Advance search

ชุมชนตลาดเก่าแก่ มีการกระจายตัวของบ้านเรือนหนาแน่น มีวัดหัวหินเป็นศาสนสถานประจำชุมชน ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามและมีคุณค่า ได้แก่ อาคารเรือนไม้ สถานีรถไฟหัวหิน พลับพลาพระมงกุฎเกล้า และโรงแรมรถไฟหัวหิน

หัวหิน
หัวหิน
ประจวบคีรีขันธ์
มนิสรา นันทะยานา
30 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ตลาดเก่าหัวหิน


ชุมชนตลาดเก่าแก่ มีการกระจายตัวของบ้านเรือนหนาแน่น มีวัดหัวหินเป็นศาสนสถานประจำชุมชน ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามและมีคุณค่า ได้แก่ อาคารเรือนไม้ สถานีรถไฟหัวหิน พลับพลาพระมงกุฎเกล้า และโรงแรมรถไฟหัวหิน

หัวหิน
หัวหิน
ประจวบคีรีขันธ์
77110
12.571947
99.957794
เทศบาลเมืองหัวหิน

ชุมชนหัวหินก่อตั้งขึ้นในราวปี พ.ศ. 2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจากทางตอนเหนือละทิ้งถิ่นฐานและเดินทางมาจนถึงพื้นที่ที่เป็นบริเวณใกล้กับเขาตะเกียบในปัจจุบัน แล้วได้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณนี้ เพราะเห็นว่าเป็นหาดทรายที่สวยงามและแปลกกว่าที่อื่น คือ มีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อีกทั้งที่ดินก็มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับทำการเกษตรและการประมง แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสมอเรียง”

ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร (ต้นราชสกุลกฤษดากร) ได้มาสร้างตำหนักหลังใหญ่ ชื่อ “แสนสำราญสุขเวศน์” ที่ด้านใต้ของหมู่หินริมทะเล (ปัจจุบันคือบริเวณที่อยู่ติดกับโรงแรมโซฟิเทลฯ) และทรงขนานนามหาดทรายบริเวณนี้เสียใหม่ว่า “หัวหิน” จนเมื่อเวลาล่วงไป ทั้งตำบลในบริเวณนี้ก็ถูกเรียกในชื่อเดียวกันว่า หัวหิน และเจริญเติบโตขยายขึ้นเป็นอำเภอหัวหินจนถึงปัจจุบัน

ในอดีตที่ผ่านมาหัวหินเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ จำนวนราษฎรมีไม่มาก ประกอบอาชีพทางด้านการประมง ต่อมาราษฎรในเขตท้องถิ่นอื่น เช่น จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงได้อพยพเข้ามาเพื่อทำมาหากิน และประกอบอาชีพในหมู่บ้านดังกล่าวมากขึ้น ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ขยายตัวใหญ่ขึ้น มีความเจริญมากขึ้น จึงได้มีการสร้างทางรถไฟสายใต้มาถึงหัวหิน เมื่อ พ.ศ. 2454 ตลอดจนได้มีการสร้างตำหนักบ้านพักตากอากาศของพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ขึ้นในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้าง โรงแรมรถไฟ ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งมีมาตรฐานเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวหัวหิน เพื่อบริการนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนตากอากาศในพื้นที่ เมื่อ พ.ศ. 2468

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังไกลกังวลขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2469 เพื่อใช้เป็นสถานที่แปรพระราชฐานเสด็จมาประทับแรมในห้วงฤดูร้อน สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2473 สถานที่แห่งนี้นับเป็นสัญลักษณ์อันสง่างาม ทรงคุณค่า และเป็นที่ภาคภูมิใจ เชิดหน้าชูตาของชาวหัวหินมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาประทับ ณ วังไกลกังวล เป็นการถาวร หัวหินได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอหัวหิน ขึ้นกับอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2475 และต่อมาทางราชการได้ยกฐานะกิ่งอำเภอหัวหินขึ้นเป็นอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2492 ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณ ถนนเพชรเกษมแนวใหม่ ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน นายอำเภอคนแรก คือ นายเอื้อน จารุรัตน์

ชุมชนตลาดเก่าหัวหิน ห่างจากที่ว่าการอำเภอหัวหิน ประมาณ 500 เมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 56 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 200 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนตลาดเก่าหัวหิน สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถตู้ และรถไฟ

