หมู่บ้านคลองเรือเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่มีพันธุ์ไม้หายาก ได้แก่ ดอกบัวพุด กระโถนพระราม กระโถนฤาษี มีสัตว์ป่าที่หายากอย่าง จักจั่นงวง ตัวนิ่ม และมีโฮมสเตย์ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชม พร้อมกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมล่องแพ เรียนรู้การทำเกษตร 4 ชั้น และเป็นที่ตั้งของ "ธนาคารต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทย"
ชื่อหมู่บ้านถูกตั้งขึ้นจากลำคลองที่มีลักษณะคล้ายลำเรือ เลยได้ชื่อว่า "บ้านคลองเรือ"
หมู่บ้านคลองเรือเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่มีพันธุ์ไม้หายาก ได้แก่ ดอกบัวพุด กระโถนพระราม กระโถนฤาษี มีสัตว์ป่าที่หายากอย่าง จักจั่นงวง ตัวนิ่ม และมีโฮมสเตย์ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชม พร้อมกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมล่องแพ เรียนรู้การทำเกษตร 4 ชั้น และเป็นที่ตั้งของ "ธนาคารต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทย"
ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของหมู่บ้านคลองเรือ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ช่วงที่หนึ่ง พ.ศ. 2518 - 2536
- ก่อนปี พ.ศ. 2518 สภาพเดิมของหมู่บ้านมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ดินและน้ำอุดมสมบูรณ์
- พ.ศ. 2518 มีผู้เข้าไปอาศัยและบุกรุกป่าเป็นที่ทำกินครั้งแรก ทำการร่อนแร่ดีบุก และทำเหมืองแร่แบบชักจอบ
- พ.ศ. 2528 มีประชาชนทั้ง 4 ภาคของประเทศ มาตั้งรกรากบุกรุกถางป่าทำกิน โดยทำสวนกาแฟเป็นพืชหลัก
- พ.ศ. 2532 ก่อตั้งโรงเรียนบ้านคลองเรือ โดยมีครูตชด. มาช่วยสอน
- พ.ศ. 2536 มีกระแสจะอพยพคนออกจากพื้นที่ นายพงศา ชูแนม เข้ามาพูดคุยทำข้อตกลงกับชาวบ้าน เพื่อการหาข้อตกลงร่วมกันในการย้ายคนออกจากพื้นที่สูง และได้มีการริเริ่มทำโครงการคนอยู่-ป่ายัง
- พ.ศ. 2536 เพื่อจัดขอบเขตพื้นที่ทำกินและขอบเขตป่า ทำให้ไม่มีการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่เพิ่ม
- พ.ศ. 2537 เริ่มดำเนินการโครงการคนอยู่-ป่ายัง มีกติกาชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน, มีการอพยพชุมชนบนพื้นที่สูงลงมา จึงสร้างข้อตกลงร่วมกันจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่, และมีการดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินทำกิน
2. ช่วงที่สอง พ.ศ. 2537 - 2548
- พ.ศ. 2537 เริ่มมีคณะนักศึกษาเข้ามาทำค่ายในชุมชน ต่อมามีคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาทำค่าย และเสนอแนะให้ชุมชนจัดการท่องเที่ยวบ้านพักโฮมสเตย์ ชุมชนจึงตั้งกลุ่มท่องเที่ยวบ้านพักโฮมสเตย์ขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น และเป็นกลไกในการช่วยดูแลรักษาป่า
- พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานรางวัลพิทักษ์ป่า จากพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ และตั้งเป็นกองทุนข้าวสารพระราชทาน จำนวน 100,000 บาท
- พ.ศ. 2547 จัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ
- พ.ศ. 2548 มีไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์ใช้ในชุมชน
3. ช่วงที่สาม พ.ศ.2549 - ปัจจุบัน (การเกิดของธนาคารต้นไม้)
- พ.ศ. 2549 เริ่มมีการพูดคุยเรื่องธนาคารต้นไม้ และตั้งเป็นธนาคารต้นไม้สาขาแรกของประเทศมีต้นไม้มากขึ้น มีการสร้างพื้นที่เกษตรคล้ายป่า มีทั้งพืชอาหาร พืชพลังงานและไม้ใช้สอย, มีการทำแปลงเพาะชำกล้าไม้ ผักป่า ปลูกในพื้นที่ของตนเอง ขยายพันธุ์พืชป่า, มีโครงการ 84 ตำบล รักษ์ป่า สร้างคน สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมร่วมกันในชุมชนและจังหวัดอื่นๆ, มีการสร้างเครือข่ายกับชุมชนภายนอก ได้สังคมมีเครือข่ายกับชุมชนและจังหวัดอื่นๆ, มีคณะบุคคลจากภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานมากขึ้น
- พ.ศ. 2552 - 2553 ร่วมกับแผนงานประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนฯ ศึกษาวิจัยโครงการแนวคิด และรูปแบบของ REDD ที่เหมาะสมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมในบริบทสังคมไทย
- พ.ศ. 2554 - 2555 ร่วมกับแผนงานประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนฯ ศึกษาวิจัยโครงการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภูมินิเวศป่าไม้เพื่อการแก้ไขและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บ้านคลองเรือตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 220-260 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 12,560 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน) จำนวน 7,242 ไร่ พื้นที่ป่าสงวน (เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวานและป่าปากทรง) จำนวน 2,993 ไร่ พื้นที่ทำกิน จำนวน 1,050 ไร่ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (ซึ่งได้ทำการฟื้นฟูแล้ว) จำนวน 1,275 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
บ้านคลองเรือมีครัวเรือประชากร 72 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 267 คน นับถือศาสนาพุทธ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม อาชีพรองลงมา คือ รับจ้างทั่วไป รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ค้าขาย และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 176,588 บาท /ปี/ครัวเรือน โดยที่มาของรายได้ภาคเกษตร เฉลี่ย 141,739 บาท/ปี/ครัวเรือน จำนวน 72 ครอบครัว และนอกภาคเกษตร เฉลี่ย 340,424 บาท/ปี/ครัวเรือน จำนวน 25 ครอบครัว
หนี้สินของครัวเรือน เฉลี่ย 94,659 บาท/ครัวเรือน โดยมีสาเหตุหลักของการเกิดหนี้สิน มาจากการลงทุนทำการเกษตร ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างที่อยู่อาศัย การศึกษา และค้าขาย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์หมู่บ้านและกองทุนหมู่บ้าน โดยพืชเศรษฐกิจที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นกาแฟ หมาก มังคุด ทุเรียน ปาล์มน้ำมันและยางพารา สัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ ไก่ ปลาน้ำจืด ผึ้งและเป็ด ใช้สำหรับประกอบอาชีพในการค้าขายและเกษตรกรรม การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่ป่าไม้ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ แหล่งไม้ใช้สอย แหล่งอาหาร แหล่งเชื้อเพลิง (ฟืน) และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
กลุ่มและองค์กรภายในชุมชนบ้านคลองเรือ
ชาวชุมชนบ้านคลองเรือร่วมกันทำแนวเขตทางใจ (ทำกับใจ) กล่าวคือ ชาวบ้านคลองเรือมีข้อตกลงร่วมกันในการทำแนวเขตพื้นที่ทำกินกับพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน และทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาป่าอันเป็นทรัพย์ส่วนรวม อันเป็นข้อตกลงร่วมกัน และจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกกิจกรรมพัฒนาชุมชนของตนเองโดยต้องนึกถึงความเป็นส่วนรวมเป็นหลัก โดยเฉพาะ
- ผู้นำชุมชน ที่ในทุกเดือนที่มีการประชุมก็จะมีการพูด หรือ กล่าวถึงการดูแลรักษาป่า และการดำรงวิถีการเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านเป็นการกระตุ้นทุกคนในชุมชนเกิดความสำนึกและสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน
- กลุ่มแม่บ้าน ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาป่า จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของ ผู้นำ เป็นกำลังใจสำคัญ เป็นผู้ดูแลด้านอาหารการกิน ทุกครั้งที่พ่อบ้านต้องมีหน้าที่ไปลาด ตระเวน หน้าที่สำคัญของแม่บ้านคือการเตรียมสำรับอาหาร ให้เพียงพอต่อการเข้าไปลาดตระเวน ในป่า และเมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เช่นการปลูกป่า แม่บ้านก็จะเป็นผู้ดูแลอาหารการกิน ต้อนรับคณะ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และอีกส่วนหนึ่งยังร่วมกันปลูกป่า ร่วมกับคณะต่างๆ ด้วย
- ครู เป็นบุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งซึ่งได้ทำหน้าที่ในการ ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนในการรักษาป่า มีการบรรจุ วิชาคนอยู่ – ป่ายัง เข้าไปในรายวิชาเรียน ให้กับเยาวชน และยังสร้าง ไกด์เยาวชน นำนักท่องเที่ยวชมป่ารอบๆ บริเวณหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ประทับใจของผู้มาเยือน
- กลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองเรือ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2543 มีสมาชิกแรกเริ่ม 30 คน มีเงินสะสม 1,720 บาท และเปิดรับสมาชิกมาตลอด ปัจจุบันมี 111 คน ยอดเงินสะสม รวม 405,340 บาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของชุมชน จนในชุมชนไม่มีหนี้สินนอกระบบ ตั้งธนาคารต้นไม้สาขาแรกของโลก เมื่อวันพืชมงคลปี 2550 (วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2550) โดยอุดมการณ์ธนาคารต้นไม้ คือ องค์กรภาคประชาชน รวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ ให้หลากหลายในพื้นที่เกษตรที่เป็นที่ดินทำกินของตนเอง แล้วจัดทำทะเบียนข้อมูลต้นไม้ประเภทไม้ป่าที่ใช้เนื้อไม้ได้ กับธนาคารต้นไม้สาขา ตลอดจนการประเมินมูลค่าต้นไม้ในขณะที่มีชีวิตให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์ ด้วยกระบวนการใช้พลังกลุ่ม เรียกร้อง ผลักดันให้รัฐรับรอง แล้วนำมูลค่าต้นไม้ไปใช้กับรัฐและธนาคารของรัฐ ธนาคารต้นไม้สาขาแรกคลองเรือ เป็นสาขาที่มีสมาชิกทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน ณ ปี พ.ศ. 2554 ต้นไม้ที่ปลูกจนเติบโตนับได้แล้วจำนวน 4,036 ตัน มูลค่า 1,759,533.621 บาทมูลค่าการเก็บกักคาร์บอน 146,278.96 กิโลกรัม ธนาคารต้นไม้สาขาคลองเรือ ได้ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จัดทำการสำรวจเป็นพื้นที่ศึกษาโครงการ REDD+ กรณีพื้นที่เกษตร 4 ชั้นที่มีธนาคารต้นไม้ผลปรากฏว่าทั้งชนิด ปริมาณ ความหนาแน่น ฯลฯ ของต้นไม้ พรรณไม้ สูงกว่าป่าชุมชนพื้นที่อื่น 4 กรณีทั่วประเทศที่ศึกษาคือ ความหนาแน่นในแปลง 20 x 50 เมตร พบต้นไม้จำนวน 34 ชนิด เป็นพรรณไม้ป่า 18 ชนิด พืชเกษตร 16 ชนิด พืชอื่นๆ 73 ชนิดการปกคลุมเรือนยอดร้อยละ 94 ความหนาแน่น 380 ต้น/ไร่ ปริมาณคาร์บอน 6,325 กก/ไร่
กลุ่มหรือองค์กรภายนอกชุมชน
กลุ่มหรือองค์กรภายนอกชุมชนที่เข้าร่วมสนับสนุนในชุมชน ในลำดับต้น ๆ คือ
- หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นนํ้าพะโต๊ะ สร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่า เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชน จัดการทำขอบเขตที่ดินทำกินให้ ทั้งนี้ยังให้ความรู้ในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยจัดการฝึกอบรมหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติตาม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชนคนอยู่กับป่า โดยนำชาวบ้าน บ้านคลองเรือและที่อื่นเข้าฝึก อบรม เรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์นํ้า การทำเตาเผาถ่านที่สามารถสกัดเอานํ้าส้มควันมา ทำสารไล่แมลง การทำนํ้ายาเอนกประสงค์ และเรียนรู้เรื่องธนาคารต้นไม้
- องค์การบริหารตำบลปากทรง ให้การสนับสนุนงบ ประมาณการท่องเที่ยว และอาชีพ
- อำเภอพะโต๊ะ ช่วยส่งเสริมด้านการจัดทำทำป้ายนิทรรศการ ธนาคารต้นไม้ และการท่องเที่ยว กลุ่มนักท่องเที่ยว/คนมาดูงาน ให้กำลังใจ สร้างรายได้ให้ชุมชน แลกเปลี่ยนข้อมูลและวิสัยทัศน์
- กลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ จุดประกายความคิดเรื่องการท่อง เที่ยวเชิงนิเวศ ให้ความช่วยเหลือในการดูแลจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว
- สื่อ ต่างๆ ที่เข้ามาทำรายการเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ให้คนภายนอกได้รับรู้
- การท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร มีบทบาทในการช่วยดูแลประสานงานเรื่องการท่องเที่ยว และ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามามีช่วยส่งเสริมการจัดการท่องโดยชุมชน
- บริษัท ปตท. ช่วยส่งเสริมสนับสนุนโครงการ รักษ์ป่าสร้างคน 84 ตำบลสู่วิถีพอเพียง
- สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจบนความหลากทางชีวภาพ ส่งเสริมสนับสนุนการสำรวจทรัพยากรและจัดงบประมาณสนับสนุนโครงการ เช่น ปลูกผักป่าอายุยืน โครงการเพาะขยายพันธุ์ปลา
- องค์กร UNDP ส่งเสริมการปลูกผักป่าอายุยืน
บ้านคลองเรือเป็นต้นแบบของวิถีชีวิตอิสระ ซึ่งบ้านคลองเรือมีจุดเด่นที่มองได้ 3 มิติ ดังนี้
- มิติแรกคือ "คน" ชุมชนมีความหลากหลายจากผู้คนที่อพยพมาจากถิ่นต่างๆ ทุกภาค แต่มีสำนึกร่วมกัน พร้อมที่จะลองผิดลองถูกจนค้นพบแนวทางที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสามัคคีแบ่งปันอย่างยุติธรรม แทนการแข่งกันหรือแย่งกัน
- มิติที่สอง "เศรษฐกิจชุมชน" การทำเกษตรแบบสวนสมรม ทำให้ไม่ต้องใช้ปุยเคมี มีของกิน ของขาย แบ่งปันให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ และยังลดพื้นที่ทำกินเหลือครัวเรือนละ 25 ไร่ด้วยเกษตร 4 ชั้น มีน้ำมีไฟใช้เพราะรักษาป่า
- มิติที่สาม "ธรรมชาติ" ชาวบ้านมีความรักธรรมชาติ และมีความงามของวิถีชีวิตที่อยู่กับป่า จึงมุ่งเก็บป่าไว้ให้ลูกหลาน ลดการใช้สารเคมีเพราะไม่ต้องการทำลายแหล่งน้ำ
ทั้งสามมิตินี้ทำให้ชาวบ้านมีจิตใจที่เป็นอิสระ และมีความสามารถในการควบคุมการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ดี โดยภาครัฐต้องกังวลกับสิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้แล้วความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านคลองเรืออาศัยอยู่กับเปรียบเสมือนพี่น้อง เป็นสังคมที่สงบและมีความอบอุ่น มีการพึ่งพาอาศัยกัน การสร้างบ้านเรือนหลายบ้านไม่มีประตู สามารถเข้าออกโดยไม่ต้องกลัวขโมยจะมาขึ้นบ้าน หรือกลัวใครจะมาทำร้าย ยังมีวัฒนธรรมการลงแขกกันทำไร่ทำสวนเช่นคนสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากมาก ประเพณีการบวชการแต่งก็เป็นการผสมผสานประเพณีทั้ง 4 ภาครวมกัน ยกตัวอย่างเช่น พิธีการแต่งงาน ก็มีการรดนํ้าสังข์บวกกับการผูกข้อไม้ข้อมือ แบบประเพณีทางภาคอีสานรวมอยู่ด้วย
ปัจจุบันมีปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถคอยให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว หรือ ผู้ที่เดินทางเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรฯ โดยมีดังนี้
1. มนัส คล้ายรุ่ง อดีตผู้ใหญ่บ้านคลองเรือ เป็นผุ้นำชุมชน และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชุมชน กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่สร้างกฏในการอนุรักษ์ป่าชุมชน ทำให้ป่าที่อยู่บริเวณพื้นที่บ้านคลองเรือยังคงมีสภาพสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน โดยยึดหลักการที่มีอยู่ว่า "เราอยู่ร่วมกับป่าได้ วันนี้เราเฉลี่ยพื้นที่หมื่นกว่าไร่ ที่เป็นพื้นที่ป่าไม้ และใช้พื้นที่ทำกินเพียงแค่ 1,500 ไร่เท่านั้น เพื่อให้ป่ามันคงอยู่ต่อไปได้"
2. นายวน วงศรีนาค และนายวินัย สุธาพจน เชี่ยวชาญเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรซึ่งมีตัวอย่างพืชสมุนไพร ได้แก่ ไผ่ เลื้อย ใช้ทุกส่วนของต้น ตากให้แห้ง 1 กำมือ ต้ม ดื่มเป็นนํ้าชา มีกลิ่นหอมของไม้สีเหลืองอ่อนๆ แก้ โรคเบาหวาน บำรุงเลือด ว่านเพชรหึง/ว่านหางช้าง นำลำต้นที่เหลือใบ 2-3 ใบหรือหมดใบ ล้างให้สะอาด หั่นบางๆ ตากให้แห้ง ต้มนํ้าร้อน ประมาณ 1 กำมือ ดื่มเป็นนํ้าชา ว่านขรู่ เก็บใบ ตากให้แห้ง ต้ม ดื่มเป็นนํ้าชา แก้โรคริดสีดวงทวาร ว่านค้างคาวดำ นำส่วนประกอบทั้ง 5 (ราก ต้น ใบ ดอก ผล) หั่น ตากแดด ต้ม ดื่ม แก้โรคกระเพาะอาหาร โรคภูมิแพ้ หอบหืด กำลัง เสือโคร่ง ใช้ส่วนเถา หั่น ตากให้แห้ง ผสมกับว่านดีงูเห่า ต้ม ดื่ม แก้ปวดเมื่อย ว่านนกขุ้ม/ว่าน นกคุ้ม ใช้ส่วนประกอบทั้ง 5 หั่นตากให้แห้ง ผสมกับว่านดีงูเห่า แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหลังปวด เอว โสมหวาย นำส่วนที่เป็นหัวหรือเหง้า หั่นตากให้แห้ง ต้มดื่มแทนนํ้าชา แก้ท้องอืด และกีบแรด นำส่วนหัวหรือเหง้า หั่น ตากแดด ต้มหรือดองเหล้า แก้ปวดหลัง ปวดเอว
3. นายวินัย สุธาพจน เชี่ยวชาญเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพร
4. นายชัยรัตน์ แว่นแก้ว เชี่ยวชาญเรื่อง ภูมิปัญญาการเพาะขยายพันธุ์ไม้ป่า และผักป่าอายุยืน ได้แก่ ผักติ้ว ผักกูด ผักเหลียง ผักพูม ผักหวาน ผักกุ่ม ลูกฉิ่ง เล็บรอก ส้มป่อย ชะมวง ใบ แป้น ทำมัง เพกา กำจัด ทองหลาง ใบยอ ฯลฯ ปลูกผักป่าภายในสวนเกษตรของตนเอง เพาะ ขยายพันธุ์โดยการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด แล้วแต่ความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด มี การทดลองขยายพันธุ์แบบลองผิดลองถูก และศึกษาการเพาะขยายพันธุ์ โดยอาศัยหลัก ธรรมชาติของพืชชนิดนั้นๆ เพื่อนำมาบริโภคและเพื่อเป็นสินค้าของชุมชน อีกทั้งยังเป็นการ อนุรักษ์และฟื้นฟูผักป่าในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและคงอยู่คู่กับชุมชนตลอดไป ตัวอย่างภูมิปัญญา ได้แก่ พืชที่สามารถตอนกิ่งได้ ได้แก่ ผักเหลียง มันปู ลูกฉิ่ง ผักภูม ผักกุ่ม ส้มป่อย ชะมวง ใบ แป้น ใบยอ ชะอม ทองหลาง เล็บรอก เป็นต้น มีวิธีการดังนี้
- คัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่ไม่แก่หรืออ่อน มี ลักษณะเป็นสีนํ้าตาลอ่อน ใช้มีเล็กปลายแหลมที่มีความคม ควั่นเปลือก ยาวประมาณ 1 นิ้ว – 1 นิ้วครึ่ง ทิ้งไว้ให้ยางหรือเนื้อเยื่อแห้ง หรือขูดเนื้อเยื่อออก ใช้ขุยมะพร้าวที่เก่าจนเป็นสีดำใส่ถุง พลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ก่อนนำไปมัด กรีดถุงตามยาวถุง มัดกับกิ่งพันธุ์ สังเกตเมื่อมีราก ต้องให้รากเป็นสีนํ้าตาล จึงสามารถตัดกิ่งพันธุ์ไปชำใส่ถุง หรือนำไปปลูกได้ ถ้าต้องการเร่งราก ให้งอกเร็ว ใช้กะปิทาที่รอยควั่น จะทำให้รากงอกเร็วขึ้น พืชที่สามารถนำไหล (ต้นที่งอกมาจากรากของต้นแม่) มาขยายพันธุ์ ได้แก่ ผักเหลียง ผัก กุ่ม ฯลฯ วิธีการ คือ เลือกต้นพันธุ์ที่ที่งอกโผล่มาจากรากที่มีความแข็งแรง ใช้อุปกรณ์ในการขุด งัดรากขึ้นมา ใช้มีดที่มีความคมตัด นำต้นพันธุ์ไปปลูกหรือชำใส่ถุงไว้ก่อน พืชที่เพาะเมล็ด หรือ ถอนลูกที่งอกจากต้นแม่ เช่น ผักหวานป่า ผักภูมิ ลูกฉิ่ง ชะมวง ทำมัง เพกา กำจัด ใบยอ ฯลฯ พืชที่ใช้วิธีการแยกหน่อ เช่น ผักกูด ผักหนาม ทางคูน ฯลฯ
ทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านคลองเรือ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำหลังสวน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 3,000 -3,500 มิลลิเมตรต่อปี ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทรายเขาพ่อตาโชงโดง ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด และพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไม้ ประเภทป่าดิบชื่นที่มีความอุดมสมบูรณ์มากพันธุ์ไม้เดิม ทำให้ชุมชนนั้นมีทรัพยากรทางด้านธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีคุณค่า หรือ มีมูลค่าที่สูง สามารถที่จะให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพืชพรรณไม้มาศึกษาได้ เช่น ต้นพญาไม้ พะยอม ตะเคียนทอง ยางนา ไข่เขียว ยางเสียน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม 2 แห่ง คือ น้ำตกเหวตาจันทร์ และน้ำตกเหวพลูหนัง พื้นที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ควนแม่ยายหม่อน เนื้อที่ 8,889 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 70.77 และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวานและป่าปากทรง เนื้อที่ 3,371 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.23 ซึ่งชุมชนได้กันพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นแปลงป่าชุมชน 1 แปลง เนื้อที่ 500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีลำห้วย ซึ่งประกอบด้วยลำห้วย 3 ลำห้วย ได้แก่ ห้วยเหวตาจันทร์ ห้วยตาโชค และห้วยช้างสี
การทำเกษตร 4 ชั้น
องค์ความรู้เรื่องเกษตร 4 ชั้น จากประสบการณ์ที่ล้มเหลวจากการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ที่ชาวคลองเรือได้ประสบมาด้วยตัวเอง และยังเป็นหนี้จนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายคนในชุมชน เห็นทางออกในการแก้ปัญหาราคาผลผลิต เป็นการปลูกแบบผสมผสาน และทำการเกษตรที่มีการพึ่งตนเองกันมากขึ้น โดยการทำการเกษตรอินทรีย์ปลูกพืชแบบเลียนแบบธรรมชาติ ส่วนหนึ่งได้จากการเห็นพืชระดับต่างๆในป่า และได้พึ่งพิงอาหารจากป่าจึงมีแนวคิดว่า "ทำสวนให้ เป็นป่า" หรืออีกนัยหนึ่งว่านำป่ามาไว้ที่บ้าน จะได้ไม่ต้องเดินเข้าป่าเรียกว่า "เกษตร 4 ชั้น" ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
- ชั้นที่ 1 คัดเลือกและปลูกเสริมด้วยพันธุ์ไม้ (พืชเศรษฐกิจ) ที่จัด อยู่ชั้นสูงสุด คือชั้นบน ตามลักษณะการเติบโต ด้านความสูงเร็ว เช่น สะตอ หมาก ทุเรียนบ้าน ไม้ใช้สอยประเภท สะเดา ตะเคียนทอง
- ชั้นที่ 2 คัดเลือกและปลูกพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ ที่จัดอยู่ใน ความสูงชั้นกลาง เช่นมังคุด ลองกอง
- ชั้นที่ 3 คัดเลือกพันธุ์ไม้เศรษฐกิจที่อยู่ในระดับล่าง เช่น จำพวกฤดูเดียวหรือหลายฤดู เช่น พริก มะเขือ ผักเหลียง ผักป่า ผักกินใบ เป็นต้น
- ชั้นที่ 4 คัดเลือกและปลูกพันธุ์พืชที่มีหัวชั้นใต้ดิน เช่น ข่า ขมิ้น กลอย เพื่อเปลี่ยนวัชพืชให้เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้
ประโยชน์ที่ได้จากการจัดพื้นที่ให้เป็นเกษตร 4 ชั้น คือ เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดมีรายได้ตลอดปีลดปัญหาการกำจัดวัชพืช เกิดความพอเพียงในด้านเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่การเกษตร เปลี่ยนไปสู่ความเป็นป่าธรรมชาติ สร้างเสริมภูมิปัญญา ชาวบ้านในการประยุกต์ใช้วิถีธรรมชาติ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การปลูก มีอาหาร กินตลอดทั้งปี เกิดความผูกพันระหว่างที่ทำกินอย่างแนบแน่น และเป็นการทำการเกษตรอย่างมีจิตวิญญาณแห่งวิถีการเกษตรสามารถลดการใช้สารเคมีสร้างแบบอย่างและเสมือนเป็นสื่อนำให้เกษตรกรปรับปรุงพื้นที่การเกษตรให้สู่สภาวะใกล้เคียงกับธรรมชาติ เป็นการปรับปรุงระบบนิเวศให้มีคุณภาพและเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมคุณค่าของด้านการพึ่งพาและภูมิคุ้มกันตนเองของเกษตร 4 ชั้น เป็นมิติที่สะท้อนภาพของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างชัดเจน
บ้านคลองเรือ เป็นหนึ่งในชุมชนที่พัฒนามาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่ให้จัดการแบ่งพื้นที่ทำกินออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ด้วยการหนุนเสริมของหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของผู้คนจากต่างถิ่นต่างแดน 17 จังหวัดทุกภาค สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า "คนอยู่-ป่ายัง" เป็นสิ่งที่ทำได้จริงการอนุรักษ์ป่ากว่า 9,000 ไร่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเดินคู่กันได้ ด้วยการที่ชุมชนสามารถควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ด้วยตนเอง บริหารจัดการน้ำจนมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก มีโรงน้ำดื่มชุมชนปรับตัวจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็น "เกษตร 4 ชั้น" จากการไปเรียนรู้ภายนอก กลับมาประยุกต์เกษตร 4 ชั้น แนวนอนให้เป็นเกษตรแนวดิ่งสอดคล้องกับที่ดินที่มีจำกัด ครบครันทั้งพืชอาหาร ไม้ใช้สอย และสร้างรายได้ระดับครัวเรือนปีละ 200,000-500,000 บาท กลายเป็นหมู่บ้านสวนสมรมที่สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า และการสร้างเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นฐานหลักความพอเพียง
โดยกว่าที่ชุมชนบ้านคลองเรือจะค้นพบจุดยืนการทำงานที่ส่งผลให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่รอด ป่ากับเศรษฐกิจชุมชนต้องเดินไปด้วยกัน ก็ใช้เวลาหลายปีในการลองผิดลองถูกความสำเร็จเหล่านี้ ไม่อาจข้ามชื่อ "พงศา ชูแนม" อดีตหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ผู้จุดพลุการทำงาน "คนอยู่-ป่ายัง" และประคับประคองบ้านคลองเรือในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการพาไปหาความรู้จากภายนอก อาทิ ความรู้เรื่องเกษตร 4 ชั้น จากปราชญ์ชาวบ้าน ("เกษตรธาตุสี่" ป๊ะหรน-นายหรน หมัดหลี ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา) เป็นการจัดพืชหลากหลายชนิดในสวนสมรม (สวนผลไม้แบบผสมผสานที่คนปักษ์ใต้) ที่เกิดความสมดุลของแร่ธาตุในดินตามแนวนอน และกลับมาทดลอง ค้นคว้าเพิ่มโดยจัดระบบพืชคละตามแนวดิ่ง นับเป็นการต่อยอดความรู้ที่ได้มาก เพราะที่ดินในบ้านคลองเรือมีจำกัด ต้องปลูกพืชตามแนวดิ่ง คละพืชตามความสูงและการรับแสงแดด รับฝนรวมทั้งเลือกปลูกกาแฟเป็นพืชชั้นล่าง โดยความรู้เหล่านี้เสมือนต้นไม้ที่เติบโตขึ้นจากการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนอย่างสม่ำเสมอในชุมชน จนแม้เมื่อหน่วยงานรัฐเปลี่ยนคน เปลี่ยนภารกิจ แต่ความรู้ก็พาคนบ้านคลองเรือผ่านวิกฤติต่างๆ สามารถยืนหยัดด้วยลำแข้งตนเองมาจนทุกวันนี้
ถึงอย่างไรก็ตาม ชุมชนบ้านคลองเรือเริ่มต้นจากการที่สมาชิกภายในชุมชนมีต้นทุนทางชีวิตที่ติดลบ หรือ มีปัญหาแทบจะทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้กลับเป็นประกายไฟแห่งความมุมานะ ทำให้เกิดความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ จนทำให้สามารถที่จะก้าวข้ามอดีตมาได้ โดยอาศัยการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกและข้อผิดพลาดต่าง ๆ ซึ่งบทเรียนของชุมชนบ้านคลองเรือ มีดังนี้
- บทเรียนชีวิตจากการมีหนี้สิน ทำให้รู้จักพอ รู้จักปรับตัว สามารถอยู่รอดได้ในที่ดินทำกินที่จำกัดแสวงหาความรู้และนำมาลองผิดลองถูก จนพบทางที่เหมาะกับตัวเอง (เกษตร 4 ชั้น)
- แม้จะมาจากต่างถิ่นฐาน แต่สามารถรวมกันได้เพราะเคารพกฎกติกาที่ตั้งไว้ เรียนรู้การพึ่งตนเองเมื่อหน่วยงานที่เคยหนุนเสริม เปลี่ยนคนเปลี่ยนภารกิจจนสามารถยืนด้วยตัวเองได้
- มีการเรียนรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนอยู่-ป่ายัง เช่น การจัดการน้ำ (ใช้ประโยชน์เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยว) การจัดการความมั่นคงด้านอาหาร การจัดการเพื่อตอบแทนคุณป่าการจัดการต้นไม้เพื่อการดูดซับคาร์บอน ธนาคารต้นไม้เป็นต้น การจัดการเหล่านี้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Conservation and Development) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาเดินไปด้วยกันได้ โดยการที่ชุมชน (ประชาชน) สามารถควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเองได้
โครงการคนอยู่-ป่ายัง บ้านคลองเรือ
โครงการคนอยู่-ป่ายัง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการป่าต้นน้ำของบ้านคลองเรืออย่างจริงจังและนับเป็นที่มาของการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชุมชนดำเนินการโดยชุมชนเอง หรือชุมชนมีส่วนร่วม จนกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในปัจจุบัน
การบุกรุกป่าไม้ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำซึ่งเกิดขึ้นมากที่สุดในระหว่างปี พ.ศ. 2528-2531 ขณะเดียวกันการป้องกันและปราบปรามของเจ้าหน้าที่ก็ทำได้อย่างยากลำบากเนื่องจากการสัญจรไปมาต้องใช้ม้า หรือการเดินเท้า การดูแลของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปในรูปแบบของการตรวจปรามจับกุมผู้กระทำผิด บางครั้งปล่อยปละละเลย หน่วยจัดการตันน้ำพะโต๊ะ กรมป่าไม้ (ปัจจุบัน คือ หน่วยอนุรักษ์และจัดการตันน้ำพะโต๊ะ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) เห็นว่า หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดำเนินการใด ๆ ป่าคลองเรือคงหมดในที่สุด
นอกจากนี้ยังเห็นว่าการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดทำและตัดสินใจ ตลอดจนการสร้างสัมพันธ์อันดี มีความเอื้ออาทร ความรัก ความเข้าใจ และความผูกพันด้านจิตใจระหว่างชุมชนต่อชุมชน และชุมชนต่อเจ้าหน้าที่ จะทำให้การดูแลรักษาป่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้นในปี พ.ศ. 2536 หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จึงได้จัดให้มีโครงการ "คนอยู่-ป่ายัง" ซึ่งชาวชุมชนคลองเรือเต็มใจให้ความร่วมมือกับโครงการอย่างเต็มที่ โดยกล่าวว่า "การอพยพมาที่นี่ หากต้องโยกย้ายหนีอีกก็จะไม่มีที่ไปแล้ว " ดังนั้นทุกคนจึงคิดว่า "ขอรับผิดชอบป่า"
