Advance search

ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเเละปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

หมู่ที่ 4
บ้านหัวขัว
แกดำ
แกดำ
มหาสารคาม
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
7 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
10 เม.ย. 2023
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
30 เม.ย. 2023
บ้านหัวขัว

คำว่า “ขัว” ในภาษาอีสานมีความหมาย สะพาน จึงเป็นที่มาของชื่อ บ้านหัวขัว


ชุมชนชนบท

ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเเละปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

บ้านหัวขัว
หมู่ที่ 4
แกดำ
แกดำ
มหาสารคาม
44190
16.02256886
103.396761
เทศบาลตำบลแกดำ

ชุมชนบ้านหัวขัว เป็นหมู่บ้านที่ตั้งชื่อจากลักษณะของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมหนองน้ำ และ เนื่องจากในสมัยก่อนจะมีการสร้างสะพานเพื่อเดินข้ามลำห้วยซึ่งคำว่า“ขัว”หมายถึง สะพาน จึงเป็นที่มาของ ชื่อบ้านหัวขัว เดิมชาวบ้านหัวขัวอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแกดำซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2310 โดยหลวงปู่จ้อยร่วมกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งย้ายมาจากเมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้ชื่อว่าบ้านแกดำเนื่องจาก จะมีต้นแกเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อคนในชุมชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ย้ายมาตั้งบ้านใหม่อีกฝั่งของ หนองแกดำในปี พ.ศ. 2453 โดยมี ขุนอักษร บุญยะเพ็ญ เป็นผู้นำคนแรกในการเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น และเริ่มมีการทำถนนรอบหมู่บ้าน แรกเริ่มตั้งหมู่บ้านมีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 7 หลัง ผู้คนอาศัยหนองน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อาศัยป่าหนองแคนเป็นที่หาอาหาร

ในปี พ.ศ.2495 มีการขุดลอกหนองแกดำเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถกักเก็บน้ำได้ปริมาณมากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้เองมีการเวนคืนที่ดินของชาวบ้านบางส่วนที่อยู่ริมหนองน้ำเพื่อทำการขยายพื้นที่หนองน้ำให้มีความกว้างขวางและสามารถใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ในช่วงนี้ชาวบ้านส่วนมากอาศัยธรรมชาติในการดำเนินชีวิตไม่มีการใช้เงินตราใช้การแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2504 จากการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่ทำให้รัฐมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านมีการปลูกปอซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชาวบ้านหัวขัวก็มีการปลูกปอเช่นเดียวกัน ทำให้เริ่มมีการสร้างรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเงินตราเริ่มเข้ามามีบทบาทในชุมชน ปอเมื่อลอกแล้วชาวบ้านจะนำไปขายที่ร้านสหสินบริเวณสามแยกวาปีปทุม ซึ่งอยู่ใกล้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม และชาวบ้านหัวขัวเริ่มมีการปลูกยาจี๊ดเมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านหัวขัวอีกช่องทางหนึ่ง

การสร้างสะพานไม้แกดำซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอแกดำซึ่งในอดีตมีการก่อสร้างมาก่อนแล้วในช่วง พ.ศ. 2505 และต่อมา พ.ศ. 2507 มีการบูรณะสะพานให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากการร่วมมือของชาวบ้านหัวขัวและชาวบ้านแกดำ ซึ่งต่างคนต่างหาไม้มาร่วมมือกันพัฒนาให้สะพานไม้มีขนาดกว้างขึ้นสามารถเดินข้ามได้สะดวกมากขึ้น โดยในอดีตแล้วการสร้างสะพานไม้แกดำนั้นมีจุดประสงค์เพื่อเดินข้ามหนองน้ำมาทำนาอยู่ที่บริเวณบ้านหัวขัว ในปี พ.ศ. 2509 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนเอกชน(โรงเรียนราษฎร์)ชื่อโรงเรียนแกดำอนุสรณ์ขึ้นมาและสะพานก็เริ่มมีการพัฒนาให้ดีมากขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เดินข้ามสะพานมาเรียนที่โรงเรียนราษฎร์ซึ้งตั้งอยู่บริเวณบ้านหัวขัว ผู้อำนวยการโรงเรียนก็มีการซ่อมแซมปรับปรุงสะพานเรื่อยมาเพื่อให้นักเรียนสามารถเดินทางมาเรียนได้อย่างสะดวก ทำให้เป็นที่เข้าใจของคนในชุมชนบ้านหัวขัวและบ้านแกดำว่า สะพานไม้พัฒนาควบคู่กันกับโรงเรียนราษฎร์แห่งนี้

