Advance search

เป็นชุมชนไทดำหรือชาวลาวโซ่ง ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองปรงตั้งแต่สมัย ร.3 นิยมปลูกบ้านเรือนด้วยไม้ ยกใต้ถุนบ้านสูงไว้เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ และทำงานหัตถกรรมเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยมีสถานที่สำคัญ คือ “บ้านไททรงดำ” 

บ้านหนองปรง
หนองปรง
เขาย้อย
เพชรบุรี
ภัทรานิษฐ์ พิศวงค์
31 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ไทดำบ้านหนองปรง


เป็นชุมชนไทดำหรือชาวลาวโซ่ง ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองปรงตั้งแต่สมัย ร.3 นิยมปลูกบ้านเรือนด้วยไม้ ยกใต้ถุนบ้านสูงไว้เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ และทำงานหัตถกรรมเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยมีสถานที่สำคัญ คือ “บ้านไททรงดำ” 

บ้านหนองปรง
หนองปรง
เขาย้อย
เพชรบุรี
76140
13.228173
99.828020
เทศบาลตำบลหนองปรง

ผู้ไทดำ หรือไททรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทหรือเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ผู้ไทดำหรือไททรงดำมีชื่อเดิมเรียกกันว่า ไทดำ (Black Tai) หรือ ผู่ไต๋ดำ เพราะนิยมใส่เสื้อดำล้วน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนไทที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น “ไทขาว”หรือ(White Tai) นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและไทแดง หรือ (Red Tai) ชอบใช้สีแดงขลิบและตกแต่งชายเสื้อสีดำเป็นต้น ไทดำกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นและตอนกลางช่วงรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ทำให้ชนบางส่วนในพื้นที่แคว้นสิบสองจุไทถุกกวาดต้อนเข้ามาสยามในฐานะเชลยและถูกส่งให้ไปคตั้งหลักแหล่งในเขตหัวเมืองชั้นในบริเวณบ้านหนองเลา เมืองเพชรบุรี ต่อมาได้เป็นที่รู้จักกันในประเทศไทยด้วยชื่อต่างๆเช่น ลาวโซ่ง ไทดำ ลาวทรงดำ เป็นต้น 

ชาวไททรงดำนี้มีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการนับถือผี ได้แก่ แถน (ผีฟ้าผู้เป็นใหญ่) ผีบ้าน ผีเมือง ผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน เป็นต้น และความเชื่อเรื่องขวัญที่เมื่อบุคคลเสียชีวิตลงเขยกก (ผู้นำในการจัดทำพิธีศพ) จะต้องทำหน้าที่อ่านคำบอกทางให้ผีขวัญเดินทางกลับขึ้นไปเมืองแถนซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลสำคัญต่อวิถีชีวิตของไททรงดำตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยมีการแสดงความเชื่อออกในรูปของพิธีกรรมที่เป็นรูปธรรม คนไทยภาคกลางเรียกกันว่า “ลาวทรงดำ” เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับลาวและอพยพมาพร้อมกับลาวกลุ่มอื่นๆ ต่อมาชื่อเดิมได้หดหายลง คำว่า”ดำ” หายไปนิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า”ลาวทรง” หรือ “ลาวโซ่ง” ซึ่งไม่ใช่คำเรียกที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ผู้ไทดำนั่นเอง คำว่า โซ่ง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่ากางเกงเพราะชาวไทดำนิยมนุ่งกางเกงทั้งชายและหญิง คนไทยและลาวพวนจึงเรียกว่า ลาวซ่วง ซึ่งหมายถึงลาวนุ่งกางเกง ต่อมาเพี้ยนเป็น โซ่ง เหตุที่เรียกไทดำว่า ลาวโซ่ง เพราะคำว่า “ลาว” เป็นคำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนที่อพยพมาจากถิ่นอื่น แต่ชาวไทดำหรือไททรงดำถือตนเองว่าเป็นชนชาติไท จึงนิยมเรียกตนเองว่า ไทดำ หรือผู้ไต๋ดำ 

จังหวัดเพชรบุรีถือเป็นถิ่นฐานแรกของชาวลาวโซ่งหลังถูกอพยพกวาดต้อนมายังประเทศไทย โดยพื้นที่อำเภอเขาย้อยในบริเวณตำบลห้วยท่าช้าง ตำบลหนองปรง ตำบลทับคาง ตำบลเขาย้อย และตำบลหนองชุมพล เป็นพื้นที่ที่มีชาวลาวโซ่งอยู่มากที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี มีตำบลหนองปรงเป็นต้นกำเนิดและเป็นศูนย์กลางการกระจายตัวของวัฒนธรรมลาวโซ่งในประเทศไทย

