เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่
ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดศรีอุบลรัตนาราม อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ เป็นชุมชนหนึ่งที่ส่งเสริมประเพณีแห่เทียนพรรษาอันยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยจะจัดทำขบวนเทียนพรรษาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทแกะสลักเข้าร่วมงานทุกปี ในช่วงเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปชมการทำต้นเทียนพรรษาของวัดศรีอุบลรัตนารามได้ที่โรงเทียน
ในอดีตสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล ชาวอุบลไม่มีการหล่อเทียนพรรษาและแห่เทียนพรรษาดังเช่นในปัจจุบัน โดยชาวบ้านจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชาจำพรรษา การแห่เทียนพรรษาแต่เดิมมิได้จัดใหญ่โตเหมือนในปัจจุบัน มีเพียงชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ และใช้กระดาษจังโก (กระดาษสีเงินสีทอง) ตัดเป็นลายฟันปลาปิดรอยต่อ จากนั้นจึงนำต้นเทียนไปมัดติดกับปี๊บน้ำมันก๊าด ส่วนฐานของต้นเทียนใช้ไม้ตีเป็นแผ่นเรียบหรือทำสูงขึ้นเป็นชั้นๆ ติดกระดาษ แล้วแห่นำไปถวายวัด พาหนะที่ใช้คือเกวียนหรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูง โดยการแห่ของชาวบ้านจะมีฆ้อง กลอง กรับและการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน ในการนี้ การแห่เทียนพรรษาในสมัยโบราณของ จ.อุบลราชธานี จัดขึ้นเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ
เมื่อปี พ.ศ. 2444 เมืองอุบลราชธานีได้จัดงานบุญบั้งไฟโดยทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวงริมแม่น้ำมูลซึ่งจะมีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าทำให้เกิดอุบัติเหตุบั้งไฟตกลงมาถูกชาวบ้านเสียชีวิต ดังนั้นกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์จึงทรงให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟ และเปลี่ยนมาจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน สมัยแรกๆ ยังไม่มีการประกวดเทียนพรรษาแต่ชาวบ้านจะร่ำลือว่าเทียนพรรษาวัดใดสวยงามมากที่สุด ทั้งนี้ ในสมัยโบราณเทียนพรรษาแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เทียนโบราณประเภทที่ 1 เรียกว่าเทียนมณฑก ใช้เป็นเครื่องบริขารในการทอดกฐิน เทียนมณฑกนี้ทำแทนหอ คือที่ตั้ง ที่วางเครื่องบริขารและบริวารที่จะนำไปทอดถวายแด่พระสงฆ์ ประเภทที่ 2 คือเทียนปราสาทผึ้ง ทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือทำขึ้นเพื่อแก้บน ประเภทที่ 3 คือ เทียนพุ่มทำขึ้น เพื่อถวายพระสงฆ์ ถือว่าถวายแล้ว ได้กุศุลเป็นอย่างมาก และประเภทที่ 4 คือเทียนมัดรวม จะมีลักษณะคล้ายเทียนพุ่มต่อมาได้มีการประดิษฐ์ประดอยต้นเทียนให้สั้นบ้างยาวบ้างและนำมาประดับด้วยลวดลายต่างๆ
ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดศรีอุบลรัตนาราม อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ใกล้กับพิพิธภัณฑศรีรัตนาราม ห่างจากศาลหลักเมืองประจำจังหวัดอุบลราชธานี 260 เมตร และศาลพระอุมาลีคุณปมาจารย์ 220 เมตร
จากการสำรวจข้อมูลของทะเบียนราษฎรพบว่า ปีพ.ศ. 2565 ระบุจำนวนหลังคาเรือนได้ทั้งสิ้น 32,040 หลัง และนับเป็นจำนวนประชากรทั้งสิ้น 83,173 คน แบ่งเป็นหญิง 44,236 คน เป็นชาย 38,937 คน
ด้านกลุ่มอาชีพ นิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักโดยมีการทำนาข้าวและเพาะปลูกพืชไร่ชนิดต่างๆ และเป็นช่างฝีมือในการหล่อเทียนพรรษา
ในแต่ละปีที่ประชุมชนคนทำเทียนจะมีกิจกรรมประจำปี คือ การจัดประเพณีแห่เทียนที่จะทำให้ส่งเสริมความสามัคคีภายในชุมชนยังเป็นอีกกิจกรรมที่ช่วงส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำจังหวัดไปในตัว จึงได้มีการวางกำหนดการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีในช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคมเป็นประจำในทุกปี
โดยจะเริ่มจากการแถลงข่าวการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีประจำปี ณ วัดพระธาตุหนองบัวในต้นเดือนกรกฎาคมจะมีจัดชมกิจกรรมการเยือนชุมชน ชมวิถีคนทำเทียน ณ วัดมหาวนาราม วัดบูรพา วัดแจ้ง วัดพลแพน วัดพระธาตุหนองบัว วัดผาสุการาม และวัดศรีประดู่ ชมพิธี "เปิดเฮือน เยือนเมืองเทียน เมืองธรรม" ณ บริเวณลานเทียน ทุ่งศรีเมืองและชมวิถีวัฒนธรรมเฮือนอีสาน และการแสดงศิลปวัฒธรรม อัตลักษ์เมืองอุบล (5 กลุ่มอำเภอ) ณ บริเวณลานเทียน ทุ่งศรีเมือง กิจกรรมสีบศาสตร์ ยลศิลป์ เยือนถิ่นเมืองเทียน เมืองธรรม ณ บริเวณลานเทียน ทุ่งศรีเมือง กิจกรรมเช็คอินถิ่นเทียน ณ บริเวณลานเทียน ทุ่งศรีเมือง การจำหน่ายสินค้าเศรษฐกิจชุมชน (OTOP) ณ บริเวณลานเทียน ทุ่งศรีเมือง การประดับตกแต่งเมือง/คุ้มวัด
