ชุมชนชาวประมง บริเวณบ้านแหลมริมแม่น้ำท่าจีนต่อเนื่องกับสถานีรถไฟบ้านแหลม อดีตตำบลท่าฉลอมเป็นที่ตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย ในปัจจุบันมีตลาดเก่าแก่ วัด และศาลเจ้า รวมทั้งเป็นแหล่งตลาดการค้าอาหารทะเลสดของจังหวัดสมุทรสาคร
หลักฐานประวัติศาสตร์ได้ปรากฏชื่อชุมชนท่าจีนในแผนที่ของมองซิเออร์เซเบเรต์ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสและได้จัดทำขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2231 ในขณะที่ได้เดินทางมากับคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยได้บันทึกเมื่อล่องเรือผ่านท่าจีนไปยังชายแดนตะวันตก ได้เขียนบรรยายสภาพของชุมชนท่าจีนและลักษณะทั่วไปของสภาพพื้นที่ไว้ ประกอบกับการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์อื่นจะเห็นว่าบริเวณปากแม่น้ำท่าจีนเดิม มีความสำคัญในการเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพล เมื่อมีการเกิดสงครามเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันผู้รุกรานทางทะเล และความสำคัญด้านการค้าขายจะเป็นบริเวณที่เรือสำเภาจีนและเรือแขกมลายูเดินทางเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับกรุงศรีอยุธยา โดยนำสินค้าล่องเรือไปตามคลองสนามชัยหรือที่เรียกว่าคลองมหาชัยในเวลาต่อมา และจึงเริ่มมีการสร้างที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพทางด้านการทำประมงพื้นบ้านในบริเวณดังกล่าว จากที่ชุมชนมีชาวจีนตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมากจึงมีการเรียกขานกันว่า “บ้านท่าจีน”
เนื่องจากพื้นที่ชุมชนมีความสกปรกเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2448 ชาวบ้านท่าจีนได้ร่วมมือกันสละที่ดินในเนื้อที่บ้านของตัวเองบางส่วน เพื่อสร้างเป็นถนนสาธารณะประโยชน์ กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 42 เมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้พระราชทานนามว่าถนนถวายและได้มีพระบรมราชโองการยกฐานะเป็น “ตำบลท่าฉลอม” เป็น “สุขาภิบาลท่าฉลอม” จังหวัดสมุทรสาคร เป็นสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นในหัวเมืองเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
ท่าฉลอม เป็นตำบลหนึ่งในเมืองสมุทรสาครซึ่งเดิมฝากมหาชัยเป็นสวนป่าแสมและป่าจาก แม้จะเป็นที่ตั้งเมืองแต่มีการก่อสร้างประปราย ทั้งสถานที่ราชการ บ้านพัก การเดินเรือในสมัยนั้นต้องเดินแคบ ๆ จากท่าน้ำต่อไปยังสถานีรถไฟสายกรุงเทพฯ - สมุทรสาคร ซึ่งมีสภาพโกโรโกโส และโรงสูบฝิ่นในบริเวณใกล้ ๆ กัน ประกอบกับความคับคั่งหนาแน่นของผู้คนทำให้บรรยากาศริมฝั่งตลาดท่าฉลอมเต็มไปด้วยความสนุกสนานของผู้คนตลาดท่าฉลอมในสมัยนั้น จึงถือได้ว่าเป็นย่านการค้าที่มีทำเลอันอุดมไปด้วยอาชีพมากมาย ทั้งการทำประมง, ดองปลา, ทำกะปิ และน้ำปลา ที่นี่จึงมีทั้งตลาดน้ำในยามเช้า และตลาดสดบนบกรวมถึงมีบ่อน ถั่วโป โรงฝิ่นโรงเหล้า โรงมหรสพ และลิเกอีกสารพัด
ครั้นในปี ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งได้พระราชทานดำริในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นขึ้น โดยทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ “พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116” ขึ้นจากการที่ทรงมอบหมายให้ไปศึกษาดูงานการปกครองจากประเทศพม่า มลายู และยุโรป โดยได้เริ่มนำมาทดลองใช้ เพื่อเป็นการศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดยสุขาภิบาลนี้จะทำหน้าที่ทำลายขยะมูลฝอยจัดเก็บของเสียจากการขับถ่ายของประชาชนทั่วไป จัดการห้ามมิให้มีการปลูกสร้างหรือซ่อมโรงเรือนที่จะเป็นเหตุให้เกิดโรค หรือขนย้ายสิ่งของโสโครก และสิ่งรำคาญของมหาชนให้พ้นไปเสีย “ตำบลท่าฉลอม” จึงถูกยกฐานะเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม ซึ่งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย
“สุขาภิบาลท่าฉลอม” กลายเป็นต้นแบบการปกครองท้องถิ่นที่สำคัญตามระบอบประชาธิปไตยของเมืองไทย เมื่อมีการกระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ความร่วมมือร่วมใจของชาวท่าฉลอมทำให้ท่าฉลอมเป็นเมืองที่มีความสมบูรณ์พรั่งพร้อม ทั้งระบบสาธารณูปโภค วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงวันนี้วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นยังคงแสดงออกถึงพื้นเพแต่ดั้งเดิมของคนท่าฉลอมที่มีน้ำใจ รักสะอาด มีคุณธรรม ที่ยังคงเป็นภาพฉายให้ได้เห็นอยู่เสมอมา
ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 105 ปี ของ “ท่าฉลอม” ก่อเกิดเป็นความภาคภูมิใจ จากสุขาภิบาลท่าฉลอมในอดีตได้ถูกยกฐานะเป็น เทศบาลนครสมุทรสาคร ทว่าไม่อาจลบความทรงจาและชื่อของ “ท่าฉลอม” ให้เลือนหายไปได้ ณ วันนี้ท่าฉลอมกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่คลาคล่ำไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำสร้างรายได้แก่ประเทศไทยปีละหลายแสนล้านบาท ตลอดจนมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว เลือกซื้อสินค้ามากกว่า 3 แสนคนต่อปี
เอกลักษณ์อันโดดเด่นของ “ท่าฉลอม” ที่คงอยู่ถึงปัจจุบัน คือเป็นเมืองท่าสำคัญในการสัญจรไปมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งท่าฉลอมยังได้ชื่อว่าเป็นตำบลที่มีการเติบโตสูงสุด และรวมวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ที่ตั้ง อาณาเขต และสภาพทั่วไปของชุมชนท่าฉลอม
ชุมชนท่าฉลอมตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วยชุมชน 6 ชุมชน โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำท่าจีนเชื่อมต่อกับเทศบาลนครสมุทรสาคร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำท่าจีนเชื่อมกับตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง สมุทรสาคร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำท่าจีนเชื่อมกับตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง สมุทรสาคร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำท่าจีนเชื่อมต่อกับเทศบาลนครสมุทรสาคร
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
บริเวณตอนล่างของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มติดชายฝั่งทะเล มีความยาวขนานกับชายฝั่งทะเล ระยะทาง 41.8 กิโลเมตร บริเวณที่มีน้ำทะเลไม่ท่วม เหมาะที่จะใช้ทำนาเกลือ การทำประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ได้แก่ กุ้ง และหอยชนิดต่าง ๆ ส่วนบริเวณถัดขึ้นไปเล็กน้อย มีน้ำทะเลยังคงท่วมอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำและป่าชายเลน ในส่วนบริเวณตอนกลางของจังหวัดทั้งฝั่งซ้ายขวาของแม่น้ำท่าจีน เป็นที่ลุ่ม ฤดูฝนน้ำจะไม่ท่วมเหมาะแก่การทำนา สุดท้ายส่วนพื้นที่ตอนบนของจังหวัดมีการปรับพื้นที่เป็นคันดินปลูกผักและผลไม้
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
พื้นที่ชุมชนท่าฉลอมล้อมรอบด้วยแม่น้ำท่าจีน ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ที่มีลักษณะเป็นป่าแสมอยู่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำท่าจีนคงเหลือจำนวนน้อย เนื่องจากมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นในปัจจุบัน
จากข้อมูลการสำรวจฐานประชากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าจำนวนประชากรและบ้านเรือน คือจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 7,910 คน แบ่งเป็นประชากรหญิง 4,129 คน และชาย 3,781 คน ส่วนจำนวนหลังคาเรือนมี 2,453 หลังคาเรือน
ชาติพันธุ์ชุมชนจีน ในสมุทรสาครมีลักษณะของความเป็นชุมชน 2 ประเภท ได้แก่ ชุมชนประมง และชุมชนตลาด การเริ่มต้นเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาในบริเวณปากน้ำท่าจีนหลายระลอก และบางครั้งไม่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ มีเพียงคำบอกเล่า แต่ที่แน่ชัด คือชุมชนเล็ก ๆ ของชาวจีนได้ขยับขยายเป็นชุมชนใหญ่ และได้สานสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง มีการแต่งงานข้ามไปมาจนเป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายจีน รวมทั้งคนจีนเชื้อสายมอญ หรือไทดำมีกระจายอยู่ทั่วจังหวัด ชุมชนใหญ่ ๆ ที่ส่วนมากเป็นชาวจีนและมีบทบาททางเศรษฐกิจ คือชุมชนจีนท่าฉลอม
การเกิดขึ้นของชุมชนจีนมีส่วนสำคัญในการสร้างเมืองสาครบุรี เนื่องจากบ้านท่าจีนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ชาวจีนอ่าวสยามตั้งถิ่นฐานหนาแน่น เนื่องมาจากการค้าทางทะเลในสมัยอยุธยาเป็นพื้นที่ท่าเรือสำเภาที่ชาวจีนแล่นมาจอดเพื่อนำสินค้ามาขายกับชาวสยาม
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวจีนยังคงเป็นแรงงานอิสระที่มีเสรีภาพในการเดินทางและตั้งหลักแหล่งเพื่อช่วยการค้าของหลวง ทำหน้าที่เก็บภาษี การส่งออกและการเดินเรือ และชุมชนจีนได้เติบโตตามการขยายตัวของการค้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหัวเมืองสาครบุรี โดยบริเวณท่าฉลอมช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มเห็นการก่อตั้งสมาคมชาวจีนที่ชัดเจนเป็นผลให้สถานะทางสังคมและบทบาทเศรษฐกิจมั่นคง วิถีชีวิต และมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลุ่มน้ำท่าจีนต่อมา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชุมชนประมงที่เป็นชาวจีนที่ตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ตามแนวชายฝั่งอ่าวมหาชัย
จีน, มอญกลุ่มเรือประมงจิ๋ว กลุ่มผลิตเรือจำลองด้วยมือที่ผลิตเรือจำลองที่มีคุณภาพ โดยอาจารย์บุญเลิศ แสงทับทิม ที่สร้างเรือจำลองเพื่ออนุรักษ์เรือไม้ที่กำลังจะหมดลง เป็นการสร้างเรือประมงแบบท้ายเมและท้ายตัดซึ่งมีการสอนขั้นตอนการเรียนรู้วิธีการทำเรือประมงท่าฉลอม เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการต่อเรือจำลองต่อไป
ด้านการประกอบอาชีพ ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนท่าฉลอมมีการทำประมง การแปรรูปอาหารทะเล ได้แก่ กุ้ง หอย ปู และปลาทู สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยชุมชนท่าฉลอมเป็นชุมชนที่มีการทำประมงมาแต่ในอดีต
ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร
ประเพณีนี้จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร หรือเจ้าพ่อวิเชียรโชติ ทำจากไม้โพธิ์แกะสลักที่มีลักษณะคล้ายพระสยามเทวาธิราชอยู่ในท่าประทับยืนบนเกี้ยวซึ่งแกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงและปิดทองคำเปลวบริสุทธ์ทับไปอีกชั้น ความสูงประมาณ 1 ศอกเศษ ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะชาวประมงก่อนออกเรือหาปลาทุกครั้งจะต้องมีการจุดประทัดเป็นการเซ่นไหว้ มีการอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองจากศาลหลักเมืองเพื่อแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ในจังหวัด และอัญเชิญลงเรือประมงแห่ไปตามแม่น้ำท่าจีนจากฝั่งมหาชัยไปฝั่งท่าฉลอมบริเวณวัดสุวรรณารามและอัญเชิญไปถึงวัดสุทธิวาตวรารามเพื่อให้ประชาชนสักการะบูชาให้เป็นสิริมงคลของชีวิต
1. นายบุญเลิศ แสงทับทิม ประธานกลุ่มชมรมเรือประมงจิ๋ว ท่าฉลอม โดยเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างเรือประมงจำลอง อันเนื่องจากความเชี่ยวชาญในการต่อเรือประมงของจริงมานานกว่า 20 ปี และได้ทำการต่อเรือประมงจิ๋วเพื่ออนุรักษ์เรือประมง ในปัจจุบันการต่อเรือจะไม่มีการใช้ไม้อีกต่อไป เป็นเหตุให้เกิดความสนใจของผู้ที่ชื่นชอบเรือประมงจิ๋วจำลองและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชมรมเรือประมงจิ๋ว
ทุนทางวัฒนธรรม
โรงเจเช็งเฮียงตั๊ว โรงเจใหญ่และเก่าแก่ของจังหวัดสมุทรสาครในพื้นที่ตำบลท่าฉลองสร้าง โดยชาวจีนแต้จิ๋วเก่าแก่กว่าร้อยปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน โรงเจนี้ประกอบไปด้วยอาคารประธานอาคารประดิษฐานป้ายวิญญาณ ศาลทีกง โรงเจ อาคารสำนักงาน และโรงงิ้ว ภายในอาคารประธานมีเทพเจ้าเต๋าบ้อและนพพระเคราะห์เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวา มีเทพเจ้าน่ำปั๊กกวนกุน (เทพเจ้าดาวเหนือและดาวใต้) และด้านซ้าย มีเทพเจ้าฮั่วถ้อเซียนซือ ซิ่งล่ง เซียนตี่ และซิ่งกิมยิ้น อาคารประดิษฐานป้ายวิญญาณอยู่บริเวณด้านหลัง ซึ่งมีแผ่นป้ายวิญญาณของบรรพชนชาวท่าฉลอมจำนวนมากเก็บไว้อยู่ ในเดือนตุลาคมของทุกปี มีงานประเพณีเทศกาลถือศีลกินเจ 10 วัน ซึ่งจะมีชาวสมุทรสาครและจังหวัดอื่น ๆ จำนวนมากมาไหว้ที่โรงเจแห่งนี้
ศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เขตตำบลท่าฉลอม ไม่ปรากฏการก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยใด การนับถือเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยมาจากความเชื่อของชาวจีนไหหลำ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าแม่เป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล หรือ “เจ้าแม่ชายน้ำ” ช่วยคุ้มครองผู้เดินทางเรือ ชาวประมงจึงให้การเคารพนับถือมาก สำหรับชาวจีนที่มาอยู่ในไทยได้สร้างรูปปั้นเจ้าแม่และใส่เครื่องประดับเป็นพลอยสีแดง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เจ้าแม่ทับทิม” พิธีกรรมของศาลเจ้าที่สำคัญคือ พิธีลุยไฟจะทำเฉพาะเมื่อเจ้าแม่ประทับร่างทรงและทำนายทายทักว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น โดยเฉพาะเด็กจมน้ำเสียชีวิตและอุบัติเหตุทางน้ำ ร่างทรงจะจัดให้มีพิธีลุยไฟเพื่อปัดเป่าโชคร้ายให้หายไป รวมทั้งมีพิธีแห่เจ้าแม่รอบเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ และแห่ไปในย่านท่าฉลอมและมหาชัย โดยพิธีทั้งสองนี้จะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นงานประจำปีของศาลเจ้า นอกจากนี้ได้มีพิธีฉลองวันเกิดเจ้าแม่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี ชาวไทยเชื้อสายจีน และผู้เคารพนับถือจะเชิญพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และมีการแสดงงิ้วสมโภช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าแม่ทับทิม นอกจากเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ยแล้วยังมี เจ้าพ่อกวนอู จือชาง(เตียวหุย) และปุนเถ้ากง คนในพื้นที่เชื่อว่าถ้าห้อยรูปเจ้าแม่ทับทิมไว้ติดตัวทำให้เกิดความกล้าหาญ เมื่อมีพิธีลุยไฟ ลูกศิษย์เจ้าแม่ที่เป็นผู้ชายวัยรุ่นจะมารวมตัวกันเพื่อทำแสดงความกล้าโดยการเดินบนถ่านที่ติดไฟเพราะเชื่อว่าเจ้าแม่จะช่วยคุ้มครองไม่ให้ถูกไฟไหม้และปลอดภัย
