ชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสระน้อย เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชาวลาวเดิมเข้ากับชาวไทยอีสาน และชาวไทยภาคกลาง
ที่มาของชื่อหมู่บ้านโคกสระน้อยจากคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชน เล่าว่า ในอดีตมีหญิงสาวรูปงามคนหนึ่งนามว่า “น้อย” ต่างเป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม ในอดีตจะมีคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงที่โตเป็นสาวแล้ว ว่า “สาว” ดังเช่นหญิงสาวที่ชื่อน้อย ก็จะถูกเรียกว่า “สาวน้อย” ชายหนุ่มคนใดต้องการพบปะพูดคุยกับสาวน้อยจะต้องเดินทางไปที่บ้านสาวน้อย ซึ่งบริเวณของหมู่บ้านที่สาวน้อยอาศัยอยู่เป็นพื้นที่ราบสูง คำโบราณเรียก “โคก” ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “บ้านโคกสาวน้อย” ต่อมามีการเรียกชื่อหมู่บ้านปากต่อปาก นานวันเข้าก็เพี้ยนกลายเป็น “โคกสระน้อย” มาจนปัจจุบัน
ชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสระน้อย เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชาวลาวเดิมเข้ากับชาวไทยอีสาน และชาวไทยภาคกลาง
ชุมชนบ้านโคกสระน้อย เป็นหนึ่งในชุมชนที่ตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่ซึ่งปรากฏการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเบิ้ง หรือเป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ ชาวไทยโคราช ชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่แถบนี้สันนิษฐานว่าเดิมทีคือชาวละว้า ชนพื้นเมืองลาวที่อาศัยอยู่ในล้านนา ทำการอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นอำเภอสูงเนิน และอำเภอบัวใหญ่
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง โปรดฯ ให้ขุนหลวงพะงั่วยกกองกำลังทหารรวบรวมดินแดนแถบนครราชสีมาผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังโปรดฯ ให้ชาวอยุธยามาสร้างบ้านเรือนและวัดในจังหวัดนครราชสีมาเป็นจำนวนมาก ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีชาวไทยภาคกลางอพยพมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากขึ้น จนเมื่อเกิดเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2 เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวไทยภาคกลางอีกระลอกหนึ่ง โดยในครั้งนี้มีชาวไทยริมฝั่งทะเลภาคตะวันออกร่วมมาด้วย ซึ่งต่อมาชาวไทยกลุ่มนี้และชาวไทยพื้นเมืองเดิมได้สืบเชื้อสายเป็นชาวไทยเบิ้งหรือไทยโคราชในปัจจุบัน
แต่อีกตำราหนึ่งก็ว่า ไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช เป็นการเรียกชนพื้นถิ่นกลุ่มหนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตอำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล อำเภอโคกสำโรง และอำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี และยังตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายในจังหวัดอื่น ๆ เช่น อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี อำเภอศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชัยภูมิ ทว่า เอกสารทางวิชาการมีการอธิบายถึงชาวไทยเบิ้งไว้ว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานและมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดลพบุรีมานานกว่าสองทศวรรษแล้ว ซึ่งพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มไทยเบิ้งนั้น