ชุมชนไทดำบ้านหนองปรงมีสภาพแวดล้อมเป็นป่า ที่ราบลุ่ม มีภูมิทัศน์ที่รายล้อมด้วยพื้นที่เกษตรกรรม มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ที่อำนวยต่อการทำการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาดำ มีการตั้งถิ่นฐานใกล้หนองมีลักษณะเป็นแบบกระจุกตัวเกาะกลุ่มกันอยู่บนดอยล้อมรอบด้วยพื้นที่นาไร่ มีขอบเขตเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มบ้านเรือนกับพื้นที่เกษตรชัดเจนสามารถมองผ่านทุ่งนาไปเห็นภูเขาได้จากหมู่บ้าน 

ไทดำ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

การทอผ้า ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองจิก ชาวไททรงดำเดิมนิยมทอผ้าเอง และนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเชื่อ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไททรงดำในจังหวัดเพชรบุรีที่สำคัญ คือ ผ้าซิ่นลายแตงโม เสื้อก้อม เสื้อไท เสื้อห่งเห่ง เสื้อฮี และผ้าเปียว สีของผ้าซิ่นที่เป็นสีดำหรือสีพื้นเข้มเป็นหลัก มีข้อสันนิษฐานว่า ด้วยเครื่องแต่งกายนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้เรียกความแตกต่างของกลุ่มไทดำให้แตกต่างจากกลุ่มไทอื่นๆ คือ ความยาวของซิ่นระหว่างไทดำในลาวและเวียดนามกับไททรงดำในเพชรบุรีนั้นมีความแตกต่างอย่างชัดเจน

พิพิธภัณฑ์ปานถนอม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 จากการริเริ่มของอาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ซึ่งเป็นชาวไททรงดำโดยกำเนิด โดยอาจารย์ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไททรงดำ ที่นับวันก็จะยิ่งเลือนหายไปจึงรวบรวมวัตถุและจัดสร้างอาคารขึ้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไททรงดำโดยตรง ต่อมากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้งบประมาณสนับสนุนในการเรียนการสอนภาษาไททรงดำเด็กนักเรียนทำให้อาจารย์ได้ปลูกฝังเด็กเกี่ยวกับกิจกรรมและการละเล่นอื่นๆ ของชาวไททรงดำ

วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองปรงเพื่อการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนถั่วลิสง เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในชุมชนเป็นที่ราบ มีแหล่งน้ำเหมาะกับการปลูกพืชโดยเฉพาะถั่วลิสง อีกทั้งภาครัฐให้การสนับสนุน คือ โครงการปลูกถั่วลิสงเพื่อการจำหน่ายภายใต้การสนับสนุนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จึงเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองปรงขึ้นมา

ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบลหนองปรง เป็นความร่วมมือของภาครับและชาวบ้านในชุมชนที่สร้างแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง และความเป็นเอกลักษณ์ของไททรงดำไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า การประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการเรียนรู้อย่างการปลูกผัก ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ที่ให้ผู้คนเข้ามาชมและศึกษา

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

สังคมชาวลาวโซ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ยังชีพด้วยการทำนาดำเป็นหลัก รองลงมาคือ การประกอบอาชีพ ปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด วัว และควาย สัตว์เลี้ยงที่สำคัญคือ หมู เพราะต้องใช้ในพีกรรมแต่ปัจจุบันนิยมซื้อหมูที่ฆ่าแล้วจากในตลาดมาใช้มากกว่า ดั้งเดิมของชาวลาวโซ่งบริโภคข้าวเหนียวแต่ในปัจจุบันหลายคนหันมาบริโภคข้าวจ้าว ข้าวเหนียวจึงถูกปลูกเพื่อใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น การทำนาแต่เดิมเน้นเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักจึงทำนาน้ำฝนหรือนาปี ที่ทำครั้งเดียวในช่วงฤดูฝน โดยจากคำบอกเล่าของ อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย และคุณป้าหยด จอกถม ทำให้ทราบว่าทำตามคำสั่งสอนของปู่ย่าตายายการเลือกพื้นที่ทำนาจะต้องเลือกบริเวณที่ระดับความสูงต่ำกว่าห้วย ในอดีตปีใดที่น้ำฝนน้อยไม่เพียงพอต่อการทำนาจำต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยทดน้ำเข้านา เช่น โพง และระหัดวิดน้ำ ทั้งนี้จากนโยบายรัฐที่มุ่งเศรษฐกิจเน้นการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรจึงทำให้ชาวลาวโซ่งต้องเพิ่มการปลูกข้าวแบบนาปรัง 2-3 ครั้งต่อปี ดังนั้นการใช้เพียงน้ำฝนและน้ำจากหนองของหมู่บ้านจึงไม่เพียงพอ ระบบทดน้ำดั้งเดิมจึงถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคลองชลประทานของรัฐและเครื่องสูบน้ำของรัฐและเครื่องสูบน้ำ การไถนาที่เดิมเคยใช้ควายก็เปลี่ยนไปใช้รถไถ

วิถีชีวิตวัฒนธรรม

พิธีกรรมไททรงดำเฮ็ดแฮว หรือพิธีกรรมความตายวาระสุดท้ายของไทดำชาวไททรงดำถือว่าการตายเป็นเรื่องสำคัญมาก ญาติพี่น้องผีเรือนเดียวกันจะหยุดทำงานทุกอย่างเพื่อเป็นการไว้ทุกข์เมื่อมีการตาย เรียกว่า “กำบ้าน กำเมือง” จนกว่าจะนำศพไปเผาแล้ว เฮือนแฮ้วเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการหลังเผาศพ ขั้นแรกการเก็บกระดูกผู้ตาย ขั้นต่อมาสร้างแฮ้วเรียกว่าเฮ็ดแฮ้ว และประกอบพิธีส่งวิญญาณจากนั้นนายเขยจะบอกวิญญาณผู้ตายเมื่อถึงมื้อเวนตงก็ให้ผู้ตายกลับบ้านมารับเครื่องเซ่นทุก 10 วันหรือที่เรียกว่า “ปาดตง”

เสนเรือน นอกเหนือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในยามปกติแล้ว ชาวไททรงดำประกอบพิธีที่เรียกว่า “เสนเรือน”ทุกปีหรือ 2-3 ปีครั้ง เพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเรื่องเส้นไหว้จากลูกหลาน ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับอย่างที่กล่าวไว้แล้ว ผีที่ล่วงลับสามารถให้คุณโทษได้ ฉะนั้นหากเส้นไหว้ผีเรือนอย่างเหมาะสม ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาสมาชิกในครอบครัวและบันดาลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามคติความเชื่อ การเซ่นไหว้มีความซับซ้อนและมีผ้ประกอบพิธีเฉพาะหรือที่เรียกว่า “หมอเสน” ประกอบพิธีเลี้ยงผีเรือนโดยมีสำรับเผื่อน ลักษณะคล้ายโตกสานด้วยไม้ไผ่ไว้ใส่เครื่องเซ่นหนึ่งในนั้นคือหมูที่มีการหมักเลี้ยงไว้ก่อนหน้านั้น หมอเสนต้องอ่าน “ปับผีเรือน”หรือบัญชีผีเฝ้าบ้านเรียกให้มารับเครื่องเซ่น หลังจากเซ่นไหว้ผีเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายเรียกว่า “ส่องไก่” ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวหรือแกงหน่อส้ม หากตีนไก่หงิกงอแสดงว่าไม่ดีจะมีเรื่องร้าย เช่น การเจ็บป่วย การตาย หรือการทำมาหากินประสบปัญหาต่างๆ เป็นต้น แต่ถ้าตีนไก่เหยียดตรงแสดงว่าทุกคนในครอบครัวของเจ้าภาพจะประสบแต่ความสุขความเจริญ

การละเล่นอิ๋นก๋อนฟ้อนแก๊น การละเล่นในกลุ่มคนไททรงดำอาจเรียกว่าการเล่นคอน เดิมทีในเดือน 5 เมื่อว่างจากฤดูทำนาทำไร่พวกหญิงสาวลาวโซ่งนั่งรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 15-20 คนขึ้นไป ณ บ้านใดบ้านหนึ่งสำหรับเป็นข่วงเพื่อให้มานั่งทำงานฝีมือร่วมกัน และเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ครองเมื่อถึงวันที่ 1 ค่ำฝ่ายชายจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มแตระเวนไปตามหมู่บ้านเพื่อไป “เล่นคอน”ซึ่งหมายถึงการเล่นทอดลูกช่วงนั่นเอง แต่ในปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูประเพณีในวันไททรงดำที่มีการจัดหมุนเวียนไปในแต่ละหมู่บ้านที่มีลูกหลานชาวไททรงดำหรือไทดำสืบเชื้อสายเพื่อให้เกิดการไปหาสู่ระหว่างลูกหลานชาวไททรงดำ การเล่นลูกช่วงกลายเป็นการสาธิตทางวัฒนธรรมที่ให้หนุ่มสาวตั้งแถวและโยนโลก “มะกอน” สลับไปมาและยังมีการฟ้อนแคนที่อาศัยแคนจากการจ้างเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานที่แต่งกายด้วยชุดไททรงดำทั้งชายและหญิงรื่นเริง

งานหัตถกรรมทอผ้า ชาวไททรงดำบ้านหนองปรงนอกจากจะทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ แล้วยังโดดเด่นในเรื่องการทอผ้าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไททรงดำที่มีการปฏิบัติขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน

อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย

ปราชญ์ชาวบ้านไททรงดำบ้านหนองปรง และเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ปานถนอมลูกสาวชาวโซ่งเป็นคนเมืองเพชรบุรีมาแต่กำเนิด เล็งเห็นว่ากลุ่มผู้ใหญ่ชาวโซ่งคงให้ความสำคัญกับขนบประเพณีเดิมของชาวไทยโซ่ง แต่ลูกหลานนั้นรู้จักประเพณีวัฒนธรรมอย่างจำกัดจึงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในบ้านส่วนตัวเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวลาวโซ่ง ความเชื่อและประเพณีปฏิบัติ 

ทุนวัฒนธรรม

วัดหนองปรง เป็นวัดที่มีมานานตั้งอยู่ที่บ้านหนองปรง ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี สิ่งก่อสร้างภายในวัดได้รับการปรับปรุงมาตลอดเหลือเพียงเจดีย์รายและเสมาของอุโบสถหลังเดิม1 ปีจะมีการรวมตัวของชาวไททรงดำจากทั่วปะเทศ วันที่ 10 เมษายน วัดหนองปรงถือเป็นศูนย์กลางของบ้านหนองปรงและชาวไททรงดำทั่วประเทศเป็นที่ยึดเหนี่ยวและรวมตัวกันของชาวไททรงดำ

การแต่งกาย สัญลักษณ์การแต่งกายของไททรงดำจะเห็นชัดเจนว่าใช้เสื้อแบบเดียวกัน ส่วนใหญ่จะใช้สีขาวและสีดำใช้สีอื่นเพียงให้สวยงาม ผู้หญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม และมวยผมเกล้าไว้บนศรีษะ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจากคนไทยหรือคนเชื้อสายอื่นๆ ทั่วไป ตามปกติฝ่ายชายจะสวมกางเกงแค่เข่าเรียกว่า "ซ่วงก้อม"ใส่เสื้อค่อนข้างรัดรูป ยาวถึงสะโพกแล้วผ่าปลายทั้งสองข้าง แขนยาวเป็นกระบอกถึงข้อมือติดกระดุมเงินอย่างถี่ ๆ ตั้งแต่คอถึงเอว เสื้อชนิดนี้เรียกว่า เสื้อก้อมหรือเสื้อไทย ถ้าไปในงานที่เป็นพิธีการจะสวมกางเกงขายาวเรียกว่า ซ่วงฮี และใส่เสื่อตัวยาวมีลายปักประดิษฐ์ ตามแบบเฉพาะของตนเอง เรียกว่า เสื้อฮี ฝ่ายหญิงตามปกติสวมเสื้อก้อมติดกระดุมเงิน ถ้าเป็นงานพิธีจะสวมเสื้อฮีผ้าซิ่นที่ใช้นุ่งมีลักษณะเฉพาะคือพื้นดำสลับลาย เส้นสีขาวครามและมีวิธีนุ่งผ้าซิ่นของชาวไททรงดำผิดแปลกไป  คือใช้มุมผ้าทางซ้ายและขวาทบกันแล้วหักพับลง คาดด้วยเข็มขัด ตรงกลาง แหวกเป็นฉาก ทรงผมของผู้หญิงนิยมเกล้ามวยซึ่งมี 2 แบบ คือผู้ที่อยู่ในวัยสาว จะเกล้าผมที่เรียกว่า ขอดซอย แต่ถ้าพ้นวัยสาวจะเกล้าแบบปั้นเกล้า เป็นการแบ่งแยกวัยวุฒิ 

อาหาร แกงหน่อส้ม(หน่อไม้เปรี้ยว) เป็นอาหารของชาวไททรงดำและชนทั่วไป มีการนำหน่อไม้ทั้งไผ่ป่า ไผ่รวกมาดองเป็นการถนอมอาหารเอาไว้แกงกินนอกฤดูกาล ไททรงดำถือเอาแกงหน่อส้มเป็นแกงที่ใช้ในพิธีกรรม “เสนเรือน” ในเวลาการเลี้ยงอาหารเช้าเรียกว่า “งายหมอ” สามารถหารับประทานได้ตลอดปีมีรสชาติเปรี้ยว เค็ม เผ็ด มีคุณค่าทางสมุนไพรจากพริก ช่วยลดความอ้วน หน่อไม้ดองช่วยบำรุงไต โปรตีนจากเนื้อไก่ หมู และปลาแคลเซียมจากปลาร้า 

ไททรงดำมีวัฒนธรรมภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนแต่เนื่องจากไททรงดำไม่ได้มีการจัดระบบการศึกษาโดยตรง ทำให้ชาวไททรงดำรู้ภาษาเขียนได้น้อยเพราะส่วนใหญ่มีถ่ายทอดภาษาพูดผ่านครอบครัว อีกทั้งชาวไททรงดำมุ่งเน้นไปที่การประกอบอาชีพมากกว่าการศึกษาทำให้ปัจจุบันมีทั้งการใช้ภาษาไทยกลางและใช้ภาษาไททรงดำแต่ใช้ภาษาไททรงดำเป็นส่วนน้อย อีกทั้งลักษณะของภาษาก็มีความคล้ายคลึงกันไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น คำว่า อ้าย เอม แลง งาย ช่วง เสื้อ เสื่อ สาด เป็นต้น


ชาวไททรงดำมีความเชื่อเรื่องการนับถือผีดั้งเดิม และการประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่บรรพบุรุษมีการสืบทอดต่อกันมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบันอาจทำให้ความเชื่อดั้งเดิมและพิธีกรรมบางอย่างที่ปฏิบัติสืบมาได้เลือนรางหรือปรับเปลี่ยนสูญหายไปเนื่องจากปัจจุบันสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจเหตุการณ์บ้านเมือง การศึกษา รวมไปถึงการแพทย์และเทคโนโลยีมีความเจริญมากขึ้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องในเรื่องของความเชื่อในพิธีกรรมของไททรงดำ ความเชื่อและการปฏิบัติพิธีกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่ในอดีตถูกสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่สังคมสมัยเก่า เด็กรุ่นใหม่ใส่ใจน้อยลงและคนเฒ่าคนแก่เริ่มหย่อยยานในเรื่องของประเพณีประกอบกับชีวิตที่ต้องแข่งขันในการประกอบอาชีพและรายไดที่มากกว่า มีการนำความเชื่อจากสังคมรอบข้าง เช่น ความเชื่อในพระพุทธศาสนาเข้าไปปะปนกับความเชื่อดั้งเดิมของไททรงดำกลายเป็นแนวความคิดแบบผสมผสานเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะในการดำเนินชีวิตของไททรงดำตำบลหนองปรงที่ความเชื่อดั้งเดิมบางอย่างยังคงดำรงอยู่และความเชื่อในพิธีกรรมบางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความเชื่อในพิธีกรรมไททรงดำตำบลหนองปรงยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบันภายใต้การเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่มาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การอบรมจากครอบครัว ระบบควาสัมพันธ์ทางเครือญาติ ความสามัคคี การมีผู้นำชุมชนที่ใส่ใจกับความเป็นไททรงดำ ระบบการศึกษาในโรงเรียน และเทคโนโลยีสื่อสาร การโทรคมนาคม ปัจจัยเหล่านี้แสดงถึงการสนับสนุนของในชุมชนและการมีส่วนร่วมในการดำรงอนุรักษ์ความเชื่อดั้งเดิมของชาวไททรงดำตำบลหนองปรง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ฐานข้อมูลท้องถิ่น (เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์) .(2563). ผ้าไททรงดำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://localphetchaburi.net/eLocal/items/show/13#?c=&m=

ธุรกิจชุมชนสร้างไทย. (ม.ป.ป.). วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองปรงเพื่อการเกษตร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.xn--12cmcia3fbm4eocg4g7ewa5df7tld.com/

พิธีกรรมไททรงดำ/ไทดำ. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://thehumans.sac.or.th/sac/articles/22

สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม. (2564). ชุมชนไทดำบ้านหนองปรง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มีนาค2566. เข้าถึงได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3487

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. (ม.ป.ป.). ข้อมูลโบราณสถานวัดหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.finearts.go.th/fad1/view/13870-The humans

เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล และไชยยศ ไพวิทยศิริธรรม. (2559). การวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาผ้าทอไทยทรงดำ. วารสารศิลปากรศึกษาศาสตร์วิจัย, 8(2). 162-175.