรี ในปี พ.ศ. 2499 หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่าสามประสบ เพราะมีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า "วัดวังก์วิเวการาม" ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอวังกะ ในวัดมีการก่อสร้างเจดีย์จำลองแบบจากวัดมหาโพธิ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2518 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2529 ทั้งนี้ท่านถือเป็นบุคคลสำคัญอย่างมากกับชาวชุมชนวังกะ เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดวังก์วิเวการามแล้ว ยังเป็นผู้นำชุมชนช่วยชาวบ้านก่อตั้งฟื้นฟูชุมชนบ้านวังกะถึงสองครั้งอีกด้วย ในปัจจุบันร่างของหลวงพ่ออุตตมะบรรจุอยู่ภายในปราสาทมอญที่วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปสักการะและกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นการระลึกและเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต

ทุนวัฒนธรรม

  • สะพานไม้อุตตมานุสรณ์  มีลักษณะเป็นสะพานไม้ยาว ทอดข้ามแม่น้ำซองกาเลีย บริเวณตำบลหนองลู มีระยะทางทั้งหมดราว ๆ 800- 900 เมตร ถือได้ว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย และยาวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ยามเช้ามีการทำบุญใส่บาตรบนสะพานไม้ นอกจากนี้จะได้เห็นชาวบ้านทั้งชาวไทยและชาวมอญสัญจรไป - มาบนสะพานแห่งนี้ เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
  • การละเล่นสะบ้า ชาวมอญจะเล่นสะบ้า โดยจะตกลงกันในกลุ่มว่าจะตั้งวงสะบ้าที่ลานบ้านของใคร จากนั้นจะช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ โดยก่อนถึงวันสงกรานต์ต้องทุบดินให้แน่นและเรียบ เพื่อให้ลูกสะบ้าวิ่งได้สะดวก ในการเล่นสะบ้าจะเล่นเพื่อความสนุกสานบ้าง เป็นการพนันบ้าง บางกลุ่มไม่เล่นสะบ้าจะเล่นสาดน้ำ เปิดเพลงเสียงดังพร้อมทั้งเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ส่วนมากจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นสมัยใหม่
  • วัดวังก์วิเวการาม อยู่เลยจากตัวอำเภอสังขละบุรีไปประมาณ 6 กิโลเมตร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นแทนวัดเดิมที่ถูกน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อนเขาแหลม โดยวัดวังก์วิเวการามยังเป็นวัดจำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ภายในวิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงามชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อขาว" ทั้งนี้ปัจจุบันวัดแห่งนี้ได้เป็นสถานที่ที่มีการบรรจุร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่ออุตตมะอีกด้วย กล่าวว่าในช่วงปลายกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมของทุกปี ภายในวัดจะมีการจัดงานคล้ายวันเกิดหลวงพ่ออุตตมะในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนา การแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงของชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่น การรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และในงานประชาชนจะพร้อมใจกันแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของชาวไทยรามัญและจัดเตรียมสำรับอาหารทูนบนศีรษะไปถวายพระสงฆ์ที่วัด 

ทั้งนี้ภายในวัดวังก์วิเวการามได้มี เจดีย์พุทธคยา ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 โดยจำลองมาจากเจคีย์พุทธคยาประเทศอินเดีย งบประมาณมาจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเป็นเงินสด ทองคำ และวัสดุ ในการก่อสร้างได้ใช้แรงงานคนมอญชาย-หญิงในหมู่บ้านประมาณ 400 คน ปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างและเผาอิฐมอญขนาดกว้าง 4 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หนา 3 นิ้ว จำนวน 260,000 ก้อน ในปีพ.ศ. 2525 เริ่มสร้างเจคีย์เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาว 42เมตร สูง 59เมตร เสาเหล็ก 4 ทิศ จำนวน 16 ต้น ต่อมาในปีพ.ศ. 2532 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (ตำแหน่งในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา 2 องค์ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร มีสีขาวใสอมเหลืองเป็นเงา บรรจุในผอบ 3 ชั้น ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา และฉัตรทองคำหนัก 400 บาท ขึ้นไปประดิษฐานบนยอดเจดีย์ ทั้งนี้เจดีย์พุทธคยาเป็นสถานที่ที่คนมอญนิยมมาทำบุญ สวดมนต์นั่งสมาธิในตอนเย็น และในวันพระ หรือช่วงที่จัดงานเทศกาลเกี่ยวกับศาสนา เช่น วันมาฆบูชาวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา เป็นต้น

  • วัดใต้น้ำ หรือ วัดวังก์วิเวการามหลังเก่า  ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวัดของชาวมอญ ที่หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นตามแบบศิลปะพม่า ในปี พ.ศ. 2496 ซึ่งปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากการสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ในปี พ.ศ.2527 ทำให้น้ำท่วมบริเวณหมู่บ้านชาวมอญและวัดวังก์วิเวการาม(เก่า) ทั้งหมด ชาวบ้านและวัดจึงได้อพยพมาสร้างวัดใหม่ในพื้นที่วัดวังวิเวกการามปัจจุบัน ทั้งนี้วัดวังวิเวกการามหลังเก่านี้ในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม - เมษายน เป็นช่วงที่น้ำหลังเขื่อนลดลง นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าไปเยื่อมชม ซากโบราณสถานของวัดและบ้านเรือนที่เป็นอดีตเป็นชุมชนชาวมอญ ที่หลงเหลือ เช่น อาคารบ้านเรือน โรงเรียน หอระฆัง วิหาร ซุ้มกำแพง และตัวโบสถ์ที่มีเพียงพนังที่มีลวดลายศิลปะแบบมอญหลงเหลือให้เห็น และด้านนอกโบสถ์จะมีเศียรพระหักวางไว้ ให้นักท่องเที่ยวได้สักการะบูชา ส่วนช่วงหน้าฝนต้นหนาว ตั้งแต่ตุลาคม - มกราคม เป็นช่วงที่น้ำขึ้นมาก จึงทำให้น้ำท่วมจนเป็นเมืองบาดาล เหลือเพียงบางส่วนของหอระฆังที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น
  • การแต่งกาย แม้ปัจจุบันชาวมอญจะแต่งกายเช่นเดียวกับชาวไทยทั่วไปก็ตาม แต่ก็ยังคงมีลักษณะของการแต่งกาขที่เป็นชุดประจำชาติมอญปรากฎให้เห็นอยู่บ้างตามแต่โอกาส คือ เสื้อสีขาว โสร่งหรือผ้าถุงสีแดง ความหมายโสร่ง คือ สีแดงหมายถึง สีเลือด แสดงถึงความรักชาติ ส่วนสีขาวหมายถึงศาสนา และจิตใจที่ใสสะอาด โดยผู้ชายสูงอายุจะนุ่งผ้านุ่งที่เรียกว่า "สะล่ง" หรือที่ไทยเรียกว่า "โสร่ง" ผ้าลายตาหมากรุก เป็นต้น ใส่เสื้อแล้วแต่สะดวกไม่จำกัดแบบ (ปัจจุบันมักใส่ อยู่บ้านเท่านั้น) ส่วนผู้หญิงมอญจะนุ่งผ้าถุงสีแดงที่เรียกว่า "กานิน" หรือ "นิน" ลายดอกบนพื้นแดงมีเชิงผ้าถุงนั้นจะมีการตัดเย็บแบบพิเศษ ต่างกับผ้าถุงของหญิงไทย คือจะมีการเย็บตีเกร็ดหลังคล้ายกับตีเกร็ดกระโปรงหรือผ้าถุงสำเร็จ และใช้แถบผ้าฝ้ายสีดำ มีความกว้างประมาณ 3 นิ้ว เย็บต่อที่ขอบเอวผ้าถุง เพราะเมื่อเวลาสวมใส่ผ้าถุงจะเข้ารูปสะโพกพอดี ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นเสื้อสีขาวหรือสีอื่นๆแขนยาว คอกลมผ่าหน้าผูกเชือก ชายเสื้อก่อนข้างยาวปิดสะ โพกเพื่อให้แตกต่างจากเสื้อผู้หญิงพม่าที่มีลักษณะชายเสื้อสั้นแบบเอวลอย แต่เวลาไปวัดหรือมีงานสำคัญจะใช้ผ้าสไบเฉียงไหล่อีกทีหนึ่ง และนิยมไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยต่ำก่อนไปข้างหลัง ปัจจุบันนอกจากผ้าถุงสีแดงแล้วชาวมอญยังนิยมนุ่งผ้าถุงสีอื่นๆด้วย นอกจากนี้ขังมีเสื้อที่เขียนข้อความด้วยภาษามอญ และลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวตำนาน ประวัดิศาสตร์ และสัญลักษณ์รูปหงส์ เสื้อลักษณะนี้ใช้สัญลักษณ์ประจำกลุ่มและเสื้อวันชาติ ชุดประจำชาติขังสามารถใช้ใน โอกาสอื่น ๆ อีก เช่น เทศกาลงานบุญ วันสำคัญทางศาสนา งานแต่งงาน รวมทั้งสวมใส่ไปทำงานและอยู่ในที่บ้านด้วย ชาวมอญเชื่อว่าการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติมอญนั้นเป็นการแสดงถึงความรักชาติ และแยกตัวออกจากความเป็นพม่า
  • อาหาร อาหารมอญ ถือได้ว่าเป็นอาหารที่มีลักษณะเฉพาะและสืบสานกันมาอย่างยาวนาน การแพร่หลายของอาหารมอญในเมืองไ ทยถอยหลังไปในอดีตตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามเข้าสู่ไทย ได้กระจายถิ่นพำนักอาศัยไปทั่ว เช่นนครเขื่อนขันธ์ (ปากลัด : พระประแดง) ปากเกร็ดสามโคก (นนทบุรี) อุทัยธานีตาก ท่าขนุน(กาญจนบุรี) เพชรบุรีและตามริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองแถบบ้านโป้ง โพธาราม (ราชบุรี) กาลเวลาทำให้ภูมิปัญญาอาหารมอญของชุมชนมอญเหล่านี้บางส่วนได้ผสมกลืนกลาย ไปกับภูมิปัญญาอาหารไทยหลายอย่างเป็นที่แพร่หลายและนิยมในหมู่คนไทย บางอย่างถูกคัดแปลงจนถูกปากคนไทยจนคิดว่าเป็นอาหารไทยไปก็มีเช่น ขนมจีน ข้าวแช่ เป็นต้น ขนมจีนนั้นกล่าวกันว่าคนไทยเรียกเพี้ยนมาจากคำมอญสองคำคือ "คะนอม" ในภายามอญหมายถึงอาหารที่ทำจากแป้งหมัก ส่วนคำว่า "จิน" ภาษามอญแปลว่า "สุก" การทำขนมจีนในอดีตนั้นออกจะเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยาก ต้องใช้ผู้คนและแรงงานมาก ขณะทำมีความวุ่นวายตะ โกนเอ็ดตะโรกันตลอดว่า "คะนอมจิน ๆ ๆ" ซึ่งแปลว่าแป้งเส้นนั้นสุกแล้ว เมื่อคนไทยได้ยินเข้าจึงเรียกอาหารชนิดนี้เพี้ยนไปว่า "ขนมจีน"