อยู่ระหว่างรอยต่อของสองภูมิภาคของไทย คือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่แถบนี้จึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์พื้นถิ่นของทั้งภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดสามารถอธิบายได้อย่างแจ่มชัดว่าคำเรียกชาติพันธุ์ไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง หรือไทยโคราชนั้นมีพื้นเพปฐมเหตุมาจากที่ใด แต่ชาวไทยอีสานและชาวไทยในภูมิภาคอื่น ต่างก็ขนานนามเรียกขานกลุ่มชาวไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาว่า “ไทยโคราช” “ไทยเบิ้ง” และ “ไทยเดิ้ง” ในขณะเดียวกัน ชาวจังหวัดนครราชสีมาในทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ รวมถึงชาวชุมชนบ้านโคกสระน้อยเองก็มีการรับรู้และยอมรับร่วมกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช ไทยเบิ้ง และไทยเดิ้ง หมายความถึงชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ตน
สภาพแวดล้อม
บ้านโคกสระน้อย ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบสูงเหมาะสำหรับทำการเกษตร รังวัดได้ถึง 1,600 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 2,600 ไร่ เนื่องจากพื้นที่ตั้งบ้านโคกสระน้อยไม่ได้มีอาณาบริเวณอยู่ติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้น ชาวบ้านจึงนิยมขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรมในพื้นที่นาของตนเอง นอกจากนี้พื้นชุมชนบ้านโคกสระน้อยยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำพวกไม้ยืนต้น โดยกระจุกอยู่เป็นพื้นที่ป่าทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม ซึ่งบางส่วนก็เป็นป่าสาธารณประโยชน์สำหรับผู้คนในชุมชน
สถานที่สำคัญ
วัดโคกศรีสะเกษ
วัดโคกศรีสะเกษ หรือวัดโคกสระน้อย ศาสนสถานสำคัญของชาวชุมชนบ้านโคกสระน้อย ตั้งอยู่ในป่า ห่างจากที่ว่าการอำเภอปักธงชัย 7 กิโลเมตร วัดโคกสระน้อยถูกสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ภายในวัดมีพระอุโบสถหรือสิมโบราณ อายุกว่า 200 ปี เป็นสิมทึบขนาดใหญ่ ลักษณะก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเผา ซุ้มประตูประดับด้วยถ้วยชามจีนและการขึ้นปูนปั้นลวดลาย ภายนอกสิมถูกล้อมรอบด้วยหลักเสมาขนาดใหญ่ 8 หลัก จารึกด้วยอักขระภาษาขอม ภายในมีเสาไม้ค้ำหลังคาขนาดใหญ่ เพดานไม้แต่งแต้มด้วยภาพเขียนสี แม้จะหลุดกร่อนไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความวิจิตรงดงาม
ใกล้กันมีศาลาโรงธรรมหลังหนึ่ง บนเพดานปรากฏจิตรกรรมภาพเขียนสีฝีมือช่างพื้นบ้านจินตนาการถึงสัตว์ป่าหิมพานต์ พื้นที่รอบระเบียงเป็นภาพเขียนสีพุทธประวัติ และมหาเวสสันดรชาดก มุมหลังคาด้านหนึ่งสลักปี พ.ศ. 2446 ซึ่งเป็นปีที่วาดภาพเขียนสีนี้ขึ้น แต่ไม่ปรากฏนามศิลปิน คาดว่าอาจเป็นช่างคนเดียวกันกับสิมวัดนกออก ปัจจุบันชาวบ้านโคกสระน้อยขนานนามศาลาโรงธรรมแห่งนี้ว่า “หอแจก” หรือ “โรงทาน”
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์เก่าซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาพระพุทธรูป วัตถุโบราณ และเครื่องทองของมีค่าอื่น ๆ ที่ได้มาจากการที่พระครูพิพัฒน์อิสรคุณเจ้าอาวาสวัดโคกสระน้อยท่านไปหามา บางส่วนก็มีผู้นำมาบริจาคให้ อาทิ เครื่องเบญจรงค์ ตะลุ่มใส่อาหารถวายพระ เครื่องปั้นดินเผาอำเภอด่านเกวียน เซี่ยนหมาก กระพรวน กระเชอใส่ข้าว และธรรมมาสน์สำหรับใช้ในงานเทศน์มหาชาติ ทั้งธรรมมาสน์เก่าและธรรมมาสน์ใหม่ ต่างก็ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี
ข้อมูลแสดงจำนวนประชากรจากเทศบาลตำบลนกออก ระบุว่า บ้านโคกสระน้อย ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีประชากร 153 ครัวเรือน จำนวน 553 คน เป็นหญิง 297 คน และชาย 256 คน
บ้านโคกสระน้อยเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวไทยเบิ้งมานานนับหลายศตวรรษ ซึ่งสันนิษฐานว่าชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เดิมทีคือชาวละว้า (ชนพื้นเมืองลาวเดิม) และชาวไทยภาคกลางที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครราชสีมามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทำให้สังคมของชาวไทยเบิ้งมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชาวลาวเดิม ชาวไทยอีสาน และชาวไทยภาคกลางเข้าด้วยกัน
ไทโคราช, ไทเบิ้งโครงสร้างทางสังคม
โครงสร้างทางสังคมของชุมชนบ้านโคกสระน้อยไม่ได้แตกต่างไปจากชุมชนอื่นในตำบลนกออก มีผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน คอยอำนวยความสะดวก ดูแลสวัสดิการ และความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมคน ภายในครอบครัวมีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คอยให้การอบรมสั่งสอนบุตรหลานตั้งแต่วัยเยาว์ จนมีความพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอก
อาชีพ
ชาวบ้านบ้านโคกสระน้อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก โดยรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในชุมชนมาจากการทำนา ทำไร่ และทำสวนปลูกพืชเพื่อนำออกไปจำหน่าย เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง แตงกวา ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มมีการหันเหหาลู่ทางในการประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากเกษตรกร เช่น พนักงานโรงงาน ข้าราชการ และประกอบธุรกิจส่วนตัวในชุมชนเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บ้านและที่นาส่วนตัว เช่น โค กระบือ ไก่ สุกร เป็นต้น
วิถีชีวิต
เนื่องจากชาวบ้านโคกสระน้อยมีวิถีชีวิตการดำรงอยู่โดยการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ มีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม เวลาในแต่ละวันของชาวบ้านโคกสระน้อยจึงถูกใช้ไปกับการทำนา ทำสวน ทำไร่ ในฤดูกาลเพาะปลูก-เก็บเกี่ยว เมื่อถึงฤดูแล้งว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายจะใช้ช่วงเวลานี้ออกไปหาปลา หาของป่า หรือสร้างเครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น จอบ เสียม ฯลฯ ส่วนผู้หญิงจะทำหัตกรรมงานฝีมือจักรสานข้าวของเครื่องใช้ในการดำรงชีพ บางครัวเรือนมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับนำไปทอผ้าไหม
การแต่งกายของชาวไทยเบิ้งมีลักษณะคล้ายกับการแต่งกายของชาวไทยภาคกลาง ผู้หญิงในอดีตใส่กระโจมอก เสื้ออีแปะ ต่อมาพัฒนามาใส่เสื้อคอปก เสื้อคอบัว ตามสมัยนิยม นุ่งโจงกระเบน และผ้าถุง (การแต่งกายของผู้หญิงชาวไทยเบิ้งลักษณะนี้ ปัจจุบันปรากฏมีเพียงผู้สูงอายุ ส่วนหนุ่มสาวยุคใหม่จะแต่งกายตามความนิยมของยุคสมัย) ผู้ชาย สวมเสื้อคอกลม เสื้อกุยเฮง คอกระบอก ปกเชิ้ต นุ่งโจงกระเบน กางเกงขาก๊วย กางเกงแพร
ชาวไทยเบิ้งชุมชนบ้านโคกสระน้อยมีวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับธรรมชาติ มีการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต ทั้งการประกอบอาชีพ รวมถึงอาหารการกิน ชาวบ้านโคกสระน้อยนิยมบริโภคอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ปลา ผัก หรือสัตว์ที่เลี้ยงเอง อาทิ ไก่ เป็ด หมู เป็นต้น อีกทั้งยังมีการถนอมอาหารด้วยวิธีธรรมชาติที่ทำให้สามารถเก็บอาหารไว้กินได้เป็นเวลานาน เช่น การตากแห้ง การหมัก การดอง ฯลฯ
ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
ชุมชนบ้านโคกสระน้อย ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมชนที่มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก มีวัดโคกศรีสะเกษ หรือวัดโคกสระน้อย เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามหลักศาสนาพุทธ ชาวไทยเบิ้งชุมชนบ้านโคกสระน้อยมีคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป ศรัทธาในพระพุทธเจ้า เชื่อในนรกสวรรค์ กราบไหว้พระสงฆ์และพระพุทธรูป มีประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต เช่น พิธีบรรพชา พิธีปวารณา ขึ้นบ้านใหม่ โกนจุก งานศพ ฯลฯ และมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันอัฐมีบูชา วันเข้าพรรษา-ออกพรรษา เป็นต้น
นอกจากนี้ชาวไทยเบิ้งชุมชนบ้านโคกสระน้อยยังให้การเคารพบูชาพระแม่โพสพ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพธิดาประจำต้นข้าว เมื่อถึงฤดูกาลการทำนา หลังหว่านข้าวแล้วจะต้องทำพิธีกรรมอัญเชิญพระแม่โพสพลงนาไปดูแลรักษาต้นข้าวให้เจริญงอกงาม หรือที่ชาวไทยเบิ้งเรียกว่า “ประเพณีรับท้องข้าว” ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวไทยเบิ้ง โดยปกติจะถูกจัดขึ้นในช่วงเข้าพรรษา หรือในระยะเวลาที่ต้นข้าวกำลังเริ่มตั้งท้องหรือออกรวง เพื่ออ้อนวอนต่อพระแม่โพสพผู้เป็นเทพธิดาประจำต้นข้าวให้ช่วยดูแลปกป้องคุ้มครองต้นข้าวให้เจริญงอกงาม และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะต้องอัญเชิญพระแม่โพสพขึ้นยุ้ง หรือที่เรียกว่าประเพณีรับขวัญข้าว โดยให้ผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว คอนกระบุงข้าวจากนามาที่ลาน จุดธูปกล่าวเชิญพระแม่โพสพ แล้วนำเอาฟางมาผูกเป็นหุ่นลักษณะคล้ายคน ซึ่งเชื่อว่าหุ่นนี้คือตัวแทนของพระแม่โพสพ จากนั้นให้ผู้หญิงคนเดิมคอนกระบุงข้าวจากนาเดินไปที่ยุ้งข้าวโดยระหว่างทางห้ามพูดคุยกับใคร เมื่อคอนกระบุงข้าวเข้ายุ้งแล้ว ให้นำหุ่นฟางไปตั้งไว้ในยุ้ง เสมือนว่าให้พระแม่โพสพเดินทางจากนามาดูแลคุ้มครองข้าวในยุ้งดังที่ดูแลคุ้มครองข้าวในนา นอกจากหุ่นฟางพระแม่โพสพแล้ว บางครอบครัวยังมีการนำเอาหุ่นฟางตัวแทนบรรพบุรุษ “ตาปุก ยายปุ๋ย” ให้คอยดูแลปกปักเมล็ดข้าวเปลือกภายในยุ้ง ทั้งยังมีความเชื่อตามคำโบราณกล่าวว่า “ศุกร์ขึ้นลาน อังคารขึ้นยุ้ง” คือการเลือกเอาวันมงคลในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันดีสำหรับเอาข้าวขึ้นยุ้ง และทำพิธีกรรมเรียกขวัญข้าว ทว่า ปัจจุบันสัญลักษณ์ทางความเชื่อเหล่านี้เริ่มจะสูญหาย เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดถือกับฤกษ์งามยามดี แต่จะถือเอาฤกษ์สะดวกเสียมากกว่า
ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
ซงเหวียน