โครงการ คนอยู่-ป่ายัง เป็นโครงการจัดชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารดำเนินการในลักษณะวนศาสตร์ชุมชน อันเป็นแนวพระราชดำริ ในองค์พระบรมราชินีนาถ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนต้องการสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจแก่ชุมชนภายใต้กรอบการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม มีการจัดการการใช้ประโยชน์และปกป้องรักษาทรัพยากร โดยผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โครงการฯ มีวัตถุประสงค์
โครงการคนอยู่-ป่ายัง ได้ดำเนินการใน 8 หมู่บ้านของอำเภอพะโต๊ะ ที่บ้านคลองเรือนั้น ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2536 โดยมีการเลือกตั้งผู้แทนชุมชนมาเป็นคณะกรรมการโครงการ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 และเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2537 การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งภายในชุมชนกันเอง โดยมีการเสนอชื่อจากแต่ละซอยหรือกลุ่มบ้านย่อยในชุมชน ปัจจุบัน นายมนัส คล้ายรุ่ง ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการ และมีคณะกรรมการร่วมจำนวน 14 คน บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ ได้แก่ การยกร่าง / เสนอแผนงานการจัดการชุมชน กฎกติกาชุมชนแก้ไขเพิ่มเติมกติกาชุมชน และบังคับใช้ กติกาชุมชนเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ กติกาชุมชนเปรียบเสมือนกฎหมายหมู่บ้าน โดยมีเวทีชาวบ้านเป็นสถานที่ประชุมและดำเนินการ นอกจากนั้นคณะกรรมการโครงการยังทำหน้าที่เป็นกรรมการป่าชุมชนอีกด้วย
สำหรับกติกาชุมชน ที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่นั้น คณะกรรมการโครงการได้เห็นพ้องต้องกันและได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำพะต๊ะเพื่อให้ข้อกติกาต่างๆ เป็นไปตามหลักวิชาการในการจัดการลุ่มน้ำและไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้กติกาชุมชนที่ได้ร่วมกันร่างขึ้นนี้ ได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวบ้าน และเป็นผลดีต่อการรักษาป่าต้นน้ำลำธารและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางและอุดมการณ์ของโครงการคนอยู่-ป่ายัง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า "คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และ ชุมชนสามารถจัดการชุมนและทรัพยากรได้ด้วยชุมชน"
ความก้าวหน้าหลังจากได้รับรางวัล ในปี พ.ศ. 2555
- ด้านระบบนิเวศ ป่า 9,117 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ พบรอยสัตว์ป่าเพิ่ม เช่น กระทิง สมเสร็จ หมูป่า ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดปี และในหน้าฝนสามารถใช้พลังน้ำจากฝ่ายเข้าสู่โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน
- ด้านการบริหารจัดการ ซ่อมแซมฝายจำนวน 70 ฝ่าย อย่างสม่ำเสมอ ทำเกษตร 4 ชั้น ใช้การตัดหญ้าแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า ทำปุ้ยหมักใช้และจัดตั้งกลุ่มกาแฟอินทรีย์บ้านคลองเรือ เพื่อดูแลการจำหน่ายผลผลิตกาแฟของชุมชน
- ด้านสังคม ชุมชน วัฒนธรรม มีกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองเรือ โรงเรียนต้นน้ำบ้านคลองเรือ เป็นห้องเรียนพิเศษในโรงเรียน บ้านปากทรง สอนเด็ก ๆ เรื่องชีวิตบ้านคลองเรือ
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า-ประเทศไทย. (ม.ป.ป). ชุมชนบ้านคลองเรือ หมู่ที่ 9 ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2562). ชุมชนบ้านคลองเรืองานอนุรักษ์เดินคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ เขต 4 (สุราษฎร์ธานี). (2563). การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมภายใต้โครงการ "คนอยู่ป่ายัง". ม.ป.ท. ม.ป.พ..
องค์การบริหารส่วนตำบลปากทรง. (2566). ข้อมูลพื้นฐานของ อบต.ปากทรง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566. จาก: https://www.paksong.go.th/