Advance search

ชุมชนมีความโดดเด่นในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ระดับประเทศ การเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ไร่นาสวนผสมที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับชุมชนวิถีเกษตร นอกจากนี้ยังมีความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของภูผาหมอก และมีกิจกรรมพายเรือคายัคล่องไปตามลำคลอง ทั้งนี้ยังมีวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้าน คือ มโนราห์ และหนังตะลุง

หมู่ 8
บ้านลำขนุน
นาชุมเห็ด
ย่านตาขาว
ตรัง
เขมชาติ ชนะไพร
1 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
16 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บ้านลำขนุน

พื้นที่ในชุมชนมีต้นขนุนปานต้นใหญ่ และอยู่ริมลำคลอง ชาวบ้านจึงเรียก "คลองลำขนุน" และใช้เป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนมีความโดดเด่นในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ระดับประเทศ การเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ไร่นาสวนผสมที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับชุมชนวิถีเกษตร นอกจากนี้ยังมีความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของภูผาหมอก และมีกิจกรรมพายเรือคายัคล่องไปตามลำคลอง ทั้งนี้ยังมีวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้าน คือ มโนราห์ และหนังตะลุง

บ้านลำขนุน
หมู่ 8
นาชุมเห็ด
ย่านตาขาว
ตรัง
92140
7.470185908613342
99.80943949012189
เทศบาลตำบลนาชุมเห็ด

ประวัติศาสตร์แรกเริ่มเดิมที ตำบลนาชุมเห็ด ขึ้นตรงต่อกับอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และต่อมาในปี พ.ศ. 2499 ได้แยกตัวมาเป็นอำเภอย่านตาขาว จากข้อมูลที่ผู้เฒ่าภายในชุมชนได้บอกเล่าต่อกันมาว่า ตำบลนาชุมเห็ดเดิมนั้น มีชุมชนอยู่ 4 แห่ง แต่ละแห่งนั้นส่วนมากจะเป็นเครือญาติกัน โดยได้อพยพมาจากพื้นที่อื่น มาสร้างถิ่นฐานหักร้างถางป่าเพื่อทำไร่ ทำสวน โดยกลุ่มผู้ที่ย้ายเข้ามาแรก ๆ นั้น กระจายกันอยู่ตามหมู่บ้าน ดังนี้

  1. หมู่บ้านหนองชุมแสง (หมู่ที่ 3 ปัจจุบัน) โดยมาจากอำเภอเมืองตรัง ชุมชนที่มีนามสกุลเก่า คือ โออินทร์ โพชสาลี มาจากตำบลโคกสะบ้า และนามสกุล สุทธิคณะ มาจากตำบลทับเที่ยง
  2. หมู่บ้านหนองเป็ด (หมู่ที่ 5, 6 ปัจจุบัน) จากหลักฐานที่บอกเล่าต่อกันมา คือ เป็นคนดั้งเดิมมีนามสกุล ทองขวิด ชูเนตร พรหมมี พระแก้ว และเทพสุวรรณ
  3. หมู่บ้านควนหิน (หมู่ที่ 2 ปัจจุบัน) จากหลักฐานบอกว่ามาจากตำบลละมอ อำเภอนาโยง และบางส่วนมาจากจังหวัดพัทลุง
  4. หมู่บ้านลำโท่ หรือบ้านลำพิกุล (หมู่ที่ 4 ปัจจุบัน) นามสกุลดั้งเดิมที่มีข้อมูล คือ บุญสิทธิ์ ช่วยเรือง เทพสุวรรณ และพรหมมี นามสกุลดังกล่าวย้ายถิ่นฐานมาจาก ตำบลเกาะเปียะ บ้านหนองเป็ด