โรงเรียนแกดำอนุสรณ์เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2 หลักสูตรคือ ม.1-ม.4 และหลักสูตร ม.ศ.1-ม.ศ.3 แรกเริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2502 ครั้งแรกใช้อาคารเรียนของวัดดาวดึงส์แกดำ โดยมีหลวงปู่นวน เป็นเจ้าอาวาสและมีนายไล คำชนะ เป็นครูใหญ่คนแรก นายทองปักษ์ เพียงเกษ เป็นผู้จัดการโรงเรียน จน พ.ศ. 2509 ได้ย้ายโรงเรียนไปฝั่งบ้านหัวขัว ใกล้ๆกับทางลงสะพานต่อมาได้มอบหมายให้นายกรณ์ อนุอัน เป็นผู้ดูแลต่อเนื่องจากเป็นญาติพี่น้องกัน นายกรณ์ อนุอันได้ดูแลโรงเรียนมาโดยตลอดจนถึงยุบโรงเรียนใน พ.ศ. 2523-2524 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลซ่อมแซมสะพานไม้เรื่อยมา ถึงแม้จะมีการยุบโรงเรียนแล้วก็ยังมีบทบาทในการนำพาชาวบ้านดูแลสะพานไม้จนเสียชีวิต

จากบ้านหัวขัวที่เป็นเพียงสถานที่ทำนาของชาวบ้านแกดำมีการพัฒนามาจนมีการตั้งเป็นบ้านขึ้นมีประชาชนย้ายมาอยู่จำนวนมากขึ้น ตลอดจนมีการตั้งโรงเรียนที่บริเวณบ้านหัวขัวแห่งนี้นับเป็นการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การที่มีคนอยู่จำนวนมากตลอดจนเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณริมหนองแกดำทำให้มีพื้นที่ในการปลุกผัก ทำการเกษตรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ใน พ.ศ. 2548 มีการตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษขึ้น เพื่อปลูกผักขายให้กับคนในชุมชน ปลูกขายให้กับโรงพยาบาลแกดำที่รับซื้อตลอด มีการขายเร่ ขายในตลาด จนในปี พ.ศ. 2557 ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐมาสนับสนุนการปลูกผักปลอดสารพิษ สนับสนุนการเพิ่มชนิดผักที่ปลูก สนับสนุนตลาดที่ต้องการผักปลอดสารพิษ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกผักขาย 

ต่อมาใน พ.ศ. 2558 นายชยาวุธ จันทร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้มีการพัฒนาสะพานไม้แกดำซึ่งมีอยู่แล้วพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำอำเภอแกดำ จากนั้นสะพานไม้แกดำก็เป็นที่รู้จักของคนมหาสารคาม หน่วยงานต่างๆเริ่มให้ความสนใจสะพานไม้มากขึ้นมีการจัดงานประเพณี หรือกิจกรรมต่างๆโดยใช้สะพานไม้แกดำเป็นจุดสนใจของผู้มาร่วมงาน

