หมู่บ้านเกษตรกรรมในพื้นที่อุทนานแห่งชาติแก่งกรุง
ชุมชนบ้านไร่ยาว เป็นชุมชนใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมาหลังจากการทําสัมปทานไม้ เป็นถนนดินเก่าที่ใช้ชักลากไม้เข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งภายหลังประกาศเป็นเขตอนุรักษ์และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง หลังจากชักลากไม้ออกหมดแล้ว ก็มีชาวบ้านที่เป็นพวกควาญช้างจากสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชขึ้นมาทําคอกช้างและทำเพนียดเพื่อดักช้างป่า เพราะสภาพป่าที่เหลือติดต่อกับป่าที่ยังสมบูรณ์ โดยควาญช้างกลุ่มนี้ถือเป็นประชากรกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านไร่ยาว หลังจากนั้น 2-3 ปี เริ่มมีชาวบ้านทยอยหลั่งไหลเข้ามาสร้างบ้านเรือนในพื้นที่บ้านไร่ยาวเพิ่มมากขึ้นเนื่อย ๆ จนต้องมีการซื้อขายที่ดินกันเกิดขึ้น ต่อมาประมาณในปี พ.ศ. 2525-2530 เริ่มผู้อพยพมาจากภาคอีสาน เช่น โคราช บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น ได้เข้ามาทํางานรับจ้าง ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็ซื้อที่ดินเป็นของตนเอง จากนั้นก็เริ่มมีชาวบ้านจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคเหนือ ที่ได้เข้ามาซื้อที่ดินปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในบ้านไร่ยาว ทำให้บ้านไร่ยาวกลายสภาพเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ลักษณะภูมิประเทศชุมชนบ้านไร่ยาว มีลักษณะเป็นที่ราบสูงเชิงเขาสลับกับลอนลาดชันเป็นช่วง ๆ ด้านทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาทอดยาวในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง แหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง มีบ่อน้ำตื้นที่ชาวบ้านขุดไว้ใช้เอง 104 แห่ง การทําการเกษตรอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น
ข้อมูลจากองค์การบริการส่วนตำบลประสงค์เมื่อปี พ.ศ. 2564 ระบุว่า หมู่ 16 บ้านไร่ยาว ตำบลประสงค์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,363 คน โดยประชากรบ้านไร่ยาวทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ
อาชีพหลักของชาวบ้านไร่ยาวส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทำเกษตรกรรม แต่การเกษตรในชุมชนบ้านไร่ยาวค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย พืชที่ปลูกมีทั้งยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล และพืชผักชนิดต่าง ๆ โดยชาวบ้านมีรายได้จากภาคการเกษตรรวมทั้งหมู่บ้านปีละกว่า 7 ล้านบาท ทว่า กลับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย หรืออาจเรียกว่าไม่คุ้มทุน เนื่องจากบ้านไร่ยาวมีค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับการทำเกษตรปีละประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารายได้ ต้นทุนส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการจัดซื้อปุ๋ยเคมี และสารกำจัดวัชพืชต่าง ๆ นอกจากอาชีพในภาคเกษตรกรรมแล้ว ภายในชุมชนยังมีธุรกิจร้านค้าชุมชนถึง 5 ร้าน และมีโรงสีกาแฟอีก 5 โรง รวมถึงการทำปศุสัตว์และการประมง ได้แก่ วัว เป็ด สุกร ไก่พื้นเมือง และล่อปลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ นอกจากนี้ปัจจุบันในหน้าการเก็บกาแฟจะมีแรงงานจากภาคอีสานข้ามารับจ้างเก็บการแฟในสวนกาแฟชาวบ้านไร่ยาว อนึ่ง ปัจจุบันบ้านไร่ยาวเริ่มประสบปัญหาการเคลือ่นย้ายแรงงานออกจากชุมชน คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่นิยมออกไปทำงานหรือประกอบอาชีพอื่นในต่างพื้นที่ ซึ่งแรงงานส่วนนี้เป็นกลุ่มแรงงานหลักในการทำเกษตรกรรม
เนื่องจากบ้านไร่ยาวมีประชากรที่อพยพมาจากหลายถิ่นฐาน แตกต่างภูมิภาค ทำให้ภายในชุมชนมีลักษณะความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทั้งด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อ อีกทั้งยังมีช่องว่างทางการศึกษา เนื่องจากชาวบ้านภายในหมู่บ้านหลายรายที่ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ ความสัมพันธ์ภายในชุมชนส่วนใหญ่อยู่เป็นเอกเทศ ขาดการปฏิสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีใครสามารถสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสมาชิกในชุมชนได้ เนื่องจากเกิดการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรในการประกอบอาชีพ คือ พื้นที่ทางการเกษตร โดยการทำงานภาคการเกษตรของแต่ละครัวเรือนจะใช้แรงงานในครอบครัวก่อน ในกรณีที่ทําเองไม่ไหวจึงจะมีการจ้างแรงงาน เช่น กรีดยางพารา เก็บกาแฟ ตัดหญ้า ฉีดยาปราบวัชพืช แม้จะมีการขอแรงกันบ้างเล็กน้อยเป็นครั้งคราว แม้จะน้อยมากแต่ก็ยังคงมีอยู่ ถ้าเป็นหน้าเก็บกาแฟจะมีแรงงานจากภาคอีสานเข้ามารับจ้างเก็บกาแฟ