หลังจากชมกิจกรรมแล้วจะเริ่มมีพิธีรับเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี เคลื่อนมายังบริเวณหน้าศาลาจตุรมุข ทุ่งศรีเมือง พิธีเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม การประกวดต้นเทียนพรรษา (วันรวมเทียน) ณ บริเวณทุ่งศรีเมืองพิธีเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีประจำปี ณ บริเวณปะรำพิธีหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม และในช่วงเวลานั้นจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม ประกอบแสงสีเสียง ภาคกลางคืน (ลูกอีสาน)
- จุดที่ 1 บริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม
- จุดที่ 2 บริเวณหน้าลานขวัญเมือง (ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า)
นอกจากนี้ยังมีพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน เป็นเทียนชัยมิ่งมงคลนำขบวนแห่เทียนพรรษา ณ บริเวณปะรำพิธีหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม พิธีทอดถวายเทียนพรรษาพระราชทาน และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม พิธีมอบรางวัลการประกวดต้นเทียนพรรษา ณ บริเวณปะรำพิธี บริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม แล้วจึงเริ่มจัดแสดงต้นเทียนพรรษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1, 2 ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง กิจกรรมเทียนอุบลจึงสามารถชมได้ตลอดเดือน ณ วัดมหาวนาราม วัดบูรพา วัดแจ้ง วัดพลแพน วัดพระธาตุหนองบัว วัดผาสุการาม และวัดศรีประดู่
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
วัดศรีอุบลรัตนาราม
สิ่งที่เป็นแหล่งเรียนรู้และยังคงเป็นแหล่งศูนย์กลางประจำชุมชนคือ วัดศรีอุบลรัตนารามเป็นศูนย์กลางของคนในชุมชนและยังคงเป็นแหล่งทำเทียนที่สำคัญของชาวบ้าน โดยวัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง พระอารามหลวง เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2398 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปบูชาปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งแกะสลักจากแก้วบุษราคัม ทึบทั้งแท่ง มีสังวาลประดับที่องค์พระ ฐานหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปโบราณ ฝีมือช่างสกุลเชียงแสน ในสมัยการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (พิธีดื่มน้ำสาบาน) ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมเป็นประธานในการประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ และในเทศกาลงานสงกรานต์ 13 เมษายนของทุกปี ชาวเมืองอุบลราชธานีได้จัดขบวนแห่พระแก้วบุษราคัมรอบเมืองอุบล เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นอาคาร 2 ชั้นขนาดใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาหอแจก ซึ่งบูรณะขึ้นใหม่โดยใช้วัสดุและการตกแต่งแบบเดิม และได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยชั้นบนของอาคารเป็นที่เก็บและจัดแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
เป็นการปรับปรุงอาคารหอแจกหรือศาลาการเปรียญของวัดศรีอุบลรัตนารามให้เป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ของชุมชน เริ่มตั้งแต่อาคารหอแจกที่รูปแบบงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน เช่น งานไม้แกะสลักช่อฟ้าหรือโหง่ หางหงส์ ประตู หน้าต่างของหอแจก ภายในเก็บรวบรวมและจัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของเครื่องใช้ทางพระพุทธศาสนา เช่น ตู้พระไตรปิฏก ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน
อาคารหอแจกหรือศาลาการเปรียญของวัดศรีอุบลรัตนาราม จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปีพ.ศ. 2545 จากเดิมที่เป็นอาคารไม้ยกสูงมีสภาพทรุดโทรม จึงได้มีการบูรณะอาคารหอแจกขึ้นใหม่แต่ยังคงใช้วัสดุและการตกแต่งแบบเดิม ชั้นบนของอาคารเป็นที่ประดิษฐาน พระประธานในหอแจก ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเทวธัมมี (ม้าว) เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร แกะสลักจากไม้กันเกรา หน้าตักกว้าง 1.30 เมตร สูง 1.40 เมตร ลงรัก ทาชาดสีแดงปิดทองคำเปลวทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกไม้ทั้งหลัง ที่สร้างขึ้นพร้อมกันกับพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์นี้ และมีบุษบกไม้ชนิดเดียวกันมีขนาดลดหลั่นกันลงมากระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง และภายในบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสองบุษบก
นอกจากนั้นแล้วภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ซึ่งมีอายุนับร้อยปี ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็กหลายองค์ที่ส่วนใหญ่มีพุทธลักษณะแบบล้านช้าง พบภายใต้ฐานพระพุทธรูปเมื่อคราวเคลื่อนย้ายซ่อมแซมหอแจก ตู้ลายรดน้ำปิดทองที่ใช้สำหรับเก็บพระไตรปิฎกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 รวมถึงตู้หนังสือซึ่งเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นทั้งเทคนิคการแกะสลัก ลายรดน้ำ และลายกระแหนะรักปั้น ลงรักปิดทอง ที่สะท้อนศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หนังสือผูก คัมภีร์ใบลาน ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเดิมผู้คนแถบนี้นำมาถวายให้กับทางวัด เป็นผ้าชิ้นใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานแต่นำมาถวายเพื่อเป็นสมบัติของพระศาสนา พระภิกษุจะนำไปใช้ห่อเก็บคัมภีร์เพื่อรักษาไว้ให้อยู่ได้นาน ๆ ซึ่งมีทั้งผ้าซิ่นสำหรับสตรี มีส่วนของหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่นครบถ้วน บางผืนขาดวิ่นไปตามกาลเวลา แต่นับว่าเป็นแหล่งข้อมูลอันทรงคุณค่าสำหรับผู้สนใจศึกษาผ้าโบราณพื้นเมืองอีสาน เนื่องจากคาดว่ามีเกือบครบทุกประเภท
ปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุนและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทุกปี
การทำต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ประเภทแกะสลักใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 600,000 บาทต่อต้น และประเภท
ติดพิมพ์ใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อต้น ขณะที่เงินงบประมาณสนับสนุนที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐมีเพียงแหล่งเดียวคือ จากเทศบาลนครอุบลราชธานี ต้นละ 120,000บาท ส่วนการทำต้นเทียนพรรษาขนาดกลางประเภทแกะสลักและประเภทติดพิมพ์ใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 350,000 บาท ต่อต้น ขณะที่ได้รับเงินสนับสนุนจากเทศบาลนครอุบลราชธานี ต้นละ50,000 บาท
ทั้งนี้ เงินสนับสนุนที่ได้รับไม่เพียงพอกับการทำต้นเทียนพรรษา นอกจากนั้น หากพิจารณากระบวนการทำ
ต้นเทียนพรรษาแต่ละประเภทนั้น พบว่ามีกระบวนการทำหลายขั้นตอนและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องจากการทำต้นเทียนมีการพัฒนาทั้งเรื่องรูปแบบ องค์ประกอบของฐาน และการประดับตกแต่ง ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งยังไม่รวมค่าอาหารและเครื่องดื่มของช่าง ขณะที่วัตถุดิบทางตรง ได้แก่เหล็ก ขี้ผึ้งและเทียนมีราคาสูงขึ้นทุกปี
ปัญหาช่างทำต้นเทียนพรรษาและคณะช่างที่มีฝีมือที่มีจำนวนลดลง
การจ่ายค่าแรงให้กับช่างทำต้นเทียนขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละวัดโดยพบว่า วัดบางแห่งจ่ายเงินให้กับช่างเทียนเป็นค่าจ้างเหมาบางแห่งไม่ได้จ่ายค่าแรงให้กับช่าง แต่หากต้นเทียนพรรษาได้รับเงินรางวัลจากการประกวด ก็จะแบ่งเงินรางวัลให้ช่างตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ซึ่งหมายความว่าช่างจะไม่ได้ค่าแรงหากต้นเทียนพรรษาไม่ได้รับรางวัล ซึ่งอาจทำให้ช่างเทียนขาดแรงจูงใจในการทำงาน ขณะที่ช่างที่มีฝีมือก็เริ่มหายาก
ปัญหาการเก็บรักษาต้นเทียนพรรษา
เมื่อเสร็จสิ้นขบวนการแห่เทียนพรรษา ต้นเทียนพรรษาแต่ละต้นจะนำกลับมาไว้ที่วัด หากเป็นต้นเทียนประเภทแกะสลัก จะปล่อยทิ้งไว้เพื่อรอการทำต้นเทียนในปีต่อไป โดยวัดบางแห่งไม่มีโรงเก็บต้นเทียน ทำให้ต้นเทียนตากฝน ไม่คุ้มค่ากับความทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำต้นเทียนตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนและหากเป็นต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ปกติจะเก็บไว้ไม่เกิน 7 วัน ช่างเทียนจะแกะเทียนออกมาเก็บไว้ในกระสอบเพื่อใช้ทำต้นเทียนพรรษาในปีต่อไป
ธัญญพัทธ์ ศรีบุญสถิตพงษ์. (2551). บทบาทของเทศบาลนครอุบลราชธานรในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น: กรณีวิจัยการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี. รายงานการศึกษาอิสระปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นภาพร หงษ์ภักดี และสืบพงศ์ หงษ์ภักดี. (2559). ต้นทุนเทียนพรรษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี. วารสารนักบริหาร, 36(2). หน้า 62-78.
แห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี 2565 อนุรักษ์วัฒนธรรม ส่งเสริมท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ. (2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก : https://travel.kapook.com/view257498.html.