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

เป็นชุมชนย่านตลาดเก่าหัวหินต่อเนื่องกับบริเวณสถานีรถไฟหัวหิน โดยมีบ้านเรือนหนาแน่น บริเวณถนนนเรศดำริห์ ถนนเพชรเกษม สถานีรถไฟหัวหิน ตลาดหัวหิน และสะพานปลาหัวหิน ซึ่งจะพบเห็นอาคารเรือนไม้แบบเก่าปะปนอยู่กับอาคารทันสมัยเป็นร้านค้า รีสอร์ทและโรงแรม โดยปัจจุบันบริเวณตลาดเก่าหัวหินได้มี “ตลาดโต้รุ่งหัวหิน” อยู่ด้วย”

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2554 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตเทศบาลตำบลหัวหิน จำนวน 35,987 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 45,765 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 21,085 คน หญิง 24,680 คน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดหัวหิน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีนายปึง และนางอิ่ม ได้ถวายที่ดินให้มีบรรพชนชาวหัวหินได้ร่วมใจกันสมทบทุนและใช้น้ำพักน้ำแรงร่วมกันสร้างขึ้นมา เริ่มแรกเป็นเพียงสำนักสงฆ์มีโบสถ์และศาลาตามแบบอย่างวัดของพุทธศาสนาทั่วไป หลังจากสร้างวัดเสร็จก็ได้ขนานนามว่า "วัดอัมพาราม" ซึ่งภายหลังได้เรียกกันว่า "วัดแหลมหิน" และจนกลายมาเป็น "วัดหัวหิน" จนถึงปัจจุบัน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากเมืองสวรรคโลกในอดีต พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธบาทจำลอง และรูปหล่อ “หลวงปู่นาค” หรือ “หลวงพ่อนาค” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองหัวหินและเจ้าอาวาสวัดรูปแรกที่ชาวเมืองให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างสูง นอกจากนั้นบริเวณผนังวัดยังมีงานจิตรกรรมเรื่องราวในพระชาดกที่สวยงามวิจิตร และพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดจัดแบ่งให้เป็นโรงเรียนเทศบาลประจำเมืองหัวหินอีกด้วย

2. สถานีรถไฟหัวหิน ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างทางรถไฟสายใต้จนสุดเขตพระราชอาณาเขต เพื่อต่อเชื่อมกับรถไฟมลายูของอังกฤษ งานสร้างทางเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2441 ช่วงแรก คือ บางกอกน้อย - ตัวเมืองเพชรบุรี เปิดเดินรถได้วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2446 เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากขึ้น จึงทรงโปรดให้แยกกรมรถไฟออกเป็น กรมรถไฟหลวงสายเหนือ กับกรมรถไฟหลวงสายใต้ กรมรถไฟหลวงสายใต้ รับผิดชอบการสร้างทางต่อจากสถานีเพชรบุรีลงไป ใช้วิธีแบ่งสร้างพร้อมกันหลายตอนจากเพชรบุรีลงไป และจากสงขลากับกันตังขึ้นมาทางเหนือมาบรรจบกันที่ชุมพร เปิดการเดินรถได้เป็นช่วงๆ ไป สร้างเสร็จเรียบร้อยตลอดสายในปี พ.ศ. 2464

การก่อสร้างทางช่วงสถานีบ้านชะอำถึงหัวหินและสถานีรถไฟหัวหิน เริ่มเปิดการเดินรถได้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 สถานีรถไฟหัวหินในปัจจุบัน เป็นอาคารหลังที่ 2 อาคารหลังแรกไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นรูปแบบใด คาดว่าเป็นเพียงอาคารไม้เล็ก ๆ แบบพิมพ์นิยมของการสร้างสถานีรถไฟยุคนั้น อาคารสถานีที่วิจิตรเดิมเป็นอาคารไม้ที่ประกอบขึ้นเพื่อจัดงาน ‘สยามรัฐพิพิธภัณฑ์’ ที่สวนลุมพินีใน พ.ศ. 2468 แต่ไม่ได้มีการจัดจริง เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตก่อนการจัดงาน งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์จึงถูกยกเลิก และได้นำมาประกอบขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นอาคารสถานีหัวหินในปัจจุบัน

สถานีหัวหินสร้างด้วยไม้ รูปแบบได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียนที่นิยมมากในอังกฤษ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวหลังคาทรงปั้นหยา มุขกลางเป็นแบบจั่วตัด มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว โครงสร้างอาคารเป็นกรอบเสารับคาน โครงคร่าวและไม้กรุผนังทาสีตัดกันจนเห็นความแตกต่างชัดเจน เสามีการเซาะร่องเป็นลวดลาย และประดับหัวเสาเลียนแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก ตัวสถานีทาสีขาวครีมตัดกับสีแดง ป้ายสถานีมีเอกลักษณ์ทั้งตัวอักษรและกรอบที่สลักอย่างวิจิตร สอดคล้องกับตัวอาคารสถานี ด้วยความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์นี้ จึงได้รับพิจารณาคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็น ‘อาคารอนุรักษ์ดีเด่น’ เมื่อ พ.ศ. 2525

