Advance search

เมืองโบราณสมัยทวารวดี แกลลอรี่ ภาพวาด เครื่องเบญจรงค์

หมู่ที่ 1, 2
โคกพระ
โคกพระ
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
ทต.โคกพระ โทร. 0-4378-9105
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
23 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
25 เม.ย. 2023
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
30 เม.ย. 2023
บ้านโคกพระ

ชื่อบ้านโคกพระ ตั้งขึ้นโดยอาศัยมงคลนามจากพระพุทธรูปวัดสุวรรณาวาส 


ชุมชนชนบท

เมืองโบราณสมัยทวารวดี แกลลอรี่ ภาพวาด เครื่องเบญจรงค์

โคกพระ
หมู่ที่ 1, 2
โคกพระ
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
44150
16.34151646
103.3142723
เทศบาลตำบลโคกพระ

ตามประวัติศาสตร์สถานที่แห่งนี้ เดิมเคยเป็นเมืองเก่าแก่ โบราณมีเจ้าเมืองปกครองเรียกว่า "เมืองคันธาริราช" หรือเมืองคันธะวิชัย ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ซึ่งหม่อมราชวงศ์วิจิตร (...ปฐม คเนจร) แต่งขึ้นเมื่อดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลอีสาน ตามพงศาวดารดังกล่าว ได้กล่าวไว้ว่า เมืองคันธาธิราชตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1328 เมืองนี้ตั้งอยู่นานเป็นพันปี เจ้าผู้ปกครองเมืองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหลายยุคสมัย เมืองคันธะวิชัยหรือกันทะวิชัย มีฐานะเป็นเมืองมีเจ้าของเมืองเป็นผู้ปกครอง ขึ้นตรงต่อเมืองกาฬสินธุ์ ปี พ.ศ. 2425 และปทุมวิเศษ (คำมูล) ได้เกิดคดีความกับเพียเมืองกลาง (เมืองมหาสารคาม) จึงมีพระบรมราชโองการฯ ให้ประปทุมวิเศษ (คำมูล) เจ้าเมืองและพระราชวงษ์ (เมืองทอ) เมืองกันทะวิชัย กับเบี้ยเมืองกลาง (เมืองมหาสารคาม) ลงไปชำระความที่กรุงเทพฯ แต่ความยังไม่เสร็จคนทั้งสองก็ถึงแก่กรรมก่อนที่กรุงเทพฯ เมืองกันทะวิชัย คงมีแต่เพี้ยเวียงแก กับราชบุตร (ไชยสุริยา) เห็นว่าตนเป็นคนชรา จึงพร้อมด้วยกรมการเมืองบอกขอท้าวทองคำ (หลานของ พระขัติยวงษาจันทร์) เมืองร้อยเอ็ดมารับราชการ ตำแหน่งเจ้าเมือง และขอหลวงศรีสงคราม ว่าที่ราชวงษ์ ท้าวสีทะ ว่าที่หลวงภักดี ผู้ช่วยมีตราโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้บุคคลทั้งสามรับราชการตามหน้าที่ ตามที่ขอไปรักษาราชการบ้านเมืองสืบไป

พ.ศ. 2432 เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ (ราชวงษ์เชียงโคตร) และกรมการเมืองกาฬสินธุ์มีใบบอกขอท้าว ทองคำเป็น "พระปทุมวิเศษ" ผู้ว่าการเมืองกันทะวิชัย ขอราชวงษ์หลวงศรีสงคราม เป็นอุปฮาต ขอท้าวแฮตเป็นราชวงษ์ ขอท้าวสีทะเป็นราชบุตรเมืองกันทะวิชัยท้าว ทองคำได้นำใบบอกไปเฝ้าทูลละออกธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวทองคำเป็น (พระปทุมวิเศษ) ผู้ว่าราชการ เมืองกันทะวิชัย ส่วนตำแหน่งอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตรนั้น ได้มีตราตั้งตราพระ ราชสีห์ให้ตามที่เมืองกาฬสินธุ์ขอไป เป็นอันว่าพระปทุมวิเศษ (ทองคำ) ได้ดำรง ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกันทะวิชัยเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2443 เมืองกันทะวิชัยถูกยุบตัวลงเป็นอำเภอชื่อว่า "อำเภอกันทรวิชัย"

ต่อมาปี พ.ศ. 2456 ได้โอนอำเภอ กันทรวิชัย มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม มาจนปัจจุบันนี้ เดิมทีที่ว่าการอำเภอได้ตั้งอยู่ที่บ้านคันธาร์ฯ ตรงริมฝั่งหนองบัวด้านทิศใต้ (ที่ตั้งโรงเรียนบ้านคันธาร์ ฯ) ในปัจจุบัน จนถึงปี พ.ศ. 2458 สมัยหลวงชาญรัฐกิจ (เชย) เป็นนายอำเภอ ได้รับเงินงบประมาณสร้างขึ้นใหม่ที่บ้านโคกพระ บริเวณที่ ดินฝั่งหนองบัวด้านทิศเหนือ คือสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกันทรวิชัยเป็นอำเภอ "โคกพระ" โดยอาศัย มงคลนามจากพระพุทธรูปยืนวัดบ้านโคกพระ (วัดสุวรรณาวาส) ชื่ออำเภอโคกพระ นี้เป็นที่รู้จักกันดีจนถึง พ.ศ. 2482 ทางราชการยอมเปลี่ยนชื่อสถานที่ราชการ อำเภอโคกพระ จึงได้เปลี่ยนชื่อกลับมาใช้ "กันทรวิชัย" อย่างเดิมตราบเท่าทุกวันนี้

ชุมชนบ้านโคกพระห่างออกไปทางทิศเหนือของจังหวัดมหาสารคาม ไปตามถนนถีนานนท์ สายมหาสารคามกาฬสินธุ์ จากตัวจังหวัดมหาสารคามถึงอำเภอกันทรวิชัย ระยะทาง 16 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือมีอ่างเก็บน้ำหนองบัวเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็น ที่ตั้งวัดสุวรรณาวาส อันมีหลวงพ่อพุทธมิ่งเมืองประทับยืนตระหง่านอยู่ภายใน บริเวณวัดซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกถนนถีนานนท์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอกันทรวิชัย ลึกถัดเข้าไปเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำการต่าง ๆ เช่น ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ สำนักงานที่ดิน สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ ตลาด ฯลฯ 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านคันธารราษฎร์ ต.คันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านคอกม้า ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเหล่า ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโคกพระ ม.1 ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

สภาพพื้นที่ทางธรรมชาติของชุมชน มีหนองน้ำเรียกว่าหนองบัว ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของชาวกันทรวิชัย ส่วนเรื่องของดินที่อุดมสมบูรณ์ แต่ไม่พื้นที่มากพอที่จะทำเป็นเกษตรขนาดใหญ่ ความเป็นอยู่ไม่ได้อาศัยและขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เพราะอาชีพหลักไม่ใช่การเกษตร ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป และรับราชการ ส่วนอาชีพการเกษตร เลี้ยงสัตว์คือเลี้ยงไก่และสุกรเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะเนื่องจากพื้นที่ทำเลไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร ประชากรที่อยู่ในหมู่ที่ 1 ที่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง การศึกษาและระบบการสื่อสารที่ทันสมัย การคมนาคมก็สะดวกจึงทำให้ครอบครัวทุกคนมีการ เรียนรู้เพิ่มเติมและมีการรับเอาวิวัฒนาการใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่ก่อนด้านสาธารณูปโภค ไม่ค่อยดีแต่ตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ชุมชนมีประปาเกือบทุกครัวเรือน การคมนาคมสะดวกมีถนนลาดยาง และมีถนนคอนกรีตทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ชุมชนโคกพระหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 จากข้อมูลทะเบียนราษฎรของเทศบาลตำบลโคกพระที่ทำการสำรวจ ในปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีประชากรทั้งหมด 3,416 คน เพศชาย จำนวน 1,628 คน และ เพศหญิง จำนวน 1,788 คน ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว และคนไทยเชื้อสายจีนที่เข้ามาเปิดร้านค้าในชุมชน ส่วนความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติของชุมชน เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะของพึ่งพาอาศัยกันและกัน ที่มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเเละความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ

บ้านโคกพระ คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป รับราชการ เกษตรกรรม ส่วนคืออาชีพเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด จำหน่ายทั้งบริโภคเอง ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อซื้อขายจากแหล่งเลี้ยงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด ส่วนองค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ มีดังต่อไปนี้

  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดเทศบาลโคกพระ
  • โรงพยาบาลชุมชนร้าน เเละจำหน่ายเครื่องเบญจรงค์

บ้านโคกพระ ประชาชนส่วนมากรับราชการ รัฐวิสาหกิจ ค้าขาย ทำให้ประชาชนส่วนมากต้องเดินทางไปทำงานต่างพื้นที่เป็นจำนวนมาก ประชากรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ยังคงมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร ส่วนปฏิทินที่เป็นประเพณี มีดังนี้

  • เดือนกุมภาพันธ์ จัดงานนมัสการพระพุทธมิ่งเมือง
  • เดือนพฤษภาคม ของทุกปี จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ
  • เดือนพฤศจิกายน จัดงานประเพณีลอยกระทง

1.นายวิรัช ทะไกรเนตร 

เป็นเจ้าของแกลลอรี่และยังเป็นศิลปินผู้สร้างผลงานต่าง ๆ ในร้าน แรกเริ่มการก่อตั้งและการเข้าสู่วงการศิลปินของนายวิรัช ทะไกรเนตร จบการศึกษาในสาขาวิจิตรศิลป์และได้เริ่มทำงานในบริษัทไทยเซรามิกในปี พ.ศ. 2533 ช่วงอายุ 25 ปี จากนั้นมีความสนใจในการผลิตและออกแบบงานเบญจรงค์ เนื่องจากเป็นที่นิยมในตลาดของทางภาคกลาง มีการเปิดร้านและแกลอรี่ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ร้านเซรามิกและเบญจรงค์ของ นายวิรัช ทะไกรเนตร ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (ฟองสบู่แตก) จึงได้ปิดกิจการลงแล้วกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดคือบ้านโคกพระ จากนั้นจึงได้เปิดแกลอรี่ขนาดเล็กที่บ้านและผลิตผลงานศิลปะมากมาย

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 บ้านเบญจรงค์แกลอรี่ได้รับเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอกันทรวิชัย

ทุนสังคม/การเมือง

ชมรมผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มที่มีความเข้มเเข็งในเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม

ทุนวัฒนธรรม

พระพุทธรูปที่ประดิษฐาน ณ วัดสุวรรณาวาส เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในระดับบุคคลเเละชุมชน

บ้านเบญจรงค์เซรามิก ตั้งอยู่ที่บ้านโคกพระ หมู่ที่2 ตำบล โคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นายวิรัช ทะไกรเนตร อายุ 57 ปี เป็นเจ้าของแกลลอรี่และยังเป็นศิลปินผู้สร้างผลงานต่าง ๆ ในร้าน แรกเริ่มการก่อตั้งและการเข้าสู่วงการศิลปินของนายวิรัช ทะไกรเนตร จบการศึกษาในสาขาวิจิตรศิลป์และได้เริ่มทำงานในบริษัทไทยเซรามิกในปี พ.ศ. 2533 ช่วงอายุ 25 ปี จากนั้นมีความสนใจในการผลิตและออกแบบงานเบญจรงค์ เนื่องจากเป็นที่นิยมในตลาดของทางภาคกลาง มีการเปิดร้านและแกลอรี่ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร สินค้าประเภทเครื่องเบญจรงค์เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากงานตามออเดอร์ของลูกค้าแล้ว ศิลปินในร้านยังมีการสร้างงานศิลปะอื่น ๆ เพื่อจัดแสดงในแกลอรี่และขายผลงานต่าง ๆ อีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ร้านเซรามิกและเบญจรงค์ของ นายวิรัช ทะไกรเนตร ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (ฟองสบู่แตก) จึงได้ปิดกิจการลงแล้วกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดคือ บ้านโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จากนั้นจึงได้เปิดแกลอรี่ขนาดเล็กที่บ้านและผลิตผลงานศิลปะมากมาย เช่น เครื่องเบญจรงค์ งานประติมากรรม งานทัศนศิลป์ งานเซรามิกและอื่น ๆ ยังคงมีออเดอร์สั่งซื้อจากลูกค้ารายเก่าที่ยังคงติดตามผลงาน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 บ้านเบญจรงค์แกลอรี่ได้รับเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอกันทรวิชัย ส่งผลให้ผลงานต่าง ๆ ของร้านมีชื่อเสียงในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีการออกร้านจัดแสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นายวิรัช ทะไกรเนตร ใช้ความรู้และทักษะด้านงานศิลปะและงานเบญจรงค์โดยใช้แนวคิดที่จะนำเรื่องราวในท้องถิ่น ตัวตนความเป็นอีสานสอดแทรกไปในผลงานรวมทั้งปรับเปลี่ยนผลงานให้เข้ากับคนรุ่นใหม่อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นจุดเด่นของผลงานที่สร้างชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ของร้าน

นอกจากนั้นยังได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้านอีสานจากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2548 จากผลงานที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ทำให้ นายวิรัช ทะไกรเนตร ได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามสถาบันต่าง ๆ และเป็นครูสอนทักษะด้านศิลปะในหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ปัจจุบันบ้านเบญจรงค์แกลอรี่ เป็นงานฝีมือที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอกันทรวิชัย เป็นศูนย์เรียนรู้ของเด็กนักเรียน เยาวชนที่สนใจเรื่องศิลปะและเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งผลงานและตัวตนคนอีสานและชาวมหาสารคาม (นายวิรัช ทะไกรเนตร, สัมภาษณ์)

ผู้คนในชุมชนใช้ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน และใช้ภาษาไทยในการติดต่อราชการ


การขายอาหาร ขายขนม ขายเสื้อผ้า ขายของชำ การคมนาคม ขนส่งไปมาสะดวก มีธนาคาร ให้บริการถึง 2 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตร และธนาคาร กรุงเทพฯ มีทั้งร้านจำหน่ายทองรูปพรรณ มีร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ร้านจำหน่ายอาหาร มีร้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตำบล เป็นหมู่บ้านที่มีสภาพเศรษฐกิจที่คล่องตัวเงินทุนหมุนเวียนดี จะเห็นได้จากคงอยู่ของร้านค้าต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนกอร นนตะบุตร. (2545). การจัดทำแผนแม่บทชุมชนบ้านโคกพระ ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม.

กนกอร นนตะบุตร. (2545). การศึกษาวิเคราะห์ชุมชนบ้านโคกพระ ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม.

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการการอยู่ร่วมกันในเมืองประวัติศาสตร์ทวาราวดีอย่างมีอนาคต ณ กันทรวิชัย. สนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ทต.โคกพระ โทร. 0-4378-9105