Advance search

รอบสถานีรถไฟศาลายา

ชุมชนรวมใจริมทางรถไฟ

ชุมชนศาลายา เป็นชุมชนทีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในเชิงพื้นที่ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ตลอดจนความเชื่อมโยงของการคมนาคมขนส่งทางถนน ทางน้ำ และทางระบบรางไว้ในที่แห่งเดียว นอกจากนี้ยังเป็นเขตพื้นที่ชานเมืองนครปฐมซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ ทำให้มีความเจริญเป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ภายในชุมชนยังเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟศาลายา และอยู่ริมสองฝั่งคลองมหาสวัสดิ์ ทำให้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับสายน้ำ

ศาลายา
พุทธมณฑล
นครปฐม
เขมชาติ ชนะไพร
1 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
16 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
รอบสถานีรถไฟศาลายา
ชุมชนรวมใจริมทางรถไฟ

ที่มาของชุมชนนั้นเกิดจากมีศาลาหลังหนึ่ง ได้มีตำรายารักษาโรคระบาดต่าง ๆ เขียนติดไว้ที่ศาลาเป็นการกุศล จนผู้คนเรียกติดปากสืบต่อกันมาว่า “ศาลายา” ดังนั้นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณทางรถไฟ จึงได้ชื่อว่าเป็น "ชุมชนรอบสถานีรถไฟศาลายา"


ชุมชนศาลายา เป็นชุมชนทีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในเชิงพื้นที่ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ตลอดจนความเชื่อมโยงของการคมนาคมขนส่งทางถนน ทางน้ำ และทางระบบรางไว้ในที่แห่งเดียว นอกจากนี้ยังเป็นเขตพื้นที่ชานเมืองนครปฐมซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ ทำให้มีความเจริญเป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ภายในชุมชนยังเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟศาลายา และอยู่ริมสองฝั่งคลองมหาสวัสดิ์ ทำให้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับสายน้ำ

ศาลายา
พุทธมณฑล
นครปฐม
73170
เทศบาลศาลายา โทร. 0-2889-2141
13.803138750049344
100.32435708954023
เทศบาลตำบลศาลายา

ชุมชนศาลายา แต่เดิมมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำลำคลองมาตั้งแต่ครั้งอดีต เนื่องจากต้องใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูก ทำไร่ ทำน้ำ ทำสวน ตลอดจนใช้เป็นเส้นทางในการสัญจรไปมาคลองสำคัญที่เป็นเส้นทางเดินเรือสายหลักระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ คลองโยง ซึ่งเป็นคลองเก่าแก่รุ่นแรก ๆ ของตำบลศาลายา ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ขุดคลองมหาสวัสดิ์ แต่ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่ พ.ศ. ใด

มีการสันนิษฐานว่าชุมชนเดิมน่าจะใช้เส้นทางสัญจรทางบก มีการเดินทางผ่านไปมาของผู้คนโดยใช้ เกวียน ม้า วัว และควาย ทำให้เกิดเป็นร่องล้อเกวียน และเมื่อเข้าฤดูฝนจึงมีน้ำท่วมขัง จนกระทั่งสามารถใช้เรือในการสัญจรไปมาได้ แต่หากเรือมีขนาดใหญ่ หรือ มีน้ำหนักมากก็จะใช้ควายในการลากจูงไปบนตลิ่ง

นอกจากนี้คลองโยงยังเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญในการเดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งปรากฎหลักฐานในโคลงนิราศพระประธมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชาสนิทต้นราชสกุล สนิทวงศ์, นิราศพระประธม ของพระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ จวบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหโกษาธิบดี (ขำ บุญนาค) เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยารวิวงศ มหโกษธิบดี ขุดคลองมหาสวัสดิ์ โดยเริ่มลงมือขุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2402 แล้วเสร็จเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 

ประวัติศาสตร์ชุมชนศาลายา

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนได้เริ่มขึ้นหลังจากการเหตุการณ์ "การขุดคลองมหาสวัสดิ์” โดยเป็นคลองขุดคลองขนาดกว้างเจ็ดวา ลึกหกศอก และยาว 27 กิโลเมตร เริ่มต้นคลองมาจากคลองบางกอกน้อยใกล้กับวัดชัยพฤกษ์มาลา ไปจนกระทั่งถึง บริเวณศาลเจ้าสุบิน ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี โดยตลอดระยะทางจะมีการสร้างศาลาไว้ริมคลอง โดยเว้นระยะห่างกัน 4 กิโลเมตร มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ศาลา ซึ่งการขุดคลองครั้งนี้ทำให้เกิดสิ่งสำคัญตามมาหลายประการ เช่น เป็นเส้นทางคมนาคม ขนส่งสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าว อ้อย น้ำตาลเป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เกิดการขยายพื้นที่สำหรับทำกิน โดยในระยะเริ่มแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจับจองที่ดินสองฝั่งคลองมหาสวัสดิ์เพื่อพระราชทานแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา มีเนื้อที่รวมกันมากกว่าสองหมื่นไร่ มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลผลประโยชน์และให้เช่าที่ดิน ซึ่งเรียกว่า “นายกอง” เนื่องจากพระโอรสและพระธิดายังทรงพระเยาว์อยู่ เมื่อมีการเปิดให้เช่าพื้นที่ดินได้ ก็เริ่มมีชาวบ้านจากชุมชนเดิมบริเวณริมฝั่งของแม่น้ำท่าจีนทยอยกันเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จึงทำให้มีชุมชนเกิดขึ้นมาเพิ่มเติมจากชุมชุนบริเวณคลองโยง ได้แก่ บริเวณชุมชนวัดสุวรรณาราม รวมไปถึงชุมชนรอบสถานีรถไฟศาลายาในปัจจุบัน ตลอดจนคนจีนส่วนหนึ่งที่อพยพเข้ามาได้ตั้งรกรากลงหลักปักฐาน โดยได้อาศัยอยู่ริมทั้งสองฝั่งของคลองมหาสวัสดิ์ ต่อมาภายหลังได้ประกอบอาชีพและสะสมเงินทอง จนสามารถซื้อที่ดินบางส่วนมาเป็นของส่วนตัวได้ 

ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ เพราะประชาชนจากชุมชนต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียงจำเป็นต้องเดินทางโดยสัญจรทางน้ำเพื่อมาขึ้นท่ารถไฟเพื่อเข้าเมือง (สยาม) ซึ่งในเวลานั้นเป็นเพียงเส้นทางคมนาคมเส้นทางเดียวที่สะดวกกว่าการเดินทางบก โดย “ศาลายา” ได้กลายเป็นชื่อตำบลและสถานีรถไฟที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกกันจนติดปาก โดยเป็นทางเชื่อมระหว่างเมืองเพื่อขนส่งสินค้าทางการเกษตร ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนที่พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินผ่าน แสดงให้เห็นได้ถึงหลักภูมิศาสตร์ที่ดี ในการคมนาคม ซึ่งส่งผลโดยตรงให้ชุมชนศาลายาริมคลองมหาสวัสดิ์นั้น เปรียบเสมือนเป็นเมืองท่าศูนย์กลางทางการค้าที่มีการเจริญเติบโตของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ตำแหน่งของศาลาต่าง ๆ ในสมัยที่มีการขุดคลองมหาสวัสดิ์ พ.ศ. 2403

ในระหว่างที่มีการขุดคลองมหาสวัสดิ์นั้น ได้มีการสร้างศาลาไว้ริมทางเป็นระยะๆ ทุก 100 เส้นหรือประมาณ 4 กิโลเมตร (ความยาวของคลองมหาสวัสดิ์ประมาณ 27 กิโลเมตรเศษ) โดยมีจำนวนศาลาทั้งสิ้น 7 หลัง ซึ่งมีชื่อเรียกศาลาทั้ง 7 หลังดังนี้

  • ศาลา 1 มีการสันนิษฐานว่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณปากคลองมหาสวัสดิ์
  • ศาลา 2 ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ เรียกตามตำแหน่งศาลา
  • ศาลา 3 ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ เรียกตามตำแหน่งศาลา
  • ศาลา 4 (ศาลากลาง) ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
  • ศาลา 5 (ศาลาทำศพ ปัจจุบันเรียก ศาลาธรรมสพน์) เป็นศาลาคู่ที่ใช้สำหรับทำศพคนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ที่เสียชีวิตเนื่องจากไม่มีวัดอยู่บริเวณใกล้เคียง จุดที่สร้างศาลาอยู่ตรงแนวเสาโทรเลขที่ 15/1
  • ศาลา 6 (ศาลายา) เป็นศาลาที่ทำการบันทึกตำรายาไว้ อยู่ตรงตำแหน่งเสาโทรเลขที่ 19/1 ตรงข้ามกับวัดสาลวัน ปัจจุบันคือบริเวณหมู่ 3 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล
  • ศาลา 7 (ศาลาดิน) เป็นศาลาหลังสุดท้ายในจำนวน 7 ศาลา สร้างอยู่ในบริเวณหมู่ 3บ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑลซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสถานที่เก็บศพของราษฎรภายในหมู่บ้านเพื่อรอเผา เดิมชาวบ้านเคยเรียกกันว่า ศาลานกกระจอกเพราะมีนกกระจอกอยู่จำนวนมาก

ปัจจุบันศาลาทั้ง 7 หลัง ไม่เหลือร่องรอยไว้ให้เห็นแล้ว เหลือเพียงตำนานที่เล่าขานกันผ่านคนเฒ่าคนแก่และนิราศ เช่น นิราศพระปฐมที่ได้กล่าวถึงศาลาทั้ง 7 หลังไว้ข้างต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ขุนวิศาลกันโอภาส หรือ ที่เรียกว่า กำนันพิน ได้เป็นนายกองดูแลเก็บผลประโยชน์จากที่ดินของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้นำเงินจากค่ากองนามาสร้างเป็นวัดขึ้น แต่เดิมเรียกกันว่า วัดตาพิน หลังจากนั้นหลวงพ่อได้นำต้นสาละมาปลูกจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสาลวัน” และวัดนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนในเวลาต่อมา ทำให้ชุมชนเริ่มมีการเคลื่อนตัวจากสี่แยกคลองขวาง มาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดและได้กลายเป็น ชุมชนศาลายามาจนกระทั่งปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ชุมชนรอบสถานีรถไฟศาลายา

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญของชุมชนศาลายานั่น คือ สถานีรถไฟศาลายา โดยได้เริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 เปิดเดินรถระหว่างสถานีบางกอกน้อยกับเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2446 และทำให้ชุมชนมีการคมนาคมที่สะดวกเพิ่มขึ้น มีการตั้งสถานีรถไฟขึ้นในพื้นที่ 3 สถานี ได้แก่ สถานีศาลายา สถานีวัดสุวรรณ และสถานีคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผลทำให้การคมนาคมตามแม่น้ำลำคลองมีบทบาทลดลง และเมื่อการคมนาคมทางบกนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้นทำให้ชุมชนศาลายาที่อยู่ในละแวกนั้นมีความหนาแน่นและเจริญมากขึ้น ทำให้ในเวลาต่อมาเกิดเป็น "ชุมชนรอบสถานีรถไฟศาลายาขึ้น"

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3,4,5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑลจังหวัดนครปฐม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนากรุงเทพมหานคร
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และหมู่ที่ 1 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ประชากรดั้งเดิมภายในพื้นที่เป็นกลุ่มประชากรที่มาจากหลากหลายที่ โดยย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานภายในชุมชน ตั้งแต่เหตุการณ์ช่วงการขุดคลองมหาสวัสดิ์ ในปี พ.ศ. 2402 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ ขุดคลองทวีวัฒนา (พ.ศ. 2421) และการสร้างทางรถไฟสายใต้ (พ.ศ. 2440) เป็นอีกเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นเครือข่ายทางสังคมของชุมชนที่มีการขยายตัวขึ้นจากสภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งในเวลาต่อมา ได้มีการอพยพเข้ามาของชาวจีน เข้ามาในตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐมนั้นเพิ่มเติมโดยเริ่มขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 (ประมาณปี พ.ศ. 2395 - 2450)

ชาวจีนส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลแต้จิ๋ว กวางตุ้ง และชัวเถา เพื่อหาแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่ทำมาหากิน เนื่องจากแผ่นดินจีนในช่วงนั้นเกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกมาเป็นเวลานาน นอกจากนั้นยังมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่คาดหวังว่าจะมาทำการค้าในเมืองไทย เนื่องจากประเทศจีนในขณะนั้นเศรษฐกิจไม่ดี ผู้อพยพชาวจีนเดินทางมาด้วยเรือ 2 ประเภท คือ เรือสำเภา และเรือกลไฟ มาขึ้นฝั่งที่กรุงเทพมหานคร บางกลุ่มก็เดินทางมาตั้งหลักแหล่งที่นครปฐม หรือ ที่เรียกว่า เมืองนครชัยศรี ในสมัยนั้น เนื่องจากสภาพภูมิประเทศแถบนี้เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังอยู่ใกล้ทะเล สามารถติดต่อคมนาคมทางน้ำได้อย่างสะดวก จึงเอื้ออำนวยให้ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนครชัยศรีเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในนครปฐมระยะแรกนั้น มักเริ่มจากการรับจ้างเป็นกุลี หรือ เป็นลูกจ้างตามโรงสี ลูกจ้างร้านขายของ หรือ รับจ้างทำสวน ทำไร่ ทำนา

ในจำนวนนี้มีชาวจีนที่รับจ้างเป็นแรงงานในโรงน้ำตาลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเมืองนครชัยศรีในขณะนั้น เป็นแหล่งปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายส่งออกที่ใหญ่กว่าแหล่งอื่น ๆ ในประเทศ ต่อมาเมื่อมีการขุดคลองเจดีย์บูชา จากแม่น้ำนครชัยศรีถึงตัวเมืองนครปฐมในปัจจุบัน และมีการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับนครปฐมนั้น ส่งผลให้การคมนาคมสะดวกขึ้น และเศรษฐกิจในนครปฐมเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ชาวจีนหลายกลุ่มจึงทยอยกันเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนต่าง ๆ ที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมกับการประกอบกิจการค้าขายโดยในยุคนั้นนอกจากบริเวณริมน้ำนครชัยศรีแล้ว บริเวณที่ชาวจีนมารวมตัวกันตั้งหลักปักฐาน ทำมาค้าขายกันอย่างคับคั่ง คือ บริเวณตลาดพระปฐมเจดีย์, บริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์, และบริเวณชุมชนศาลายา เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนรอบสถานีรถไฟศาลายา มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำลำคลองมาตั้งแต่ครั้งอดีต เนื่องจากต้องใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูก ทำไร่ ทำน้ำ ทำสวน ตลอดจนใช้เป็นเส้นทางในการสัญจรไปมาคลองสำคัญที่เป็นเส้นทางเดินเรือสายหลักระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันประชากรจากต่างถิ่น ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ศาลายามากขึ้น เนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร และเนื่องจากศาลายาได้กลายเป็นแหล่งที่ตั้งของสถานศึกษาสำคัญมหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ ครู อาจารย์ รวมถึงผู้ปกครองได้ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น อาจมีผลทำให้ชาวชุมชนสถานีรถไฟศาลายามีวิถีการดำเนินชีวิตคล้ายคนในเมืองหลวงมากขึ้น แต่ก็ยังมิได้ทิ้งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไปเสียทั้งหมดซึ่งในปัจจุบันภายในชุมชนยังคงมีการสืบทอดประเพณีที่นิยมจัดขึ้นในทุก ๆ ปี ดังนี้

กิจกรรมทางสังคม

1. ประเพณีสงกรานต์เทกระจาด

ประเพณีสงกรานต์ของชาวศาลายา นอกจากจะมีการทําบุญตักบาตรและเล่นน้ําเช่นเดียวกับประเพณีสงกรานต์ของท้องถิ่นอื่น ๆ แล้ว ยังมีความโดดเด่นตรงที่จะมีการจัด “ประเพณีเทกระจาด” ขึ้นในวันสุดท้ายของเทศกาล โดยมากมักตรงกับวันที่ 15 หรือ 16 เมษายน ของทุกปี

2. ประเพณีทำบุญตลาด

การทําบุญตลาดของชาวศาลายาจะจัดขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ํา เดือน 9 เป็นประจําทุกปี เชื่อว่าหากปีไหนไม่ได้จัดจะเกิดเหตุร้ายขึ้น

อย่างไรก็ตามในเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2485 เป็นเหตุการณ์ที่สอนให้ชุมชนต้องคิดพึ่งตนเองและไม่ประมาท ซึ่งผลจากน้ำท่วมทำให้สภาพเศรษฐกิจเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ทางชุมชนกลับเกิดพลังที่สร้างสรรค์ขึ้นหลายประการ กล่าวคือ เกิดทางเลือกในการประกอบอาชีพ เช่น มีการทำสวนขึ้นในพื้นที่ เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางสังคมระหว่างชุมชนและราชการขึ้น ชาวบ้านหลายคนออกเงินส่วนตัวขุดคลองสัญจร หลายคนออกแรงงาน และหลายคนมอบพื้นที่ขุดคลอง เป็นความร่วมมือทางสังคมของชุมชนที่สำคัญ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
ทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ
  • ชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟศาลายาในอดีต นอกจากอาชีพค้าขายแล้ว ยังมีการทำเกษตรกรรมร่วมด้วย และอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง คือ การทำนาบัว โดยบัวที่ปลูก คือ บัวหลวง ซึ่งสามารถเก็บทั้งดอกและฝักขายได้ ซึ่งแต่และนา จะใช้พื้นที่ปลูกราว ๆ 20-30 ไร่ ซึ่งในปัจจุบันหากไปที่ชุมชนดังกล่าวยังสามารถพบเห็นได้อยู่
ทุนทางด้านสถาปัตยกรรม / สิ่งปลูกสร้างวัดสาลวัน
  • เดิมนั้นเรียกว่า "วัดตาพิน" ในปี พ.ศ. 2440 กำนันพิน ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนวิศาล กันโอภาส เป็นนายกองเก็บผลประโยชน์จากที่ดินนาของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้นำเงินจากค่ากองนามาสร้างเป็นวัดขึ้น ในสมัยเริ่มแรกที่ก่อตั้งวัดมีเพียงกูฏิสงฆ์และศาลารวมอยู่ด้วยกันเป็นเรือนหมู่ดูสวยงามแต่ ยังไม่มีพระอุโบสถ มีพื้นที่กว้างขวางกว่าที่พบในปัจจุบันอย่างมาก มีพระอธิการชด (เดช ดิษดี) เป็นสมภารรูปแรก ได้ร่วมกับ กำนันพิน และชาวบ้านทำนุบำรุงวัดสาลวันเรื่อยมา ได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นเป็นหลังแรกของวัด ชื่อแต่เดิมของ วัดตาพิน ถูกตั้งตามชื่อของขุนวิศาลกันโอภาส ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดภิญโญสโมสร" ตามชื่อผู้สร้าง และเป็น "วัดสาลวัน" ในที่สุด "วัดสาลวัน" กลายเป็นศูนย์กลางชาวบ้านในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา และชุมชนที่สำคัญ คือ วัด ที่ทำให้ชุมชนเริ่มเคลื่อนตัวจากสี่แยกคลองขวางมาอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดและกลายเป็นชุมชนศาลายามาจนกระทั่งปัจจุบัน
ทุนทางด้านประเพณี / ความเชื่อประเพณีสงกรานต์ 
  • ประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านชุมชนรอบสถานีรถไฟศาลายา นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตรและเล่นน้ำเช่นเดียวกับประเพณีสงกรานต์ของท้องถิ่นอื่น ๆ แล้ว ยังมีความโดดเด่นตรงที่จะมีการจัดกิจกรรม "สงกรานต์เทกระจาด" ขึ้นในวันสุดท้ายของเทศกาล โดยมากมักตรงกับวันที่ 15 หรือ 16 เมษายน การเทกระจาดนั้น ชาวบ้านจะนำสิ่งของมาบริจาค เช่น จักรยาน หม้อหุงข้าว โทรทัศน์ โดยจะติดหมายเลขไว้ที่สิ่งที่นำมาบริจาค จากนั้นก็นำหมายเลขมาใส่ในลูกมะเขือเทศซึ่งผูกกับลูกมะนาว แล้วให้พระเป็นผู้โปรยแจก ใครหยิบได้หมายเลขอะไรก็มารับของรางวัลที่ตรงกับหมายเลขนั้น วัดแรกที่จัดประเพณีเทกระจาด ได้แก่ วัดสุวรรณาราม แต่ในปัจจุบันวัดสาลวันก็มีการจัดประเพณีดังกล่าวด้วย
ประเพณีทำบุญตลาด
  • การทำบุญตลาดของชาวบ้านชุมชนรอบสถานีรถไฟศาลายา จะจัดขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นประจำทุกปี มีความเชื่อว่าหากปีไหนไม่ได้จัดจะเกิดเหตุร้ายขึ้น โดยจะนิมนต์พระ 9 รูปมาเจริญพระพุธมนต์ที่กลางตลาด นอกจากนั้นยังมีการบวงสรวงเจ้าพ่อขุนทุ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ด้วยหัวหมู ขาหน้า ขาหลัง และหาง จัดเรียงกันเป็นตัวหมู เหล้า ผลไม้ ขนมถ้วยฟู โดยจะจุดธูป 13 ดอก และยังมีการไหว้ผู้ใหญ่ริซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการทำบุญตลาดเป็นคนแรก แต่ถูกยิงเสียชีวิตกลางงานนี้ โดยจะไว้ด้วยเบียร์ และน้ำสไปรท์ ทั้งยังมีการจัดเก้าอี้ว่างไว้ด้านหน้าเพื่อให้ดวงวิญญาณผู้ใหญ่ริได้มาร่วมพิธี ณ บริเวณทางสามแพร่งกลางตลาด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปิติ มณีเนตร. (2554). รายงานการวิจัยอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมภายในร่วมสมัย กรณีศึกษา ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

ปิติมนัส บันลือ. (2553). รายงานการวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาสื่อวิดิทัศน์ปลูกจิตสานึกรักบ้านเกิดชุมชนตลาดเก่าศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

สำนักข่าวอิศรา. (2562). ผ่าแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายา และมธ.รังสิต รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม - อ่อน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก: https://www.isranews.org/article/thaireform/thaireform-documentary/82099-tod- 82099.html