หลังจากที่สะพานไม้แกดำได้เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน คนในจังหวัด จากการพัฒนาของหน่วยงานราชการ จากสื่อต่างๆที่มีการแชร์ออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนบ้านหัวขัวที่เป็นพื้นที่อีกฝั่งของสะพานไม้แกดำเป็นที่น่าสนจากแรกเริ่มมีกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ต่อมา พ.ศ. 2560 มีการตั้งกลุ่มแปรรูปผ้า กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มจักรสาน เป็นต้น จากการมีกลุ่มต่างๆขึ้นมาทำให้มีสินค้าเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสะพานไม้ในปี พ.ศ. 2562 มีการสนับสนุนจัดตั้งตลาดต้องชมขึ้นในพื้นที่บ้านหัวขัวบริเวณทางลงสะพานไม้เพื่อให้ชาวบ้านได้นำสินค้าของกลุ่มต่างๆมาขายให้นักท่องเที่ยวที่มาชมสะพานไม้ นอกจากนั้นแล้วยังมีการตั้งโฮมสเตย์ขึ้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาและอยากพักชมวิถีชีวิตของชาวบ้านหัวขัว

บ้านหัวขัวนับว่ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจากเป็นพื้นที่การเกษตรสู่การเป็นพื้นที่ของการท่องเที่ยววิถีชุมชนได้อย่างรวดเร็วจากการมีทรัพยากร มีประชาชนที่เข้มแข็ง มีกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว สามารถต้อนรับและดูแลนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวได้ตลอดทุกฤดูกาล

ชุมชนบ้านหัวขัว เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับชุมชนบ้านแกดำ โดยมีสะพานไม้แกดำเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกันระหว่างชุมชน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง จังหวัดมหาสารคาม ประมาณ 25 กิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

 อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลวังแสง
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลแกดำ
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลโนนภิบาล
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลวังแสง

จากแผนพัฒนา พ.ศ. 2561-2565 ของเทศบาลตำบลแกดำ ได้ระบุจำนวนครัวเรือน และจำนวนประชากรเพศชาย/หญิง ไว้ดังนี้ จำนวนครัวเรือนมีจำนวนทั้งสิ้น 182 หลังคาเรือน จำนวนประชากร เพศชาย มีจำนวน 356 คน และ เพศหญิง จำนวน 369 คน รวมทั้งสิ้น 725 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว บรรยากาศภายในชุมชนเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน 

เครื่องจักสาน

กลุ่มเครื่องจักสานบ้านหัวผลิตภัณฑ์หลักที่มีการจัดทำขึ้นคือกระติบข้าวโบราณ ซึ่งเป็นกระติบข้าวสั่งทำตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เป็นกระติบข้าวโบราณที่มีลักษณะตีนที่ใช้ตั้งเป็นขาสูง ฝากระติบข้าวเป็นทรงกรวยคว่ำบนยอดแหลม เป็นกระติบข้าวโบราณ

กลุ่มทอเสื่อกก

กลุ่มทอเสื่อกกเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นพร้อม ๆ กับกลุ่มจักสาน เป็นการทอเสื่อหลายรูปแบบตั้งแต่เสื่อธรรมดาที่ไม่มีลวดลาย แบบมีลวดลาย แบบม้วน แบบพับ สามารถเลือกหาได้ตามต้องการของผู้ที่จะซื้อ ซึ่งการทอเสื่อกกของชุมชนบ้านหัวขัวจะทอหลังจากช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา หรือว่างจากการทำเกษตรกรรมต่าง ๆ

กลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้า

กลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้าเป็นกลุ่มที่นำผ้าม้ามาแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายชนิด เช่น กระเป๋าผ่า พวงกุญแจ หมวก กระเป๋าสะพาย ผ้าพันคอ ฯลฯ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ตลอดจนเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนถักทอขึ้นมา

กลุ่มขนมไทย

ขนมไทยของชุมชนบ้านหัวขัวเป็นขนมข้าวเหนียวปิ้งซึ่งแตกต่างจากข้าวเหนียวปิ้งที่ขายตามตลาดทั่วไปซึ่งเป็นกรวยแหลมหัวตัด แต่ด้วยเอกลักษณ์ของบ้านหัวขัวเองที่ชาวบ้านนิยมใช้เรืออีโปงหรือเรือที่ขุดขึ้นจากต้นตาล ทำให้กลุ่มขนมไทยทำรูปแบบข้าวเหนียวปิ้งออกมาในรูปของเรืออีโปงเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