ตามหลักฐานของชุมชนทั้ง 4 นี้ในข้างต้นนี้ เมื่อนำมาวิเคราะห์กับนิสัยของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งอยู่ที่ไหนต้องหาแหล่งยึดเหนี่ยวทางใจนั่น คือ วัด หรือ สำนักสงฆ์ ส่วนหนึ่งโรงเรียนจะตั้งอยู่ในตัวเมือง ส่วนชุมชนที่ไม่ได้อยู่ภายในตัวเมืองนั้นการศึกษาต้องเรียนผ่านวัดเท่านั้น ซึ่งทั้ง 4 ชุมชนดังกล่าวมีวัดอยู่ทุกแห่ง โดยแต่ละแห่งนั้นอายุของวัดไม่ต่ำกว่า 100 ปี จะเห็นได้ว่าตำบลนาชุมเห็ด เดิมทีมีอยู่ 4 ชุมชน ในสมัยก่อน 100 ปีที่ผ่านมา ชุมชนที่ 1 และ 2 จะมาอยู่ก่อนชุมชนที่ 3 และ4 เมื่อเวลาผ่านไปได้มีการไปมาหาสู่กัน จนทำให้มีการขยายตัวของชุมชนขึ้น เกิดชุมชนใหม่ คือ บ้านไทรงาม บ้านมาบเมา และบ้านทอนพลา ซึ่งตำบลนาชุมเห็ดขณะนั้น มีสมาชิกหมู่บ้านทั้งหมดรวมแล้ว 7 หมู่บ้าน จากการรวบรวมหลักฐานหรือเอกสารในการยืนยันตัวบุคคลพบว่า “ทุกคนไม่มีถิ่นฐานอยู่ในตำบลนาชุมเห็ดแม้แต่คนเดียว” ซึ่งส่วนมากมาจากจังหวัดพัทลุง และมาจากชุมชนต่าง ๆ ของอำเภอเมือง จังหวัดตรัง

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2528 ตำบลนาชุมเห็ด ได้แยกหมู่บ้านเพิ่มเติมอีก 1 หมู่บ้าน คือ บ้านลำขนุน เป็นหมู่ที่ 8 แยกจากหมู่ที่ 4 และในปี พ.ศ. 2538 ได้แยกเพิ่มอีก 1 หมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 9 คือ บ้านโคกโดน โดยแยกจากหมู่ที่ 3 ซึ่งชุมชนบ้านลำขนุน หมู่ที่ 8 เป็นชุมชนวิถีเกษตรริมป่าต้นน้ำ และริมเทือกเขาบรรทัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ทั้งป่าไม้และสายน้ำ โดยชื่อของหมู่บ้านนั้นมีที่มาจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ชุมชน ซึ่งในชุมชนนั้นมีต้นขนุนปานต้นใหญ่ จำนวนมากและขึ้นอยู่ริมลำคลอง ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า "คลองลำขนุน" และใช้เป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านลำขนุน ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง โดยอยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนตำบลนาชุมเห็ด ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลนาชุมเห็ด ทั้งตำบล ชุมชนบ้านลำขนุน สามารถเข้าถึงได้จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากตัวอำเภอเมืองตรัง ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร และเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4264 ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโคกสะบ้า, ตำบลกะช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหนองบ่อ, ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทือกเขาบรรทัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเกาะเปียะ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

จากข้อมูลเดือน มีนาคม พ.ศ. 2560 ตำบลนาชุมเห็ด มีประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ทั้งหมด 2,442 ครัวเรือน ประชากร ทั้งหมด 8,448 คน แยกเป็นชาย 4,218 คน หญิง 4,230 คน ประชากรในชุมชนบ้านลำขนุน ส่วนมากแล้วเป็นเครือญาติจาก บ้านลำโท่ หรือ บ้านลำพิกุล (หมู่ที่ 4 ปัจจุบัน) โดยนามสกุลดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา ได้แก่ มามี, บุญสิทธิ์, ช่วยเรือง, เทพสุวรรณ, และพรหมมี ซึ่งนามสกุลดังกล่าวย้ายถิ่นฐานมาจาก ตำบลเกาะเปียะ บ้านหนองเป็ด และนามสกุลอื่น ๆ เพิ่มเติม

หน่วยงานภาครัฐ

กรมการเที่ยว, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), กรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงหน่วยรัฐและเอกชน อื่น ๆ 