ศาลเจ้าแม่พระโพธิสัตย์กวนอิม ตั้งอยู่ในตำบลท่าฉลอมตรงข้ามกับวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2539 (สมัยพระครูสุทธิธรรมสาคร เจ้าอาวาสวัดช่องลม) ที่ดินสำหรับสร้างศาลได้รับการบริจาคจากนางเรียม ลือประเสริฐ และนายจำรูญ จันทรภักดี ปัจจุบันวัดช่องลมเป็นผู้ดูแล โดยในพื้นที่มีการใช้สอยที่แตกต่างกัน คือ (1) บริเวณศาล มีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมสูง 9.98 เมตร และมีอาคารผนังหินอ่อนประดิษฐานรูปปั้นและภาพเขียนเจ้าแม่กวนอิม (2) บริเวณด้านข้างศาล มีโรงทานใช้เป็นที่บริจาคอาหารเจให้กับผู้ที่มาถือศีลทำบุญ และ (3) บริเวณลานด้านหน้าศาล มีแท่นวางรูปเคารพ ได้แก่ พระสังกัจจายน์และพระพุทธรูปปางนาคปรกด้านหน้าแทนจะมีบทสวดมนต์บูชาเจ้าแม่กวนอิม ซุ้มประตูทางเข้าศาลจะมีข้อความเขียนว่า “ให้โชคดีมีชัย กลับไปร่ำรวย” ผู้ที่มากราบไหว้บูชาและขอพรเจ้าแม่นิยมถวายธูปขนาดเล็กและใหญ่ ธูปมังกร โคมไฟ โพธิ์เงินโพธิ์ทองและสร้อยมุก และทำบุญด้วยการบริจาคข้าวสารศาลเจ้าแม่กวนอิมมีงานนมัสการประจำปีในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะมีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน และแจกข้าวสารให้กับผู้ยากไร้
ศาลเจ้าปุนเถ้ากง หรือศาลเจ้ากลาง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในสมุทรสาคร เดิมตั้งอยู่ข้างวัดใหญ่จอมปราสาทหรือบ้านท่าจีน ต่อมาย้ายมาสร้างที่ริมแม่น้ำท่าจีน เขตตำบลท่าฉลอม สร้างเป็นศาลไม้สักหลังคามุงจากในปี พ.ศ. 2382 แต่สันนิษฐานว่าศาลเดิมอาจจะสร้างมาก่อนหน้านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ปรับปรุงเป็นศาลปูนหลังคามุงกระเบื้อง เสา ขื่อแปด้วยด้วยไม้สัก มีการซ่อแซมในปี พ.ศ. 2515 และมีการสร้างรั้วและซุ้มประตูเพิ่มในปี พ.ศ. 2528
ศาลเจ้าแห่งนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แรกๆของชาวจีนโพ้นทะเลในท่าฉลอม เทพเจ้าสำคัญในศาลประกอบด้วย เจ้าพ่อปุนเถ้ากง (องค์ประธาน) ชาวจีนแต้จิ๋วในไทยเชื่อว่าเจ้าพ่อปุนเถ้ากงเป็นเจ้าที่และเทพแห่งการเดินเรือ นอกจากนั้นยังมี เจ้าพ่อเจ้งอุ่ยจูซิ๊ง เจ้าพ่อหน่ำซิ๊งปักเต้า เจ้าพ่อช่างตายี่กง เจ้าแม่ทับทิม และรูปจำลองเจ้าพ่อหลักเมือง ภายในศาลจะมีภาพเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จมาเยือนท่าฉลอมและเปิดถนนถวายในปี พ.ศ. 2448 วันเกิดเจ้าพ่อปุนเถ้ากงคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ จะมีการแสดงงิ้วถวายเจ้าพ่อ รวมทั้งในช่วงเทศกาลกินเจจะมีการจัดงานเทกระจาดในช่วงเดือนตุลาคม แจกข้าวสารอาหารแห้งให้กับคนยากจน
ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตำบลท่าฉลอม มีอายุนานกว่าร้อยปี กล่าวคือชาวจีนท่าฉลอมนับถือบูชาเจ้าพ่อกวนอูในฐานะเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความจงรักภักดี และคุณธรรม ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากในท่าฉลอมได้นำคติความเชื่อนี้มาใช้ โดยกลุ่มผู้ชายที่ทำงานเป็นกรรมกรรับจ้าง แบกหาม ขุดดิน และงานก่อสร้างได้สร้างกลุ่มหรือสมาคม (อั้งยี่) ของตัวเอง ใช้ชื่อว่าสมาคมสามัคคีธรรมภาวนา ซึ่งความจงรักภักดีภายในกลุ่มถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ สมาชิกจะต้องทำพิธีสาบานตนเป็นพี่น้องกันและซื่อสัตย์ต่อกัน เจ้าพ่อกวนอูจึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มทำให้สมาชิกรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและช่วยเหลือกัน ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลประกอบด้วย เจ้าพ่อกวนอู (องค์ประธาน) ช่วยส่งเสริมการค้าให้เจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย, เจ้าแม่ทับทิม (บริวารด้านขวา) ช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวมีความสุข มีเงินทอง และโหงวโจ๊ (บริวารด้านซ้าย) ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
ศาลเจ้าแม่เมืองสมุทร ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ภายในวัดสุทธิวาตวราราม หรือช่องลม ตำบลท่าฉลอม โดยภายในศาลมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคือเจ้าแม่ทับทิม (องค์ประธาน) รวมทั้งเทพเจ้าบริวาร ได้แก่ แป๊ะกง ตี่จั่งอ๊วงผ่อสัก (พระกษิติครรภโพธิสัตว์ หมายถึงขุมทรัพย์และบ่อเกิดแห่งแผ่นดิน) และใช้ซิ้งเอี๊ย (เจ้าพ่อเงินตรา)
วัดแหลมสุวรรณาราม (ท่าฉลอม) จังหวัดสมุทรสาคร "วัดแหลมสุวรรณาราม” หรือที่ชาวบ้านเรียก วัดหัวแหลมอยู่ติดกับที่สถานีรถไฟ และแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2369 ด้วยไม้ทั้งหลัง ภายในโบสถ์ประดิษฐานหลวงพ่อดำ แต่เดิมองค์พระเป็นไม้ เนื่องจากทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงมีการครอบด้วยปูนดังที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากความสวยงามของโบสถ์ไม้เก่าหลังนี้แล้ว ยังมีช่อฟ้าใบระกาที่สวยแปลกตาไม่เหมือนที่อื่น คือช่อฟ้าด้านบนสุดจะเป็นรูปหัวสิงโต ถัดลงมาเป็นหัวพญานาคไหหลำ และหัวพญานาคไทย รวมถึงกระเบื้องปูพื้นลวดลายโบราณจากจีนอายุกว่าร้อยปี นอกจากนี้ มีซุ้มวงกบ ประตู ที่แกะสลักด้วยความปราณีตบรรจงอ่อนช้อยงดงามจากช่างชาวจีนไหหลำ รวมถึงพระพุทธรูปรอบโบสถ์ที่ทำจากไม้อีก 18 องค์ ทว่ามีเพียงหนึ่งองค์ที่ทำจากเนื้อสำริด
กรมการปกครอง. (2566). ระบบสถิติทางการทะเบียนจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/displayData.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2565). แผนที่วัฒนธรรมชาติพันธุ์สาครบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/samutsakhon/ethno-map/info.php.
เกียรติศักดิ์ สองศร. (2553). ผลกระทบของอุตสาหกรรมประมงต่อการตั้งถิ่นฐานชุมชนท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรีดี พิศภูมิวิถี และคณะ. (2561). สาครบุรี จากวิถีชาวบ้าน: การเปลี่ยนแปลงผ่านวิถีชีวิตท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
สอาด สุขเสดาะ และคณะ. (2553). พฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเรือข้ามฟากท่าฉลอม-มหาชัย. (รายงานวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). ปฏิทินวัฒนธรรม ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566, จาก https://calendar.m-culture.go.th/events/100613.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2564). สมุทรสาครศาสนสถานและศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/samutsakhon/religiousplace/.
มาหาสมุทรสาคร. (2561). โรงเจเช็งเฮียงตั๊ว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566, จาก http://www.visitsk.org/?p=10887.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). วัดแหลมสุวรรณาราม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566, จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/97945.
มาหาสมุทรสาคร. (2566). สถานีรถไฟบ้านแหลม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566, จาก http://www.visitsk.org/?p=10801.