โฮมสเตย์

ปี พ.ศ. 2562 ชุมชนบ้านหัวขัวได้จัดตั้งกลุ่มธุรกิจโฮมสเตย์ขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากการที่สะพานไม้แกดำเป็นแหล่งท่องเที่ยวละชุมชนบ้านหัวมีการจัดตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มจักสาน แปรรูปผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นที่สนใจของบุคคลภายนอก ทำให้มีการริเริ่มการจัดตั้งโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาพักค้างคืนและชมวิถีชีวิตของชาวแกดำ

ผักปลอดสารพิษ

ชุมชนบ้านหัวขัวมีการริเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 สืบเนื่องมาจากบริเวณบ้านหัวขัวอยู่ติดกับหนองแกดำซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำตลอดทั้งปี สามารถทำการเกษตรได้ตลอดชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันเพื่อทำการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อขายในชุมชน เร่ขาย ขายตามตลาดสด จนในปี พ.ศ. 2557 หน่วยงานของรัฐเริ่มมาสนับสนุนการปลูกผักปลอดสารพิษสามารถส่งขายตามโรงพยาบาล หรือหน่วยงานราชการสั่งซื้อ สนับสนุนให้ขายในห้างสรรรพสินค้าได้

ในรอบปีของผู้คนในชุมชนบ้านหัวขัวมีวิถีวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กับ ฮีต 12 คอง 14 และโดยมีรายละเอียด ดังนี้ ด้านประเพณี บุญประเพณีที่ผู้คนในชุมชนต้องจัดทำทุกปี คือ งานบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญที่ผู้คนต้องจัดเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อขอฝนให้ฝนตกตามฤดูกาล จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2545 ทางอำเภอยกระดับงานประเพณีบุญบั้งไฟให้มีความยิ่งใหญ่ จึงนำงานกบ ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอมาจัดร่วมกันกับบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจากทุกหมู่บ้านของอำเภอมีส่วนร่วมในงานบุญประเพณีที่ดีงาม และสร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอแกดำ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ด้านสุขภาพชุมชน เมื่อ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ชุมชนบ้านหัวขัว ได้อาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอแก่การทำเกษตรกรรม และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่ช่วยให้ผู้คนเกิดการร่วมกลุ่มเป็น “กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ” ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของการบริโภคผักปลอดสารพิษ คือผู้คนในชุมชน เมื่อกระแสการบริโภคปลูกผักปลอดสารพิษ ก่อให้เกิดผลที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ทางโรงพยาบาลได้เข้ามาสั่งซื้อผักปลอดสารพิษ และทำให้ผู้คนในชุมชนเกิดรายได้จากการปลูกผักปลอดสารพิษ

ผู้คนในชุมชนใช้ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน


เนื่องจากกระแสการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งเข้ามากระทบต่อชุมชน เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์ภายในชุมชนเกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ทางผู้นำและผู้คนในชุมชนต่างต้องปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความท้าทายในประเด็นนี้ทำให้ผู้คนเกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคม โดยการนำสมาชิกของแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มจักสาน กุล่มแปรรูปผ้า กลุ่มทำขนมไทย กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ และการจัดทำกลุ่มโฮมสเตย์ ประกอบกับการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ชุมชนมีศักยภาพที่สามารถจะรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าสัมผัสวิถีชุมชนได้เป็นอย่างดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นายอาทิตย์ ภูมิแกดำ ผู้ให้สัมภาษณ์, สัมภาษณ์โดย นายเกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา ณ ที่ทำการบ้านผู้ใหญ่บ้านหัวขัว หมู่ 4 ตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม