ชุมชนแห่งความเชื่อ ที่ศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ
ตำนานท้องถิ่นเรื่องท้าวลินจง-ท้าวลินทอง ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ท้าวลินจงผู้เป็นพระบิดาปกครองเมืองคันธาธิราชมีมเหสีชื่อนางบัวคำเเละบุตรชายชื่อท้าวลินทอง ซึ่งนิสัยของท้าวลินทอง เป็นคนดุร้ายซึ่งท้าวลินจงไม่ต้องการให้ท้าวลินทองขึ้นครองเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้ท้าวลินทองจึงทรมานบิดา-มารดาของตนจนเสียชีวิต โดยก่อนที่ท้าวลินจงจะเสียชีวิตได้ทำการสาปเเช่งว่าใครที่ขึ้นครองเมืองขอให้ไม่มีความสุขพบเเต่ความเดือนร้อน ภายหลังเมื่อท้าวลินทองได้ครองเมืองก็พบเเต่ความเดือนร้อนเพื่อเป็นการไถ่โทษต่อบิดามารดา จึงได้สร้างพระพุทธมิ่งเมืองถวายแด่นางบัวคำจงผู้เป็นมารดา ประดิษฐาน ณ บริเวณชุมชนบ้านคันธาร์
ชุมชนแห่งความเชื่อ ที่ศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ
ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม. ร. ว. ปฐม คเนจร) เขียนไว้ว่าเดิมทีนั้นเมืองกันทรวิชัย มีฐานะเป็นเมืองเรียกว่า“ คันธาวิไชย” หรือ“ เมืองกันทรวิชัย ประวัติดั้งเดิมมีว่าเมื่อก่อนปี พ.ศ. 1828 มีเมืองชื่อว่าคันธาธิราช มีเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองจนได้มีการสร้างถาวรวัตถุซึ่งเป็นพระพุทธรูปสลักด้วยหินปรากฏมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ต่อมาภายหลังเมืองคันธาธิราชได้กลายเป็นเมืองร้างไปเป็นเวลาช้านานจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2417 ทรงมีพระกรุณาโปรดกล้าฯ ตั้งให้บ้านคันธารร้างเป็นเมืองชื่อว่า“ เมืองกันทรวิชัย" ให้เพี้ยมูล เป็นพระประทุมวิเศษ เป็นเจ้าเมืองคนแรกโปรดให้เพี้ยเวียงทอเป็นราชวงศ์เพี้ยชัยสุริยาเป็นราชบุตรเทียนามวิเศษเป็นผู้ช่วยราชการในการขอตั้งเมืองนี้พระยาชัยสุนทรเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเป็นผู้ขอจึงโปรดเกล้าฯให้เมืองกันทรวิชัยขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์
ครั้งถึงปี พ.ศ. 2425 พระประทุมวิเศษ และราชวงษ์เมืองทอได้เกิดคดีกับเพี้ยเมืองกลางเมืองมหาสารคามจึงได้โปรดเกล้าฯให้ลงไปเพื่อชำระคดี ณ . กรุงเทพมหานคร พระประทุมวิเศษได้ถึงแก่กรรมในปีนั้นเพี้ยเวียงรักษาราชการแทนเห็นว่าตนเป็นคนชราซึ่งมีใบบอกขอท้าวทองคำหลานของพระขัตติยะวงศา (จันทร์) เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งแทน ต่อมา พ.ศ. 2443 ได้ยุบเมืองกันทรวิชัยลงเป็นอำเภอกันทรวิชัยครั้งถึงปี พ.ศ. 2453 ได้โยนอำเภอกันทรวิชัยจากเมืองกาฬสินธุ์ไปขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองร้อยเอ็ดต่อมา
ปี พ.ศ. 2456 ได้โอนอำเภอกันทรวิชัยมาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคามจนถึงกระทั่งบัดนี้ พ.ศ. 2458 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้าน“ คันธารษฎร์” ไปปลูกสร้างใหม่ที่บ้านโคกพระทางทิศเหนือของหนองบัวต่อมาอีกสองปีคือปี พ.ศ. 2460 ก็เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโคกพระปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอต่างๆทั่วราชอาณาจักรอำเภอโคกพระก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอกันทรวิชัย
ชุมชนบ้านคันธาร์หมู่ที่ 1 ตำบลคันธารราษฎร์อำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางจากอำเภอเมืองมหาสารคามไปจังหวัดกาฬสินธุ์ระยะทางอยู่ห่างจากตัวอำเภอกันทรวิชัย ประมาณ 3 กิโลเมตร
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ สระน้ำหนองบัว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลขามเฒ่าพัฒนา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลมะค่า
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลขามเรียง
จากการสำรวจประชากรขององค์การบริหารส่วนตำบลคันธารราษฎร์ เมื่อ พ.ศ.2563 พบว่าจำนวนประชากรเพศชาย มีจำนวนทั้งสิ้น 254 คน และเพศหญิง จำนวน 254 คน ธรรมชาติ คนในชุมชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตกับการทำอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ในการหาอยู่หากินของผู้คนในชุมชน ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนยังคงมีการช่วยเหลือกันและกันผ่านระบบเครือญาติ กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนเป็นกลุ่มไท-ลาว
ปัจจุบันผู้คนประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรม เป็นหลักสำหรับการดำรงชีพ โดยทำการปลูกข้าวและการปลูกพืชผักสวนครัวผลไม้และการทำบ่อปลา และรับจ้างทั่วไป
- กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าบ้านคันธาร์
- กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านคันธาร์
- กลุ่มกระติบข้าว
- กลุ่มทอเสื่อกก
ในรอบปีหมู่บ้านคันธาร์หมู่ 1 มีการทำบุญหรือประเพณีต่าง ๆ โดยอาศัยหลักในการปฏิบัติคือ“ ฮีตสิบสอง” ซึ่งหมายถึงประเพณีการทำบุญและพิธีกรรมในรอบ 1 ปีหรือ 12 เดือน ปัจจุบันประเพณีบางอย่างได้เลิกปฏิบัติไปแล้วเนื่องจากขาดผู้นำในการปฏิบัติและบางประเพณีที่เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติไปเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยประชาชนในหมู่บ้านมีการไปทำงานยังต่างถิ่นกันมากประเพณีที่หายไปก็เช่นประเพณีสู่ขวัญข้าว, ลงแขกเกี่ยวข้าวบุญบั้งไฟเป็นต้น แต่ประเพณีที่ยังถือปฏิบัติกันในรอบหนึ่งปีของหมู่บ้านมีอยู่มีดังนี้
เดือน มกราคม ทำบุญขึ้นปีใหม่
เดือน กุมภาพันธ์ บุญข้าวจี่
เดือน มีนาคม บุญพระเวชสันดรและเทศน์มหาชาติ
เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
เดือน พฤษภาคม ประเพณีบุญบังไฟ
เดือน มิถุนายน ประเพณีเลี้ยงดอนปู่ตา
เดือนกรกฎาคม วันเข้าพรรษา
เดือน สิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
เดือนกันยายน บุญข้าวสารท
เดือนตุลาคม บุญตักบาตรเทโวและบุญออกพรรษา
เดือน พฤศจิกายน บุญทอดกฐินและประเพณีลอยกระทง
เดือน ธันวาคม บุญกุมข้าว
โดยผู้คนในหมู่บ้านจะพากันไปทำบุญและพิธีกรรมทางศาสนากันที่วัดประจำหมู่บ้านคือวัดสุวรรณมงคลซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างกลางบ้านคันธาร์หมู่ 1 ซึ่งมีพระสงฆ์จำวัดอยู่ทั้งสิ้น 7 รูป สำหรับวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาคนในหมู่บ้านจะใช้ภาษาท้องถิ่นคือภาษาอีสานส่วนภาษากลางจะใช้ในกรณีที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานทางราชการเป็นส่วนใหญ่
- นายเคน ภูดินดาน : เชี่ยวชาญด้านแห อวน
- นายประทิน แก้วมณี : เชี่ยวชาญทางด้านการจักรสานไม้ไผ่ แพทย์แผนไทย (เช่น หมอสมุนไพร หมอหนวดแผนโบราณ)
- นางสาวอำนวย คัดทะจันทร์ : เชี่ยวชาญทางด้านหมอหนวดแผนโบราณ (อสม.)
สถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชน อาทิเช่นการจัดตั้งกลุ่มพัฒนาอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนบ้านคันธาร์ พบว่าจากที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเคยมีการจัดตั้งกลุ่มสตรีแม่บ้านดำเนินกิจกรรมการเย็บผ้าเพื่อการจำหน่ายเป็นรายได้เสริม แต่ไม่สามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงจำเป็นที่จะต้องการให้รัฐเข้ามาสนับสนับสนุนให้คำแนะนำกระตุ้นชาวบ้าน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ทางครอบครัวมีฐานะยากจนทำให้ต้องกู้ยืมของจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาลงทุนสำหรับการทำนาและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นรายได้ของครอบครัวที่เกิดจากภาคเกษตรกรรม รวมถึงการรับจ้างทั่วไป
ปัญหาที่ที่พบอีกด้านคือลูกหลาน มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางออกไปทำงานต่างถิ่นเพื่อหาเงินและส่งเงินมาให้ครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่น บางครอบครัวใช้วิธีการจ้างแรงงานลงสู่ภาคการเกษตรจึงทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นที่สูงขึ้น จนกระทั้งเกิดกองทุนหมู่บ้าน และได้ให้ผู้คนในชุมชนได้กู้เงินเพื่อนำไปลงทุนสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ นี้จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีการพึ่งพาตนเองเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว
คนในชุมชนเป็นสมาชิกกันทุกครัว โดยการถือหุ้นโดยการนําเงินกู้มิยาซาว่ามาลงทุนคนในชุมชนหากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมและกระตุ้นพลังในการร่วมคิดร่วมทำของคนในชุมชนพัฒนาผู้นำเชื่อว่าน่าจะสามารถพัฒนาให้เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้
นายชัชวาล ฉิมพลี (2545) การศึกษาวิเคาะห์ชุมชนบ้านคันธาร์ หมู่1 ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม