บ้านเหล่าไฮงาม เป็นชุมชนชาวผู้ไทที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ
บ้านเหล่าไฮงาม เป็นชุมชนชาวผู้ไทที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ
ชุมชนบ้านเหล่าไฮงาม ตำบลเหล่าไฮงาม อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันคือชุมชนที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ซึ่งสันนิษฐานว่าอพยพมาจากบ้านดงน้อยและบ้านกุดจับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ชาวผู้ไทถูกสันนิษฐานว่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่มณฑลยูนนานประเทศจีน ก่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสิบสองจุไท มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ในช่วงสงครามระหว่างราชอาณาจักรสยามและราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ภายหลังความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ มีการอพยพย้ายฝั่งจากเมืองวังประเทศลาวมายังฝั่งไทย การอพยพของชาวผู้ไทเข้ามายังประเทศไทยนั้นมี 3 ระลอกใหญ่ ครั้งแรกในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี ชาวผู้ไทที่อพยพเข้ามาในสมัยนี้เป็นชาวผู้ไทรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ครั้งที่สองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กองทัพเวียงจันทน์ตีหลวงพระบางแตก และจับกษัตริย์หลวงพระบางส่งให้กับกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2335-2338 กองทัพเวียงจันทน์ได้ตีเมืองแถงและเมืองพวน ซึ่งแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ กวาดต้อนผู้ไทดำ และลาวพวนส่งมาเป็นเชลยที่กรุงเทพฯ โดยมีรับสั่งให้ชาวผู้ไทกลุ่มดังกล่าวไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรี การอพยพครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดของชาวผู้ไท เมื่อครั้งเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏต่อสยาม ราชอาณาจักรสยามส่งทหารไปปราบปรามจนเหตุการณ์สงครามสงบลง ได้มีนโยบายอพยพชาวผู้ไทจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาที่ไทย เพื่อตัดกำลังทหารฝั่งเวียงจันทน์ โดยเข้ามาอาศัยกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ได้แก่ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุดรธานี ร้อยเอ็ดและยโสธร ซึ่งชาวผู้ไทกลุ่มนี้คือบรรพบุรุษของชาวผู้ไทที่ตั้งถิ่นฐาน ณ บ้านเหล่าไฮงาม ตำบลเหล่าไฮงาม อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
สภาพแวดล้อม
สภาพที่ตั้งโดยทั่วไปของบ้านเหล่าไฮงามอยู่บนที่ราบเชิงเขา ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณของเทือกเขาภูพาน ดินในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์แต่ไม่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรน้อย และมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ สภาพภูมิอากาศของพื้นที่ชุมชนบ้านเหล่าไฮงามมีอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน และหนาวจัดปนแห้งในฤดูหนาว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่ผัดผ่านเวียดนามมาสู่ประเทศไทย
สถานที่สำคัญ
วัดท่าสินเธาว์ หรือชื่อท้องถิ่นคือ “วัดบ้านเหล่าไฮงาม” วัดประจำชุมชนบ้านเหล่าไฮงาม สถานที่ที่ชาวผู้ไทบ้านเหล่าไฮงามใช้เป็นศูนย์กลางในการรวมตัวประกอบกิจกรรมของชุมชน และใช้เป็น ศาสนพิธีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญต่าง ๆ วัดท่าสินเธาว์คาดว่าถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2465 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการสถาปนาบ้านเหล่าไฮงาม โดยชาวบ้านดงน้อย และบ้านกุดจับที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานสร้างหมู่บ้านและวัดในบริเวณนี้ ภายในวัดมีพระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง ปูชนียวัตถุพระนาคปรกเนื้อหินทราย และศาลาการเปรียญซึ่งเป็นที่ตั้งธรรมาสน์เสาเดียวประจำชุมชนเหล่าไฮงาม
ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่บ้านเหล่าไฮงามปัจจุบัน คือ กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท คาดว่าชาวบ้านกุดจับและบ้านดงน้อยที่ได้อพยพย้ายมาสร้างหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ ให้ความช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกัน สืบทอดจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด แม้ว่าปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ชาวบ้านเหล่าไฮงามยังธำรงคงไว้ซึ่งกลิ่นไอของวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของชาวผู้ไท
ผู้ไทชาวผู้ไทบ้านบ้านเหล่าไฮงามมีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรมทำนา แต่เนื่องจากบ้านเหล่าไฮงามมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรน้อย และมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมเท่าใดนัก ชาวบ้านในชุมชนจึงมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนคือการทำหัตถกรรมจักสานและทอผ้า ส่วนคนรุ่นใหม่เริ่มออกไปหนทางในการประกอบอาชีพนอกชุมชน เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน ค้าขาย โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ชาวผู้ไทบ้านเหล่าไฮงามมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องและผูกพันกับธรรมชาติ อันเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ตั้งของชุมชนที่อยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ส่งผลให้ชาวบ้านเหล่าไฮงามมีการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ปัจจัยสี่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น
วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวผู้ไทชุมชนบ้านเหล่าไฮงาม เป็นหนึ่งวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นแหล่งอาหารชั้นยอดหล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชน ซึ่งอาหารที่ชาวบ้านนิยมรับประทาน คืออาหารที่หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผักพื้นเมือง ปลา หรือเนื้อสัตว์ที่หาได้ตามธรรมชาติ มีข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักรับประทานคู่กับแกงหรือกับข้าว 1-2 อย่าง
ในอดีตเมื่อครั้งวิทยาการทางการแพทย์รวมถึงการคมนาคมขนส่งยังไม่เจริญก้าวหน้าเทียบเท่าปัจจุบัน ยามสมาชิกในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วย สมาชิกที่เหลือจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกิดเป็นพัฒนาการที่จะนำเอาพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประยุกต์ดัดแปลงเป็นยารักษาโรคเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัว และสมาชิกในชุมชน โดยมีหมอรักษาโรคพื้นบ้านเป็นผู้นำในการรักษา หมอเหล่านี้จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามตำราและความเชี่ยวชาญของแต่ละท่าน เช่น หมอเหยา ผู้ประกอบพิธีกรรมเหยา ตามคติความเชื่อของชาวผู้ไท หมอเหยา คือผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพญาแถนกับมนุษย์และภูตผีปีศาจที่ทำให้มนุษย์โลกเกิดความเจ็บป่วย พิธีกรรมเหยาถือเป็นการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยอันเกิดจากการล่วงละเมิดหรือสร้างความไม่พอใจต่อผี โดยหมอเหยาจะทำพิธีเหยาเพื่อสืบหาว่าผีตนใดที่ทำให้มนุษย์เกิดความเจ็บป่วย จากนั้นจึงจะแนะนำวิธีแก้ไข ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมและผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย จะต้องมีการปลงคายจึงจะถือว่าพิธีกรรมเสร็จสิ้นสมบูรณ์
ด้านศาสนา ชาวผู้ไทบ้านเหล่าไฮงาม จังหวัดกาฬสินธุ์ มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความศรัทธาในพระพุทธเจ้า เชื่อเรื่องเวรกรรม นรกสวรรค์ กราบไหว้พระสงฆ์และพระพุทธรูปดังเช่นชาวอีสานทั่วไป มีการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระวันสำคัญต่าง ๆ ยึดถือฮีตสิบสองและคองสิบสี่ตามแบบอย่างของบรรพบุรุษ
นอกจากนี้ชาวผู้ไทบ้านเหล่าไฮงามยังมีประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่อดีต และเป็นประเพณีที่ปรากฏเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวผู้ไทเท่านั้น คือ “ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท” พ่อแม่ฝ่ายชายจะทำ “การโอม” คือการขอหมั้นหมายฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ โดยมีคู่สามีภรรยาซึ่งเป็นแบบอย่างในการครองเรือนมาเป็นตัวกลางในการสู่ขอ เรียกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” ซึ่งต่อไปจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของบ่าวสาว นอกจากนี้ในประเพณีแต่งงานของชาวผู้ไทยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเฆี่ยนเขย คือการให้ฝ่ายหญิงได้บอกกล่าวข้อปฏิบัติต่าง ๆ กับฝ่ายชายว่าสิ่งใดสามารถปฏิบัติได้ หรือสิ่งใดควรละเว้น เป็นต้น
ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
ธรรมาสน์เสาเดียววัดท่าสินเธาว์ บ้านเหล่าไฮงาม ปัจจุบันตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญหลังใหม่ ภายหลังย้ายมาจากหอแจกเดิมซึ่งเป็นศาลาไม้ สร้างโดยการฝังเสาธรรมมาสน์ลงดิน แต่ตัวเรือนธรรมาสน์สามารถเคลื่อนย้ายได้ ธรรมาสน์หลังนี้สร้างโดยฝีมือช่างพื้นบ้าน ใช้ไม้แต้เป็นส่วนประกอบหลัก ตัวเรือนมีลักษณะโครงสร้างสี่เหลี่ยมฉลุลวดลายแกะสลักเขียนสีสวยงาม ไม้ที่นำมาแกะสลักใช้ไม้ส้มกบ เนื่องจากมีความเหนียว เมื่อนำมาแกะสลักแล้วจะไม่แตกหักง่าย ปัจจุบันธรรมาสน์หลังนี้ได้รับการบูรณะติดล้อเลื่อนเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งตั้งวางได้
ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยกลาง (ภาษาราชการ)
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
คำพันธ์ ยะปะตัง. (2555). ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.