Advance search

เมืองโบราณกุยบุรี หัวเมืองสำคัญในการควบคุมการติดต่อระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยมีประเพณีแห่เครื่องสักการะหลวงพ่อในกุฏิเป็นสำคัญของชุมชน

กุยบุรี
กุยบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
มนิสรา นันทะยานา
19 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
กุยบุรี


ชุมชนชนบท

เมืองโบราณกุยบุรี หัวเมืองสำคัญในการควบคุมการติดต่อระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยมีประเพณีแห่เครื่องสักการะหลวงพ่อในกุฏิเป็นสำคัญของชุมชน

กุยบุรี
กุยบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
77150
12.065880
99.863144
เทศบาลตำบลกุยบุรี

เมืองกุยบุรีสร้างขึ้นมาด้วยเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ เป็นหัวเมืองสำคัญในการควบคุมการเดินทางติดต่อระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้ โดยเฉพาะการมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเมืองแรกด่านหน้าสุดที่คอยสกัดทัพพม่าที่ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา หลักฐานทางด้านเอกสารที่กล่าวถึง เมืองกุยบุรีเป็นเอกสารในช่วงกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น อาจจะประเมินอายุของเมืองกุยบุรีโดยกว้าง ๆ ได้ว่าเป็นเมืองที่มีมานานแล้วตั้งแต่ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานที่เก่าแก่สุดกล่าวถึงเมืองกุยบุรี คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ เยเรเมียสฟาน ฟลีด ซึ่งเขียนในสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยกล่าวเอาไว้ว่า ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เจ้าอู่ทอง พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงจีนเดินทางโดยเรือมาเมืองปัตตานี จากนั้นได้เดินทางเสด็จโดยทางบกไปยังเมืองลีคร (นครศรีธรรมราช) เมื่อครอบครองและจัดการบ้านเมืองในลีครเรียบร้อยแล้วเสด็จต่อไปยังเมืองกุยบุรีตามพงศาวดารฉบับนี้จะเป็นชื่อเดียวหรือเมืองเดียวกับเมืองกุยบุรี ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด จากการตรวจสอบพระราชพงศาวดารฉบับอื่นที่ไม่ใช่การบันทึกของชาวต่างชาติไม่พบว่าเมืองกุยบุรีนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น

แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวของพระเจ้าอู่ทอง ที่สร้างเมืองกุยบุรีนั้นน่าจะมีเค้าความเป็นจริงตามที่เล่าสืบต่อกันมา เมืองกุยบุรี ปรากฎชื่อเป็นหลักฐานแน่ชัดในสมัยสมเด็จพระนเรศวร พระราชพงศาวดาร ได้กล่าวไว้ว่า ณ วันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ 5 ปีจอ อัฐศก กรมการเมืองกุยบุรีบอกเข้ามาว่า พระยาไสยรงค์ ซึ่งให้ไปรั้งเมืองตะนาวศรีเป็นกบฏ หลักฐานเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมืองกุยุรีที่มีอยู่แล้วในสมัยพระนเรศวร และน่าจะมีก่อนหน้านั้น แต่คงเป็นเพียงเมืองด่านหน้าเล็ก ๆ พงศาวดารเรียกเจ้าเมืองว่า กรมการเมือง หากเปรียบเทียบกับเมืองตะนาวศรีจะเห็นว่าผู้ครองเมืองตะนาวศรีมีตำแหน่งเป็นพระยา ดังนั้น สถานภาพของเมืองกุยบุรีคงจะเป็นเมืองหน้าด่านเล็ก ๆ เมืองหนึ่งเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเมืองกุยบุรีน่าจะพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนระดับเมืองเมื่อกรุงศรีอยุธยาทำศึกสงครามกับพม่าเป็นต้นมา คือน่าจะมีมาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าครั้งที่ 1 โดยเป็นเมืองหน้าด่านแรกที่จะคอยสกัดทัพพม่าที่เดินทางเข้ามาทางด่านสิงขร และจะต้องข้ามแม่น้ำกุยบุรีที่บริเวณท่าข้ามของเมืองกุยบุรี โดยไม่ใช่เมืองสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม เมื่อมีการพัฒนาเมืองกุยบุรีขึ้นมาในช่วงนี้แล้วน่าจะมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชนพร้อมกันด้วย เพื่อจะได้เป็นศูนย์กลางทางด้านจิตใจของชุมชนภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมา

เรื่องราวของเมืองกุยบุรีไม่ปรากฏชัดนัก เมืองกุยบุรีคงดำรงสถานภาพเป็นเมืองในพระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยามาตลอด จนถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าบรมโกศ) ได้กล่าวถึงเมืองกุยบุรีไว้ว่า ลุศักราช 1109 ปีเถาะ (พ.ศ. 2290) พระกุยบุรีออกหนังสือเข้ามาว่า พืชทองคำบังเกิดขึ้นที่ตำบลบางสะพาน แขวงเมืองกุยบุรีได้ส่งทองคำหนัก 3 ตำลึง เข้าทูลเกล้าๆ ถวายเป็นทองคำขาว จะเห็นได้ว่า ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมืองกุยบุรีคงจะฐานะขึ้นเป็นเมืองใหญ่มาก อาณาเขตกว้างมากขึ้น และเจ้าเมืองมีตำแหน่งเป็นพระ นอกจากนี้พงศาวดารยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้โปรดตั้งพระกุยบุรีให้เป็นพระยาวิเศษสมบัติ แสดงให้เห็นว่าเมืองกุยบุรีมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะเมืองที่มีแหล่งทองคำสมบูรณ์ ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310

เมืองกุยบุรีคงจะเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยาเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นเมืองหน้าด่านเมืองแรกที่คอยสกัดทัพพม่าที่จะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา เรื่องของขุนรองปลัดชู นับว่าเป็นวีรบุรุษไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่แพ้วีรชนค่ายบางระจัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ที่ได้ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ พลีชีพเพื่อชาติไทยในสมรภูมิอ่าวหว้าขาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการสงครามระหว่างไทยกับพม่า ในปี พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาได้สั่งให้ทัพพม่าเข้าโจมตีเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด ปรากฎว่าตีเมืองทั้งสองได้อย่างง่ายดาย เห็นได้ว่าไทยอ่อนแอมาก ถ้าหากยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาก็คงจะได้ชัยชนะ ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศได้โปรดให้จัดทัพไทบออกไปรับพม่าที่เมืองมะริด และครั้งนั้นขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญเป็นผู้รู้วิทยาคมเข้ามาเอาเอกสารราชการสงคราม จึงโปรดให้คุมสมัครพรรคพวกรวม 400 คน เป็นกองอาทฆาตไปในกองทัพพระยารัตนาธิเบศร์ด้วย (ไทยรบพม่า) กล่าวกันว่าขุนรองปลัดชูได้ไปตั้งทัพที่กุยบุรีและประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ที่วัดกุยบุรี แล้วยกกองทัพอาทฆาตไปยันทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาว อำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วัดกุยและวัดกวยคงจะเป็นศูนย์กลางของเมืองกุยบุรีตลอดมาโดยเฉพาะในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อเมืองกุยบุรีมีบทบาทมากขึ้นในฐานะเมืองแร่ทองคำ และสถานภาพของเมืองมีความสูงกว่าเดิมมาก วัดทั้งสองนั้นน่าจะเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นด้วยตามลำดับ ในฐานะศูนย์กลางเมือง แต่หลักฐานที่กล่าวถึงสิ่งก่อสร้างในสมัยนั้นเหลืออยู่ในปัจจุบันน้อยมาก โบราณวัตถุที่พอจะยืนยันได้ว่าวัดกุยเป็นวัดที่เก่าแก่และน่าจะมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาพร้อมเมืองกุย คือใบเสมาหินทรายโดยโกลนจากหินทรายแดงฐานล่างจะทำเดือยสวมกับแท่นตัวใบเสมาสลักเป็นลานเส้นนูนต่ำธรรมดา ไม่ได้เป็นลวดลายกนกหรือลวดลายอื่น ๆ จากลักษณะรูปแบบศิลป์เห็นได้ชัดว่าอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

นอกจากหลักฐานจากใบเสมาแล้ว จากการสำรวจรากฐานของอุโบสถหลังเก่าพบว่าก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ การก่อสร้างจะใช้วิธีการก่อเรียงสลับกว้างยาว เทคนิคดังกล่าวตลอดจนขนาดของอิฐที่ใช้น่าจะเป็นลักษณะสิ่งก่อสร้างเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงให้เห็นว่า วัดกุยบุรีน่าจะสร้างมาแล้วในกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยอู่ทองอย่างแน่นอน และคงเป็นวัดสำคัญของเมืองกุยบุรี โดยเฉพาะเจ้าเมืองคงจะได้ใช้วัดนี้ประกอบพิธีงานต่าง ๆ รวมทั้งบำเพ็ญกุศลอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในราชการที่ 7 เมื่อครั้งพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ได้เสด็จมายังวัดกุยบุรี มานมัสการและปิดทองหลวงพ่อในกุฏิสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดกุยบุรีและพระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธา ได้สละทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อร่วมบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดกุยบุรีได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย วัดกุยบุรีได้มาประสบอัคคีภัยขึ้นเมื่อคืนวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2507 เพลิงไหม้สิ่งปลูกสร้างและอาคารต่าง ๆ ที่เป็นกุฏิสงฆ์ หอฉัน หอสวดมนต์หมดสิ้น คงเหลือแต่อุโบสถศาลาการเปรียญหลังเก่า

ชุมชนกุยบุรี ห่างจากที่ว่าการอำเภอกุยบุรี ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 21 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 259 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังชุมชนกุยบุรี สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถไฟ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

กุยบุรีเป็นเมืองโบราณที่ปรากฏหลักฐานว่า มีมาแล้วตั้งแต่อยุธยาเป็นราชธานี ตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำกุยบุรีด้านเหนือ มีวัดกุยบุรีเป็นศูนย์กลางเมือง บริเวณเมืองเก่าในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอำเภอกุยบุรี และวัดกุยบุรียังคงอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของชุมชนในปัจจุบันด้วย ผลจากการขยายตัวของมนุษย์ตลอดจนถึงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และการสร้างทางรถไฟสายใต้ได้ทำลายหลักฐานต่าง ๆ ของเมืองกุยบุรีโบราณไปจนเกือบหมด ชาวกุยบุรีที่อายุมากได้กล่าวว่า บริเวณด้านตะวันออกของวัดกุยบุรี เป็นที่ตั้งของจวนเจ้าเมืองเดิม เมื่อมีการสร้างถนนเพชรเกษมผ่านตัวเมืองโบราณ และตัดผ่านบริเวณจวนเจ้าเมืองเดิม จึงแบ่งบริเวณจวนเมืองออกเป็นสองส่วนเรียกว่า จวนบนและจวนล่าง นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองโบราณ คือป้อมเชิงเทิน ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัดกุยบุรี ปัจจุบันสภาพไม่ชัดเจน แต่ยังมีโครงเดิมอยู่บ้าง ซึ่งป้อมนี้เป็นป้อมทางทิศใต้ของเมือง ต่อจากป้อมแห่งนี้ไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางโบราณที่ใช้เดินทางข้ามแม่น้ำกุยบุรี ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า ท่าข้าม บริเวณท่าข้ามนี้ใช้เป็นเส้นทางข้ามแม่น้ำกุยบุรีตลอด แม้กระทั่งเดินทัพพม่า หากเข้ามาทางด่านสิงขรจะต้องข้ามที่จุดท่าข้ามมายังเมืองกุยบุรีและเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา

ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไป

เป็นที่ราบลุ่ม มีความลาดเอียงจากด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ตัดผ่านจากพื้นที่ด้านเหนือไปทางด้านใต้ สำหรับด้านตะวันออกของชุมชน มีทางรถไฟผ่าน มีแม่น้ำกุยบุรีอยู่ทางด้านใต้ของชุมชน ไหลจากด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกผ่านตำบลกุยบุรี ตำบลกุยบุรีเหนือ ออกสู่อ่าวไทย และมีคลองส่งน้ำชลประทานกระจายอยู่ในพื้นที่

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในบ้านกุยบุรี จำนวน 1,802 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 2,981 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,399 คน และประชากรหญิง 1,582 คน

ด้านกลุ่มอาชีพ

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ สับปะรด มะพร้าว อ้อย หน่อไม้ฝรั่ง และปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ และอาชีพพาณิชยกรรม

ประเพณีประจำปีที่สำคัญ ได้แก่

1. ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี มีการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง บริเวณลานอเนกประสงค์หน้าสถานีรถไฟกุยบุรี

2. ประเพณีวันสงกรานต์ ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดขบวนแห่ การสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และการละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น โดยจัดขึ้น ณ วัดวังยาว

3. ประเพณีแห่เครื่องสักการะหลวงพ่อในกุฏิ จัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ณ วัดกุยบุรี มีการจัดกิจกรรม เช่น การจัดริ้วขบวนแห่เครื่องสักการะหลวงพ่อในกุฏิ การจัดเวทีแสดงต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

4. ประเพณีวันเข้าพรรษา จัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการทำบุญตักบาตร การจัดขบวนแห่เทียนพรรษา

5. ประเพณีลอยกระทง จัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวดขบวนแห่กระทง การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศหรือหนูน้อยนพมาศ ตลอดจนการละเล่นต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดวังยาว ตั้งอยู่ที่เลขที่ 441 บ้านวังยาว หมู่ที่ 1 ตำบลกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2466 ตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้าน ผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัดชื่อ แม่พริ้ม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2527 โดยมีพระกลิ้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ได้ปกครองวัดวังยาวเมื่อ พ.ศ. 2466 – 2469 อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2528 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย เนื้อโลหะทองเหลือง นอกจากนี้ยังมีพระมหาเจดีย์จำนวน 1 องค์ วิหารทรงไทยประยุกต์ รอบพระมหาธาตุเจดีย์ จำนวน 16 หลัง

2. วัดกุยบุรี เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เดิมชื่อว่า “วัดกุย” ตั้งอยู่ที่เลขที่ 401 หมู่ 1 ตำบลกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดกับแม่น้ำกุยบุรีฝั่งซ้าย และอยู่ทางด้านตะวันออกของถนนเพชรเกษม อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกุยบุรีประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ประชาชนชอบเรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดกุย เป็นที่ตั้งศูนย์กลางของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกุยบุรีในปัจจุบัน จากการสอบถามผู้สูงอายุบางท่าน ได้กล่าวถึงวัดกุยบุรีไว้ว่า บริเวณที่ตั้งวัดกุยบุรีนี้ เดิมมีอยู่ 2 วัด คือวัดกวยตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และวัดกุยบุรีตั้งอยู่ทางทิศใต้ อาณาเขตของวัดทั้งสองจะอยู่ติดกัน ระยะต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า วัดทั้งสองได้รวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน และเรียกกันว่าวัดกุยบุรี บริเวณวัดกวยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมศึกษาวัดกุยบุรี ส่วนอุโบสถและวิหารของวัดกวยถูกรื้อทำลายจนหมด โบราณวัตถุของวัดกวยที่ยังหลงเหลืออยู่ คือพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจากทรายสีแดง (ทรายแลง) ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในอุโบสถหลังใหม่ของวัดกุยบุรี แต่ได้มีการฉาบผิวปูนและลงรักปิดทองจนไม่สามารถเห็นเค้าเดิม