ชุมชนลำขนุน กล่าวได้ว่าเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความเด่นชัดทางด้านเอกลักษณ์ วัฒนธรรม รวมไปถึงวิถีชีวิตที่โดดเด่น จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ได้มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรม หรือ การให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมต่อกิจกรรมซึ่งเป็นทุนของชุมชน ทั้งนี้ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านสร้างอาชีพจากทรัพยากรวัฒนธรรมที่มีอยู่ภายในชุมชน ส่งผลให้ปัจจุบันชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถที่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านได้ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ ให้สืบทอดการแสดงพื้นถิ่นอย่างหนังตะลุง หรือ การแสดงพื้นเมืองของภาคใต้อย่างมโนราห์ ให้ยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์เพื่อรองรับนั่งท่องเที่ยวที่จะมาเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ปัจจุบันยังมีกลุ่มคนทั่วไปที่ชื่นชอบการเที่ยวทางด้านวิถีชีวิต และวัฒนธรรม เข้ามาภายในชุมชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเผยแพร่ในช่องทางสื่อต่าง ๆ ในโซเชียลมิเดีย จึงทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก

กลุ่มอาชีพภายในชุมชน

  • กลุ่มอาชีพการละเล่นพื้นบ้าน กลุ่มโนราห์เป็นกลุ่มการแสดงพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมในภาคใต้ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักในการแสดง คือ เครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรี ทั้งนี้ที่บ้านลำขนุน ได้เปิดเป็นสถานที่เรียนรู้สำหรับให้เด็กรุ่นหลัง หรือ เยาวชนรุ่นใหม่ ได้ทำการฝึกร้อง รำ เล่น หรือ แม้กระทั่งฝึกเพื่อเป็นอาชีพสำหรับผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางกลุ่มได้ขยายให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ประกอบกับให้เยาชนรุ่นใหม่ที่อยู่ภายในกลุ่มนั้นได้ทำการนำเสนอเอกลักษณ์ของตนได้อย่างภาคภูมิใจ
  • กลุ่มอาชีพภูมิปัญญาพื้นถิ่น ภายในชุมชนนั้น มีกลุ่มอาชีพที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประกอบอาชีพค่อนข้างหลากหลาย เช่น ตะกร้าสานภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เป็นต้น ซึ่งได้มีการพัฒนาฝีมือและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันอยู่อย่างสม่ำเสมอ
  • กลุ่มอาชีพด้านการท่องเที่ยว นอกจากอาชีพที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาแล้ว อาชีพที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันของชุมชน คือ ผู้นำเที่ยว หรือ ไกด์ท้องถิ่น เนื่องจากการเข้ามาสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพของหน่วยงานรัฐ จึงทำให้ผู้คนในชุมชนส่วนหนึ่งสนใจที่จะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการนำเสนอ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาของชุนชนผ่านทางด้านการท่องเที่ยว 

ชุมชนบ้านลำขนุน ประกอบไปด้วยวิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน โดยเดิมทีชาวบ้านส่วนมากภายในชุมชนประกอบอาชีพที่ตนเองนั้นถนัด มักประกอบอาชีพเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดวิถีชีวิตจากคนรุ่นก่อน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละบ้าน เช่น บ้านที่ประกอบอาชีพทำขนมพื้นถิ่น ปัจจุบันก็ยังคงทำขนมพื้นถิ่นอยู่ บ้านที่ทำการเกษตร ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือบ้านที่ทำของเล่นพื้นถิ่นก็ยังคงที่จะสืบทอดและอนุรักษ์ไม่ให้หายไป หรือบ้านที่แสดงโนราห์อันเป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ ก็ยังคงอนุรักษ์โดยมีการสืบทอดภูมิปัญญาดังกล่าวไปให้กับรุ่นลูก หลาน ได้เห็นถึงความสำคัญ