ซงเหวียน ซังเหวียน ทองเหวียน เสวียน คือยุ้งข้าวยุคโบราณของชาวไทยเบิ้ง มีรูปทรงแบบทรงกระบอก สานด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยขี้วัวขี้ควาย ซงเหวียนเป็นเพียงวัสดุเก็บข้าวขนาดเล็กที่ชาวนาทำขึ้นสำหรับเก็บข้าวไว้บริโภคประมาณครึ่งปี-หนึ่งปีเท่านั้น โดยประมาณแล้ว 35 กระสอบ ไม่สามารถเก็บได้ในปริมาณมากเท่ายุ้งเก็บข้าวที่ทำจากไม้จริงแบบมีฝาคร่าวยุ้ง แต่ความพิเศษของซงเหวียนคือสามารถยกเคลื่อนย้ายได้หากต้องการเปลี่ยนที่ตั้ง ซงเหวียนเป็นยุ้งข้าวที่ทำขึ้นเพื่อใช้เก็บข้าวชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากมีขนาดเล็ก เก็บข้าวได้ไม่มาก สามารถสร้างโดยกำลังคนเพียงคนเดียวดังการสานภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน อีกทั้งวัสดุในการจักรสานก็สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ชุมชน เช่น ไม้ไผ่ มูลสัตว์ แกลบ และดินปลวก เป็นต้น ซงเหวียนจึงเหมาะสำหรับชาวนาที่มีจำนวนที่นาน้อย ทำนาเก็บผลผลิตต่อปีไม่มาก หากแม้ว่ามีการทำนาที่มากขึ้น ก็จะยกยุ้งข้าวให้มีขนาดใหญ่สามารถเก็บข้าวได้มากขึ้น
เพลงโคราช
เพลงโคราช เป็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นของชาวไทยเบิ้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่ชาวไทยเบิ้งในแทบทุกพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมารู้จักกันคุ้นเคยเป็นอย่างดี ลักษณะพิเศษที่ทำให้เพลงโคราชมีความโดดเด่นและกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยโคราชหรือชาวไทยเบิ้ง คือการนำเอาภาษาไทยโคราชที่ชาวไทยเบิ้งใช้ในชีวิตประจำวันมาปรับประยุกต์ใส่ทำนองขับร้อง โดยผู้ทำหน้าที่ในการขับร้องเพลงโคราชเรียกว่า “หมอเพลง” เนื้อหาของเพลงโคราชนั้นไม่ตายตัว แต่จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามแต่สถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งจะอาศัยปฏิภาณไหวพริบของหมอเพลงในการสร้างสรรค์เนื้อร้องด้วยวิธีการด้นสด ในอดีตหมอเพลงโคราชได้รับยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการเดินทางและพบปะผู้คนหลากหลาย หมอเพลงจึงเปรียบดังผู้มีหน้าที่ในการบอกเล่าข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ จากประสบการณ์ที่พบเห็นเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนผ่านการขับถ้อยบทเพลง ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลงโคราชได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอดีต แต่ในปัจจุบันเพลงโคราชกลับเสื่อมความนิยมลง เนื่องจากการขับบทเพลงของหมอเพลงในปัจจุบัน มักทำตามความต้องการของผู้ฟังก่อนเป็นปฐม ไม่ได้มีจุดมุ่งหวังเพื่อบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารและประสบการณ์ดังหมอเพลงยุคเริ่มแรกปฏิบัติกันมา
ภาษาพูด: ภาษาไทยสำเนียงโคราช และภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง
จารุวัฒน์ นนทชัย. (2556). ยุ้งข้าว: รูปแบบและสื่อสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สาวิตรี ตลับแป้น. (2558). วัดศรีสะเกษ. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://isan.tiewrussia.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565].
สุภีมพศ ทองสกล. (2552). การศึกษาคติความเชื่อจากภาพจิตรกรรม ภายในศาลาโรงธรรมวัดโคกศรีสะเกษ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. ศิลปนิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและการพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโคกศรีสะเกษ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/906 [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566].