สําหรับประเพณีที่สำคัญของชาวบ้านไร่ยาว เช่น การทําบุญเดือนสิบ (รับ-ส่ง ตายาย) ประเพณีชักพระ (ในบางปี) หรือถ้าเป็นประเพณีของชาวอีสานก็จะมีประเพณีการจุดบั้งไฟ งานบุญกฐิน เป็นต้น ส่วนประเพณีอื่นเหมือนกับชาวชนบทส่วนใหญ่ในประเทศไทย เช่น งานบวชนาค งานวันสําคัญทางศาสนา งานแต่งงาน งานศพ ซึ่งก็มีความร่วมมือกันดี เรื่องอาหารการกินมีวัฒนธรรมที่เด่นชัด 2 แบบ คือ วัฒนธรรมการกินอาหารอีสาน และวัฒนธรรมการกินอาหารภาตใต้
ทุนทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านไร่ยาวมีแหล่งเงินทุนชุมชนที่ปล่อยกู้เงินให้แก่สมาชิกภายในชุมชนเพื่อนำไปเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดจนสนับสนุนภาระค่าใช้จ่ายบางประการของสมาชิก ได้แก่ กลุ่มกองทุนเงินล้าน กลุ่มเกษตร กลุ่มฌาปนกิจ และกลุ่มออมทรัพย์
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ (ชาวบ้านที่เป็นชาวท้องถิ่นภาคใต้เดิม) ภาษาอีสาน (ชาวบ้านที่อพยพมาจากภาคอีสาน) และภาษาไทยกลาง (ใช้ในการติดต่อราชการ)
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
บ้านไร่ยาวไม่มีสถานีอนามัยชุมชน ไม่มีระบบประกันสุขภาพ แต่มีบริการสวัสดิการสําหรับผู้สูงอายุ และใช้สิทธิการรักษาโรคจากบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีไข้มาลาเรียระบาดตลอดปี มีการพ่นยา DDT ปีละ 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ บางช่วงมีการระบาดของไข้เลือดออกร่วมด้วยอีกทั้งปัจจุบันยังมีปัญาหาเรื่องการใช้สารเสพติด แต่สถานการณ์ไม้ได้อยู่ในขั้นรุนแรง สารเสพติดที่พบบ่อยได้แก่ ยาบ้า ใบกระท่อม กัญชา
พื้นที่บ้านไร่ยาวเดิมเป็นเขตป่าสงวน สภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับกับที่ราบเชิงเขา มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีแหล่งน้ำใต้ดิน และลําห้วยหลายสายที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี การทําเกษตรได้ผลผลิตดี แต่ในปีหลัง ลําคลองลําห้วยเริ่มตื้นเขิน ทั้งยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดสารเคมีตกค้างในดิน ดินเกิดความแข็งกระด้าง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต ซึ่งต้องไปกู้ยืมเงินมาลงทุนทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำที่ใช้สำหรับพื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำในลำห้วยลำคลองที่เคยเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชาวบ้านเกิดความตื้นเขิน เกิดภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย และให้ผลผลิตน้อยลง จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไร่ยาวเริ่มตระหนักว่ารูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบที่ทำอยู่นี้อาจส่งผลเสียต่อการทำการเกษตรในระยะยาว ชาวบ้านเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการจัดการระบบน้ำในชุมชนใหม่ รวมถึงการเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของของอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งชาวบ้านได้มีพันธะสัญญาทางใจร่วมกันเพื่อฟื้นฟูป่าไม้และธรรมชาติที่สูญหายให้กลับคืนมาอีกครั้ง เช่น การเลิกใช้สารเคมีในการผลิต หันมาใช้เครื่องตัดหญ้า และปุ๋ยหมักชีวภาพแทน รวมไปถึงช่วยกันรักษาความสะอาดของลําคลองเท่าที่จะทําได้
กรมอุทยานแห่งชาติ. (2566). อช.แก่งกรุง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://nps.dnp.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566].
จุฑามาศ การสุวรรณ และคณะ. (2546). ทางเลือกในการทำเกษตรยั่งยืนที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบ้านไร่ยาว อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. (2564). จ.สุราษฎร์ธานีร่วมแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตรในพื้นที่หมู่ 15 16 และ 17 ตำบลประสงค์. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thainews.prd.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566].
Oporshady. (2557). อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://travel.mthai.com/blog/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566].