3. พลับพลาพระมงกุฎเกล้า ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของสถานีหัวหิน ห่างจากอาคารสถานีไปเล็กน้อย มีพลับพลาทรงจตุรมุขทรงไทยประยุกต์ตั้งอยู่ พลับพลานี้ไม่ใช่อาคารสถานีหัวหิน แต่เป็นส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟหัวหิน เดิมเป็นอาคารสถานีรถไฟหลวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เรียกกันว่า ‘พลับพลาสนามจันทร์’ ทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟหลวงเหมือนกับสถานีจิตรลดาที่กรุงเทพฯ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต กรมรถไฟได้รื้อตัวพลับพลาสถานีสนามจันทร์มาเก็บรักษาไว้ จนใน พ.ศ. 2511 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำพลับพลากลับมาประกอบใหม่ และย้ายไปตั้งไว้ที่สถานีหัวหิน เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับในการเสด็จทางรถไฟของพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการแปรพระราชฐานที่วังไกลกังวล พลับพลาได้ประกอบเสร็จ ทำพิธีเปิดโดย สมเด็จพระเจ้าภคิณีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้นก็ได้มีการตั้งชื่อพลับพลาใหม่ว่า ‘พลับพลาพระมงกุฎเกล้า’

4. โรงแรมรถไฟหัวหิน ตั้งอยู่สองฝั่งถนนดำเนินเกษมที่เป็นถนนเชื่อมระหว่างสถนีรถไฟหิวหินและชายหาดด้านตะวันตกติดถนนเทศบาล สร้างขึ้นด้วยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระยากำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงสมัยนั้น สร้างสถานที่พักตากอากาศขึ้นบริเวณชายทะเลหัวหิน ซึ่งถือเป็นโรงแรมพักตากอากาศแห่งแรกของสยามประเทศ มีความหรูหราทันสมัยตามแบบอย่างโรงแรมในยุโรป การก่อสร้างแล้วเสร็จ เริ่มเปิดให้พักเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466

โรงแรมรถไฟหัวหินออกแบบโดย นาย A.Rigazzi สถาปนิกประจำกรมรถไฟชาวอิตาเลียน ลักษณะโดยทั่วไปเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สูงสองชั้น ตกแต่งด้วยไม้สักหลังคาทรงชัน มุงกระเบื้องสีสวยงาม มีทางเดินและระเบียงกว้างคลุมด้วยหลังคาทั้งชั้นบนและชั้นล่าง คล้ายรูปแบบโรงแรมในยุโรปที่ปรับให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของไทย ภายในอาคารประกอบด้วยห้องพักพนักงานจำนวน 14 ห้อง พร้อมส่วนบริการอื่นๆ ได้แก่ โถงพักผ่อน ห้องอาหาร บาร์ ห้องบิลเลียด รวมทั้งห้องเก็บเหล้าองุ่นซึ่งอยู่ใต้ถุนอาคาร สำหรับห้องพักแต่ละห้องนั้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนทันสมัยในขณะนั้น ได้แก่ โคมไฟฟ้า พัดลม และสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ค่าก่อสร้างโรงแรมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 128,366.75 บาท หลังจากเปิดดำเนินกิจการแล้ว โรงแรมรถไฟหัวหินเป็นที่นิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนต้องขยายห้องพักเพิ่มขึ้นอีก 13 ห้อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่จะมาพักตากอากาศ โดยต่อเติมจากอาคารเดิม ในรูปแบบเดียวกันมาทางเหนือ รวมทั้งสร้างบังกะโลอีกหลายหลังสำหรับผู้ที่มาพักตากอากาศแบบครอบครัว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. โรงแรมรถไฟหัวหิน แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (เอกสารอัดสำเนา).

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. สถานีรถไฟหัวหิน รายงานการสำรวจ ของฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. (เอกสารอัดสำเนา).

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). วัดหัวหิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (2560). ข้อมูลพื้นฐาน : อำเภอหัวหิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก: https://www.prachuapkhirikhan.go.th/

วันวิสข์ เนียมปาน, (2564). นั่งรถไฟไปหัวหิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก: https://readthecloud.co/hua-hin-train-station

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหัวหิน. ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2566, จาก: https://district.cdd.go.th/huahin/