3. หลวงพ่อในกุฏิ หลวงพ่อในกุฏิวัดกุยบุรี เกจิอาจารย์ผู้วิเศษของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมท่าชื่อมาก หรือบุญมาก เป็นน้องคนสุดท้องของ 3 พี่น้อง คือท่านอินทร์ ท่านม่วง และท่านมาก ท่านมีพี่น้องสี่คน น้องคนสุดท้องเป็นผู้หญิง ท่านเป็นคนปักษ์ใต้โดยกำเนิด น่าจะอยู่จังหวัดชุมพร ช่วงเวลาที่ท่านมีชีวิตน่าจะเป็นช่วงอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ เมื่ออายุครบบวชท่านและพี่ชายได้ออกบวชและครองสมณเพศตลอดชีวิตหลวงพ่อทั้งสามเชี่ยวชาญเรื่องเวชกรรม ไสยศษสตร์ และวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อบวชเป็นเวลาพอสมควรแล้วจึงชวนกันออกธุดงค์ มีความแตกฉานในสรรพวิชาทั้ง 3 องค์ เมื่อได้อยู่จำพรรษาที่วัดเดิมกันตามสมควรแล้ว จึงได้ชักชวนกันเดินธุดงค์ โดยหลวงพ่ออินทร์ที่เลือกมาจำพรรษา ณ เมืองกำเนิดนพคุณ หรือเมืองบางสะพาน ปัจจุบันมีรูปเหมือนของท่านประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาโบสถ์ อำเภอบางสะพาน หลวงพ่อม่วง น้องคนกลาง เลือกจำพรรษาที่ถ้ำแห่งหนึ่งระหว่างบ้านกรูดและทับสะแก ถ้ำแห่งนั้น คือถ้ำคีรีวงศ์ และกลายเป็นวัดถ้ำคีรีวงศ์ในปัจจุบัน สำหรับหลวงพ่อมาก หรือหลวงพ่อในกุฏิ เลือกจำพรรษาที่เมืองกุยบุรีที่วัดกุยบุรี วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง มีแม่น้ำกุยบุรีไหลผ่านทางด้านหลังวัด ปฏิปทาของหลวงพ่อในกุฏิ ท่านเป็นผู้มีเมตตาจิต มีความกรุณาช่วยเหลืออนุเคราะห์ และสงเคราะห์ให้กับคนทุกเพศทุกวัย ทุกชั้น ทุกหมู่คณะ ตั้งแต่เด็กน้อย หนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ ท่านสงเคราะห์ด้วยจิตเมตตา ชาวกุยบุรีมีหลวงพ่อในกุฏิเป็นที่พึ่ง หลวงพ่อในกุฏิท่านเป็นผู้เคร่งครัดในด้านวิปัสสนา กัมมัฏฐานและความชำนาญคล่องแคล่วด้านไสยศาสตร์ พร้อมทั้งเป็นผู้มีเมตตาจิตอย่างสูง ทั้งเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเอ่ยวาจาแล้วจะเป็นไปดังที่ท่านพูด คนกุยบุรี คลองวาฬ ปราณบุรีให้ความเคารพท่านอย่างสูง เมื่อผู้ไปขอพรท่านจะช่วยปัดเป่าให้ผ่อนคลายหายจากทุกข์ เมื่อสมความปรารถนาแล้วจะนำทองคำเปลวมาปิดที่ตัวท่านจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันรูปเหมือนหลวงพ่อในกุฏิก็ยังมีคนมาปิดทองท่านอยู่ตลอดมา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). วัดกุยบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/album/131667/วัดกุยบุรี.

กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). วัดวังยาว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก http://m-culture.in.th/album/131369/วัดวังยาว.

โซเชียลนิวส์. (2565). หลวงพ่อในกุฏิเทพเจ้าแห่งกุยบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก: https://www.mcot.net/view/kAtTxLbx.

muang-krabi. (2559). ประวัติศาสตร์เมืองกุยบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก https://district.cdd.go.th/kuiburi/about-us/ประวัติความเป็นมา/.

สำนักงานเทศบาลตำบลกุยบุรี. (ม.ป.ป.). ข้อมูลสำนักงาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566, จาก http://www.kuiburicity.go.th/index.php.