ชาวมอญบ้านวังกะส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ คือมื้อกลางวันกับมื้อเย็น ส่วนมื้อเช้าจะทานขนมจีนมอญหรือขนมจีบน้ำขาหยวกกล้วย (ดาดนองฮะตอม คะนอมจิน) ซึ่งเป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญ น้ำขามีส่วนผสมของหยวกกล้วย อาหารของชาวมอญจะมีรสมัน อาหารที่นิยมรับประทานมีแกงฮังเล แกงกระเจี๊ยบมอญ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารประจำชาติมอญ นอกจากนี้อาหารที่ต้องมีแทบทุกมื้อคือน้ำพริก หรือในภายามอญเรียกว่า "เบ๊าะ" กินคู่ปลาย่างและผักพื้นถิ่น เช่น ขอดฟักทอง มะเขือเปาะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ชาวมอญยังนิยมกินหมาก ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ หมากแดงกับหมากขาวหมากแดงเมื่อผ่าออก ตรงกลางลูกจะมีสีแดง มีรสหวาน ส่วนหมากขาวเมื่อผ่าออก จะมีเนื้อสีขาวมากกว่าสีแดง

ชาวมอญจะใช้ภาษามอญสนทนาในชีวิตประจำวัน  ส่วนภาษาไทยชาวมอญช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะฟังภาษาไทยออกแต่พูดไม่คล่อง ส่วนคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่เกิดในประเทศไทย มีช่วงอายุประมาณ 50-70 ปี จะสามารถฟังและพูดภาษาไทยได้เป็นอย่างดี หากแต่เขียนได้เฉพาะบางคน ส่วนชาวมอญที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 50 ปีลงมา โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งปกติเป็นเด็กที่โตมาในบ้านที่พูดภาษามอญเป็นภาษาหลัก เมื่อเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนต้องผ่านชั้นเตรียมการสอน พูด ฟัง ภาษาไทยจึงทำให้เด็กมอญรุ่นใหม่พูด ฟัง และเขียนภาษาไทยได้


ภายหลังการสร้างเขื่อนเขาแหลมตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2527 เป็นต้นมา วิถีการดำรงชีพของชาวมอญเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องอาชีพและการทำมาหากิน เนื่องจากเกิดปัญหาการขาดแคลนที่ทำกิน ดังนั้นชาวมอญส่วนใหญ่จึงหันมาประกอบอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ที่ดิน เช่น การปลูกผักริมน้ำในฤดูน้ำลดสำหรับรับประทานและขาย ทำการประมงในแหล่งน้ำที่มีอยู่มากขึ้น รวมถึงอาชีพค้าขายและอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นต้น


ด้วยความศรัทธาในวิถีพุทธของชาวมอญที่ยังคงเหนียวแน่น ดังนั้น เมื่อถึงวันพระและวันสำคัญทางศาสนา ชาวมอญเกือบทุกคนในหมู่บ้านจึงยังถือเป็นวัตรปฏิบัติ ในการหยุดกิจการงานทั้งปวง แล้วไปทำหน้าที่พุทธศาสนิกชนที่ดีโดยจัดข้าวปลาอาหาร แต่งตัวสวยงาม ไปทำบุญตักบาตรและรักษาศีลที่วัด

ทำบุญตักบาตรตอนเช้า กิจกรรมการตักบาตรที่ฝั่งมอญ เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมมาก เพราะความสวยงามของประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญที่สวยงามและน่าชมเวลาที่ตักบาตรที่ตีนสะพานมอญ บริเวณสะพานมอญจะมีการจำหน่ายชุดตักบาตรให้กับนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ

แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์. (2564). ชุมชนหมู่บ้านหม่องสะเทอ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/2626.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). ชุมชนชาติพันธุ์ : มอญ (อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/49.

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. (2564). บุคคลสำคัญ สมาชิกสภา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2566, จาก https://www.hnongloo.go.th/member.php.

อรพรรณ ศรีทอง และ เฉลิมพล ศรีทอง. (2562). การศึกษาประเพณีแย่งศพมอญ กรณีศึกษางานฌาปณกิจศพพระครูกาญจนสารกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดหม่องสะเทอ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2566, จาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jnuks/article/view/173521/164614.

มาณิสา บุญชูศรี. (2556). การธำรงเอกลักษณ์ของวงปี่พาทย์มอญหงสาวดี ชุมชนมอญบ้านวังกะ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล.

พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ). (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/พระราชอุดมมงคล_(เอหม่อง_อุตฺตมรมฺโภ).

สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และประภาศรี ดำสะอาด. (2550). ที่นี่...ที่บ้านวังกะ ฝั่งวัดวังก์ฯ สังขละบุรี. วารสารภาษาและวัฒนธรรม, 26(1-2), 50-74.

ญาณี เพลิงพิษ. (2559). แนวทางการจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรม กรณีศึกษา: ชุมชนมอญสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการออกแบบและการวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นริศรา โฉมศิริ. (2547). การศึกษาบริบททางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมของชื่อชาวมอญ: กรณีศึกษาชาวมอญ บ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สรศักดิ์ จันทร์สว่าง. (2546). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของราษฎรในการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารทรัพยากรป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสังขละบุรี. (2564). หมู่บ้านพัฒนาสารสนเทศดีเด่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต. กาญจนบุรี: ม.ป.พ.