Advance search

มีสวนชมพู่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกชมพู่และทำการเกษตร มีข้าวหลามที่เป็นสินค้าพื้นเมืองของบ้านกุ่ม และวัดบันไดทองเป็นศูนย์กลางของชุมชน

บ้านกุ่ม
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
ภัทรานิษฐ์ พิศวงค์
25 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
13 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บ้านกุ่ม

ตำบลบ้านกุ่มเดิมทีมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งพืชชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 20 เมตร มีลักษณะใบมน ขึ้นบนบก เรียกว่า "กุ่มบก" และขึ้นตามริมแม่น้ำเพชรบุรี เรียกว่า "กุ่มน้ำ" เห็นดังนั้นจึงเรียกพื้นที่นี้ว่าตำบลบ้านกุ่มมาจนถึงปัจจุบัน 


ชุมชนชนบท

มีสวนชมพู่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกชมพู่และทำการเกษตร มีข้าวหลามที่เป็นสินค้าพื้นเมืองของบ้านกุ่ม และวัดบันไดทองเป็นศูนย์กลางของชุมชน

บ้านกุ่ม
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
76000
13.16
99.94
เทศบาลตำบล้เทศบาลตำบลบ้านกุ่ม

ตำบลบ้านกุ่มเดิมทีมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นตามไร่นา สวน พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งพืชชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 20 เมตร มีลักษณะใบมน ขึ้นบนบก เรียกว่า กุ่มบก และขึ้นตามริมแม่น้ำเพชรบุรี เรียกว่า กุ่มน้ำ เห็นดังนั้นจึงเรียกพื้นที่นี้ว่าตำบลบ้านกุ่มมาจนถึงปัจจุบัน 

ชุมชนบ้านกุ่ม เป็นชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่ตำบลบ้านกุ่ม โดยชุมชนตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกของเส้นทางหลวงหมายเลข 3176 ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีการระบายน้ำได้ช้าถ้าฝนตกมากๆ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังอยู่บ่อยครั้ง และมีต้น "กุ่มบก" และ "กุ่มน้ำ" ขึ้นบกคลุมอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก 

ตำบลบ้านกุ่มตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเมืองเพชรบุรี ประกอบด้วย 13 หมู่บ้าน ได้แก่

  • หมู่ที่ 1 บ้านใต้วัดน้อย
  • หมู่ที่ 2 บ้านใต้กรมทหาร
  • หมู่ที่ 3 บ้านน้ำหัก
  • หมู่ที่ 4 บ้านท้องคุ้ง
  • หมู่ที่ 5 บ้านโพธิ์
  • หมู่ที่ 6 บ้านบางปลาหมอ
  • หมู่ที่ 7 บ้านบางปลาหมอ
  • หมู่ที่ 8 บ้านหน้าวัดกุฏิ
  • หมู่ที่ 9 บ้านกุ่ม
  • หมู่ที่ 10 บ้านกุ่ม
  • มู่ที่ 11 บ้านใหม่
  • หมู่ที่ 12 บ้านใต้เหมืองใหญ่
  • หมู่ที่ 13 บ้านเหนือวัดปากคลอง 

ตำบลบ้านกุ่มมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12.144 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,590 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีความลาดชันน้อยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ     จรด  ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม
  • ทิศตะวันออก จรด  ตำบลบางครก ตำบลท่าแร้ง และตำบลหนองโสน 
  • ทิศใต้        จรด  เทศบาลเมืองเพชรบุรี
  • ทิศตะวันตก  จรด  ตำบลธงชัย อำเภอเมือง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลบ้านกุ่ม

วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้ง ตำบลบ้านกุ่ม และแปรรูปพืชผลไม้ จัดตั้งเมื่อ 4 สิงหาคม 2552 ดำเนินการภายใต้หลักความเป็นประชาธิปไตย กำหนดยุทธศาสตร์ ปลูกเอง กำหนดราคาเองขายเอง มีคณะกรรมการในการบริหารจัดการองค์กร กำหนดราคาหน้าสวนตั้งแต่ 150 บาทขึ้นไป และมีเงื่อนไขควบคุมคุณภาพของชมพู่ให้ได้รสชาติใกล้เคียงกัน โดยใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นไม้เท่านั้น เพราะดินแถบนี้เป็นดินร่วนปนทรายมีตะกอนธรรมชาติให้ความหวานชมพู่อยู่แล้ว โดยไม่ต้องเพิ่มปุ๋ยเคมีลงไป สำหรับต้นทุนในการปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งมีต้นทุนสูงจากการทำนั่งร้านพยุงต้นและค่าแรงในการห่อผล หลังตั้งกลุ่มขึ้นมาการดำเนินการก็ประสบผลสำเร็จ ทำให้สมาชิกสามารถขายชมพู่ได้เอง โดยคัดชมพู่ขนาดเล็กตั้งร้านขายหน้าบ้าน ส่วนขนาดใหญ่คุณภาพดีเอาไปส่งขายเองที่กรุงเทพฯ ทางกลุ่มจึงเน้นการดำเนินการที่เป็นความร่วมมือร่วมใจและสามัคคีในกลุ่มสมาชิก ส่งผลให้ประโยชน์เกิดกับสมาชิกอย่างแท้จริง

การทำสวนชมพู่ ชุมชนบ้านกุ่มมีการทำสวนชมพู่ที่ถือเป็นสัญลักษณ์และเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของตำบลบ้านกุ่ม เนื่องจากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการปลูกชมพู่และมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นจึงมีการนิยมปลูกชมพู่ เป็นวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านและก่อให้เกิดการสร้างรายได้ของคนในชุมชน

การทำข้าวหลาม ชุมชนบ้านกุ่มมีการทำข้าวหลามที่มีมามากกว่า 50 ปี มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เดิมข้าวหลามบ้านกุ่มยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงมากนักในการขายจึงมีการหาบไปขายในตัวเมือง หรือ ตามตลาดในที่ต่าง ๆ จนเริ่มมีชื่อเสียงชาวบ้านในตำบลบ้านกุ่มจึงหันมาทำข้าวหลามกันมากขึ้น และก็มีวิธีการเปลี่ยนไปโดยเดิมเคยปิ้งในหลุมดินใช้ฟางหรือฟืนเป็นเชื้อ (วิธีลำพวน) ในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เตาทำเป็นขาตั้งสูง ๆ เตามีลักษณะยาว ตรงกลางเตามีคานเหล็กอันเล็กเพื่อให้สามารถปิ้งข้าวหลามได้ในจำนวนที่มากขึ้น จึงทำให้ไม่ต้องใช้ใบตองในการปิดเพื่อป้องกันขี้เถ้า ส่วนใหญ่นิยมใช้ถ่านในการปิ้งข้าวหลาม มากกว่าใช้ฟางหรือวัสดุอื่น ๆ ปัจจุบันนี้ข้าวหลามหลายเจ้าในตำบลบ้านกุ่ม มีรสชาติแตกต่างกันออกไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดบันไดทอง ตั้งอยู่เลขที่ 56 บ้านโพธิ์ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน อาณาเขต ทิศตะวันตกจดถนนหลวงสายเพชรบุรี – บ้านแหลม ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกจดแม่น้ำเพชรบุรี อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมือง พ.ศ. 2523 ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์เสาทุกด้านมีคันทวยหน้าตั๊กแตน รับเชิงชาย มีอุโบสถ และพระพุทธรูปปางสมาธิ ศาลาทรงไทยท่าน้ำ ศาลาพักร้อน ศาลาการเปรียญ หมู่เรือนไทยสวยงาม ลายหน้าบันสวยงาม ช่อฟ้าใบระกา อ่อนซ้อย วัดบันไดทองเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2275 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และรูปแบบศิลปกรรมของศาสนสถานเป็นรูปแบบเฉพาะ ที่ได้พยายามรักษารูปแบบเอาไว้ ปัจจุบัน มีพระครูสิริพัชรานุโยค เป็นเจ้าอาวาส

วัดขุนตรา เป็นวัดเก่าแก่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่เลขที่ 72 บ้านน้ำหัก ถนนต้นแค หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2125 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2130 การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระเส่ง รูปที่ 2 พระสอย รูปที่ 3 พระปรีชารตนปญโญ เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ขนมข้าวเกรียบงาดำ ข้าวเกรียบงาดำเป็นขนมที่สำคัญของชุมชน มีการใช้น้ำตาลโตนดในการทำซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของเพชรบุรีและถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี การทำข้าวเกรียบงาในปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจนมีความผิดเพี้ยนไปจากสูตรเดิมที่มีการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการณรงค์ส่งเสริมให้คนในชุมชนอนุรักษ์การทำข้าวเกรียบงาสูตรดั้งเดิมเนื่องจากปัจจุบันข้าวเกรียบงาดำหาทานยากมากขึ้น

ข้าวหลาม เป็นอาหารหวานที่ทุกคนรู้จักดี มีขายทั่วทุกมุมของประเทศทุกภาค ทุกจังหวัดสำหรับจังหวัดเพชรบุรี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองฯ ถือเป็นแหล่งหนึ่งที่มีการทำข้าวหลามเป็นสินค้าพื้นเมืองที่หากินได้ง่าย และเป็นที่ชื่นชอบสำหรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรี มีหลายร้านให้เลือกตามความชอบในรสชาติข้าวหลามบ้านกุ่มมีมามากกว่า 50 ปีแล้ว และมีมาก่อนข้ามหลามที่อื่น ที่ผู้อื่นคิดค้นคนแรกคือ คุณยายนิด เพิ่มพูน โดยคุณยายนิดได้มีแนวคิดการทำข้าวหลามมาจากการที่คุณยายนิดและสามี ออกไปทำนาและอยากทานข้าวร้อนๆ อีกทั้งคุณยายนิดได้ยินมาว่าเวลาทหาร หรือ ลูกเสือเข้าป่า จะมีวิธีหุงข้าวแบบง่ายๆ คือการนำข้าวไปหุงในกระบอกไม้ไผ่ หลังจากนั้นคุณยายนิดจึงคิดค้นเปลี่ยนจากการนำข้าวจ้าวไปหุงเป็นการนำข้าวเหนียวไปหุงในกระบอกไม้ไผ่

ทุนทางธรรมชาติ

ชมพู่เพชร เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของตำบลบ้านกุ่ม จังหวัดเพชรบุรี เป็นผลไม้ที่มีสีสวย ผลแก่จัดจะมีเส้นสีแดงและเส้นสีเขียว รสชาติอร่อย หวาน จัดจ้าน ถูกใจผู้บริโภค ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า “เพชรสายรุ้ง” เป็นชมพู่ที่มีราคาแพงที่สุด แม้จะมีราคาแพงแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะก็นิยมซื้อชมพู่เพชรสายรุ้ง เป็นของขวัญของฝากผู้ใหญ่ที่นับถือ ซึ่งผู้ได้รับก็จะรู้สึกพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเป็นผลไม้ที่มีเอกลักษณ์ มีราคาแพง มีปริมาณผลผลิตออกมาสู่ตลาดในแต่ละปีไม่มาก ทำให้ผู้ที่ได้รับรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้บริโภค ประกอบกับจึงหวัดเพชรบุรีได้เล็งเห็นแล้วว่า ชมพู่เพชรสายรุ้ง ที่ปลูกในจังหวัดเพชรบุรี มีลักษณะโดดเด่นทั้งรูปลักษณ์ รสชาติ ที่ไม่เหมือนกับการปลูกที่อื่น

ตาลโตนดหรือตาล

เป็นพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งอยู่ในสกุล Borassus มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Borassus Flabellifer เป็นพืชยืนต้นที่มีอายุยาว 100-150 ปี เมื่ออายุประมาณ 10-15 ปี จะเริ่มออกดอกและมีผล ตาลโตนดนอกจากเป็นพืชเศรษฐกิจของท้องถิ่นใน เพชรบุรี ยังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะคนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับตาลโตนดมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์ในการประกอบอาหาร ทั้งเครื่องดื่ม อาหารหวาน อาหารคาว และเครื่องปรุงรส อีกทั้งการใช้ประโยชน์จากไม้ของต้นตาลเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเรือน โดยมีการจัดการจัดการอบรมทักษะการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ถ่านอัดแท่งและถ่านดูดกลิ่น จากวัสดุเหลือใช้ตาลโตนด มีทิศทางการพัฒนาต่อยอดเพื่อยกระดับการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพวิสาหกิจชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี เป็นหน่วยงานระดับจังหวัดที่ได้รับมอบหมายให้เป็น ผู้ดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัดเพชรบุรี (CoO) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนบริหารสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี ปีพ.ศ. 2564 ชนิดสินค้าเกษตร ได้แก่ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี โดยกลุ่มสารสนเทศการเกษตรได้จัดทำข้อมูล “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่ สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี “ชมพู่เพชรสายรุ้ง”


การทำบุญข้าวหลาม

ข้าวหลามเป็นอาหารหวานพื้นถิ่นของชุมชนบ้านกุ่มที่นอกจากจะใช้ในเชิงพาณฺชย์แล้วข้าวหลามยังมีการทำข้าวหลามในการทำบุญของคนในชุมชนที่มีมานานถึง 10 ปี และเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและพระสงฆ์ โดยการทำบุญข้าวหลามเป็นการร่วมใจกันทำของชาวบ้านและพระสงฆ์ที่ได้ช่วยกันทำ ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นการทำข้าวหลามตามศรัทธาและถือเป็นการร่วมทำบุญและยังมีการแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน การทำบุญข้าวหลามถือเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนในการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสืบทอด อนุรักษ์ ให้เกิดเป็นคุณค่าของชุมชนที่นอกจากการใช้ในเชิงพาณิชย์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จันทร์เพ็ญ ชุมแสง และพิทักษ์ อุปัญญ์. (2562). การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถ่านดูดกลิ่น 3 in 1 จากวัสดุเหลือใช้ตาลโตนด เพื่อส่งเสริมอาชีพและยกระดับมาตราฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

ฐานข้อมูลองค์ความรู้แม่น้ำเพชรบุรี. (2556). วัดบันไดทอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://catlovecatza.wordpress.com/2013/09/21/

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี. (2564). ข้อมูลพื้นฐานสินค้าเกษตรที่สำคัญ ชมพู่เพชรสายรุ้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.opsmoac.go.th/phetchaburi-dwl-files-432791791960

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่ม. (2559). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.bankum-sao.go.th/site/

kasetphet check-in. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลบ้านกุ่ม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://kasetphetcheckin.com/community-1

Love Thailand. (2555). วัดขุนตรา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.lovethailand.org/travel/th/11.html

oknation. (2558). ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตอน ข้าวหลามบ้านกุ่ม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.oknation.net/post/detail/634f7be6d0a0e2399d450662

Thai PBS (ผู้ผลิต). (2564, 23 กุมภาพันธ์). บุญข้าวหลามเดือนสามเมืองเพชร : เรื่องนี้มีตำนาน. [วีดิทัศน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=-SOGX7sSIPc