ณ ปัจจุบัน ชุมชนบ้านลำขนุน ได้รับการสนับสนุนในด้านการทำกิจกรรมและการท่องเที่ยวจาก ททท. (การท่องเที่ยวประเทศไทย) และหน่วยงานอื่น ๆ ของภาครัฐ ซึ่งได้สร้างนำเสนอเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านลำขนุนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมอยู่สม่ำเสมอ ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ชาวบ้านภายในชุมชนกลายเป็นผู้ให้ความรู้และเปรียบเสมือนผู้สืบทอดและนำเสนอวัฒนธรรมของชุมชนตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น อาหารพื้นถิ่น การละเล่นพื้นถิ่น หรือ การแต่งกาย เป็นต้น และบางส่วนเลือกที่จะเป็นผู้ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตนเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. การทำเกษตรพอเพียง แหล่งเรียนรู้เกตรและธรรมชาติ บ้านลำขนุนมีวิถีการเกษตรที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะที่นี่มีการทำไร่นาสวนผสม การเลี้ยงไก่ เลี้ยงผึ้ง ปลูกพืชหมุนเวียนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ระดับประเทศ

2. สวนมะนาวศรีทองดำ บ้านลำขนุนพื้นที่เกษตรที่เป็นแหล่งกำเนิดมะนาวสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ “มะนาวศรีทองดำ” โดยเป็นมะนาวที่สามารถทานได้ทั้งเปลือก ซึ่งสามารถนำมะนาวมาฝานเป็นแว่น ๆ และนำมาจิ้มกับน้ำผึ้งตัดด้วยเกลือเล็กน้อย และทางหมู่บ้านได้ทำการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยการนำเอามะนาวไปแปรรูปเป็น "มะนาวแช่อิ่ม" ที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมกับทางชุมชนยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของการสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ในเรื่องภูมิปัญญาที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้คนภายนอกมารู้จักชุมชนมากยิ่งขึ้น

3. อาหารพื้นถิ่น อาหารพื้นถิ่นที่เป็นลักษณ์ประกอบด้วย แกงกะทิไก่กับหยวก, แกงเลียงผักขาไก่, หยวกผัดกะปู, หยวกผัดกะปิ, ปลาทอดขมิ้น, น้ำพริกทำมัง, ขนมโกสุย เป็นต้น

4. สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดเด่นของหมู่บ้าน โดยมี ดังนี้

  • หลาดต้นน้ำ (หลาด = ตลาด ภาษาใต้) เป็นสถานที่นิยม และเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่เมื่อมาท่องเที่ยวที่ชุมชนบ้านลำขนุนจะต้องแวะมา ซึ่งภายในประกอบไปด้วยอาหารพื้นถิ่น และของพื้นบ้านมากมาย
  • ภูผาหมอก เป็นสถานที่เต็มไปด้วยภูเขาและป่าไม้ เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกยามเช้า วิวแบบ 360 องศา รวมไปถึงสันเขาที่มองออกไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา

นอกจากนี้ชุมชนลำขนุนยังมีการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับชุมชนอื่นทั้งภายใน และนอกจังหวัด ดังนี้

  • เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว น้ำตกวังหินลาด บ้านยูงงาม หมู่ที่ 1  ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอ ย่านตาขาว จังหวัดตรัง
  • เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว บ้านนาหมื่นศรี ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

5. ศิลปะและการแสดง ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างมโนราห์ และหนังตะลุง โดยที่นี่มีกิจกรรมเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม คือ การแกะสลักรูปหนังตะลุง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิธีการทำหนังตะลุงได้อีกด้วย

ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม Village Tourism 4.0 ภายใต้โครงการ Village to the World 4.0 สร้างสรรค์กิจกรรมและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ขานรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเจริญและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชนบทให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวภายใต้โครงการพัฒนากลุ่มจังหวัด (แหล่งท่องเที่ยว) เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาและการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยภายในท้องถิ่น สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งทาง ททท. ช่วยส่งเสริมและให้ความรู้ทั้งด้านการจัดการการท่องเที่ยว และด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อเพิ่มช่องทางทางการตลาดมากขึ้น ด้วยทีมอาจารย์มากความสามารถ ช่วยกันค้นหาอัตลักษณ์ของชุมชน และปรับให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวตามคอนเซ็ปต์ของแต่ละชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเที่ยวได้ตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง

โดย นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเชิญชวนประชาชนคนไทยหันมาท่องเที่ยววิถีชุมชนเพื่อส่งเสริมรายได้เข้าตรงสู่ชุมชนดังนี้ “กิจกรรม Village Tourism 4.0 ทาง ททท. ได้จัดขึ้นเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวแหล่งชุมชนทั้ง 10 ชุมชน ต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหารการกินของชุมชน เพื่อให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ เป็นตัวเลือกให้สำหรับนักท่องเที่ยว ในชุมชนก็จะได้มีรายได้ และเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” นอกจากนี้ยังเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาลองสัมผัสบรรยากาศที่ชุมชนบ้านลำขนุน จังหวัดตรัง อีกด้วย โดยนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น การพายเรือคายัค ล่องไปตามคลองที่น้ำ 5 สายมาบรรจบกัน  รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น ผ้ามัดย้อม สมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น

ตัวอย่างโปรแกรมท่องเที่ยว "พาเที่ยวบ้านฉัน" ทริป 2 วัน 1 คืน

วันที่หนึ่ง

  • 09.00 น. ต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่ "หลาดต้นน้ำลำขนุน" ด้วยการแสดง ประจำหมู่บ้านและน้ำสมุนไพรสูตรเฉพาะนาชุมเห็ด
  • 09.30 น. สักการะรูปหล่อเหมือน "พ่อท่านเงินวาจาสิทธิ์" ณ วัดควนนิมิตศิลา
  • 10.00 น. ชมสวนเกษตรผสมผสานและร่วมทำกิจกรรมในแปลง ได้แก่ การตอนกิ่งมะนาว การหุงข้าวด้วยเตาประหยัดพลังงาน การเลี้ยงผึ้งโพรง การทำปุ้ยหมักชีวภาพ ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
  • 12.00 น. รับประทานอาหารพื้นบ้านที่เสริฟด้วยปิ่นโต ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
  • 13.00 น. เก็บสัมภาระพร้อมเปลี่ยนชุด พร้อมสำหรับเล่นน้ำตกสายรุ้ง
  • 18.00 น. รับประทานอาหารเย็นพื้นบ้านแบบชาวใต้ พร้อมชมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • 20.30 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่สอง

  • 06.00 น. ทำบุญตักบาตรร่วมกับชุมชน
  • 07.00 น. รับประทานอาหารเช้าแบบชาวตรัง ได้แก่ ขนมจีน ข้าวเหนียวหน้าสังขยา พร้อมกับโกปี้เมืองตรัง
  • 08.00 น. ล่องเรือคายัคผ่านลำคลอง 5 สาย ผ่านลำพิกุล ลำโท่ ลำขนุน ลำปีนะ และลำไทรงาม สัมผัสธรรมชาติและวิถีเกษตรริมสองฝั่งคลอง
  • 10.00 น. ชมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดย คณะมโนราห์อุ้ม และขมมโนราห์โกลนหนึ่งเดียวในตรัง พร้อมร่วมร้อยลูกปัดชุดมโนราห์
  • 11.00 น. ชมและชิมฝีมือการทำขนมพื้นบ้าน อาทิ ขนมจอก ขนมดั้งเดิม ของคนปักษ์ใต้ ณ หนำหนุนครอบครัวกระท่อมแห่งความอร่อย
  • 12.00 น. รับประทานอาหารพื้นบ้าน ณ ศาลาป่าต้นน้ำลำขนุน
  • 13.00 น. ช็อป ชิม ชม ณ หลาดตันน้ำลำขนุน สามารถเลือกซื้ออาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกก่อนเดินทางกลับ

กรมการท่องเที่ยว. (ม.ป.ป.). โครงการออกแบบพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก http://www.dla.go.th/work/proto.pdf

กรมการพัฒนาชุมชน. (2560). บ้านลำขนุน หมู่ที่ 8 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก https://trang.cdd.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลนาชุมเห็ด. (2560). ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป อบต. นาชุมเห็ด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก http://nachumhet.go.th/

ชุมชนต้องเที่ยว. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านลำขนุน จังหวัดตรัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก https://www.chumchontongtiew.com/