Advance search

ชุมชนการค้าและที่พักอาศัย ตั้งอยู่โดยรอบสถานีรถไฟปราณบุรี มีการจัดถนนคนเดินตลาดเก่าปราณบุรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน บริเวณตลาดเก่าปราณบุรีที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมเรือนไม้แบบดั้งเดิม ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบันแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไม้แบบดั้งเดิมเอาไว้

เมืองเก่า
ปราณบุรี
ปราณบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
มนิสรา นันทะยานา
30 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ตลาดริมทางรถไฟปราณบุรี


ชุมชนชนบท

ชุมชนการค้าและที่พักอาศัย ตั้งอยู่โดยรอบสถานีรถไฟปราณบุรี มีการจัดถนนคนเดินตลาดเก่าปราณบุรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน บริเวณตลาดเก่าปราณบุรีที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมเรือนไม้แบบดั้งเดิม ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบันแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไม้แบบดั้งเดิมเอาไว้

เมืองเก่า
ปราณบุรี
ปราณบุรี
ประจวบคีรีขันธ์
77160
12.378072
99.927450
เทศบาลตำบลปราณบุรี

เมืองปราณบุรี เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งทางภาคใต้ของอาณาจักรไทยมาแต่สมัยโบราณ เป็นเมืองที่มีและเกิดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าตั้งขึ้นเมื่อใด เพิ่งปรากฏในกฎหมายตรา 3 ดวง ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชำระขึ้น มีความว่า สมัยพระบรมไตรโลกนาถเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระบรมราชโองการสั่งว่า บรรดาข้าราชการอยู่ ณ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง ให้ถือศักดินาตามตามพระราชบัญญัติศักดินาหัวเมือง บัญญัติไว้ว่า พระปราณบุรี เจ้าเมืองปราณได้ถือศักดินา 3,000 เป็นเมืองจัตวา ศุภมัศดุ 1298 (พ.ศ. 1919)

นอกจากนี้แล้วยังปรากฏตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองตะนาวศรี (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดมะริด ประเทศพม่า) เกิดเป็นกบฏ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้สมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชอนุชายกทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปปราบกบฏเมืองตะนาวศรี สมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จยกทัพผ่านเมืองปราณบุรี เพราะเป็นทางผ่านไปยังเมืองตะนาวศรี

เดิมขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ทางฝ่ายใต้ขึ้นกับกลาโหม มหาดไทย และกรมท่า ทำการปกครอง เมืองปราณบุรีมีชื่อปรากฏว่าให้ขึ้นต่อกลาโหม อาณาเขตเมืองในสมัยนั้นกว้างขวางมาก ทิศใต้จรดคลองบางปูฝ่ายเหนือ ทางทิศเหนือติดต่อกับเขตอำเภอหนองจอก (ต่อมาย้ายที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี) ทางทิศตะวันออกจรดอ่าวไทย ทิศตะวันตกจรดเขาตะนาวศรี ประเทศพม่า ท้องที่ในสมัยนั้นยังไม่มีตำบลหัวหิน เพราะตำบลหัวหินได้เกิดและตั้งขึ้นภายหลัง

บริเวณชุมชนหน้าสถานีรถไฟปราณบุรีเป็นชุมชนใหญ่ มีสถานที่สำคัญ ๆ เช่น ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน และวัด ต่อมาเมื่อการคมนาคมเจริญขึ้น ถนนเพชรเกษมเป็นถนนสี่ช่องจราจร การเดินทางสะดวก จึงมีการย้ายที่ว่าการอำเภอ และสถานที่ราชการอื่น ๆ ไปอยู่ที่ศูนย์ราชการใกล้กับค่ายธนรัชต์ ความเจริญต่าง ๆ กลับไปอยู่บริเวณสี่แยกปราณบุรี ริมถนนเพชรเกษม ชุมชนหน้าสถานีรถไฟจึงถูกทอดทิ้งไปนาน จนกระทั่ง อ.วิลาส แดงเกตุ ได้ริเริ่มจัดให้มีถนนคนเดิน เพื่อฟื้นฟูชุมชนนี้ขึ้นมาอีก เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน

ชุมชนตลาดริมทางรถไฟปราณบุรี ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราณบุรี ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 35 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 224 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังชุมชนตลาดริมทางรถไฟปราณบุรี สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

เป็นย่านชุมชนการค้าและที่พักอาศัยบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟปราณบุรีและริมทางรถไฟ ต่อเนื่องถึงบริเวณโรงเรียนบ้านเมืองเก่าและบริเวณถนนรัฐบำรุง 43 ซึ่งมีตลาดเก่าแก่และบ้านไม้เก่า 2 ชั้นอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ ปัจจุบันบริเวณถนนรัฐบำรุง 43 ได้พัฒนาเป็นถนนคนเดิน “ตลาด 200 ปี”

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2554 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตเทศบาลตำบลปราณบุรี จำนวน 1,866 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 4,900 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,388 คน และหญิง 2,512 คน

องค์กรชุมชน

ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลปราณบุรี ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้สังคมเข้มแข็ง โดยมีการจัดตั้งชุมชนในเขตเทศบาลฯ 14 ชุมชน มีคณะกรรมการชุมชน 155 คน กลุ่มพัฒนาสตรีเทศบาลฯ 14 กลุ่ม รวม 240 คน อสม. ในเขตเทศบาลฯ 14 ชุมชน รวม 245 คน คณะกรรมการประชาคมชุมชน 14 ชุมชน รวม 154 คน สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ 8 ชมรม รวม 517 คน ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเทศบาลตำบลปราณบุรี 1 แห่ง มีคณะกรรมการศูนย์ฯ 17 คน และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเทศบาลตำบลปราณบุรี 1 แห่ง มีคณะกรรมการศุนย์ฯ 11 คน รวมมีประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่ม/องค์กรต่าง ๆ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,399 คน

กลุ่มอาชีพ

ประชากรส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลตำบลปราณบุรีประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมา ได้แก่ การเกษตรกรรม การปศุสัตว์ การอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และสถานบริการตามลำดับ ซึ่งการเกษตรกรรมพืชที่ปลูกมาก ได้แก่ ไม้ผลยืนต้น พืชไร่ และพืชผักสวนครัว สำหรับการปศุสัตว์ ส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงโคขุน ด้านการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จำนวน 2 โรงงาน และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก จำนวน 11 โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น สับปะรด ว่านหางจระเข้ และอ้อย เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

ถนนคนเดินตลาดเก่าปราณบุรี มีความเก่าแก่มากกว่า 200 ปี ยังคงรักษาสภาพความเป็นตลาดเก่าไว้ได้อย่างดี ได้จัดให้มีถนนคนเดินแถวตลาดเก่าปราณบุรี ซึ่งประกอบไปด้วยร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก และบรรดาบ้านเรือนที่เรียงรายอยู่ ชาวบ้านได้พร้อมใจกันปรับปรุงและรักษาให้กลายเป็นถนนคนเดินปราณบุรีในบรรยากาศย้อนยุค เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกลิ่นอายของวันวานในรูปแบบของความเป็นไทยตามวิถีชีวิตชาวบ้านแบบดั้งเดิม ยังคงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์แห่งวิถีชุมชนชาวปราณบุรี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในชุมชนตลาดริมทางรถไฟปราณบุรี มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น ร้านกาแฟโปรดปราน และบ้านอาม่า

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

เทศบาลตำบลปราณบุรี. (2564). ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566 จาก http://www.pranburicity.go.th/site/index.php?option=com_content&view=article&id=10&Itemid=50.

องค์การบริหารส่วนตำบลปราณบุรี. (2562). ประวัติเมืองปราณบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก http://www.tambonpranburi.go.th/site/index.php?option=com_content&view=article&id=62&Itemid=114.

______. ถนนคนเดินปราณบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก https://www.paiduaykan.com/travel/ถนนคนเดินปราณบุรี.